MENU

Where the world comes to study the Bible

10. "บุคคลผู้ใดโศกเศร้า ผู้นั้นเป็นสุข” (มัทธิว 5:4)

Related Media

1คำนำ

ต้อง ขอสารภาพว่าผมมีความกลัวแบบเด็กๆในเรื่องความตายตอนยังไม่เชื่อพระเจ้า ตายายของผมมีบ้านอยู่ตรงข้ามสุสานใหญ่ของเมือง เวลาไปเยี่ยมพวกท่านผมไม่กล้ามองไปที่สุสาน แอบสงสัยว่าที่ฝั่งตรงข้ามมันเป็นอย่างไร แต่ความเป็นจริง ผมก็เหมือนคนส่วนใหญ่ ไม่ชอบความโศกเศร้า ตอนอยู่ชั้นมัธยม ครูที่เป็นคริสเตียนตายลงกระทันหัน ผมถูกเลือกให้เป็นตัวแทนของห้องไปงานศพ ผมทำตัวไม่ถูก ยังทำท่าคึกคะนอง เพราะไม่รู้วิธีรับมือกับความโศกเศร้า นี่เป็นหนึ่งในวิธีหลีกเลี่ยงบางสิ่งที่พระคัมภีร์บอกเราต้องหัดรับมือและ ต้องฝึกฝน

บทเรียนตอนนี้เป็นคำเทศนาบนภูเขาของมัทธิว 4:5 "บุคคลผู้ใดโศกเศร้า ผู้นั้นเป็นสุข เพราะว่าเขาจะได้รับการทรงปลอบประโลม”2 จะเป็นไปได้อย่างไรที่ผู้โศกเศร้าจะเป็นสุข และจะได้รับการปลอบประโลม? นี่เป็นข่าวดีที่พระกิตติคุณมอบให้ นี่เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำไมหลายปีมานี้ผมพูดซ้ำๆว่าอยากประกอบพิธีไว้อาลัย มากกว่าพิธีแต่งงาน เพราะความเป็นจริง นอกจากข่าวประเสริฐแห่งพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์แล้ว การปลอบประโลมที่แท้จริงไม่เคยมี เราจึงเข้าสู่บทเรียนนี้ด้วยความมั่นใจว่ามีการปลอบประโลมรอเราแน่นอน และการปลอบประโลมนี้เกี่ยวข้องกับพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ จะเป็นการดีที่เราเริ่มต้นด้วยคำถาม “คำว่าโศกเศร้าในพระคัมภีร์หมายถึงอะไร?” ลองมาดูตัวอย่างความโศกเศร้าที่มีอยู่ในพระคัมภีร์

ในหนังสือปฐมกาล เราพบเรื่องความโศกเศร้าเพราะความตายค่อนข้างมาก และไม่ใช่เรื่องน่าประหลาด เพราะเมื่อพระเจ้าห้ามอาดัมและเอวากินผลจากต้นไม้ต้องห้าม (เอวาก่อนแล้วส่งต่อให้อาดัม) พระองค์ตรัสว่าวันใดก็ตามที่เจ้ากิน เจ้าต้องตายแน่ หนังสือปฐมกาลจึงมีแต่เรื่องของความตาย และแน่นอนความโศกเศร้าที่เกิดเพราะความตาย ในปฐมกาล 23 อับราฮัมโศกเศร้าต่อการจากไปของซาราห์ ยาโคบเองก็โศกเศร้าเพราะคิดว่าโยเซฟลูกชายตายไปแล้ว – ถึงโยเซฟยังไม่ตาย แต่ยาโคบก็โศกเศร้าเพราะการสูญเสีย ชาวอียิปต์โศกเศร้าเมื่อยาโคบตายลง และดาวิดใน 2ซามูเอล1 คร่ำครวญเพราะการจากไปของซาอูลและเพื่อนรักของท่านโยนาธาน เราพบความโศกเศร้าเพราะความตายอยู่ในพระคัมภีร์ตลอดทั้งเล่ม แต่ไม่ใช่ความตายเรื่องเดียว ตัวอย่างเช่น เมื่ออับซาโลมฆ่าคนแล้วหนีจากอิสราเอลไปเพราะกลัวความผิด ดาวิดก็เศร้าเสียใจต่อการจากไปของลูก

ในกันดารวิถี 14:39 เมื่อชาวอิสราเอลไปถึงคาเดชบาร์เนีย และไม่ยอมเข้าไปยึดครองดินแดนนั้น พระเจ้าจึงให้พวกเขาแก่ตายก่อนได้เข้าสู่แผ่นดินพันธสัญญา ประชาชนก็โศกเศร้านัก คร่ำครวญเพราะสูญเสียพระพรที่กำลังจะตกอยู่ในมือไปต่อหน้าต่อตา พวกเขาโศกเศร้าและคร่ำครวญ จำได้หรือไม่การคร่ำครวญแบบนี้ไม่ได้ส่งผลดีอะไร เพราะพวกเขาพยายามเข้าไปกันเองและในที่สุดก็พ่ายแพ้

ในสดุดี 119:136 ผู้เขียนสดุดีคร่ำครวญเพราะความบาปของประชากรของพระเจ้า กล่าวว่า ข้าพระองค์น้ำตาไหลพรั่งพรู เพราะคนไม่ปฏิบัติตามพระธรรมของพระองค์” ในหนังสือโฮเชยา 4:3 บอกเราว่าแผ่นดินเป็นทุกข์เพราะความบาปของอิสราเอล และผลของบาปนั้นก็ตกแก่แผ่นดินพวกเขาเอง มีตัวอย่างอีกนับไม่ถ้วน และในพระวจนะที่ต่อๆมาจากปฐมกาล ความโศกเศร้ามุ่งไปที่การสูญเสียผู้เป็นที่รัก (เพราะความตาย) จนถึงโศกเศร้าที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับความบาปและผลที่ตามมา ให้เราพยายามหาความหมายโดยมองไปที่องค์ประกอบที่ก่อให้เกิดความโศกเศร้า

1) ความโศกเศร้าเป็นการตอบสนองทางอารมณ์ ที่ต้องทำคือเข้าไปอ่านพระวจนะ สำหรับพวกเราในสังคมและวัฒนธรรมที่ไม่แสดงออกมาก เห็นได้ไม่ชัดเท่ากับวัฒนธรรมอื่นๆ วัฒนธรรมทางตะวันออกในยุคพระคัมภีร์ การคร่ำครวญบางทีดูเกินจริง ดูมากเกินถึงขนาดจ้างนางร่ำไห้มาร้องคร่ำครวญ ยังมีที่อื่นๆในโลกที่ยังทำแบบนี้อยู่ และถ้าดูภาพข่าวเหตุการณ์ในตะวันออกกลาง เราเห็นคนร่ำไห้เพราะสูญเสียคนในครอบครัว โดนระเบิดหรือโศกนาฏกรรมอื่นๆ เราเห็นแต่อาการภายนอกที่พวกเขาแสดงออกถึงความเสียใจอย่างที่สุด ที่พูดขึ้นมาเพราะพวกเราบางคนอาจไม่คิดเยอะ แต่ผมอยากจะบอกว่าสำหรับครอบครัวของผม ไม่มีใครพูดได้ว่า “ผู้ชายไม่ควรร้องไห้”

จำได้ตอนที่ลูกชายของเราตาย พ่อของผมออกไปที่สนามแล้วเอาแต่เข็นรถตัดหญ้าไปมา ท่านเข็นไปจนทั่วสนามหลังบ้านเพราะต้องการปลดปล่อยความเศร้าโศก แต่นี่ไม่ใช่อารมณ์เศร้าโศกในแบบเดียวกับที่เรามักพบในพระคัมภีร์ นี่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ของเรา ไม่ใช่สติปัญญา แต่เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับอารมณ์ที่อ่อนไหวที่สุด ไม่ใช่ความพยายามที่จะผ่านไปให้ได้ ไม่ใช่สิ่งที่เราหาทางชดเชย ความโศกเศร้าในความเป็นจริง คือความเสียใจที่ลึกที่สุด เราจะสัมผัสได้เมื่อไปถึงจุดนั้น เป็นการตอบสนองทางอารมณ์ต่อการสูญเสีย บางคนอาจบอกว่าไม่ใช่ แต่ตามที่เข้าใจ ทุกครั้งที่เห็นความโศกเศร้าในพระคัมภีร์ ผมสัมผัสได้ถึงการสูญเสียบางสิ่ง อาจไม่ใช่สูญเสียชีวิตหรือความสัมพันธ์ ที่อาจเป็นความโศกเศร้าที่สุดก็เป็นได้ อาจเป็นการสูญเสียสิทธิประโยชน์ เช่นชาวอิสราเอลคร่ำครวญที่คาเดชบาร์เนีย เพราะรู้ว่าไม่มีโอกาสเข้าแผ่นดินพันธสัญญาแล้ว เป็นความสูญเสียที่เจ็บปวดอย่างล้ำลึก ดาวิดสูญเสียอับซาโลมไปเมื่อเขาหนีออกจากบ้านไปอาศัยอยู่กับญาติ ท่านรู้สึกเศร้าเสียใจกับการสูญเสียครั้งนั้น

2) เราอาจพูดได้ว่าท่าทีความโศกเศร้าบางทีไม่เหมาะสมเสมอไป ทุกท่าทีที่แสดงออกถึงความโศกเศร้าอาจไม่เหมาะสม เช่นดาวิดคร่ำครวญถึงการตายของอับซาโลม เป็นสิ่งที่ไม่สมควร จำได้หรือไม่ว่าโยอาบทำอย่างไร ถ้าทำได้เขาคงอยากเขย่าตัวท่านให้ได้สติคืนมา แต่ไม่อาจทำได้ จึงพูดกับดาวิดด้วยความนุ่มนวล โยอาบพูดทำนองว่า “ดาวิด ตั้งสติหน่อย ที่ทำอยู่นี่ไม่ถูกต้อง ประชาชนสัมผัสได้ว่าท่านโศกเศร้ามากเกินไป ทำให้พวกเขารู้สึกว่าพวกเขาน่าจะตายเพื่อให้อับซาโลมได้อยู่ ความโศกเศร้าของท่านไม่ถูกต้อง การตายของอับซาโลมทำให้กอบกู้ราชอาณาจักรกลับคืนมาได้ ตั้งสติให้ดีดาวิด ความโทมนัสของท่านนั้นไม่สมควรอย่างยิ่ง”

ส่วนอัมโนนที่แสดงท่าที เสียใจก็ไม่ถูกต้อง เพราะไม่ได้ครอบครองทามาร์น้องสาวต่างมารดา อาหับเสียใจเพราะไม่ได้ครอบครองสวนองุ่นของนาโบท ซามูเอลเสียใจที่ซาอูลต้องเสียอาณาจักรไป การแสดงออกถึงความเสียใจเช่นนี้ไม่สมควร และความเสียใจไม่ใช่ว่าจะดีเสมอไป เราจึงพูดได้ว่า “ไม่ใช่ทุกคนที่โศกเศร้า จะได้รับการปลอบประโลม” ใช่หรือไม่? เมื่อพระเยซูตรัสว่า "บุคคลผู้ใดโศกเศร้า ผู้นั้นเป็นสุข เพราะว่าเขาจะได้รับการทรงปลอบประโลม” (มัทธิว 5:4) พระองค์กำลังตรัสถึงคนพวกหนึ่ง และความโศกเศร้าในอีกแบบหนึ่ง

3) ไม่มีการปลอบประโลมใดในโลกนี้ที่ให้ได้กับผู้ที่โศกเศร้าทุกคน ผมเคยไปงานศพหลายครั้ง เหมือนกับที่พวกคุณเคย มีผู้ไม่เชื่อนับไม่ถ้วนมาร่วมงาน พวกเขาโศกเศร้า แต่ไม่มีการปลอบประโลมใดที่ช่วยได้นอกจากในองค์พระเยซูคริสต์ และข่าวประเสริฐแห่งพระกิตติคุณ เมื่อเราอ่านพระวจนะในคำเทศนาบนภูเขา เรากำลังพูดถึงคนที่โศกเศร้า พูดถึงคนที่ขัดสนฝ่ายวิญญาณ คนที่ใจอ่อนโยน คนที่หิวกระหายความชอบธรรม ผมไม่คิดว่าคุณจะดึงแค่บางตอนออกมาจากคำเทศนาบนภูเขา และกล่าวว่าทุกคนที่โศกเศร้าจะได้รับการปลอบประโลม แต่คุณต้องพูดว่า “ผู้โศกเศร้าทุกคนที่ขัดสนฝ่ายวิญญาณและหิวกระหายความชอบธรรม จะได้รับการทรงปลอบประโลม” ครับ มีการปลอบประโลม แต่ไม่ใช่สำหรับทุกคน

4) เราต้องเข้าใจถึงท่าทีของความโศกเศร้าที่เหมาะสม นี่คือหัวใจสำคัญของบทเรียนนี้ และผมออกจะกังวล (ต้องขอสารภาพว่าเป็นกังวลมาก) ยิ่งเมื่อได้อ่านพระคำที่ตรัสว่า “"บุคคลผู้ใดมีใจอ่อนโยน ผู้นั้นเป็นสุข” ไม่ใช่เพราะมีความชอบใจเป็นพิเศษในพระวจนะข้อนี้ แต่รู้สึกสบายใจมากกว่าความโศกเศร้า ผมออกจะกังวลมากในเรื่องความโศกเศร้า จะทำให้เข้าใจได้อย่างไร เข้าใจและสามารถนำไปใช้ให้ถูกต้อง เราต้องเข้าใจว่าอะไรคือท่าทีของความโศกเศร้าที่เหมาะสม ผมพยายามแยกแยะองค์ประกอบของความโศกเศร้าตามพระคัมภีร์ – ความโศกเศร้าในแบบที่ได้รับการทรงปลอบประโลม

ขอถามสักสองสามข้อเพื่อทดสอบเรื่องความโศกเศร้าของผู้มีความเชื่อ

A)นี่เป็นบางสิ่งที่ผู้ชอบธรรมโศกเศร้าหรือไม่? ความ โศกเศร้าของเราชอบธรรมในแบบของพระคัมภีร์หรือไม่? แน่นอนเราต้องเริ่มต้นที่พระเยซูคริสต์ ตามที่ผมเข้าใจในคำเทศนาบนภูเขา สิ่งที่พระเจ้าตรัสว่า “ผู้เป็นสุข” เป็นคุณลักษณะของพระเจ้าที่ต้องสำแดงชัดเจนในชีวิตของธรรมิกชนของพระองค์ คุ้นกับตัวย่อ WWJD3 มั้ยครับ? (What would Jesus do? – พระเยซูจะทรงทำอย่างไร) ในเรื่องความโศกเศร้า พระเยซูจะโศกเศร้าในเรื่องนี้หรือไม่? มีความโศกเศร้ามากมายในปัจจุบันที่พระเยซูคงไม่เห็นชอบด้วย แต่มีสองกรณีหลักอยู่ในความโศกเศร้าของพระองค์ – อันแรกอยู่ในยอห์น 11:35-36 ที่อุโมงค์ฝังศพของลาซารัส และข้อพระคำที่โด่งดังไปทั่วโลกในข้อ 35 “พระเยซูทรงพระกันแสง” ผู้คนได้เห็นและกล่าวว่า “ดูซิพระองค์ทรงรักเขาเพียงไร”

ผม ไม่แน่ใจว่าจะมีคำตอบต่อคำถามนี้หรือไม่ แต่จะขอถามอยู่ดี พวกเขาพูดถูกหรือไม่? ไม่ใช่ในแง่ที่พระเยซูทรงรักลาซารัส – แน่นอนพระองค์ทรงรักเขา พวกเขาถูกต้องหรือไม่ที่สรุปว่าความโศกเศร้าของพระเยซูนั้นเชื่อมโยงและเป็น ผลโดยตรงจากความรักที่พระองค์มีต่อลาซารัส? มันยากที่เราจะรู้เรื่องทั้งหมดภายในไม่กี่วินาที ลาซารัสกำลังจะออกมาจากอุโมงค์ฝังศพในสภาพกายที่ถูกพันไว้ มันยากที่จะเห็นพระเยซูเต็มไปด้วยความโศกเศร้า อาจจะดีกว่าที่พูดว่า “ดูสิ พระเยซูทรงรักมารีและมาร์ธาเพียงไร” ทั้งคู่เป็นพี่สาวของลาซารัส อย่างน้อยเรามีข้อพระคำ จงร้องไห้กับผู้ที่ร้องไห้ และจงชื่นชมยินดีกับผู้ที่ชื่นชมยินดี” พระเยซูทรงอยู่กับผู้ที่โศกเศร้าเพราะการจากไปของลาซารัส ผมรู้สึกว่าน่าจะมีเรื่องของความบาปและผลของมันด้วย เมื่อมองไปที่ใบหน้าของความตาย เราควรเห็นการเชื่อมโยงระหว่างความตายและความบาปที่ส่งผลให้เกิดขึ้นหรือ ไม่?

ผมเคยคุยกับบางคนเรื่องการเผาศพว่าถูกต้องหรือไม่ที่จัดการกับ ร่างผู้ตายแบบนั้น มีความเห็นหลากหลาย ขอบอกว่าผมมีส่วนเกี่ยวข้องกับงานศพและพิธีไว้อาลัยมากมาย เคยไปงานศพที่มีการเผาร่างผู้เสียชีวิต แต่ไม่ได้รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องเจ็บปวดจนรับไม่ได้ แต่อยากบอกว่า สิ่งหนึ่งที่สำคัญในพิธีไว้อาลัยคือร่างผู้เสียชีวิตที่นอนอยู่ที่นั่น — เมื่อมีโลงศพตั้งอยู่ มีญาติพี่น้องมาร่วมงาน ผู้ใหญ่อาจอุ้มเด็กๆให้ดูใบหน้าของผู้ตายเป็นครั้งสุดท้าย — มีบางสิ่งที่มองด้วยตาเห็นว่าเชื่อมโยงกับความตาย ถ้าไม่มีร่างผู้ตาย ความหมายชัดเจนของความตายจะไม่มีวันสื่อออกไปแตะใจใครได้

ผมคิดเอน เอียงไปว่าที่พระเยซูทรงพระกันแสง อย่างน้อยมีบางส่วนที่เกิดเพราะความบาปและหายนะที่เป็นผลของบาป ในลูกา 19:41-44 พระเยซูเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็ม และทรงพระกันแสงเพราะเมืองนั้น ทรงพระกันแสงเพราะเมื่อพระองค์เสด็จมาสำแดงแก่อิสราเอลว่าทรงเป็นพระเมสซิยา ห์ และพวกเขาปฏิเสธพระองค์ เมืองนั้นและประชากรจะถูกทำลายจนพินาศ อีกครั้งที่ความโศกเศร้าของพระเยซูเกิดขึ้นเพราะผลของความบาป แต่จะพูดให้ถูก ความโศกเศร้าของพระองค์ต่อความบาปและต่อชีวิตของผู้คนนั้นเชื่อมโยงถึง พระองค์

พระวจนะสองตอนที่จำเป็นอย่างยิ่งเพื่อให้เข้าใจมัทธิว 5:4 ผมพยายามมองภาพกว้างเมื่อพูดว่า “คนชอบธรรมจะโศกเศร้าในเรื่องนี้หรือไม่? และ “ผู้เผยพระวจนะจะโศกเศร้าในเรื่องที่เรากำลังโศกเศร้าหรือไม่?” มีหลายกรณีสำหรับเรื่องนี้ พระวจนะที่เป็นกุญแจในเรื่องนี้คืออิสยาห์ 61 และอิสยาห์ 40 ผมไม่อาจอ่านมัทธิว 5:4 โดยไม่บอกกับตัวเองว่า “ท่านกำลังชี้ไปที่อิสยาห์ 61” ไม่อาจหลุดจากความคิดนี้ได้ ถ้าคิดว่าผมค้นมากไป ลองกลับไปดูพระกิตติคุณลูกาตอนที่พระเยซูเสด็จไปที่นาซาเร็ธ ไปที่ธรรมศาลา รับหนังสือม้วนมาและอ่านข้อพระคำตอนนี้ (ลูกา 4:18-19) ผมคิดว่าพระองค์อ่านแล้วหยุดเพราะพระวจนะเอ่ยถึง “วันแห่งการพิพากษา” พระองค์ไม่ได้อ่านยาวลงไปถึงตอนที่พูดถึงความทุกข์โศกเศร้า แต่ในความเป็นจริง พระวจนะตอนนี้ที่พระเยซูทรงเลือกชี้ไปที่พระองค์เอง แน่นอน เมื่อพระเยซูตรัสถึงตรงนี้ เราคงพูดได้เต็มปากว่านี่เป็นตอนหนึ่งที่บ่งว่าพระองค์คือใคร และตรัสเรื่องอะไร ลองมาดูกัน:

1 พระวิญญาณแห่งพระเจ้าทรงอยู่เหนือข้าพเจ้า
เพราะว่าพระเจ้าได้ทรงเจิมข้าพเจ้าไว้
เพื่อนำข่าวดีมายังผู้ที่ทุกข์ใจ
พระองค์ทรงใช้ข้าพเจ้ามาให้เล้าโลมคนที่ชอกช้ำระกำใจ
และร้องประกาศอิสรภาพแก่บรรดาเชลย
และบอกการเปิดเรือนจำออกให้แก่ผู้ที่ถูกจำจอง
2 เพื่อประกาศปีแห่งความโปรดปรานของพระเจ้า (อิสยาห์ 61:1-2ก)

มีประโยคที่ซ้อนกัน เพราะในลูกา 4:19 พระเยซูทรงหยุด แต่ให้เรามาอ่านต่อ

และวันแห่งการแก้แค้นของพระเจ้าของเรา
เพื่อเล้าโลมบรรดาผู้ที่ไว้ทุกข์
3 เพื่อจัดให้บรรดาผู้ที่ไว้ทุกข์ในศิโยน
เพื่อประทานมาลัยแทนขี้เถ้าให้เขา
น้ำมันแห่งความยินดีแทนการไว้ทุกข์
ผ้าห่มแห่งการสรรเสริญแทนจิตใจที่ท้อถอย
เพื่อคนจะเรียกเขาว่าต้นก่อหลวงแห่งความชอบธรรม
ที่ซึ่งพระเจ้าทรงปลูกไว้เพื่อพระองค์จะทรงสำแดงพระสิริของพระองค์ (อิสยาห์ 2ข-3)

เมื่อ อ่านมัทธิว 5:4 ผมพูดกับตัวเองว่า “คนที่โศกเศร้าคร่ำครวญ แน่นอนต้องมาจากเนื้อหาของพระวจนะตอนนี้” จำบริบทในอิสยาห์ 61 ได้หรือไม่ เรารับรู้เรื่องความบาปของอิสราเอล รับรู้เรื่องการพิพากษาที่จะตกลงมาเหนือชนชาตินี้ และตอนนี้เรากำลังจะได้รู้เกี่ยวกับการช่วยกู้ที่จะมาถึง การปลอบประโลมที่พบคือการปลอบประโลมมาถึงบรรดาคนที่ยอมรับในความบาปของตน ยอมรับการพิพากษาของพระเจ้า เราพูดได้เต็มที่ในแง่นี้ ขณะอิสยาห์มองไปที่ความบาปของอิสราเอลที่ส่งผลในทันที การถูกจับไปเป็นเชลย และการคืนสู่สภาพดี ที่สุดแล้วท่านกำลังมองไปที่ความบาปของมนุษย์ การแบกรับพระอาชญาของพระคริสต์ที่บนกางเขน และการไถ่ที่กำลังมาถึงเราทุกคน นั่นคือคำเทศนาในตัวของมันเอง ต่อไปให้เรามาดูอิสยาห์ 40:1

1 พระเจ้าของเจ้าตรัสว่า จงเล้าโลม จงเล้าโลมชนชาติของเรา
2 จงพูดกับเยรูซาเล็มอย่างเห็นใจ
และจงบอกเมืองนั้นว่า การสงครามของเธอสิ้นสุดลงแล้ว และความบาปผิดของเธอก็อภัยเสียแล้ว
และได้รับโทษจากพระหัตถ์ของพระเจ้าแล้ว เป็นสองเท่าของความบาปผิดของเธอ (อิสยาห์ 40:1-2)

บริบท ตอนนี้คือการลงโทษต่อบาปของอิสราเอลเมื่อตกไปเป็นเชลย แต่ถ้ามองเลยออกไปอีก คือการลงโทษที่ตกลงบนพระเยซูคริสต์ที่บนกางเขน (อิสยาห์ 53) เพื่อให้เกิดการอภัย เพื่อนำสู่การฟื้นฟูคืนมาสู่เรา และประทานพระพรให้แก่เรา กลับไปที่อิสยาห์ 40:3 อีกครั้ง (เป็นถ้อยคำที่ผู้อ่านมัทธิวคุ้นหูกันดี) "จงเตรียมมรรคาแห่งพระเจ้าในถิ่นทุรกันดาร จงทำทางหลวงสำหรับพระเจ้าของเราให้ตรงไปในทะเลทราย..” หมายถึงอะไร? หมายถึงยอห์นผู้ใหบัพติศมา ผู้ไปป่าวร้องถึงการเสด็จมาของพระเมสซิยาห์ ดังนั้นศูนย์กลางของความโศกเศร้าเกี่ยวข้องกับความบาป เกี่ยวข้องกับการพิพากษาของพระเจ้า การปลอบประโลมต้องเป็นการปลอบประโลมที่มาในพระเมสซิยาห์ พระองค์ผู้ทรงแบกรับการลงโทษ และทรงเตรียมการช่วยกู้ และความช่วยเหลือ เพื่อที่สุดแล้วเราจะได้รับการปลอบประโลมในองค์พระเยซู และสิ่งที่พระองค์ทรงเสียสละเพื่อเรา ข้อพิสูจน์แรกถึงความโศกเศร้าในแบบของพระเจ้า แล้ว “พวกผู้เผยพระวจนะ และที่สำคัญกว่านั้นพระเยซูคริสต์ พวกเขาโศกเศร้าในเรื่องอะไร?” พวกเขาคร่ำครวญเพราะความบาป และการปลอบประโลมที่พระกิตติคุณและความรอดจะนำมาให้

B)ความเกี่ยวข้องกันระหว่างความโศกเศร้าและเสียงหัวเราะ อะไรคือสิ่งที่ตรงข้ามกับความโศกเศร้า? สิ่งที่ตรงข้ามกับความโศกเศร้าคือความชื่นชมยินดี ใช่หรือไม่? แต่พระเยซูไม่ได้ตรัสว่า “บุคคลผู้ใดโศกเศร้า ผู้นั้นจะชื่นชมยินดี” มัทธิวไม่ได้บันทึกแบบนั้น พระเยซูตรัสว่าพวกเขาจะได้รับการทรงปลอบประโลม แปลว่าพระองค์ไม่ได้สัญญาว่าความเจ็บปวดจะหายไป พระองค์กำลังบอกว่าในสถานการณ์ที่โศกเศร้านั้น เราจะได้รับการปลอบประโลมเพื่อให้ผ่านไปได้ – เพราะไม่จำเป็นที่เราจะต้องหนีไปจากสาเหตุที่ทำให้โศกเศร้า แต่ให้เราได้พบการปลอบประโลมในองค์พระผู้เป็นเจ้า

อาจมีบางคนพูดว่า “แล้วลูกาล่ะ?” ครับ ผมจึงต้องพูดถึง “เสียงหัวเราะ”

"ท่านทั้งหลายที่อดอยากเวลานี้ก็เป็นสุข เพราะว่าท่านจะได้อิ่มหนำ”
"ท่านทั้งหลายที่ร้องไห้เวลานี้ก็เป็นสุข เพราะว่าท่านจะได้หัวเราะ” (ลูกา 6:21)

ทีนี้มาดูข้อ 25 ในลูกา 6:

"วิบัติแก่เจ้าทั้งหลายที่อิ่มหนำเวลานี้ เพราะว่าเจ้าจะอดอยาก”
"วิบัติแก่เจ้าทั้งหลายที่หัวเราะเวลานี้ เพราะว่าเจ้าจะเป็นทุกข์และร้องไห้” (ลูกา 6:25)

ผม จำได้ว่ามาร์ทิน ลอยด์-โจนส์ พูดถึงประเด็นนี้ไว้ค่อนข้างหนักแน่น (และนับไม่ถ้วนที่ผมได้ยินคนพูดกัน) “พระเยซูนี่มีอารมณ์ขัน” คิดว่าผมเคยพูดไปแล้ว และมันอาจเป็นความจริง แต่มาร์ทิน ลอยด์-โจนส์ กล่าวว่ามีอยู่หลายกรณีที่พระเยซูทรงพระกันแสง แต่เราไม่เห็นมีการบันทึกว่าพระองค์ทรงพระสรวล อย่างน้อยเราควรต้องจำไว้ และระวังให้ดีว่าไม่ควรไปลดคุณลักษณะของความอ่อนโยนและถ่อมสุภาพในชีวิตของ พระองค์ลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพระองค์ทรงตอบสนองต่อความบาป แต่ผมจะเตือนว่าซาตานมีอารมณ์ขันเหลือเฟือ ผมเองก็ชอบเรื่องขำขัน แต่จะบอกว่าซาตานชอบพลิกความจริงกลับด้าน มันต้องการให้เราหัวเราะทั้งๆที่เราควรโศกเศร้า

ผมจะเล่าเรื่องท่าที ของผมตอนไปงานไว้อาลัยของคุณครูเดวิดสันให้ฟัง ผมพยายามหัวเราะเพราะไม่อยากจะโศกเศร้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อนๆอยู่กันที่นั่น ผมจะดูเป็นอย่างไรถ้าต้องเช็ดน้ำตา ต้องแสดงความโศกเศร้าแก่คุณครูที่จากไป? ผมพบการปลอบใจในอารมณ์ขัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง แต่ซาตานอยากให้เราเป็นแบบนั้น ในหนังสือสุภาษิตกล่าวว่า “คนโง่เยาะเย้ยความบาป” แต่การเยาะเย้ยมีมากกว่านั้น ทำให้ผมคิดถึงฮามในปฐมกาลบทที่ 9 มันยากที่จะเจาะในรายละเอียดของเหตุการณ์นั้น แต่ภาพรวมคือโนอาห์ทำไร่และทำสวนองุ่น และเมื่อทำเหล้าองุ่นท่านก็ดื่มจนเมามาย นอนเปลือยกายไม่รู้ตัวอยู่ในเต็นท์ เผอิญฮามโผล่เข้าไปเห็น (คานาอันน่าจะมีส่วนในเรื่องนี้ เพราะคำสาปแช่งตกที่เขา) สิ่งหนึ่งที่เราเห็นได้ชัดเจนคือฮามไม่ได้มีท่าทีที่สุภาพและให้เกียรติบิดา อย่างสมควร และน่าจะไม่สบายใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผมคิดว่าเขาอาจจะยืนมองแล้วเรียกพี่น้องมา “มา มาดูสิ” แต่พี่และน้องกลับเดินถอยหลังเข้าไป เอาผ้าไปคลุมร่างที่เปลือยอยู่ของบิดา โดยไม่คิดแม้แต่จะมองดู

ผมอยากบอกว่าในทุกวันนี้มีการหัวเราะมากมาย ต่อความบาป และซาตานชอบใจ เราควรต้องโศกเศร้าต่อบาปและผลที่จะเกิดตามมา แต่เรากลับหัวเราะขำกัน ขอยกตัวอย่างให้ฟัง ผมไม่ค่อยดูรายการทอล์คโชว์ตอนดึกมากนัก แต่บอกได้ว่าเท่าที่ดูผ่านๆ มีการหัวเราะสนุกสนานต่อสิ่งที่ไม่สมควรนำมาหัวเราะ บางทีภาพยนตร์ หรือละครโทรทัศน์ ถ้าเราเป็นพ่อแม่ เราอาจตกใจพูดว่า “ตายแล้ว ดาราคนนี้เล่นเป็นผู้หญิง ที่จริงก็ตลกดี แต่ไม่ควรเป็นรายการที่อนุญาตให้เด็กดู” แต่ทราบหรือไม่ ผู้กำกับเก่งมากที่สร้างเรื่องราวและสีสันจนทำให้คนขำได้ทั้งๆที่มันไม่ถูก ต้อง?” ไม่ว่าจะเป็นชายแต่งหญิง หรือหญิงปลอมเป็นชาย มันเป็นการบิดเบือนหรือไม่ครับ? ทุกคนดูแล้วสนุกสนานเพราะพวกเขาไม่เห็นว่ามันผิดที่ตรงไหน

ความเป็น จริงคือซาตานมีชัยชนะเพราะเราหัวเราะต่อความบาปได้ ทั้งๆที่เราควรโศกเศร้า สิ่งนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่ว่าจะเป็นตลกลามกทั้งภาพหรือเรื่องเล่า ถ้าซาตานมันทำให้เราหัวเราะต่อบาปได้แต่แรก เราก็กำลังก้าวลงไปตามเส้นทางนั้น – ก้าวยาวๆลงไปตามหนทางที่ยอมรับในความบาป ผมจึงอยากย้ำกับพวกคุณ เราต้องระมัดระวังมากๆ ที่ผมพูดเรื่องนี้ขึ้นมาเพราะลูกาเปิดประตูไว้ เตือนเราให้ระวังเรื่องความคึกคะนองที่เกี่ยวกับความโศกเศร้า บางทีการหัวเราะอาจปลดปล่อยสิ่งที่เราไม่ควรรู้สึกดีเกี่ยวกับมัน แต่เป็นสิ่งที่เราควรรู้สึกเศร้าใจ

C)เป็นความรู้สึกสูญเสีย หรือได้มา? ผมได้อธิบายเรื่องความโศกเศร้าว่าเป็นการสูญเสียที่จมลึก มีพระวจนะหลายตอนที่ชี้ไปในทิศทางนั้น ตัวอย่างเช่น ดาวิดโศกเศร้าถึงลูกชาย อับซาโลมที่ตายจากไป โยอาบพยายามบอกกับท่านว่า “ดาวิด ท่านกำลังเสียจุดยืน วันนี้ไม่ใช่เป็นวันแห่งความโศกเศร้า แต่เป็นวันที่ต้องเฉลิมฉลอง ท่านเกือบจะสูญเสียอาณาจักรและราชบัลลังก์ไปแล้ว และถ้าไม่ตั้งสติให้ดี อาจต้องเสียไปจริงๆ ตอนนี้เมื่อท่านได้อาณาจักรกลับคืนมา แม้มีการสูญเสียบ้าง จงเปลี่ยนมุมมองใหม่ จริงๆแล้วนี่คือการสูญเสียหรือได้มา?” ซามูเอลโศกเศร้าเพราะสูญเสียซาอูลใน 1ซามูเอล 15:35: แต่ซามูเอลได้โศกเศร้าเพราะซาอูล” พระ เจ้าเหมือนกำลังบอกซาอูลว่า “เจ้าต้องพิจารณาให้ดีๆ” เป็นการสูญเสียของอิสราเอลหรือที่ขาดซาอูลไปแล้วได้ดาวิดมา? เป็นการสูญเสียจริงหรือ? ซามูเอลเป็นผู้เผยพระวจนะที่เจิมตั้งดาวิด นี่เป็นการสูญเสียหรือได้มาครับ?

ความโศกเศร้าที่เหมาะสมคือรู้สึกสูญ เสียแทนที่จะรู้สึกว่าได้รับมา สิ่งที่น่าสนใจใน 1ซามูเอล 16 คือเมื่อพระเจ้าสั่งให้ซามูเอลไปเจิมตั้งดาวิด สิ่งแรกที่ซามูเอลตอบคือ "ข้าพระองค์จะไปอย่างไรได้ ถ้าซาอูลได้ยิน เขาคงฆ่าข้าพระองค์เสีย" คือถ้าซาอูลรู้เข้า จะมาฆ่าท่านแน่ คุณคงอยากพูดว่า "แล้วยังไงล่ะซามูเอล รู้สึกว่าสูญเสียมากหรือ? ในเมื่อคนที่ท่านกำลังโศกเศร้าถึงคือคนที่จะมาฆ่าท่านถ้าท่านไปเจิมตั้ง กษัตริย์องค์ใหม่?” ผมว่าท่านคงกำลังเสียศูนย์

คิดถึงฟีลิปปี 3 ที่ อ.เปาโลกล่าว แต่ว่าสิ่งใดที่เคยเป็นคุณประโยชน์แก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าถือว่าสิ่งนั้นไร้ประโยชน์แล้ว” สิ่ง ที่ครั้งหนึ่งท่านเคยมอง – ระบอบฟาริสี ตำแหน่งที่เคยครอง สิทธิและอำนาจที่เคยมี – เดี๋ยวนี้ท่านเข้าใจแล้ว มันเป็นแค่ข้อด้อยของท่าน เป็นสิ่งที่ท่านต้องละทิ้ง ซาตานมีวิธีพลิกแพลงสิ่งต่างๆ ดูเรื่องการล่อลวง เมื่อซาตานล่อลวง มันจะบอกคุณว่าคุณมีแต่ได้ คุณจะเป็นเหมือนพระเจ้า รู้ผิดชอบชั่วดี จะช่วยรักษาชีวิตตัวเองไว้ คุณจะได้ทำงานเพื่อพระเจ้า ซาตานจะนำเสนอสิ่งที่คุณกำลังจะสูญเสียว่าเป็นสิ่งที่คุณกำลังจะได้มา และความเป็นจริงคือทุกครั้งที่มนุษย์พ่ายแพ้ต่อการล่อลวงของมาร พวกเขามีแต่สูญเสียครับ

อีกเรื่องที่ต้องสังเกตุให้ดีคือจุดพลิกผัน ของการสูญเสียและการได้มา วัยรุ่นสมัยนี้รู้สึกว่าพรหมจารีเป็นเรื่องน่าอาย เป็นเรื่องที่ต้องจัดการ ไม่ใช่สิ่งสวยงาม หรือสิ่งยอดเยี่ยมที่พวกเขาจะได้ถวายเกียรติพระเจ้าและมอบให้คู่สมรสในวัน แต่งงาน กลับมองว่าเป็นเรื่องน่าอายที่ต้องรีบจัดการในทันที ซาตานพลิกข้างจากสูญเสียให้เป็นได้มา — ความอ่อนน้อม มีเอกลักษณ์เฉพาะ และอื่นๆอีกหลายอย่าง เราพบอะไรในวัฒนธรรมของวัยรุ่น? กระแสที่ใครๆเขาก็ทำกัน เราสลัดความเป็นเอกลักษณ์ทิ้งไปราวกับเป็นเชื้อโรคร้าย เมื่อพระเจ้าเรียกเราให้มามีเอกลักษณ์ มีความต่าง เป็นเกลือและเป็นความสว่างในฐานะผู้เชื่อ เรากลับสลัดทิ้งไปเพราะเราต้องการเข้าได้กับวัฒนธรรมที่กำลังเป็นอยู่

D)ความอ่อนน้อม หรือความอัปยศ vs. ความเย่อหยิ่ง และความภูมิใจ ใน 1โครินธ์ 5:1-2 อ.เปาโลกล่าวว่า:

1 มีข่าวเล่าลือว่า ในพวกท่านมีการผิดประเวณี และการผิดนั้นถึงแม้ในพวกต่างชาติก็ไม่มีเลย คือเรื่องมีว่า คนหนึ่งได้เอาภรรยาของบิดามาเป็นเมียของตน 2 และพวกท่านยังผยองแทนที่จะเป็นทุกข์เป็นร้อน (1โครินธ์ 5:1-2ก)

“คุณ ควรรู้สึกเศร้าใจหรือไม่?” และคริสตจักรที่นั่นกลับนั่งนิ่งหยิ่งผยอง ความโศกเศร้าของเราเป็นความสำนึกหรือความอัปยศ? พูดถึงความอัปยศ คนโศกเศร้าควรดูเป็นอย่างไร? ย่ำแย่ดูไม่ได้ ฉีกเสื้อผ้า เอาขี้เถ้าโรยหัว ไม่น่าดูเลย คุณคงไม่ได้ขึ้นหน้าแฟชั่นเมื่อคุณกำลังโศกเศร้า เพราะเมื่อคุณโศกเศร้า คุณดูไม่ดีเลย คุณไม่พยายามทำให้ดูดีด้วย คุณกลับถ่อมลง และสำนึกด้วยความโศกเศร้า แต่ซาตานอยากให้เราทำตรงข้าม เมื่อคุณมองไปที่ความโศกเศร้าในคำเทศนาบนภูเขา พวกธรรมาจารย์และพวกฟาริสีทำอย่างไรเมื่อโศกเศร้า? พวกเขาจะเดินไปมานุ่งห่มผ้าขี้ริ้ว มีฝุ่นเลอะทั้งตัว อาจมีฝุ่นบ้าง แต่นั่นเป็นสัญลักษณ์ที่พวกเขาภูมิใจสวมใส่ราวกับเป็นเหรียญแห่งเกียรติยศ ดังนั้นในความโศกเศร้า เราควรต้องแสดงความถ่อม สำนึกผิดและรู้สึกอับอายเพราะความบาปหรือไม่?

ในโรม 1:32 จะพูดว่ายังไง มันน่าขันเมื่อคุณไต่บันไดลงไปถึงขั้นสุดท้าย อ.เปาโลกล่าวว่า เขาก็ไม่เพียงประพฤติเท่านั้น แต่ยังเห็นดีกับคนอื่นที่ประพฤติเช่นนั้นด้วย” มอง ไปที่ฮอลลีวู้ดครับ - ไม่ใช่แค่ฮอลลีวู้ดเท่านั้น - พวกเขาสวมใส่ความบาปอย่างภาคภูมิใจ พวกเขาไม่เพียงแต่ทำบาปในห้องมืดลับตาคน แต่กลับทำในที่สาธารณะ และภาคภูมิใจด้วย บางครั้งกลับเป็นงานที่ขายได้ มีคนสนใจ

E)สุดท้าย ความโศกเศร้าก่อให้เกิดการกลับใจหรือไม่? ถ้า เป็นความโศกเศร้าแท้จริง ตามการประเมินของผม เป็นสิ่งที่นำไปถึงและเป็นแรงจูงใจที่ทำให้เกิดการกลับใจ เป็นเงื่อนไขสู่การกลับใจ ถ้ากลับใจหมายถึงหยุดและหมุนตัวกลับ สำหรับผมหมายถึงเราต้องยอมรับว่าสิ่งแรกที่มองเห็น ไม่ใช่แค่ทางที่กำลังมุ่งไปนั้นผิด แต่มันน่าเกลียดน่ากลัว และเป็นบางสิ่งที่เราต้องเกลียดชัง เหมือนเราอยู่บนถนนมุ่งหน้าไปที่ชายหาด พอเข้าไปใกล้ๆถึงเห็นว่าเป็นทางไปโรงงานกำจัดขยะ แล้วคุณบอกกับตัวเอง “อี๊ย ไม่ได้อยากไปที่นั่น ต้องหันหลังกลับ” แต่ถ้าคุณชอบสิ่งที่เห็นตรงปลายถนน คุณก็จะไปต่อเรื่อยๆ ความโศกเศร้าจึงเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นที่คุณตระหนักได้ ไม่ใช่แค่ปัญญา เป็นกระบวนการความคิดที่บอกว่า “พระเจ้าเรียกว่าบาป” ตัวคุณและอารมณ์ของคุณเกลียดชังจนต้องหันกลับ ไม่ไปต่อ ใน 2โครินธ์ 7:5-10 กล่าวว่า:

5 เพราะแม้ว่าเมื่อเรามาถึงแคว้นมาซิโดเนียแล้ว ร่างกายของเราไม่ได้พักผ่อนเลย เรามีความลำบากอยู่รอบข้าง ภายนอกมีการต่อสู้ ภายในมีความกลัว 6 แต่ถึงกระนั้นก็ดี พระเจ้าผู้ทรงหนุนน้ำใจคนที่ท้อใจ ได้ทรงหนุนน้ำใจของเรา โดยทรงให้ทิตัสมาหาเรา 7 และมิใช่เพียงการมาของทิตัสเท่านั้น แต่โดยการที่ท่านได้หนุนน้ำใจทิตัสด้วย ตามที่ทิตัสได้มาบอกข้าพเจ้าถึงความอาลัยและความโศกเศร้าของท่าน และใจจดจ่อของท่านที่มีต่อข้าพเจ้า ทำให้ข้าพเจ้ามีความชื่นชมยินดีมากยิ่งขึ้น 8 เพราะถึงแม้ว่าข้าพเจ้าจะได้ทำให้ท่านเสียใจเพราะจดหมายฉบับนั้น ข้าพเจ้าก็ไม่เสียใจ ถึงแม้ว่าเมื่อก่อนนี้ ข้าพเจ้าจะเสียใจบ้างเพราะข้าพเจ้าเห็นว่า จดหมายฉบับนั้นทำให้ท่านมีความเสียใจเพียงชั่วขณะเท่านั้น 9 แต่บัดนี้ข้าพเจ้ามีความชื่นชมยินดี มิใช่เพราะท่านเสียใจ แต่เพราะความเสียใจนั้นทำให้ท่านกลับใจใหม่ เพราะว่าท่านได้รับความเสียใจอย่างที่ชอบพระทัยพระเจ้า ท่านจึงไม่ได้ผลร้ายจากเราเลย 10 เพราะว่าความเสียใจอย่างที่ชอบพระทัยพระเจ้า ย่อมกระทำให้กลับใจใหม่ ซึ่งนำไปถึงความรอดและไม่เป็นที่น่าเสียใจ แต่ความเสียใจอย่างโลกนั้นย่อมนำไปถึงความตาย (2โครินธ์ 7:5-10)

มี ความโศกเศร้าในแบบโลกที่ไม่ได้ก่อให้เกิดความชอบธรรม ผมไม่ได้หมายถึงความโศกเศร้าของเรา เป็นความโศกเศร้าคนละแบบกับของพระเจ้า นั่นคือความเห็นแก่ตัว คุณจะพบว่าบางคนโศกเศร้าจนกลายเป็นคนที่คิดแต่เรื่องของตัวเอง พวกเขาคิดถึงแต่ตัวเองเมื่อมองเข้าไปภายในตัวเองในสิ่งที่สูญเสียไป ยิ่งโศกเศร้าเท่าไร ยิ่งคิดถึงแต่ตัวเองเท่านั้น ความโศกเศร้าที่เรากำลังพูดถึงคือเมื่อคุณตระหนักได้ในอารมณ์ และในสติปัญญาถึงความน่าเกลียด และความสกปรกของบาป คุณจะหันหลังกลับ หันกลับมาหาพระคริสต์ เพื่อรับการปลอบประโลมที่พระองค์ผู้เดียวเท่านั้นให้ได้

บทสรุป

ความโศกเศร้าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต สังเกตุดู "บุคคลผู้ใดโศกเศร้า ผู้นั้นเป็นสุข” เป็นประโยคปัจจุบันกาล และดำเนินต่อ ไม่ได้เจาะจงเฉพาะบางคน หรือบางช่วงเวลาที่เผชิญกับความโศกเศร้า แต่เป็นสิ่งที่ดำเนินไป ซึ่งสอดคล้องกับโรม 8:18 เมื่อ อ.เปาโลพูดถึงการคร่ำครวญและเผชิญความทุกข์ยากของชีวิต ที่เป็นอยู่เพราะเราเป็นส่วนหนึ่งในโลกที่ล่มสลาย พี่น้องครับ เราต้องไม่ลืมคำเตือนสอน ผมกลัวแทนคนอื่นๆและกลัวว่าตัวเองจะคุ้นชินกับบาป กลายเป็นเรื่องคุ้นเคย เช่นการทำแท้ง หรือสงครามในที่ต่างๆ จำนวนคน ... ที่ถูกฆ่าตาย และยังดำเนินต่อไป ทำให้เราเริ่มคุ้นเคย เลิกโศกเศร้าอย่างแรกๆที่เกิดขึ้น บางสิ่งผิดปกติแล้วครับ ความโศกเศร้าควรเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่ดำเนินไป อย่างที่ อ.เปาโลพูดไว้ในโรมบทที่ 8

มาพิจารณาเรื่องสุดท้ายกัน ความโศกเศร้าเป็นการตอบสนองที่เหมาะสมต่อความบาป และการสำแดงความโศกเศร้าที่สมควรคือการสำนึกผิด แต่เหรียญยังมีอีกด้าน ขณะที่ความโศกเศร้าเป็นสิ่งสมควรต่อความบาป การนมัสการเป็นสิ่งที่สมควรต่อพระเจ้าผู้ทรงสมบูรณ์ครบถ้วน เป็นเรื่องผิดที่มีประสบการณ์เผชิญหน้ากับความบาปและไม่รู้สึกโศกเศร้า แต่ก็เป็นเรื่องผิดด้วยเมื่อเข้าเฝ้าจำเพาะพระพักตร์ของพระเจ้าผู้ทรงสม บูณณ์พร้อมแล้วไม่นมัสการพระองค์ แต่ที่น่าสนใจ เพราะเมื่อเรากำลังพูดถึงความโศกเศร้า แต่มาพร้อมกับเรื่องความปิติและความชื่นชมยินดี แล้วคุณพูดว่า “เป็นโรคจิตหรือเปล่า?” คุณรู้คำตอบหรือไม่? อาจใช่ อย่าลืมว่า “จงร้องไห้กับผู้ที่ร้องไห้ และจงชื่นชมยินดีกับผู้ที่ชื่นชมยินดี” ทั้งสองสิ่งนี้ไปด้วยกัน และที่เป็นความเป็นจริงคือ ที่ผมเข้าใจ เราคงไม่ชื่นชมยินดีและสรรเสริญพระเจ้าอย่างที่ควรเป็น เว้นเสียแต่ความโศกเศร้าที่ตอบสนองต่อความบาป ความโศกเศร้าของเราเพราะความบาป คือสิ่งที่ทำให้เราชื่นชมยินดีได้ยิ่งกว่า เพราะการช่วยกู้นำเราพ้นจากผลโทษของความบาป และเมื่อถึงเวลาที่เราเข้าเฝ้านมัสการพระเจ้า ผมอยากบอกคุณว่า “อย่าสูญเสียมิติของความโศกเศร้าไป แต่เมื่อเราคิดถึงพระเจ้า เป็นการสมควรยิ่งที่เราจะสรรเสริญและชื่นชมยินดีในพระองค์”


1 159 เป็นต้นฉบับของบทเรียนต่อเนื่องของ “พระกิตติคุณมัทธิว” จัดทำโดย Robert L. Deffinbaugh 4 พฤษภาคม 2003

2 160 นอกจากที่กล่าวไปแล้ว พระวจนะที่นำมาอ้างอิงทั้งหมดมาจาก NET Bible (The NEW ENGLISH TRANSLATION) เป็น ฉบับแปลใหม่ทั้งหมด ไม่ใช่นำฉบับเก่าในภาษาอังกฤษมาเรียบเรียงใหม่ ใช้ผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการพระคัมภีร์มากกว่า ยี่สิบคน รวบรวมข้อมูล ทั้งจากภาษาฮีบรูโดยตรง ภาษาอาราเมข และภาษากรีก โครงการแปลนี้เริ่มมาจากที่เราต้องการนำ พระคัมภีร์ เผยแพร่ผ่านสื่ออีเลคโทรนิค เพื่อรองรับการใช้งานทางอินเตอร์เน็ท และซีดี (compact disk) ที่ใดก็ตามในโลก ที่ต่อเข้าอินเตอร์เน็ทได้ ก็สามารถเรียกดู และพริ้นทข้อมูลไว้เพื่อใช้ศึกษาเป็นการส่วนตัวได้โดยไม่คิดมูลค่า นอกจากนี้ ผู้ใดก็ตาม ที่ต้องการนำข้อมูลเกี่ยวกับพระคัมภีร์ไปเผยแพร่ต่อโดยไม่คิดเงิน สามารถทำได้จากเว็บไซด์ : www.netbible.org.

3 161 WWJD เป็นอักษรย่อของ “What Would Jesus Do?” พระเยซูจะทำอย่างไร? วัยรุ่นหลายคนนำอักษรย่อนี้ไปทำสร้อยคอใส่กัน

Related Topics: Suffering, Trials, Persecution

Report Inappropriate Ad