MENU

Where the world comes to study the Bible

17. มัทธิว บทเรียนที่ 17 “บัญญัติแห่งการเอาคืน” (มัทธิว 5:38-42)

Related Media

I. คำนำ1

สองสามเดือนที่แล้ว ผมได้อ่านข่าวด้านล่าง (ปี 2002) เป็นรูปแบบที่เกิดซ้ำซากกรณีพิพาทระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์:

“เมื่อวันอังคาร อิสราเอลส่งเฮลิคอปเตอร์ไปสังหารผู้นำฮามาสในท่ามกลางถนนที่เต็มด้วยผู้คนใน กาซา แต่ไม่สำเร็จ ทำให้ชาวปาเลสไตน์ 2 คนต้องเสียชีวิต และ 27 คนบาดเจ็บ การโจมตีด้วยขีปนาวุธนี้มีแต่จะจุดชนวนความรุนแรงและพังทลายแผนสันติภาพลง อย่างสิ้นเชิง การโจมตีเพื่อเอาชีวิตอับเดล แรนทิซี ทำให้เกิดความเคียดแค้นจากกลุ่มทหารอิสลาม และมีการขู่ว่าจะใช้ระเบิดพลีชีพเพื่อเอาคืนจากผู้นำอิสราเอล”

“นายกรัฐมนตรีอิสราเอล ประกาศชัดเจนว่าจะไม่ถอนกำลังทหารออกไปจนกว่าสหรัฐอเมริกาจะเดินหน้าผลักดัน แผนสันติภาพต่อ แรนทิซีเป็นผู้นำคนสำคัญของฮามาสที่ทางอิสราเอลพุ่งเป้าไป และส่งสัญญาณว่าจะทวีความรุนแรงขึ้น ทำให้แผนสันติภาพไม่อาจเดินหน้าต่อไปได้”

“อิสราเอลประกาศว่าแรนทิซีเป็นผู้ก่อการร้ายตัวยงที่ชาวปาเลสไตน์น่าจะ ปลดออกไปก่อนหน้า ‘เขาเป็นศัตรูของสันติภาพ ศัตรูของทุกคนที่แสวงหาสันติภาพในตะวันออกกลาง’ ผู้ช่วยนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ‘ที่จริงเราพยายามรักษาขบวนการสันติภาพโดยต้องกำจัดคนแบบนี้ออกไป’

“ผู้สนับสนุนชาวฮามาสนับพันชุมนุมกันที่สนามหน้าโรงพยาบาลชีฟาห์ ร้องปลุกระดมต่อต้านอับบาส หรือที่รู้จักกันในนามอาบู มาเซน ‘อาบู มาเซน เราจะไม่มีวันยอมถอย’ พวกเขาร้องตะโกน”

“ผู้นำฮามาสกล่าวว่าการเอาคืนจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ‘การตอบสนองของฮามาสจะรุนแรงเหมือนแผ่นดินไหว – แบบตาต่อตา…นักการเมืองต่อนักการเมือง’ เขากล่าว”2

อีกสถานที่หนึ่งในตะวันออกกลาง มีการเสวนาระหว่างผู้นำคริสเตียนและผู้สอนศาสนาอิสลาม พวกเขากำลังคุยกันถึงข้อแตกต่างระหว่างอิสลามและคริสเตียน ผู้สอนศาสนากล่าวว่าข้อแตกต่างนั้นธรรมดามาก: “คริสเตียนสอนว่าถ้าถูกตบ ให้หันแก้มอีกข้างให้ตบด้วย แต่อิสลามสอนว่าถ้าถูกตบ คุณต้องเอาคืน – ซึ่งจะเป็นการดีกว่าสำหรับทั้งสองฝ่าย”3

คืนหนึ่งระหว่างครอบครัวผมทานอาหารเย็นด้วยกัน ลูกสาว คีล่าห์ ถามคำถามที่ชวนคิดขึ้นมา ถามว่า “ถ้าพี่ชายมาตบหน้าหนู หนูจะตบเอาคืนได้มั้ย?” แน่นอน คำตอบของเราคือเธอต้องไปหาคนที่มีสิทธิตัดสินในเรื่องนี้ – พ่อหรือแม่

จริยะธรรมของโลกนี้คือ : 1) ตบกลับ 2) ทำให้เสมอภาคกัน 3) ปฏิบัติต่อผู้อื่นเหมือนที่ท่านอยากให้เขาปฏิบัติต่อท่าน หลายครั้งความเป็นธรรมเพื่อให้เสมอภาคกันเป็นเหมือนกฎหมายยุคโบราณ “ตาแทนตา ฟันแทนฟัน”4 ต้องขอยอมรับว่าการชดใช้หรือเอาคืนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ดึงดูดผมพอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผมรู้สึกเป็นฝ่ายถูกกระทำ

แต่พระเยซูตรัสว่า “ไม่” – ไม่ให้ใช้กฎตาแทนตา” เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับคนที่แค้นใจ แต่พระองค์ตรัสว่า “ให้หันแก้มซ้ายให้ตบด้วย” “ให้เลยไปอีกหนึ่งกิโลเมตร” “ถ้าเขาปรับเสื้อไป ให้เสื้อคลุมแถมไปด้วย” และ “อย่าเมินหน้าจากผู้ที่ขอยืม” คำสอนของพระเยซูไม่เพียงแต่ถูกต้องตามกฎและตามหลักการ แต่ยังเจาะลงลึกซึ้งในสถานการณ์ความขัดแย้ง การข่มเหง และความจำเป็นในชีวิตประจำวัน

มัทธิว 5:38-42 กล่าวว่า

38 “ท่านทั้งหลายได้ยินคำซึ่งกล่าวไว้ว่าตาแทนตาและฟันแทนฟัน39 ฝ่ายเราบอกท่านว่าอย่าต่อสู้คนชั่วถ้าผู้ใดตบแก้มขวาของท่านก็จงหันแก้มซ้าย ให้เขาด้วย 40 ถ้าผู้ใดอยากจะฟ้องศาลเพื่อจะปรับเอาเสื้อของท่านไปก็จงให้เสื้อคลุมแก่เขา เสียด้วย41 ถ้าผู้ใดจะเกณฑ์ท่านให้เดินทางไปหนึ่งกิโลเมตรก็ให้เลยไปกับเขาถึงสอง กิโลเมตร 42 ถ้าเขาจะขอสิ่งใดจากท่านก็จงให้อย่าเมินหน้าจากผู้ที่อยากขอยืมจากท่าน”

หลายคนพยายามอธิบายพระวจนะด้านบนไว้ดังนี้:

  1. เป็นถ้อยคำที่หนักเอาการของพระเยซู
  2. เป็นพระวจนะตอนที่ยากที่สุดในพระคัมภีร์
  3. เกินจริงและเป็นไปไม่ได้
  4. เป็นคำสั่งสำหรับโลกแบบอื่น

คำสอนตรงนี้ของพระเยซูเป็นการเผชิญหน้าในการนำบัญญัติจากพระคัมภีร์มาบิด เบือนและใช้ในทางที่ผิด บัญญัติแห่งการเอาคืน ภาษาลาตินใช้คำว่า “the Lex Talionis” เป็นบัญญัติแห่ง “ชีวิตแทนชีวิต ตาแทนตา ฟันแทนฟัน” ฯลฯ

II. มีคำถามสามข้อ

คำสั่งของพระเยซูในพระวจนะตอนนี้ก่อให้เกิดคำถามหลายข้อที่ต้องนำมาพิจารณา

ข้อแรก – อะไรคือความเกี่ยวข้องกันระหว่างคำสอนของพระเยซูและบัญญัติในพระคัมภีร์เดิมเรื่องตาแทนตา?

ข้อสอง – อะไรคือข้อแตกต่างระหว่างคำสอนของพระเยซู กับผู้นำชาวยิวและประชาชนชาวยิว? พระเยซูตรัสไว้ก่อนหน้าว่าถ้าความชอบธรรมของท่านไม่ยิ่งไปกว่าความชอบธรรม ของพวกธรรมาจารย์และพวกฟาริสี ท่านจะไม่มีวันได้เข้าสู่แผ่นดินสวรรค์ และเรากำลังอยู่ในความเห็นที่ขัดแย้งข้อที่ห้า หรือหลักการที่แตกต่าง “ท่านทั้งหลายได้ยินคำว่า…ฝ่ายเราบอกท่านทั้งหลายว่า” ในคำเทศนาบนภูเขา

ข้อสาม – พระเยซูต้องการสิ่งใดจากสาวกของพระองค์? เป็นคำสอนที่ไกลเกินตัว เกินกว่าที่เราคริสเตียนจะทำได้จริงหรือ? มันผลักดันเราจนเกินขีดของจริยะธรรมหรือ? หรือว่ามันนำเราไปจน “ตกขอบของความเป็นไปได้”?

III. กฎหมายตาแทนตา ในพระคัมภีร์เดิม

ให้เรามาเริ่มจากบัญญัติข้อนี้ในพระคัมภีร์เดิม

ให้ลองนึกภาพตัวเราและครอบครัวย้อนกลับไปมีชีวิตในสมัยที่ไม่มีตำรวจ ไม่มีศาลยุติธรรม ไม่มีอำเภอ สำนักปกครอง หรือรัฐบาลแห่งชาติ – ไม่มีกษัตริย์ หรืออำนาจใดๆปกครองคุณหรือผู้คนรอบข้าง แล้ววันหนึ่งขณะที่คุณดำเนินชีวิตไปตามปกติ คุณได้รับข่าวช็อค เพื่อนบ้านคนหนึ่งของคุณจงใจเข้ามาทำร้ายลูกสาวคุณ ตบหน้าเธอจนฟันหน้าหักไปสี่ซี่ คุณจะทำอย่างไร? ไม่รู้จะไปแจ้งความที่ไหน – ไปร้องหาความยุติธรรมได้ที่ไหน แล้วถ้าสถานการณ์เลวร้ายลง ลูกคุณถูกฆ่าตายล่ะ? แน่นอนคุณต้องเข้าไปจัดการแก้แค้นเอง อาจต้องเสียเลือดเสียเนื้อ บางทีคุณอาจต้องให้ฝ่ายที่ทำร้ายคนของคุณได้รับบาดเจ็บในแบบเดียวกัน บางทีคุณอาจอยากเอาคืนให้สาสมหรือมากกว่าที่เขาทำกับคุณ หลังจากเอาคืนแล้ว อีกฝ่ายอาจรู้สึกว่ามันมากเกินไป และต้องการตอบโต้ ทำให้เกิดวงจรการเอาคืนที่ไม่รู้จบระหว่างฝ่ายคุณและฝ่ายตรงข้าม – กลายเป็นเรื่องแก้แค้นเลือดท่วมจออย่างในหนังที่เราเคยดู

ปฐมกาล 34 บันทึกเหตุการณ์จริงระหว่างครอบครัวของยาโคบ และครอบครัวของเชเคม หลังจากบุตรสาวของยาโคบ ดีนาห์ถูกข่มขืน พวกพี่ชายของดีนาห์ สิเมโอนและเลวี หาทางแก้แค้นโดยหลอกครอบครัวเชเคมให้ทำสุหนัต แล้วเข้าไปจัดการฆ่าผู้ชายทั้งหมดของเชเคม และแน่นอนในปฐมกาล 49:5-7 พระเจ้าทรงไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่พวกเขาทำ

ดังนั้นการบัญญัติกฎแห่งการเอาคืนในธรรมบัญญัติโมเสสสำหรับคนอิสราเอลและ ผู้มีอำนาจ ผมจึงเชื่อว่าเป็นความก้าวหน้าในเรื่องความยุติธรรม ออกแบบมาเพื่อป้องกันการเอาคืนหรือแก้แค้นกันเอง คนที่ถูกทำร้ายหรือญาติพี่น้องของเหยื่อสามารถร้องเรียนต่อผู้มีอำนาจของ อิสราเอลเพื่อขอความเป็นธรรม แต่อะไรคือการลงโทษที่เหมาะสมในกรณีฆาตกรรมหรือทำให้พิการ? ตรงนี้ทำให้ธรรมบัญญัติเข้ามามีบทบาท “ชีวิตแทนชีวิต” “ตาแทนตา” “ฟันแทนฟัน” การลงโทษต้องเหมาะสมกับการกระทำผิด – ไม่มากกว่าความผิดที่ทำลงไป หรือไม่น้อยกว่า เข้มงวดแต่เป็นธรรม และยังถูกออกแบบเพื่อป้องกันและยับยั้งการกระทำผิดนั้นๆด้วย เป็นการยื่นมือเข้าไปจัดการกับผู้ทำผิดแทนเหยื่อหรือครอบครัวของเหยื่อ นำคนทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ถูกออกแบบมาให้เป็นหลักเกณฑ์สำหรับความยุติธรรมที่เหมาะสม ออกแบบมาให้ลงโทษผู้กระทำผิดอย่างเหมาะสมด้วย

แต่มีการบิดเบือนและนำกฎหมายนี้ไปใช้อย่างผิดๆ ทำให้เข้าใจผิดในสมัยนี้พอๆกับเข้าใจผิดในสมัยของพระเยซู – บัญญัติที่ถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันการเอาคืนกันเอง กลับถูกใช้เพื่อไปสร้างความชอบธรรมให้ตนเองและพรรคพวก

การเข้าใจธรรมบัญญัติผิดกล่าวว่า ถ้ามีคนตบหน้าคุณ ก็ให้ตบคืน (เพราะมีบอกไว้ว่า ตาแทนตา และฟันแทนฟัน) ถ้ามีใครมาฟ้องร้องคุณ ฟ้องกลับเลย ถ้าทหารโรมันบังคับให้คุณแบกของไปให้เขาหนึ่งกิโลเมตร อย่าไปยอม สู้เลย พระเยซูกำลังเผชิญหน้ากับการสอนและกรอบความคิดเช่นนี้

ผมขอทำความเข้าใจให้ชัดเจน พระเจ้าต้องการนำการแก้แค้นออกไปจากมือของเรา เราอาจนำไปให้กับผู้ปกครองบ้านเมือง ถ้าเหมาะสม แต่ถ้ายังไม่ได้รับความเป็นธรรม นำไปมอบให้พระเจ้าครับ อย่างที่ อ เปาโลกล่าวไว้ในหนังสือโรม :

อย่าทำชั่วตอบแทนชั่วแก่ผู้หนึ่งผู้ใดเลย แต่จงมุ่งกระทำสิ่งที่ใครๆก็เห็นว่าดี … ดูก่อนท่านผู้เป็นที่รักของข้าพเจ้าอย่าทำการแก้แค้นแต่จงมอบการนั้นไว้แล้ว แต่พระเจ้าจะทรงลงพระอาชญา เพราะมีคำเขียนไว้ในพระคัมภีร์ว่าองค์พระผู้เป็นเจ้าตรัสว่า “การแก้แค้นเป็นของเรา เราเองจะตอบสนอง” (โรม 12:17, 19)

“บัญญัติแห่งการเอาคืน” บ่งไว้ชัดเจนถึงสามครั้งในพระคัมภีร์เดิม

ที่แรกในอพยพ 21:22-25 บัญญัติขึ้นเพื่อช่วยปกป้องสตรีมีครรภ์และบุตรจากการถูกทำร้ายให้บาดเจ็บ หรือถึงตาย เพราะถูกลูกหลงจากพวกผู้ชายที่ต่อสู้กัน

ที่สองในเลวีนิติ 24:17-22 ใช้ในกรณีเกิดการฆ่ากัน หรือตั้งใจทำให้อีกฝ่ายเสียโฉมหรือพิการ สำหรับผม บัญญัติข้อนี้ชัดเจนมากในการตัดสินคดีความ มีบัญญัติบทลงโทษทั้งคดีใหญ่ หรือคดีที่ไม่ถึงตาย

“17 ผู้ที่ฆ่าคนตายจะต้องถูกโทษถึงตาย18 ผู้ที่ฆ่าสัตว์ของเขาจะต้องชดใช้ชีวิตแทนชีวิต 19 ถ้าผู้ใดกระทำให้เพื่อนบ้านเสียโฉมเขากระทำให้เสียโฉมอย่างไรก็ให้กระทำแก่ เขาอย่างนั้น 20 กระดูกหักแทนกระดูกหักตาแทนตาฟันแทนฟันเขากระทำให้เสียโฉมอย่างไรเขาก็ต้อง ถูกทำให้เสียโฉมอย่างนั้น 21ผู้ใดที่ฆ่าสัตว์ของเขาต้องเสียค่าชดใช้และผู้ใดที่ฆ่าคนให้ผู้นั้นถูกโทษ ถึงตาย 22 เจ้าจงมีกฎหมายอย่างเดียวกันสำหรับคนต่างด้าวและสำหรับชาวเมืองเพราะเราคือ พระเยโฮวาห์พระเจ้าของเจ้า” (เลวีนิติ 24:17-22)

มีตัวอย่างบทลงโทษหลายแห่งในพระคัมภีร์เดิม แต่มีอยู่หนึ่งที่ในเรื่องถูกทำให้พิการในหนังสือผู้วินิจฉัย 1:6-7

6 อาโดนีเบเซกหนีไปแต่เขาตามจับได้ตัดนิ้วหัวแม่มือและนิ้วหัวแม่เท้าของ ท่านออกเสีย 7 อาโดนีเบเซกกล่าวว่า “มีกษัตริย์เจ็ดสิบองค์ที่มีหัวแม่มือและหัวแม่เท้าด้วนเก็บเศษอาหารอยู่ใต้ โต๊ะของเราเรากระทำแก่เขาอย่างไรพระเจ้าจึงทรงกระทำแก่เราอย่างนั้น”…

แม้แต่อาโดนีเบเซกที่ถูกตัดนิ้วเท้า ยังตระหนักถึงความยุติธรรมในบทลงโทษ – “นิ้วหัวแม่มือแทนนิ้วหัวแม่มือ – นิ้วหัวแม่เท้าแทนนิ้วหัวแม่เท้า”

ที่สามในเฉลยธรรมบัญญัติ 19:15-21 เป็นการป้องกันเรื่องเบิกพยานเท็จ และใช้ศาลเป็นเครื่องมือลงโทษ หรือกลั่นแกล้งผู้บริสุทธิ์

15 “อย่าให้พยานปากเดียวยืนยันกล่าวโทษผู้หนึ่งผู้ใด ไม่ว่าในเรื่องอาชญากรรม หรือในเรื่องความผิดใดๆซึ่งเขาได้กระทำผิดไป แต่ต้องมีพยานสองหรือสามปาก คำพยานนั้นจึงจะเป็นที่เชื่อถือได้ 16 ถ้ามีพยานกล่าวปรักปรำความผิดของคนหนึ่งคนใด 17 ก็ให้ทั้งสองฝ่ายที่ต่อสู้คดีกันนั้นเข้าเฝ้าพระเจ้า ต่อหน้าปุโรหิตและผู้พิพากษาซึ่งประจำหน้าที่อยู่ในกาลนั้นๆ 18 ผู้พิพากษาจะอุตส่าห์ไต่สวน ถ้าพยานนั้นเป็นพยานเท็จกล่าวปรักปรำพี่น้องของตน เป็นความเท็จ 19 ท่านจงกระทำต่อพยานคนนั้นดังที่เขาตั้งใจจะ กระทำแก่พี่น้องของตน ดังนี้แหละท่านจะกำจัดความชั่วจากท่ามกลางท่านเสีย 20 คนอื่นๆจะได้ยินได้ฟัง และยำเกรงไม่กระทำผิดเช่นนั้นท่ามกลางพวกท่านทั้งหลายอีก 21 อย่าให้นัยน์ตาของท่านเมตตาสงสาร ควรให้ชีวิตแทนชีวิต ตาแทนตา ฟันแทนฟัน มือแทนมือ เท้าแทนเท้า” (เฉลยธรรมบัญญัติ 19:15-21)

อาชญากรรม เจ็ดประเภทที่มีบทลงโทษรุนแรงในพระคัมภีร์เดิม – ผู้เผยพระวจนะเทียมเท็จ – เฉลยธรรมบัญญัติ 13:5 / กราบไหว้รูปเคารพ – เฉลยธรรมบัญญัติ 17:7 / ไม่เชื่อฟังผู้มีอำนาจ – เฉลยธรรมบัญญัติ 17:12 / ดื้อดึงและกบฏ – เฉลยธรรมบัญญัติ 21:21 / หญิงแพศยา – เฉลยธรรมบัญญัติ 22:21 / ล่วงประเวณี – เฉลยธรรมบัญญัติ 22:22-24 / ลักพาตัว – เฉลยธรรมบัญญัติ 24:7 ยังมีกฎหมายเรื่องการโบยตี (เฉลยธรรมบัญญัติ 25:1-4) มีความเป็นไปได้ที่พยานอาจตั้งใจใส่ความเท็จบางคนในข้อหาที่ร้ายแรง และหาทางใช้ระบบศาลเล่นงานผู้บริสุทธิ์ อย่างไรก็ตาม มีสองหนทางป้องกัน 1) พยานปากเดียวไม่เพียงพอสำหรับให้การในศาล ต้องมีอย่างน้อยสองถึงสามปาก และ 2) ต้องมีการสืบสวนอย่างละเอียดโดยปุโรหิตและผู้พิพากษา และถ้าพบว่าพยานนั้นเป็นพยานเท็จเพื่อใส่ร้ายบางคน บทลงโทษที่จะใช้ลงโทษผู้ถูกกล่าวหา จะไปใช้ลงโทษพยานเท็จแทนตามบทบัญญัติแห่งการเอาคืน สำหรับผมนี่คือความชัดเจนเพราะประโยคที่กล่าวว่า “จงปฏิบัติต่อเขาโดยคิดว่าปฏิบัติต่อพี่น้อง” และ “ทั้งนี้เพื่อท่านทั้งหลายจะกำจัดความชั่วเสียจากท่ามกลางท่าน” ซึ่งมักจะปรากฏอยู่ในบริบทของบทลงโทษที่ร้ายแรงในเฉลยธรรมบัญญัติ และยังมีประโยคที่ว่า “อย่าให้นัยน์ตาของท่านเมตตาสงสาร” และ “ควรให้ชีวิตแทนชีวิต”

IV. พระเยซูและบัญญัติตาแทนตา

ให้เรากลับมาที่คำสอนของพระเยซูในมัทธิว 5:38: “ท่านทั้งหลายได้ยินคำซึ่งกล่าวไว้ว่า…” ทำให้เกิดคำถามและข้อโต้แย้งในชุมชนชาวยิวเรื่องธรรมบัญญัติในพระคัมภีร์ เดิม และการตีความของพวกธรรมาจารย์และฟาริสี พระเยซูทรงเปรียบเทียบความต่างจากคำสอนของพระองค์กับที่พวกเขาขยายความออกไป โดยไม่มีในพระคัมภีร์เดิม เรื่องการฆ่าคน “ท่านทั้งหลายได้ยินคำซึ่งกล่าวไว้แก่คนโบราณว่า อย่าฆ่าคน ถ้าผู้ใดฆ่าคน ผู้นั้นจะต้องถูกพิพากษาลงโทษ” (มัทธิว 5:21) “เกลียดชังศัตรู” ใน 5:43 ที่พระเยซูทรงใส่เข้าไปในคำสอนไม่ใช่เพื่อให้รายละเอียดต่างมุมจากผู้นำชาว ยิว แต่เพื่อคำสอนของพระองค์ เนื่องจากผู้ฟังรู้อยู่แล้วว่าเปรียบเทียบกับเรื่องใด ตามที่ผมค้นคว้าจากวรรณกรรมโบราณชาวยิว จริยะธรรมเรื่องการเอาคืนได้รับการสนับสนุนค่อนข้างมาก และเป็นเรื่องท้าทายสำหรับผู้นำศาสนายิว (เช่น ไม่ว่าจะในหรือนอกระบบศาล ต้องมีบทลงโทษสำหรับการกระทำให้ผู้อื่นพิการ อาจชดใช้ได้ด้วยเงิน)

สังเกตดูความต่างระหว่างสามประโยคในพระคัมภีร์เดิม เริ่มต้นที่บอกว่า “ชีวิตแทนชีวิต” ไม่มีการนำมาใช้ แต่กลับเริ่มด้วย “ตาแทนตา” จากที่ชาวยิวสรุปไว้ คือแยกประโยคที่เกี่ยวข้องกับบทลงโทษรุนแรงออกจากบทลงโทษที่ทำให้พิการ บทลงโทษที่ทำให้พิการจึงกลายเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับการแก้แค้นส่วน ตัว

แล้วพระเยซูตรัสเรื่องนี้ไว้อย่างไร? “ฝ่ายเราบอกท่านว่า…” (มัทธิว 5:39) สังเกตสิ่งแรกที่พระเยซูตรัสถึงไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับการทำร้ายถึงชีวิต หรือทำให้พิการ แต่กลับเป็นเรื่องของการดูหมิ่น ความบาดหมาง ความไม่สะดวก และความยุ่งยากรำคาญใจ

พระเยซูตรัสว่า “อย่าต่อสู้คนชั่ว” ซึ่งแปลได้อีกว่าอย่าไปเอาคืนจากคนชั่ว ผมไม่คิดว่าคำตรัสตอนนี้พูดว่าอย่าต่อสู้ความชั่ว (อย่างที่บางฉบับแปล) หรือ “อย่าต่อสู้กับความชั่วร้าย” (หมายถึงมาร) เพราะเท่ากับไม่สอดคล้องกับที่อื่นๆในบริบทนี้ แต่ควรเป็น “คนชั่ว” มากกว่า

พระเยซูหมายความว่าอย่างไร? ใครคือคนชั่ว? ตัวอย่างทั้งสี่ที่ตามมา อธิบายไว้อย่างชัดเจน คนชั่วคือ 1) คนที่ตบหน้าคุณ 2) คนที่ฟ้องปรับเอาเสื้อคุณ 3) คนที่สั่งให้คุณเดินแบกของไปหนึ่งไมล์ 4) คนที่ขอยืมจากคุณ

จะเห็นมุมมองที่เปลี่ยนไปในคำตรัสของพระเยซู เทียบกับธรรมบัญญัติในพระคัมภีร์เดิม ในพระคัมภีร์เดิมบอกว่าผู้พิพากษาควรทำอย่างไรกับผู้กระทำผิดร้ายแรงที่ถึง ชีวิตหรือพิการ พระเยซูทรงมีมุมมองที่แตกต่าง พระองค์ตรัสในประเด็นว่าเราควรทำอย่างไรถ้าถูกดูหมิ่น หรือบาดหมางกับบางคน ในมุมมองของผม พระเยซูไม่ได้ตรัสว่าศาลหรือผู้ปกครองควรทำอย่างไร แต่สาวกควรทำอย่างไรเมื่อถูกดูหมิ่น หรือมีเรื่องบาดหมางกับผู้อื่น

สาวกควรทำอย่างไรครับ? ไม่ต่อสู้ ไม่เอาคืน? ใช่ครับ แต่พระเยซูทรงเรียกสาวกของพระองค์ให้ทำเกินกว่าแค่ตอบสนองเชิงบวก พระองค์ทรงให้เราทำในสิ่งที่บวกๆ 1) หันแก้มอีกข้างให้ 2) แถมเสื้อคลุมให้ด้วย 3) เดินเพิ่มไปให้อีกหนึ่งไมล์ 4) ให้แก่ผู้ที่ขอยืมหรือขอจากท่าน นี่เป็นตัวอย่างสี่แบบในชีวิตจริงจากศตวรรษที่หนึ่ง ในสถานการณ์ความขัดแย้งและท่าทีที่ควรตอบสนอง ให้เรามาดูในรายละเอียด

ตัวอย่างที่ 1: ถ้าผู้ใดตบแก้มขวาของท่าน ผมไม่ได้หมายถึงคนที่ถนัดซ้ายนะครับ ลูกชายคนเล็กของผมก็ถนัดซ้าย แต่ตัวอย่างของพระเยซูเจาะจงไปคนตบที่ถนัดขวา ถ้าคุณถนัดขวา และต้องตบบางคนที่แก้มขวา คุณจะทำอย่างไร? คุณต้องตบด้วยหลังมือ สำหรับคนยิวการตบด้วยหลังมือสองครั้งเป็นการดูหมิ่นพอๆกลับตบด้วยฝ่ามือ

ถ้ามันเกิดขึ้นกับคุณ ขณะที่คุณกำลังใช้ชีวิตไปตามปกติ มีคนเดินเข้ามา แล้วตบหน้าคุณด้วยหลังมืออย่างไม่เป็นธรรม สัญชาติญาณแรกของคุณคือตบกลับ ภาษาพื้นๆคือ “ตบแทนตบ” รับไบชาวยิวมีกฎที่พูดกันมาปากต่อปากที่เรียกว่ามิชนาห์ บอกว่า คุณไปหาทางเอาคืนที่ในศาล พวกที่ทำการดูหมิ่นคุณอาจต้องจ่าย 200 ซุซ (หน่วยเงิน) สำหรับตบด้วยฝ่ามือ และ 400 สำหรับตบด้วยหลังมือ ในวัฒนธรรมแบบนั้น คุณสามารถนำเรื่องไปขึ้นศาลเพื่อเรียกค่าเสียหายได้

แต่จำได้หรือไม่ พระเยซูทรงแสดงให้เห็นความแตกต่างในระบอบความชอบธรรมของพระองค์กับพวกธร รมาจารย์และฟาริสี เราต้องไม่ตบเอาคืน ไปฟ้องศาล หรือเดินหนีไป หรือแม้แต่ยืนร้อง “แกมาทำแบบนี้ทำไม?” – พระเยซูไม่ได้สอนแบบนี้ แต่ทรงสอนให้ทำอย่างสมัครใจ หันแก้มอีกข้างให้ตบ… น่าทึ่งนะครับ!

ตัวอย่างที่ 2: ถ้าผู้ใดอยากจะฟ้องศาล เพื่อจะปรับเอาเสื้อของท่านไป เราคงสงสัยว่ามีการฟ้องร้องเอาเสื้อด้วยหรือ? คงยากที่จะเข้าใจ ถ้าไม่ย้อนกลับไปดูปูมหลังจากพระคัมภีร์เดิม มาดูกันสักสองตอน

ตอนแรกอยู่ในอพยพ 22:25-27:

“25 “ถ้าเจ้าให้ประชากรของเราคนใดที่เป็นคนจน และอยู่กับเจ้ายืมเงินไป อย่าถือว่าตนเป็นเจ้าหนี้ และอย่าคิดดอกเบี้ยจากเขา 26 ถ้าเจ้าได้รับเสื้อคลุมของเพื่อนบ้านไว้เป็นของประกัน จงคืนของนั้นให้เขาก่อนตะวันตกดิน 27 เพราะเขาอาจมีเสื้อคลุมตัวนั้นตัวเดียว เป็นเครื่องปกคลุมร่างกาย มิฉะนั้นเวลานอนเขาจะเอาอะไรห่มเล่า เมื่อเขาทูลร้องทุกข์ต่อเรา เราจะสดับฟังเพราะเราเป็นผู้มีเมตตากรุณา” (อพยพ 22:25-27)

ตอนที่สองอยู่ในเฉลยธรรมบัญญัติ 24:10-13:

“10 เมื่อท่านทั้งหลายให้พี่น้องขอยืมสิ่งใด อย่าเข้าไปในเรือนของเขาและเอาสิ่งที่เขาใช้เป็นประกัน 11 ท่านจงยืนอยู่ภายนอก และคนที่ยืมนั้นจะนำของประกันออกมาให้ท่านเอง 12 ถ้าเขาเป็นคนยากจน อย่าเอาของประกันนั้นเก็บไว้จนข้ามคืน 13 เมื่อดวงอาทิตย์ตกท่านจงเอาของนั้นมาคืนให้เขา เพื่อเขาจะมีของคลุมตัวเมื่อเวลานอน และอวยพรแก่ท่าน นี่จะเป็นความชอบธรรมแก่ท่าน เฉพาะพระเยโฮวาห์พระเจ้าของท่าน” (เฉลยธรรมบัญญัติ 24:10-13)

ภายใต้ธรรมบัญญัติเรื่องการขอยืม คนยากจนที่ยืมเงินสามารถนำเสื้อผ้ามาค้ำประกันเพื่อให้แน่ใจว่าจะจ่ายหนี้ คืน เป็นเรื่องปกติในยุคนั้นที่ผู้คนจะสวมเสื้อคลุมบางๆตัวใน และมีเสื้อคลุมหนาตัวนอกเมื่ออากาศหนาว แล้วทำไมถึงนำเสื้อพวกนี้มาเป็นของค้ำประกัน? เพราะถ้าผู้ขอยืมยากจน นั่นอาจเป็นสิ่งเดียวที่เขามี และถ้าตกกลางคืนอากาศเย็น เพราะในทะเลทรายบางช่วงเวลาอากาศจะเย็นลงตอนกลางคืน ดังนั้นในพระคัมภีร์เดิมจึงให้มีการคืนเสื้อคลุมให้กับลูกหนี้ที่ยากจน ตอนกลางคืนทุกคืน สมมุติว่าคนจนขอยืมไปเป็นเวลา 30 วัน (เวลายืมเงินในสมัยนั้นสั้นกว่าสมัยนี้) จะไม่มีการคิดดอกเบี้ย และของที่ยึดไว้ เสื้อคลุมจะต้องถูกเปลี่ยนมือระหว่างผู้ยืมและผู้ให้ยืมทุกวัน วันละสองครั้งเป็นเวลา 30 วัน ผู้ให้ยืมไม่มีสิทธิเข้าไปในบ้านของผู้ยืม และต้องคืนเสื้อคลุมให้ทุกคืน ผู้ยืมต้องนำเสื้อคลุมไปคืนให้ผู้ให้ยืมทุกเช้าจนกว่าจะใช้หนี้ครบ

แต่ถ้าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดละเมิดข้อตกลง? ถ้าผู้ให้ยืมมาหาที่หน้าบ้าน มาขอเสื้อคลุมจากผู้ยืมแล้วถูกปฏิเสธ? ถ้าคนยากจนนั้นรู้สึกว่าได้ใช้หนี้คืนครบถ้วนแล้ว ไม่จำเป็นต้องให้เสื้อคลุมไปเป็นประกันอีก กฎหมายและระบอบศาลต้องเข้ามามีบทบาท พวกฟาริสีได้ทำรายละเอียดกฎเกณฑ์สำหรับใช้ในศาลเพื่อเป็นเครื่องมือจัดการ กับปัญหา

แต่พระเยซู กลับตรัสถึงเรื่องนี้ในอีกรูปแบบ “ถ้าผู้ใดอยากจะฟ้องศาล เพื่อจะปรับเอาเสื้อของท่านไป ก็จงให้เสื้อคลุมแก่เขาเสียด้วย” พระองค์ ไม่ได้บอกว่าให้ฟ้องร้องเอาคืน ไม่ได้บอกว่าไปให้ศาลตัดสินพิสูจน์ว่าคุณไม่ผิด พระองค์ไม่ได้แม้จะตรัสว่า จะผิดจะถูกก็ให้ๆเสื้อคลุมเขาไป ถึงแม้ในเฉลยธรรมบัญญัติจะบอกว่าให้คืนไปตามที่ธรรมบัญญัติระบุไว้ แค่นั้นพอ แต่พระเยซูตรัสว่า ให้เขาไปทั้งเสื้อตัวนอกและตัวใน … น่าทึ่งนะครับ

ในมุมมองของผม พระเยซูไม่เพียงแต่ตั้งมาตรฐานความชอบธรรมที่ต่างจากของพวกธรรมาจารย์และฟา ริสี แต่พระองค์ทรงให้มาตรฐานที่เกินกว่าที่กำหนดไว้ในธรรมบัญญัติโมเสส พระองค์ไม่ได้ขัดแย้ง แต่ก็ไม่เหมือน อย่างที่นักเขียนท่านหนึ่งเขียนไว้ คำสอนของพระเยซูลงลึกไปกว่าช่องทางธรรมดา

ตัวอย่างที่ 3: ถ้าผู้ใดจะเกณฑ์ท่านให้เดินทางไปหนึ่งกิโลเมตร ประวัติศาสตร์เบื้องหลังของเรื่องนี้คือ ในกฎหมายของโรมัน ทหารโรมันสามารถใช้คนในประเทศที่เป็นเมืองขึ้นให้แบกห่อของ หรือของหนักเดินไปเป็นระยะทางหนึ่งกิโลเมตร เป็นข้อบังคับทีไม่มีใครชอบ เกลียดด้วยซ้ำ ถ้าทำก็ทำอย่างชิงชังรังเกียจ พวกธรรมจารย์และฟาริสีเกลียดกฎเกณฑ์นี้มาก เพราะเป็นอำนาจมาจากผู้ครอบครอง มีตัวอย่างจากในพระคัมภีร์ใหม่ในมัทธิว 27:32 เรื่องการแบกของซึ่งซีโมนชาวไซรีนถูกบังคับให้ทำ “ครั้นออกไปแล้วได้พบชาวไซรีนคนหนึ่งชื่อซีโมน จึงเกณฑ์ให้แบกกางเขนของพระองค์ไป”

ในสมัยนั้นชาวยิวหลายคนเกลียดการปกครองของโรมันมาก ในปี ค.ศ. 66/67 พวกเขาลุกขึ้นมาต่อต้านอย่างรุนแรง แต่ก็ถูกเอาคืนอย่างสะบักสะบอมจนถึงชีวิต พระวิหารถูกทำลาย พวกเขาอยากได้พระเมสซิยาห์ในแบบของยูดาส แมคคาบีส์ ที่จะมาโค่นอำนาจโรมันลง ตั้งอิสราเอลขึ้นเป็นเอกราชอีกครั้ง นำการฟืนฟู ความหวังและกำลังใจคืนกลับประเทศ สิ่งนี้คงทำให้คำสอนของพระเยซูเรื่องข้อบังคับของโรมันยิ่งแปลกประหลาดและ เสียดแทงใจผู้ฟังไม่ใช่น้อย

สมมุติว่าทหารโรมันมาเจอคุณแล้วสั่งว่าแบกกล่องนี้ให้ฉันสักหนึ่งไมล์ คุณจะทำอย่างไร?

  1. ตอบโต้ทันที ใช้กำลังต่อสู้ขัดขืน?
  2. ต่อต้าน พูดปฏิเสธ แล้ววิ่งหนีไป?
  3. ยอมทำตามเท่าที่กฎหมายกำหนด แบกไปหนึ่งกิโลเมตร ไม่มากหรือน้อยกว่า? อาจจะบ่นพึมพำไปตลอดทาง
  4. แต่พระเยซูไม่ได้สอนแบบนี้เลย พระองค์ตรัสว่า “ก็ให้เลยไปกับเขาถึงสองกิโลเมตร” … น่าทึ่งอีกครั้งครับ

ถ้าผมจะถามขึ้นมาว่า “ทหารโรมันจะตอบสนองอย่างไรเมื่อได้เห็นการกระทำที่เป็นคำพยานทรงพลังจากสาวกของพระเยซู?”

ตัวอย่างที่ 4: ถ้าเขาจะขอสิ่งใดจากท่าน พระวจนะในพระคัมภีร์เดิม เฉลยธรรมบัญญัติ 15:7-10 เป็นที่มาเบื้องหลังคำสอนของพระเยซู :

7 “ถ้าในท่ามกลางท่านทั้งหลายมีคนจนสักคนหนึ่งเป็น พี่น้องของท่านอยู่ในเมืองใดๆ ในแผ่นดินซึ่งพระเยโฮวาห์พระเจ้าของท่านประทานแก่ท่าน ท่านอย่ามีใจแข็ง หดมือของท่านไว้เสียต่อหน้าพี่น้องของ ท่านที่ยากจนนั้น 8 แต่ท่านทั้งหลายจงยื่นมือของท่านให้เขา และให้เขายืมข้าวของพอแก่ความต้องการของเขา ไม่ว่าเป็นข้าวของสิ่งใดๆ …10 ท่านจงให้เขาด้วยเต็มใจ และเมื่อให้เขาแล้วอย่ามีจิตคิดเสียดาย ในกรณีนี้พระเยโฮวาห์พระเจ้าของท่านจะทรงอำนวยพระพรแก่ท่าน ในบรรดากิจการทั้งสิ้นของท่านไม่ว่าท่านจะกระทำสิ่งใด (เฉลยธรรมบัญญัติ 15:7-10)

ในพระคัมภีร์เดิม มีคำสอนเกี่ยวกับการยืมและการให้แก่ผู้ที่มีความจำเป็น พวกธรรมาจารย์และฟาริสีก็ทำด้วย แต่ส่วนใหญ่แล้วเต็มไปด้วยระเบียบกฎเกณฑ์ที่ต้องมีการใช้คืนให้ได้ แต่สำหรับคำสอนของพระเยซูในเรื่องนี้ตามที่ลูกาบันทึกให้ข้อมูลเพิ่มเติม

“34 ถ้าท่านทั้งหลายให้ยืมเฉพาะแต่ผู้ที่ท่านหวังจะได้คืนจากเขาอีก จะทรงนับว่าเป็นคุณอะไรแก่ท่าน ถึงแม้คนบาปก็ยังให้คนบาปยืม โดยหวังว่าจะได้รับคืนจากเขาเท่ากัน 35 แต่จงรักศัตรูของท่านทั้งหลาย และทำการดีต่อเขา จงให้เขายืมโดยไม่หวังที่จะได้คืนอีก บำเหน็จของ ท่านทั้งหลายจึงจะมีบริบูรณ์ และท่านทั้งหลายจะเป็นบุตรของพระเจ้าสูงสุด เพราะว่าพระองค์ยังทรงโปรดแก่คนอกตัญญูและคนชั่ว” (ลูกา 6:34-35)

กุญแจสำคัญของวลีนี้คือ “ไม่หวังที่จะได้คืน” พูดอีกแบบคือ ให้ยืมแก่ผู้ที่มีความจำเป็น แต่อย่าคาดหวังจะได้รับเงินคืน ถ้าผู้นั้นไม่สามารถหรือไม่ยอมจ่ายคืน ให้คิดเสียว่าเป็นของขวัญให้เขา คุณว่าบริษัทไฟแนนซ์จะจ้างพระเยซูเข้าทำงานมั้ยครับ?

แล้วเราควรจะทำอย่างไร? ยอมถังแตกเพราะทำตามที่ผู้อื่นขอ? คำแนะนำเดียวที่ผมให้ได้คือคำสอนนี้มีไว้สำหรับพี่น้องที่มีความจำเป็น

สมมุติถ้าเรารู้ว่าบางคนในคริสตจักรตกงาน แล้วมาขอยืมเงิน เราจะทำอย่างไร?

  1. เราอาจพูดว่า “ไม่ได้” เราอาจคิดว่า “ทำไมมาวุ่นวายกับเรา?”
  2. เราอาจพูดว่า “โอเค” แต่ทำสัญญาที่รัดกุมในเรื่องคืนหรือไม่คืนเงิน ยิ่งทำให้พี่น้องคนนั้นเป็นหนี้มากขึ้นไปอีก
  3. หรือเราอาจพูดว่า “ได้” ขอให้จ่ายคืนละกัน แต่ถ้าคืนไม่ได้ ต้องมีทัศนคติตามที่พระเยซูตรัส “ไม่หวังที่จะได้คืน” …น่าทึ่งอีกแล้วครับ

แต่อาจมีคนพูดว่า “ยังไม่เคยถูกใครตบหน้าด้วยหลังมือ มาฟ้องเอาเสื้อคลุม บังคับให้แบกของไปหนึ่งกิโลเมตร หรือเดือดร้อนจนต้องมาขอยืมเงิน” แต่ประเด็นคือนี่เป็นตัวอย่างของสถานการณ์ที่ทำให้ขุ่นเคืองใจ คุณต้องนึกถึงสถานการณ์ที่ทำให้คุณรำคาญหรือขุ่นเคืองใจ แล้วนำหลักการนี้มาใช้ ไม่เพียงแต่ไม่เอาคืน แต่ทำให้มากกว่านั้นโดยเป็นพระพรแก่ผู้ที่ทำให้คุณขุ่นเคืองใจ

ขอยกตัวอย่างที่ทันสมัยกว่านี้ เป็นเรื่องเชิงลบ วันหนึ่งเมื่อหลายปีที่แล้ว เพื่อนร่วมห้องและผมขับรถไปวอชิงตัน ดีซี กัน ออกจากที่ทำงานขับไปบนทางหลวงสี่เลนช่วงบ่ายที่รถคับคั่ง เพื่อนเป็นคนขับ เราใช้รถฟอร์ด ทันเดอร์เบิร์ดคันใหญ่สมัยปี 1970 การจราจรค่อนข้างแย่ แต่ก็ไปได้เรื่อยๆประมาน 20-30 ไมล์ต่อชั่วโมง จู่ๆก็มีรถซิ่งมาข้างๆแล้วเบียดเข้ามาตัดหน้าเรา เพื่อนผมเหยียบเบรกแทบไม่ทัน ดีที่เข็มขัดดึงเราไว้ไม่ให้หน้ากระแทก เราปลอดภัย รถก็ไม่ได้ชนใคร พอหายตกใจ ผมมองไปที่เพื่อน เห็นใบหน้าเขาเริ่มคุ้มคลั่ง ก่อนจะรู้ตัวเขากระแทกคันเร่งพุ่งไปข้างหน้า ตามรถคันนั้นไป และเริ่มมีการขับไล่กันไปมาบนถนน ไม่กี่นาทีจากนั้น เพื่อนผมแซงขึ้นไปแล้วหักรถเข้าไปตัดหน้า ผมต้องบอกให้เขาหยุด กลัวว่าจะเกิดอุบัติเหตุ แล้วเราจะเจ็บตัว

เมื่อเราต้องเผชิญสถานการณ์แบบนี้ เมื่อเราถูกดูหมิ่น ทำให้หัวเสีย เรามีสองตัวเลือก: ทำให้สถานการณ์รุนแรงขึ้นไป หรือเราลดทอนความขัดแย้งลงมา เราอาจเป็น “ผู้หว่านการวิวาท” หรือ “ผู้สร้างสันติ” พระเยซูตรัสในคำเทศนาบนภูเขาว่า “บุคคลผู้ใดสร้างสันติ ผู้นั้นเป็นสุข เพราะว่าพระเจ้าจะทรงเรียกเขาว่าเป็นบุตร” (มัทธิว 5:9) เราจะเป็นผู้สร้างสันติเมื่อเราลดทอนความขัดแย้งลงมา และขยายขอบเขตแห่งพระพรออกไป

เมื่อเราหันแก้มอีกข้างให้ เราก็เป็นผู้สร้างสันติ

เมื่อเราทำดีเกินกว่าที่บัญญัติไว้ เราก็เป็นผู้สร้างสันติ

เมื่อเราเดินเพิ่มให้อีกหนึ่งกิโล เราก็เป็นผู้สร้างสันติ

เมื่อเราให้แก่พี่น้องที่เดือดร้อน เราก็เป็นผู้สร้างสันติ

สำหรับผมและพวกเรา ความยากในการนำคำสอนของพระเยซูมาใช้คือการกำหนดขอบเขตความพอเหมาะ มีอีกหลายสถานการณ์ที่สามารถนำหลักการนี้ไปใช้ เพียงแต่เราไม่อยากทำ หรือทำเฉพาะที่สะดวกกายสบายใจ เราควรนำหลักการนี้ไปใช้ในคริสตจักรหรือไม่? เปโตรนำคำสอนของพระเยซูมาใช้ในความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องในพระคริสต์ ท่านกล่าวว่า :

8 ในที่สุดนี้ ท่านทั้งหลายจงเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เห็นอกเห็นใจกัน รักกันฉันพี่น้อง มีจิตใจอ่อนโยนและอ่อนน้อม 9 อย่าทำการร้ายตอบแทนการร้าย อย่าด่าตอบการด่า แต่ตรงกันข้ามจงอวยพรแก่เขา ด้วยว่าพระองค์ได้ทรงเรียกให้ท่านกระทำเช่นนั้น เพื่อท่านจะได้รับพระพร (1เปโตร 3:8-9)

ขอแตะเข้าไปในพื้นที่หนึ่งที่ผมรู้สึกว่าไม่ค่อยมีการนำไปใช้เท่าไร ในประวัติศาสตร์ และในบางคริสตจักรสมัยนี้ คำสอนนี้ถูกนำไปใช้เพื่อโต้แย้งเรื่องความสงบสุขของบ้านเมืองเมื่อเกี่ยวกับ สงคราม หรือบทลงโทษที่รุนแรง ทำให้รู้สึกว่าเราควรมองไปที่ผู้ฟังของพระเยซูในตอนนั้น พระองค์ไม่ได้ตรัสกับผู้ปกครองโรมัน หรือแม้แต่เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายชาวยิว ดูมัทธิว 5:1 เมื่อพระเยซูประทับแล้ว “เหล่าสาวก” ของพระองค์มาเฝ้าพระองค์ เป็นคำสอนว่าสาวกของพระองค์ควรทำอย่างไรเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ต่างๆ เหล่านี้เป็นส่วนตัว เป็นยิ่งกว่าการกระทำที่พลิกกลับด้าน เพื่อละลายความขัดแย้ง นอกจากนั้นยังเป็นการนำพระพรไปสู่คู่กรณีด้วย

V. บทสรุป

นี่เป็นคำสอนที่ยากเอาการของพระเยซูหรือ? ใช่ครับ ทำได้ยากมาก แต่สำหรับสาวกของพระองค์ ไม่เกินขอบเขตความสามารถหรอกครับ

ผมอยากจะจบบทเรียนนี้โดยสะท้อนให้เห็นความจริงว่า พระเยซูทรงดำเนินชีวิตตามที่พระองค์สอน ซึ่งเราเห็นได้เด่นชัด ไม่ว่าเมื่อถูกจับกุม ถูกไต่สวน หรือแม้กระทั่งถูกนำไปตรึงกางเขน

เมื่อถูกจับกุม ยูดาส หนึ่งในสาวกสิบสองคน ได้เข้าไปหาพระเยซูพร้อมกับทหารโรมัน พระเยซูไม่ได้ตรัสว่า “แก ไอ้คนสกปรก ขี้โกง ทรยศหักหลัง” พระองค์กลับตรัสว่า “สหายเอ๋ย มาที่นี่ทำไม?” เปโตรก็พร้อมเข้าไปขัดขวาง ชักดาบออกมาฟันหูทาสของมหาปุโรหิต แต่พระเยซูทรงปรามไว้ ตรัสว่าบรรดาผู้ถือดาบจะต้องพินาศเพราะดาบ และทรงต่อหูคืนให้ทาสผู้นั้น พระเยซูไม่ได้ต่อสู้คนชั่ว (มัทธิว 26:47-57)

ก่อนการไต่สวน พวกทหารเอามือมาตบพระองค์ เยาะเย้ยว่า “จงเผยให้เรารู้ว่าใครตบเจ้า” (มัทธิว 26:28) ตามที่อิสยาห์ทำนายถึงพระองค์ “ข้าพเจ้า หันหลังให้แก่ผู้ที่โบยตีข้าพเจ้า และหันแก้มให้แก่คนที่ดึงเคราข้าพเจ้าออก ข้าพเจ้าไม่หนีหน้า จากความอายแก่การถ่มน้ำลายรด” (อิสยาห์ 50:6) พระเยซูทรงหันแก้มให้ผู้ที่ตบพระองค์

ที่ไม้กางเขน พระเยซูทรงยอมให้พวกทหารมาเอาเสื้อทั้งสองของพระองค์ไป ยอห์นเขียนว่า :

23 ครั้นพวกทหารตรึงพระเยซูไว้ที่กางเขนแล้ว เขาทั้งหลายก็เอาฉลองพระองค์มาแบ่งออกเป็นสี่ส่วนให้ทหารคนละส่วน เว้นแต่ฉลองพระองค์ชั้นใน ฉลองพระองค์ชั้นในนั้นไม่มีตะเข็บ ทอตั้งแต่บนตลอดล่าง 24 เหตุฉะนั้นเขาจึงปรึกษากันว่า “เราอย่าฉีกแบ่งกันเลย แต่ให้เราจับฉลากกันจะได้รู้ว่าใครจะได้” ทั้งนี้เพื่อให้เป็นจริงตามข้อพระธรรมที่ว่า “เสื้อผ้าของข้าพระองค์ เขาก็แบ่งกัน ส่วนเสื้อของข้าพระองค์ เขาจับฉลากกัน” (ยอห์น 19:23-24)

พระองค์ทรงยอมให้เสื้อเขาไปทั้งสองตัว

และท้ายที่สุด ที่บนกางเขน ผู้คนต่างก็ร้องตะโกนเหยียดหยามพระเยซู ถ้าเป็นบุตรของพระเจ้า “ถ้าเขาเป็นพระคริสต์ของพระเจ้าที่ทรงเลือกไว้ ให้เขาช่วยตัวเองเถิด” แต่แทนที่จะตอบโต้ พระเยซูกลับทูลขอพระเจ้าว่า “โอพระบิดาเจ้าข้า ขอโปรดอภัยโทษเขาเพราะว่า เขาไม่รู้ว่า เขาทำอะไร” (ลูกา 23:34)


1 185ลิขสิทธิ์ ของ Copyright 2003 by Community Bible Chapel, 418 E. Main Street, Richardson, TX 75081 ปรับจากต้นฉบับเดิมบทเรียนที่ 23 ของบทเรียนต่อเนื่องพระกิตติคุณมัทธิว จัดทำโดย เจมส์ เอฟ ดาวิส 3 สิงหาคม 2003

2 186 รวบรวมจากรายงานข่าวที่เกี่ยข้อง 10 มิถุนายน 2003

3 187เรื่องเล่าจากการประชุมภาคพื้นตะวันตกเฉียงใต้ของสมาคม Evangelical Theological Society in Dallas, Texas, มีนาคม 2002

4 188 พระวจนะภาษาอังกฤษส่วนใหญ่นำมาจากฉบับแปล The Holy Bible, New King James Version. Copyright 1979, 1980, 1982 by

Related Topics: Law, Love

Report Inappropriate Ad