MENU

Where the world comes to study the Bible

บทที่ 20: วีรบุรุษของดาวิด (2 ซามูเอล 23)

คำนำ

ตอนที่แล้ว ผมเล่าเรื่องเพื่อนเก่าท่านหนึ่ง คาร์ล ลินด์ ที่นอนรอการกลับไปอยู่ในสวรรค์กับองค์พระผู้เป็นเจ้า ผมโทรหาคาร์ล เพื่อจะบอกว่าเราคิดถึงเขามาก และจดจำเขาเสมอในคำอธิษฐาน ผมบอกเขาไปด้วยว่า ยืม เรื่องของเขามาเกริ่นเป็นบทนำในตอนที่แล้ว เราย้อนระลึกถึง "วันเก่าๆ" ด้วยกัน เมื่อตอนเริ่มตั้งคริสตจักร ไบเบิ้ลแบบติสท์ใหม่ๆ เราใช้ห้องเตรียมศพเป็นที่ประชุมนมัสการ ผมจำได้ว่าตอนเด็กๆ ผมชอบมองหาว่า เขาเอาศพไปเก็บไว้ตรงไหน "นั่นยังไม่เท่าไหร่" คาร์ลบอก "มาร์ทา (ภรรยาของคาร์ล) เคยสอนรวีอยู่ห้องติด กับห้องแต่งศพ ทุกครั้งเวลาเรียน กลิ่นน้ำยาอาบศพที่ลอยมา ไม่จืดเลยครับ"

อันที่จริง กลิ่นน้ำยาอาบศพสักหน่อยก็ดี จะได้เตือนใจว่า ชีวิตเรานั้นไม่ยืนยาว ตอนที่ผมกับภรรยาเดินทาง ไปเที่ยวแถวฝั่งตะวันออก เราเห็นโบสถ์เล็กๆน่ารักหลายแห่ง มีสุสานตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกัน เดี๋ยวนี้หาไม่ ได้แล้วในเมืองใหญ่ๆอย่างเช่นที่ดัลลัส ผมคิดว่าพระกิตติคุณและความตายควรเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกันอย่าง ไกล้ชิด ทุกครั้งที่ไปโบสถ์ จะได้เตือนให้เราตระหนักว่า ความตายเป็นเรื่องหนีไม่พ้น และทุกครั้งที่ไปงานศพ เราควรมองเรื่องความตายด้วยสายตาแห่งพระคุณขององค์พระเยซูคริสต์

โจ เบย์ลี่ เสียชีวิตไปแล้ว เคยเขียนหนังสือชื่อ "วิวจากรถบันทุกศพ" เป็นหนังสือที่ดีมาก สำหรับคริสเตียน และความตาย ตอนหลังนำกลับมาพิมพ์ใหม่ ชื่อหนังสือถูกเปลี่ยนไป; ถ้าจำไม่ผิด คิดว่าเปลี่ยนเป็นชื่อ "สิ่งสุด ท้ายที่เราอยากพูดถึง" แต่ผมชอบชื่อแรกมากกว่า ผมคิดว่าเราทุกคนควรมองชีวิตของเราจากหน้าต่างของ รถบันทุกศพ ทุกคนไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชาย เมื่อเวลาตายใกล้เข้ามา มักจะจัดเตรียมทำสิ่งต่างๆตามลำดับ ความสำคัญ ผมเคยดูหนังที่พระเอก มัลคอล์ม มักเกอร์ริดจ์ แสดงตอนที่ต้องเข้าไปยังสุสานประจำตระกูล เขา พูดทำนองว่า : "ผมยืนอยู่ตรงที่ครอบครัวผมถูกฝังไว้ และรู้ดีว่า อีกไม่นานผมจะเป็นหนึ่งในนั้น ผมอยากจะ บอกว่า เมื่อผมมองชีวิตย้อนกลับไป ผมเริ่มตระหนักว่า หลายสิ่งหลายอย่างที่ผมเคยเกรงกลัวในวัยเยาว์ เดี๋ยวนี้เป็นสิ่งที่เต็มไปด้วยคุณค่า เป็นยิ่งกว่ารางวัลชีวิต ในทางกลับกัน สิ่งที่ผมคิดว่าเป็นเรื่องจำเป็นที่สุด กลับกลายเป็นเรื่องไร้สาระ และหาค่าไม่ไ้ด้เอาเสียเลย"

หลายคน ในยามที่ชีวิตบรรเจิด เมื่อมองย้อนกลับไปในอดีต สิ่งที่เห็นและความรู้สึกจะต่างไปจากเดิมมาก ดาวิดก็เป็นอีกผู้หนึ่ง ในยามที่ท่านขึ้นสู่จุดสูงสุด มองสิ่งต่างๆไม่เพียงแค่มุมมองในอดีตเท่านั้น แต่ด้วยความ หวังใจอันเป็นนิรันดร์ 117 บทเพลงสดุดีเจ็ดข้อแรกของพระธรรม 2 ซามูเอล 23 คล้ายๆกับมุมมองผ่านหน้า ต่างของรถบันทุกศพ 118 มีการบันทึกไว้ว่า นี่คือคำพูดสุดท้ายของดาวิด ก่อนที่ท่านจะอำลาโลกนี้ (ข้อ 1) เมื่อวาระสุดท้ายของท่านไกล้เข้ามา ท่านมองชีวิตของท่านย้อนกลับไป และมองไปข้างหน้า ด้วยใจที่เปี่ยม ไปด้วยความหวัง อันเป็นนิรันดร์

บทเพลงสดุดีในตอนต้นของ 2 ซามูเอล 23 อาจดูไม่น่าเกี่ยวข้องกับที่เหลือของบท ที่เต็มไปด้วยชื่อเสียง เรียงนาม และการประกาศเกียรติคุณของเหล่าวีรบุรุษ ที่มีส่วนในความสำเร็จร่วมกันกับดาวิด อันที่จริง ผมว่า มันเกี่ยวข้องกันเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งเราจะได้เห็นต่อไป ตอนนี้ผมขอพูดแต่เพียงว่า พระธรรมบทนี้ทั้งบท เป็น เรื่องของความยิ่งใหญ่ ข้อ 1-7 เราจะเห็นว่ามีสิ่งใดอยู่เบื้องหลังกษัตริย์ที่ใหญ่ยิ่งท่านนี้ ส่วนข้อ 8-39 เป็น เรื่องราวของวีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่สองท่าน ที่รวมอยู่ใน "ทั้งสาม" และในทั้ง "สามสิบ" มีการอธิบายถึงความ สามารถของวีรบุรุษเหล่านี้ และพูดถึงว่าบุคคลสำคัญเหล่านี้ เหตุใดจึงนับว่าเป็นผู้ยิ่งใหญ่ในสายพระเนตร พระเจ้า

เราใกล้จะถึงบทสรุปตอนจบของพระธรรม 2 ซามูเอลแล้ว (แต่ในต้นฉบับภาษาฮีบรูมีเพียงพระธรรม "ซามูเอล" เท่านั้น ทั้ง 1 และ 2 เป็นเล่มเดียวกัน) ; อันที่จริงบทที่ 21-24 นับว่าเป็นเรื่องเดียว เป็นเหมือน บทส่งท้ายที่ผู้เขียนใช้สรุปเรื่องราวทั้งหมด ขอให้เราเรียนรู้ถึงเบื้องหลังความสำเร็จของกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ ของพระเจ้าท่านนี้ ขอให้เราตั้งใจฟังในสิ่งที่ผู้เขียนพยายามสอนเราจากพระธรรมทั้งสองเล่ม

บทเพลงการช่วยกู้ของดาวิด
(23:1-7)
119

1 ต่อไปนี้เป็นวาทะสุดท้ายของดาวิด ดาวิดบุตรเจสซีได้กล่าว และชายที่ได้รับการ แต่งตั้งขึ้นให้สูงได้กล่าว คือผู้ที่ถูกเจิมตั้งไว้ของพระเจ้าแห่งยาโคบ นักแต่งสดุดีอย่าง ไพเราะของอิสราเอล ได้กล่าวดังนี้ว่า 2 "โดยข้าพเจ้า พระวิญญาณของพระเจ้าได้ตรัส พระวจนะของพระองค์อยู่ที่ลิ้นของข้าพเจ้า 3 พระเจ้าแห่งอิสราเอลทรงลั่นพระวาจา พระศิลาแห่งอิสราเอลได้ตรัสกับข้าพเจ้าว่า เมื่อผู้หนึ่งปกครองมนุษย์โดยชอบธรรม คือปกครองด้วยความยำเกรงพระเจ้า 4 เขาทอแสงเหนือประชาชนเหมือนแสงอรุณ เมื่อดวงอาทิตย์ขึ้น คือรุ่งเช้าที่ไม่มีเมฆ ซึ่งเมื่อภายหลังฝน กระทำให้หญ้างอกออก
จากดิน 5 เออ พงศ์พันธุ์ของข้าพเจ้าตั้งมั่นอยู่กับพระเจ้ามิใช่หรือ เพราะพระองค์ทรง กระทำพันธสัญญาเนืองนิตย์กับข้าพเจ้าไว้ อันเป็นระเบียบทุกอย่างและมั่นคง เพราะ พระองค์จะไม่ทรงกระทำ ให้ความอุปถัมภ์และความปรารถนาของข้าพเจ้า 120 สัมฤทธิ์ผล
หรือ 6 แต่คนที่อธรรมก็เป็นเหมือนหนามที่ต้องผลักไสไป เพราะว่าจะเอามือหยิบก็ไม่ได้
7 แต่คนที่ถูกต้องมัน ต้องมีอาวุธที่ทำด้วยเหล็กและมีด้ามหอก และต้องเผาผลาญเสีย ให้สิ้นเชิงด้วยไฟ"

จากข้อ 1 บทเพลงสดุดีของดาวิดบทนี้เป็นวาทะสุดท้าย ของท่าน แต่ไม่ได้หมายความว่าเมื่อท่านกล่าวจบ ท่านสิ้นชีวิตในทันที121 ไม่มีโอกาสได้กล่าวอะไรต่อ แต่หมายความว่าเป็นถ้อยคำสุดท้ายในรูปแบบของ บทสดุดีที่มีการบันทึกไว้ โดยส่วนตัวแล้ว ผมค่อนข้างจะเห็นด้วยตามวรรคตอนของฉบับแปล NASB ที่เริ่มใช้ เครื่องหมายเปิดคำพูดที่ข้อ 2 แทนที่จะเป็นข้อ 1 ผมเข้าใจว่าผู้แปล (และที่สำคัญที่สุด เนื้อหาของพระธรรม ตอนนี้) ผู้เขียน 2 ซามูเอล ใช้ข้อ 1 เป็นคำเกริ่นนำ คงไม่ใช่ดาวิดแน่ ที่พูดถึงตนเองแบบนี้ ("ชายที่ได้รับ การแต่งตั้งให้ขึ้นสูง;" "นักแต่งสดุดีอย่างไพเราะของอิสราเอล") น่าจะเป็นผู้เขียนมากกว่า ดาวิดเป็น ดังที่ผู้เขียนกล่าวไว้ในข้อ 1 ทุกประการ แต่ตัวท่านเองคงไม่กล่าวแนะนำตนเองแบบนั้น ผมว่าถ้าอ่านดูดีๆ น่า จะเป็นตามที่ผมเข้าใจ

จากเด็กหนุ่มธรรมดาๆ บุตรชายคนสุดท้องของเจสซี ผู้ไม่มีความสำคัญใดๆในอิสราเอล ดาวิดได้รับการยกชู ขึ้นโดยพระเจ้า ท่านเป็นผู้ที่ "ได้รับการเจิม" ให้เป็นกษัตริย์ เป็นบุตรหลานของยาโคบ หรืออิสราเอล อันที่ จริงเป็นบุตรหลานของยาโคบก็ไม่น่ามีอะไรมาอวดอ้างได้ แต่สิ่งนี้เป็นตัวเชื่อมโยงท่านเข้าในพันธสัญญา อับราฮัม (ปฐก. 12:1-3, ฯลฯ) และด้วยพระสัญญาที่มีต่อยาโคบ โดยทางบุตรของท่านยูดาห์ พระเมสซิยาห์ (ผู้ได้รับการเจิมไว้) จะทรงมาบังเกิด(ปฐก. 49:8-10)

ถ้อยคำของดาวิดเริ่มต้นจากข้อ 2 ท่านเริ่มด้วยการอ้างถึงความจริงว่า ถ้อยคำเหล่านี้ท่านไม่ได้พูดเอง แต่ ถ่ายทอดมาจากพระเจ้า ที่ได้ทรงตรัสผ่านท่าน ท่านจึงถวายเกียรติแด่พระวิญญาณบริสุทธิ์ ผู้ทรงกระทำการ ผ่านท่าน สิ่งนี้สอดคล้องกับพระวจนะในพระคัมภีร์ใหม่ ที่พูดถึงดาวิด และผู้เขียนอีกหลายคนในพระคัมภีร์ เดิม:

10 บรรดาผู้เผยพระวจนะผู้ได้พยากรณ์ถึงพระคุณซึ่งจะบังเกิดแก่ท่านทั้งหลาย ก็ได้สืบค้นและสอบถามเกี่ยวกับเรื่องความรอดนี้ 11 เขาได้สืบค้นหาบุคคล และ
เวลา ซึ่งพระวิญญาณของพระคริสต์ผู้ทรงสถิตอยู่ในตัวเขาได้ทรงบ่งไว้ เมื่อเขา ได้ทำนายถึงความทุกข์ทรมานของพระคริสต์ และถึงพระสิริที่จะมาภายหลัง 12 ก็ทรงโปรดเผยให้ผู้เผยพระวจนะเหล่านั้นทราบว่า ที่เขาเหล่านั้นได้ปรนนิบัติใน
เหตุการณ์ทั้งปวงนั้น ไม่ใช่สำหรับเขาเองแต่สำหรับท่านทั้งหลาย บัดนี้คนเหล่านั้น ที่ประกาศข่าวประเสริฐแก่ท่านทั้งหลาย ก็ได้กล่าวสิ่งเหล่านั้นแก่ท่านแล้ว
(1 เปโตร 1:10-12)

20 ท่านทั้งหลายต้องเข้าใจข้อนี้ก่อน คือผู้หนึ่งผู้ใดจะตีความหมายคำของผู้เผย พระวจนะในพระคัมภีร์เอาเองไม่ได้ 21 เพราะว่าคำของผู้เผยพระวจนะนั้น ไม่ได้มา จากความคิดในจิตใจของมนุษย์ แต่มนุษย์ได้กล่าวคำซึ่งมาจากพระเจ้า ตามที่ พระวิญญาณบริสุทธิ์ได้ทรงดลใจเขา (2 เปโตร 1:20-21)

16 "ดูก่อนพี่น้องทั้งหลาย จำเป็นจะต้องสำเร็จตามพระคัมภีร์ ซึ่งพระวิญญาณ บริสุทธิ์ได้ตรัสไว้โดยโอษฐ์ของกษัตริย์ดาวิด ด้วยเรื่องยูดาส ซึ่งเป็นผู้นำทาง
คนที่ไปจับพระเยซู (กิจการ 1:16)

ดังนั้นถ้อยคำของดาวิด จึงเป็นถ้อยคำของพระเจ้า ที่ไม่ได้แตกต่างจากพระคัมภีร์ตอนอื่นๆ เพราะพระคัมภีร์ทุก ตอนได้รับการดลใจจากพระเจ้า เป็นถ้อยคำที่มาจากพระเจ้า พระเจ้าตรัสกับดาวิดถึงองค์ประกอบของกษัตริย์ ที่ปกครองโดยความชอบธรรม กษัตริย์ของพระเจ้าต้องเป็นกษัตริย์ที่ปกครองผู้อื่นอย่างชอบธรรม ความชอบ ธรรมเช่นนี้ เกิดจากสัมพันธภาพที่ยำเกรงในพระเจ้า (ข้อ 3) กษัตริย์ต่างชาติมักมีความคิดว่าตนเองต้องอยู่ เหนือผู้อื่น ; กษัตริย์ของพระเจ้าต้องคิดว่าตนเองนั้นอยู่ภายใต้ร่มเงาของพระเจ้า สิ่งนี้ปรากฎชัดเป็นพยาน ในองค์จอมกษัตริย์ของเรา องค์พระเยซูคริสต์ :

30 "เราจะทำสิ่งใดตามอำเภอใจไม่ได้ เราได้ยินอย่างไรเราก็พิพากษาอย่างนั้น และการพิพากษาของเราก็ยุติธรรม เพราะเรามิได้มุ่งที่จะทำตามใจของเราเอง แต่ตามพระประสงค์ของพระองค์ผู้ทรงใช้เรามา (ยอห์น 5:30)

6 และพระเยซูจึงเสด็จไปกับเขา เมื่อไปเกือบจะถึงตึกแล้ว นายร้อยจึงใช้เพื่อน ฝูงไปหาพระองค์ทูลว่า "พระองค์เจ้าข้า อย่าลำบากเลย เพราะว่าข้าพระองค์เป็น คนไม่สมควรที่จะรับเสด็จพระองค์เข้าใต้ชายคาของข้าพระองค์ 7 เพราะเหตุนั้น ข้าพระองค์จึงคิดเห็นว่า ไม่สมควรที่ข้าพระองค์จะไปหาพระองค์ด้วย แต่ขอพระ
องค์ตรัสสั่ง และบ่าวของข้าพระองค์จะหายโรค 8 ข้าพระองค์ทราบดี เพราะเหตุว่า ข้าพระองค์อยู่ใต้วินัยทหาร แต่ก็ยังมีทหารอยู่ใต้บังคับบัญชาของข้าพระองค์ ข้า
พระ องค์จะบอกแก่คนนี้ว่า 'ไป' เขาก็ไป บอกแก่คนนั้นว่า 'มา' เขาก็มาบอกบ่าว ของข้าพระองค์ว่า 'จงทำสิ่งนี้' เขาก็ทำ" 9 เมื่อพระเยซูทรงได้ยินคำเหล่านั้นแล้ว ก็ประหลาดพระทัยด้วยคนนั้น จึงทรงเหลียวหลังตรัสกับประชาชนที่ตามพระองค์มา
ว่า "เราบอกท่านทั้งหลายว่า แม้ในพวกอิสราเอล เราไม่เคยพบศรัทธามากเท่านี้"
(ลูกา 7:6-9, ผมขอย้ำด้วย)

พูดในแบบพระคัมภีร์ กษัตริย์ของพระเจ้าจะถูกกล่าวถึงว่าเป็นบุตรของพระเจ้าด้วย (ดู 2 ซามูเอล 7:14; สดุดี 2:7) ไม่ใช่ในแง่เป็นผู้สืบเชื้อสายของพระเจ้า แต่ในแง่ว่าเป็นข้ารับใช้ของพระบิดา

ผลของการปกครองโดยชอบธรรม จะนำมาซึ่งพระพรสู่ประชาชน แต่การปกครองของกษัติรย์อธรรม จะนำมา ซึงความเดือดร้อนในแผ่นดิน :

15 ผู้ครอบครองที่ชั่วร้ายเหนือคนยากจน ก็เหมือนสิงห์คำรามหรือหมีที่กำลังเข้าต่อสู้ (สุุภาษิต 28:15)

2 เมื่อคนชอบธรรมทวีอำนาจ ประชาชนก็เปรมปรีดิ์ แต่เมื่อคนชั่วร้าย ครอบครองประชาชนก็คร่ำครวญ (สุภาษิต 29:2)

ดังนั้นเราจึงเห็นว่าพระวจนะคำย้ำหนักแน่นว่า กษัตริย์จำต้องปกครองด้วยความชอบธรรม :

10 คำตัดสินอันมาจากพระเจ้าอยู่ที่ ริมฝีพระโอษฐ์ของพระราชา พระโอษฐ์ ของพระองค์ไม่บาปในการพิพากษา 11 ตราชูและตาชั่งเที่ยงตรงเป็นของพระ
เจ้า ลูกตุ้มทั้งสิ้นในถุงเป็นพระราชกิจของพระองค์ 12 การกระทำความชั่วร้าย เป็นสิ่งที่น่าเกลียดน่าชังต่อพระราชา เพราะว่าพระที่นั่งนั้นถูกสถาปนาไว้ด้วย
ความชอบธรรม 13 ริมฝีปากที่ชอบธรรมเป็นที่ปีติยินดีแก่พระราชา และพระองค์ ทรงรักบุคคลผู้พูดสิ่งที่ถูก (สุภาษิต16:10-13)

8 พระราชาผู้ประทับบนบัลลังก์พิพากษา ย่อมทรงฝัดความชั่วออกด้วยพระเนตร
ของพระองค์ (สุภาษิต 20:8)

26 พระราชาที่ฉลาดย่อมฝัดคนชั่วร้าย แล้วทรงขับกงจักรทับเขา 27 มโนธรรม ของมนุษย์เป็นประทีปของพระเจ้า ส่องดูส่วนลึกที่สุดของเขาทั้งสิ้น 28 ความ จงรักภักดีและความซื่อสัตย์สงวนพระราชาไว้ และความชอบธรรมก็เชิดชูพระที่นั่ง
ของพระองค์ไว้ (สุภาษิต 20:26-28)

ดาวิดพรรนาถ้อยคำเดียวกันนี้เป็นบทกวี (ด้วย) ท่านเปรียบกษัตริย์ผู้ชอบธรรมว่า จะทอแสงเหมือนแสงอรุณ ในยามเช้า (ข้อ 4ก) ซื่งเมื่อหลังฝน จะสร้างความอบอุ่น ทำให้หญ้าเจริญงอกงามขึ้นจากดิน (ข้อ 4ข) การ ปกครองด้วยความชอบธรรม จะก่อให้เกิดผลมากมาย ; แต่ความอธรรมจะเป็นตัวการคอยครอบคลุมและขัด ขวาง คุณว่าเราเคยเห็นสิ่งเหล่านี้มาก่อนมั้ย ในสมัยที่ลัทธิคอมมิวนิสต์ยังเฟื่องฟู?

ในข้อ 5 ท่านเปลี่ยนมาพูดเรื่องพงศ์พันธุ์ของท่าน (ราชวงศ์ของท่าน) ฉบับ KJV และ NKJV ใช้ประโยคแรก ตรงข้ามกับฉบับอื่นๆ :

วงศ์วานของข้าพเจ้าจะไม่ตั้งอยู่กับพระองค์หรือ? ; ถึงกระนั้นพระองค์ทรงทำ พันธสัญญานิรันดร์กับข้าพเจ้า ในทุกสิ่ง อย่างเป็นระเบียบมั่นคง: นี่เป็นความ อุปถัมภ์ทั้งสิ้นของข้าพเจ้า เป็นความปราถนาทั้งสิ้นของข้าพเจ้า พระองค์จะ ไม่ทรงกระทำให้มันงอกงามขึ้นหรือ (KJV)

"เออ พงศ์พันธุ์ของข้าพเจ้าตั้งมั่นอยู่กับพระเจ้ามิใช่หรือ เพราะพระองค์ ทรงกระทำพันธสัญญาเนืองนิตย์กับ ข้าพเจ้าไว้ อันเป็นระเบียบทุกอย่าง และมั่นคง เพราะพระองค์จะไม่ทรงกระทำ ให้ความอุปถัมภ์และความ ปรารถนาของข้าพเจ้าสัมฤทธิ์ผลหรือ?" (NKJV)

ลองเปรียบเทียบกับฉบับของ NIV, NAB และ NRS :

"พงศ์พันธุ์ของข้าพเจ้าไม่ได้ตั้งมั่นอยู่กับพระองค์หรือ? พระองค์ไม่ได้ทรงทำ พันธสัญญานิรันดร์กับข้าพเจ้าหรือ? ไม่ได้ทรงทำให้ทุกสิ่งมั่นคงหรือ? จะไม่ทรง ทำให้ความอุปถัมภ์และความปรารถนาทั้งสิ้นของข้าพเจ้าเกิดผลหรือ?" (NIV)

"แท้จริงพงศ์พันธุ์ของข้าพเจ้าไม่ตั้งมั่นอยู่กับพระเจ้าหรือ? เพราะพระองค์ทรงทำ พันธสัญญานิรันดร์กับข้าพเจ้า ทุกสิ่งจึงเป็นระเบียบและมั่นคง ; พระองค์จะไม่ทรง ทำให้ความอุปถัมภ์ และความปรารถนาทั้งสิ้นของข้าพเจ้าสัมฤทธิ์ผลหรือ?" (NAB)

พงศ์พันธุ์ของข้าพเจ้าไม่เป็นเช่นนั้นกับพระเจ้าหรือ? พระองค์ได้ทรงทำพันธ สัญญานิรันดร์กับข้าพเจ้า ทุกสิ่งตั้งอยู่ในระเบียบและมั่นคง พระองค์จะไม่ทรง ช่วยให้ทุกสิ่ง และความปรารถนาทั้งสิ้นของข้าพเจ้าเกิดผลหรือ? (NRS)

ผู้แปลมีตัวเลือกให้ใช้ ผู้แปลฉบับบ King James Versions (ทั้งเก่าและใหม่) เลือกที่จะใช้ประโยคแรกเป็น ประโยคเชิงปฏิเสธ ; คนอื่นๆเลือกใช้ตรงข้าม จะแบบใดก็ตาม ความหมายที่ดาวิดสื่อนั้นชัดเจน ดาวิดเริ่มด้วย การย้ำถึงตัวท่านและพงศ์พันธุ์ด้วยความถ่อมใจ เมื่อเทียบกับพระคุณมากมายที่พระเจ้าประทานให้กับวงศ์วาน ของท่านทางพันธสัญญาดาวิด : "ไม่ว่าข้าพเจ้าหรือวงศ์วานของข้าพเจ้าไม่สมควรได้รับสิ่งนี้ แต่พระเจ้าก็ทรง ทำพันธสัญญากับข้าพเจ้า เป็นพันธสัญญาที่มั่นได้ใจว่าจะเป็นการปกครองด้วยความชอบธรรมชั่วนิรันดร" ดาวิดยังคงย้ำต่อไปถึงพระคุณของพระเจ้าที่มีต่อตัวท่าน และที่ผ่านทางท่าน : "อันที่จริง นี่ไม่ใช่สิ่งที่พระเจ้า ทรงประทานให้ข้าพเจ้าหรือ ทำให้การปกครองของข้าพเจ้าและผู้สืบทอด ปกครองด้วยความชอบธรรม โดย ประทานพันธสัญญานิรันดร์ให้กับข้าพเจ้าหรือ?"

ผลที่สุดแล้ว ดาวิดมีความมั่นใจ จนกล้าพูดได้ว่า วงศ์วานของท่านจะปกครองด้วยความชอบธรรม ที่เป็นเช่นนี้ ไม่ใช่เพราะคุณความดีของดาวิด หรือความชอบธรรมของท่าน แต่เป็นพระคุณพระเจ้า ที่ประทานให้ทางพันธ สัญญาดาวิด (2 ซามูเอล 7:14) ด้วยพระสัญญานี้เอง ดาวิดสามารถวางใจได้ ว่าการปกครองจะเป็นไปโดย ชอบธรรม ปิดผนึก ประทับตรา และส่งถึงมือผู้รับ122 ทุกอย่างจะเป็นไปตามนั้น (อย่างถาวรและตลอดไป) ใน องค์พระบุคคลของพระเมสซิยาห์ องค์พระเยซูคริสต์ 123 นี่เป็นความรอดและความปรารถนาทั้งสิ้นที่พระเจ้า ให้เกิดขึ้น พระองค์ทรงเป็นทั้งผู้จัดเตรียม และผู้กระทำให้สำเร็จทุกประการ บทเพลงการช่วยกู้ของดาวิดมุ่ง อยู่ที่พระเจ้า ทุกสิ่งเป็นมาจากพระองค์ โดยทางพระองค์ และในพระองค์

ลองดูว่าบทเพลงนี้สร้างผลกระทบอย่างไรให้กับซาโลมอน ตามบทเพลงที่ซาโลมอนเขียนขึ้น:
(บทสดุดีของซาโลมอน )
1 ข้าแต่พระเจ้า ขอประทานความ ยุติธรรมของพระองค์แก่พระราชา และความ ชอบธรรมของพระองค์แก่ราชโอรส 2 เพื่อท่านจะได้พิพากษาประชากรของ พระองค์ ด้วยความชอบธรรม และคนยากจนของพระองค์ด้วยความยุติธรรม 3 ให้ภูเขาบังเกิด สันติสุขสำหรับประชาชน และเนินเขา โดยความชอบธรรม 4 ขอท่านสู้คดีของคน
ยากจน แห่งประชาชน ให้การช่วยกู้แก่ลูกหลานของคนขัดสน และขยี้ผู้บีบบังคับ
5 ขอให้ท่านดำรงชีวิตตราบที่ดวงอาทิตย์คงอยู่ ตราบเท่าดวงจันทร์ ตลอดชาติพันธุ์
6 ขอให้ท่านเป็นเหมือนฝนที่ตกบนหญ้าที่ตัดแล้ว เหมือนห่าฝนที่รดแผ่นดินโลก 7
ในสมัยของท่าน ขอความชอบธรรมเจริญขึ้น และสันติภาพอันอุดม จนไม่มีดวงจันทร์
(สดุดี 72:1-7)

ลองมาดูว่าผู้เขียนพระคัมภีร์ใหม่ในยุคหลัง นำบทเพลงของดาวิดบทนี้มาพูดถึงคำพยากรณ์ ที่สำเร็จเป็น จริงแล้วในองค์พระเยซูคริสต์อย่างไร :

1 จะมีหน่อแตกออกมาจากตอแห่งเจสซี จะมีกิ่งงอกออกมาจากรากทั้งหลาย
ของเขา 2 และพระวิญญาณของพระเจ้าจะอยู่บนท่านนั้น คือวิญญาณแห่ง
ปัญญาและความเข้าใจ วิญญาณแห่งการวินิจฉัยและอานุภาพ วิญญาณแห่งความรู้และความยำเกรงพระเจ้า 3 ความพึงใจของท่านก็ในความยำเกรง
พระเจ้า ท่านจะไม่พิพากษาตามซึ่งตาท่านเห็น หรือตัดสินตามซึ่งหูท่านได้ยิน
4 แต่ท่านจะพิพากษาคนจนด้วยความชอบธรรม และตัดสินเผื่อผู้มีใจถ่อมแห่ง
แผ่นดินโลก ด้วยความเที่ยงธรรม ท่านจะตีโลกด้วยตะบองแห่งปากของท่าน และท่านจะประหารคนอธรรมด้วยลมแห่งริมฝีปากของ ท่าน 5 ความชอบธรรม จะเป็นผ้าคาดเอวของท่าน และความสัตย์สุจริตจะเป็นผ้าคาดบั้นเอวของท่าน
(อิสยาห์ 11:1-5)

1 "พระเจ้าจอมโยธาตรัสว่า "ดูเถิด วันนั้นจะมาถึง คือวันที่จะเผาไหม้เหมือน
เตาอบ เมื่อคนที่อวดดีทั้งสิ้น และคนที่ประกอบการอธรรมทั้งหมดจะเป็นเหมือน
ตอข้าว วันที่จะมานั้นจะไหม้เขาหมด จนไม่มีรากหรือกิ่งเหลืออยู่เลย 2 แต่ดวง อาทิตย์แห่งความชอบธรรมซึ่งมีปีกรักษาโรคภัยได้ จะขึ้นมาสำหรับคนเหล่านั้น
ที่ยำเกรงนามของเรา เจ้าจะกระโดดโลดเต้นออกไปเหมือนลูกวัวออกไปจากคอก
(มาลาคี 4:1-2)

ดาวิดไม่ใช่นักสากลนิยม คิดเอาเองว่าพระพรที่ท่านกล่าวถึงนั้นมีไว้เพื่อมวลมนุษยชาติ การช่วยกู้ที่ท่านพูด ถึงนั้น เป็นความปรารถนา เป็นความชื่นชมยินดีของตัวท่านเอง ด้วยว่าไม่ใช่มนุษย์ทุกคนที่จะมีความหวังใจ และวางใจในพระเจ้า พึ่งพิงความรอดของพระองค์ ดังนั้นในตอนจบบทเพลงของท่าน ท่านจึงวกกลับมาที่ ปลายทางของคนอธรรม คนที่ปฏิเสธพระคุณความรอดของพระเจ้าโดยทางองค์พระเมสซิยาห์ ผู้ที่พระเจ้า เจิมไว้ ข้อ 6 และ 7 เป็นเรื่องราวต่อเนื่องกับข้อ 4 เพียงแต่เป็นเชิงเปรียบเทียบ เมื่อกษัตริย์ผู้ชอบธรรมของ อิสราเอล (พระเยซูคริสต์) มาปกครองโลกนี้ อาณาจักรของพระองค์จะทำให้ผู้ชอบธรรมจำเริญขึ้น เช่นเดียว กับฝนที่ทำให้หญ้าเกิดขึ้นและงอกงาม แต่คนอธรรมไม่เป็นเช่นหญ้า ; กลับเป็นเหมือนพงหนาม หนามที่ไร้ค่า ไม่มีใครอยากเก็บไว้ หาประโยชน์ใดๆไม่ได้ ไม่มีใครอยากยื่นมือไปแตะต้อง มีแต่ต้องทำลายทิ้ง และการจะ ทำลาย ต้องระวังให้ดี มิฉะนั้นอาจบาดเจ็บ ต้องใช้อาวุธที่ทำด้วยเหล็ก ตัดทำลาย สับมัน และโยนเข้ากองไฟ เผาทิ้งไป

น่าเป็นเวลาเหมาะ ที่จะนำสิ่งที่ดาวิดเขียนไว้สะท้อนออกมา ข่าวประเสริฐในพระคัมภีร์ ไม่ใช่เป็นคำสัญญา ว่าความรอดนิรันดร์จะไปถึงมนุษย์ทุกคน แต่เป็นการมอบความรอดให้กับมนุษย์ทุกคน ถึงแม้พระเจ้าทรงจัด เตรียมหนทางไว้ให้ คนอธรรมทั้งหลาย ก็ยังคงปฏิเสธไม่ยอมรับ และเมื่อพวกเขาปฏิเสธ พวกเขาจึงต้อง พินาศในบึงไฟนรก ถ้าจะพูดให้ชัดๆอย่างไม่เกรงใจก็คือ ปลายทางของคนอธรรมทุกคน คือนรกแน่นอน :

4 ข้าพเจ้าได้เห็นบัลลังก์หลายบัลลังก์ และผู้ที่นั่งบนบัลลังก์นั้น เป็นผู้ที่จะ
พิพากษา และข้าพเจ้ายังได้เห็นดวงวิญญาณของคนทั้งปวงที่ถูกตัดศีรษะ เพราะเป็นพยานของพระเยซูและเพราะพระวจนะของพระเจ้า และผู้ที่ไม่ได้ บูชาสัตว์ร้ายนั้นหรือรูปของมัน และไม่ได้ติดเครื่องหมายของมันไว้ที่หน้าผาก
หรือที่มือของเขา คนเหล่านั้นกลับมีชีวิตขึ้นมาใหม่ และได้ครอบครองร่วมกับ พระคริสต์เป็นเวลาพันปี 5 นอกจากคนเหล่านี้คนอื่นๆ ที่ตายแล้วไม่ได้กลับ มีชีวิตอีกจนกว่าจะครบกำหนดพันปี นี่แหละคือการฟื้นจากความตายครั้งแรก
11 ข้าพเจ้าได้เห็นพระที่นั่งใหญ่สีขาวและเห็นท่านผู้ประทับบนพระที่นั่งนั้น เมื่อพระองค์ทรงปรากฏแผ่นดินโลกและท้องฟ้าก็หายไป และไม่มีที่อยู่สำหรับ แผ่นดินโลกและท้องฟ้าเลย 12 ข้าพเจ้าได้เห็นบรรดาผู้ที่ตายแล้ว ทั้งผู้ใหญ่ และผู้น้อยยืนอยู่หน้าพระที่นั่งนั้น และหนังสือต่างๆก็เปิดออก หนังสืออีกเล่ม
หนึ่งก็เปิดออกด้วย คือหนังสือชีวิต และผู้ที่ตายไปแล้วทั้งหมด ก็ถูกพิพากษา ตามข้อความที่จารึกไว้ในหนังสือเหล่านั้น และตามที่เขาได้กระทำ13 ทะเลก็ส่ง
คืน คนทั้งหลายที่ตายในทะเล ความตายและแดนมรณาก็ส่งคืนคนทั้งหลายที่
อยู่ในแดนนั้น และคนทั้งหลายก็ถูกพิพากษาตามการกระทำของตนหมดทุกคน
14 แล้วความตาย และแดนมรณาก็ถูกผลักทิ้งลงไปในบึงไฟ บึงไฟนี่แหละเป็น
ความตายครั้งที่สอง 15 และถ้าผู้ใดที่ไม่มีชื่อจดไว้ในหนังสือชีวิต ผู้นั้นก็ถูกทิ้ง
ลงไปในบึงไฟ (วิวรณ์ 20:4-5, 11-15)

ข่าวประเสริฐแห่งพระกิตติคุณ เรื่องความรอดที่ประทานให้กับมนุษย์ทุกคน จะไม่สามารถป่าวประกาศออก ไปได้ หากปราศจากคำเตือนเรื่องการพิพากษาที่จะมาถึง บทเพลงการช่วยกู้ของดาวิด มองไกลไปในอนาคต เมื่อจอมกษัตริย์ของพระเจ้าเสด็จมา "บุตรดาวิด" คือองค์พระเยซูคริสต์ ผู้เสด็จมาพร้อมกับการช่วยกู้บรรดา ผู้ชอบธรรม (ในพระเยซู) และการพิพากษาที่จะมีไปถึงคนอธรรม (ไม่มีส่วนกับพระคริสต์) ที่สุดแล้ว "การช่วย กู้" ของดาวิด ไม่ใช่โดยกำลังทหาร หรือกำลังฝ่ายกาย แต่เป็นจิตวิญญาณ

ก่อนจะเรียนต่อ ผมขอยกตัวอย่างถึงสิ่งที่กล่าวไป ว่าเกี่ยวข้องกับเรา หรือเราจะนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ อย่างไร ประการแรก ความชอบธรรมควรสะท้อนออกมาจากบรรดาผู้ที่พระเจ้าเลือกให้เป็นผู้นำ ความชอบ ธรรมก่อกำเนิดมาจากพระราชกิจของพระเยซูคริต์ ไม่ใช่มาจากตัวเรา สะท้อนมาจากจิตใจที่เมตตาในผู้ทุกข์ ยากขัดสน และการตอบสนองของเราที่มีต่อคนอธรรม มีกี่ครั้งกันที่พ่อแม่มีวิธีจัดการกับลูกๆได้เป็นอย่างดี แต่ไม่ยอมจัดการกับเรื่องความบาปในตัวลูก พระคัมภีร์สั่งเราให้กำจัดความชั่วออกไป และยึดมั่นในสิ่งดีงาม (โรม 12:9) ความชอบธรรมสะท้อนออกมาได้ทั้งแง่บวกและแง่ลบ ถ้าละเลยแง่หนึ่งแง่ใดไป คือการไม่ได้ ปฏิบัติอย่างชอบธรรมตามพระประสงค์ของพระเจ้า ที่มีต่อบรรดาผู้นำ

วีรบุรุษของดาวิด: ประวัติความกล้าหาญ
ทั้งสาม (23: 8-12) และทั้งสามสิบ (23:13-39)

    คนทั้งสาม (ข้อ 8-12)

8 ต่อไปนี้เป็นชื่อวีรบุรุษที่ดาวิดทรงมีอยู่ คือ โยเชบบัสเชเบธตระกูลทัคโมนี เป็นจอม ในคนทั้งสามนั้น เขาเหวี่ยงหอกเข้าแทงคนแปดร้อยคน ซึ่งเขาได้ฆ่าเสียในครั้งเดียว
9 ในจำนวนวีรบุรุษสามคน คนที่รองคนนั้นมา คือเอเลอาซาร์บุตรโดโด ผู้เป็นบุตรของ
อาโหไฮ ท่านอยู่กับดาวิดตั้งแต่ครั้งที่เขาทั้งหลายได้ พูดหยามพวกฟีลิสเตียซึ่งชุมนุมกัน ที่นั่นเพื่อสู้รบ และคนอิสราเอลก็ถอยทัพ 10 ท่านได้ลุกขึ้นฆ่าฟันพวกฟีลิสเตีย จนมือของ
ท่านเป็น เหน็บแข็งติดดาบ ในวันนั้นพระเจ้าทรงกระทำให้ได้ชัยชนะอย่างใหญ่หลวง ทหารก็กลับตามท่านมา เพื่อปลดข้าวของจากผู้ที่ถูกฆ่าตายเท่านั้น 11 รองเขามาคือชัมมาห์ บุตรอาเกชาวฮาราร์ คนฟีลิสเตียมาชุมนุมกันอยู่ที่เลฮี เป็นที่ที่มีพื้นดินผืนหนึ่งมีถั่วแดงเต็ม
ไปหมด พวกพลก็หนีพวกฟีลิสเตียไป 12 แต่ท่านยืนมั่นอยู่ ท่ามกลางพื้นดินผืนนั้น และป้อง กันที่ดินนั้นไว้ และฆ่าฟันคนฟีลิสเตีย และพระเจ้าได้ทรงประทานชัยชนะอย่างใหญ่หลวง

วีรบุรุษคนกล้าคนแรกจาก "ทั้งสาม" คือโยเชบบัสเชเบธ เป็นหัวหน้าของทั้งสาม มีการบันทึกไว้ว่า ท่านได้ สังหารคนเสีย 800 คนในเวลาเดียว แต่ข้อมูลที่บันทึกอยู่ในพระธรรมพงศาวดารนั้นต่างออกไป:

11 ต่อไปนี้เป็นจำนวนวีรบุรุษของดาวิดคือยาโชเบอัม ตระกูลฮัคโมนีเป็นหัวหน้า
ของคนทั้งสาม เขายกหอกของเขาสู้คนสามร้อย และฆ่าเสียในคราวเดียวกัน
(1 พงศาวดาร 11:11)

ชื่อหรือจำนวนที่ต่างกันนี้ ไม่น่าถือว่าเป็นเรื่องประหลาดหรือใหญ่โตอย่างใด จำนวนอาจดูแตกต่างค่อนข้าง มากหน่อย124 ใน 2 ซามูเอล เราอ่านพบว่าวีรบุรุษท่านนี้ฆ่าคน 800 คนในคราวเดียว ; ในพงศาวดารบอก ว่าฆ่าไปเพียง 300 เท่านั้น คงยากที่จะบอกว่าพระธรรมฉบับใหนคัดลอกผิดพลาด จะอย่างไรก็ตาม บุคคลที่ สามารถต่อสู้และฆ่าศัตรูหลายร้อยคนได้ในการรบครั้งเดียว ย่อมต้องนับว่าเป็นวีรบุรุษสงคราม

วีรบุรุษรองของหนึ่งในสามคือเอเลอาซาร์บุตรโดโดชาวอาโหไฮ ในพงศาวดารบันทึกเรื่องวีรกรรมของท่าน เอาไว้ด้วย:

12 และในคนทั้งสาม คนที่ถัดเขาไปคือเอเลอาซาร์ บุตรโดโดตระกูลอาโหอาห์
13 เขาอยู่กับดาวิดที่ปัสดัมมิม เมื่อคนฟีลิสเตียชุมนุมกันทำสงคราม ที่นั่นมีที่ดินแปลงหนึ่งมีข้าวบาร์ลีเต็มไปหมด และคนทั้งหลายก็หนีจากคนฟีลิสเตีย 14 แต่
เขา ยืนหยัดอยู่ท่ามกลางที่ดินแปลงนั้น และป้องกันมันไว้ ได้ฆ่าคนฟีลิสเตียเสีย และพระเจ้าทรงช่วยเขาทั้งหลาย ให้พ้นด้วยชัยชนะอันยิ่งใหญ่ (1 พศด. 11:12-14)

เอเลอาซาร์ร่วมรบกับดาวิดต่อสู้กับพวกฟิลิสเตีย และดูเหมือนคนอิสราเอลกำลังเพลี่ยงพร้ำ อย่างน้อยก็ใน สายตาของทหารอิสราเอลที่กำลังหนีเอาตัวรอด เอเลอาซาร์ตกเข้าไปอยู่ในนาข้าวบาร์ลี ที่พวกฟิลิสเตียต้อง การจะเข้าไปปล้นและทำลาย (เทียบกับผู้วินิจฉัย 6:2-6, 11) คำว่า "คนทั้งหลาย" ใน 1 พศด. 11:14, ทำ ให้ผมเข้าใจว่าเอเลอาซาร์ไม่ได้สู้คนเดียว แต่เคียงบ่าเคียงไหล่กับดาวิด ถึงแม้คนอื่นๆกำลังหนีเอาตัวรอด แต่ เอเลอาซาร์สามารถป้องกันไว้ได้ ท่านรบจนมือที่จับดาบเป็นเหน็บชาจนแข็ง และในที่สุดก็ชนะ นับเป็นความ กล้าและความมุมานะของเอเลอาซาร์ แต่ที่สุดแล้วต้องขอบพระคุณพระเจ้า ผู้ประทานชัยชนะให้ เมื่อคนทั้ง หลายกลับมาที่สนามรบ สิ่งที่เหลือต้องทำคือ จัดการกับศพและของริบของศัตรู -- พูดง่ายๆก็คือเคลียร์พื้นที่ ให้กับเอเลอาซาร์

วีรบุรุษคนสุดท้ายใน "ทั้งสาม" คือชัมมาห์บุตรอาเก ในเหตุการณ์อีกครั้งที่พวกฟิลิสเตียมาต่อสู้กับอิสราเอล พวกศัตรูต้องการเข้ามายึดครองที่ดินที่เพาะปลูกถั่วแดงอยู่ ต้องการมาปล้นเอาผลผลิตที่กำลังงามไป การจะ ยึดพื้นที่ให้ได้ ต้องมีเสบียงเพียงพอและขับไล่คนอิสราเอลออกไป คนอื่นๆหนีไปกันหมด แต่ชัมมาห์ยืนหยัด ต่อสู้ พระเจ้าทรงประทานชัยชนะให้ และชัมมาห์ได้ฆ่าคนฟิลิสเตียล้มตายไปเป็นอันมาก

    ทั้งสามสิบ (ข้อ 13-39)

13 ในพวกทหารเอกสามสิบคนนั้นมีสามคนที่ลงมา และได้มาหาดาวิดที่ถ้ำอดุลลัม
ในฤดูเกี่ยวข้าว มีคนฟีลิสเตียกองหนึ่งตั้งค่ายอยู่ในหุบเขาเรฟาอิม 14 คราวนั้นดาวิด ประทับในที่กำบังเข้มแข็ง และทหารประจำป้อมของฟีลิสเตียก็อยู่ที่เบธเลเฮม 15 ดาวิดตรัสด้วยความอาลัยว่า "ใครหนอจะส่งน้ำจากบ่อที่เบธเลเฮมซึ่งอยู่ข้างประตู เมืองมาให้เราดื่มได้" 16 ทแกล้วทหารสามคนนั้นก็แหกค่ายคนฟีลิสเตียเข้าไป ตักน้ำ ที่บ่อเบธเลเฮมซึ่งอยู่ข้างประตูเมือง นำมาถวายแก่ดาวิด แต่ดาวิดหาทรงดื่มน้ำนั้นไม่ พระองค์ทรงเท ออกถวายแด่พระเจ้า 17 และตรัสว่า "ข้าแต่พระเจ้า ซึ่งข้าพระองค์จะ
กระทำเช่นนี้ ก็ขอให้ห่างไกลจากข้าพระองค์ ควรที่ข้าพระองค์จะดื่มโลหิต ของผู้ที่ตัก มาด้วยการเสี่ยงชีวิตของเขาหรือ" เพราะฉะนั้นพระองค์หาทรงดื่มไม่ ทแกล้วทหารทั้งสาม ได้กระทำสิ่งเหล่านี้ 18 ฝ่ายอาบีชัยน้องชายของโยอาบบุตรนางเศรุยาห์ เป็นหัวหน้าของ ทั้งสามสิบคนนั้น ท่านได้ยกหอกต่อสู้ทหารสามร้อยคน และฆ่าตายสิ้น และได้รับชื่อเสียง
ดัง วีรบุรุษสามคนนั้น 19 ท่านเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดในสามสิบคนนั้น ฉะนั้นได้เป็น ผู้บังคับบัญชาของเขา แต่ท่านไม่มียศเท่ากับสามคนนั้น 20 เบไนยาห์บุตรเยโฮยาดา เป็น คนแข็งกล้า แห่งเมืองขับเซเอล เป็นคนประกอบมหกิจ ท่านได้ฆ่าบุตรอารีเอลของโมอับ เสียสองคน ท่านได้ลงไปฆ่าสิงห์ที่ในบ่อในวันที่หิมะตกด้วย 21 ท่านได้ฆ่าคนอียิปต์คนหนึ่ง เป็นชายรูปร่างงาม คนอียิปต์นั้นถือหอกอยู่ แต่เบไนยาห์ถือไม้เท้าลงไปหา เขาและแย่ง เอาหอกมาจากมือของคนอียิปต์คนนั้น และฆ่าเขาตายด้วยหอกของเขาเอง 22 เบไนยาห์ บุตรเยโฮยาดาได้ กระทำกิจเหล่านี้และได้ชื่อเสียงดั่งวีรบุรุษสามคนนั้น 23 ท่านมีชื่อเสียง โด่งดังกว่าสามสิบคนนั้น แต่ท่านไม่มียศเท่ากับสามคนนั้น และดาวิดก็ทรงแต่งท่านให้เป็น ผู้บังคับบัญชาทหารรักษาพระองค์ 24 อาสาเฮลน้องชายของโยอาบเป็นคนหนึ่ง ในสามสิบ
คนนั้น เอลฮานันบุตรชายของโดโดชาวเบธเลเฮม 25 ชัมมาห์ชาวเมืองฮาโรด เอลีคา ชาวเมืองฮาโรด 26 เฮเลสตระกูลเปเลท อิราบุตรอิกเขช ชาวเมืองเทโคอา 27 อาบีเฮเซอร์ ชาวเมืองอานาโธท เมบุนนัยตระกูลหุชาห์ 28 ศัลโมนชาวอาโหไฮ มาหะรัย ชาวเนโทฟาห์
29 เฮเลบบุตรบาอานาห์ ชาวเนโทฟาห์ อิททัยบุตรรีบัยชาวกิเบอาห์ แห่งคนเบนยามิน
30 เบไนยาห์ ชาวปิราโธน ฮิดดัย ชาวลำธารกาอัช 31 อาบีอัลโบนตระกูลอารบาห์ อัสมาเวท ชาวบาฮูริม 32 เอลียาบาชาวชาอัลโบน บรรดาบุตรชายของยาเชน โยนาธาน 33 ชัมมาห์ชาว
ฮาราร์ อาหิยัมบุตรของชาราร์ คนฮาราร์ 34 เอลีเฟเลทบุตรอาหัสบัยชาวมาอาคาห์ เอลีอัม บุตรอาหิโธเฟล ชาวกิโลห์ 35 เฮสโร ชาวคารเมล ปารัย ชาวอาราบ 36 อิกาล บุตรนาธัน ชาวโศบาห์ บานีคนเผ่ากาด 37 เศเลก คนอัมโมน นาหะรัย ชาวเบเอโรท คนถือเครื่องอาวุธ ของโยอาบ บุตรนางเศรุยาห์ 38 อิรา ตระกูลอิทไรต์ กาเรบ ตระกูลอิทไรต์ 39 อุรีอาห์คน
ฮิตไทต์ รวมสามสิบเจ็ดคนด้วยกัน

    ทั้งสามขอดื่มหน่อย (ข้อ 13-17)

เหตุการณ์ในพระธรรมด้านบนตอนนี้ น่าจะเกิดก่อนที่ดาวิดขึ้นครองเป็นกษัตริย์ ในขณะที่ท่านยังหลบหนีซาอูล ซ่อนตัวอยู่ในถิ่นทุรกันดาร มีการเอ่ยถึง "ถ้ำอดุลลัม" ครั้งแรกใน 1 ซามูเอล 22:1 เป็นสถานที่ ที่ดาวิดใช้ หลบซ่อนตัวเมื่อออกมาจากเมืองกัท และเป็นที่ๆมีอีกหลายคนมาสมทบกับท่าน รวมทั้งคนที่ไม่ชอบการกระ ทำของซาอูล คงมีบางครั้ง ที่ดาวิดและคนของท่านอาศัยอยู่ในถ้ำ ในขณะที่สู้รบกับพวกฟิลิสเตีย พวกฟิลิส เตียเข้ายึดบ้านเกิดของท่านที่เบธเลเฮม และตั้งกองกำลังขึ้นที่นั่น อาจเป็นได้ที่ดาวิดขาดแคลนน้ำ และรู้สึก กระหาย ท่านอาจจะเอ่ยความปรารถนาของท่านออกมาโดยไม่ตั้งใจ ว่าท่านอยากมีโอกาสได้ดื่มน้ำจากบ่อ ที่ในเบธเลเฮม คงจะเป็นบ่อที่ท่านใช้ดื่มมาตั้งแต่เด็ก และพอใจในรสชาติของน้ำ

คนของดาวิดได้ยินสิ่งที่ท่านเปรยออกมา ท่านไม่ได้สั่งให้ใครไปนำน้ำจากบ่อนั้นมาให้ ท่านไม่ได้คิดด้วยซ้ำ ว่าจะมีบางคนยึดถือเป็นจริง พยายามฝ่าอันตรายไปนำมาให้ แต่สำหรับทแกล้วทหารทั้งสามนี้ ความปรารถนา ของดาวิดคือคำสั่ง ทั้งสามละจากความปลอดภัยในถ้ำ เดินทางไปประมาน 12 ไมล์ เพื่อไปเบธเลเฮม ฝ่าแนว รบเข้าไป เพื่อไปตักน้ำ แล้วเดินทางกลับอีก 12 ไมล์นำมาให้ดาวิด

เมื่อพวกเขานำน้ำมามอบให้ดาวิด ท่านกลับทำสิ่งที่ใครๆก็คิดว่าผิดวิสัย 125 ท่านไม่ดื่มน้ำนั้น แต่กลับเทลง บนดิน ไม่ใช่เป็นเพราะท่านดูถูกความพยายามของทหารกล้าทั้งสามนี้ หรือเพราะท่านไม่กระหายอีกแล้ว ผม เชื่อว่าการกระทำของท่านที่ไม่ดื่มน้ำ ไม่ใช่เป็นเพราะท่านหยิ่งหรืออะไรทำนองนั้น แต่ดาวิดไม่เคยคิดที่จะให้ ใครไปเสี่ยงชีวิตถึงปานนั้น เพียงเพื่อสนองความต้องการของท่าน 126 สิ่งที่คนเหล่านี้ทุ่มเทเพื่อท่าน น่าจะ เป็นสิ่งที่ทุ่มเทให้กับพระเจ้า ท่านเทน้ำถวายแด่พระเจ้า เป็นสิ่งสูงสุดที่ดาวิดสามารถสำแดงให้คนของท่าน เห็นว่า ท่านซาบซึ้งใจในสิ่งที่พวกเขาทำ น้ำจึงเป็นดังสัญลักษณ์ของโลหิต ที่ทหารทั้งสามนี้ยอมสละ เพื่อ ปรนนิบัติท่าน สิ่งสูงสุดที่ท่านสามารถนำน้ำไปใช่้ได้คือ นำไปนมัสการพระเจ้า ดาวิดจึงเทน้ำออกเพื่อถวาย แด่พระองค์

    อาบีชัย (ข้อ 18-19)

อาบีชัยเกี่ยวดองกับดาวิด รวมทั้งน้องชายโยอาบและอาสาเฮล ทั้งสามเป็นบุตรของนางเศรุยาห์ น้องสาว ของดาวิด (ข้อ 18; ดู 1 พศด. 2:16) เมื่อดาวิดนำบทบาทต่างๆของคนเหล่านี้มาทบทวน ท่านคงรู้สึกฉงน อยู่ในใจ อันที่จริงอาบีชัยเป็นนักรบและผู้นำทหารที่เก่งกล้า เป็นคนอาสาไปบุกค่ายซาอูลกับดาวิด เป็น ภาระกิจเสี่ยงตาย (1 ซามูเอล 26:6-12) เขาเป็นผู้นำทหารให้กองกำลังของดาวิด ออกสู้รบกับซีเรียและ อัมโมน (2 ซามูเอล 10:9-14) นำกองกำลังหนึ่งในสามของดาวิดออกไปจัดการกับพวกกบฎของอับซาโลม (2 ซามูเอล 18:2) รับคำสั่งจากดาวิดไปจัดการกับเชบาจอมกบฎ (2 ซามูเอล 20:6) และภายใต้การนำ ของอาบีชัย ทหารอิสราเอลสามารถสังหารคนเอโดมได้ถึง 18,000 คนในหุบเขาเกลือ (1 พศด.18:12)

ถึงกระนั้น อาบีชัยก็ยังเป็นหนามยอกอกของดาวิด เมื่อครั้งที่เขาและดาวิดบุกไปค่ายของซาอูล อาบีชัย กระเหี้ยนกระหืออยากฆ่ากษัตริย์ที่พระเจ้าเจิมไว้ (1 ซามูเอล 26:6-8) ทั้งเขาและโยอาบน้องชาย สมรู้ร่วม คิดกันฆ่าอับเนอร์ เพื่อแก้แค้นแทนอาสาเฮลน้องเล็กที่ถูกอับเนอร์ฆ่าตายในสงคราม (ดู 2 ซามูเอล 3:26-30) อาบีชัยและโยอาบยังต้องการจะกำจัดชีเมอี เพราะบังอาจพูดจาดูหมิ่นเยาะเย้ยดาวิด ระหว่างที่ท่านหลบหนี กลุ่มก่อกบฎของอับซาโลม ถึงแม้ดาวิดจะให้อภัยไม่ถือโทษแล้วก็ตาม (2 ซามูเอล 16:5-14) เมื่อท่านกลับ คืนสู่กรุงเยรูซาเล็ม และชีเมอีมาขอการอภัย อาบีชัยยังไม่สมใจ ยุยงให้ดาวิดสั่งฆ่าชีเมอีเสีย เพราะชายคนนี้ บังอาจพูดจาดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ (2 ซามูเอล 19:16-23).

นอกจากข้อบกพร่องต่างๆของอาบีชัยที่พูดไปแล้ว นับได้ว่าเขาเป็นนักรบที่เก่งกล้าสามารถ ไม่อาจปฏิเสธ ฝีมือและชั้นเชิงในการรบได้เลย อาบีชัยได้รับตำแหน่งสูงในกองทัพอิสราเอล ได้ "เป็นวีรบุรุษ" เพราะเป็น นักรบที่เลื่องชื่อ มีการบันทึกไว้ว่า ครั้งหนึ่งอาบีชัยสามารถขว้างหอกใส่ศัตรูและฆ่าตายได้ถึง 300 คน ใน ท่ามกลางสามสิบคนนี้ อาบีชัยเป็นอันดับหนึ่ง แต่ไม่ได้อยู่ในทำเนียบ "หนึ่งในสาม" ที่กล่าวไปก่อนหน้านี้

    เบไนยาห์ หนุ่มหัวใจสิงห์ (ข้อ 20-23)

ผมต้องขอสารภาพว่า ในท่ามกลางวีรบุรุษของดาวิด เบไนยาห์เป็นคนโปรดของผม หนุ่มคนนี้ไม่ธรรมดา เป็น บุตรของผู้ที่ได้เรียกว่าเป็นคนแข็งกล้า ได้กระทำภารกิจใหญ่เยี่ยงวีรบุรุษ (ข้อ 20) เบไนยาห์ฆ่าบุตรสองคน ของอารีเอล 127 ชาวโมอับ ฟังๆดูยังไม่ค่อยน่าเลื่อมใส แต่ยังมีอีก เขาทำการกล้าหาญไว้หลายประการ ได้ลง ไปฆ่าสิงห์ที่ในบ่อในวันหิมะตก! อาจเป็นได้ว่า "บ่อ" ที่ว่านี้คือถังน้ำใหญ่ 128 และเป็นเพราะสิงห์มันตกลงไป พวกนักรบจึงตักน้ำขึ้นมาดื่มไม่ได้ ใครอยากเสี่ยงตายไปแย่งน้ำจากสิงห์เล่า? แต่กองทัพก็ขาดน้ำไม่ได้ เบไนยาห์จึงอาสาลงไปเอาสิงห์ออกมา จะอย่างไรก็ตาม อุปสรรคจะยิ่งใหญ่ปานไหนก็ตาม เบไนยาห์ทำได้ สำเร็จ

แต่ยังมีอีกเหตุการณ์หนึ่งที่ผู้เขียนบันทึกไว้ถึงความเก่งกล้าของเบไนยาห์ ชายร่างยักษ์ชาวอียิปต์มาประจันหน้า กับเบไนยาห์ในสนามรบ ปัญหาก็คือชายยักษ์คนนี้ใหญ่โตน่ากลัว ในขณะที่เบไนยาห์ไม่มีอาวุธใดๆในมือ แต่ ศัตรูมีหอกเหมือนกับที่โกลิอัทเคยใช้ และต้องการสู้กับเบไนยาห์ เบไนยาห์จึง "ลงไป" หา เขามีเพียงไม้เท้า ในมือเท่านั้น เขาใช้ไม้เท้าหลอกล่อชายยักษ์นี้ แย่งหอกมาได้ และใช้หอกนี้แหละ ฆ่าเจ้าของหอกจนตาย ต่าง กับดาวิด ผู้ฆ่าโกลิอัทด้วยดาบของท่าน (1 ซามูเอล 17:50-51).

ที่น่าทึ่งคือ เบไนยาห์เป็นบุตรของปุโรหิตชาวเลวี :

5 ผู้บังคับบัญชาการกองทัพคนที่สามสำหรับเดือนที่สาม คือเบไนยาห์ บุตรเยโฮยาดาปุโรหิตเป็นหัวหน้า ในกองเวรของเขามีสองหมื่นสี่พันคน (1 พงศาวดาร 27:5)

เราคงคิดไม่ถึงว่าปุโรหิตชาวเลวีจะสวมหัวใจสิงห์ลงไปปราบสิงห์จริงๆ แต่นี่เป็นปุโรหิตที่ยอมให้มือเปื้อน เพื่อจะสำแดงถึงความเชื่อ บางทีเป็นเพราะท่านรับใช้ด้วยหัวใจที่สัตย์ซื่อ ดาวิดจึงตั้งท่านให้เป็นหัวหน้า หน่วยองครักษ์ส่วนพระองค์ ควบคุมดูแลชาวเปเรธี และชาวเปเลท (2 ซามูเอล 8:18; 20:23)

    รายชื่อของเหล่าวีรบุรุษ (ข้อ 24-39)

ผู้เขียนสรุปเรื่องวีรกรรมของวีรบุรุษสงครามเหล่านี้ไว้ด้วยรายชื่อไม่น้อยกว่า 30 ชื่อ มีการบันทึกไว้ว่ารวม ทั้งสิ้น 37 คน นับไปนับมาอาจได้น้อยกว่า เพราะไม่มีใครทราบจำนวนบุตรที่แท้จริงของ "บรรดาบุตรชายของ ยาเชน" (ข้อ 32) บางคนที่เสียชีวิตไปแล้ว (เช่นอุรียาห์) มีการแต่งตั้งคนอื่นขึ้นมาแทน นี่เป็นการประกาศ เกียรติคุณของวีรบุรุษทั้ง 30 ถึงแม้บางคนสิ้นชีวิตไปแล้ว และมีการแต่งตั้งผู้อื่นขึ้นมาดำรงตำแหน่งแทน

การพูดถึงอุรียาห์เป็นเรื่องน่าสนใจครับ อุรียาห์ไม่ธรรมดา เป็นนักรบเลื่องชื่อที่ต่อสู้เพื่อดาวิดและประเทศ อิสราเอล ดาวิดคงต้องรู้จักอุรียาห์เป็นอย่างดี แต่ท่านก็ยังกล้าไปแย่งภรรยาของเขา และกล้าวางแผนการ กำจัดนักรบที่มีค่าเช่นนี้ โดยใช้ความสามารถในการรบของเขาเองทำให้ต้องสิ้นชีวิตลง

ไม่มีการบอกเล่าถึงวีรกรรมของทหารแกล้วทั้งสามสิบนี้ในข้อ 24-39 แต่เบอร์เกน129 ได้ชี้ให้เห็นข้อเท็จจริง ที่น่าสนใจบางประการของบุคคลกลุ่มนี้ อาจมีถึงสิบสองคนในสามสิบนี้ที่เป็นชาวยูดาห์ และอย่างน้อยสามคน มาจากเผ่าเบนยามิน สองคนมาจากเอฟราอิม หนึ่งคนอาจมาจากเผ่าดาน และอีกคนจากกาด สามคนไม่มีการ พูดถึงที่มา และอีกสองคนไม่ทราบว่ามาจากไหนแน่ชัด เพราะมีมากกว่าสองสถานที่ ที่เหลือเป็นต่างชาติ (รวม อุรียาห์ด้วย) อีกครั้งแล้วที่เราเห็นว่าคนต่างชาติมีส่วนอยู่ในแผนการของพระเจ้าในการกอบกู้ประชากรของ พระองค์ ผมรู้สึกว่ามีอยู่หลายชื่อเป็นคนที่เคยอยู่กับดาวิดในช่วงแรกๆ ก่อนที่ท่านจะขึ้นเป็นกษัตริย์ และก่อนที่ ท่านจะหลบหนีซาอูลด้วยซ้ำไป

บทสรุป

เมื่อมาถึงตอนท้ายของพระธรรมตอนนี้ เรารู้สึกได้ว่าเป็นบทส่งท้ายที่สรุปรวมพระธรรม 1 และ 2 ซามูเอล ไว้ด้วยกัน ผู้เขียนได้นำเราผ่านเรื่องราวต่างๆมาจนถึงตอนจบที่ตรงนี้ และเป็นตอนสำคัญตอนหนึ่งที่ผู้เขียน (ดลใจโดยพระวิญญาณบริสุทธิ์) พยายามจะถ่ายทอดบางสิ่งกับเรา เรื่องใดกันที่เป็นบทเรียนสำหรับอิสราเอล ในยุคโบราณและคริสเตียนในยุคนี้ ? ผมขอเสนอบางข้อนะครับ

(1) ผู้เขียนกำลังเตือนเราถึงหลักการในการดูแลคนอย่างทั่วถึง เบอร์เกนชี้ให้เห็นถึงสิ่งที่พระเจ้า กระทำผ่านดาวิด พระองค์ทรงกระทำให้สำเร็จผ่านทางคนอื่นๆด้วย :

"พระเจ้าจอมโยธาทรงฝึกฝน เสริมกำลัง
และประทานชัยชนะในสนามรบให้แก่ผู้ที่ พระองค์ทรงเจิมไว้ ดาวิด
แต่พระองค์ไม่ได้ทรงจำกัดอยู่แค่ดาวิดเท่านั้น ทหาร
คนอื่นๆที่อยู่ในพระสัญญา เช่นเอลีอาซาร์
สามารถมีประสบการณ์ในพระพรด้วย เช่นกัน "130

เราชอบนึกไปว่า พระเจ้ามักจำกัดพระองค์เองไว้สำหรับบางคนเท่านั้น คนที่พระองค์เมตตาให้เกิดผลมาก ในพระคัมภีร์ใหม่คัดค้านความคิดเรื่อง "ผูกขาดคนเดียว" นี้อย่างสิ้นเชิง คริสตจักรเป็นพระกายของพระคริสต์ ประกอบด้วย ทั้งยิวและคนต่างชาติที่เข้ามาร่วมอยู่ "ในพระคริสต์" โดยทางความเชื่อ ทุกส่วนของพระกาย ต่อกันสนิทเป็นหนึ่งเดียว ทำงานโดยของประทานฝ่่ายวิญญาณตามที่ได้รับมา ไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดคิดว่าตนเอง สามารถแยกอยู่ตามลำพัง ไม่ขึ้นอยู่กับผู้อื่นได้ (1 โครินธ์ 12:21-22) หรือมีใครคนใดคนหนึ่งคิดเอาเองว่า ตนนั้นไม่สำคัญ (1 โครินธ์ 12:14-19) คริสตจักรไม่ได้ถูกปกครองโดย "ศิษยาภิบาล" คนเดียว แต่โดยคณะ ผู้ปกครอง (1 ทิโมธี 3; ทิตัส 1)

ในขณะที่คนทั้งหลายยอมรับหลักเรื่องการมีส่วนร่วมในพระคัมภีร์ใหม่นี้ มีอีกหลายคนยังมีใจเอนเอียงคิดไป ว่าในพระคัมภีร์เดิมนั้นเป็นเรื่องของ "เด่นคนเดียว" ผมอยากขอร้องให้ทบทวนดูใหม่ พระเจ้าทรงจัดแบ่ง ความรับผิดชอบให้กับบรรดาผู้นำอิสราเอล ในท่ามกลางผู้เผยพระวจนะ ในบรรดาปุโรหิต และกษัตริย์ พระ องค์ไม่ได้ผูกขาดอำนาจของพระองค์ให้ใครคนใดคนหนึ่ง และนีคือเหตุผลที่ซาอูลพลาดไป จนนำความ เดือดร้อนแสนสาหัสมาสู่ตนเอง ท่านล้ำเส้นซามูเอล ไม่ยอมรอตามคำสั่ง จัดสั่งให้ทำการถวายเครื่องเผาบูชา (1 ซามูเอล 13) ส่วนเอลียาห์ก็นึกไปเองว่า "ท่านถูกทอดทิ้ง" ให้อยู่โดดเดี่ยว ซึ่งไม่เป็นความจริง (ดู 1 พกษ. 19) พระ เจ้าทรงทำการผ่านผู้คนมากมาย เพื่อให้พระประสงค์ของพระองค์สำเร็จ พระองค์ไม่ได้ ผูกขาดไว้ที่คนหนึ่งคนใด หรือเพียงบางกลุ่มเท่านั้น

(2) ความกล้าเช่นเดียวกับความขลาด ติดต่อกันได้ ทำไมเมื่อเราอ่านเรื่องราวของซาอูล เราไม่เคยได้ ยินเรื่อง "นักรบคนกล้า" เลย? เมื่อผมอ่านเรื่องราวการเป็นผู้นำอิสราเอลของซาอูล ดูเหมือนท่านชอบ พึ่งพาพวกทหารรับจ้าง (1 ซามูเอล 14:52) ซึ่งไม่เคยสร้างวีรกรรมใดๆเหมือนกับทหารแกล้ว "ทั้งสาม" และ "ทั้งสามสิบ" ของดาวิดเลย เหตุผลล่ะครับ? ผมอยากจะบอกว่าซาอูลขาด "ความกล้า" ที่ดาวิดมี และด้อย ในเรื่องการสร้างและหนุนใจให้มี "นักรบคนกล้า" เกิดขึ้น แต่มีการพูดถึงว่าบิดาท่านเป็นผู้มีชื่อเสียงดี (1 ซามูเอล 9:1) แต่สำหรับซาอูลแล้วไม่เคยได้ยินคำยกย่องเช่นนี้ ตอนที่โกลิอัทออกมาถากถางคนอิสราเอล และพระเจ้า เราไม่เคยเห็นซาอูลออกไปเผชิญหน้าจัดการกับวาจาสามหาวของโกลิอัท แล้วก็ไม่เห็นทหารคน ใดของท่านกล้าด้วย เมื่อซาอูลขี้ขลาดอย่างนี้ ลูกน้องเองก็พลอยเป็นไปด้วย (ดู 1 ซามูเอล 17:11, 24) คน ของซาอูลเองพร้อมที่จะเผ่นมากกว่าคิดจะยืนหยัดต่อสู้ (ดู 1 ซามูเอล 13:5-7)

ดาวิดเป็นบุรุษที่กล้าหาญ เมื่อสมัยที่มีหมี มีสิงห์มารบกวนฝูงแกะของบิดา ท่านไม่ยอมให้มันจับเหยื่อไปได้ เมื่อโกลิอัทกล่าวหมิ่นประมาทพระนามพระเจ้าของอิสราเอล ดาวิดออกไปต่อสู้และฆ่าทิ้ง หลังจากนั้นท่านก็ ได้พิสูจน์ตนเองให้เห็นถึงความกล้าของท่าน ที่เพิ่มมากขึ้นตามลำดับ คุณยังคงสงสัยมั้ยว่า ทำไมท่านถึงเป็น ที่ชื่นชมของผู้คนจนเป็นแบบอย่าง? คนที่กล้าสู้กับโกลิอัท จะเป็นแบบอย่างให้คนกล้าคนอื่น กล้าไปจัดการ กับลูกหลานของตระกูลยักษ์นี้ (ดู 2 ซามุเอล 21:15-22) ความกล้าชูใจผู้อื่นให้กล้า และดาวิดก็เป็นคนกล้า จึงไม่เป็นที่สงสัยเลยว่าทำไมในสมัยของท่าน จึงมีวีรบุรุษกล้าหาญใกล้ตัวท่านเกิดขึ้นเต็มไปหมด

ในสมัยของเราก็เช่นกัน หลายครั้งที่ลูกของพระเจ้าถอดใจเพราะผู้นำขาดความกล้า ไม่กล้าวางใจในพระเจ้า กลัวการข่มเหง กลัวการต่อต้าน สิ่งที่คริสตจักรต้องการในทุกวันนี้ และตลอดไปคือ คริสตจักรควรเต็มไปด้วย สมาชิก "หญิง-ชายที่มีใจกล้าหาญ" ที่พระเจ้าจะสามารถทำการใหญ่ผ่านได้ และที่พระเจ้าจะสามารถใช้เป็นที่ หนุนใจ ให้คนอื่นๆสามารถกล้าได้เช่นกัน

(3) พระธรรมตอนนี้เล่าเรื่องราวมากมาย ถึงบรรดาประชากรชาย-หญิงของพระเจ้าที่เป็นคนกล้า ผมขอสรุปเรื่องราวความกล้าของ "วีรบุรุษ" บางคนให้เราได้รู้จักกัน

วีรบุรุษไม่ใช่เป็นที่รู้จักกันว่า "ฆ่าได้กี่ศพ" จริงอยู่ที่ในพระธรรมตอนนี้มีการเอ่ยถึงจำนวนศัตรูที่ถูกฆ่าตาย แต่ ยังเอ่ยถึงเรื่องอื่นๆด้วย ผมจะพยายามถ่ายทอดให้ฟัง แต่ขอเริ่มต้นด้วยการย้ำว่าวิธีการ "นับจำนวน" ศพศัตรู ไม่ใช่เป็นวิธีการของยุคปัจจุบันอีกต่อไป คนในสมัยของดาวิดต้องสู้ศึกในสงครามอยู่ตลอดเวลา และความ สำเร็จขึ้นอยู่กับจำนวนศัตรูที่ถูกฆ่าตาย แต่ในทุกวันนี้เรากำลังอยู่ใน "สงครามฝ่ายวิญญาณ" ซึ่งเราไม่จำเป็น ต้องไปฆ่าฝ่ายตรงข้ามให้ตาย บางครั้งผมสงสัยอยู่ว่าคริสเตียนในยุคนี้ตระหนักถึงความจริงนี้บ้างหรือเปล่า

วีรบุรุษเกิดเมื่อวิกฤติกาลเกิด บรรดาผู้ที่ได้รับการยกย่องในพระธรรมตอนนี้ไม่ได้เป็นพวกแสวงหา ชื่อเสียง; พวกเขาเพียงแต่ไม่ยอมแพ้เมื่อคับขัน วันอันยากลำบากท้าทายเราให้ก้าวขึ้นไปสู่ทำเนียบ "วีรบุรุษ" ของประวัติศาสตร์

วีรบุรุษเกิดเมื่อมีคนขลาดและและหวาดกลัว คุณสังเกตุมั้ยครับว่าหลายครั้งทีเดียวที่วีรบุรุษของดาวิด (และของพระเจ้า) ยืนหยัดต่อสู้ ในขณะที่คนอื่นลนลานหนีด้วยความกลัว เมื่อบางคนรู้สึกถอดใจ วีรบุรุษ วีรสตรีทั้งหลาย กลับเข้มแข็งขึ้นในความเชื่อ และเชื่อมั่น วีรบุรุษไม่คร้ามที่จะต่อสู้เพียงลำพัง เช่นเดียวกับ ที่ดาวิด ปฏิบัติต่อโกลิอัท ทำให้เกิดกำลังใจฮึกเหิมอยากทำตาม

วีรบุรุษทั้งหลายต้องได้รับการปลูกฝัง และสำแดงให้เห็นจากการดำเนินชีวิตประจำวัน ผมได้เกริ่น ไปแล้วว่า เมื่อมีวิกฤติก็มีวีรบุรุษ เป็นความจริงครับ แต่เรื่องอย่างนี้ต้องมีการเตรียมตัวปลูกฝังกันมาก่อน คนที่ยืนหยัดอยู่ได้ในท่ามกลางวิกฤติ คือคนที่รู้จักวางใจและเรียนรู้ที่จะเชื่อฟังในเวลาปกติ ดังนั้นวีรบุรุษ พร้อมอยู่แล้ว ก่อนวิกฤติจะเกิด แและพวกเขาจะสำแดงให้เห็นในทันทีที่เหตุการณ์คับขัน

วีรบุรุษต้องไม่หวั่นไหวด้วยเรื่องต่างๆที่จู่โจมเข้ามา พูดอีกแบบคือ วีรบุรุษยอมเสี่ยงชีวิตโดยมอบความ วางใจทั้งสิ้นไว้ที่พระเจ้า โยนาธานเป็น "คนกล้า" จึงไม่เป็นที่น่าประหลาดใจที่เขาเป็นที่ชอบพอของดาวิด ซาอูลและคนของท่านหวั่นไหว เมื่อเห็นจำนวนของคนฟิลิสเตียที่ยกทัพมา โยนาธานกลับเป็นผู้ออกไปไล่ล่า ศัตรู ด้วยคำพูดว่า "โยนาธานกล่าวกับคนหนุ่มที่ถือเครื่องอาวุธของท่านว่า "มาเถิด ให้เราข้ามไปยัง กองทหารรักษาการของ คนเหล่านั้นที่มิได้เข้าสุหนัต บางทีพระเจ้าจะทรงประกอบกิจเพื่อเรา เพราะ ว่าไม่มีสิ่งใดที่ขัดขวางพระเจ้าได้ในการที่พระองค์จะทรงช่วยกู้ ไม่ว่าโดยคนมากหรือน้อย" (1 ซามู เอล 14:6) วีรบุรุษของดาวิดไม่ได้หวั่นไหวไปกลับกำลังมหาศาลของฝ่ายตรงข้าม พวกเขากลับยืนหยัด และ วางใจในชัยชนะที่พระเจ้ามอบให้

วีรบุรุษยอมตาย ถ้าจำเป็น วีรบุรุษในพระคัมภีร์เป็นผู้ที่วางใจในพระเจ้า คนเหล่านี้ (ทั้งหญิงและชาย) ไม่กลัวตาย เพราะความเชื่อของพวกเขามุ่งตรงอยู่ที่พระเจ้าและอาณาจักของพระองค์ (ดูฮีบรู 11) คนที่กลัว ตาย คือคนที่พยายามรักษาชีวิตตนเองให้ปลอดภัย ไม่ยอมเสี่ยงภัยใดๆให้กับผู้อื่น

วีรบุรุษต้องทำงานหนักทุ่มเทฝึกฝน แต่ที่สุดแล้วพวกเขาพึ่งพิงพระเจ้าในชัยชนะ ในแต่ละวีรกรรม วีรบุรุษได้รับคำชมเชย เพราะพวกเขายืนหยัดต่อสู้ขณะที่คนอื่นหนีเอาตัวรอด พวกเขากล้าตัดสินใจ เมื่อ สถานะการคับขัน เหตุนี้เองพวกเขาจึงได้รับการยกย่อง แต่ทว่าไม่ใช่ความเก่งกล้าสามารถของพวกเขาเพียง อย่างเดียว ที่นำมาซึ่งชัยชนะ ชัยชนะที่ได้รับนั้นเหนือกำลังมนุษย์จะทำได้ ผู้เขียนแสดงให้เห็นชัดว่า ใน ที่สุด ชัยชนะทั้งสิ้นมาจากพระเจ้า

วีรบุรุษยึดถือในหน้าที่รับผิดชอบอย่างจริงจัง ในฐานะทหาร พวกเขาต้องยืนหยัดและต่อสู้จนถึงที่สุด พวกเขาได้ทำเช่นนั้น ถึงแม้คนอื่นๆจะหลบหนีไป แต่พวกเขาไม่ พวกเขารับผิดชอบตามที่ได้รับมอบหมาย จนถึงที่สุด สมกับเป็น "ทหารกล้าวีรบุรุษ"

วีรบุรุษทำมากกว่าที่ได้รับมอบหมาย ด้วยความเชื่อ ความสัตย์ซื่อ และความรัก เราเห็นได้ชัดจาก วีรกรรมของวีรบุรุษทั้งสามของดาวิด เสี่ยงตายไปนำน้ำจากบ่อน้ำที่ในเบธเลเฮมมาให้ท่านดื่ม ดาวิดไม่ได้ สั่งให้ทำ เพราะถ้าท่านสั่ง พวกเขาต้องทำ มันก็เป็นเพียงแค่หน้าที่รับผิดชอบ ดาวิดเพียงแต่เปรยความ ปรารถนาของท่านดังไปหน่อย แต่สำหรับพวกเขาแล้ว ความปรารถนาของท่านก็คือคำสั่ง พวกเขาเสี่ยงชีวิต ฝ่าไปจนถึงบ่อและฝ่ากลับมา ทั้งสิ้นก็เพราะความจงรักภักดีและความรักที่มีต่อท่าน วีรบุรุษที่แท้จริงจะเป็นผู้ ที่รักจะทำตามความปรารถนาของผู้บังคับบัญชา ; ไม่ใช่เพราะเป็นคำสั่ง แต่เป็นเพราะอยากให้ผู้นั้นมีความสุข

วีรบุรุษเกิดขึ้นได้เพราะมีคนเห็นคุณค่า มีแบบอย่าง และได้รับการยกย่องตามสมควร ทำไมผู้เขียน ถึงนำเรื่องของ "ทั้งสาม" และ "สามสิบ" มาเล่าให้เราฟัง? ผมคิดว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะวีรกรรมเหล่านี้สมควร ได้รับการยกย่อง และยึดเป็นแบบอย่าง ชีวิตของดาวิดเอง ท่านเป็นแบบอย่างของความกล้า ท่านเห็นคุณค่า และมอบบำเหน็จให้แก่ผู้คนรอบข้าง จึงไม่่น่าประหลาดใจ ที่เมื่อยามคับขันมีวีรบุรุษมากมายเกิดขึ้น ซึ่งต่างกับ สมัยก่อน (เช่นสมัยของซาอูล)

วีรบุรุษคือบรรดาผู้กล้าแสดงตัวว่าตนอยู่ฝ่ายเดียวกับผู้ที่พระเจ้าเจิม ทำให้ผมนึกขึ้นได้ว่าบรรดา "คน กล้า" เหล่านี้คือ "คนกล้า" ของดาวิด คนเหล่านี้ยืนหยัดอยู่กับท่านและเพื่อท่าน ไม่ใช่เพียงแค่ในเวลาแห่ง ความสุขและชื่นชมยินดีเท่านั้น แต่ในเวลาทุกข์ยากเผชิญปัญหาและช่วยปกป้องท่านด้วย ในพระธรรมฮีบรู บรรดาธรรมิกชนทั้งหลาย คือวีรบุรุษที่กล้าแสดงตนว่าอยู่ฝ่ายพระคริสต์ ถึงแม้เป็นเรื่องเสี่ยงชีวิตที่สุดก็ตาม (ดูฮีบรู 10:32-34; 13:1-3)

ในเวลาเช่นนั้นนับเป็นเวลาที่วีรบุรุษหายาก เพราะไม่ใช่เป็นเรื่องได้รับการยกย่อง (หรือปลอดภัย) อีกต่อไป ที่จะเที่ยวไปป่าวประกาศว่าตนเป็นคริสเตียน ผมคิดว่าคงไม่มีใคร "ปรบมือ" ให้คุณที่มีความเชื่อ และยืนหยัด เชื่อฟังองค์พระผู้เป็นเจ้าหรอกครับ แต่เราอาจเห็นคริสเตียนบางคนทนแทบไม่ไหวเมื่อถูกข่มเหง เราอาจจะ ต้องยืนหนาวอยู่คนเดียว ในที่ทำงาน ที่โรงเรียน หรือแม้แต่ในครอบครัวของตัวเอง

ดาวิดเป็นวีรบุรุษ "นักรบผู้กล้าหาญ" เช่นเดียวกับผู้ที่เราเอ่ยชื่ออยู่ในบทนี้ แต่อย่าลืม "วีรบุรุษ" ผู้ยิ่งใหญ่ ที่เคยมีชีวิตอยู่บนโลกนี้ – องค์พระเยซูคริสต์ของเรา :

1 เหตุฉะนั้นเมื่อเรามีพยานพรั่งพร้อมอยู่รอบข้างเช่นนี้แล้ว ก็ขอให้เราละทิ้งทุก
อย่างที่ถ่วงอยู่ และบาปที่เกาะแน่น ขอให้เราวิ่งแข่งด้วยความเพียรพยายาม ตามที่ได้กำหนดไว้สำหรับเรา 2 หมายเอาพระเยซูเป็นผู้บุกเบิกความเชื่อ และ ผู้ทรงทำให้ความเชื่อของเราสมบูรณ์ พระองค์ได้ทรงอดทนต่อกางเขน เพื่อความ รื่นเริงยินดีที่ได้เตรียมไว้สำหรับพระองค์ ทรงถือว่าความละอายนั้นไม่เป็นสิ่งสำคัญ และพระองค์ได้ประทับ ณ เบื้องขวาพระที่นั่งของพระเจ้า 3 ท่านทั้งหลายจงคิดถึง พระองค์ผู้ได้ทรงยอมทนต่อคำคัดค้านของคนบาป เพื่อว่าท่านทั้งหลายจะได้ไม่รู้สึก
ท้อถอย (ฮีบรู 12:1-3)

18 ท่านทั้งหลายที่เป็นคนรับใช้ จงเชื่อฟังนายของท่านทุกอย่าง ไม่ใช่เฉพาะนาย ที่เป็นคนใจดีและสุภาพเท่านั้น แต่ทั้งนายที่ร้ายด้วย 19 เพราะว่าผู้ที่ได้รับความเห็น
ชอบว่าดีนั้น ก็ต่อเมื่อเขาเห็นแก่พระเจ้าและยอมอดทนต่อความทุกข์ที่ไร้ความเป็น
ธรรม 20 เพราะจะเป็นความดีความชอบอย่างไรถ้าท่านทำความชั่ว และท่านถูกเฆี่ยน เพราะการกระทำชั่วนั้น แม้ท่านจะอดทนต่อการถูกเฆี่ยนด้วยความอดกลั้น แต่ว่าถ้า ท่านทั้งหลายกระทำการดีและทนเอาเมื่อตกทุกข์ยาก เพราะการดีนั้น ท่านก็จะเป็น
ที่พอพระทัยของพระเจ้า 21 เพราะพระเจ้าทรงใช้ท่านสำหรับเหตุการณ์เช่นนี้ เพราะว่า พระคริสต์ก็ได้ทรงทนทุกข์ทรมานเพื่อท่านทั้งหลาย ให้เป็นแบบอย่างแก่ท่านเพื่อท่าน จะได้ดำเนินตามรอยพระบาทของพระองค์ 22 พระองค์ไม่ได้ทรงกระทำบาปเลย และ
ไม่ได้ ตรัสคำเท็จเลย
23 เมื่อเขากล่าวคำหยาบคายต่อพระองค์ พระองค์ไม่ได้ทรง
กล่าวตอบ เขาด้วยคำหยาบคายเลย เมื่อพระองค์ทรงทนทุกข์ พระองค์ไม่ได้ทรงมาดร้าย แต่ทรงมอบเรื่องของพระองค์ไว้แก่พระเจ้าผู้ทรงพิพากษาอย่างยุติธรรม 24 พระองค์เอง ได้ทรงรับแบกบาปของเราไว้ในพระกายของพระองค์ ที่ต้นไม้นั้น เพื่อว่าเราทั้งหลาย จะได้ตายจากบาปได้ และดำเนินชีวิตตามคลองธรรม ด้วยบาดแผลของพระองค์ ท่าน ทั้งหลายจึงได้รับการรักษาให้หาย 25 เพราะว่าท่านทั้งหลายเป็นเหมือนแกะที่พลัดฝูงไป แต่บัดนี้ได้กลับมาหาพระผู้เลี้ยงและผู้พิทักษ์วิญญาณจิตของท่านทั้งหลายแล้ว (1 เปโตร 2:18-25)

พระองค์ทรงเป็นแหล่งที่มาของกำลังใจและความเชื่อ :

5 ท่านจงอย่าเป็นคนเห็นแก่เงิน จงพอใจในสิ่งที่ท่านมีอยู่ เพราะว่าพระองค์ได้ตรัสว่า เราจะไม่ละท่าน หรือทอดทิ้งท่านเลย 6 เหตุฉะนั้นเราทั้งหลายอาจกล่าวด้วยใจเชื่อ
มั่นว่า องค์พระผู้เป็นเจ้า ทรงเป็นพระผู้ช่วยของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะไม่กลัว มนุษย์จะ ทำอะไรแก่ข้าพเจ้าได้เล่า (ฮีบรู 13:5-6)

ผมไม่แน่ใจว่าวีรบุรุษในทุกวันนี้หน้าตาเป็นอย่างไร ไม่ใช่เป็นเพราะจำนวนลดน้อยลง แต่อาจเป็นเพราะ วีรกรรมของพวกเขา ไม่เห็นเด่นชัดเท่ากับร่างศัตรูที่นอนซ้อนทับตายกันอยู่ในสมัยของดาวิด อาจเป็นได้ว่า สมาชิกส่วนใหญ่ในพระกายของพระคริสต์ (คริสตจักร) คือผู้ที่ไม่สำแดงตนชัด ในขณะที่คนที่เด่นๆอาจไม่ได้ สำคัญเท่าที่เรา (หรือพวกเขา) คิด (ดู 1 โครินธ์ 12:21-25) ตามที่ผมเข้าใจพระคัมภีร์ เราทุกคนจะมีเวลา ที่ต้องยืนอยู่ที่พระบัลลังก์ จำเพาะพระพักตร์ขององค์พระผู้เป็นเจ้า ทุกความคิดและการกระทำของเราจะถูก นำมาตัดสิน แล้วมันจะดีเพียงไหนที่จะได้ยินพระองค์ตรัสว่า "ดีมาก เจ้าเป็นผู้รับใช้ที่ดีและสัตย์ซื่อ ของเรา"

* คำแปลของบทอ้างอิงตอนท้าย มีบางตอนถูกตัดออกไปบ้าง เพราะยากมากในการแปล ต้องขออภัยด้วย - ผู้แปล *


117 "อย่างไรก็ตาม คำพูดส่งท้ายที่สำคัญของดาวิด เป็นเหมือนคำพูดที่ท่านเตรียมไว้ก่อนตาย เป็นเรื่อง ประสบการณ์ชีวิตของท่าน ที่สัมผัสใจเรา ท่านเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์แห่งความรอด นำไปสู่พระผู้ ช่วยให้รอด คือองค์พระเยซูคริสต์ หน้าที่ของท่านมีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง ในการปูทาง เตรียมไว้สำหรับพระ ประสงค์ของพระเจ้า ถึงแม้ท่านเป็นคนพิเศษ แต่ท่านก็ไม่ต่างไปจากบรรดาบุตรทั้งหลายของพระเจ้า คือ มีชีวิตและตาย แต่ในฐานะกษัตริย์ที่พระเจ้าเจิม เป็นบทเพลงสรรเสริญของอิสราเอล ที่ยกชูท่านขึ้น เป็นแบบ อย่างที่บุตรทั้งหลายของพระเจ้าควรยึดไว้ ในการเตรียมตัวก่อนชีวิตจะหาไม่ … . มัทธิว เฮนรี้ กล่าวไว้ว่า "เมื่อเราสัมผัสว่าความตายนั้นไกล้เข้ามา เราควรถวายเกียรติแด่พระเจ้า และควรสร้างแบบอย่าง ที่ดีให้แก่ ผู้คนรอบข้าง ด้วยคำพูดอันเป็นที่หนุนใจ คำพูดถึงประสบการณ์ในพระคุณความรัก พระทัยเมตตา ขององค์ พระผู้เป็นเจ้าที่มีเหนือชีวิตเรา … ให้ทิ้งคำพยาน ความหวังใจในพระสัญญาที่เป็นจริงไว้เป็นอนุสรณ์ … การเผชิญกับความตายเป็นสิ่งยืนยันความเชื่อของเรา ที่แจ่มชัดในองค์พระเยซูคริสต์ … สุกใสไปถึงก้น บึ้งของการเป็นคริสเตียน" จากข้อเขียนของ Gordon J. Keddie, Triumph of the King: The Message of 2 Samuel (Durham, England: Evangelical Press, 1990), pp. 230-231.

118 "มัทธิว เฮนรี่เคยอธิบายไว้ว่า ‘นี่คือความประสงค์สุดท้าย และคำพยานของกษัตริย์ดาวิด’ อาร์ พี กอร์ดอนเรียกว่า ‘เป็นมรดกนิรันดร์ของอิสราเอล’ และยังกล่าวด้วยว่าเป็นการถ่ายทอด ‘ทั้งความหวังใจ สำคัญของวงศ์ตระกูล และการปกครองของดาวิดที่เป็นการเริ่มต้นของการเสด็จมา ขององค์พระเมสซิยาห์ ’ ทำให้นึกได้ว่า ปีเตอร์ อัคครอยด์เคยตั้งข้อสังเกตุไว้ว่า ‘ถ้อยคำอวยพรสุดท้ายที่ยาโคบให้ไว้กับบรรดา บุตรชาย ในฐานะเป็นตัวแทนของเผ่า (ปฐก. 49), และ … ของโมเสส (ฉธบ. 33)’." Gordon J. Keddie, p. 230.

119 เค้ดดี้สรุปสิ่งที่ดาวิดพรรณาไว้ในสดุดีข้อ 2-7: "บทสดุดีของดาวิดเริ่มด้วยความคิดเรื่อง พระพรมากมาย ที่พระเจ้าประทานให้ตลอดชีวิตของท่าน และไกลไปยังปากประตูแห่งชีวิตนิรันดร์ (23:1-4), พูดถึงเรื่องพระ พรในอนาคต เรื่องพระสัญญานิรันดร์ที่พระเจ้าประทาน (23:5) และสรุปด้วยการเตรียมพร้อมที่จะพบพระองค์ ผู้ทรงพร้อมที่จะอภัยให้แก่ความบาปและคนอธรรมที่กลับใจ แต่จะไม่ปล่อย "ให้คนชั่วลอยนวล" (ปฐก. 34:7)." Keddie, p. 231.

120 "ข้อนี้ [5] แปลค่อนข้างยาก และเป็นได้ที่ถ้อยคำตอนท้าย อาจหมายถึง ‘ทุกความปรารถนาของดาวิด’ แต่เป็นความพอพระทัยของพระเจ้า" (Keddie, pp. 234-235).

121 วาทะสุดท้ายของดาวิดที่มีให้แก่่ซาโลมอน ดูเหมือนจะบันทึกอยู่ใน 1 พงศ์กษัตริย์ 2:2-9

122 "เป็นระเบียบและมั่นคงในทุกสิ่ง เปรียบเทียบกับภาษาอังกฤษที่ใช้คำว่า ‘เซ็นชื่อและปิดผนึก’’ (Jb. 13:18; 23:4; Ps. 50:21). Robert P. Gordon, I & II Samuel: A Commentary (Grand Rapids: Regency Reference Library, 1996), p. 311.

123 หนังสือ "The Targum of Jonathan แปลตอนนี้ว่า เป็นเหมือนคำพยากรณ์ถึงการเสด็จมาขององค์พระ เมสซิยาห์ เป็น "แสงสว่าง" (ยอห์น 8:12; 9:5; cf. V. 4)

124 "ทั้งสาม ได้รับการยกย่องเหนือที่เหลือ และเรียงชื่อตามลำดับสำคัญ ชื่อแรกอาจจะเพี้ยนไปหน่อย ตามที่บันทึกอยู่ใน 1 พศด. 11:11 และต่างออกไปอีกใน LXX; ที่เหลือในข้อ 8 ก็ยังเป็นปัญหา (cf. RSV, mg., NIV, mg.)." Joyce G. Baldwin, 1 & 2 Samuel: An Introduction and Commentary (Downers Grove, Illinois: Inter-Varsity Press, 1988), p. 292.

"1 พศด. 11:11 บันทึกว่าเยโชเบอัม ตระกูลฮัคโมนี มีชื่อเรียกตามวงศ์วานว่า โยเชบ-บัสเชเบท คนฮัคโมน ผู้ได้ฆ่าคนไปเสียสามร้อย ซึ่งน่าจะหมายถึงคนเดียวกัน อาจผิดพลาดตอนคัดลอก จึง ค่อนข้างลำบากที่จะตัดสินว่าตัวเลขใดกันแน่ที่ถูกต้อง" เบอร์เก้น หน้า 469, fn. 47.

125 "เมื่อรู้เบื้องหน้าเบื้องหลังที่มาของน้ำ ดาวิดจึงทำสิ่งที่ดูเหมือนเพี้ยน หรือเหมือนไม่เห็นคุณค่า : ท่าน ‘ไม่ยอมดื่ม’ น้ำที่นำมามอบให้นั้น เพราะได้มาด้วยความลำบากยากเย็น จึงเปรียบเสมือนของมีค่ายิ่ง มีค่าจน ดาวิดคิดว่า ตนเองไม่สมควรจะได้รับ" เบอร์เก้น หน้า 470.

126 คงจำกันได้ ว่ามันไปได้เป็นเช่นนี้เสมอ เราเห็นได้จากการกระทำของดาวิดต่อนางบัทเชบา และสามีของ นาง อุรียาห์

127 กอร์ดอนเขียนเอาไว้ว่า "อารีเอล เป็นคำแปลงมาจากภาษาฮีบรูซึ่งอาจใช้หมายถึงคนเก่งก็ได้ (NEB; cf. NIV ‘best men’) กอร์ดอนหน้า 313.

โดยส่วนตัวแล้ว ผมเห็นมีการเล่นคำอย่างน้อยสองแห่งในตอนนี้ เพราะคำในภาษาฮีบรูคำว่า "สิงห์โต" นั้นคล้ายคลึงกับคำที่แปลออกมาว่า "อารีเอลl." ดังนั้นผู้แปลของทั้งฉบับ KJV และฉบับ NKJV ใช้คำว่า อารีเอล "เป็นเหมือนกับสิงห์" คนที่สามารถต่อสู้และเอาชนะศัตรูที่แข็งแกร่งเหมือน สิงห์ได้ถึงสองคน ก็จะสามารถจัดการกับสิงห์โตจริงๆได้อย่างง่ายดาย

128 "เป็นการสำแดงความกล้าที่โดดเด่นของเขา – เป็นเรื่องที่ดาวิดนำไปถ่ายทอดให้ผู้อื่นฟังต่อได้ (1 ซมอ. 17:34-36 – ที่ลงไปในบ่อ ในวันที่หิมะตกหนัก และฆ่าสิงห์ ; เป็นได้ว่าเจ้าป่าตัวนี้ อาจพลัดตกลงไปในบ่อ ที่ใช้กักน้ำสำหรับดื่มในฤดูหนาว" เบอร์เก้น 471

129 เบอร์เก้น หน้า 472.

130 เบอร์เห้น หน้า 469.

Related Topics: Bibliology (The Written Word)

Report Inappropriate Ad