MENU

Where the world comes to study the Bible

9. “บุคคลผู้ใดรู้สึกบกพร่องฝ่ายวิญญาณ ผู้นั้นเป็นสุข” (มัทธิว 5:1-13)

Related Media

1คำนำ2

เรากำลังเริ่มต้นคำเทศนาบนภูเขา เป็นพระวจนะที่โด่งดังที่สุดในพระคัมภีร์ใหม่ ความสำคัญนั้นยังน้อยกว่าความเป็นจริง ถ้าคุณไปที่ห้องสมุด แล้วผมไม่ได้ถามถึงหนังสือเรื่องคำเทศนาบนภูเขา คุณก็จะเห็นว่านักศึกษาพระคัมภีร์ที่เชี่ยวชาญแทบทุกคนจะแนะนำหนังสือประกอบ คำอธิบายคำเทศนาบนภูเขาอยู่ดี แม้หลายคนที่เขียนคำหนังสืออธิบายพระกิตติคุณมัทธิวยังแยกเฉพาะคำเทศนาบน ภูเขาออกมา

มีผู้กล่าวว่าออกัสตินพูดถึงคำเทศนาบนภูเขาว่าเป็นมาตรฐานที่สมบูรณ์แบบ สำหรับชีวิตคริสเตียน ดีทริช บอนฮอฟเฟอร์ เขียนหนังสือคลาสสิค “ราคาการเป็นสาวก” โดยยึดจากหนังสืออรรถาธิบายคำเทศนาบนภูเขา แม้ผู้ไม่เชื่ออย่างคานธียังประทับใจและได้รับอิทธิพลจากคำสอนในคำเทศนาบน ภูเขา ผู้ไม่เชื่ออีกหลายคนได้รับอิทธิพลนี้เช่นกัน ผมกำลังนึกถึงคำพูดของนิคิตา ครุชเชฟ พูดไว้หลายปีมาแล้วในสหรัฐอเมริกา ท่านพูดว่า “ผมจะบอกคุณถึงข้อแตกต่างระหว่างคริสเตียนกับตัวผม คือถ้าคุณตบหน้าผม ผมก็จะซัดกลับจนหัวคุณหลุดจากบ่าแน่” แต่ท่านก็ยังได้รับอิทธิพลจากคำเทศนานี้ เข้าใจดีว่าหมายถึงอะไร แต่ไม่ชอบใจ ความจริงคือคนธรรมดาทั่วไปจะไม่ชอบคำสอนนี้ ไม่ใช่คำสอนที่จะนำไปเขียนเป็นหนังสือขายดีแน่ – แม้เป็นหนังสือของคริสเตียนก็ตาม คำสอนจากคำเทศนาบนภูเขาไม่ใช่สิ่งที่ขายได้ ลองไปดูตามหิ้งร้านหนังสือนะครับ

อาร์ เคนท์ ฮิวจ์ ในหนังสือประกอบคำอธิบายคำเทศนาบนภูเขากล่าวว่านี่เป็นคำเทศนาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่เคยมี:

คำเทศนาบนภูเขานั้นสั้นกระชับได้ใจความ เป็นหลักศาสนศาสตร์ของพระเยซูคริสต์ที่เนื้อหาอัดแน่นและเข้มข้น และน่าจะเป็นพระคำที่กินใจที่สุดในพระคัมภีร์ใหม่ และในพระคัมภีร์ทั้งเล่ม ทุกถ้อยคำอธิบายแจ่มแจ้งชัดเจน แต่ไม่อาจเข้าใจให้ลึกซึ้งได้ที่สุด … เป็นถ้อยคำที่แสดงให้เห็นว่าเรายืนอยู่จุดไหนในความสัมพันธ์ระหว่างราช อาณาจักรและชีวิตนิรันดร์ ขณะที่เรานำตัวเองผ่านเครื่องเอ็กซเรย์ในคำสอนของพระเยซูคริสต์ จะแสดงให้เห็นว่าเราเป็นผู้เชื่อแท้หรือไม่ ถ้าเป็น ระดับความเป็นผู้เชื่อแท้ในชีวิตของเราอยู่ตรงไหน ไม่มีตอนอื่นใดในพระคัมภีร์ที่ทำให้เราต้องเผชิญหน้ากับตัวเองได้เท่ากับคำ เทศนาบนภูเขา 3

ให้เราเข้าสู่คำนำของคำเทศนาบนภูเขาในภาพรวมทั้งหมดก่อน แล้วค่อยๆไปทีละประเด็น คงจำกันได้ คำเทศนาบนภูเขาอยู่ต่อจากการเริ่มพระราชกิจของพระเยซูที่กาลิลี พระองค์เสด็จออกจากยูเดียเมื่อทราบข่าวว่ายอห์นถูกจับ ขณะอยู่ในกาลิลี พระองค์ทรงรักษาผู้ป่วยทุกโรค และมีฝูงชนจำนวนมากติดตามพระองค์ไป — ไม่เพียงแต่ในกาลิลีเท่านั้น แต่มาจากข้างนอกด้วย — จากเดคาโพลิส รอบนอกยูเดีย เยรูซาเล็ม และจากซีเรีย ฝูงชนที่ติดตามจึงมีจำนวนมาก และในตอนท้ายของมัทธิว 4 บันทึกว่า ในช่วงเวลานั้นพระเยซูทรงเทศนาสั่งสอนอยู่ในธรรมศาลา

แน่นอนคนเหล่านี้ต้องได้ยินเรื่องราวของพระเยซูมาบ้าง และได้ยินบางสิ่งที่พระองค์สั่งสอน แต่สำหรับผมเมื่อเข้าสู่คำเทศนาบนภูเขา คุณเหมือนได้รับบทสรุปชั้นเลิศที่รวมทุกสิ่งไว้ที่ “พระองค์ตรัสสอน” มัทธิวจึงบันทึกคำเทศนานี้ไว้ และในลูกา 6 ก็บันทึกคล้ายคลึงกัน เป็นเหมือนบทสรุปคำสอนทั้งหมดของพระเยซูคริสต์ที่หลากหลายมาก ผมคิดว่านี่คือสิ่งที่เป็นพื้นฐานคำสอนของพระองค์ในอนาคต และในพระราชกิจที่จะทรงทำต่อไป คนที่นั่งฟังอยู่คือพวกสาวก รวมถึงฝูงชนจำนวนมากที่ตามมาก็ได้ยินด้วย สำหรับผมคิดว่าพระองค์ตรัสให้คนทั้งสองพวกนี้ฟัง เมื่อพระองค์ตรัสว่า “ใครมีหู จงฟังเถิด” – (ฟังในสิ่งที่เราพูด) บางคนในท่ามกลางฝูงชนที่มาฟัง มีหูแต่ไม่รับฟัง แต่พระองค์กำลังตรัสกับพวกสาวก และกับผู้คนที่นั่งฟังอยู่ด้วย

ในพระกิตติคุณมัทธิวพระเยซูตรัสถึงแผ่นดินสวรรค์ และในพระกิตติคุณเล่มอื่นๆ มีคำว่าแผ่นดินของพระเจ้า บางคนคิดว่าสองคำนี้แตกต่างกัน บางคนบอกว่าเพราะคำสอนของพระเยซูที่เกี่ยวข้องกับแผ่นดินของพระเจ้าเป็นการ สอนเกี่ยวกับแผ่นดินของพระเจ้าที่ยังมาไม่ถึง สำหรับกลุ่มที่เป็นพวกแบ่งสรรบอกว่าคำนี้อาจกลายมาจากคำดั้งเดิม (นำไปประยุกต์ใช้รองลงมา) ที่ใช้มาตั้งแต่แรกคือวันแห่งแผ่นดินของพระเจ้า

ผมยังจำได้ในโรงเรียนพระคริสตธรรม ผมได้ยิน ดร.ชาลส์ ไรรี่ย์ พูดว่า “ถ้านักธุรกิจทุกวันนี้ทำตามคำเทศนาบนภูเขา คงจะเจ๊งไปตามๆกัน” ผมก็คิดว่า “ถ้าจะจริง” และถ้าคริสตจักรทุกวันนี้ทำตามหลักการของพระคัมภีร์ใหม่ หลายคนคงพูดว่าไม่น่าจะไปรอด – ไปไม่รอดถ้าทำตามสิ่งที่พระคัมภีร์ใหม่บอกว่าคริสตจักรต้องทำหรือ? – แต่ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของคริสเตียนโดยตรง เรื่องของพระเจ้าผู้ทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้สำหรับคนที่เชื่อฟัง และโดยทางพระวิญญาณของพระองค์และพระคุณที่ทำงานอยู่ภายในเรา ผมไม่คิดจะละส่วนย่อยของคำเทศนานี้แล้วอ้างว่า “มันเป็นเรื่องของอนาคต” ที่จริงคุณจะสังเกตุเห็นว่าเมื่อพระเยซูตรัสถึงแผ่นดินสวรรค์ พระองค์กำลังตรัสถึงทั้งในอนาคตและปัจจุบัน พระเยซูกำลังตรัสถึงลักษณะของผู้ที่อยู่ในแผ่นดินของพระเจ้า และตรัสถึงลักษณะของผู้เชื่อแท้ในองค์พระเยซูคริสต์

มีรูปแบบเฉพาะอยู่ในคำเทศนาบนภูเขา ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณดูข้อ 3 ของบทที่ 5 พระเยซูตรัสว่า ““บุคคลผู้ใด รู้สึกบกพร่องฝ่ายวิญญาณ ผู้นั้นเป็นสุข เพราะแผ่นดินสวรรค์เป็นของเขา” — เป็นประโยคปัจจุบันกาล พอมาถึงข้อ 10 “บุคคลผู้ใดต้องถูกข่มเหงเพราะเหตุความชอบธรรม ผู้นั้นเป็นสุข เพราะว่าแผ่นดินสวรรค์เป็นของเขา” ก็เป็นประโยคปัจจุบันกาล —แผ่นดินเป็นของพวกเขา—และระหว่างนั้น จากข้อ 4 ถึงข้อ 9 เป็นประโยคอนาคตกาล:

5:4 “บุคคลผู้ใดโศกเศร้า ผู้นั้นเป็นสุข เพราะว่าเขาจะได้รับการทรงปลอบประโลม”

5:5 “บุคคลผู้ใดมีใจอ่อนโยน ผู้นั้นเป็นสุข เพราะว่าเขาจะได้รับแผ่นดินโลกเป็นมรดก”

5:6 “บุคคลผู้ใดหิวกระหาย ความชอบธรรม ผู้นั้นเป็นสุข เพราะว่าพระเจ้าจะทรงให้อิ่มบริบูรณ์”

5:7 “บุคคลผู้ใดมีใจกรุณา ผู้นั้นเป็นสุข เพราะว่าเขาจะได้รับพระกรุณาตอบ”

5:8 “บุคคลผู้ใดมีใจบริสุทธิ์ ผู้นั้นเป็นสุข เพราะว่าเขาจะได้เห็นพระเจ้า”

5:9 “บุคคลผู้ใดสร้างสันติ ผู้นั้นเป็นสุข เพราะว่าพระเจ้าจะทรงเรียกเขาว่าเป็นบุตร”

ผมคิด เหมือนอย่างนักวิชาการทั้งหลาย เราต้องสรุปว่ามีมิติของปัจจุบันและอนาคตในคำสอนของพระเยซูในคำเทศนาบนภูเขา มีสิ่งที่จะเกิดขึ้น และมีการลิ้มรสล่วงหน้า (ผลแรก) ของสิ่งที่เรามีอยู่ในปัจจุบัน และรวมถึงฝูงชนที่รับฟังคำเทศนาในตอนนั้นด้วย

คำสำคัญอีกคำที่เราต้องนำมาพิจารณาคือคำว่า “ผู้นั้นเป็นสุข” เพราะนำมาใช้ครั้งแล้วครั้งเล่า คุณจะพบในฉบับแปลหลายฉบับใช้คำว่า “เป็นสุข” ซึ่งก็เป็นความจริง แต่ผมคิดว่าที่เราต้องพูดคำว่า “เป็นสุข” เพราะไปตามความหมายที่เรากำลังดู ซึ่งอาจไม่ใช่คำที่ดีที่สุด ที่จริง คุณอาจพูดว่าคนที่โศกเศร้าคงไม่น่าใช่คนที่เป็นสุข มันไม่ง่ายที่จะเป็นทั้งสองอย่าง ผมจึงขอเลือกที่จะไม่เน้นคำว่า “เป็นสุข” แม้แน่นอนจะเป็นเช่นนั้น ถ้าอยากเอนไปทาง “ไพเพอร์”4 คุณอาจพูดในมุมที่ว่ายังมีความชื่นชมและปิติยินดีเสมอ – อยู่ด้วยเสมอ และผมต้องการให้เนื้อหาในตอนนี้เป็นเช่นนั้น ผมชอบที่ฮิวจ์อธิบายไว้ในหนังสือของเขา ความหมายเบื้องต้นของคำว่า “เป็นสุข” ในตอนนี้คือได้รับการยอมรับ พระเจ้าทรงแสดงให้เห็นว่าพระองค์ยอมรับคนเหล่านี้ ผู้เป็นสุขคือผู้ที่พระเจ้าทรงยอมรับ และนี่เป็นมุมมองเดียวกับผม

ต่อไปมาดูคำว่า “บกพร่องฝ่ายวิญญาณ”““บุคคลผู้ใด รู้สึกบกพร่องฝ่ายวิญญาณ ผู้นั้นเป็นสุข เพราะแผ่นดินสวรรค์เป็นของเขา” (ข้อ 3) ผมคิดว่าคำ “บกพร่อง” ตรงนี้คือคำที่พูดถึงความขาดแคลน ความขัดสนที่ต่ำต้อยที่สุด อย่างที่นักวิชาการหลายคนบอก เป็นท่าทีของการก้มลงหรือโค้งต่ำลงด้วยความสำนึก เหมือนความจนแบบเดียวกับขอทาน ครับมีคนมากมายในโลกนี้ที่คิดว่าตัวเองยากจนแต่ไม่อาจเทียบได้กับความจนที่ เราพูดถึง มีคนบางประเภทตามมาตรฐานของรัฐบาล มีรายได้น้อยกว่าจำนวนที่ทางการกำหนด แต่ผมคิดว่ามีเปอร์เซ็นต์สูงมากที่คนจนในระดับที่พูดถึงนี้มีทีวี และมีเครื่องอำนวยความสะดวกอื่นๆ สำหรับผมแล้วน่าจะยากจนคนละแบบ

ผมยังจำเรื่องที่เจ้าหน้าที่ๆโรงเรียนพระคริสตธรรมเล่าให้ฟังได้ เป็นเรื่องเล่าขำๆของสมัยโน้น สมัยที่นักเรียนบางคนมีรถพ่วงและมีข้าวของหลายอย่างที่เป็นของตัวเอง นักเรียนคนหนึ่งพูดกับเพื่อนๆว่า “พวกเรา มันจบละ เราหมดตัว จนแล้ว ยังไม่รู้ว่าจะทำยังไงต่อไป” เพื่อนคนหนึ่งก็เริ่มคิดหาทาง ซึ่งมีน้อยนิดมาก เพื่อนคนอื่นๆคิดไม่ออก พวกเขาจึงคิดกันว่าน่าจะนำอาหารกระป๋องของแต่ละคนที่ตุนไว้มารวมกัน ยังไม่ทันได้พูดออกไป คนหนึ่งก็พูดขึ้นมาว่า “เฮ้พวก ถ้ามันลำบากนัก ผมเอาเครื่องเล่นซีดีไปขายก็ได้” ครับ พวกเราคงคิดกันว่า นี่ไม่น่าใช่ความหมายของคำว่าขัดสนหรือยากจนแน่

ความบกพร่อง (ขัดสน) ที่มัทธิวพูดถึงเป็นความขัดสนระดับต่ำที่สุด และเป็นความขัดสนฝ่ายวิญญาณ ตอนนี้ผมเข้าใจคำว่า “อดอยาก” ที่ลูกาพูดถึงในพระกิตติคุณของท่าน แต่ตอนนี้ให้เรากลับมาดูคำที่มัทธิวใช้ “บุคคลผู้ใด รู้สึกบกพร่องฝ่ายวิญญาณ ผู้นั้นเป็นสุข

ขอพูดถึงเรื่องความขัดสนทางวัตถุและสิ่งที่เกี่ยวข้อง เราต้องระวังที่จะไม่นำความยากจนมาใช้เทียบกับความเชื่อศรัทธา มีผู้ชอบธรรมที่ขัดสนในพระคัมภีร์เดิม แต่ผมกำลังนึกถึงความยากจนที่เกิดขึ้นเพราะสงครามในตะวันออกกลาง มีคนยากจนและคนที่ถูกกดขี่ข่มเหง คุณแค่เปิดฝากระป๋อง จะถูกคนยากจนกระชากไปในทันที และขโมยทุกสิ่งไปจากคุณ – มือถือ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์สื่อสารต่างๆ อะไรก็ตามที่พวกเขาฉกฉวยได้ เอาไปก็ใช้ไม่เป็น เราจึงต้องระวังอย่ามองความยากจนกับความชอบธรรมตามจำนวนเงินติดลบในบัญชี หนังสือสุภาษิตพูดเรื่องความยากจนและความมั่งมีไว้ค่อนข้างมาก และบ่อยครั้งพูดถึงคนยากจนว่าเป็นคนเกียจคร้านหรือโง่เขลา ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับฝ่ายวิญญาณ ที่จริงในหนังสือสุภาษิต บรรดาคนที่มั่งมีมักเป็นคนที่ทำงานหนักและมีปัญญา สุภาษิต 30:8-9 กล่าวว่า:

8 ขอให้ความมุสาและความเท็จไกลจากข้าพระองค์ ขออย่าประทานความยากจนหรือความมั่งคั่งแก่ข้าพระองค์ ขอเลี้ยงข้าพระองค์ด้วยอาหารที่พอดีแก่ข้าพระองค์ 9 เกรงว่าข้าพระองค์จะอิ่ม และปฏิเสธพระองค์ แล้วพูดว่า “พระเจ้าเป็นผู้ใดเล่า” หรือเกรงว่าข้าพระองค์จะยากจนและขโมย และกระทำให้พระนามพระเจ้าของข้าพระองค์เป็นมลทิน

พระวจนะตอนนี้บอกเราว่าทั้งความยากจนและความมั่งมีต่างก็มีจุดอ่อนในตัว เอง มีข้อบกพร่อง มีสิ่งเย้ายวน และมีปัญหาในตัวเอง ดังนั้นคนมั่งมีตามที่ อ.เปาโลเตือนใน 1ทิโมธี 6 ว่าอย่าวางใจในความไม่แน่นอนของความมั่งมี แต่คนยากจนควรต้องระมัดระวังที่จะไม่อ้างความยากจนและละเลยมาตรฐานความชอบ ธรรมและความยุติธรรมของพระเจ้า แก้ปัญหาความยากจนในแบบที่ผิด คุณไม่อาจอ้างว่าเป็นเพราะความมั่งมี หรือเพราะความยากจน ผมชอบที่แม็กซ์ ลูคาโดเขียนไว้ในหนังสือประกอบคำอธิบายคำเทศนาบนภูเขา ที่พูดว่ามันไม่ใช่เพราะความใหญ่ของเงินที่คนรวยมีที่สร้างปัญหาให้พวกเขา แต่เพราะหัวที่ใหญ่เกินตัวของพวกเขาต่างหาก5ผมว่านี่แหละประเด็น ไม่ใช่เรื่องเงิน แต่เป็นความรู้สึกมั่นคงและมั่นใจที่มาพร้อมกับความมั่งมีที่ทำให้พวกเขามีปัญหา

พระเยซูตรัสถึงความยากจน (บกพร่อง) ฝ่ายวิญญาณ พระองค์กำลังตรัสถึง “จิตวิญญาณที่ล้มละลาย” ปัญหาของคำว่า “ล้มละลาย” และแนวคิดเรื่องนี้คือคุณไม่ได้หมดตัว ในปัจจุบัน หลายสายการบินในอเมริกากำลังสูญเสียรายได้ แต่ที่พวกเขาพูดทำนองว่าจะฟ้องขอล้มละลาย ก็เพื่อปกป้องทรัพย์สินของบริษัท นี่เป็นคนละเรื่องกับล้มละลายฝ่ายวิญญาณ เมื่อเราประกาศว่าเป็นผู้ล้มละลายฝ่ายวิญญาณ ไม่มีอะไรเหลือเลยในธนาคาร ไม่มีเครื่องบินจอดอยู่ ไม่มีนักบิน ไม่มีเงินชดเชยหลังเกษียน ไม่มีเหลือสักอย่างครับ เมื่อเราตระหนักว่าเราขัดสนในวิญญาณ ไม่มีอะไรเหลือเพื่อป้องกันหรือสำรองเอาไว้ มันหมดสิ้น ที่จริงยังมีหนี้ที่ต้องชดใช้อีกกองใหญ่ มีหนี้มหาศาลแต่ไม่รู้จะเอาที่ไหนมาชดใช้ นี่คือความยากจนอย่างที่เรามี ตามหลักศาสนศาสตร์ เรากำลังพูดถึงคำสอนเรื่องความเสื่อมทรามของมนุษย์ มนุษย์ไม่มีสิ่งใดที่จะมอบให้พระเจ้าได้ ไม่มีทางเท่าเทียม ไม่ว่าการปฏิบัติ การทำดีเพื่อให้สมกับความชอบธรรมของพระเจ้า เราอ่านในโรม 3:9

3:9 ถ้าเช่นนั้นจะเป็นอย่างไร พวกยิวเรา จะได้เปรียบกว่าหรือ เปล่าเลยเพราะเราได้ชี้แจงให้เห็นแล้วว่า มนุษย์ทุกคนทั้งพวกยิวและพวกต่างชาติต่างก็อยู่ใต้อำนาจของบาป

3:10 ตามที่พระคัมภีร์มีเขียนไว้ว่า

ไม่มีผู้ใดเป็นคนชอบธรรมสักคนเดียว ไม่มีเลย

11 ไม่มีคนที่เข้าใจ

ไม่มีคนที่แสวงหาพระเจ้า

12 เขาทุกคนหลงผิดไปหมด

เขาทั้งปวงเลวทรามเหมือนกันสิ้น

ไม่มีสักคนเดียวที่กระทำดี ไม่มีเลย

13 ลำคอของเขาคือหลุมฝังศพที่เปิดอยู่

เขาใช้ลิ้นของเขาในการล่อลวง

พิษงูร้ายอยู่ใต้ริมฝีปากของเขา

14 ปากของเขาเต็มไปด้วยคำแช่งด่าและคำเผ็ดร้อน

15 เท้าของเขาว่องไวในการทำให้นองเลือด

16 ในทางเดินของเขามีความพินาศและความทุกข์

17 และเขาไม่รู้จักทางแห่งสันติสุข

18 เขาไม่เคยคิดที่จะยำเกรงพระเจ้าเลย

19 เรารู้แล้วว่า ธรรมบัญญัติทุกข้อที่ได้กล่าวนั้น ก็ได้กล่าวแก่คนเหล่านั้นที่อยู่ใต้ธรรมบัญญัติ เพื่อปิดปากทุกคน และเพื่อให้มนุษย์ทุกคนในโลกอยู่ใต้การพิพากษาของพระเจ้า 20 เพราะว่าในสายพระเนตรของพระเจ้าไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดเป็นคนชอบธรรม โดยการประพฤติตามธรรมบัญญัติได้ เพราะว่าธรรมบัญญัตินั้นทำให้เรารู้จักบาปได้

นี่คือคนที่ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวยิว) ที่ดำเนินอยู่ภายใต้ธรรมบัญญัติของยิว คำสอนของยิว และทุกสิ่งมีแต่เลวร้ายลงไปกว่าที่ควรเป็น จำในมัทธิว 23 ได้หรือไม่ พระเยซูตรัสถึงพวกฟาริสีและความหน้าซื่อใจคดของพวกเขา พระองค์ตรัสว่าพวกเขาเอาห่อของหนักวางบนบ่ามนุษย์ ส่วนเขาเองแม้แต่นิ้วเดียวก็ไม่จับต้องเลย ดังนั้นภาระหนักที่บทบัญญัติวางบนบ่าของมนุษย์ ซึ่งหนักอึ้ง พวกฟาริสียังเพิ่มเข้าไปอีก เพิ่มข้อควรปฏิบัติเข้าไปอีก ผู้คนจึงอยู่ภายใต้แอกภาระหนักเหล่านี้ที่พวกเขาไม่มีทางทำได้เลย พวกเขาจึงสิ้นเนื้อประดาตัว เมื่อพระเยซูเสด็จมาตรัสว่า “มีข่าวดีสำหรับพวกท่าน ธรรมบัญญัติได้ทำหน้าที่ของมันแล้ว ทำให้เห็นว่าพวกคุณสิ้นเนื้อประดาตัว ตอนนี้คุณอยู่ในจุดที่พระพรของพระเจ้าประทานลงมาให้คุณ” คำสอนเรื่องความเสื่อมทรามของมนุษย์กล่าวว่า “ทุกคนสิ้นเนื้อประดาตัวแล้ว ไม่มีสักคนที่ชอบธรรม ไม่มีเลย ไม่มีสักคนที่แสวงหาพระเจ้า ไม่มีเลย ทุกคนล้มละลายฝ่ายวิญญาณ – สิ้นเนื้อประดาตัวฝ่ายวิญญาณ”

เมื่อพระเยซูตรัสถึงผู้ที่บกพร่อง (ขัดสน) ฝ่ายวิญญาณ พระองค์กำลังตรัสถึงกลุ่มคนเจาะจง กลุ่มย่อยของคนที่เสื่อมทรามลง และกลุ่มย่อยนี้เป็นกลุ่มที่รู้ตัวดี สิ้นเนื้อประดาตัวเป็นเรื่องหนึ่ง เสื่อมทรามลงเป็นอีกเรื่องครับ มีภาระบาปหนักอึ้งรอคอยพระอาชญาเป็นเรื่องหนึ่ง แต่เป็นอีกเรื่องเมื่อตระหนักว่า นอกจากพระคุณและพระเมตตาของพระเจ้าแล้ว เราต่างก็สิ้นหวังจมปลักอยู่ในบาปและเป็นหนี้ท่วมหัวฝ่ายวิญญาณ นี่คือคนที่ไม่เพียงแต่ล้มละลายฝ่ายวิญญาณ แต่พวกเขารู้ตัวดี

ขอยกตัวอย่างจากพระคัมภีร์ให้ดู เรื่องแรกจากหนังสือ 2พงศ์กษัตริย์ 5 เรื่องรักษาโรคของนาอามานชาวซีเรีย พระเยซูทรงอ้างถึงในพระกิตติคุณลูกา ในบทที่ 4 พูดถึงชาวต่างชาติที่เข้ามาในแผ่นดินของพระเจ้า ผมอยากให้คุณสังเกตุขั้นตอนที่พระเจ้ารับชายคนนี้เข้ามา หยิ่งยโสและต่อต้านพระองค์ ทรงทำให้เขาหันกลับ นำไปจนถึงจุดที่ท้อแท้สิ้นหวัง ไม่เหลือสิ่งใดให้หวังอีกเว้นแต่พระคุณของพระเจ้า

ลองคิดดู ชายคนนี้เป็นชาวซีเรีย ไม่ใช่คนอิสราเอล เป็นคนนอก นอกพระสัญญาของพระเจ้า และแน่นอนไม่รู้จักพระองค์ เขานมัสการพระอื่น นมัสการด้วยกันกับผู้เป็นเจ้านาย และเป็นศัตรูของอิสราเอล ไม่เพียงแต่ไม่เกี่ยวข้อง แต่ยังต่อต้านอิสราเอลด้วย ที่จริงเขาเป็นผู้บัญชาการกองทัพซีเรีย หมายความว่านอกจากอยู่ฝ่ายตรงข้ามแล้ว ยังแสวงหาชีวิตชาวอิสราเอลด้วย จึงเป็นเหมือนคนที่ไม่มีความหวังใดๆเหลือ สังเกตุดู เขาได้รับคำแนะนำให้ไปรับความช่วยเหลือในอิสราเอลโดยเด็กผู้หญิงชาวอิสราเอล – เด็กผู้หญิงตัวเล็กๆที่เป็นทาส – และพระเจ้าประทานพระคุณให้ชายคนนี้เป็นโรคเรื้อน คนที่อยู่ในตำแหน่งสูงสุดในสายงานของเขา – เป็นมือขวาของกษัตริย์ – แต่กลับเป็นโรคเรื้อน ไม่มีอะไรเลวร้ายไปกว่านี้ คงสิ้นหวัง แต่พระเจ้าบอกกับเขาผ่านเด็กหญิงที่เป็นทาสว่ามีผู้เผยพระวจนะในอิสราเอล ช่วยได้ ทำให้เขาหายจากโรค

ถ้าตามขั้นตอนปกติ เขาจะไปรับความช่วยเหลือนี้ได้อย่างไร? ผ่านทางการเมือง อำนาจ และอิทธิพล – ทุกสิ่งเหล่านี้เมื่อเราจำเป็นต้องบอกว่าเราสิ้นท่า – เป็นช่องทางที่คิดว่าต้องนำมาใช้ นาอามานจึงไปเฝ้ากษัตริย์แห่งซีเรีย ให้เขียนจดหมายเพื่อไปขอความช่วยเหลือในอิสราเอล เมื่อมาถึงสะมาเรียพร้อมด้วยจดหมายแนะนำตัวเพื่อไปเข้าเฝ้ากษัตริย์อิสราเอล ในจดหมายบ่งว่า “ชายคนนี้เป็นมือขวาของเรา จะเป็นการดีกว่าถ้าท่านช่วยเหลือเขา” กษัตริย์อิสราเอลคิดว่าปัญหามาเคาะประตูวังแล้ว “จะให้เราทำอย่างไรกัน?” ความจริงคือทำอะไรไม่ได้ จนเรื่องไปถึงหูเอลีชา เอลีชาจึงส่งข่าวมา “ไปบอกเขาว่ามีพระเจ้าในอิสราเอล และพระเจ้าองค์นี้ช่วยรักษาให้ได้”

เขาจึงมาอิสราเอลมาขอความช่วยเหลือ แต่ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากกษัตริย์ แล้วตอนนี้อยู่ที่หน้าประตูบ้านของเอลีชา เราคงนึกภาพคณะผู้ติดตามกลุ่มใหญ่มายืนรอหน้าประตูบ้านของผู้เผยพระวจนะออก อย่าลืมว่าไม่ได้มาตัวเปล่า มาพร้อมกับของสมนาคุณมากมาย แทนที่จะมีพรมแดงรอรับที่ประตูทางเข้า และเอลีชาออกมาต้อนรับคณะบุคคลสำคัญด้วยตนเอง ท่านกลับส่งคนใช้ออกมาบอกว่า “ให้ไปจุ่มตัวที่แม่น้ำจอร์แดนเจ็ดหน”

คนที่อยู่ทางใต้อาจไม่เคยเห็นแม่น้ำทางตะวันตกเฉียงเหนือ แม่น้ำที่นั่นใสแจ๋ว จำเรื่องหัวขวานตกลงไปในแม่น้ำจอร์แดนได้มั้ยครับ? ถ้าเป็นในตะวันตกเฉียงเหนือคงงมได้ง่าย เพราะมองลงไปเห็น แต่นี่เป็นแม่น้ำขุ่นคลั่กของจอร์แดน แล้วหมอนี่มาบอก “ให้ไปจุ่มตัวลงในแม่น้ำขุ่นคลั่นด้วยโคลนนี่หรือ?” ไม่มีทาง มันไม่สะอาด มีแต่จะทำให้สกปรกยิ่งขึ้น นาอามานโกรธเพราะเขาพูดว่า “ถ้าจะลงไปจุ่มตัวในน้ำ มีแม่น้ำอื่นๆที่ดีกว่านี้ตั้งเยอะ ที่นี่ไม่สะอาด ไม่น่ารักษาโรคได้” แต่คนในพวกบ่าวมาบอกว่า “ท่านทราบมั้ยครับ ถ้าท่านถูกขอให้ทำเรื่องยิ่งใหญ่ ท่านคงจะทำ นี่เขาไม่ได้ขอให้ท่านทำเรื่องยิ่งใหญ่อะไร นอกจากให้ลงไปจุ่มตัวในแม่น้ำ ไม่เห็นมีอะไรต้องเสียเลย” นาอามานจึงลงไปจุ่มตัวในแม่น้ำจอร์แดน ผมคิดว่า นอกจากเสื้อผ้าแล้ว คงต้องยอมถอดศักดิ์ศรีด้วย ผิวของท่าน เมื่อได้รับการรักษา กลับกลายเป็นเหมือนผิวเด็กทารกเมื่อขึ้นมาจากน้ำ

นาอามานกำลังมุ่งหน้าไป แต่ยังไม่ถึงปลายทาง ยังไม่เข้าใจว่าพระคุณคืออะไร เขากลับไปที่บ้านของเอลีชา สังเกตุดูตอนนี้เอลีชาออกมาต้อนรับ เขาบอกเอลีชาว่า “ผมเป็นหนี้บุญคุณท่านนะครับ ขอจ่ายให้ท่านด้วยของสมนาคุณที่ช่วยรักษาผมให้หาย” นาอามานคิดจะมอบของสมนาคุณทุกอย่างที่นำมา แต่เอลีชากลับบอกว่า “ไม่รับ” เพราะท่านไม่ได้ทำสิ่งใดในการงานของพระเจ้า หรือพระคุณของพระองค์ทั้งก่อนหน้าหรือหลังจากนั้น ท่านไม่ต้องการให้นาอามานกลับไปโดยคิดว่าเขามีส่วนในการนี้ด้วย นาอามานจำเป็นต้องเห็นวิญญาณของตนเองที่ล้มละลาย เขาจึงบอกเอลีชาว่า “ถ้าท่านไม่รับของที่ผมนำมา ผมขอนำบางสิ่งจากที่นี่กลับไป” ฟังนะครับ – เขาขอดินจากอิสราเอลกลับไป ทำไมครับ? เขาขอดินกลับไปมากพอที่ลาสองตัวจะบันทุกได้ เพราะเขาเริ่มเข้าใจแล้ว พระเจ้ามีพระประสงค์ให้เขาเป็นหนึ่งเดียวกับผืนแผ่นดินนี้ อย่างที่เราพูดกันว่าพระเจ้าทรงเป็นหนึ่งเดียวกับพระเยซูคริสต์ นาอามานเป็นหนึ่งเดียวกับผืนแผ่นดินนี้ และต่อไปเมื่อจะนมัสการ นาอามานจะนมัสการบนผืนดินอิสราเอล ในที่สุดนาอามานก็มาถึงจุดที่ตระหนักได้ว่าตนเองไม่มีอะไรจะทดแทนให้พระเจ้า ได้ เป็นฝ่ายที่รับเท่านั้น นี่คือความขัดสนฝ่ายวิญญาณ และพระเจ้าทรงมีพระคุณที่นำเขามาจนถึงแผ่นดินนี้

ลูกา 18 เป็นเรื่องคลาสสิคในพระคัมภีร์ใหม่ที่แสดงให้เห็นความขัดสนฝ่ายวิญญาณ เป็นเรื่องของฟาริสีและคนเก็บภาษี เริ่มจากข้อ 9:

9 สำหรับบางคนที่ไว้ใจในตัวเองว่าเป็นคนชอบธรรม และได้ดูหมิ่นคนอื่นนั้น พระองค์ตรัสคำอุปมานี้ว่า 10 “มีสองคนขึ้นไปอธิษฐานในบริเวณพระวิหาร คนหนึ่งเป็นพวกฟาริสีและคนหนึ่งเป็นพวกเก็บภาษี 11 คนฟาริสีนั้นยืนนึกในใจของตน อธิษฐานว่า ‘ข้าแต่พระเจ้า ข้าพระองค์โมทนาขอบพระคุณของพระองค์ ที่ข้าพระองค์ไม่เหมือนคนอื่น ซึ่งเป็นคนโลภ คนอธรรม และคนล่วงประเวณี และไม่เหมือนคนเก็บภาษีคนนี้ 12 ในสัปดาห์หนึ่งข้าพระองค์ถืออดอาหารสองหน และของสารพัดซึ่งข้าพระองค์หาได้ข้าพระองค์ได้เอาสิบชักหนึ่งมาถวาย’ 13 ฝ่ายคนเก็บภาษีนั้นยืนอยู่แต่ไกล ไม่แหงนดูฟ้า แต่ตีอกของตนว่า ‘ข้าแต่พระเจ้า ขอทรงโปรดพระเมตตาแก่ข้าพระองค์ผู้เป็นคนบาปเถิด’ 14 เราบอกท่านทั้งหลายว่า คนนี้แหละเมื่อกลับลงไปยังบ้านของตนก็นับว่าชอบธรรม มิใช่อีกคนหนึ่งนั้น เพราะว่าทุกคนที่ยกตัวขึ้นจะต้องถูกเหยียดลง แต่ทุกคนที่ได้ถ่อมตัวลงจะต้องถูกยกขึ้น” (ลูกา 18:9-14)

ผมจะบอกว่าคนเก็บภาษีขัดสนฝ่ายวิญญาณ และได้รับพระพรกลับไปเป็นผู้ชอบธรรม

เนื้อหาในมัทธิว 11 เกี่ยวข้องกับสิ่งที่พระเยซูตรัสในมัทธิว 5:3 “บุคคลผู้ใดรู้สึกบกพร่องฝ่ายวิญญาณ ผู้นั้นเป็นสุข” ในตอนต้นของมัทธิว 11 เกี่ยวข้องกับยอห์นผู้ให้บัพติศมา สาวกบางคนของท่านมาหาพระเยซูถามพระองค์ว่า “ท่านเป็นผู้ที่จะมานั้นหรือ หรือจะต้องคอยผู้อื่น” พระองค์ทรงตอบในข้อ 11 และ 12:

11 เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า ในบรรดาคนซึ่งเกิดจากผู้หญิงมานั้น ไม่มีผู้ใดใหญ่กว่ายอห์นผู้ให้รับบัพติศมา แต่ว่าผู้ที่ต่ำต้อยที่สุดในแผ่นดินสวรรค์ก็ยังใหญ่กว่ายอห์นเสียอีก 12 และตั้งแต่สมัยยอห์นผู้ให้รับบัพติศมาถึงทุกวันนี้ แผ่นดินสวรรค์ก็เป็นสิ่งที่คนได้แสวงหาด้วยใจร้อนรน และผู้ที่ใจร้อนรนก็เป็นผู้ที่ชิงเอาได้ (มัทธิว 11:11-12)

ต้องขอยอมรับว่าอาจเข้าไม่ถึงความหมายได้ทั้งหมด แต่นี่คือคนที่คิดว่าตนเองมั่งมีฝ่ายวิญญาณ มีสิทธิตามชาติกำเนิดที่จะครอบครองแผ่นดินของพระเจ้า สัมผัสได้ไหมครับว่าคนพวกนี้พยายามใช้การบีบบังคับ? นึกถึงคนเก็บภาษีที่ตระหนักว่าตนเองไม่มีสิทธิไปอ้างสิ่งใดกับพระเจ้า เป็นคนบาปอยู่ภายใต้พระอาชญาของพระองค์ สิ่งเดียวที่พอทำได้คือร้องขอความเมตตา เขาไม่ได้บุกไปที่ประตูสวรรค์พยายามดันตัวเองเข้าไป มีคนไปที่ประตูสวรรค์พยายามบุกเข้าไปด้วยความคิดว่า “ฉันมีสิทธิ ฉันสมควรได้ นี่เป็นที่ของฉัน แค่ยื่นมือออกไปรับก็เท่านั้น” นี่ตรงกันข้ามกับที่พระเยซูตรัส นี่ไม่ใช่ความมั่งมีฝ่ายวิญญาณ แต่เป็นเรื่องของวิญญาณ วิญญาณที่ถ่อมลงและเข้าไปยึดพระเจ้าไว้มั่น พึ่งพิงพระคุณ พระเมตตา และความรอดจากพระองค์ ในมัทธิว 11 พระเยซูเปรียบคนพวกนี้เหมือนเด็กเล็กๆ

16 “เราจะเปรียบคนยุคนี้เหมือนกับอะไรดี เปรียบเหมือนเด็กนั่งที่กลางตลาด ร้องแก่เพื่อนว่า 17 ‘พวกฉันได้เป่าปี่ให้พวกเธอ และเธอมิได้เต้นรำ พวกฉันได้พิลาปร่ำไห้ และพวกเธอมิได้ตีอกชกหัว’ (มัทธิว 11:16-17)

นี่เป็นภาพของลัทธิยูดายที่ตอบสนองต่อพระเยซูหรือไม่? ภาพของคนมั่งมีผ่ายวิญญาณที่พูดราวกับว่า “ท่านมาอ้างว่าตนเองเป็นพระเมสซิยาห์ ถ้าท่านเป็นพระเมสซิยาห์จริง ท่านก็ต้องเต้นตามจังหวะของเรา ท่านต้องพูดในสิ่งที่เราต้องการให้คนฟังได้ยิน” พระเยซูตรัสว่าไม่ใช่แน่นอน พระองค์เสด็จมา ไม่ได้ไปตามที่พวกเขาต้องการ ยอห์นผู้ให้บัพติศมาก็เช่นกัน

ท้ายสุดจากข้อ 25-27 :

25 ขณะนั้นพระเยซูทูลว่า “ข้าแต่พระบิดา ผู้เป็นเจ้าแห่งฟ้าสวรรค์และโลก ข้าพระองค์สรรเสริญพระองค์ ที่พระองค์ได้ทรงปิดบังสิ่งเหล่านี้ ไว้จากผู้มีปัญญาและผู้ฉลาด แต่ได้สำแดงให้ผู้น้อยรู้ 26 ข้าแต่พระบิดา พระองค์ทรงเห็นชอบดังนั้น 27 “พระบิดาของเรา ได้ทรงมอบสิ่งสารพัดให้แก่เรา และไม่มีใครรู้จักพระบุตร นอกจากพระบิดาและไม่มีใครรู้จักพระบิดานอกจากพระบุตร และผู้ที่พระบุตรประสงค์จะสำแดงให้รู้ (มัทธิว 11:25-27)

นี่เป็นภาพความคล้ายคลึงของความขัดสนฝ่ายวิญญาณ สิ่งที่คุณเห็นคือเด็กไม่มีอำนาจ ไม่มีแรง ไม่มีกำลัง สั่งให้ใครทำอะไรไม่ได้ และพระเยซูตรัสว่า “พระองค์ได้สำแดงให้รู้” ว่าพวกเขาขัดสนฝ่ายวิญญาณอย่างชัดเจนในตอนท้ายของข้อ 27 สำหรับ “ผู้ที่พระบุตรประสงค์จะสำแดงให้รู้”

ต่อไปก็ถึงพระวจนะข้อที่ผมโปรดมาก แต่อาจยังเข้าไม่ถึงได้ทั้งหมด:

“28 บรรดาผู้ทำงานเหน็ดเหนื่อยและแบกภาระหนัก จงมาหาเรา และเราจะให้ท่านทั้งหลาย หายเหนื่อยเป็นสุข 29 จงเอาแอกของเราแบกไว้ แล้วเรียนจากเรา เพราะว่าเราสุภาพและใจอ่อนน้อม และจิตใจท่านทั้งหลายจะได้พัก 30 ด้วยว่าแอกของเราก็พอเหมาะ และภาระของเราก็เบา” (มัทธิว 11:28-30)

นี่ใช่แนวคิดเดียวกับคำเทศนาบนภูเขาหรือไม่? ใช่คนที่สิ้นเนื้อประดาตัวฝ่ายวิญญาณภายใต้ภาระหนักของบทบัญญัติยูดาย ถูกกฎเกณฑ์ข้อบังคับต่างๆบดขยี้หรือไม่? พระเยซูตรัสว่า “จงมาหาเรา จงมาหาเรา” ผมคิดว่าพระองค์กำลังตรัสกับคนกลุ่มเดียวกัน ไม่ใช่กลุ่มคนที่มีชีวิตลำบาก แต่พระองค์กำลังตรัสกับคนที่ขัดสนฝ่ายวิญญาณ โดยใช้ภาพอธิบายในเรื่องเดียวกัน

มาดูสิ่งที่สามารถนำไปใช้กับข่าวประเสริฐ นักวิชาการหลายคนตั้งข้อสังเกตุว่ามัทธิว 5:3 “บุคคลผู้ใดรู้สึกบกพร่องฝ่ายวิญญาณ ผู้นั้นเป็นสุข” คือพื้นฐานของคำสอนทั้งหมดในคำเทศนาบนภูเขา เป็นพื้นฐานเพราะความบกพร่อง (ขัดสน) ฝ่ายวิญญาณที่จำเป็นสำหรับชีวิตนิรันดร์ ไม่มีใครเข้าสวรรค์ได้เพราะคิดว่าตนเองมีสิทธิ นอกจากพระเยซูคริสต์ มือของคุณต้องว่างเปล่าก่อนจะได้รับการเติมเต็มจากพระองค์ ในมือต้องไม่มีสิ่งใด เพราะนี่ไม่ใช่สิ่งที่เราทำได้ด้วยตนเอง ถ้าไม่ให้ตัวเราว่างเปล่า ถ้าไม่ให้ตัวเราขัดสนถึงที่สุด เราจะไม่ตระหนักถึงความสิ้นเนื้อประดาตัวของเราเอง นี่คือการงานแห่งพระคุณของพระเจ้า เป็นข้อพิสูจน์งานของพระองค์ในตัวเรา เราเห็นตนเองอย่างที่เราเป็น จึงพร้อมหันกลับมาหาพระองค์ ทรงเปลี่ยนจิตใจเราให้หาพระองค์ เราไม่มีสิ่งใดไปมอบให้พระองค์ได้ ไม่มีสิทธิใดไปอ้าง ไม่มีสิ่งใดที่จะทำให้พระเจ้าทำด้วยพระคุณให้เรา ทั้งหมดเป็นพระเมตตา ทั้งหมดเป็นพระคุณ

พระเจ้าทำให้สิ่งเหล่านี้เป็นไปได้อย่างไร? เกิดขึ้นได้อย่างไร? เราพูดถึงนาอามานใน 2พงศ์กษัตริย์ 5 พระเจ้าทรงใช้หลากหลายวิธี ถ้าเรามีเวลา เราคงจะได้คุยกันถึงตอนที่พระเจ้ากระชากพรมออกจากใต้คุณ และในทันทีคุณตระหนักได้ว่าคุณไม่มีสิ่งใดเหลือมอบให้พระองค์ได้ แต่พระเจ้าทรงทำสิ่งนั้นในชีวิตคุณ โดยผ่านพระวจนะและพระวิญญาณ บางครั้งพระองค์ทรงทำผ่านความบาปในชีวิตคุณ ด้วยสาเหตุบางอย่างมันก็แจ่มแจ้งแดงขึ้นมา ผ่านโศกนาฏกรรมในชีวิต ผ่านวิกฤติในครอบครัวหรือที่อื่นๆ ผ่านความเจ็บป่วย ปัญหาการเงิน ไม่ว่าจะแบบไหน พระเจ้าทรงใช้เหตุการณ์เหล่านั้นเพื่อนำคุณมาถึงพระองค์

นึกถึงความโศกเศร้า ผมสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นถ้าในนาทีที่เกิดอาการโศกเศร้า เวลาที่ตระหนักว่ามันว่างเปล่าเหลือแต่เพียงพระเจ้า? ทำให้นึกถึงถ้อยคำของดาวิด “จิตวิญญาณของข้าพเจ้าเอ๋ย ไฉนเจ้าจึงฝ่ออยู่”6 เราพูดกับตัวเอง “ทำไมเราถึงเศร้าโศกอย่างนี้? มองไปที่พระเจ้า มองไปที่พระเจ้าสิ” หนึ่งในอันตรายคือเราต้องไปจนถึงจุดที่ไม่เหลืออะไรเลย เหลือแต่ความว่างเปล่า ก่อนจะยอมหันกลับมาหาพระเยซู สำหรับพวกเราที่เป็นพ่อแม่ เป็นเพื่อน หรือเพื่อนบ้าน จุดอันตรายคือบางครั้งเราทำหลายสิ่งมากเพื่อช่วยบางคนไม่ให้ตกต่ำลงจนถึงก้น บึ้ง แต่ในความเป็นจริงแล้ว บางทีอาจเป็นงานแห่งพระคุณของพระเจ้าสำหรับพวกเขา เราต้องแยกแยะให้ดี เพราะบางทีเราอาจใช้เป็นข้ออ้างง่ายๆที่จะไม่ไปช่วยคนที่ลำบาก เพราะกลัวว่าจะไปแทรกแซงการงานของพระเจ้า เราต้องระวังและมองให้ออกว่าพระเจ้ากำลังนำใครบางคนไปถึงจุดที่สิ้นเนื้อ ประดาตัว หรือพระองค์อาจดึงบางคนเข้าให้ใกล้พระองค์ เราต้องรอบคอบต่อการตอบสนองสิ่งที่พระเจ้ากำลังทำในชีวิตผู้อื่น

จะนำไปใช้ในการประกาศอย่างไร? ผมคิดว่าเราต้องมองข่าวประเสริฐที่เรานำไปใช้ให้รอบคอบ หลายปีมาแล้วผมทำให้บางคนไม่พอใจ เป็นพี่น้องคริสเตียนที่ผมนับถือ เขาพูดว่า “ถ้าคุณกำลังจะนำใครบางคนมาถึงพระคริสต์ (คนที่ยโสมาก) คุณต้องดึงดูดคนๆนั้นด้วยความภาคภูมิใจของเขา” ผมไม่คิดอย่างนั้น เราต้องระมัดระวังในการนำเสนอพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ เราต้องไม่ดึงดูดพวกเขาด้วยสิ่งที่พระเจ้าบอกให้เขาละทิ้ง อย่าดึงดูดคนด้วยความโลภ อย่าบอกพวกเขาว่าถ้ามาเชื่อในพระเยซูแล้วชีวิตจะมีแต่ความร่ำรวย และทุกอย่างมีแต่จะดีขึ้น มันอาจไม่เป็นอย่างนั้น พระเจ้าหยิบยื่นการอภัยบาป และมอบของขวัญแห่งชีวิตนิรันดร์ให้ เราจึงต้องระวังต่อข่าวประเสริฐที่นำไปประกาศ

อย่างที่พูดไปแล้ว การยอมรับว่าตนเองล้มละลายฝ่ายวิญญาณเป็นสิ่งจำเป็นก่อนจะได้รับความรอด แต่ต้องบอกด้วยว่าจำเป็นสำหรับชีวิตคริสเตียน เราต้องระวังที่จะไม่พูดกับตัวเองว่า “โอเค ฉันได้รับความรอดแล้ว รู้แล้วว่าตัวเองเคยล้มละลายฝ่ายวิญญาณ เคยติดลบ แต่ในที่สุดก็ได้เคลียร์หนี้แล้ว” ไม่ใช่นะครับ ในหนังสือเฉลยธรรมบัญญัติ พระเจ้าตรัสกับชาวอิสราเอลว่าเมื่อพวกเขาไปถึงแผ่นดิน (หลังพ้นจากการเป็นทาส) แล้วจู่ๆจากที่ไม่เคยมีที่เป็นของตนเอง ตอนนี้ได้มีเรือกสวนไร่นา ถ้าเป็นเรา ก็คงร้องว่า “โว้ว สุดยอดเลย” ปัญหาคือพระเจ้าบอกว่า หลังจากนั้นสักพัก เมื่อพวกเขาได้กินพืชผลจากสวนที่ไม่ได้ปลูก เก็บเกี่ยวจากไร่นาที่ไม่ได้ลงแรง — สิ่งเหล่านี้พระองค์มอบให้พวกเขาโดยพระคุณ — แต่จะมาถึงวันหนึ่งที่พวกเขาบอกกับตัวเอง “ดูสิ เพราะเราเป็นคนชอบธรรมพระเจ้าถึงประทานสิ่งเหล่านี้ให้ เป็นเพราะเราจริงๆนะ” – แล้วคุณก็เริ่มมองสิ่งต่างๆเปลี่ยนไป

เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นกับคริสเตียนได้ คนที่เริ่มพูดว่า “นี่เป็นเพราะเราเป็นคนชอบธรรม” แต่พระเจ้าตรัสว่า “ไม่ใช่เลย แต่เป็นเพราะความบาปของเจ้า เจ้าชั่วร้ายยิ่งกว่า และเราได้เหวี่ยงเจ้าออกไป” มีทางเป็นไปได้เมื่อเรารับของขวัญที่พระเจ้าประทานให้ แต่แล้วกลับไปอ้างเอาความดีความชอบเข้าตัวเอง และสิ่งนี้เองที่ทำให้การนมัสการเป็นเรื่องสำคัญมากๆ การนมัสการจะนำเราย้อนกลับไป บอกว่าพระพรที่เรามีอยู่ พระเจ้าให้มาอย่างไร

เป็นสิ่งเดียวกับของประทานฝ่ายวิญญาณ เป็นเรื่องที่ผมเองต้องต่อสู้หน่อย คือสู้กับความขัดแย้งระหว่างความจริงว่าของประทานฝ่ายวิญญาณเป็นกำลังที่พระ เจ้ามอบให้ และความจริงที่ อ.เปาโลกล่าวว่าเมื่อเราอ่อนกำลังเราจะเข้มแข็ง แล้วจะทำให้กลมเกลียวไปด้วยกันอย่างไร? ผมคิดว่าเราต้องพูดว่าเรารับรู้ถึงการล้มละลายฝ่ายวิญญาณในฐานะคริสเตียน – การดำเนินชีวิตคริสเตียน การนำคนมาถึงความรอด และมีชีวิตแห่งชัยชนะ – เราเองไม่สมควรได้ ต้องเข้ามาวางใจในพระองค์และการจัดเตรียมที่ประทานให้ เมื่อไรที่เรารู้สึกว่าเราไม่ขัดสน เริ่มรู้สึกมั่งมี และรู้สึกว่าการเข้าเฝ้าพระเจ้าคือ “ไม่ต้องโทรมานะ แล้วจะโทรไปหา” ครับผมคิดว่าเมื่อพระเจ้าตรัสกับคนอิสราเอล พระองค์ตรัสกับเรา บอกกับอิสราเอลว่า “ขอเตือนเจ้าสักเรื่อง (ซึ่งบันทึกไว้ชัดเจนในเลวีนิติ) แผ่นดินนี้ไม่ใช่ของเจ้า” เมื่อชาวอิสราเอลเข้าสู่แผ่นดินคานาอัน พระเจ้าไม่ได้บอกว่า “โอเค มันเป็นของเจ้าแล้ว” แต่พระองค์บอกว่า “นี่เป็นแผ่นดินของเรา เจ้าจะได้อยู่ในแผ่นดินนี้ตราบที่เจ้าทำตามกฎเกณฑ์ของเรา และเมื่อไรที่เจ้าหยุด เจ้าก็ต้องออกไปเสีย เพราะที่นี่คือแผ่นดินของเรา”

เมื่อพูดถึงของประทานฝ่ายวิญญาณในพระคัมภีร์ใหม่ อ.เปาโลกล่าวไว้ใน 1โครินธ์ 4:7 “ท่านมีอะไรที่ท่านมิได้รับมา?” ทุก สิ่งที่คุณมี ที่คุณกำลังอวดอ้าง (อย่างที่ชาวโครินธ์ทำ) เป็นของประทานโดยพระคุณ ศัพท์สำคัญตรงนี้คือ “ผู้อารักขา” ผู้อารักขาจะตระหนักว่าสิ่งที่ได้รับมอบมา คือสิ่งที่ให้เขามีหน้าที่ดูแล แต่ไม่ใช่เจ้าของ ของประทานของเรา มรดกฝ่ายวิญญาณของเรา พระพรทุกอย่างที่พระเจ้าประทานให้ พระองค์มอบไว้ในมือเราเพื่อให้ทำหน้าที่อารักขา แต่ยังเป็นของๆพระเจ้า ไม่ใช่ของเรา ดังนั้นเราอวดอ้างไม่ได้เลย ถ้าจะอวด เราต้องอวดพระเจ้าเท่านั้น

แล้วเรื่องเห็นคุณค่าในตนเองล่ะ? ผมเคยได้ยินคริสเตียนพูดว่า “ปัญหาในคุกของเราคือ การไม่เห็นคุณค่าในตนเอง” ผมขอบอกนะครับ เราต้องประเมินความคิดนี้ให้ดีๆจากพระวจนะของพระเจ้า พระวจนะไม่ได้บอกว่า “บุคคลผู้ใด มองเห็นคุณค่าในตนเอง ผู้นั้นเป็นสุข” ผมจำไม่ได้ว่าจอห์น ไพเพอร์เขียนไว้ตรงไหน ตอนที่ปาฐกถาให้ที่ประชุมครูรวีฟัง เขาบอกว่าถ้าเอาประโยคนี้มาเรียบเรียงใหม่ “เราไม่จำเป็นต้องสร้างคุณค่าให้ตนเอง เด็กๆของเรามีอยู่แล้วเต็มไปหมด ที่เราเรียกกันว่า “อัตตา” – ความมุ่งมั่นเชื่อมั่นในตนเอง – มีมากด้วย พวกเขาเกิดมาพร้อมกับสิ่งนี้” “แต่” ไพเพอร์กล่าวว่า “เมื่ออบรมเด็กของเรา เราจำเป็นต้องสอนเรื่องพระเจ้าให้เขาฟัง จำเป็นต้องพูดกับเขาถึงความบริสุทธิ์ของพระเจ้า พวกเขาต้องเข้าใจให้ได้ว่าตนเองเป็นใครในความสัมพันธ์กับพระเจ้า” ครับ อาจมีหลายสิ่งที่เราไว้ใจ – บุคลิกของเรา ความสำเร็จของเรา สังคมและคนที่เราเกี่ยวข้องด้วย – ความเป็นจริงคือเรามักจะพบคุณค่าของเราในสิ่งเหล่านี้ เคยคิดหรือไม่ว่าทำไม อ.เปาโลต้องบอกให้เราไปสร้างความสัมพันธ์กับผู้ที่ต่ำต้อยกว่า? เพราะพวกเขาไม่มีสถานะใดๆ แต่กลับเป็นพวกที่พระเยซูออกไปตามหา ถ้าคนที่ขัดสนฝ่ายวิญญาณคือคนที่ได้รับพระพร คนเหล่านั้นก็คือคนที่ออกไปพร้อมกับข่าวประเสริฐแห่งพระกิตติคุณ

สิ่งต่างๆนี้ที่เราเอาตัว เอาหัวใจไปมอบไว้ – นักกีฬาที่เก่งๆ ดารา นักร้องและเซเลบที่ดังๆ คนที่มีอำนาจบารมี ทุกสิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เราต้องละออกมา แล้วยังสิ่งที่ดูเหมือนไปได้สวยในชีวิตเรา เช่น เวลาที่คุณมองไปที่สถิติของผู้บริหารในบริษัทหรือองค์กรต่างๆ บ่อยครั้งพวกเขาจะดูดี สวยงาม มีสง่า ทำไมครับ? เพราะคนเหล่านั้นต้องปรุงแต่ภาพลักษณ์ให้เป็นที่นิยม เราจึงต้องระวังไม่ทำหรือดำเนินชีวิตในแบบเดียวกันต่อเบื้องพระพักตร์พระ เจ้าในหลักการเดียวกับที่เราสร้างเพื่อให้มนุษย์ชื่นชม เราต้องนำทุกสิ่งมาประเมินใหม่ในความสว่างที่พระเจ้าตรัสไว้ในพระวจนะของ พระองค์

เราต้องเข้ามาสู่เวลาแห่งการนมัสการ เวลาที่เราจำได้ว่าเรามาจากไหน พระเจ้าคือผู้ใด และเราเป็นใคร และก็ไม่แปลกที่เราจะทำสิ่งนี้ทุกอาทิตย์ด้วยกันในพระกาย เราจำเป็นต้องทำเช่นนี้ในฐานะคริสเตียน “บุคคลผู้ใด รู้สึกบกพร่องฝ่ายวิญญาณ ผู้นั้นเป็นสุข” ผมต้องขอพูดเรื่องสุดท้ายอีกเรื่อง อาจมีบางคนกำลังดิ่งลงสู่ก้นบึ้งของชีวิต แล้วเขาสงสัยว่ามันคุ้มที่จะไปต่อหรือไม่ ข่าวดีคือ “บุคคลผู้ใด รู้สึกบกพร่องฝ่ายวิญญาณ ผู้นั้นเป็นสุข” ถ้า พระเจ้านำคุณไปจนถึงจุดที่เห็นว่าในตนเองไม่มีอะไรดีเลยที่สามารถให้พระเจ้า ได้ คุณก็กำลังอยู่ในที่ๆดีที่สุดที่คุณเคยไป และผมขอให้คุณเข้ามาวางใจในพระเยซู ในพระองค์เท่านั้น เพื่อจะรับเอาความรอด


1 153 นอกจากที่กล่าวไปแล้ว พระวจนะที่นำมาอ้างอิงทั้งหมดมาจาก NET Bible (The NEW ENGLISH TRANSLATION) เป็น ฉบับแปลใหม่ทั้งหมด ไม่ใช่นำฉบับเก่าในภาษาอังกฤษมาเรียบเรียงใหม่ ใช้ผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการพระคัมภีร์มากกว่า ยี่สิบคน รวบรวมข้อมูล ทั้งจากภาษาฮีบรูโดยตรง ภาษาอาราเมข และภาษากรีก โครงการแปลนี้เริ่มมาจากที่เราต้องการนำ พระคัมภีร์ เผยแพร่ผ่านสื่ออีเลคโทรนิค เพื่อรองรับการใช้งานทางอินเตอร์เน็ท และซีดี (compact disk) ที่ใดก็ตามในโลก ที่ต่อเข้าอินเตอร์เน็ทได้ ก็สามารถเรียกดู และพริ้นทข้อมูลไว้เพื่อใช้ศึกษาเป็นการส่วนตัวได้โดยไม่คิดมูลค่า นอกจากนี้ ผู้ใดก็ตาม ที่ต้องการนำข้อมูลเกี่ยวกับพระคัมภีร์ไปเผยแพร่ต่อโดยไม่คิดเงิน สามารถทำได้จากเว็บไซด์ : www.netbible.org.

2 154 เป็นต้นฉบับของบทเรียนที่สิบในบทเรียนต่อเนื่องของพระกิตติคุณมัทธิว จัดทำโดย Robert L. Deffinbaugh 27 เมษายน 2003

3 155 R. Kent Hughes, The Sermon on the Mount: The Message of the Kingdom (Wheaton, Illinois, Crossway Books, 2001), p. 16.

4 156 จากข้อเขียนอันโด่งดังของจอห์น ไพเพอร์ (see Desiring God Ministries http://www.desiringgod.org) http://desiringgod.org/library/sermons/86/021686.html

5 157 Max Lucado, The Applause of Heaven, (Dallas, Texas, Word Publishing, 1990) p. 31.

6 158 สดุดี 42:11 สดุดี 43:5 The Holy Bible, New International Version (Colorado Springs, Colorado, International Bible Scociety, 1984)

Related Topics: Spiritual Life

Report Inappropriate Ad