MENU

Where the world comes to study the Bible

18. มัทธิว บทเรียนที่ 18 “คำอธิษฐานของพระเยซู” (มัทธิว 6:5-15)

Related Media

คำนำ 1

มัทธิวบทที่ 5 – 7 บันทึกเรื่องคำเทศนาของพระเยซูที่เรารู้จักกันดี เป็นเรื่องเกี่ยวกับความชอบธรรมที่มาจากจิตใจภายใน ศาสนาเป็นรูปแบบของการแสดงออกภายนอกและปฏิบัติตามบทบัญญัติ แต่พระเยซูทรงท้าทายพวกเราให้ประเมินตนเองตามมาตรฐานจากภายใน ซึ่งต่างจากสติปัญญาที่แพร่หลายในยุคนั้น “ครูผู้สอนธรรมบัญญัติ” พยายามตีวงล้อมกรอบธรรมบัญญัติ เข้มงวดกับคำสอนที่เป็นคำพูด ทำให้เรื่องเช่น “การเดินทางในวันสะบาโต” กลายเป็นข้อกำหนดว่าควรเดินได้ไกลแค่ไหนโดยไม่ละเมิดพระบัญญัติห้ามทำงานใน วันสะบาโต อาจเป็นได้ที่บางคนเดินได้ไกลกว่านั้นโดยไม่ละเมิดพระบัญญัติ แต่ถ้าทำตามมาตรฐานที่บัญญัติเพิ่ม เราก็แน่ใจว่าปลอดภัย ไม่มีทางละเมิดพระบัญญัติตัวจริงได้ ดังนั้นพระบัญญัติจึงถูกล้อมกรอบไว้ด้วยการเชื่อฟังจากมาตรฐานที่เข้มงวด ยิ่งกว่า

คำเทศนาบนภูเขาของพระเยซู ก็ล้อมกรอบธรรมบัญญัติไว้ แต่ทำโดยมองเข้าไปในจิตใจ เช่นจากคำตรัสของพระองค์

21 “ท่านทั้งหลายได้ยินคำซึ่งกล่าวไว้แก่คนโบราณว่า อย่าฆ่าคน ถ้าผู้ใดฆ่าคน ผู้นั้นจะต้องถูกพิพากษาลงโทษ 22 เราบอกท่านทั้งหลายว่า ผู้ใดโกรธพี่น้องของตน ผู้นั้นจะต้องถูกพิพากษาลงโทษ ถ้าผู้ใดจะพูดกับพี่น้อง ‘อ้ายโง่’ ผู้นั้นต้องถูกนำไปที่ศาลสูงให้พิพากษาลงโทษและผู้ใดจะว่า ‘อ้ายบ้า’ ผู้นั้นจะมีโทษถึงไฟนรก” (มัทธิว 5:21322)2

ฆาตกรรมเป็นบาปภายนอก ชัดเจนเห็นได้ จึงง่ายที่ฆาตกรจะถูกกล่าวโทษ แต่พระเยซูบอกให้เราระวัง เราอาจโกรธพลุ่งพล่านใส่คนอื่น ความโกรธของเราอาจเห็นได้ หรือมองไม่เห็น ไม่สำคัญ – เรามีใจอยากฆ่าคนอยู่ข้างในแล้ว ต้องรีบถอนรากมันขึ้นมาโดยพระคุณของพระเจ้าทันที พระเยซูจึงสอนเราถึงการใช้ชีวิต และตัดสินด้วยทัศนคติจากจิตใจภายใน ไม่มีอะไรที่ทำให้เราตัดสินผู้อื่นได้ เราแค่รับตามคำพูด และการทรงนำของพระวิญญาณบริสุทธิ์ แต่ต้องกลับมาตัดสินชีวิตเราและเปลี่ยนตัวเราเอง3

ดังนั้นคำสั่งของพระเยซูเรื่องการอธิษฐานจึงมีบริบทที่กว้าง ครอบคลุมคำเทศนาบนภูเขา เกี่ยวข้องกับสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจของเราทั้งดีและชั่ว และครอบคลุมไปถึงข้อหนึ่งของมัทธิว 6:

“จงระวัง อย่ากระทำศาสนกิจเพื่ออวดคนอื่น ถ้าทำอย่างนั้นท่านจะไม่ได้รับบำเหน็จจากพระบิดาของท่านผู้ทรงสถิตในสวรรค์” (มัทธิว 6:1)

ถ้อยคำนี้ พระเยซูตรัสเรื่องการทำศาสนกิจแบบภายนอกกับภายใน การทำทาน อธิษฐาน และอดอาหารส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับข้อปฏิบัติของศาสนา และในตอนนี้ พระเยซูตรัสอีกครั้งถึงจิตใจภายในกับการแสดงออกภายนอก มัทธิว 6:2-4 ตรัสถึงการทำทาน มัทธิว 6:5-15 ตรัสถึงการอธิษฐาน และ 6:16-18 ตรัสถึงการอดอาหาร ทั้งสามเรื่องคือเรื่องเดียวกัน ถ้าคุณมีแต่รูปแบบการแสดงออกภายนอก มุ่งความสนใจมาที่ตัวคุณ คำสรรเสริญที่ได้รับจากผู้คน – จะจริงหรือไม่จริง – คุณก็ได้รับส่วนดีนั้นไปแล้ว

แน่นอน ชีวิตฝ่ายวิญญาณที่มองเห็นได้ในตัวเองไม่ได้เลวร้ายเสมอไป อ เปาโลเขียนถึงชาวโครินธ์กล่าวว่า :

14 ข้าพเจ้ามิได้เขียนข้อความเหล่านี้เพื่อให้ท่านละอายใจ แต่เขียนเพื่อเตือนสติท่าน ในฐานะที่ท่านเป็นลูกที่รักของข้าพเจ้า 15 เพราะในพระคริสต์ถึงแม้ท่านมีผู้ควบคุมสักหมื่นคน แต่ท่านก็มีบิดาแต่คนเดียว เพราะว่าในพระเยซูคริสต์ ข้าพเจ้าได้ให้กำเนิดแก่ท่านโดยข่าวประเสริฐ 16 เหตุฉะนั้นข้าพเจ้าจึงขอให้ท่านทำตามอย่างข้าพเจ้า (1โครินธ์ 4:14-16)

อ เปาโลกล่าวว่า “ขอให้ท่านทำตามอย่างข้าพเจ้า – ท่านเห็นข้าพเจ้าทำอย่างไรก็จงทำอย่างนั้น” คนของพระเจ้าส่วนใหญ่เป็นต้นแบบการดำเนินชีวิตในแบบของพระเจ้าแก่ผู้เชื่อ ใหม่ ผมเองได้รับประโยชน์มากว่าสามสิบปีจากคนที่มีอายุความเชื่อเป็นสิบๆปี และเดี๋ยวนี้ผมเองอยากเป็นเช่นนั้นให้กับผู้เชื่อรุ่นใหม่ที่อายุน้อยกว่า ข้อแตกต่างสำหรับ อ เปาโลที่มีต่อชาวโครินธ์ คือท่านไม่ได้ให้ตัวตนของท่านเป็นที่สนใจ ท่านเป็นผู้รับใช้ของพระเยซูคริสต์ ใช้เวลากับคริสตจักรและสมาชิก บุคคลเช่นนี้มีค่าควรแก่การเลียนแบบ

แตกต่างจากคนที่ให้ทานเพื่อให้คนตระหนักถึงความใจบุญของตน คนที่อธิษฐานเสียงดัง หรืออดอาหารอย่างทรมานเพื่อให้ผู้อื่นชื่นชม มีแต่รูปแบบภายนอกเท่านั้น พวกเขาสับสนระหว่างการยอมรับของผู้คน กับการยอมรับของพระบิดา

บทเรียนนี้ เราจะมาดูคำสอนของพระเยซูเรื่องการอธิษฐาน ในแบบที่พระองค์ตรัสว่าเป็นรูปแบบภายนอก และคำสั่งเกี่ยวกับความจริงที่อยู่ภายใน

อธิษฐานให้ถูกต้อง

คำสั่งของพระเยซูเรื่องการอธิษฐานในมัทธิวเริ่มดังนี้ :

“5 เมื่อท่านทั้งหลายอธิษฐาน อย่าเป็นเหมือนคนหน้าซื่อใจคด เพราะเขาชอบยืนอธิษฐานในธรรมศาลาและตามถนน เพื่อจะให้คนทั้งปวงได้เห็น เราบอกความจริงแก่ท่านว่าเขาได้รับบำเหน็จของเขาแล้ว 6 ฝ่ายท่านเมื่ออธิษฐานจงเข้าในห้องชั้นใน และเมื่อปิดประตูแล้ว จงอธิษฐานต่อพระบิดาของท่านผู้ทรงสถิตในที่ลี้ลับ และพระบิดาของท่านผู้ทรงเห็นในที่ลี้ลับจะทรงโปรดประทานบำเหน็จแก่ท่าน” (มัทธิว 6:5-6)

พระเยซูทรงเริ่มต้นด้วยพื้นฐานการอธิษฐานสองแบบ แบบแรกเป็น “อธิษฐานโชว์” ผู้อธิษฐานเรียกร้องความสนใจมาที่ตนเอง เพื่อให้ดูว่าเป็นคนเคร่งครัดศรัทธา ศาสนาสร้างสถานะให้พวกเขา และอธิษฐานในที่สาธารณะทำให้เขายืนอยู่ในสถานะนั้นได้ การอธิษฐานแบบที่สองคือ “อธิษฐานในความสัมพันธ์” เป็นการอธิษฐานแบบแสวงหาการใช้เวลากับพระบิดา ในการสอนพระเยซูทรงลากเส้นแบ่งให้เห็นระหว่างสองแบบ แต่ต้องยอมรับว่าคนส่วนใหญ่ตกอยู่ระหว่างสองขั้วนี้ และที่สำคัญต้องเข้าใจว่าไม่มีใครสามารถอ่านจิตใจและแรงจูงใจของผู้อื่นได้ ที่เห็นว่าเหมือนโอ้อวด อาจสะท้อนถึงการถูกอบรมมา หรือแบบเงียบๆเบาๆอาจมาจากคนที่ไม่เคยมีชีวิตอธิษฐานเป็นส่วนตัว คำสั่งของพระเยซูมีเพื่อให้เรารู้และนำไปใช้เป็นส่วนตัว และเพื่อให้พระวิญญาณบริสุทธิ์นำ และฝึกฝนจิตใจเราในเรื่องนี้

แต่ว่ายังมีรูปแบบบางอย่างที่เราควรใส่ใจ

  • ตัวเราเองมีท่าทีและน้ำเสียง “กำลังพูดกับพระเจ้า” หรือเปล่า? นี่เป็นเรื่องของการถูกอบรมมา อย่างไรก็ตาม อาจไม่ใช่สิ่งสำคัญ การปรับโทนเสียงอาจดึงความสนใจมาที่ตัวคนอธิษฐาน – เว้นแต่ในสภาพแวดล้อมที่คนเข้าใจได้ ถึงจะไม่ปรับโทนเสียงก็เป็นที่ดึงดูดความสนใจอยู่ดี
  • ใช้คำศัพท์ที่หรูและมากเกิน อาจมีของประทานหรือเป็นคนมีวาทศิลป์ แต่ไม่ใช่สิ่งจำเป็น
  • หัวข้อส่วนตัว ยากที่จะมาใช้เป็นข้ออ้าง คุณอธิษฐานในสิ่งที่คุณต้องการ และให้คนอื่นๆอธิษฐานให้ด้วยเพื่อช่วยเหลือคุณ
  • นินทา “ข้าแต่พระเจ้า ขอทรงช่วยคุณเจนให้เอาชนะการทดลองที่จะไปเจอผู้ชายคนนั้นด้วย” อธิษฐานในท่ามกลางผู้อื่นแบบนี้จะเป็นประโยชน์ต่อเมื่อคุณเจนอยู่ด้วย และเป็นผู้ขอให้อธิษฐาน
  • อธิษฐานต่อหน้าผู้อื่นไม่ว่าแบบใดโดยไม่เคยอธิษฐานเป็นการส่วนตัว เท่ากับคุณไม่เคยคุยกับพระบิดาตามลำพัง จะไม่เกิดประโยชน์เมื่ออธิษฐานต่อหน้าคนอื่น

พระเยซูจึงแนะนำให้เราเข้าไปในห้องและปิดประตู นี่เป็นท่าที “ปกติ” ตรงข้ามกับคนที่ยืนอยู่หัวมุมถนนแล้วอธิษฐาน ถ้าพระองค์ตรัสว่าจง “อธิษฐานเป็นการส่วนตัว” หรือ “อธิษฐานตามลำพัง” คงจะมีแนวคิดสุดขั้วหลากหลายตามมา – ต้องเป็นส่วนตัวขนาดไหน? ต้องเป็นฤาษีหรือนักพรตเพื่อจะอธิษฐานเป็นส่วนตัวหรือ? พระเยซูทรงหมายความว่าต้องมีสถานที่หรือหนทางที่จะอธิษฐานระหว่างคุณกับพระ บิดาเท่านั้น อาจเข้าไปในบางที่ เพื่อสามารถบอกกับพระเจ้าได้ว่า “เชื่อว่าพระองค์ทรงดำรงพระชนม์อยู่ และพระองค์ทรงเป็นผู้ประทานบำเหน็จให้แก่ทุกคนที่แสวงหาพระองค์” (ฮีบรู 11:6) :

  • เราอาจมีน้ำเสียง “ฉันกำลังพูดกับพระเจ้า” ถ้าจะช่วยให้เชื่อมต่อกับพระองค์และถวายเกียรติพระองค์
  • เราอาจใช้ถ้อยคำสวยหรูเพื่อถวายสิ่งดีที่สุดให้กับพระเจ้า
  • เราอาจมีเรื่องส่วนตัว เป็นเรื่องระหว่างเราและพระบิดาเท่านั้น จะเปิดหรือปิดประตูตามที่เราคิดว่าสมควร
  • เราอาจอธิษฐานเผื่อคุณเจน ในเวลาส่วนตัวระหว่างเรากับพระบิดา เราอาจแสดงให้พระองค์เห็นว่าเราจริงใจและห่วงใย
  • และแน่นอน เราต้องมีหลักในการอธิษฐานต่อหน้าผู้อื่นด้วย

อาจอยู่ในห้องของเรา หรือท่ามกลางผู้คนแต่ยังสามารถอธิษฐานเป็นส่วนตัวได้ ตามที่ อ เปาโลเขียน “จงอธิษฐานอย่างสม่ำเสมอ”

ชีวิตส่วนตัวเป็นสิ่งที่วัดได้ว่าตัวจริงเราเป็นอย่างไร บ่อยครั้งผมเห็นครอบครัวที่ดูดีในท่ามกลางผู้คน แต่พออยู่ตามลำพังกลับแตกแยกกัน ทำให้เห็นถึงชีวิตหลังบานประตูบ้านว่าเป็นอย่างไร แตกต่างจากชีวิตที่เห็นภายนอก ถ้าเราเชื่อว่าพระเจ้าทรงพระชนม์อยู่ และจะประทานบำเหน็จแก่ผู้แสวงหาพระองค์ มันจะส่งผลต่อชีวิตส่วนตัวที่สุดของเรา เพราะเรารู้ว่าพระองค์อยู่ด้วย ที่จริงทำให้รู้ว่าเราไม่มีชีวิตที่เป็นส่วนตัว แต่ถ้ารู้แล้วทำให้คุณกลัว รู้สึกผิด และกังวลใจ จำไว้พระเยซูตรัสว่า “…พระบิดาของท่านผู้ทรงเห็นในที่ลี้ลับจะทรงโปรดประทานบำเหน็จแก่ท่าน” อธิษฐานเพื่อเป็นการแสดง มีเพียงบำเหน็จเดียว คือคำยกย่องจากผู้คน แต่บำเหน็จของการอธิษฐานเพื่อความสัมพันธ์คือสามารถทำให้:

  • ควบคุมจิตใจ
  • ได้รับคำตอบ ไม่ว่าจะปิดหรือเปิดประตู
  • เสริมสร้างคุณลักษณะและจิตวิญญาณให้แข็งแกร่ง
  • เพิ่มพูนความเชื่อและของประทานฝ่ายวิญญาณ
  • ลงลึกสู่ความรู้สึกถึงความห่วงใยและการสถิตอยู่ของพระบิดา

นับเป็นสิ่งที่ดีและคุ้มค่า

นำคำอธิษฐานมาพิจารณา

คำสั่งของพระเยซูเรื่องการอธิษฐานในมัทธิวตามด้วยคำเตือนว่า:

“7แต่เมื่อท่านอธิษฐานอย่าพูดพล่อยๆซ้ำ ซาก เหมือนคนต่างชาติกระทำเพราะเขาคิดว่าพูดมากหลายคำ พระจึงจะทรงโปรดฟัง 8 อย่าทำเหมือนเขาเลย เพราะว่าสิ่งไรซึ่งท่านต้องการ พระบิดาของท่านทรงทราบก่อนที่ท่านทูลขอแล้ว” (มัทธิว 6:7-8)

พระเยซูทรงให้เห็นคำอธิษฐานต่อพระบิดา เทียบกับคำอธิษฐานของคนต่างชาติ ทรงอธิบายว่าคำอธิษฐานของคนต่างชาตินั้นพูดพล่อยๆซ้ำซาก แปลว่าอะไร และเราจะนำสิ่งนี้มาพิจารณาในคำอธิษฐานของเราอย่างไร?

  • เหมือนคนต่างชาติ”. คนต่างชาติไม่ได้นมัสการพระเจ้าองค์เที่ยงแท้
  • “พูดพล่อยๆซ้ำซาก” แทบไม่มีเนื้อหาที่แท้จริง
  • “พูดมาหลายคำพระจึงจะทรงโปรดฟัง” อาจเป็นพิธีกรรม ท่องบทสวด และไปตามรูปแบบ

คำอธิษฐานของคนต่างชาติเกี่ยวข้องกับใช้พลังทางจิตโน้มน้าว บวกกับคำพูดลึกซึ้งแนวปรัชญาที่ไม่เกี่ยวกับคุณเป็นส่วนตัว

แน่นอน เราสามารถใช้พระวจนะของพระเจ้ามาใส่ไว้ในคำอธิษฐาน :

  • เหมือนคนต่างชาติ”—อธิษฐานถึงพระเจ้าในพระนาม แต่ไม่ได้มีความรู้ เหมือนที่ อ เปาโลกล่าวในหนังสือโรมถึงชาวยิวที่ไม่ยอมรับพระเยซูเป็นพระเมสซิยาห์ “ข้าพเจ้าเป็นพยานให้เขาว่า เขามีความกระตือรือร้นที่จะปรนนิบัติพระเจ้า แต่หาได้เป็นตามปัญญาไม่” (โรม 10:2)
  • พูดพล่อยๆซ้ำซาก – อธิษฐานแบบไม่มีเนื้อหาสาระ บางทีเหมือนท่องบทสวด โดยเนื้อหาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้สวด
  • พูดหลายคำพระจึงจะโปรดฟัง – อธิษฐานด้วยทัศนคติว่าพระเจ้าไม่ได้สนใจฟัง ต้องใช้วิธีดึงดูดโน้มน้าวเพื่อให้ได้คำตอบ

ในคำตอบ พระเยซูตรัสว่าพระบิดาทรงทราบว่าเราจำเป็นในเรื่องใดก่อนทูลขอเสียอีก เรากำลังอธิษฐานต่อพระบิดา แปลว่าเป็นความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว เราเป็นส่วนหนึ่งในพระชนม์ของพระองค์ และพระองค์ทรงทราบอยู่ก่อนแล้วว่าเรามีความจำเป็นในเรื่องใด เราจึงสามารถเข้าเฝ้าด้วยใจโปร่งใส ด้วยใจยินดี ด้วยอารมณ์ขุ่นมัว โศกเศร้า หรือขาดสติ พระองค์ทรงเข้าใจทะลุปรุโปร่ง ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีโน้มน้าวใดๆ

ถ้าพระบิดาของเราทรงทราบก่อนแล้วว่าเราต้องการสิ่งใด แล้วจะอธิษฐานทำไม? มีสองเหตุผล เหตุผลแรก เพราะบำเหน็จแห่งการอธิษฐานไปไกลเกินกว่าเพื่อตอบสนองความต้องการของเรา เหตุผลที่สอง ยังมีสิ่งอื่นๆที่เราอธิษฐานทูลขอ เช่นความต้องการของผู้อื่น และการขยายแผ่นดินของพระบิดา สิ่งเหล่านี้ไม่จำเป็นสำหรับเราส่วนตัว แต่ควรต้องบรรจุไว้ในคำอธิษฐาน

พระเยซูจึงสอนเราเกี่ยวกับสถานที่และท่าทีในการอธิษฐาน เราจำเป็นต้องอธิษฐานส่วนตัว และต้องอธิษฐานต่อผู้ที่เป็นพระบุคคลที่มีตัวตนจริงๆ ท่านผู้นี้สนใจในความต้องการของเราและในตัวเรา โดยไม่ต้องโน้มน้าวใดๆทั้งสิ้น

ควบคุมจิตใจ

อะไรคือปัจจัยในการอธิษฐานที่ดี? เราควรอธิษฐานอย่างไร?

ในระหว่างการเทศนา พระเยซูทรงตั้งต้นแบบในการอธิษฐานให้เราด้วยถ้อยคำว่า:

“9 ท่านทั้งหลาย จงอธิษฐานตามอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระบิดาแห่งข้าพระองค์ทั้งหลาย ผู้ทรงสถิตในสวรรค์ ขอให้พระนามของพระองค์เป็นที่เคารพสักการะ 10 ขอให้แผ่นดินของพระองค์มาตั้งอยู่ ขอให้เป็นไปตามพระทัยของพระองค์ ในสวรรค์เป็นอย่างไรก็ให้เป็นไปอย่างนั้นในแผ่นดินโลก” (มัทธิว 6:9-10)

พระเยซูทรงสอนให้เราอธิษฐานถึง “พระบิดาผู้ทรงสถิตในสวรรค์” เพื่อจะปรับทัศนคติในใจเราเมื่อเข้าสู่การอธิษฐาน ในพระคัมภีร์เดิมพอๆกับพระคัมภีร์ใหม่ เราเข้าใจว่าเราต้องอธิษฐานถึงพระเจ้า ผู้ซึ่งเป็นจอมเจ้านายและเป็นกษัตริย์เหนือกษัตริย์ เราเป็นหนี้ชีวิตพระองค์ เราต้องปรนนิบัติรับใช้ แต่พระเยซูบอกเราว่าเราสามารถเข้าไปเฝ้าพระองค์ได้และเรียกพระองค์ว่า “พระบิดา” เป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงความสำคัญที่ไม่ธรรมดาในความสัมพันธ์ที่เกินกว่าเราจะ นึกได้ แต่พระเยซูทรงให้ความสำคัญในแง่มุมนี้ ตลอดทั้งคำเทศนา พระเยซูทรงเอ่ยถึงพระเจ้าในฐานะพระบิดาของเรา ความสัมพันธ์นี้เป็นแรงกระตุ้นเบื้องต้นให้เราดำเนินชีวิตอย่างที่ควรเป็น

พระเจ้าในฐานะพระบิดาเป็นความสัมพันธ์แบบสองทาง ในฐานะพระบิดา พระองค์ทรงรักเรา และเราถวายเกียรติแด่พระองค์ พระองค์ทรงปกป้อง และเราเข้าไปผูกพันในพระองค์ พระองค์ทรงจัดเตรียม เราขอบพระคุณ พระองค์สั่งสอน เราปฏิบัติตาม ทรงลงวินัยเพื่อให้เราเติบโต ทรงสัมผัสเรา และเราตอบสนอง ทรงสั่ง และเราเชื่อฟัง ส่วนใหญ่เรามักเน้นไปที่คำสั่ง / การเชื่อฟัง และลืมสิ่งดีต่างๆมากมายในการดำเนินไปกับผู้เป็นพระบิดาของเรา เมื่อเราเข้าเฝ้าด้วยการอธิษฐาน พระองค์ทรงเป็นทุกสิ่งเหล่านี้เพื่อเรา และเราจำเป็นต้องเป็นทุกสิ่งเหล่านี้เพื่อพระองค์ด้วย

พระเยซูทรงบอกเราให้อธิษฐานด้วยสรรพนามบุคคลที่หนึ่ง “ข้าแต่พระบิดาของข้าพระองค์…” การอธิษฐานแม้เป็นส่วนตัว คือเน้นไปที่การใช้เวลากับบุคคลคนหนึ่ง เราสามารถอธิษฐานในสิ่งที่เราต้องการ แน่นอนมันไม่ควรหยุดอยู่แค่นั้น เราต้องเป็นคนกลาง เป็นตัวแทน เราอธิษฐานว่า “โปรดประทาน…แก่ข้าพระองค์ทั้งหลาย” และเราทูลขอการจัดเตรียมจากพระบิดาสำหรับครอบครัว เพื่อนๆ และศัตรู เราอธิษฐานว่า “ขอทรงโปรดยกความผิดบาปของข้าพระองค์…” และเราแสวงหาการคืนดีกับพระบิดาและในท่ามกลางพวกเรา เราอธิษฐานว่า “ขออย่านำข้าพระองค์…” และ “ขอให้พ้นจาก…” เพราะเราต่างก็ต้องการการทรงนำ ชี้แนะ และการปกป้องจากพระองค์

เราต้องอธิษฐานให้พระนามของพระองค์ “เป็นที่เคารพสักการะ” และได้รับพระเกียรติ นี่เป็นทั้งคำทูลขอและเป็นทัศนคติ ในคำทูลขอ เรากำลังขอความรู้ความเข้าใจของพระบิดามาเติมเต็มบนโลกนี้ และให้โลกนี้ได้ตอบสนองด้วยใจสรรเสริญ เป็นโอกาสแสดงความเสียใจและเศร้าโศกต่อสิ่งต่างๆทั้งในชีวิตของเราและผู้ อื่น การไม่เคารพพระนามของพระเจ้า การเป็นคนหน้าซื่อใจคด ตัดสินมากกว่ามีเมตตา เมตตามากกว่าใช้คำสั่ง และการสั่งสอนสำหรับคนที่เกลียดชังพระเจ้า ฯลฯ เป็นเวลาที่เราตระหนักได้และทิ้งความหน้าซื่อใจคดไป ในเชิงทัศนคติ เราสามารถเริ่มอธิษฐานด้วยการนมัสการ สรรเสริญ และขอบพระคุณ เรานมัสการอย่างที่พระองค์ทรงเป็น เราสรรเสริญในพระราชกิจ และขอบพระคุณในการดูแลและจัดเตรียมของพระองค์

เราทูลขอให้แผ่นดินของพระบิดามาตั้งอยู่ อธิษฐานขอให้มีการประกาศข่าวประเสริฐอย่างแพร่หลาย และจัดตั้งระบอบการปกครองโดยพระบิดาลงในหัวใจของทั้งหญิงและชาย เราอธิษฐานเผื่อความเป็นอยู่ของคนที่ทุกข์ใจและถูกข่มเหง เผื่อการรักษาฝ่ายกาย ฝ่ายวิญญาณ การเปลี่ยนจิตใจ รื้อฟื้นความสัมพันธ์ที่แตกสลาย สิ่งต่างๆเหล่านี้จะเปลี่ยนไปเมื่อได้รับการยอมรับจากพระบิดาและในหนทางของ พระองค์ เรายังรอคอยการเสด็จกลับมาของพระเยซูคริสต์เพื่อมาปกครองและอยู่ท่ามกลางพวก เรา

เราจึงเริ่มคำอธิษฐานของเราโดยเน้นไปยังพระบุคคลที่เรากำลังอธิษฐานถึง ผู้ทรงเป็นทั้งพระบิดาและจอมกษัตริย์ นำใจของเราไปไว้ที่พระองค์ และขอทรงช่วยให้เราเป็นเหมือนพระองค์

เพื่อค้ำจุนจิตใจของเรา

สิ่งที่จำเป็นสำหรับเราในฐานะมนุษย์ อยู่ในส่วนต่อไปในต้นแบบการอธิษฐานของพระเยซู :

11 ขอทรงโปรดประทานอาหารประจำวันแก่ข้าพระองค์ทั้งหลายในกาลวันนี้ 12 และขอทรงโปรดยกบาปผิดของข้าพระองค์ เหมือนข้าพระองค์ยกโทษผู้ที่ทำผิดต่อข้าพระองค์นั้น (มัทธิว 6:11-12)

ความเข้าใจคำว่า “อาหารประจำวัน” หมายถึงอาหารที่ทาน พออิ่มในวันนั้น บางคนคิดว่านั่นคือสิ่งที่พระเจ้าต้องการให้เราทูลขอ ผมเชื่อว่าอาหารประจำวันน่าจะรวมถึงสิ่งอื่นๆที่จำเป็นในชีวิต น่าจะไกลเกินกว่าวัตถุสิ่งของ แต่เป็นสิ่งสำคัญที่จำเป็นสำหรับร่างกายและจิตใจของเรา:

  • อาหารและที่พักอาศัย —“แต่ ถ้าเรามีอาหารและเสื้อผ้า ก็ให้เราพอใจด้วยของเหล่านั้นเถิด ส่วนคนเหล่านั้น ที่อยากร่ำรวยก็ตกอยู่ในข่ายของความเย้ายวน และติดบ่วงแร้วและในความปรารถนานานาที่ไร้ความคิดและเป็นภัยแก่ตัว ซึ่งทำให้คนเราต้องถึงความพินาศเสื่อมสูญไป” (1ทิโมธี 6:8-9)
  • ความชอบธรรม —“บุคคลผู้ใดหิวกระหายความชอบธรรม ผู้นั้นเป็นสุข เพราะว่าพระเจ้าจะทรงให้อิ่มบริบูรณ์” (มัทธิว 5:6)
  • การสถิตอยู่ของพระบิดา—“นอก จากพระองค์ ข้าพระองค์มิมีผู้ใดในฟ้าสวรรค์ นอกจากพระองค์แล้ว ข้าพระองค์ไม่ปรารถนาใดใดในโลก แต่ส่วนข้าพระองค์ ที่จะเข้าใกล้พระเจ้านั้นดี ข้าพระองค์ได้ให้พระเจ้าเป็นที่ลี้ภัยของข้าพระองค์ เพื่อข้าพระองค์จะได้เล่าถึงพระราชกิจทั้งสิ้นของพระองค์” (สดุดี 73:25,28)

แม้ไม่มีสิ่งใดในคำอธิษฐานของพระเยซูที่ทูลขอนอกเหนือจากความต้องการพื้นฐาน มีเหตุผลสองประการที่ทำให้นึกถึงคำทูลขอที่ไกลเกินกว่า ประการแรก อ เปาโลบอกให้เราอธิษฐานขอในทุกสิ่ง “อย่าทุกข์ร้อนในสิ่งใดๆเลย แต่จงทูลเรื่องความปรารถนาของท่านทุกอย่างต่อพระเจ้า ด้วยการอธิษฐาน การวิงวอน กับการขอบพระคุณ” (ฟีลิปปี 4:6) ประการที่สองอยู่ ในงานมงคลสมรสที่คานา พระเยซูทรงทำตามคำขอร้องของมารดา เปลี่ยนน้ำเป็นเหล้าองุ่น มากกว่าความต้องการของงานเลี้ยง พระเจ้าของเราทรงมีพระทัยกว้างขวาง เมื่อพระเยซูรวมทุกอย่างไว้ใน “อาหารประจำวัน” พระองค์ทรงหนุนใจให้เราขอบพระคุณ ทูลขอสิ่งใดก็ได้ ที่จำเป็นเพียงพอ และขอบพระคุณสำหรับทุกสิ่ง

สถานะจิตวิญญาณและร่างกายของเราขึ้นอยู่กับการอภัยทั้งสองฝั่ง ความรู้สึกผิดและขมขื่นใจจะกลืนกินเรา ทั้งสองเกี่ยวข้องกับปัญหาส่วนตัว และความเจ็บป่วยฝ่ายกาย เราสามารถนำทั้งสองเข้าสู่คำอธิษฐาน “ขอทรงโปรดยกบาปผิดของข้าพระองค์…” จัดการ กับความรู้สึกผิดในใจ ความผิดของเรา และเมื่อได้รับการอภัย เราต้องประเมินตนเองอย่างซื่อตรงในแบบที่เราเป็น จะนำมาซึ่งการชำระให้บริสุทธิ์ อย่างไรก็ตาม เพราะความขมขื่นร้ายแรง หรือร้ายแรงกว่าความรู้สึกผิดที่ไม่ได้รับการแก้ไข พระเยซูทรงสอนให้เรานำทั้งสองกรณีมาเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน “ขอทรงโปรดยกบาปผิดของข้าพระองค์ เหมือนข้าพระองค์ยกโทษผู้ที่ทำผิดต่อข้าพระองค์นั้น” พระ เยซูทรงมีเรื่องที่จะสอนเราเพิ่มอีก ซึ่งจะนำกลับมาสอนตอนท้าย สำหรับตอนนี้ อยากบอกว่าเรายังทำได้ไม่ครบถ้วนและไม่สมดุล ถ้าจะทูลขอพระบิดาให้นำความรู้สึกผิดของเราออกไป เพื่อให้สามารถยืนอยู่ต่อเบื้องพระพักตร์พระองค์ได้อย่างสบายใจ แต่เมื่อยังมีบางคนที่เรากันเขาออกไปจากชีวิต เพราะเขาทำผิดต่อเรา เป็นการดีที่เราจะรับการอภัย และจะดียิ่งกว่าถ้าเราให้อภัยด้วย รวมถึงจิตใจของเรา ถ้าปลดความขุ่นเคืองออกไป ก็มีความมั่นใจเมื่ออธิษฐานขอการอภัยจากพระบิดา เป็นสิ่งยอดเยี่ยมที่สุด

ถ้าพระบิดาทรงตอบคำอธิษฐานของเราตามที่ทูลขอ เราก็จะมีสุขภาพที่ดีทั้งกายและวิญญาณ พร้อมที่จะรับใช้ในแผ่นดินของพระเจ้า

รักษาจิตใจเอาไว้

พระเยซูสรุปต้นแบบคำอธิษฐานของพระองค์ด้วยถ้อยคำว่า : “และขออย่านำข้าพระองค์เข้าไปในการทดลอง แต่ขอให้พ้นจากซึ่งชั่วร้าย” (มัทธิว 6:13)

พระเยซูหมายความอย่างไรเมื่อให้เราทูลขอ “…อย่านำข้าพระองค์เข้าไปในการทดลอง …”? หรือ เราต้องกลัวว่าพระบิดาจะปล่อยให้เราเผชิญการทดลอง เว้นเสียแต่เราอธิษฐาน? หรือจะทรงทดสอบว่าเราจะผ่านหรือไม่? ในจดหมายฝากของยากอบบอกเราว่า “13 เมื่อผู้ใดถูกล่อให้หลง อย่าให้ผู้นั้นพูดว่า “พระเจ้าทรงล่อข้าพเจ้าให้หลง” เพราะว่าความชั่วจะมาล่อพระเจ้าให้หลงไม่ได้ และพระองค์เองก็ไม่ทรงล่อผู้ใดให้หลงเลย 14 แต่ว่าทุกคนก็ถูกล่อให้หลง เมื่อกิเลสของตัวเองล่อและชักนำให้กระทำตาม” (ยากอบ 1:13-14) ผมคิดว่าส่วนใหญ่คงเห็นด้วยว่าเราต้องเข้าใจคำสอนของพระเยซูในมุมมองว่า เรามีแนวโน้มที่จะทำบาป

พระบิดาไม่ได้ล่อลวงให้เราทำบาป แต่ทรงนำเราไปยังจุดที่ต้องมีการทดสอบ และเมื่อมีการทดสอบ การทดลองจะเข้ามาเพื่อให้ล้มเลิกหรือสู้ต่อ ตัวอย่างโด่งดังเรื่องเปโตรที่ปฏิเสธพระเยซูทำให้เราถึงเห็นการล้มลง คืนก่อนหน้า เปโตรพูดอย่างมั่นใจว่าจะอยู่กับพระเยซูไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่ไม่เกินสองสามชั่วโมง กลับปฏิเสธแข็งขันว่าไม่รู้จักพระเยซู เมื่อเราอธิษฐานขออย่านำเข้าไปในการทดลอง เรากำลังขอความช่วยเหลือจากพระบิดาเพื่อหลีกเลี่ยงสถานการณ์แบบนั้น ทูลขอบางประตูที่มีเรื่องเดือดร้อนอยู่ด้านหลังให้ปิดลง ขอจิตใจที่เข้มแข็งและมุ่งแต่สิ่งดี ทูลขอสติปัญญาเพื่อตระหนักได้ และหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่นำไปสู่ปัญหา

แม้ต้องรับผิดชอบด้านจริยะธรรมในการกระทำของเรา พูดได้ว่าแม้บาปแรกของมนุษยชาติไม่ได้ทำในที่ลี้ลับ งูร้ายในสวนเอเดนซึ่งก็คือพญามาร ล่อลวงเอวา และเธอพ่ายแพ้ พระเจ้าทรงบัญชาห้ามไม่ให้ชายและหญิงคู่แรกกินผลจากต้นไม้หนึ่งต้นกลางสวน เอเดน ซาตานโจมตีจุดนั้นเลย นำให้เกิดบาปแรกขึ้น เราจึงทูลขอการปกป้องระหว่างดำเนินอยู่ในแผนการของพระองค์

ซาตานค้นหาความผิดของเราและไปทูลฟ้องพระเจ้าด้วย หนังสือโยบบันทึกคำทูลนั้นไว้:

แล้วซาตานทูลตอบพระเจ้าว่า “โยบยำเกรงพระเจ้าเปล่าๆหรือ พระองค์มิได้ทรงกั้นรั้วรอบตัวเขา และครัวเรือนของเขา และทุกสิ่งที่เขามีอยู่เสียทุกด้านหรือ พระองค์ได้ทรงอำนวยพระพรงานน้ำมือของเขา และฝูงสัตว์ของเขาได้ทวีขึ้นในแผ่นดิน แต่ขอยื่นพระหัตถ์เถิด และแตะต้องสิ่งของทั้งสิ้น ที่เขามีอยู่ และเขาจะแช่งพระองค์ต่อพระพักตร์พระองค์” (โยบ 1:9-11)

ที่น่าสนใจคือก่อนหน้า มีบันทึกว่าโยบถวายบูชาแทนบุตร – เผื่อว่าลูกๆพลาดพลั้งทำบาป ไม่มีบันทึกว่าท่านถวายบูชาเพื่อตนเอง เช่นเดียวกับที่เปโตรมีความมั่นใจ มารขอฝัดร่อนท่านเหมือนข้าวสาลี สถานการณ์เช่นนี้ที่เราขอการปกป้องในคำอธิษฐานของเรายอมรับถึงความอ่อนแอ และทูลขอกำลัง ทูลขอคำสั่งสอนด้วยพระปัญญาและด้วยวิถีของพระองค์

การทดลองยังมีที่มาจากแหล่งอื่นที่เราต้องต้านเอาไว้ ค่านิยมทางโลกดึงดูดเราตลอดเวลา วิสัยภายในเราอ่อนแอและอยากจะทำตาม โดยคำอธิษฐาน เราสามารถเป็นคนที่แตกต่างได้

ที่สุดก็มาจบลงที่คุณลักษณะที่มาจากภายใน “เมื่อไรที่โจรไม่ได้เป็นโจร?” เมื่อถามคำถามนี้ ผมมักได้ยินคำตอบว่า “เมื่อมันไม่ได้ขโมย” ไม่ถูกนะครับ โจรที่ไม่ได้ขโมยก็เป็นโจรตกงาน โจรไม่ได้เป็นโจรเมื่อเขาใช้แรงทำงาน เพื่อมีรายได้สามารถนำไปช่วยเหลือผู้อื่น (เอเฟซัส 4:28) นี่คือเป้าหมายของคำอธิษฐาน เพื่อเปลี่ยนเราจากโจรเป็นผู้ให้ จากคนล่วงประเวณีไปเป็นคนที่รักครอบครัว จากหยิ่งยโสเป็นคนมีใจถ่อม จากเกลียดชังเป็นความรัก จากขมขื่นเป็นให้อภัย ฯลฯ ในส่วนที่ยังเป็นลบ หาทางฟูมฟักด้านตรงข้ามให้เติบโตขึ้น การอธิษฐานจะช่วยให้เราทำได้

นี่คือตอนจบแบบอย่างคำอธิษฐานของพระเยซูที่ผมเลือกจากหลายต้นฉบับที่ไว้ ใจได้ บางฉบับอธิบายส่วนที่เสริมเข้ามา “เหตุว่าราชอำนาจ และฤทธิ์เดช และพระสิริเป็นของพระองค์สืบๆไปเป็นนิตย์” ผมเลือกใช้ตามต้นฉบับที่ผ่านการพิสูจน์แล้ว เราสามารถถวายพระสิริแด่พระบิดาในตอนต้นของคำอธิษฐาน และถ้าพระเยซูไม่ได้เป็นผู้ตรัสคำลงท้าย จึงไม่มีคำถามว่าทำไมถึงไม่นำมาใช้ แม้จะจบลงอย่างยิ่งใหญ่ แต่พระเยซูทรงจบต้นแบบคำอธิษฐานของพระองค์ด้วยคำเตือนให้มีใจถ่อม คำอธิษฐานเปลี่ยนจากยิ่งใหญ่ ถวายพระสิริของพระเจ้าไปยังจุดที่ยอมจำนน และพึ่งพิงพระองค์หมดสิ้น ผมคิดว่าจบลงแบบนี้น่าจะดีกว่า

เงื่อนไขที่สำคัญ

ใครที่ใส่ใจตามคำสั่งของพระเยซูเรื่องคำอธิษฐาน จะสังเกตุว่าคำอธิษฐานของเราต้องเชื่อมโยงกับที่เราได้รับการอภัยจากพระบิดา สู่การให้อภัยผู้อื่น ไม่ได้เป็นคำสั่งที่พระบิดาสั่ง แต่เป็นคำที่เราทูลขอพระองค์ ที่จริงนับว่าแปลกจนทำให้เกิดคำถาม “หมายความจริงๆหรือว่าการรับการอภัยของฉันขึ้นอยู่กับระดับการให้อภัยที่ฉัน มีให้ผู้อื่น?” พระเยซูทรงตอบคำถามนี้

เพราะว่าถ้าท่านยกความผิดของเพื่อน มนุษย์ พระบิดาของท่านผู้ทรงสถิตในสวรรค์จะทรงโปรดยกความผิดของท่านด้วย แต่ถ้าท่านไม่ยกความผิดของเพื่อนมนุษย์ พระบิดาของท่านจะไม่ทรงโปรดยกความผิดของท่านเหมือนกัน (มัทธิว 6:14-15)

พระเยซูตรัสอย่างชัดเจนว่าเราต้องอธิษฐานตามความเป็นจริง ข่าวดีอยู่ตรงนี้ ไม่มีใครสร้างความเสียหายให้ฉันได้เท่ากับที่ฉันทำกับแผ่นดินของพระเจ้า – หรืออาจทำถ้าปล่อยให้ทัศนคติที่ตนเองเป็นศูนย์กลางครอบงำและลงมือทำ ดังนั้นถ้าเข้าเฝ้าพระบิดาโดยไม่เก็บความขุ่นเคืองใจจากที่ถูกผู้อื่นกระทำ ฉันจึงสามารถทูลขอพระองค์ว่าอย่าทรงเก็บความขุ่นเคืองใจในตัวฉันด้วย คำอธิษฐานของพระเยซูจึงเท่ากับเราได้ให้อภัยผู้อื่นก่อนแล้วจึงมาเข้าเฝ้า พระบิดา

มีอุปมาสองเรื่องที่สนับสนุนความจริงนี้ เรื่องแรกมาจากคำพูดว่าเราต้องให้อภัยจากใจ:

“เหตุฉะนั้นแผ่นดินสวรรค์เปรียบเหมือน เจ้าองค์หนึ่งทรงประสงค์จะคิดบัญชีกับทาส เมื่อตั้งต้นทำการนั้นแล้ว เขาพาคนหนึ่งซึ่งเป็นหนี้หนึ่งหมื่นตะลันต์มาเฝ้า ท่านจึงสั่งให้ขายตัวกับทั้งเมีย และลูกและบรรดาสิ่งของที่เขามีอยู่นั้นเอามาใช้หนี้ เพราะเขาไม่มีเงินจะใช้หนี้ ทาสลูกหนี้ผู้นั้นจึงกราบลงวิงวอนว่า ‘ข้าแต่ท่าน ขอโปรดผัดไว้ก่อน แล้วข้าพเจ้าจะใช้หนี้ทั้งสิ้น’ เจ้าองค์นั้นมีพระทัยเมตตา โปรดยกหนี้ปล่อยตัวเขาไป

แต่ทาสผู้นั้นออกไปพบคนหนึ่งเป็นเพื่อน ทาสด้วยกัน ซึ่งเป็นหนี้เขาอยู่หนึ่งร้อยเดนาริอัน จึงจับคนนั้นบีบคอว่า ‘จงใช้หนี้ให้ข้า’ เพื่อนทาสคนนั้นได้กราบลงอ้อนวอนว่า ‘ขอโปรดผัดไว้ก่อนแล้วข้าพเจ้าจะใช้ให้’ แต่เขาไม่ยอม จึงนำทาสลูกหนี้นั้นไปจำจองไว้จนกว่าจะใช้เงินนั้น

ฝ่ายพวกเพื่อนทาสเมื่อเห็นเหตุการณ์เช่น นั้น ก็พากันสลดใจยิ่งนัก จึงนำเหตุการณ์ทั้งปวงไปกราบทูลเจ้าองค์นั้น ท่านจึงทรงเรียกทาสนั้นมาสั่งว่า ‘อ้ายข้าชาติชั่ว เราได้โปรดยกหนี้ให้เอ็งหมด เพราะเอ็งได้อ้อนวอนเรา เอ็งควรจะเมตตาเพื่อนทาสด้วยกัน เหมือนเราได้เมตตาเอ็งมิใช่หรือ’ แล้วเจ้าองค์นั้นกริ้ว จึงมอบผู้นั้นไว้แก่เจ้าหน้าที่ให้ทรมาน จนกว่าจะใช้หนี้หมด

พระบิดาของเราผู้ทรงสถิตในสวรรค์ จะทรงกระทำแก่ท่านทุกคนอย่างนั้น ถ้าหากว่าท่านแต่ละคนไม่ยกโทษให้แก่พี่น้องของท่านด้วยใจกว้างขวาง” (มัทธิว 18:23-35)

เรื่องที่สองเป็นเรื่องที่รวมทั้งอุปมาและแสดงให้เห็นถึงระดับความรักที่เรามีต่อพระเจ้า ซึ่งขึ้นกับระดับที่เราได้รับการอภัย

มีคนหนึ่งในพวกฟาริสีเชิญพระองค์ไปเสวยพระกระยาหารกับเขา พระองค์ก็เสด็จเข้าไปในเรือนของคนฟาริสีคนนั้น แล้วเอนพระกายลง

และดูเถิด มีผู้หญิงคนหนึ่งของเมืองนั้นเคยเป็นหญิงชั่ว เมื่อรู้ว่าพระองค์ทรงเอนพระกายเสวยอยู่ในบ้านของคนฟาริสีนั้น นางจึงถือผอบน้ำมันหอม มายืนอยู่ข้างหลังใกล้พระบาทของพระองค์ ร้องไห้น้ำตาไหลเปียกพระบาท เอาผมเช็ด จุบพระบาทของพระองค์มาก และเอาน้ำมันนั้นชโลม

ฝ่ายคนฟาริสีที่ได้เชิญพระองค์ เมื่อเห็นแล้วก็นึกในใจว่า “ถ้าท่านนี้เป็นผู้เผยพระวจนะก็คงจะรู้ว่า หญิงผู้นี้ที่ถูกต้องกายของท่านเป็นผู้ใดและเป็นคนอย่างไร เพราะนางเป็นคนชั่ว”

ฝ่ายพระเยซูตรัสตอบเขาว่า “ซีโมนเอ๋ย เรามีอะไรจะพูดกับท่านบ้าง”

เขาทูลว่า “ท่านอาจารย์เจ้าข้า เชิญพูดไปเถิด”

พระองค์จึงตรัสว่า “เจ้าหนี้คนหนึ่งมีลูกหนี้สองคน คนหนึ่งเป็นหนี้เงินห้าร้อยเหรียญเดนาริอัน อีกคนหนึ่งเป็นหนี้เงินห้าสิบเหรียญ เมื่อเขาไม่มีอะไรจะใช้หนี้แล้ว ท่านจึงโปรดยกหนี้ให้เขาทั้งสองคน ในสองคนนั้น คนไหนจะรักนายมากกว่า”

ซีโมนจึงทูลว่า “ข้าพเจ้าเห็นว่าคนที่นายได้โปรดยกหนี้ให้มาก ก็เป็นคนที่รักนายมาก” พระองค์จึงตรัสกับเขาว่า “ท่านคิดเห็นถูกแล้ว”

พระองค์จึงทรงเหลียวหลังดูผู้หญิงนั้น และตรัสแก่ซีโมนว่า “ท่านเห็นผู้หญิงนี้หรือ เราได้เข้ามาในบ้านของท่าน ท่านมิได้ให้น้ำล้างเท้าของเรา แต่นางได้เอาน้ำตาชำระเท้าของเราและได้เอาผมของตนเช็ด ท่านมิได้จุบเรา แต่ผู้หญิงนี้ตั้งแต่เราเข้ามา มิได้หยุดจุบเท้าของเรา ท่านมิได้เอาน้ำมันชโลมศีรษะของเรา แต่นางได้เอาน้ำมันหอมชโลมเท้าของเรา เหตุฉะนั้นเราบอกท่านว่า ความผิดบาปของนางซึ่งมีมากได้โปรดยกเสียแล้ว เพราะนางรักมาก แต่ผู้ที่ได้รับการยกโทษน้อย ผู้นั้นก็รักน้อย”

พระองค์จึงตรัสแก่นางว่า “ความผิดบาปของเจ้าโปรดยกเสียแล้ว” ฝ่ายคนทั้งหลายที่เอนกายอยู่ด้วยพูดกันว่า “คนนี้เป็นใคร แม้ความผิดบาปก็ยกให้ได้” พระองค์จึงตรัสแก่ผู้หญิงนั้นว่า “ความเชื่อของเจ้าได้ทำให้เจ้ารอด จงไปเป็นสุขเถิด” (ลูกา 7:36-50)

ประเด็นเรื่องการให้อภัยผู้อื่นสรุปลงได้เป็นสองสิ่ง สิ่งแรก – ความกตัญญู เราได้รับการยกหนี้มหาศาล แม้เรื่องเล็กน้อยที่สุดในความเห็นแก่ตัวของเราที่สร้างความเสียหายแก่แผ่น ดินสวรรค์ เราเห็นได้จากการล้มลงของอาดัมและเอวาที่ไม่เชื่อฟัง และหนี้ที่เราต้องรับคือชีวิต การให้อภัยเป็นเหตุทำให้พระบิดาต้องสละชีวิตพระบุตรเพื่อแลกเปลี่ยน การให้อภัยที่เราให้ผู้อื่นเป็นแค่การแสดงความกตัญญู แล้วทำไมเราถึงกล้าขัดขืน สิ่งที่สอง – โดยการให้อภัย เรากำลังเลียนแบบพระลักษณะของพระบิดา และเป็นการถวายพระสิริแด่พระนามของพระองค์ พระบิดาเป็นแบบอย่างของความเมตตาและการให้อภัย เมื่อเราแสดงความเมตตาและให้อภัย เราก็พยายามเป็นเหมือนพระองค์ การทำเช่นนี้คือการถวายพระเกียรติต่อพระนามของพระองค์

บางคนอาจถามว่า “แล้วฉันยังจะได้รับความรอดมั้ย ถ้าไม่ยอมอภัยให้ผู้อื่น?” เนื่องจากต้นแบบคำอธิษฐานนี้เป็นต้นแบบสำหรับแต่ละวันด้วยมีคำทูลขออาหาร ประจำวัน และนี่จึงเป็นการทูลขอการอภัยประจำวันในสิ่งที่เราผิดพลาดไปในวันนั้นด้วย การให้อภัยที่เป็นการกระทำ เป็นสิ่งที่พระเยซูตรัสกับเปโตร “ผู้ที่อาบน้ำแล้วไม่จำเป็นต้องชำระกายอีก ล้างแต่เท้าเท่านั้น” (ยอห์น 13:10) ถึงแม้จะข้ามเรื่องนี้ไป ความรอดไม่ได้ขึ้นอยู่กับเรา อย่างที่ อ เปาโลเขียน :

ด้วยว่าซึ่งท่านทั้งหลายรอดนั้นก็รอดโดย พระคุณเพราะความเชื่อ และมิใช่โดยตัวท่านทั้งหลายกระทำเอง แต่พระเจ้าทรงประทานให้ ความรอดนั้นจะเนื่องด้วยการกระทำก็หามิได้ เพื่อมิให้คนหนึ่งคนใดอวดได้ เพราะว่าเราเป็นฝีพระหัตถ์ของพระองค์ ที่ทรงสร้างขึ้นในพระเยซูคริสต์เพื่อให้ประกอบการดี ซึ่งพระเจ้าได้ทรงดำริไว้ล่วงหน้าเพื่อให้เรากระทำ (เอเฟซัส 2:8-10)

รอดโดยพระคุณเพราะความเชื่อเป็นของประทานจากพระเจ้า เราไม่อาจทำสิ่งใดให้ตัวเองได้ในเรื่องความรอด ยิ่งเป็นสาเหตุที่สมควรที่เราให้อภัยผู้ที่ทำผิดต่อเราด้วยใจกตัญญู – ไม่ว่าคู่กรณีต้องการหรือไม่ก็ตาม

เราคงไม่อยากมีชีวิตที่ขมขื่นเพราะไม่ยอมให้อภัย เป็นเหมือนดื่มยาพิษแล้วบอกคู่กรณีว่า “เอาสิ กินด้วยกัน”

ระหว่างบทเรียนนี้ ผมอยากแนะนำให้คุณหาหนังสือของคอรี่ เทน บูม “ที่หลบภัย” (The Hiding Place by Corrie Ten Boom) มาอ่าน หนังสือเล่มนี้ คุณจะพบความลึกล้ำที่ทำให้คริสเตียนสามารถให้อภัยได้

คำอธิษฐานของพระเยซู และคำเทศนาบนภูเขา

คุณสามารถนำแต่ละบรรทัดจากต้นแบบคำอธิษฐานของพระเยซู คุณจะพบอย่างน้อยมีคำเทศนาบนภูเขาที่สนับสนุนคำอธิษฐานนี้ เมื่อจบลงคุณจะเห็นอย่างน้อยมีหนึ่งข้อพระคำจากคำเทศนาบนภูเขาบรรจุอยู่

“ข้าแต่พระบิดาแห่งข้าพระองค์ทั้งหลาย ผู้ทรงสถิตในสวรรค์ ขอให้พระนามของพระองค์เป็นที่เคารพสักการะ”

“บุคคลผู้ใดมีใจบริสุทธิ์ ผู้นั้นเป็นสุข เพราะว่าเขาจะได้เห็นพระเจ้า” (มัทธิว 5:8)

“บุคคลผู้ใดสร้างสันติ ผู้นั้นเป็นสุข เพราะว่าพระเจ้าจะทรงเรียกเขาว่าเป็นบุตร” (มัทธิว 5:9)

“ขอให้แผ่นดินของพระองค์มาตั้งอยู่ ขอให้เป็นไปตามพระทัยของพระองค์ ในสวรรค์เป็นอย่างไรก็ให้เป็นไปอย่าง นั้นในแผ่นดินโลก”

“บุคคลผู้ใด รู้สึกบกพร่องฝ่ายวิญญาณ ผู้นั้นเป็นสุข เพราะแผ่นดินสวรรค์เป็นของเขา” (มัทธิว 5:3)

“บุคคลผู้ใดต้องถูกข่มเหงเพราะเหตุความชอบธรรม ผู้นั้นเป็นสุข เพราะว่าแผ่นดินสวรรค์เป็นของเขา” (มัทธิว 5:10)

“ขอทรงโปรดประทานอาหารประจำวันแก่ข้าพระองค์ทั้งหลายในกาลวันนี้”

“บุคคลผู้ใดหิวกระหาย ความชอบธรรม ผู้นั้นเป็นสุข เพราะว่าพระเจ้าจะทรงให้อิ่มบริบูรณ์” (มัทธิว 5:6)

“บุคคลผู้ใดมีใจอ่อนโยน ผู้นั้นเป็นสุข เพราะว่าเขาจะได้รับแผ่นดินโลกเป็นมรดก” (มัทธิว 5:5)

“และขอทรงโปรดยกบาปผิดของข้าพระองค์ เหมือนข้าพระองค์ยกโทษผู้ที่ทำผิดต่อข้าพระองค์นั้น”

“บุคคลผู้ใดโศกเศร้า ผู้นั้นเป็นสุข เพราะว่าเขาจะได้รับการทรงปลอบประโลม” (มัทธิว 5:4)

“บุคคลผู้ใดมีใจกรุณา ผู้นั้นเป็นสุข เพราะว่าเขาจะได้รับพระกรุณาตอบ” (มัทธิว 5:7)

“บุคคลผู้ใดสร้างสันติ ผู้นั้นเป็นสุข เพราะว่าพระเจ้าจะทรงเรียกเขาว่าเป็นบุตร” (มัทธิว 5:9)

“และขออย่านำข้าพระองค์เข้าไปในการทดลอง แต่ขอให้พ้นจาก ซึ่งชั่วร้าย”

“บุคคลผู้ใดต้องถูกข่มเหงเพราะเหตุความชอบธรรม ผู้นั้นเป็นสุข เพราะว่าแผ่นดินสวรรค์เป็นของเขา” (มัทธิว 5:10)

“เมื่อเขาจะติเตียนข่มเหง และนินทาว่าร้ายท่านทั้งหลายเป็นความเท็จเพราะเรา ท่านก็เป็นสุข จงชื่นชมยินดี เพราะว่าบำเหน็จของท่านมีบริบูรณ์ในสวรรค์ เพราะเขาได้ข่มเหงผู้เผยพระวจนะทั้งหลาย ที่อยู่ก่อนท่านเหมือนกัน” (มัทธิว 5:11-12)

คงไม่ต้องเพิ่มเติมอะไรอีก ผมคิดว่าเป็นพระวจนะที่สนับสนุนกันและกันได้อย่างน่าสนใจและยอดเยี่ยม และเป็นประโยชน์ต่อพวกเรา

ข้อคิดส่งท้าย

ให้กลับมาดูพระวจนะตอนนี้อีกครั้ง :

“เมื่อท่านทั้งหลายอธิษฐาน อย่าเป็นเหมือนคนหน้าซื่อใจคด เพราะเขาชอบยืนอธิษฐานในธรรมศาลาและตามถนน เพื่อจะให้คนทั้งปวงได้เห็น เราบอกความจริงแก่ท่านว่าเขาได้รับบำเหน็จของเขาแล้ว ฝ่ายท่านเมื่ออธิษฐานจงเข้าในห้องชั้นใน และเมื่อปิดประตูแล้ว จงอธิษฐานต่อพระบิดาของท่านผู้ทรงสถิตในที่ลี้ลับ และพระบิดาของท่านผู้ทรงเห็นในที่ลี้ลับจะทรงโปรดประทานบำเหน็จแก่ท่าน “แต่เมื่อท่านอธิษฐานอย่าพูดพล่อยๆซ้ำซาก เหมือนคนต่างชาติกระทำเพราะเขาคิดว่าพูดมากหลายคำ พระจึงจะทรงโปรดฟัง อย่าทำเหมือนเขาเลย เพราะว่าสิ่งไรซึ่งท่านต้องการ พระบิดาของท่านทรงทราบก่อนที่ท่านทูลขอแล้ว ท่านทั้งหลาย จงอธิษฐานตามอย่างนี้ว่า:

ข้าแต่พระบิดาแห่งข้าพระองค์ทั้งหลาย ผู้ทรงสถิตในสวรรค์ ขอให้พระนามของพระองค์เป็นที่เคารพสักการะ ขอให้แผ่นดินของพระองค์มาตั้งอยู่ ขอให้เป็นไปตามพระทัยของพระองค์ ในสวรรค์เป็นอย่างไรก็ให้เป็นไปอย่างนั้นในแผ่นดินโลก ขอทรงโปรดประทานอาหารประจำวันแก่ข้าพระองค์ทั้งหลายในกาลวันนี้ และขอทรงโปรดยกบาปผิดของข้าพระองค์ เหมือนข้าพระองค์ยกโทษผู้ที่ทำผิดต่อข้าพระองค์นั้น และขออย่านำข้าพระองค์เข้าไปในการทดลอง แต่ขอให้พ้นจาก ซึ่งชั่วร้าย

“เพราะว่าถ้าท่านยกความผิดของเพื่อน มนุษย์ พระบิดาของท่านผู้ทรงสถิตในสวรรค์จะทรงโปรดยกความผิดของท่านด้วย แต่ถ้าท่านไม่ยกความผิดของเพื่อนมนุษย์ พระบิดาของท่านจะไม่ทรงโปรดยกความผิดของท่านเหมือนกัน” (มัทธิว 6:5-15)

คำอธิบายของพระเยซูที่เกี่ยวกับการอธิษฐานยาวเป็นสองเท่าของต้นแบบการ อธิษฐานของพระองค์ คำอธิษฐานของพระเยซูเอง เป็นความมหัศจรรย์แห่งพระปัญญาและเป็นความเรียบง่าย ทรงบ่งว่าเรากำลังอธิษฐานถึงใคร และควรอธิษฐานในเรื่องใด ผมเชื่อว่ายังเรียงลำดับเรื่องต่างๆได้อย่างเหมาะสมด้วย สิ่งนี้สำคัญ เพราะเราสามารถมุ่งไปที่พระบิดาและอาณาจักรของพระองค์ ทูลขอสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวัน ก่อนทูลขอการอภัย! ด้วยวิธีนี้ พระเยซูกำลังตรัสบอกถึงพระคุณและพระทัยเมตตากว้างขวางของพระบิดา เช่นเดี่ยวกับที่พระองค์ตรัสไว้ในคำเทศนาบนภูเขา

“ฝ่ายเราบอกท่านว่า จงรักศัตรูของท่าน และจงอธิษฐานเพื่อผู้ที่ข่มเหงท่าน ทำดังนี้แล้วท่านทั้งหลายจะเป็นบุตรของพระบิดาของท่านผู้ทรงสถิตในสวรรค์ เพราะว่าพระองค์ทรงให้ดวงอาทิตย์ของพระองค์ ขึ้นส่องสว่างแก่คนดีและคนชั่วเสมอกัน และให้ฝนตก แก่คนชอบธรรมและคนอธรรม” (มัทธิว 5:44-45)

ในการนำพระวจนะมาประยุกต์ใช้ เช่นเดียวกับตอนอื่นๆ ต้องเป็นส่วนตัวและตามการทรงนำของพระวิญญาณบริสุทธิ์ เพราะเราไม่อาจทราบความคิดและแรงจูงใจของคนอื่นได้ สมมุติว่าคุณผ่านไปเห็นบางคนอธิษฐานเสียงดังที่หัวมุมถนน คำสอนของพระเยซูจากบทเรียนนี้นำไปใช้ได้หรือเปล่า? เราบอกไม่ได้ ตัวอย่างเช่นการอธิษฐานในท่ามกลางประชาชน (ยอห์น 11:41, 42) ดาเนียลเองก็ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ควรอธิษฐานในที่ลี้ลับ (ดาเนียล 6:10) หรือคนที่ปิดประตูเข้าห้องอธิษฐานในแต่ละวัน อาจยังเป็นคนที่หน้าซื่อใจคด — แม้จะอธิษฐานในที่ลึกลับ แต่ก็ยังเปิดเผยให้คนอื่นๆรู้ว่าเขาอธิษฐานอยู่ในที่ลี้ลับ

คุณจึงจำเป็นต้องนำแนวคิดนี้มาพิจารณาทีละขั้นตอน และนำใจของคุณเข้าไปให้ใกล้ด้วย

  • คำอธิษฐานของคุณส่วนใหญ่เกี่ยวกับตัวคุณ หรือสถานการณ์ของคุณ? ลองอธิษฐานเผื่อผู้อื่นบ้าง
  • คุณทำตัวสอดคล้องกับสิ่งที่พระบิดาทรงกระทำอยู่รอบตัวคุณ และส่วนของคุณที่ทำนั้นสอดคล้องกับพระองค์หรือเปล่า? พระเยซูตรัสว่าพระองค์ทรงทำในสิ่งที่เห็นพระบิดาทำเท่านั้น คำอธิษฐานและการติดสนิทกับพระบิดาเป็นกุญแจในการทำสิ่งเดียวกัน
  • “ให้อภัย…อย่างที่เราได้รับการอภัย” ทำให้คุณวิตก หรือว่าเต็มไปด้วยคำสัญญา เพราะหัวใจของคุณไม่กักเก็บความรู้สึกร้ายกับผู้ใด ถ้าคุณรู้สึกไม่สบายใจ จงพยายามต่อสู้เพื่อปลดปล่อยตนเองออกจากพันธนาการความโกรธให้ได้
  • คุณร้องทูลเพื่อครอบครัวของคุณ เพื่อคริสตจักร ชุมชน ประเทศของคุณ หรือแม้แต่ศัตรูของคุณหรือเปล่า? อย่าลืมว่าต้นแบบคำอธิษฐานของพระเยซูใช้สรรพนามบุคคลที่หนึ่งเป็นพหูพจน์
  • บางคนท่องจำคำอธิษฐานนี้ได้ และใช้เป็นแนวทางในการอธิษฐานเป็นส่วนตัว เป็นสิ่งที่ดีและผมแนะนำให้ฝึกฝนปฏิบัติด้วยครับ

ธรรมชาติคำสอนของพระเยซูเป็นเหมือนไม้กั้นที่ยกสูงขึ้นไปเกินกว่าจะคว้าถึง แต่เมื่อคว้าได้ เราก็ขึ้นสูงไปได้อีก

ขอพระบิดาทรงอวยพระพร และสถิตอยู่ด้วยในคำอธิษฐานของคุณ

ทุกท่านสามารถนำบทเรียนนี้ไปใช้เพื่อการศึกษาได้เท่านั้น ทางคริสตจักร Community Bible Chapel เชื่อว่าเนื้อหาในบทเรียนนี้ถูกต้องตรงตามหลักการสอนพระคัมภีร์ ใช้เพื่อช่วยในการศึกษาพระวจนะของพระเจ้า บทเรียนนี้เป็นลิขสิทธิของ Community Bible Chapel

(แปล: อรอวล ระงับภัย – คริสตจักรแห่งความสุข)


1 189 Copyright 2003 by Community Bible Chapel, 418 E. Main Street, Richardson, TX 75081. ดัดแปลงจากต้นฉบับของบทเรียนที่ 27 ในบทเรียนต่อเนื่องของพระกิตติคุณมัทธิว จัดเตรียมโดย โดนัลด์ อี เคอร์ติส 24 สิงหาคม 2003

2 190 นอกจากที่กล่าวไปแล้ว พระวจนะที่นำมาอ้างอิงทั้งหมดมาจาก NET Bible (The NEW ENGLISH TRANSLATION) เป็น ฉบับแปลใหม่ทั้งหมด ไม่ใช่นำฉบับเก่าในภาษาอังกฤษมาเรียบเรียงใหม่ ใช้ผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการพระคัมภีร์มากกว่า ยี่สิบคน รวบรวมข้อมูล ทั้งจากภาษาฮีบรูโดยตรง ภาษาอาราเมข และภาษากรีก โครงการแปลนี้เริ่มมาจากที่เราต้องการนำ พระคัมภีร์ เผยแพร่ผ่านสื่ออีเลคโทรนิค เพื่อรองรับการใช้งานทางอินเตอร์เน็ท และซีดี (compact disk) ที่ใดก็ตามในโลก ที่ต่อเข้าอินเตอร์เน็ทได้ ก็สามารถเรียกดู และพริ้นทข้อมูลไว้เพื่อใช้ศึกษาเป็นการส่วนตัวได้โดยไม่คิดมูลค่า นอกจากนี้ ผู้ใดก็ตาม ที่ต้องการนำข้อมูลเกี่ยวกับพระคัมภีร์ไปเผยแพร่ต่อโดยไม่คิดเงิน สามารถทำได้จากเว็บไซด์ : www.netbible.org.

3 191 ข้อแตกต่างคู่ขนานระหว่างสมัยโน้นกับ สมัยนี้ ระหว่างกฏหมายด้วยวาจา มีเพื่อล้อมกรอบตัวกฎหมายที่บัญญัติเอาไว้ เป็นเรื่องของจิตใจ คนที่อยากยกเลิกกฎหมายมีอาวุธปืนส่วนตัวไว้ในครอบครอง พยายามหาทางป้องกันการฆาตกรรมโดยออกกฎที่เข้มกว่ากฎหมายเรื่องอาวุธตามที่ บัญญัติไว้ ในสมัยของพระเยซู ความเข้มงวดนี้มักใช้ไม่ได้ผล ในขณะที่การเน้นไปที่เรื่องของจิตใจ และอุปนิสัยของชายและหญิง ทำให้เกิดความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยในสังคมได้มากกว่า

Related Topics: Prayer

Report Inappropriate Ad