MENU

Where the world comes to study the Bible

5. มารมาผจญพระเยซู ตอนที่ 1 (มัทธิว 3:13—4:4)

Related Media

คำนำ1

บางครั้งมีช่วงเวลาที่กำหนดไว้ในชีวิต ช่วงเวลาที่อาจเปลี่ยนวิถีชีวิตของเรา ไม่ว่าจะดีหรือร้าย เหตุการณ์ 9/11 ในปี 2001 เป็นช่วงเวลาที่กำหนดไว้สำหรับประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช ช่วงที่ท่านหาเสียงเลือกตั้ง ท่านรณรงค์สนับสนุนนโยบาย “ไม่ก้าวก่าย” ต่างประเทศ จำได้เมื่อโต้วาทีกับ อัล กอร์ ท่านพูดทำนองว่า “เราไม่ใช่ตำรวจโลก” จอร์จ ดับเบิลยู บุช จึงชนะมาด้วยคะแนนที่ฉิวเฉียด ไม่อาจพูดได้ว่าท่านได้รับความนิยมอย่างท่วมท้น แต่เหตุการณ์การก่อการร้ายโจมตีอาคารเวิลด์เทรดในวันที่ 11 กันยายน เปลี่ยนสิ่งนี้ไปอย่างสิ้นเชิง ประธานาธิบดีของเรา “สมศักดิ์ศรี” ตำแหน่งประธานาธิบดีในทันที และภาวะผู้นำของท่านในช่วงวิกฤตินั้นส่งให้ท่านขึ้นสู่ตำแหน่งสำคัญในทำเนียบของประวัติศาสตร์

เราสามารถเห็นช่วงหักเหที่สำคัญในชีวิตชองชายและหญิงในพระคัมภีร์ โยเซฟมีประสบการณ์กับช่วงหักเหนี้เมื่อท่านเลือกปฏิเสธนายหญิงที่มายั่วยวน และอีกช่วงหนึ่งเมื่อโยเซฟตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อครอบครัวที่พระเจ้ามอบให้ท่าน จุดหักเหในชีวิตของดาเนียลอยู่ตั้งแต่บทแรกของหนังสือดาเนียล เมื่อท่านและเพื่อนๆทั้งสามตั้งใจที่จะไม่ทำตัวเป็นมลทินด้วยอาหารสูงของพระราชา เปโตรเองก็มีช่วงสำคัญเมื่อท่าน “ประกาศการยอมรับ” พระเยซู แม้แต่ยูดาสเองก็มีช่วงหักเหนี้ (ยอห์น 12:1-8; 13:18-30)

ผมเชื่อว่าพิธีบัพติศมาของพระเยซูและเมื่อพระองค์ถูกมารมาผจญเป็นช่วงหักเหที่สำคัญสำหรับชีวิตและพระราชกิจของพระองค์ เป็นเส้นทางที่ชีวิตและพระราชกิจของพระองค์ถูกประกาศออกไป ถูกทดสอบและได้รับการยืนยัน หนังสือพระกิตติคุณคล้ายแต่ละเล่มบันทึกเรื่องการรับบัพติศมาและถูกมารผจญของพระองค์ไว้ พระกิตติคุณยอห์นบันทึกเรื่องการรับบัพติศมา แต่ไม่มีเรื่องการทดลอง อาจเป็นเพราะยอห์นเน้นความเป็นพระเจ้าของพระองค์ตั้งแต่ประโยคแรก จึงไม่จำเป็นต้องย้ำเรื่องพระเจ้าไม่ถูกล่อลวงอีก (ดูยากอบ 1:13)

ให้เรามาดูเรื่องพิธีบัพติศมาและการถูกทดลองของพระเยซูกัน เหตุการณ์นี้ไม่เพียงแต่เป็นช่วงเวลาสำคัญในพระชนม์ชีพของพระองค์เท่านั้น แต่เป็นพระราชกิจที่สำคัญยิ่งและจำเป็นต่อพระราชกิจการทรงไถ่ของพระองค์ นอกจากนั้น เราจะเรียนรู้ได้มากมายถึงวิถีของซาตานเพื่อจะรับมือกับการทดลองในชีวิตของเรา ขอให้ตั้งใจและใส่ใจในพระวจนะและพระวิญญาณของพระเจ้าเพื่อจะนำมาใช้ให้เกิดผลในชีวิตประจำวัน ตามที่พระเยซูตรัส “มนุษย์จะบำรุงชีวิตด้วยอาหารสิ่งเดียวหามิได้ แต่บำรุงด้วยพระวจนะทุกคำ ซึ่งออกมาจากพระโอษฐ์ของพระเจ้า” พระวจนะในมัทธิว รวมถึงคำตรัสของพระเยซูเป็นคำ “ซึ่งออกมาจากพระโอษฐ์ของพระเจ้า” ดังนั้นจึงเป็นถ้อยคำที่ให้ชีวิต

พระเยซูทรงรับบัพติศมา
(มัทธิว 3:13-17)

แล้วพระเยซูเสด็จจากแคว้นกาลิลี มาหายอห์นที่แม่น้ำจอร์แดนเพื่อจะรับบัพติศมาจากท่าน แต่ยอห์นทูลห้ามพระองค์ว่า "ข้าพระองค์ต้องการจะรับบัพติศมาจากพระองค์ ควรหรือที่พระองค์จะเสด็จมาหาข้าพระองค์" แต่พระเยซูตรัสตอบยอห์นว่า "บัดนี้จงยอมเถิด เพราะสมควรที่เราทั้งหลายจะกระทำตามสิ่งชอบธรรมทุกประการ" แล้วยอห์นก็ยอม ครั้นพระองค์ทรงรับบัพติศมาแล้ว ในทันใดนั้นก็เสด็จขึ้นจากน้ำ และท้องฟ้าก็แหวกออก และพระองค์ได้ทรงเห็นพระวิญญาณของพระเจ้าดุจนกพิราบ ลงมาสถิตอยู่บนพระองค์ และนี่แน่ะมีพระสุรเสียงตรัสจากฟ้าสวรรค์ว่า "ท่านผู้นี้เป็นบุตรที่รักของเรา เราชอบใจท่านมาก" (มัทธิว 3:13-17) 2

พิธีบัพติศมาของพระเยซูน่าจะเป็นการส่วนพระองค์มากกว่ากระทำในท่ามกลางผู้คน เมื่อพระองค์เสด็จมาที่แม่น้ำจอร์แดนเป็นครั้งแรกเพื่อรับบัพติศมา พระกิตติคุณลูกาพูดว่าพระเยซูมารับบัพติศมาเมื่อคนทั้งปวงมารับบัพติศมาในวันนั้น :

อยู่มาเมื่อคนทั้งปวงรับบัพติศมา และพระเยซูทรงรับด้วย ขณะเมื่อทรงอธิษฐานอยู่ ท้องฟ้าก็แหวกออก (ลูกา 3:21)

พระวจนะตอนนี้ผมมีความเห็นว่าไม่น่าจะมีกลุ่มคนเหลือเยอะมาเฝ้าดูพระเยซูรับบัพติศมา3 และคิดว่าพระองค์อาจเสด็จไปทีหลังสุดในวันนั้น หลังจากที่ทุกคนรับบัพติศมาเสร็จและกลับไปหมดแล้ว4

นอกจากนั้น ถ้าผมอ่านแต่ละตอนอย่างถูกต้อง ท้องฟ้าแหวกออกหลังจากที่ยอห์นให้บัพติศมาพระเยซูแล้ว:

ครั้นพระองค์ทรงรับบัพติศมาแล้ว ในทันใดนั้นก็เสด็จขึ้นจากน้ำ และท้องฟ้าก็แหวกออก และพระองค์ได้ทรงเห็นพระวิญญาณของพระเจ้าดุจนกพิราบ ลงมาสถิตอยู่บนพระองค์ (มัทธิว 3:16) และดู (มาระโก 1:9)ด้วย

อยู่มาเมื่อคนทั้งปวงรับบัพติศมา และพระเยซูทรงรับด้วย ขณะเมื่อทรงอธิษฐานอยู่ ท้องฟ้าก็แหวกออก (ลูกา 3:21)

ลำดับการรับบัพติศมาของพระเยซูจึงเป็นดังนี้ : พระเยซูเสด็จไปที่แม่น้ำจอร์แดน ยืนยันกับยอห์นว่าพระองค์ควรรับบัพติศมาด้วย และเมื่อรับบัพติศมาจากยอห์นในแม่น้ำจอร์แดนแล้ว เสด็จขึ้นบนฝั่ง และดูเหมือนทรงหยุดเพื่ออธิษฐาน น่าจะเป็นเวลานี้ที่ท้องฟ้าแหวกออก5 พระวิญญาณเด็จลงมาเหนือพระองค์ และพระเจ้าตรัสลงมาจากฟ้าสวรรค์

องค์พระเยซูคริสต์เองเป็นผู้ริเริ่มพิธีบัพติศมา ไม่ใช่ยอห์น พระองค์เสด็จไปหายอห์นเพื่อจะรับบัพติศมาด้วย แต่ยอห์นลังเล สิ่งที่มัทธิวชี้ให้เห็น ทำให้ต้องกลับไปดูพระกิตติคุณยอห์นที่บันทึกว่ายอห์นผู้ให้บัพติศมาไม่แน่ใจว่าพระองค์คือพระเมสซิยาห์ตามพระสัญญา จนได้ให้บัพติศมาพระองค์แล้ว (ยอห์น 1:29-34) ในมัทธิวบ่งว่ายอห์นผู้ให้บัพติศมาคุ้นเคยกับพระเยซู และอย่างน้อยอาจสงสัยว่าพระองค์คือพระเมสซิยาห์ตามพระสัญญา เมื่อพระเยซูเสด็จมารับบัพติศมา ยอห์นจึงลังเล การตอบสนองของยอห์นบอกให้รู้ว่าตระหนักถึงสถานะอันสูงส่งของพระเยซู 6 ยอห์นไม่เพียงแต่ตระหนักว่าพระเยซูสูงส่งและใหญ่ยิ่ง ท่านรู้ด้วยว่าการรับบัพติศมาของพระองค์นั้นเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ (มัทธิว 3:11) ยอห์นให้บัพติศมาด้วยน้ำ พระเยซูทรงให้บัพติศมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์และด้วยไฟ บัพติศมาของยอห์นเป็นหนึ่งในการสำนึกผิดกลับใจ ผู้คนที่มาขอรับบัพติศมาสารภาพบาปของตนเอง (มัทธิว 3:5-6) แล้วพระเยซูต้องสารภาพกลับใจจากสิ่งใด? ยอห์นคงตระหนักดีว่าพระเยซูนั้นชอบธรรมกว่าท่านนัก

แม้ยอห์นจะลังเล แต่พระเยซูทรงยืนยันที่จะรับบัพติศมาจากยอห์น เหตุผลเดียวที่พระเยซูตรัสคือ “สมควรที่เราทั้งหลายจะกระทำตามสิ่งชอบธรรมทุกประการ” (มัทธิว 3:15) ดูคำว่า “กระทำตามสิ่งชอบธรรม” เป็นบางสิ่งที่ทั้งยอห์นและพระเยซู (ดูคำว่า “เรา” ใน 3:15) สมควรกระทำ ไม่ใช่พระเยซูผู้เดียวเท่านั้น พระองค์ทรงหมายความว่าอย่างไร? พิธีบัพติศมาของพระเยซู ยอห์นและพระเยซูทรงกระทำสัญลักษณ์ที่ยิ่งใหญ่และสำคัญยิ่ง – ทั้งสองกำลังทำให้ความชอบธรรมนั้นครบถ้วน คำว่า “กระทำตาม” หมายถึงในท่ามกลางสิ่งอื่นๆ “ทำให้เกิดขึ้น” “ทำให้ครบถ้วน” “ทำให้สำเร็จลง” หรือ “ทำให้เป็นที่รู้แจ้งทั่วกัน”

เหตุการณ์นี้ทำให้ผมเริ่มเข้าใจถ้อยคำของพระเยซู ในสมัยพระคัมภีร์เดิมมีการกำหนดมาตรฐานความชอบธรรมเอาไว้ (บทบัญญติ) ซึ่งไม่มีใครทำได้ครบถ้วน ในพระคัมภีร์เดิมยังมีพระสัญญาด้วยว่าพระเจ้าจะประทานความชอบธรรมให้แก่ผู้ที่เชื่อในพระองค์ พระเยซูและยอห์นกำลังทำพันธกิจแห่งความชอบธรรม หรือความรอดโดยการเริ่มต้นพระราชกิจจานุกิจของพระเยซูสู่ภายนอกด้วยพิธีบัพติศมา ถ้อยคำที่พระเยซูตรัสกับยอห์น ผมเชื่อว่าเป็นการนำร่องก่อนที่พระองค์จะตรัสกับฝูงชนในคำเทศนาบนภูเขา:

17 "อย่าคิดว่าเรามาเลิกล้างธรรมบัญญัติและคำของผู้เผยพระวจนะ เรามิได้มาเลิกล้าง แต่มาทำให้สมบูรณ์ทุกประการ 18 เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า ตราบใดที่ฟ้าและดินดำรงอยู่ แม้อักษรหนึ่งหรือขีดๆหนึ่งก็จะไม่สูญไปจากธรรมบัญญัติ จนกว่าสิ่งที่จะต้องเกิด ได้เกิดขึ้นแล้ว 19 เหตุฉะนั้น ผู้ใดได้ทำให้ข้อเล็กน้อยสักข้อหนึ่งในธรรมบัญญัตินี้เบาขึ้น ทั้งสอนคนอื่นให้ทำอย่างนั้นด้วย ผู้นั้นจะได้ชื่อว่าเป็นผู้น้อยที่สุดในแผ่นดินสวรรค์ แต่ผู้ใดที่ประพฤติและสอนตามธรรมบัญญัติ ผู้นั้นจะได้ชื่อว่าเป็นใหญ่ในแผ่นดินสวรรค์ 20 เพราะเราบอกท่านทั้งหลายว่า ถ้าความชอบธรรมของท่าน ไม่ยิ่งกว่าความชอบธรรมของพวกธรรมาจารย์ และพวกฟาริสี ท่านจะไม่มีวันได้เข้าสู่แผ่นดินสวรรค์ (มัทธิว 5:17-20)

การทำ “ให้สมบูรณ์ทุกประการ” คือทำให้พระสัญญาเรื่องความชอบธรรมที่ทำนายไว้ในพระคัมภีร์เดิมเป็นจริงครบถ้วน และสำเร็จลงโดยองค์พระเยซูคริสต์ พิธีบัพติศมาของพระเยซูเป็นการเดินหน้าในขั้นตอนสุดท้ายของการจัดเตรียมความชอบธรรมให้แก่ผู้หลงหาย คนบาปผู้ไม่สมควรได้รับ

พิธีบัพติศมาของยอห์นสำแดงความเป็นหนึ่งเดียวระหว่างพระเยซูและตัวท่าน พันธกิจและข่าวประเสริฐของพระองค์ เมื่อยอห์นรับรองว่าพระเยซูทรงเป็นพระเมสซิยาห์ตามพระสัญญา พระเยซูทรงรับรองยอห์นและพันธกิจของท่านด้วย

เหนือไปกว่านั้น พิธีบัพติศมาของยอห์นเป็นพยานให้ท่านรู้ว่าพระเยซูทรงเป็นพระเมสซิยาห์ :

31 ข้าพเจ้าเองก็ไม่ได้รู้จักพระองค์ แต่เพื่อให้พระองค์ทรงเป็นที่ประจักษ์แก่พวกอิสราเอล ข้าพเจ้าจึงได้มาให้บัพติศมาด้วยน้ำ" 32 และยอห์นกล่าวเป็นพยานว่า "ข้าพเจ้าเห็นพระวิญญาณเหมือนดังนกพิราบ เสด็จลงมาจากสวรรค์และทรงสถิตบนพระองค์ 33 ข้าพเจ้าเองไม่รู้จักพระองค์ แต่พระองค์ทรงใช้ให้ข้าพเจ้าให้บัพติศมาด้วยน้ำ ได้ตรัสกับข้าพเจ้าว่า 'เมื่อเจ้าเห็นพระวิญญาณเสด็จลงมาสถิตอยู่บนผู้ใด ผู้นั้นแหละเป็นผู้ให้บัพติศมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์' 34 และข้าพเจ้าก็ได้เห็นแล้วและได้เป็นพยานว่า พระองค์นี้แหละเป็นพระบุตรของพระเจ้า" (ยอห์น 1:31-34)

ในพระกิตติคุณมัทธิว พระเจ้าพระบิดาทรงประกาศเลือกและตั้งพระเยซูคริสต์ขึ้นเป็นพระเมสซิยาห์โดยการเสด็จมาของพระวิญญาณบริสุทธิ์ นี่เป็นตอนหนึ่งในพระวจนะที่บอกให้เรารับรู้และยอมรับถึงการเป็นพระตรีเอกานุภาพ 7 พระบิดา พระบุตร และพระวิญญาณ เสด็จมาพร้อมกันในพิธีบัพติศมาของพระเยซู

คำตรัสของพระบิดาต้องนำไปเทียบดูกับพระวจนะหลายตอนในพระคัมภีร์เดิมเพื่อให้เข้าใจความหมายได้ดีขึ้น :

และนี่แน่ะมีพระสุรเสียงตรัสจากฟ้าสวรรค์ว่า "ท่านผู้นี้เป็นบุตรที่รักของเรา เราชอบใจท่านมาก" (มัทธิว 3:17)

12 เมื่อวันของเจ้าครบแล้ว และเจ้านอนพักอยู่กับบรรพบุรุษของเจ้า เราจะให้บุตรชายคนหนึ่งของเจ้าเกิด ขึ้นสืบต่อจากเจ้าผู้ซึ่งเกิดมาจากตัวเจ้าเองและ เราจะสถาปนาอาณาจักรของเขา 13 เขาจะเป็นผู้สร้างนิเวศเพื่อนามของเรา และเราจะสถาปนาบัลลังก์แห่งราชอาณาจักรของเขาให้อยู่เป็นนิตย์ 14 เราจะเป็นบิดาของเขา และเขาจะเป็นบุตรของเรา ถ้าเขากระทำผิดเราจะตีสอนเขาด้วยไม้เรียวของมนุษย์ ด้วยการเฆี่ยนแห่งบุตรมนุษย์ทั้งหลาย (2ซามูเอล 7:12-14)

4 พระองค์ผู้ประทับในสวรรค์ ทรงพระสรวล พระเจ้าทรงเย้ยหยันเขาเหล่านั้น

5 แล้วพระองค์ตรัสกับเขาทั้งหลายด้วยพระพิโรธ และกระทำให้เขาสยดสยองด้วยความกริ้วของพระองค์ ตรัสว่า

6 "เราได้ตั้งกษัตริย์ของเราไว้แล้ว บนศิโยน ภูเขาศักดิ์สิทธิ์ของเรา"

7 ข้าพเจ้าจะบอกถึงพระดำรัสของพระเจ้า พระองค์รับสั่งกับข้าพเจ้าว่า "เจ้าเป็นบุตรของเรา วันนี้เราได้ให้กำเนิดแก่เจ้าแล้ว

8 จงขอจากเราเถิด และเราจะมอบบรรดาประชาชาติให้เป็นมรดกของเจ้า ตลอดทั้งแผ่นดินโลกให้เป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้า

9 เจ้าจะตีเขาให้แตกด้วยกระบองเหล็ก และฟาดให้แหลกเป็นชิ้นๆ ดุจภาชนะของช่างปั้นหม้อ" (สดุดี 2:4-9)

นี่เป็นถ้อยคำที่สำคัญมาก และเป็นถ้อยคำที่เราต้องเข้าใจให้ถูกต้อง “เจ้าเป็นบุตรของเรา” ไม่ใช่เป็นการประกาศสิทธิในการเป็นบิดา หรือสิทธิทางสายเลือดต่อจากบรรพบุรุษ แต่เป็นข้อกำหนดในการตั้งกษัตริย์ขึ้นครองบัลลังก์ ในสดุดีบทที่ 2 บรรดากษัตริย์ของโลกต่างคบคิดกันต่อสู้ฟ้าสวรรค์ และถูกเตือนว่าพระเจ้าจะตั้งกษัตริย์ของพระองค์ขึ้น คือพระเมสซิยาห์ และพระองค์จะมีชัยเหนือศัตรูและจะปกครองพวกเขา ผู้เขียนหนังสือหนังสือฮีบรูนำถ้อยคำทั้งสองจากพระคัมภีร์เดิมมาไว้ด้วยกันเพื่อให้เห็นถึงประเด็นสำคัญ :

3 พระบุตรทรงเป็นแสงสะท้อนพระสิริของพระเจ้า และทรงมีสภาวะเป็นพิมพ์เดียวกันกับพระองค์ และทรงผดุงโลกไว้ด้วยพระดำรัสอันทรงฤทธิ์ของพระองค์ เมื่อพระองค์ได้ทรงชำระบาปแล้ว ก็ได้ประทับ เบื้องขวาของพระเจ้าเบื้องบน 4 พระองค์ทรงยิ่งใหญ่เหนือเหล่าทูตสวรรค์มากนัก ด้วยว่าพระองค์ทรงพระนามที่ประเสริฐกว่านามของทูตสวรรค์ 5 เพราะว่ามีผู้ใดบ้างในบรรดาทูตสวรรค์ที่พระองค์ได้ตรัสแก่เขาว่า

ท่านเป็นบุตรของเรา

วันนี้เราให้กำเนิดท่าน

และยังตรัสอีกว่า

เราจะเป็นบิดาของท่าน และท่านจะเป็นบุตรของเรา (ฮีบรู 1:3-5)8

ใน 2ซามูเอล 7 เราพบพันธสัญญาดาวิด ในบริบทก่อนหน้า ดาวิดได้แสดงความปรารถนาอยากสร้างพระนิเวศ (พระวิหาร) ให้พระเจ้า แต่พระองค์กลับให้สัญญาว่าจะประทานราชวงศ์ (สืบทอดบัลลังก์) ให้ดาวิดแทน ทรงสัญญาว่าเชื้อสายของดาวิดจะเป็นกษัตริย์องค์นิรันดร์ของอิสราเอล หลายครั้งเราจึงพบว่าพระเยซูถูกเรียกว่าเป็น “บุตรดาวิด”9 หรือ “พระเจ้าจะทรงประทานพระที่นั่งของดาวิดบรรพบุรุษของท่านให้แก่ท่าน” (ลูกา 1:32) สิ่งที่พระบิดาตรัสนั้นชัดเจน – พระเยซูคือผู้ที่พระเจ้าพระบิดาเลือกสรรและแต่งตั้งให้ปกครองเหนืออิสราเอล ในฐานะพระบุตร นั่นคือกษัตริย์ที่ทรงเจิมตั้งไว้แล้ว

เป็นพระเมสซิยาห์มีความหมายมากกว่าเป็นกษัตริย์ของอิสราเอล และมีความสำคัญ การเป็นพระเมสซิยาห์หมายความว่าพระเยซูต้องสละพระชนม์เพื่อความบาปของเรา ผมเป็นหนี้บุญคุณ เจมส์ มอนต์โกเมอร์รี่ บอยส์ ที่นำเสนออีกมุมมองในการรับรองของพระเจ้าพระบิดา :

ช่วงหลังของประโยค (ผู้ซึ่งใจเราปิติยินดี”) มาจากอิสยาห์ 42:1 ในตอนต้นของคำพยากรณ์เรื่องการทนทุกข์ของผู้รับใช้พระเจ้าผู้ซึ่งจะมาชดใช้ความผิดบาปให้อิสราเอล (อิสยาห์ 42:1-9, 49:1-7, 50:1-11 และ 52:13-53)10

พระเยซูจึงเป็นผู้ได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ (โดยพระเจ้าพระบิดา และพระเจ้าพระวิญญาณ) ในฐานะพระเมสซิยาห์ ผู้จะสละพระชนม์ชีพของพระองค์เองในฐานะผู้รับใช้ที่ทนทุกข์ และจะเริ่มต้นการปกครองบนโลกนี้เมื่อเสด็จกลับมาครั้งที่สอง

ในพิธีบัพติศมาของพระเยซู พระองค์ได้รับฤทธิอำนาจจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ เมื่อกษัตริย์อิสราเอลได้รับการเจิมตั้งโดยผู้เผยพระวจนะของพระเจ้า พวกเขาได้รับฤทธิอำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์ 11 และด้วยฤทธิอำนาจนี้กษัตริย์จะใช้ปกครองอิสราเอล พิธีบัพติศมาของพระเยซูโดยพระวิญญาณบริสุทธิ์นั้นเห็นชัดเจนด้วยการเสด็จมาของนกพิราบ 12 มาประทับอยู่เหนือพระผู้ช่วยให้รอด นี่เป็นสัญลักษณ์ที่ยืนยันว่าพระเยซูคือพระเมสซิยาห์ให้กับยอห์นผู้ให้บัพติศมา (ยอห์น 1:29-34) เป็นความเข้าใจของผมว่าขณะที่องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา ในฐานะพระเจ้า ทรงมีฤทธิอำนาจ แต่พระองค์สมัครใจเลือกที่จะไม่ใช้อำนาจนั้น แต่ตั้งพระทัยรับภาระและพันธกิจของพระองค์ตามที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จโดยยอมจำนนกับพระประสงค์ของพระบิดาด้วยฤทธิอำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์

พระวิญญาณบริสุทธิ์เกี่ยวข้องใกล้ชิดกับการสละพระชนม์ชีพเป็นเครื่องบูชาในฐานะ “พระเมษโปดกของพระเจ้า ผู้ทรงรับความผิดบาปของโลกไปเสีย” (ยอห์น 1:29) โดยทางพระวิญญาณทำให้การถวายบูชานี้สำเร็จลง:

13 เพราะว่าถ้าเลือดแพะและเลือดวัวตัวผู้ และเถ้าของลูกโคตัวเมีย ที่ประพรมลงบนคนบาปสามารถชำระมนุษย์ให้บริสุทธิ์ได้ 14 พระโลหิตของพระเยซูคริสต์ ผู้ได้ทรงถวายพระองค์เองแด่พระเจ้าโดยพระวิญญาณนิรันดร์ ให้เป็นเครื่องบูชาอันปราศจากตำหนิ ก็จะทรงชำระได้มากยิ่งกว่านั้นสักเพียงใด เพื่อให้จิตใจของคนที่หมกมุ่นในการประพฤติที่นำไปสู่ความตาย หันไปรับใช้พระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่ (ฮีบรู 9:13-14)

พิธีบัพติศมาของพระเยซู พระองค์ทรงแสดงสัญลักษณ์ของการยอมเชื่อฟังพระบิดาในการทำพันธกิจบนโลกนี้ ยอมถวายพระองค์เองเป็นเครื่องบูชาไถ่บาปให้แก่มนุษย์ ปัจจุบันบัพติศมาของผู้เชื่อมองย้อนกลับไปที่การสิ้นพระชนม์ ถูกฝังไว้ และการคืนพระชนม์ขององค์พระเยซูคริสต์ พิธีบัพติศมาไม่เพียงแต่ผู้เชื่อจะประกาศตนเป็นหนึ่งเดียวกับพระคริสต์ในการสิ้นพระชนม์ การถูกฝัง และการคืนพระชนม์ และเป็นการแสดงถึงความตั้งใจในการติดตามพระเยซูคริสต์โดยยอมเชื่อฟังพระมหาบัญชา :

18 พระเยซูจึงเสด็จเข้ามาใกล้แล้วตรัสกับเขาว่า "ฤทธานุภาพทั้งสิ้นในสวรรค์ก็ดี ในแผ่นดินโลกก็ดีทรงมอบไว้แก่เราแล้ว 19 เหตุฉะนั้นเจ้าทั้งหลายจงออกไปสั่งสอนชนทุกชาติ ให้เป็นสาวกของเรา ให้รับบัพติศมาในพระนามแห่งพระบิดา พระบุตรและพระวิญญาณบริสุทธิ์ 20 สอนเขาให้ถือรักษาสิ่งสารพัดซึ่งเราได้สั่งพวกเจ้าไว้ นี่แหละเราจะอยู่กับเจ้าทั้งหลายเสมอไป จนกว่าจะสิ้นยุค" (มัทธิว 28:18-20)

ขณะที่บัพติศมาของผู้เชื่อมองย้อนกลับไปที่การสิ้นพระชนม์ของพระคริสต์ การถูกฝัง และการคืนพระชนม์ (โรม 6:1-11) พิธีบัพติศมาของยอห์นเป็นการมองไปข้างหน้าถึงการสิ้นพระชนม์ การถูกฝัง และการคืนพระชนม์แทนความผิดบาปของมนุษย์ พิธีบัพติศมาของพระเยซูไม่ได้รวมถึงการสำนึกผิดกลับใจ เพราะพระองค์ไม่มีบาป (ซึ่งเราจะเรียนต่อเมื่อมารมาผจญ และการตอบสนองของพระองค์) อาจเป็นได้ที่พระองค์แสดงตนร่วมกับคนบาป แต่ไม่ได้แสดงว่าทรงเป็นคนบาป จากสิ่งที่พระองค์ตรัสกับยอห์น ดูเหมือนพระองค์ไม่ได้ให้ความสนใจเรื่องความบาปเท่ากับความชอบธรรมที่จะต้องสำเร็จลงทางพระราชกิจของพระองค์โดยยอห์นมีส่วนในพันธกิจนี้ 13

หลังบัพติศมา โดยพระวิญญาณ พระเยซูถูกนำเข้าไปในถิ่นทุรกันดาร ทรงเข้าไปในถิ่นทุรกันดารทันทีเพื่อให้มารมาผจญสี่สิบวันสี่สิบคืน เมื่อพระเยซูทรงถูกทดลองในถิ่นทุรกันดาร สังเกตุดูการรับบัพติศมาของพระองค์เป็นสิ่งที่มารนำมาใช้ทดลอง ดังนั้นพิธีบัพติศมาของพระเยซูจึงเป็นพื้นฐานในการที่พระองค์ถูกทดลอง และพื้นฐานในงานพระราชกิจต่อจากนั้น

ฉากหลังของการถูกมารผจญ (มัทธิว 4:1-2)

ขอให้เราเริ่มด้วยการตั้งข้อสังเกตุหลายสิ่งที่สำคัญในเรื่องถิ่นทุรกันดาร สถานที่ๆพระเยซูเผชิญการทดลอง

ประการแรก ประสบการณ์ที่พระเยซูทรงเข้าไปในถิ่นทุรกันดาร ทำให้พระองค์มีความเป็นหนึ่งเดียวกับชนชาติอิสราเอล

1 ครั้งนั้น พระวิญญาณทรงนำพระเยซูเข้าไปในถิ่นทุรกันดาร เพื่อมารจะได้มาผจญ 2 และพระองค์ทรงอดพระกระยาหารสี่สิบวันสี่สิบคืน ภายหลังพระองค์ก็ทรงอยากพระกระยาหาร (มัทธิว 4:1-2)

การทดลองที่พระเยซูเผชิญในถิ่นทุรกันดาร 40 วันและคืน ทำให้พระองค์เชื่อมโยงเข้ากับชนชาติอิสราเอล อย่างที่มัทธิวบันทึกไว้ก่อนหน้า (ดูมัทธิว 1:1-17) อิสราเอลผ่านเข้าพิธีบัพติศมาก่อนที่จะถูกนำเข้าสู่ถิ่นทุนกันดารถึง 40 ปี ที่ๆพระเจ้าทรงทดสอบพวกเขา :

1 ดูก่อนพี่น้องทั้งหลาย ข้าพเจ้าอยากให้ท่านทั้งหลายเข้าใจว่า บรรพบุรุษของเราทั้งสิ้นได้อยู่ใต้เมฆ และได้ผ่านทะเลไปทุกคน 2 ได้รับบัพติศมาในเมฆและในทะเลเข้าสนิทกับโมเสสทุกคน (1โครินธ์ 10:1-2)

1 "บัญญัติทั้งสิ้นซึ่งข้าพเจ้าบัญชาท่านในวันนี้นั้น ท่านทั้งหลายจงระวังกระทำตาม เพื่อท่านทั้งหลายจะมีชีวิตและทวีมากขึ้น และเข้าไปยึดครองแผ่นดินซึ่งพระเยโฮวาห์ ทรงปฏิญาณที่จะกระทำแก่บรรพบุรุษของท่าน 2 ท่านทั้งหลายจงระลึกถึงทางซึ่งพระเยโฮวาห์ พระเจ้าของท่านทรงนำท่าน14 อยู่ในถิ่นทุรกันดารถึงสี่สิบปี เพื่อพระองค์จะทรงกระทำให้ท่านถ่อมใจ และทดลองให้ทราบว่าจิตใจของท่านเป็นอย่างไร ดูว่าท่านจะรักษาพระบัญญัติของพระองค์หรือไม่ 3 พระองค์ทรงกระทำให้ท่านถ่อมใจ และปล่อยท่านให้หิวและเลี้ยงท่านด้วยมานา ซึ่งท่านเองหรือปู่ย่าตายายของท่านก็ไม่ทราบว่าเป็นอะไร เพื่อพระองค์จะทรงกระทำให้ท่านตระหนักแก่ใจว่า มนุษย์จะบำรุงชีวิตด้วยอาหารสิ่งเดียวก็หามิได้ แต่มนุษย์จะมีชีวิตอยู่ได้ ด้วยทุกสิ่งที่ออกมาจากพระโอษฐ์ของพระเจ้า (เฉลยธรรมบัญญัติ 8:1-3)

พระเยซูทรงรับบัพติศมาจากยอห์นและพระวิญญาณบริสุทธิ์ หลังจากนั้นทรงเข้าสู่ถิ่นทุรกันดารในทันที ที่นั่นพระองค์ทรงอดพระกายาหาร 40 วันและคืน และถูกมารมาผจญ พระเยซูทรงเป็น “อิสราเอลแท้” ทรงเป็น “พระบุตรแท้ของพระเจ้า” เห็นได้ชัดจากการเสด็จลงมาประทับอยู่เหนือของพระวิญญาณบริสุทธิ์ และด้วยการมีชัยเหนือการทดลองของมาร ขณะที่อิสราเอลสอบไม่ผ่าน พระเยซูทรงมีชัย ทำให้พระองค์มีคุณสมบัติครบถ้วนเพื่อทำหน้าที่ชดใช้ความผิดบาปตามที่ถูกกำหนดให้เกิดขึ้นที่เนินหัวกระโหลก

ประการที่สอง พระวิญญาณบริสุทธิทรงเป็นผู้นำพระเยซูเข้าไปในถิ่นทุรกันดาร:

1ครั้งนั้น พระวิญญาณทรงนำพระเยซูเข้าไปในถิ่นทุรกันดาร เพื่อมารจะได้มาผจญ (มัทธิว 4:1)

12 ในทันใดนั้น พระวิญญาณจึงเร่งเร้าพระองค์ให้เสด็จเข้าไปในถิ่นทุรกันดาร (มาระโก 1:12)

ดูเหมือนผู้เขียนหนังสือพระกิตติคุณต้องการให้เราเข้าใจว่าพระวิญญาณบริสุทธิทรงเร้าและนำพระองค์เข้าสู่ถิ่นทุรกันดาร และถูกมารผจญ มาระโกไปไกลกว่ามัทธิว เพิ่มรายละเอียดสำคัญที่พระวิญญาณบริสุทธิเร้าพระเยซูเข้าสู่ถิ่นทุรกันดาร ไม่ใช่แค่พระองค์ทรงยอมเท่านั้น แต่เป็นการทรงนำที่น่าสนใจ

ประการที่สาม พระวิญญาณทรงนำพระเยซูตลอดในถิ่นทุรกันดาร:

พระเยซูทรงประกอบด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ ได้กลับไปจากแม่น้ำจอร์แดน และพระวิญญาณได้ทรงนำพระองค์ไป (ลูกา 4:1)

พระวิญญาณทรงนำพระองค์เข้าสู่ถิ่นทุรกันดารเป็นเรื่องหนึ่ง แต่การทรงนำของพระวิญญาณบริสุทธิวันต่อวันตลอด 40 วันในถิ่นทุรกันดาร พระวิญญาณทรงทำทั้งสองสิ่ง เรากำลังจะเรียนรู้ว่าเพราะเหตุใด

ประการที่สี่ พระเยซูทรงถูกทดลองตลอดทั้งสี่สิบวัน

เป็นเรื่องง่ายที่เราจะคิดว่าพระเยซูถูกนำเข้าไปสู่ถิ่นทุรกันดารเป็นเวลา 40 วันและคืน พอใกล้ครบกำหนดมารจึงมาล่อลวง เราอาจสรุปได้แบบนี้ถ้าดูตามที่มัทธิบันทึกไว้ แต่เรามองข้ามมาระโกและลูกาไม่ได้เลย :

13 และซาตานได้ผจญพระองค์อยู่ในนั้นถึงสี่สิบวัน พระองค์ทรงอยู่ในที่ของสัตว์ป่า และมีพวกทูตสวรรค์มาปรนนิบัติพระองค์ (มาระโก 1:13)

1 พระเยซูทรงประกอบด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ ได้กลับไปจากแม่น้ำจอร์แดน และพระวิญญาณได้ทรงนำพระองค์ไป 2 ถึงสี่สิบวันในถิ่นทุรกันดาร ทรงถูกมารทดลอง ในวันเหล่านั้นพระองค์มิได้เสวยอะไรเลย และเมื่อสิ้นสี่สิบวันแล้ว พระองค์ทรงอยากพระกระยาหาร (ลูกา 4:1-2)

ลูกาบันทึกไว้ชัดเจน : องค์พระผู้เป็นเจ้าของเราถูกมารมาผจญตลอดทั้ง 40 วัน ไม่ใช่แค่ตอนท้ายของช่วง 40 วัน การทดลองทั้งสามครั้งที่มัทธิวและลูกาบันทึกไว้เหมือนเกิดขึ้นตอนใกล้จบ 40 วัน แต่ถ้าเรานำคำพูดของลูกามาพิจารณา คงสรุปได้ว่ามีการทดลองอื่นๆก่อนหน้านั้นด้วย

ผมเข้าใจว่ามัทธิวกำลังบอกเราว่าพระวิญญาณบริสุทธิทรงมีบทบาทสำคัญในชีวิตของพระเยซูในช่วง 40 วันที่อดอาหารและถูกมารทดลอง พระเยซูทรงพึ่งพิงพระวจนะเพื่อได้รับพระกำลังและการทรงนำในระหว่างถูกทดลอง แต่ลูกาบ่งชัดเจนว่าพระวิญญาณทรงนำพระองค์ตลอด 40 วันนั้น ดังนั้น พระวจนะและพระวิญญาณของพระเจ้าที่นำทรงทำให้พระเยซูมีชัยเหนือซาตานและการทดลอง เช่นเดียวกัน พระวิญญาณของพระเจ้าทรงนำและทำให้เราเข้าใจพระวจนะและสามารถนำมาใช้ได้ (ดู 1โครินธ์ 2, ยอห์น 14:25-26, 16:12-15)

ประการที่ห้า ถิ่นทุรกันดารเองคือส่วนหนึ่งของการทดลอง

ผมเป็น “เด็กต่างจังหวัด” และยังเป็นอยู่ โตขึ้นมาในชนบทและบางครั้งต้องขี่จักรยานฝ่าความมืดไปหาเพื่อนที่บ้านอยู่ห่างไปหลายไมล์ (บางครั้งต้องเดินในป่าตอนกลางคืนด้วย) ขอบอกว่าที่นั่นนอกจากเปลี่ยวแล้วยังมีสัตว์ป่า ตอนนั้นคิดตลอดว่าถ้าเกิดเดินไปตอนกลางคืนแล้วเจอหมีหรือกวาง (หรือสัตว์อื่นๆเช่นเสือปลา)15 ในหนังสือเฉลยธรรมบัญญัติ 8 และมาระโก 1 เราเรียนรู้ว่าอิสราเอลและพระเยซูทรงอยู่ในถิ่นทุรกันดารพร้อมกับสัตว์ป่าด้วย:

15 ผู้ทรงนำท่านมาตลอดถิ่นทุรกันดารใหญ่น่ากลัว ซึ่งมีงูแมวเซาและแมงป่อง และดินแห้งแล้งไม่มีน้ำ ผู้ทรงประทานน้ำจากหินแข็งให้แก่ท่าน 16 ผู้ทรงเลี้ยงท่านทั้งหลายด้วยมานาในถิ่นทุรกันดาร ซึ่งปู่ย่าตายายของท่านไม่ทราบ เพื่อว่าพระองค์จะทรงกระทำให้ท่านถ่อมใจและทดลองท่าน เพื่อกระทำให้เกิดประโยชน์แก่ท่านในบั้นปลาย (เฉลยธรรมบัญญัติ 8:15-16)

12 ในทันใดนั้น พระวิญญาณจึงเร่งเร้าพระองค์ให้เสด็จเข้าไปในถิ่นทุรกันดาร 13 และซาตานได้ผจญพระองค์อยู่ในนั้นถึงสี่สิบวัน พระองค์ทรงอยู่ในที่ของสัตว์ป่า และมีพวกทูตสวรรค์มาปรนนิบัติพระองค์ (มาระโก 1:12-13)16

ลองจินตนาการ อยู่ลำพังในถิ่นทุรกันดารกับพวกสัตว์ป่า โดยเฉพาะเมื่อคุณยอมที่จะพึ่งพิงพระเจ้าพระบิดามากกว่าพึ่งกำลังของตนเอง (ถ้าพระเยซูไม่ได้พยายามจะหาอาหารมาทานแก้หิว ทำไมเราถึงคิดว่าพระองค์จะใช้ฤทธิอำนาจในความเป็นพระเจ้าเพื่อปกป้องตัวเองจากสัตว์ป่า?)

ประการที่หก ในระหว่าง 40 วันและคืนในถิ่นทุรกันดาร พระเยซูทรงสมัครพระทัยอดพระกายาหาร ไม่มีตรงไหนที่บอกว่าพระเยซูไม่ได้ดื่มน้ำ แต่บันทึกว่าพระองค์ทรงอดพระกายาหาร

2 และพระองค์ทรงอดพระกระยาหารสี่สิบวันสี่สิบคืน ภายหลังพระองค์ก็ทรงอยากพระกระยาหาร (มัทธิว 4:2)

เสื้อผ้าของยอห์นผู้นี้ ทำด้วยขนอูฐและท่านใช้หนังสัตว์คาดเอว อาหารของท่านคือจักจั่นและน้ำผึ้งป่า (มัทธิว 3:4)

มีสองมุมมองที่ต่างกันในการ “อดพระกายาหาร” ในถิ่นทุรกันดาร หลายคนเช่นคริสโซสตอม17 และจอห์นไพเพอร์18 ที่เชื่อว่าการอดอาหารของพระเยซูทำให้พระองค์ทรงมีกำลังเพิ่มขึ้นฝ่ายวิญญาณ เพื่อเตรียมมีชัยชนะเหนือการทดลอง แล้วยังมีคนอื่นๆเช่นคาลวิน และลูเธอร์19 ที่ไม่เห็นว่าการอดพระกระยาหารของพระเยซูเป็นการเพิ่มกำลัง แต่กลับทำให้พระองค์อ่อนแอลง ผมเองก็อยู่ในกลุ่มหลัง ผมเชื่อว่าพระเจ้าทรงทำให้เห็นความแตกต่างระหว่างการล่อลวงของเอวาและของพระเยซู อาดัมและเอวาไม่ได้อดอาหารหรือน้ำที่ในสวนเอเดน พวกเขาล้มลงโดยเลือกกินอาหารต้องห้าม พระเยซูไม่มีอาหาร แต่พระองค์ยังทรงต้านการทดลองของมารได้ มัทธิว พยายามแสดงให้เห็นว่าพระเยซูสามารถต้านการทดลองของมารได้ จึงมุ่งความสำคัญไปที่ชัยชนะของพระองค์ในเวลาที่ทรงอ่อนแอที่สุด มากกว่าเวลาเข้มแข็งที่สุด

การทดลองแรกของพระเยซู (มัทธิว 4:3-4)

3 ส่วนผู้ผจญมาหาพระองค์ทูลว่า "ถ้าท่านเป็นพระบุตรของพระเจ้า จงสั่งก้อนหินเหล่านี้ให้กลายเป็นพระกระยาหาร" 4 ฝ่ายพระองค์ตรัสตอบว่า "มีพระคัมภีร์เขียนไว้ว่า 'มนุษย์จะบำรุงชีวิตด้วยอาหารสิ่งเดียวหามิได้ แต่บำรุงด้วยพระวจนะทุกคำ ซึ่งออกมาจากพระโอษฐ์ของพระเจ้า'" (มัทธิว 4:3-4)

สังเกตุดูจะเห็นว่ามัทธิวเรียกมารว่า “ผู้มาผจญ” มาระโกเรียก “ซาตาน” (1:13) ขณะที่ลูกาเรียก “มาร” (4:2) มัทธิวกำลังชี้ให้เห็นตัวตนของศัตรู ท่านอธิบายให้เห็นถึงธรรมชาติและลักษณะของมัน นี่คือตัวตนของมาร นี่คือสิ่งที่มันทำ มันคือ “ผู้มาผจญ” และถ้ามันเอาชนะได้มันก็จะเป็น “ผู้กล่าวโทษ” (ดูวิวรณ์ 12:10, เศคาริยาห์ 3:1) ซาตานมันสนุกกับการทดลอง คดโกง ฉ้อฉล และที่สุดคือได้ทำลายมนุษย์ลง (เป็นทั้งเจ้าพ่อแห่งการมุสาและฆ่าคน – ยอห์น 8:44) นี่คือซาตาน แต่ดูให้ดีๆว่ามันเสนอตัวอย่างไรเวลามาล่อลวง (ทั้งที่ในสวนเอเดนและในตอนนี้) มันมาในรูปแบบจริงใจ เป็น “มิตร” ที่อยากช่วยเหลือ ไม่เปิดเผยว่ามีผลประโยชน์แอบแฝง ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสีย จึงไม่แปลกตามที่เอวาพูด (1ทิโมธี 2:14) ว่าเธอถูกงูล่อลวง (ปฐมกาล 3:13)

ผมขอหยุดสักครู่เพื่อเตือนพวกเรา คำปรึกษาที่เลวร้ายที่สุดที่คุณเคยได้รับจากเพื่อนผู้หวังดี – “เพื่อนๆ” ของโยบ ตัวอย่างเช่น พวกเขารู้สึกว่าพวกเขากำลังให้การช่วยเหลือ และคำปรึกษานั้นก็ใช่ แต่ที่สุดแล้วพวกเขาผิดหมด (ดูโยบ 42:7-9) เปโตรคิดว่าท่านกำลังแสดงความเป็น “มิตร” ต่อพระเยซูเมื่อท่านกล่าวตำหนิพระผู้ช่วยให้รอดว่าทำไมตรัสถึงการสิ้นพระชนม์ที่บนไม้กางเขน แต่พระเยซูทรงแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า “คำปรึกษา” ของเปโตรมาจากไหน :

20 แล้วพระองค์ทรงกำชับห้ามเหล่าสาวกของพระองค์มิให้บอกผู้ใดว่า พระองค์ทรงเป็นพระคริสต์ 21 ตั้งแต่เวลานั้นมา พระเยซูทรงเริ่มเผยแก่เหล่าสาวกของพระองค์ว่า พระองค์จะต้องเสด็จไปกรุงเยรูซาเล็ม และจะต้องทนทุกข์ทรมานหลายประการจากพวกผู้ใหญ่ และพวกมหาปุโรหิตและพวกธรรมาจารย์ จนต้องถึงถูกประหารชีวิต แต่ในวันที่สามพระองค์จะทรงถูกชุบให้เป็นขึ้นมาใหม่ 22 ฝ่ายเปโตรเอามือจับพระองค์ทูลท้วงว่า "พระองค์เจ้าข้าให้เหตุการณ์นั้นอยู่ห่างไกลจากพระองค์เถิด อย่าให้เป็นอย่างนั้นแก่พระองค์เลย" 23 พระองค์จึงหันพระพักตร์ตรัสกับเปโตรว่า "อ้ายซาตานจงไปให้พ้น เจ้าเป็นเครื่องกีดขวางเรา เพราะเจ้าคิดอย่างคน มิได้คิดอย่างพระเจ้า" (มัทธิว 16:20-23)

การล่อลวงพระเยซูครั้งแรกตามที่บันทึกไว้ สำหรับผมแล้วข้อเสนอฟังดูน่าสนใจมาก ในอีกมุมมอง มันดูสมเหตุผลที่พระเยซูจะสั่งให้ก้อนหินเป็นขนมปัง ลองสมมุติว่าคุณไปปีนเขาเดินป่าในโคโลราโด ห่างไกลจากความศิวิไลซ์ แล้วคุณหกล้มขาหัก เสบียงหมด เดินก็ไม่ได้ ความช่วยเหลือก็อยู่ไกลเกินไป แล้วคุณก็คิดได้ว่ามีโทรศัพท์มือถืออยู่กับตัว มันสมเหตุผลมั้ยถ้าจะใช้มือถือนั้นโทรขอความช่วยเหลือ? ไม่เห็นจะผิดตรงไหนถ้าจะใช้ความช่วยเหลือเท่าที่หาได้มาเพื่อช่วยชีวิต?

ในความเห็นของผม เหตุผลที่ซาตานนำมาใช้ในการทดลองครั้งแรกของพระเยซูเป็นแบบนี้ครับ :

“พระเยซู ที่นี่คือถิ่นทุรกันดาร ไม่มีทางหาอาหารจากที่ไหน สี่สิบวันผ่านไปแล้ว ถ้าไม่ทำอะไรสักอย่างท่านคงต้องตายแน่ แล้วถ้าตายไปจะไปช่วยอะไรใครได้? ช่วยตัวเองก่อนเถอะ สั่งหินพวกนี้ให้เป็นขนมปัง ท่านเป็นถึงพระเมสซิยาห์ไม่ใช่หรือ ทำเรื่องแบบนี้ทำได้อยู่แล้ว”

ดูผิวเผิน การทดลองแรกของพระเยซูไม่น่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับที่เอวาถูกล่อลวงที่ในสวนเอเดน เอเดนเป็นสถานที่ๆสมบูรณ์แบบ อุดมไปด้วยพืชผักผลไม้ มีอาหารอร่อยๆให้เลือกทานได้ไม่จำกัด มีน้ำมากด้วย แล้วก็ไม่มีอันตรายจากสัตว์ป่า ในขณะที่การทดลองทั้งสอง (ในสวนเอเดนและในถิ่นทุรกันดาร) อาจดูแตกต่าง แต่การล่อลวงเองกลับมีหลายสิ่งที่คล้ายคลึงกัน เช่น :

(1) ผู้มาผจญเป็นคนๆเดียวกัน – ซาตาน

(2) ทั้งสองกรณีเกี่ยวกับเรื่องการกินอาหารต้องห้าม ในสวนเอเดน อาดัมและเอวาถูกสั่งห้ามไม่ให้กินผลไม้จากต้นไม้ต้นหนึ่ง ในถิ่นทุรกันดาร พระวิญญาณบริสุทธิทรงนำพระเยซูให้อดพระกายาหาร ดังนั้นการกินจึงเป็นสิ่งต้องห้ามจนกว่าพระเจ้าจะอนุญาตให้เวลาการอดพระกายาหารนั้นสิ้นสุดลง

(3) การล่อลวงทั้งสองกรณีเป็นการโจมตีโดยตรงไปที่การครอบครองของผู้ที่พระเจ้าทรงบัญชาไว้ อาดัมและเอวารับคำสั่งให้มาครอบครองดูแลสรรพสิ่งที่พระเจ้าสร้าง (ปฐมกาล 1:26-28) พระเยซูคริสต์ก็เช่นกัน (มัทธิว 3:13-17)

(4) การล่อลวงในทั้งสองกรณี ซาตานพูดเป็นนัยว่าพระเจ้าไม่ได้คิดจะให้สิ่งดีที่สุดกับพวกเขา ในการล่อลวงของเอวา ซาตานพูดทำนองพระเจ้าเก็บสิ่งดีๆไว้ ไม่ยอมให้พวกเขา โดยสั่งห้ามไม่ให้กินผลจากต้นไม้แห่งความสำนึกในความดีและความชั่ว ในกรณีของพระเยซู ซาตานพูดทำนองว่าพระองค์อาจตายเพราะอดอาหารได้

(5) ในทั้งสองกรณี ซาตานพยายามหาทางยั่วยวนคนที่ยอมจำนนกับพระเจ้าให้ทำในสิ่งที่เป็นอิสระไม่ขึ้นกับพระองค์ เพื่อให้แผนของซาตานที่บอกว่าเป็นสิ่งดีที่สุดสำหรับทั้งสองสำเร็จลง

(6) ในทั้งสองกรณี ซาตานเรียกร้องให้แต่ละคนกบฎต่อพระประสงค์ที่พระเจ้ากำหนด ในกรณีของอาดัมและเอวา พวกเขากบฎโดยขัดคำสั่งโดยตรงที่พระเจ้าสั่งห้ามไม่ให้กินผลจากต้นไม้แห่งความสำนึกในความดีและความชั่ว ในกรณีของพระเยซู ซาตานพยายามชักจูงให้พระองค์ขัดขืนการทรงนำของพระวิญญาณบริสุทธิที่ทรง “เร้า” (มาระโก 1:12) และ “ทรงนำ” (มัทธิว 4:1) พระองค์ที่ในถิ่นทุรกันดารที่นำให้พระองค์อดพระกายาหาร20

ทำความเข้าใจกับการทดลองแรก

ขอยอมรับว่า ตอนแรกผมเขวไปเพราะคิดไปว่าการทดลองครั้งแรกของพระเยซูเป็นเรื่องของอาหาร ถึงแม้พระองค์ทรงอยากพระกายาหารเพราะไม่ได้ทานอาหารมา 40 วัน ซาตานจึงชักจูงให้พระองค์หาอาหารจากก้อนหิน แต่ในตอนจบ อาหารไม่ใช่ประเด็น แต่เป็นชีวิต ขออธิบายให้ฟังจากเรื่องราวของยาโคบและเอซาวในหนังสือปฐมกาล:

27 เมื่อเด็กชายทั้งสองนั้นโตขึ้นแล้ว เอซาวก็เป็นพรานมือแม่น เป็นชาวทุ่ง ฝ่ายยาโคบเป็นคนเงียบๆอยู่กับบ้าน 28 อิสอัครักเอซาว เพราะท่านรับประทานเนื้อที่เขาล่ามา แต่นางเรเบคาห์รักยาโคบ 29 วันหนึ่งขณะที่ยาโคบต้มอาหารอยู่ เอซาวกลับมาจากท้องทุ่งหิวจัดอดอยาก 30 เอซาวพูดกับยาโคบว่า "ขอให้ข้ากินของแดงนั้น ของแดงนั้นน่ะ เพราะเราหิวจัด" (เพราะฉะนั้นเขาจึงเรียกชื่อว่าเอโดม) 31 ยาโคบว่า "ขายสิทธิบุตรหัวปีของพี่ให้ฉันก่อนซี" 32 เอซาวว่า "ดูซิ ข้ากำลังจะตายอยู่แล้ว สิทธิบุตรหัวปีจะเป็นประโยชน์อะไรแก่ข้า" 33 ยาโคบว่า "สาบานให้ฉันก่อน" เอซาวจึงสาบานให้ และขายสิทธิบุตรหัวปีของตนแก่ยาโคบ 34 ยาโคบจึงให้ขนมปังและถั่วแดงต้มแก่เอซาว เขาก็กินและดื่ม แล้วลุกไป ดังนี้เอซาวก็ดูหมิ่นสิทธิบุตรหัวปีของตน (ปฐมกาล 25:27-34)

เช่นเดียวกับพระเยซู เอซาวหิวจัดเมื่อกลับมาจากท้องทุ่ง (เราอาจนึกไม่ออกว่าหิวจัดจนจะตายเป็นอย่างไร) ยาโคบกำลังต้มเนื้ออยู่ และเอซาวอยากกินมาก แทนที่จะแบ่งเนื้อต้มให้พี่ชาย ยาโคบกลับใช้มันมาต่อรองเพื่อให้ได้สิทธิบุตรหัวปีจากพี่ ตอนที่โมเสสบันทึกเรื่องราวนี้ ท่านไม่ได้บอกเราว่าเอซาวขายสิทธิบุตรหัวปีไปอย่างถูกต้องหรือไม่เพียงแค่แลกกับเนื้อต้มกลิ่นหอม ท่านบอกแต่เพียงว่า เอซาวยอมสละสิทธิบุตรหัวปีเพราะเนื้อต้มนั้นน่ารับประทานยิ่งนัก และเอซาวยอมสละสิทธิบุตรหัวปีเพราะจากคำพูดของเอซาวที่บอกว่า “ข้ากำลังจะตายอยู่แล้ว” สิทธิบุตรหัวปีจะเป็นประโยชน์อะไรถ้าต้องหิวตาย?

มีคำกล่าวว่า “ที่ใดมีชีวิต ที่นั่นก็ยังมีความหวัง” เอซาวเห็นว่าเป็นสิ่งที่ควรทำเพราะเขากำลังจะหิวตาย รักษาชีวิตไว้จึงเป็นเรื่องชอบธรรมแลกกับสิทธิบุตรหัวปี ผมคิดว่าความจริงเอนไปข้างเอซาวที่ดูหมิ่นสิทธิบุตรหัวปีมากกว่าที่ว่าชีวิตของเขากำลังเสี่ยงตาย

ในการทดลองของพระเยซูในถิ่นทุรกันดาร ซาตานกำลังเล่นบทยาโคบเหมือนกับที่บันทึกไว้ในปฐมกาลด้านบน พระเยซูทรงอดพระกายาหารมา 40 วัน และกำลังอยากพระกายาหารมาก พูดแบบมนุษย์ ความตายอยู่ไม่ไกลเลยถ้าพระองค์ไม่รีบรับประทานอาหาร ในเมื่อชีวิตของพระองค์กำลังตกอยู่ในความเสี่ยง ทำไมไม่ทรงทำสิ่งที่สมควรเพื่อรักษาชีวิตไว้? พระองค์ทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้า มีฤทธิอำนาจเสกก้อนหินให้เป็นขนมปังได้21 เพื่อจะให้เป็นการรักษาชีวิตไว้ พระองค์ต้องยอมสละ “สิทธิที่พระเจ้าแต่งตั้ง” ในการมาปกครองของพระองค์

สิ่งที่พระเจ้าตอบสนองต่อการล่อลวงของซาตานคือกุญแจให้เราเข้าใจว่าการทดลองแรกหมายถึงสิ่งใด :

4 ฝ่ายพระองค์ตรัสตอบว่า "มีพระคัมภีร์เขียนไว้ว่า 'มนุษย์จะบำรุงชีวิตด้วยอาหารสิ่งเดียวหามิได้ แต่บำรุงด้วยพระวจนะทุกคำ ซึ่งออกมาจากพระโอษฐ์ของพระเจ้า'" (มัทธิว 4:4)

พระวจนะที่พระเยซูตอบซาตานมาจากหนังสือเฉลยธรรมบัญญัติบทที่ 8 ที่โมเสสพูดกับประชาชนอิสราเอลถึงบทเรียนที่ควรเรียนรู้ไว้จากการร่อนเรในถิ่นทุรกันดาร 40 ปี :

1 "บัญญัติทั้งสิ้นซึ่งข้าพเจ้าบัญชาท่านในวันนี้นั้น ท่านทั้งหลายจงระวังกระทำตาม เพื่อท่านทั้งหลายจะมีชีวิตและทวีมากขึ้น และเข้าไปยึดครองแผ่นดินซึ่งพระเยโฮวาห์ ทรงปฏิญาณที่จะกระทำแก่บรรพบุรุษของท่าน 2 ท่านทั้งหลายจงระลึกถึงทางซึ่งพระเยโฮวาห์ พระเจ้าของท่านทรงนำท่านอยู่ในถิ่นทุรกันดารถึงสี่สิบปี เพื่อพระองค์จะทรงกระทำให้ท่านถ่อมใจ และทดลองให้ทราบว่าจิตใจของท่านเป็นอย่างไร ดูว่าท่านจะรักษาพระบัญญัติของพระองค์หรือไม่ 3 พระองค์ทรงกระทำให้ท่านถ่อมใจ และปล่อยท่านให้หิวและเลี้ยงท่านด้วยมานา ซึ่งท่านเองหรือปู่ย่าตายายของท่านก็ไม่ทราบว่าเป็นอะไร เพื่อพระองค์จะทรงกระทำให้ท่านตระหนักแก่ใจว่า มนุษย์จะบำรุงชีวิตด้วยอาหารสิ่งเดียวก็หามิได้ แต่มนุษย์จะมีชีวิตอยู่ได้ ด้วยทุกสิ่งที่ออกมาจากพระโอษฐ์ของพระเจ้า” (เฉลยธรรมบัญญัติ 8:1-3)

เรารู้ว่าพระเจ้าทรงคำจุนชาวอิสราเอลถึง 40 ปีด้วยมานาและน้ำ พวกเขาไม่ได้ตายเพราะอดอาหาร จากที่อ่านในพระคัมภีร์เดิมผมบอกได้ว่าไม่มีชาวอิสราเอลสักคนที่ตายเพราะอดอน้ำอดอาหารในถิ่นทุรกันดารนั้น การจัดเตรียมอย่างเหนือธรรมชาติของพระเจ้าให้แก่คนอิสราเอลขณะอยู่ในถิ่นทุรกันดารกลายเป็นสัญลักษณ์ถึงความสัตย์ซื่อของพระองค์ :

15 พระองค์ประทานอาหารแก่เขาจากฟ้าสวรรค์แก้ ความหิว และทรงนำน้ำออกมาจากศิลาให้เขาแก้กระหาย และพระองค์ทรงสั่งให้เขาเข้าไปยึดแผ่นดินซึ่ง พระองค์ทรงปฏิญาณว่า จะประทานให้เขานั้น 16 "แต่เขาทั้งหลาย คือ บรรพบุรุษของข้าพระองค์ทั้งหลายได้ประพฤติอย่างหยิ่งยโส และแข็งคอของเขาเสียมิได้เชื่อฟังพระบัญญัติของพระองค์ 17 เขาทั้งหลายปฏิเสธไม่เชื่อฟัง และไม่เอาใจใส่ในการอัศจรรย์ซึ่งพระองค์ทรงประกอบ ขึ้นท่ามกลางเขา แต่เขาแข็งคอของเขา และได้แต่งตั้งหัวหน้าเพื่อจะกลับไปสู่ความเป็นทาส เขาในอียิปต์ แต่พระองค์ทรงเป็นพระเจ้าพร้อมที่จะทรงให้อภัย มีพระทัยเมตตาและกรุณา ทรงพระพิโรธช้า และทรงอุดมด้วยความรักมั่นคง และมิได้ทรงละทิ้งเขาทั้งหลาย 18 แม้ว่าเขาทั้งหลายได้สร้างรูปโคหล่อไว้สำหรับตัว และกล่าวว่า 'นี่คือพระเจ้าของเรา ผู้ทรงนำเราขึ้นมาจากอียิปต์' และได้กระทำการหมิ่นประมาทอย่างใหญ่หลวง 19 ด้วยพระกรุณาซับซ้อนของพระองค์ พระองค์ก็มิได้ทรงละทิ้งเขาในถิ่นทุรกันดาร เสาเมฆซึ่งนำเขาในกลางวันมิได้พรากจากเขาไป หรือเสาเพลิงในกลางคืนซึ่งให้แสงแก่เขาตามทาง ซึ่งเขาควรจะไปก็มิได้ขาดไป 20 พระองค์ประทานพระวิญญาณให้สั่งสอนเขา และมิได้ทรงยับยั้งมานา ของพระองค์เสียจากปากของเขาทั้งหลายและประทาน น้ำแก้กระหายของเขา 21 เออ พระองค์ทรงชุบเลี้ยงเขาทั้งหลายในถิ่นทุรกันดารสี่สิบปี และเขามิได้ขาดสิ่งใดเลย เสื้อผ้าของเขาไม่ขาดวิ่น และเท้าของเขามิได้บวม (เนหะมีย์ 9:15-21)

10 เขาทั้งหลายมิได้รักษาพันธสัญญาของพระเจ้า และปฏิเสธที่จะเดินตามกฎหมายของพระองค์

11 เขาลืมสิ่งที่พระองค์ได้ทรงกระทำ และการอัศจรรย์ซึ่งพระองค์ทรงสำแดงแก่เขา

12 พระองค์ทรงกระทำการประหลาด ต่อหน้าต่อตาบรรพบุรุษของเขา ในแผ่นดินอียิปต์ ในไร่นาโศอัน

13 พระองค์ทรงแยกทะเล และให้เขาเดินผ่านไป และกระทำให้น้ำตั้งอยู่เหมือนกองสูง

14 ในกลางวันพระองค์ทรงนำเขาด้วยเมฆ และด้วยแสงไฟคืนยังรุ่ง

15 พระเจ้าทรงผ่าหินในถิ่นทุรกันดาร ประทานน้ำเป็นอันมากให้เขาดื่ม เหมือนมาจากที่ลึก

16 พระองค์ทรงกระทำให้ลำธารออกมาจากหิน ทรงกระทำให้น้ำไหลลงมาเหมือนแม่น้ำ

17 แต่เขายังกระทำบาปยิ่งขึ้นต่อพระองค์ ได้กบฏต่อองค์ผู้สูงสุดในที่แห้งแล้ง

18 เขาทดลองพระเจ้าอยู่ในใจของเขา โดยเรียกร้องอาหารที่เขาอยาก

19 เขาพูดปรักปรำพระเจ้าว่า "พระเจ้าจะทรงเตรียมสำรับในถิ่นทุรกันดารได้หรือ

20 ดูเถิด พระองค์ทรงตีหินให้น้ำพุออกมา และลำธารก็ไหลล้น พระองค์จะประทานขนมปังด้วยได้หรือ หรือทรงจัดเนื้อให้ประชากรของพระองค์ได้หรือ"

21 เพราะฉะนั้น เมื่อพระเจ้าทรงสดับแล้ว พระองค์ทรงพระพิโรธ มีไฟลุกโพลงขึ้นสู้ยาโคบ พระพิโรธของพระองค์ สูงขึ้นสู้อิสราเอล

22 เพราะเขาไม่เชื่อพระเจ้า และไม่ไว้วางใจในฤทธิ์ช่วยของพระองค์

23 พระองค์ยังทรงบัญชาฟ้าเบื้องบน และทรงเปิดประตูฟ้าสวรรค์

24 พระองค์ทรงหลั่งมานาให้เขารับประทาน และทรงประทานทิพยาหารให้เขา

25 มนุษย์ได้กินอาหารของทูตสวรรค์ พระองค์ทรงประทานอาหารให้เขาอย่างอุดม (สดุดี 78:10-25)

37 แล้วพระองค์ทรงนำอิสราเอลออกไป พร้อมกับเงินและทองคำ และไม่มีสักคนหนึ่งในเผ่าของพระองค์สะดุด

38 เมื่อเขาพรากจากไป อียิปต์ก็ยินดี เพราะความครั่นคร้ามต่ออิสราเอล ได้ตกอยู่บนเขา

39 พระองค์ทรงกางเมฆเป็นเครื่องกำบัง และไฟให้ความสว่างเวลากลางคืน

40 เขาทั้งหลายร้องขอ และพระองค์ทรงนำนกคุ่มมา และประทานอาหารจากฟ้าให้เขาอย่างอุดม

41 พระองค์ทรงเปิดหิน และน้ำก็ไหลออกมา มันไหลไปเป็นแม่น้ำในที่แห้งแล้ง (สดุดี 105:37-41)

การ “ช่วยกู้” อิสราเอลออกมาจากการเป็นทาสในประเทศอียิปต์ของพระเจ้ารวมถึงการผ่านพิธี “บัพติศมา” (1โครินธ์ 10:2) ที่พระเจ้านำเข้าสู่ถิ่นทุรกันดารโดยพระวิญญาณ การเตรียมอาหารและน้ำให้ (เนหะมีย์ 9:19-20 ดูสดุดี 78:10-25) รวมถึงการเปิดเผยคำตรัสจากพระเจ้า การประทานพระบัญญัติให้ทางโมเสสซึ่งอิสราเอลต้องเชื่อฟังและดำเนินชีวิตตามนั้น

การจัดเตรียมที่พระเจ้าประทานให้ตามความจำเป็นของอิสราเอลในระหว่างอพยพ กลายเป็นต้นแบบแห่งการจัดเตรียมของพระเจ้าสำหรับเวลาแห่งการช่วยกู้ที่จะมาถึงในอนาคต22

8 พระเจ้าตรัสดังนี้ว่า "ในเวลาโปรดปราน เราตอบเจ้าแล้ว ในวันแห่งความรอดเราได้ช่วยเจ้า เราได้ดูแลเจ้า และมอบให้เจ้า เป็นตัวพันธสัญญาของมนุษยชาติ เพื่อสถาปนาแผ่นดิน เพื่อจะให้รับที่ร้างเปล่าเป็นมรดก 9 พลางกล่าวแก่ผู้ถูกจำจองว่า 'ออกมาเถิด' ต่อบรรดาผู้ที่อยู่ในความมืดว่า'จงปรากฏตัว' เขาทั้งหลายจะเลี้ยงชีวิตตามทาง และตามที่สูงโล้นทั้งหลายจะเป็นที่หากินของเขา 10 เขาทั้งหลายจะไม่หิวหรือกระหาย ลมที่แผดเผาหรือดวงอาทิตย์จะไม่ทำลายเขา เพราะพระองค์ซึ่งสงสารเขาจะทรงนำเขาไป และจะนำเขาไปตามน้ำพุ 11 เราจะทำภูเขาของเราทั้งหมดเป็นทางเดิน และทางหลวงของเราจะสูง 12 นี่แน่ะ พวกเหล่านี้จะมาจากเมืองไกล และนี่แน่ะ บ้างมาจากเหนือและจากตะวันตก และบ้างมาจากแผ่นดินสเวเน 13 โอ ฟ้าสวรรค์เอ๋ย จงร้องเพลงเพราะความชื่นบาน โอ แผ่นดินโลกเอ๋ย จงลิงโลดเถิด โอ ภูเขาเอ๋ย จงเปรมปรีดิ์ร้องเพลง เพราะพระเจ้าได้ทรงเล้าโลมชนชาติของพระองค์แล้ว และจะทรงเมตตาแก่คนของพระองค์ ผู้ที่ถูกข่มใจ (อิสยาห์ 49:8-13)

10 คนเหล่านั้นร้องเสียงดังว่า "ความรอดขึ้นอยู่กับพระเจ้าของเราผู้ประทับบนพระที่นั่ง และขึ้นอยู่กับพระเมษโปดก" 11 และทูตสวรรค์ทั้งปวงที่ยืนรอบพระที่นั่ง รอบผู้อาวุโส และรอบสัตว์ทั้งสี่นั้น ก้มลงกราบหน้าพระที่นั่ง และนมัสการพระเจ้า 12 และกล่าวว่า "อาเมนความสรรเสริญ พระสิริ ปัญญา คำโมทนา พระเกียรติ อำนาจ และฤทธิ์เดชจงมีแด่พระเจ้าของเราตลอดไปเป็นนิตย์ อาเมน" 13 แล้วคนหนึ่งในพวกผู้อาวุโสนั้นถามข้าพเจ้าว่า "คนที่สวมเสื้อสีขาวเหล่านี้คือใครและมาจากไหน" 14 ข้าพเจ้าตอบท่านว่า "ท่านเจ้าข้าท่านก็ทราบอยู่แล้ว" ท่านจึงบอกข้าพเจ้าว่า "คนเหล่านี้คือคนที่มาจากความทุกข์เวทนาครั้งใหญ่ พวกเขาได้ชำระล้างเสื้อผ้าของเขาในพระโลหิตของพระเมษโปดก จนเสื้อผ้านั้นขาวสะอาด 15 เพราะเหตุนั้นเขาทั้งหลายจึงได้อยู่หน้าพระที่นั่งของพระเจ้า และปรนนิบัติพระองค์ในพระวิหารของพระองค์ทั้งกลางวันและกลางคืน และพระองค์ผู้ประทับบนพระที่นั่งจะทรงสถิตด้วย และปกป้องคุ้มครองเขา 16 พวกเขาจะไม่หิวกระหายอีกเลย แสงแดดและความร้อนจะไม่ส่องต้องเขาอีกต่อไป23 17 เพราะว่าพระเมษโปดก ผู้ทรงอยู่กลางพระที่นั่งนั้นจะคุ้มครองดูแลเขา และจะทรงนำเขาไปให้ถึงน้ำพุแห่งชีวิต และพระเจ้าจะทรงเช็ดน้ำตาทุกหยดจากตาของเขาเหล่านั้น" (วิวรณ์ 7:10-17)

ย้อนกลับไปดูสิ่งที่พระเยซูทรงตอบซาตาน ซึ่งผมเชื่อว่ามันคงเถียงแบบนี้ :

(1) “ชีวิต แน่นอนรวมถึงชีวิตฝ่ายกายด้วย แต่ยังมีเรื่องอื่นมากมายกว่านั้น ชีวิตมีมิติฝ่ายวิญญาณ ซึ่งอยู่เหนือมิติฝ่ายกาย ให้ย้อนกลับไปที่การล้มลงของของมนุษย์คู่แรกในสวนเอเดน พระเจ้าสั่งอาดัมว่าวันใดที่เขา (หรือเอวา) กินจากผลของต้นไม้แห่งการสำนึกดีและชั่ว พวกเขาจะต้องตายแน่ (ปฐมกาล 2:17) พวกเขาก็กิน แต่ยังมีชีวิตฝ่ายกายต่อไปอีกหลายปี “ความตาย” ครั้งแรกที่พวกเขามีประสบการณ์คือตายฝ่ายวิญญาณ – แยกจากพระเจ้า ชีวิตมีมากกว่าการอยู่รอดทางกาย แต่มีชีวิตในสามัคคีธรรมกับพระเจ้า

(2) ชีวิตฝ่ายวิญญาณมาก่อนชีวิตฝ่ายกาย ชีวิตฝ่ายวิญญาณนั้นอยู่นิรันดร์กาล ผ่านเลยการเสียชีวิตฝ่ายกายไป ดังนั้นชีวิตฝ่ายวิญญาณจึงสำคัญกว่าชีวิตฝ่ายกาย

(3) อาหารมีเพื่อค้ำจุนชีวิตฝ่ายกาย แต่พระวจนะของพระเจ้าเริ่มต้นและค้ำจุนชีวิตฝ่ายวิญญาณ

22 ที่ท่านทั้งหลายได้ชำระจิตใจของท่านให้บริสุทธิ์แล้ว ด้วยการเชื่อฟังความจริง จนมีใจรักพวกพี่น้องอย่างจริงใจ ท่านทั้งหลายจงรักกันให้มากด้วยน้ำใสใจจริง 23 ท่านทั้งหลายได้บังเกิดใหม่แล้ว ไม่ใช่จากพันธุ์มตะ แต่จากพันธุ์อมตะ คือด้วยพระวจนะของพระเจ้าอันทรงชีวิตและดำรงอยู่ 24 เพราะว่า บรรดาเนื้อหนังก็เป็นเสมือนต้นหญ้า และบรรดาศักดิ์ศรีของเขาก็เป็นเสมือนดอกหญ้า ต้นหญ้าเหี่ยวแห้งไป และดอกก็ร่วงโรยไป 25 แต่พระวจนะของพระเจ้ายั่งยืนอยู่เป็นนิตย์ พระวจนะนั้นคือข่าวประเสริฐที่ได้ประกาศให้ท่านทั้งหลายทราบแล้ว (1เปโตร 1:22-25 และดู โรม 10:17)

46 ท่านก็กล่าวแก่เขาว่า "จงใส่ใจในถ้อยคำซึ่งข้าพเจ้ากล่าวแก่ท่านในวันนี้ เพื่อท่านจะได้บัญชาแก่ลูกหลานของท่าน เพื่อเขาจะได้ระวังที่จะกระทำตามถ้อยคำ แห่งธรรมบัญญัตินี้ทั้งสิ้น 47 เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยสำหรับท่านทั้งหลาย แต่เป็นเรื่องชีวิตของท่านทั้งหลาย และเรื่องนี้จะกระทำให้ท่านทั้งหลายมีชีวิตยืนนานในแผ่นดิน ซึ่งท่านทั้งหลายกำลังจะข้ามแม่น้ำจอร์แดนไปยึดครองนั้น" (เฉลยธรรมบัญญัติ 32:46-47)

(4) การทำตามคำแนะนำของซาตาน (การล่อลวง) จะทำให้พระเยซูละเลย ฝ่าฝืนคำสั่ง และการทรงนำของพระเจ้าผ่านทางพระวิญญาณ ไปยอมจำนนให้ซาตานนำแทน – พระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นผู้นำพระเยซูเข้าสู่ถิ่นทุรกันดาร และทรงนำให้อดพระกายาหาร ถ้าพระเยซูล้มเลิกการอดพระกายาหารก่อนที่พระวิญญาณนำ พระองค์ไม่เพียงแต่ไม่เชื่อฟังพระเจ้าผ่านการทรงนำของพระวิญญาณเท่านั้น แต่ยังทำในสิ่งที่ขัดต่อพระบัญชาของพระเจ้า และไปทำในสิ่งที่เป็น “การนำ” ของซาตาน

พระเยซูจะยอมวางพระชนม์ชีพของพระองค์ไว้กับพระบิดาหรือไม่? พระองค์จะรอดจากตายฝ่ายกายหรือถ้าจำเป็นต้องเชื่อฟังน้ำพระทัยพระบิดา? นี่เป็นการโจมตีเข้าสู่ศูนย์กลางแห่งพระประสงค์ที่พระเจ้ามีให้พระเยซูคริสต์ นี่จะไม่ใช่เป็นครั้งสุดท้ายที่พระเยซูต้องเผชิญกับข้อเสนอของซาตานที่ให้พระองค์ช่วยตัวเองก่อนโดยขัดน้ำพระทัยพระบิดา :

21 ตั้งแต่เวลานั้นมา พระเยซูทรงเริ่มเผยแก่เหล่าสาวกของพระองค์ว่า พระองค์จะต้องเสด็จไปกรุงเยรูซาเล็ม และจะต้องทนทุกข์ทรมานหลายประการจากพวกผู้ใหญ่ และพวกมหาปุโรหิตและพวกธรรมาจารย์ จนต้องถึงถูกประหารชีวิต แต่ในวันที่สามพระองค์จะทรงถูกชุบให้เป็นขึ้นมาใหม่ 22 ฝ่ายเปโตรเอามือจับพระองค์ทูลท้วงว่า "พระองค์เจ้าข้าให้เหตุการณ์นั้นอยู่ห่างไกลจากพระองค์เถิด อย่าให้เป็นอย่างนั้นแก่พระองค์เลย" 23 พระองค์จึงหันพระพักตร์ตรัสกับเปโตรว่า "อ้ายซาตานจงไปให้พ้น เจ้าเป็นเครื่องกีดขวางเรา เพราะเจ้าคิดอย่างคน มิได้คิดอย่างพระเจ้า" 24 ขณะนั้นพระเยซูจึงตรัสกับเหล่าสาวกของพระองค์ว่า "ถ้าผู้ใดใคร่ตามเรามาให้ผู้นั้นเอาชนะตัวเอง และรับกางเขนของตนแบกและตามเรามา 25 เพราะว่าผู้ใดใคร่จะเอาชีวิตรอด ผู้นั้นจะเสียชีวิต แต่ผู้ใดจะเสียชีวิตเพราะเห็นแก่เรา ผู้นั้นจะได้ชีวิตรอด 26 เพราะถ้าผู้ใดจะได้สิ่งของสิ้นทั้งโลกแต่ต้องเสียชีวิตของตน ผู้นั้นจะได้ประโยชน์อะไร หรือผู้นั้นจะนำอะไรไปแลกเอาชีวิตของตนกลับคืนมา (มัทธิว 16:21-26)

สังเกตุวิธีที่พระเยซูเปรียบเทียบชีวิตฝ่ายกายกับชีวิตฝ่ายวิญญาณ คนที่พยายามเอาชีวิต (ฝ่ายกาย) ของตนให้รอดจะสูญเสียมันไป ขณะคนที่สูญเสีย (ชีวิตฝ่ายกาย) ของตน เพื่อเห็นแก่พระองค์กลับจะได้พบชีวิต (ฝ่ายวิญญาณ ชีวิตนิรันดร์)

บนกางเขน พระเยซูทรงถูกท้าทายให้เอาชีวิต (ฝ่ายกาย) ตนเองให้รอดอีกครั้ง :

35 คนทั้งปวงก็ยืนมองดู พวกขุนนางก็เยาะเย้ยพระองค์ด้วยว่า "เขาช่วยคนอื่นให้รอดได้ ถ้าเขาเป็นพระคริสต์ของพระเจ้าที่ทรงเลือกไว้ ให้เขาช่วยตัวเองเถิด" 36 พวกทหารก็เย้ยหยันพระองค์ด้วย เข้ามาเอาเหล้าองุ่นเปรี้ยวส่งให้พระองค์ 37 แล้วว่า "ถ้าท่านเป็นกษัตริย์ของพวกยิว จงช่วยตัวเองให้รอดเถิด" 38 และมีคำเขียนไว้เหนือพระองค์ว่า "ผู้นี้เป็นกษัตริย์ของพวกยิว" 39 ฝ่ายคนหนึ่งในผู้ร้ายที่ถูกตรึงไว้จึงพูดหยาบช้าต่อพระองค์ว่า "ท่านเป็นพระคริสต์มิใช่หรือ จงช่วยตัวเองกับเราให้รอดเถิด" (ลูกา 23:35-39)

ผมเชื่อว่าเมื่อพระเยซูทรงรับบัพติศมาพระองค์ประกาศการเป็นหนึ่งเดียวกับพระประสงค์นิรันด์ของพระเจ้าเพื่อเตรียมความชอบธรรมให้กับคนบาปที่ไม่สมควรได้ พระองค์ทรงยอมเข้ารับบัพติศมาเพื่อให้เป็นสัญลักษณ์ – ถึงการสิ้นพระชนม์ ถูกฝังไว้ และคืนพระชนม์ เมื่อเผชิญการทดลองในถิ่นทุรกันดาร พระองค์ทรงยืนยันอีกครั้งถึงการตัดสินพระทัยยอมตายเพื่อคนบาป ตลอดการทำพระราชกิจจานุกิจที่บนโลก พระองค์ยังทรงมุ่งหน้าสู่เยรูซาเล็มและสู่การยอมสละพระชนม์ชีพของพระองค์

พระเยซูเข้าพระทัยถึงความสำคัญในคำตรัสที่เป็นสัญลักษณ์เมื่อเข้าพิธีบัพติศมา และในการเผชิญการทดลองครั้งแรกหรือไม่? ผมเชื่อมั่นว่าพระองค์ทรงเข้าพระทัยดี ลองฟังสิ่งที่พระองค์ตรัสในยอห์น 4:

10 พระเยซูตรัสตอบนางว่า "ถ้าเจ้าได้รู้จักของที่พระเจ้าประทาน และรู้จักผู้ที่พูดกับเจ้าว่า 'ขอน้ำให้เราดื่มบ้าง' เจ้าก็คงจะได้ขอจากท่านผู้นั้น และท่านผู้นั้นก็คงจะให้น้ำธำรงชีวิตแก่เจ้า"11 นางทูลพระองค์ว่า "ท่านเจ้าคะ ท่านไม่มีถังตัก และบ่อนี้ก็ลึก ท่านจะได้น้ำธำรงชีวิตนั้นมาจากไหน 12 ท่านเป็นใหญ่กว่ายาโคบบรรพบุรุษของเรา ผู้ได้ให้บ่อน้ำนี้แก่เราหรือ และยาโคบเองก็ได้ดื่มจากบ่อนี้รวมทั้งบุตรและฝูงสัตว์ของท่านด้วย"13 พระเยซูตรัสตอบว่า "ทุกคนที่ดื่มน้ำนี้จะกระหายอีก14 แต่ผู้ที่ดื่มน้ำซึ่งเราจะให้แก่เขานั้น จะไม่กระหายอีกเลย น้ำซึ่งเราจะให้เขานั้น จะบังเกิดเป็นบ่อน้ำพุในตัวเขาพลุ่งขึ้นถึงชีวิตนิรันดร์" …31 ในระหว่างนั้นพวกสาวกทูลเชิญพระองค์ว่า "พระอาจารย์เจ้าข้า เชิญรับประทานเถิด" 32 แต่พระองค์ตรัสกับเขาว่า "เรามีอาหารรับประทานที่ท่านทั้งหลายไม่รู้" 33 พวกสาวกจึงถามกันว่า "มีใครเอาอาหารมาถวายพระองค์แล้วหรือ" 34 พระเยซูตรัสกับเขาว่า "อาหารของเราคือการกระทำตามพระทัยของพระองค์ ผู้ทรงใช้เรามา และทำให้งานของพระองค์สำเร็จ (ยอห์น 4:10-14, 31-34)

น้ำเป็นสิ่งที่ช่วยผยุงชีวิตและดับกระหายได้ชั่วคราว แต่ “น้ำ” ของพระเยซูคริสต์ (ความรอด) จะให้ชีวิตนิรันดร์และความพึงพอใจตลอดไป อาหารไม่สำคัญเท่าอาหารฝ่ายวิญญาณของพระองค์ – คือทำตามพระทัยของพระบิดา

พระเยซูทรงอยู่ในถิ่นทุรกันดาร พื้นที่ห่างไกล เมื่อพระองค์ทรงเลี้ยงคน 5,000 ฝูงชนต้องการให้พระองค์ประทานอาหารให้พวกเขาต่อ ลองดูหลักการที่อยู่ภายใต้การเผชิญการทดลองของพระองค์อยู่ในใจกลางคำสอนของพระองค์ในยอห์น 6 :

24 เหตุฉะนั้นเมื่อประชาชนเห็นว่า พระเยซูและเหล่าสาวกไม่ได้อยู่ที่นั่น เขาจึงลงเรือไปตามหาพระเยซูที่เมืองคาเปอรนาอุม 25 ครั้นเขาได้พบพระองค์ที่ฝั่งทะเลสาบข้างโน้นแล้ว เขาทั้งหลายทูลพระองค์ว่า "พระอาจารย์เจ้าข้า ท่านมาที่นี่เมื่อไร" 26 พระเยซูตรัสกับเขาว่า "เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า ท่านทั้งหลายตามหาเรามิใช่เพราะได้เห็นหมายสำคัญ แต่เพราะได้กินขนมปังอิ่ม 27 อย่าขวนขวายหาอาหารที่เสื่อมสิ้นไป แต่จงหาอาหารที่ดำรงอยู่คืออาหารแห่งชีวิตนิรันดร์ ซึ่งบุตรมนุษย์จะให้แก่ท่าน เพราะพระเจ้าคือพระบิดาได้ทรงประทับตรามอบอำนาจแก่พระบุตรแล้ว" 28 แล้วเขาทั้งหลายก็ทูลพระองค์ว่า "ข้าพเจ้าทั้งหลายจะต้องทำประการใด จึงจะทำงานของพระเจ้าได้" 29 พระเยซูตรัสตอบเขาว่า "งานของพระเจ้านั้น คือการที่ท่านวางใจในท่านที่พระองค์ทรงใช้มา" 30 เขาทั้งหลายจึงทูลพระองค์ว่า "ถ้าเช่นนั้นท่านจะกระทำหมายสำคัญอะไร เพื่อข้าพเจ้าทั้งหลายจะเห็นและวางใจในท่าน ท่านจะกระทำอะไรบ้าง 31 บรรพบุรุษของข้าพเจ้าทั้งหลายได้กินมานา ในถิ่นทุรกันดาร ตามที่มีคำเขียนไว้ว่า 'ท่านได้ให้เขากินอาหารจากสวรรค์'" 32 พระเยซูก็ตรัสกับเขาว่า "เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า มิใช่โมเสสที่ให้อาหารจากสวรรค์นั้นแก่ท่าน แต่พระบิดาของเราประทานอาหารแท้ซึ่งมาจากสวรรค์ ให้แก่ท่านทั้งหลาย 33 เพราะว่าอาหารของพระเจ้านั้น คือท่านที่ลงมาจากสวรรค์ และประทานชีวิตให้แก่โลก" 34 เขาทั้งหลายจึงทูลพระองค์ว่า "ท่านเจ้าข้า โปรดให้อาหารนั้นแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายเสมอไปเถิด" 35 พระเยซูตรัสกับเขาว่า "เราเป็นอาหารแห่งชีวิต ผู้ที่มาหาเราจะไม่หิว และผู้ที่วางใจในเรา จะไม่กระหายอีกเลย 36 แต่เราได้บอกท่านทั้งหลายแล้วว่า ท่านได้เห็นเราแล้วแต่ก็ไม่เชื่อ 37 สารพัดที่พระบิดาทรงประทานแก่เรา จะมาสู่เรา และผู้ที่มาหาเรา เราก็จะไม่ทิ้งเขาเลย 38 เพราะว่าเราได้ลงมาจากสวรรค์ มิใช่เพื่อกระทำตามความประสงค์ของเราเอง แต่เพื่อกระทำตามพระประสงค์ของพระองค์ผู้ทรงใช้เรามา 39 และพระประสงค์ของพระบิดาผู้ทรงใช้เรามานั้น ก็คือให้เรารักษาบรรดาผู้ที่พระองค์ได้ทรงมอบไว้กับเรา มิให้หายไปสักคนเดียว แต่ให้ฟื้นขึ้นมาในวันที่สุด 40 เพราะนี่แหละเป็นพระประสงค์ของพระบิดาของเรา ที่จะให้ทุกคนที่เห็นพระบุตร และวางใจในพระบุตรได้มีชีวิตนิรันดร์ และเราจะให้ผู้นั้นฟื้นขึ้นมาในวันสุดท้าย" (ยอห์น 6:24-40)

พระเยซูทรงเป็น “น้ำแท้” และเป็น “อาหารแท้” “น้ำ” ของพระองค์จะผดุงชีวิตและดับกระหายตลอดไป เช่นกันพระองค์ทรงเป็น “อาหารแท้” (6:32) อาหารที่พระเจ้าประทานให้แก่อิสราเอลช่วยพยุงชีวิตฝ่ายกาย แต่ไม่อาจให้ชีวิตนิรันดร์ พระเยซูทรงเป็น “อาหารแท้” ที่ให้ชีวิตนิรันดร์ พระองค์จึงทรงเตือนคนที่ติดตามพระองค์ว่าอย่าแสวงหาอาหารฝ่ายกาย แต่ให้แสวงหาอาหารจากสวรรค์ – คือพระองค์เอง ไม่ใช่พระองค์เท่านั้น แต่เป็นพระเยซูผู้ถูกตรึงกางเขน ยอมสละพระชนม์เพื่อคนบาป

บทสรุป

พิธีบัพติศมาของพระเยซู และการถูกมารผจญได้ให้นัยสำคัญเพื่อให้คริสเตียนในยุคนี้ได้นำไปใช้

(1) พิธีบัพติศมาของพระเยซู และการมีชัยเหนือการทดลองพิสูจน์ว่าพระองค์มีความพร้อมสำหรับงานแห่งความรอดที่กางเขนบนเนินหัวกระโหลก พระเยซูคริสต์พระองค์เดียวทรงมีชัยเหนือการทดลอง ความบาป และซาตาน พระองค์ผู้เดียวมีคุณสมบัติที่จะสละพระชนม์เพื่อคนบาปในฐานะลูกแกะของพระเจ้าที่ปราศจากตำหนิ ชัยชนะของพระองค์ท่ามกลางการทดลองมีความสำคัญยิ่งต่อการทำหน้าที่เป็นลูกแกะของพระเจ้า

(2) การเผชิญการทดลองของพระเยซูไม่เพียงทำให้พระองค์พร้อมสำหรับพระราชกิจแห่งการช่วยกู้ที่บนกางเขนเท่านั้น แต่ทำให้พระองค์เป็นมหาปุโรหิตที่เห็นใจในความอ่อนแอของเรา

14 เหตุฉะนั้น เมื่อเรามีมหาปุโรหิตผู้เป็นใหญ่ที่ผ่านฟ้าสวรรค์เข้าไปถึงพระเจ้าแล้ว คือพระเยซูพระบุตรของพระเจ้า ขอให้เราทั้งหลายมั่นคงในพระศาสนาของเรา 15 เพราะว่า เรามิได้มีมหาปุโรหิตที่ไม่สามารถจะเห็นใจในความอ่อนแอของเรา แต่ได้ทรงถูกทดลองใจเหมือนอย่างเราทุกประการ ถึงกระนั้นพระองค์ก็ยังปราศจากบาป 16 ฉะนั้นขอให้เราทั้งหลาย จงมีใจกล้าเข้ามาถึงพระที่นั่งแห่งพระคุณ เพื่อเราจะได้รับพระเมตตา และจะได้รับพระคุณที่จะช่วยเราในขณะที่ต้องการ (ฮีบรู 4:14-16)

7 ฝ่ายพระเยซู ขณะเมื่อพระองค์ทรงเป็นมนุษย์อยู่นั้น พระองค์ได้ทรงร้องอธิษฐาน และทูลวิงวอนด้วยน้ำพระเนตรไหล ต่อพระเจ้าผู้ทรงสามารถช่วยพระองค์ให้พ้นจากความตายได้ และพระเจ้าได้ทรงสดับเนื่องด้วยความยำเกรงของพระเยซู 8 ถึงแม้ว่าพระองค์ทรงเป็นพระบุตร พระองค์ก็ทรงเรียนรู้ที่จะนอบน้อมยอมเชื่อฟังโดยความทุกข์ลำบาก ที่พระองค์ได้ทรงทน 9 เมื่อพระเจ้าทรงทำให้พระเยซูเพียบพร้อมทุกประการแล้ว พระเยซูก็เลยทรงเป็นแหล่งกำเนิดแห่งความรอดนิรันดร์ สำหรับคนทั้งปวงที่เชื่อฟังพระองค์ 10 โดยพระเจ้าได้ทรงตั้งพระองค์ให้เป็นมหาปุโรหิต ตามแบบอย่างของเมลคีเซเดค (ฮีบรู 5:7-10)

(3) ชัยชนะของพระเยซูเหนือการทดลองทำให้พระองค์มีคุณสมบัติพร้อมที่จะสั่งสอนเรื่องนี้ด้วยสิทธิอำนาจ พระองค์ไม่ยอมทนกับพวกหน้าซื่อใจคด คนที่สอนอย่างหนึ่งแต่ดำเนินชีวิตอีกอย่างที่ไม่สอดคล้องกับสิ่งที่สอน:

1 ครั้งนั้น พระเยซูตรัสกับประชาชนและพวกสาวกของพระองค์ว่า 2 "พวกธรรมาจารย์กับพวกฟาริสีนั่งบนที่นั่งของโมเสส 3 เหตุฉะนั้น ทุกสิ่งซึ่งเขาสั่งสอนพวกท่าน จงถือประพฤติตาม เว้นแต่การประพฤติของเขาอย่าได้ทำตามเลย เพราะเขาเป็นแต่ผู้สั่งสอน แต่เขาเองหาทำตามไม่ (มัทธิว 23:1-3)

อ.เปาโลให้ความสำคัญมากระหว่างคำสั่งสอนและความประพฤติ :

16 เหตุฉะนั้นข้าพเจ้าจึงขอให้ท่านทำตามอย่างข้าพเจ้า 17 เพราะเหตุนี้ข้าพเจ้าจึงได้ใช้ทิโมธีลูกที่รักของข้าพเจ้า ซึ่งเป็นคนสัตย์ซื่อในองค์พระผู้เป็นเจ้าให้มาหาท่าน เพื่อนำท่านให้ระลึกถึงแบบการประพฤติของข้าพเจ้าในพระคริสต์ ตามที่ข้าพเจ้าสอนอยู่ในคริสตจักรทั่วๆไป (1โครินธ์ 4:16-17)

17 ดูก่อนพี่น้องทั้งหลาย ท่านจงร่วมกันตามแบบอย่างของข้าพเจ้า ท่านมีพวกเราเป็นตัวอย่างแล้ว จงดูคนที่ประพฤติตามแบบนั้น 18 เพราะว่า มีคนหลายคนที่ประพฤติตัวเป็นศัตรูต่อกางเขนของพระคริสต์ ซึ่งข้าพเจ้าได้บอกท่านถึงเรื่องของเขาหลายครั้งแล้ว และบัดนี้ยังบอกท่านอีกด้วยน้ำตาไหล 19 ปลายทางของคนเหล่านั้นคือความพินาศ พระของเขาคือกระเพาะ เขายกความที่น่าอับอายของเขาขึ้นมาโอ้อวด เขาสนใจในวัตถุทางโลก 20 แต่บ้านเมืองของเรานั้นอยู่ที่สวรรค์ เรารอคอยผู้ช่วยให้รอด ซึ่งจะเสด็จมาจากสวรรค์คือพระเยซูคริสตเจ้า 21 พระองค์จะทรงเปลี่ยนแปลงกายอันต่ำต้อยของเรา ให้เหมือนพระกายอันทรงพระสิริของพระองค์ ด้วยฤทธานุภาพซึ่งทำให้พระองค์ปราบสิ่งสารพัดลงใต้อำนาจของพระองค์ (ฟีลิปปี 3:17-21)

คำพูดและการกระทำของเราต้องสอดคล้องกัน ไม่เช่นนั้นเราก็เป็นคนหน้าซื่อใจคด

เพียงแค่สองบทจากเรื่องมารมาผจญพระเยซู เราพบถ้อยคำเหล่านี้ในเรื่องการกิน การดื่ม และชีวิต :

25 "เหตุฉะนั้น เราบอกท่านทั้งหลายว่า อย่ากระวนกระวายถึงชีวิตของตนว่า จะเอาอะไรกิน หรือจะเอาอะไรดื่ม และอย่ากระวนกระวายถึงร่างกายของตนว่า จะเอาอะไรนุ่งห่ม ชีวิตสำคัญยิ่งกว่าอาหารมิใช่หรือ และร่างกายสำคัญยิ่งกว่าเครื่องนุ่งห่มมิใช่หรือ 26 จงดูนกในอากาศ มันมิได้หว่าน มิได้เกี่ยว มิได้ส่ำสมไว้ในยุ้งฉาง แต่พระบิดาของท่านทั้งหลาย ผู้ทรงสถิตในสวรรค์ทรงเลี้ยงนกไว้ ท่านทั้งหลายมิประเสริฐกว่านกหรือ 27 มีใครในพวกท่านโดยความกระวนกระวาย อาจต่อชีวิตให้ยาวออกไปอีกสักศอกหนึ่งได้หรือ 28 ท่านกระวนกระวายถึงเครื่องนุ่งห่มทำไม จงพิจารณาดอกไม้ที่ทุ่งนาว่า มันงอกงามเจริญขึ้นได้อย่างไร มันไม่ทำงาน มันไม่ปั่นด้าย 29 แต่เราบอกท่านทั้งหลายว่ากษัตริย์ซาโลมอนเมื่อบริบูรณ์ด้วยสง่าราศี ก็มิได้ทรงเครื่องงามเท่าดอกไม้นี้ดอกหนึ่ง 30 แม้ว่าพระเจ้าทรงตกแต่งหญ้าที่ทุ่งนาอย่างนั้น ซึ่งเป็นอยู่วันนี้และรุ่งขึ้นต้องทิ้งในเตาไฟ โอ ผู้มีความเชื่อน้อย พระองค์จะไม่ทรงตกแต่งท่านมากยิ่งกว่านั้นหรือ 31 เหตุฉะนั้นอย่ากระวนกระวายว่า จะเอาอะไรกิน หรือจะเอาอะไรดื่ม หรือจะเอาอะไรนุ่งห่ม 32 เพราะว่าพวกต่างชาติแสวงหาสิ่งของทั้งปวงนี้ แต่ว่าพระบิดาของท่านผู้ทรงสถิตในสวรรค์ทรงทราบแล้วว่า ท่านต้องการสิ่งทั้งปวงเหล่านี้ 33 แต่ท่านทั้งหลายจงแสวงหาแผ่นดินของพระเจ้า และความชอบธรรมของพระองค์ก่อน แล้วพระองค์จะทรงเพิ่มเติมสิ่งทั้งปวงเหล่านี้ให้ 34 "เหตุฉะนั้น อย่ากระวนกระวายถึงพรุ่งนี้ เพราะว่าพรุ่งนี้คงมีการกระวนกระวายสำหรับพรุ่งนี้เอง แต่ละวันก็มีทุกข์พออยู่แล้ว (มัทธิว 6:25-34)

เราจะกลับมาดูกันเรื่องนี้อีกครั้งในบทเรียนต่อๆไป แต่ขอนำบางตอนที่น่าสนใจมาคุยก่อน ในการทดลองครั้งแรก ซาตานพยายามทำให้พระเยซูกังวลเรื่องอาหารและน้ำ มันชักจูงให้พระเยซูเลิกกังวลโดยให้เสกก้อนหินเป็นอาหาร แต่พระเยซูทรงทราบดีว่าพระบิดาทรงห่วงใยและจะดูแล ในเวลาของพระองค์ และด้วยวิธีการของพระองค์ พระเยซูทรงทราบดีว่าชีวิตสำคัญกว่าอาหาร การพึ่งพิงพระวจนะทุกคำของพระเจ้า พระเยซูจึงนำสิ่งที่พระองค์เรียนรู้จากการทดลองมาบอกกับทุกคน

(4) ความทุกข์ยาก โพยภัย และการทดสอบไม่ได้ขัดแย้งกับความพอพระทัยของพระเจ้า หรือการสถิตอยู่และฤทธิอำนาจของพระวิญญาณของพระองค์ ในพิธีบัพติศมาของพระเยซู พระบิดาแสดงว่าทรงพอพระทัยในพระบุตร และในพิธีบัพติศมาพระวิญญาณบริสุทธิเสด็จลงมาประทับอยู่เหนือพระเยซู ในความหมายคือ พระองค์ทรงดำรงอยู่กับพระวิญญาณ และพระวิญญาณเป็นผู้นำพระองค์เข้าสู่การทดลอง พระวิญญาณทรงนำพระเยซูขณะอยู่ในถิ่นทุรกันดารและตลอดเวลาที่ถูกผจญ สิ่งที่ผมต้องการเน้นคือขณะที่พระเยซูเป็นที่ชอบพระทัยของพระบิดาและมีพระวิญญาณบริสุทธิสถิตอยู่ พระองค์พบว่าตนเองอยู่ในถิ่นทุรกันดาร ไม่มีอาหารและน้ำ มีสัตว์ป่าอยู่รอบๆ และถูกมารมาผจญ

นี่เป็นสิ่งที่บางคนยากจะทำใจยอมรับ มีคนที่บอกว่าถ้าเราวางใจในพระเจ้าและเต็มล้นด้วยพระวิญญาณ เราจะไม่ต้องเผชิญความทุกข์หรือโพยภัย และเราจะมีประสบการณ์ในพระพรของพระเจ้า บทเรียนนี้ทำให้เราต้องตั้งคำถาม อ.เปาโลบอกว่าบางครั้งเรามีประสบการณ์ของความอุดมสมบูรณ์ และบางครั้งเราอาจเผชิญกับความขาดแคลน:

11 ข้าพเจ้าไม่ได้บ่นถึงเรื่องความขัดสน เพราะข้าพเจ้าจะมีฐานะอย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าก็เรียนรู้แล้วที่จะพอใจอยู่อย่างนั้น 12 ข้าพเจ้ารู้จักที่จะเผชิญกับความตกต่ำ และรู้จักที่จะเผชิญกับความอุดมสมบูรณ์ ไม่ว่าในกรณีใดๆ ข้าพเจ้ารู้จักเคล็ดลับที่จะเผชิญกับความอิ่มท้องและความอดอยาก ความสมบูรณ์พูนสุข และความขัดสน 13 ข้าพเจ้าผจญทุกสิ่งได้ โดยพระองค์ผู้ทรงเสริมกำลังข้าพเจ้า (ฟีลิปปี 4:11-13)

เพื่อนๆของโยบรีบกล่าวหาทันทีที่โยบเผชิญการทดลอง แต่พระเจ้าทรงชี้ให้ซาตานเห็นว่าโยบเป็นคนเที่ยงธรรมและมีความเชื่อมั่นคงในพระองค์ (โยบ 1:1-8) การทนทุกข์ของโยบไม่ได้เป็นเพราะความบาปของท่าน แต่เป็นการทดสอบจากพระเจ้า มันน่าเศร้าที่ไปบอกคนที่กำลังมีความทุกข์ว่าเป็นเพราะเขาทำบาปแน่ๆ อาจเป็นได้แต่ไม่เสมอไป อย่างในกรณีของโยบ และ อ.เปาโล บุคคลที่เป็นคนฝ่ายวิญญาณอาจต้องทนทุกข์เหตุเพราะพระคริสต์

ความทุกข์ ความเจ็บปวด อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความพอพระทัย:

1 เหตุฉะนั้นเมื่อเรามีพยานพรั่งพร้อมอยู่รอบข้างเช่นนี้แล้ว ก็ขอให้เราละทิ้งทุกอย่างที่ถ่วงอยู่ และบาปที่เกาะแน่น ขอให้เราวิ่งแข่งด้วยความเพียรพยายาม ตามที่ได้กำหนดไว้สำหรับเรา 2 หมายเอาพระเยซูเป็นผู้บุกเบิกความเชื่อ และผู้ทรงทำให้ความเชื่อของเราสมบูรณ์ พระองค์ได้ทรงอดทนต่อกางเขน เพื่อความรื่นเริงยินดีที่ได้เตรียมไว้สำหรับพระองค์ ทรงถือว่าความละอายนั้นไม่เป็นสิ่งสำคัญและพระองค์ได้ประทับ ณ เบื้องขวาพระที่นั่งของพระเจ้า 3 ท่านทั้งหลายจงคิดถึงพระองค์ผู้ได้ทรงยอมทนต่อคำคัดค้านของคนบาป เพื่อว่าท่านทั้งหลายจะได้ไม่รู้สึกท้อถอย 4 ในการต่อสู้กับบาปนั้น ท่านทั้งหลายยังไม่ได้สู้จนถึงกับต้องเสียโลหิตเลย 5 และท่านได้ลืมคำเตือน ที่พระองค์ได้ทรงเตือนในฐานะที่เป็นบุตรว่า บุตรชายของเราเอ๋ย อย่าละเลยต่อการตีสอนขององค์พระผู้เป็นเจ้า และอย่าท้อถอยในเมื่อพระองค์ทรงตีสอนนั้น 6 เพราะองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงตีสอนผู้ที่พระองค์ทรงรัก และเมื่อพระองค์ทรงรับผู้ใดเป็นบุตร พระองค์ก็ทรงตีสอนผู้นั้น 7 ท่านทั้งหลายจงรับและทนเอาเถอะเพราะเป็นการตีสอน พระเจ้าทรงปฏิบัติต่อท่านในฐานะที่ท่านเป็นบุตรของพระองค์ ด้วยว่ามีบุตรคนใดเล่าที่บิดาไม่ได้ตีสอนเขาบ้าง 8 แต่ถ้าท่านทั้งหลายไม่ได้ถูกตีสอนเช่นเดียวกับคนอื่นๆ ท่านก็ไม่ได้เป็นบุตร แต่เป็นลูกที่ไม่มีพ่อ 9 อีกประการหนึ่ง เราทั้งหลายมีบิดาเป็นมนุษย์ที่ได้ตีสอนเรา และเราก็นับถือบิดานั้น ยิ่งกว่านั้นอีก เราควรจะอยู่ใต้บังคับของพระบิดาแห่งวิญญาณจิต และมีชีวิตจำเริญมิใช่หรือ 10 เพราะบิดาที่เป็นมนุษย์ตีสอนเราเพียงชั่วเวลาเล็กน้อย ตามความเห็นดีเห็นชอบของเขาเท่านั้น แต่พระองค์ได้ทรงตีสอนเราเพื่อประโยชน์ของเรา เพื่อให้เราได้เข้าส่วนในวิสุทธิภาพของพระองค์ 11 เมื่อมีการตีสอนนั้นดูไม่เป็นที่ชื่นใจเลย เป็นเรื่องเศร้าใจ แต่ต่อมาภายหลังก็จะก่อให้เกิดความสุขสำราญแก่บรรดาคนที่ต้องทนอยู่นั้น คือความชอบธรรมนั้นเอง 12 เพราะเหตุนั้นจงยกมือที่อ่อนแรงขึ้น และจงให้หัวเข่าที่อ่อนล้ามีกำลังขึ้น 13 และจงทำทางให้ตรงเพื่อให้เท้าของท่านเดินไป เพื่อว่าขาที่เขยกนั้นจะได้ไม่เคล็ด แต่จะหายเป็นปกติ (ฮีบรู 12:1-13)

ในช่วงหลายปีที่ผมทำพันธกิจในเรือนจำ ผมเห็นคนในเรือนจำช่วยกันพรวนดิน ปลูกผักเพื่อนำมาเป็นอาหารในเรือนจำ เห็นพวกเขาทำงานหนักสารพัดรูปแบบ ที่เขาต้องทำคือผลจากอาชญากรรมที่ก่อขึ้น แต่ผมก็เห็นงานประเภทเดียวกันนี้ทำในกองทัพด้วย โดยเฉพาะในค่ายฝึกทหารใหม่ ทหารที่เพิ่งถูกเกณฑ์เข้ามาต้องเจอความลำบากในทุกรูปแบบ ความลำบากนี้เป็นตัวบ่งหรือว่าพวกเขาทำความผิด? ไม่เลย ความลำบากที่พวกเขาเจอเป็นตัวบ่งว่าพวกเขาต้องพร้อมรับภารกิจและทำหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย ความลำบากที่ชาวอิสราเอลเผชิญในอียิปต์เตรียมพวกเขาไว้สำหรับความทุกข์ยากที่ต้องเผชิญเมื่อข้ามฝั่งทะเลแดงไป ความทุกข์ยากอาจไม่ใช่เป็นการลงโทษ แต่เป็นการเตรียมความพร้อม

(5) ยามที่ทุกข์ยากและอันตรายที่สุดไม่ใช่เป็นข้ออ้างเพื่อจะไม่เชื่อฟัง แต่เป็นโอกาสที่จะได้พิสูจน์ความเชื่อในพระวจนะของพระเจ้า สำหรับหลายคน เวลาแห่งความทุกข์ยากหรือภัยอันตรายกลับกลายเป็น “มีราชสีห์อยู่ที่ถนน24 โอกาสที่ผมขอเรียกว่า “ขอโอกาสตีลูกอีกทีในการเล่นกอล์ฟ”25 กษัตริย์ที่ล้มลงเพราะมองสถานการณ์ที่วิกฤตมาเป็นข้ออ้างที่จะไม่เชื่อฟังพระเจ้า:

5 และคนฟีลิสเตียชุมนุมกันเพื่อจะต่อสู้คนอิสราเอล มีรถรบสามหมื่นและพลม้าหกพัน และกองทหารนั้นก็มากมายเหมือนทรายที่ฝั่งทะเล เขาก็ยกขึ้นมาตั้งค่ายอยู่ที่มิคมาชทาง ตะวันออกของเบธาเวน 6 เมื่อคนอิสราเอลเห็นว่าตกอยู่ในที่คับแค้น (เพราะประชาชนถูกบีบคั้นอย่างหนัก) แล้วประชาชนก็ซ่อนตัวอยู่ในถ้ำและในรูในซอกหิน ในอุโมงค์และในบ่อ 7 พวกฮีบรูบางคนได้ข้ามแม่น้ำจอร์แดนไปยังดินแดนกาดและ กิเลอาด แต่ฝ่ายซาอูลพระองค์ยังประทับอยู่ที่กิลกาลและประชาชน ทั้งหมดติดตามพระองค์ไปด้วยตัวสั่น 8 พระองค์ทรงคอยอยู่เจ็ดวันตาม เวลาที่ซามูเอลกำหนดไว้ แต่ซามูเอลมิได้มาที่กิลกาล ประชาชนก็แตกกระจายไปจากพระองค์ 9 ดังนั้นซาอูลจึงตรัสว่า "จงนำเครื่องเผาบูชามาให้เราที่นี่และเครื่องศานติบูชาด้วย" และพระองค์ก็ได้ถวายเครื่องเผาบูชา 10 พอพระองค์ถวายเครื่องเผาบูชาเสร็จ ดูเถิด ซามูเอลก็มาถึง ซาอูลก็เสด็จออกไปต้อนรับและทรงคำนับท่าน 11 ซามูเอลถามว่า "ท่านได้กระทำอะไรไปแล้วนี่" และซาอูลตรัสตอบว่า "เมื่อข้าพเจ้าเห็นประชาชนแตกกระจายไปจากข้าพเจ้า และท่านก็มิได้มาภายในวันที่กำหนดไว้และคน ฟีลิสเตียก็ได้ชุมนุมกันที่มิคมาช 12 ข้าพเจ้าจึงว่า 'บัดนี้ คนฟีลิสเตียจะยกมารบกับข้าพเจ้าที่กิลกาล และข้าพเจ้ายังมิได้ทูลขอพระกรุณาแห่งพระเจ้า' ข้าพเจ้าจึงข่มตัวเองและได้ถวายเครื่องเผาบูชา" 13 และซามูเอลกล่าวแก่ซาอูลว่า "ท่านได้กระทำการที่โง่เขลาเสียแล้ว ท่านมิได้รักษาพระบัญชาแห่งพระเยโฮวาห์พระเจ้าของท่าน ซึ่งพระองค์ทรงบัญชาท่านไว้ เพราะพระเจ้าจะได้ทรงสถาปนาราชอาณาจักรของท่านเหนืออิสราเอลเป็นนิตย์แล้ว 14 แต่บัดนี้ราชอาณาจักรของท่านจะไม่ยั่งยืน พระเจ้าทรงหาชายอีกคนหนึ่งตามชอบพระทัยพระองค์แล้ว และพระเจ้าทรงแต่งตั้งชายผู้นั้นให้เป็นเจ้านายเหนือ ชนชาติของพระองค์ เพราะท่านมิได้รักษาสิ่งซึ่งพระเจ้าทรงบัญชาท่านไว้" (1ซามูเอล 13:5-14)

น่าเศร้าที่ซาอูลไม่ได้เรียนบทเรียนตรงนี้เลย เมื่อรับคำสั่งให้ทำลายชาวอามาเลขและสัตว์ทุกชนิดของพวกเขาให้หมดสิ้น ซาอูลและกองทัพของท่านยักยอกของมีค่าที่ปล้นสดมภ์มา เก็บเอาไว้โดยอ้างว่าจะนำมาเป็นเครื่องเผาบูชาถวายให้พระเจ้า มาดูกันว่าพระเจ้าทรงตอบสนองต่อความบาปนี้อย่างไร:

2 พระเจ้าจอมโยธาตรัสดังนี้ว่า 'เราจะลงโทษอามาเลขในการที่สกัดทางอิสราเอล เมื่อเขาออกจากอียิปต์ 3 ท่านจงไปโจมตีอามาเลข และทำลายบรรดาที่เขามีนั้นเสียให้สิ้นเชิง อย่าปรานีเขาเลย จงฆ่าเสียทั้งผู้ชายผู้หญิง ทั้งทารกและเด็กที่กินนมอยู่ ทั้งโค แกะ อูฐ และลา'"….แต่ซาอูลและประชาชนได้ไว้ชีวิตอากักและสัตว์ที่ดีที่สุด มีแกะกับโคและสัตว์อ้วนพีกับลูกแกะ และสิ่งดีๆทั้งหมดไม่ยอมทำลายเสียอย่างสิ้นเชิง ทุกสิ่งที่เขาดูถูกและไร้ค่าเขาก็ทำลายเสียสิ้น…

20 และซาอูลเรียนซามูเอลว่า "ข้าพเจ้าได้ฟังพระสุรเสียงของพระเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าได้ไปประกอบกิจตามที่พระเจ้าทรงใช้ข้าพเจ้าไป ข้าพเจ้าได้คุมตัวอากักพระราชาแห่งคนอามาเลขมา และข้าพเจ้าก็ได้ทำลายคนอามาเลขเสียอย่างสิ้นเชิง 21 แต่พวกพลได้เก็บส่วนของทรัพย์เชลยรวมทั้งแกะและโคส่วน ที่ดีที่สุดจากของซึ่งกำหนดให้ทำลายนั้น เพื่อนำมาเป็นเครื่องสัตวบูชา แด่พระเยโฮวาห์พระเจ้าของท่านที่ในเมืองกิลกาล" 22 และซามูเอลกล่าวว่า "พระเจ้าทรงพอพระทัยในเครื่องเผาบูชาและเครื่องสัตวบูชามาก เท่ากับการที่จะเชื่อฟังพระสุรเสียงของพระองค์หรือ ดูเถิด ที่จะเชื่อฟังก็ดีกว่าเครื่องสัตวบูชา และซึ่งจะสดับฟังก็ดีกว่าไขมันของบรรดาแกะผู้ 23 เพราะการกบฏก็เป็นเหมือนบาป แห่งการถือฤกษ์ถือยาม และความดื้อดึงก็เป็นเหมือนบาปชั่วและการไหว้รูปเคารพ เพราะเหตุที่ท่านทอดทิ้งพระวจนะของพระเจ้า พระองค์จึงทรงถอดท่านออกจากตำแหน่งกษัตริย์" (1ซามูเอล 15:2-3, 9; 20-23)

ดาวิดเองเคยเจอกับการทดสอบในแบบเดียวกัน แต่ขอบคุณพระเจ้าที่ท่านไม่ได้ล้มลง26 ซาอูลหาทางฆ่าดาวิด แต่ท่านหลบหนีไปจากซาอูล ไปอาศัยซ่อนตัวอยู่ในที่ห่างไกล สองครั้งที่พระเจ้ามอบชีวิตซาอูลให้อยู่ในมือดาวิด และสองครั้งที่ดาวิดสามารถใช้โอกาสจากสถานการณ์นี้ฆ่าซาอูล แม้ชีวิตของดาวิดตกอยู่ในอันตรายใหญ่หลวง ดาวิดไม่ได้เปลี่ยนสถานการณ์โดยลงมือจัดการกับซาอูล (1ซามูเอล 24:1-7; 26:6-12) ดาวิดมอบชีวิตท่านไว้กับพระเจ้า ปฏิเสธไม่ทำสิ่งที่ผิดแม้กำลังตกอยู่ในอันตราย

มันไม่ใช่การทดสอบถ้าผมจะส่งเงินห้าเหรียญให้หลานแล้วบอกให้ไปซื้อไอศครีมโคน แต่มันจะเป็นการทดสอบถ้าผมพาเธอไปหาหมอและบอกว่าหมอจะขอฉีดยาหน่อย สถานการณ์ที่ส่งผลเสียในตอนนี้ทำให้ความเชื่อและการเชื่อฟังของเรากำลังถูกทดสอบ

(6) สัญชาตญาณที่รุนแรงที่สุดของมนุษย์คือป้องกันตนเอง แต่ความเชื่อคริสเตียนกลับเรียกร้องให้ “ตายต่อตนเอง” และไม่ทำตาม “ความต้องการของเนื้อหนัง” เราสามารถใช้เวลาในเรื่องนี้ได้นานพอควร “ตนเอง” คือสิ่งที่ครอบงำชีวิตฝ่ายเนื้อหนัง ไม่ว่าจะเป็นการรักษาชีวิตตนเองไว้ หรือรักษาคุณค่าของตนเอง เมื่อถูกคุกคามคนส่วนใหญ่ยินยอมที่จะละจากพระวจนะของพระเจ้า เมื่อโดนโศกนาฏกรรม อาจมีบางคนเท่านั้นที่เชื่อว่ามีสิ่งอื่นที่สำคัญกว่าชีวิตฝ่ายเนื้อหนัง ทหารที่ไปออกศึกรู้ดีว่ากำลังเอาชีวิตไปเสี่ยง แต่พวกเขามั่นใจว่าเหตุผลนั้นคุ้มค่าที่จะตายแทนได้

สิ่งนี้เป็นยิ่งกว่าความจริงสำหรับคริสเตียน แน่นอนเราต้องการได้ชาย หญิง และเด็กๆที่เห็นคุณค่าและเชื่อฟังพระวจนะมากกว่าคนที่อยากจะรักษาแต่ชีวิตฝ่ายกายไว้ เราต้องการคนที่มีทัศนคติต่อชีวิตและความตายเหมือน อ.เปาโล:

20 เพราะว่าเป็นความมุ่งมาดปรารถนาและความหวังว่าข้าพเจ้าจะไม่ได้รับความละอายใดๆเลย แต่เมื่อก่อนทุกครั้งมีใจกล้าเสมอฉันใด บัดนี้ก็ขอให้เป็นเช่นเดียวกันฉันนั้น พระคริสต์จะได้ทรงรับเกียรติในร่างกายของข้าพเจ้าเสมอ แม้จะโดยชีวิตหรือโดยความตาย21 เพราะว่าสำหรับข้าพเจ้านั้น การมีชีวิตอยู่ก็เพื่อพระคริสต์ และการตายก็ได้กำไร 22 ถ้าข้าพเจ้ายังจะมีชีวิตอยู่ในร่างกาย ข้าพเจ้าก็จะทำงานให้เกิดผล แต่ข้าพเจ้าบอกไม่ได้ว่าจะเลือกฝ่ายไหนดี 23 ข้าพเจ้าลังเลใจอยู่ในระหว่างสองฝ่ายนี้ คือว่า ข้าพเจ้ามีความปรารถนาที่จะจากไปเพื่ออยู่กับพระคริสต์ ซึ่งประเสริฐกว่ามากนัก 24 แต่การที่ข้าพเจ้ายังมีชีวิตอยู่ในร่างกายนี้ก็จำเป็นมากสำหรับพวกท่าน 25 เมื่อข้าพเจ้าแน่ใจอย่างนี้แล้ว ข้าพเจ้าก็ทราบว่าข้าพเจ้าจะยังอยู่ คืออยู่กับท่านเพื่อให้ท่านจำเริญขึ้นและชื่นชมยินดีในความเชื่อ (ฟีลิปปี 1:20-25)

6 เหตุฉะนั้นเรามั่นใจอยู่เสมอ รู้อยู่แล้วว่า ขณะที่เราอยู่ในร่างกายนี้ เราอยู่ห่างจากองค์พระผู้เป็นเจ้า 7 เพราะเราดำเนินโดยความเชื่อ มิใช่ตามที่ตามองเห็น 8 เรามีความมั่นใจ และเราปรารถนาจะอยู่กับองค์พระผู้เป็นเจ้ามากกว่าอยู่ในร่างกายนี้ 9 เหตุฉะนั้นเราตั้งเป้าของเราว่า จะอยู่ในกายนี้ก็ดีหรือไม่อยู่ก็ดี เราก็จะทำตัวให้เป็นที่พอพระทัยของพระองค์ (2โครินธ์ 5:6-9)

เราต้องการคนที่ไม่กลัวตาย คนที่เห็นเหตุแห่งพระกิตติคุณสำคัญกว่าความสะดวกสบายและมั่นคงของตนเอง ขอบคุณพระเจ้าที่มีคนอย่างดาวิด กล้าไปเผชิญกับโกลิอัทเมื่อคนอื่นๆ (รวมถึงซาอูล) ไม่กล้าเอาชีวิตเข้าไปเสี่ยง สรรเสริญพระเจ้าสำหรับรายชื่อใน “ทำเนียบแห่งความเชื่อ” (ฮีบรู 11) คนที่ไม่หัวหดเมื่อเผชิญความทุกข์และความตาย แต่ยังสัตย์ซื่อต่อพระเจ้าและพระวจนะของพระองค์ สรรเสริญพระเจ้าที่หลายคนในยุคของเราเอาตัวออกมาจาก "กันเหนียวดีกว่า" เพื่อเห็นแก่พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ เราต้องการคนเช่นนี้อีกมากมาย คนที่ยอมสละความสะดวกสบายและความเป็นส่วนตัวเพื่อจะได้มีโอกาสสัมผัสกับความปิติของการ “มีชีวิตที่สุดขั้ว” และจะได้ยินคำตรัสว่า 'ดีแล้ว เจ้าเป็นทาสดีและสัตย์ซื่อ” (มัทธิว 25:21)

สรรเสริญพระเจ้าที่พระเยซูทรงมุ่งมั่นไปสู่เยรูซาเล็มนับจากการเริ่มต้นพระราชกิจของพระองค์ที่บนโลก และไม่ทรงหันเหไปจากพระภารกิจไม่ว่าจะซ้ายหรือขวาเพื่อให้เราทั้งหลายรอดปลอดภัยและได้รับการปลอบประโลมใจ

(7) แล้วที่ทรงสอนว่า และขออย่านำข้าพระองค์เข้าไปในการทดลอง? ผมรู้ดีว่ามีบางคนกำลังสงสัยในถ้อยคำนี้ ในคำอธิษฐานที่พระเยซูสอนไว้ :

“และขออย่านำข้าพระองค์เข้าไปในการทดลอง

แต่ขอให้พ้นจากซึ่งชั่วร้าย” (มัทธิว 6:13)

พระวิญญาณของพระเจ้าทรงนำพระเยซูเข้าสู่การทดลอง ใช่หรือไม่? ทำไม พระองค์ถึงสอนให้เราอธิษฐานว่าอย่านำเราเข้าสู่การทดลอง? ขอชี้ให้เห็นคำในภาษากรีก peirazo ซึ่งอาจแปลได้ว่า “การทดลอง” (ที่สนับสนุนให้ทำชั่ว) หรือ “การทดสอบ” (ด้วยความหวังว่าจะผ่านได้) ซึ่งอาจทำให้เรายังงงอยู่

เราต้องเริ่มด้วยขอบเขตที่พระวจนะตอนอื่นบอกเอาไว้ เช่น

13 เมื่อผู้ใดถูกล่อให้หลง อย่าให้ผู้นั้นพูดว่า "พระเจ้าทรงล่อข้าพเจ้าให้หลง" เพราะว่าความชั่วจะมาล่อพระเจ้าให้หลงไม่ได้ และพระองค์เองก็ไม่ทรงล่อผู้ใดให้หลงเลย 14 แต่ว่าทุกคนก็ถูกล่อให้หลง เมื่อกิเลสของตัวเองล่อและชักนำให้กระทำตาม 15 ครั้นตัณหาเกิดขึ้นแล้วก็ทำให้เกิดบาป และเมื่อบาปเจริญเต็มที่แล้วก็นำไปสู่ความตาย (ยากอบ 1:13-15)

เมื่อรู้ว่าพระเจ้าจะทรงกระทำให้เราถ่อมใจและทดสอบเรา เพื่อกระทำให้เกิดประโยชน์แก่เรา (เฉลยธรรมบัญญัติ 8:16) พระองค์ไม่เคยล่อลวงเรา แต่ทรงอนุญาตให้มารมาทดลองเราได้ แท้จริงคือการทดสอบตามมุมมองของพระเจ้า (อย่างในกรณีที่มารมาผจญพระเยซู)

เราไม่จำเป็นต้องห้ามไม่ให้พระเจ้าทดสอบเรา ผมเชื่อว่าเมื่อเราอธิษฐานว่า “อย่านำข้าพระองค์ทั้งหลายเข้าสู่การทดลอง” เรากำลังร้องทูลพระเจ้าขออย่าให้เรามีความปรารถนาอยากเล่นกับการทดลอง ถ้าเราไม่อยากทำบาป แน่นอนก็ไม่ได้อยากเผชิญการทดลอง ผมกลัวว่าบางครั้งเราสนุกกับการทดลองเพราะคิดว่าคงไม่พลาดไปทำบาปหรอก ความต้องการของเราคืออยู่ให้ห่างจากการทดลองทั้งหมด นี่คือสิ่งที่โยเซฟทำเมื่อถูกมาดามโปทิฟาร์ยั่วยวน ท่านหนี ไม่ใช่แค่รีบหนีจากบาป แต่รีบหนีจากการทดลองด้วย นี่ควรเป็นทัศนคติของเราเช่นกัน เราควรอธิษฐานอย่าให้ต้องเจอกับการทดลอง และถ้าเจอขอให้หลีกหนีได้ ดังนั้นสิ่งนี้ควรอยู่ในคำอธิษฐานของเรา

ขอพระเจ้าประทานกำลังให้พวกเราเมื่อเผชิญการทดลอง ให้เราเห็นมันอย่างที่ควรเป็น (ผ่านพระวจนะและพระวิญญาณของพระเจ้า) และตอบสนองอย่างถูกต้อง

(8) ขอให้จบบทเรียนนี้ลงตรงที่ไม่มีอะไรในชัยชนะของพระเยซูเป็นชัยชนะของพระองค์ นี่เป็น “ฉากเปิดตัว” ระหว่างซาตานและพระผู้ช่วยให้รอด และยังไม่ใช่ตอนสุดท้าย การเผชิญหน้ากับศัตรูตัวเอ้และพระเยซูทรงมีชัย ผมเชื่อว่ามัทธิวกำลังบอกผู้อ่านว่านี่เป็นการลิ้มรสก่อนที่ของจริงจะมา มัทธิวให้เรารู้แต่แรกว่าพระเยซูจะมีชัยเหนือซาตานเสมอ ชัยชนะของพระองค์ที่ในถิ่นทุรกันดารคือ “ผลแรก” ของชัยชนะที่ยิ่งใหญ่กว่าที่พระองค์จะทรงกระทำที่บนไม้กางเขน ชัยชนะที่ซาตานจะได้ไปคือตัวการขัดขวางพระราชกิจนี้



1 74 เป็นต้นฉบับบทเรียนที่ 5 และ 6 ที่แก้ไขแล้ว ในบทเรียนต่อเนื่องพระกิตติคุณมัทธิว จัดเตรียมโดย Robert L. Deffinbaugh วันที่ 16 & 23, มีนาคม 2003

2 75 นอกจากที่กล่าวไปแล้ว พระวจนะที่นำมาอ้างอิงทั้งหมดมาจาก NET Bible (The NEW ENGLISH TRANSLATION) เป็น ฉบับแปลใหม่ทั้งหมด ไม่ใช่นำฉบับเก่าในภาษาอังกฤษมาเรียบเรียงใหม่ ใช้ผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการพระคัมภีร์มากกว่า ยี่สิบคน รวบรวมข้อมูล ทั้งจากภาษาฮีบรูโดยตรง ภาษาอาราเมข และภาษากรีก โครงการแปลนี้เริ่มมาจากที่เราต้องการนำ พระคัมภีร์ เผยแพร่ผ่านสื่ออีเลคโทรนิค เพื่อรองรับการใช้งานทางอินเตอร์เน็ท และซีดี (compact disk) ที่ใดก็ตามในโลก ที่ต่อเข้าอินเตอร์เน็ทได้ ก็สามารถเรียกดู และพริ้นทข้อมูลไว้เพื่อใช้ศึกษาเป็นการส่วนตัวได้โดยไม่คิดมูลค่า นอกจากนี้ ผู้ใดก็ตาม ที่ต้องการนำข้อมูลเกี่ยวกับพระคัมภีร์ไปเผยแพร่ต่อโดยไม่คิดเงิน สามารถทำได้จากเว็บไซด์ : www.netbible.org

3 76 อย่าลืมว่าพระเยซูยังไม่ได้เรียกและเลือกสาวก เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังพิธีบัพติศมา ในมัทธิว 4:18-22 เปโตรอยู่ในเหตุการณ์การจำแลงพระกาย เมื่อท่านได้ยินพระบิดาตรัสถ้อยคำเดียวกันนี้ ท่านจึงนำมาบันทึกไว้ใน 2เปโตร 1:17-18 แต่เปโตรไม่เคยพูดว่าท่านได้ยินพระบิดาตรัสเช่นนี้กับพระเยซูในพิธีบัพติศมา

4 77 ลองสมมุติว่ามีคนยืนเฝ้าดูพระเยซูรับบัพติศมา ผมไม่แน่ใจว่าพวกเขาจะเข้าใจหรือไม่ว่าเกิดอะไรขึ้น อาจจะคล้ายๆใน ยอห์น 12:27-30 ที่พระบิดาตรัสลงมาจากฟ้าสวรรค์เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ผู้ที่ยืนอยู่รอบข้าง แต่ว่าพวกเขาก็ไม่ได้มีท่าทีเข้าใจในสิ่งที่พระเจ้าตรัส เช่นเดียวกับคนที่เดินทางไปกับเซาโลบนถนนสู่ดามัสกัส (กิจการ 22:9)

5 78 เปรียบเทียบกับอิสยาห์ 63:15, 64:1 ดูอิสยาห์ 11:1-2 ด้วย

6 79 ข้อถกเถียงนี้คล้ายกับที่เจอในฮีบรู 7:1-10 ที่ผู้เขียนให้เหตุผลว่าผู้น้อยนั้นได้ถวายสิบลดแก่ผู้ใหญ่กว่า ดังนั้นอับราฮัมจึงถวายสิบลดแก่เมลคีเซเดค เพื่อเป็นการแสดงความเคารพว่าเมลคีเซเดคนั้นใหญ่กว่าท่าน ดังนั้นตำแหน่งปุโรหิตที่เมลคีเซเดคเป็นจึงใหญ่กว่าปุโรหิตในสายของอาโรนซึ่งมาทางอับราฮัม

7 80 ในมัทธิวพระตรีเอกานุภาพ เสด็จมาพร้อมกันในพิธีบัพติศมาของพระเยซู และมีการกล่าวถึงในพระมหาบัญชาในมัทธิว 28:19

8 81 ดูฮีบรู 5:5 ด้วย โดยบังเอิญเมื่อผู้เขียนหนังสือฮีบรูนำข้อพระคำสองข้อมาจากพระคัมภีร์เดิม ซึ่งเกี่ยวข้องกับการคืนพระชนม์ของพระเยซูคริสต์ ในพิธีบัพติศมาของพระองค์ พระเยซูรับการแต่งตั้งให้เป็นผู้มาปกครองเหนืออิสราเอล นั่งบนบัลลังก์ของดาวิด ที่บนภูเขาขณะทรงจำแลงพระกาย สาวกทั้งสามได้มีโอกาสเห็นภาพการปกครองของพระองค์ (ลูกา 9:27) ผู้เขียนฮีบรูจึงนำทั้งหมดมา ใช้โดยกล่าวว่า เพื่อให้พระเยซูปกครองชั่วนิรันดร์บนบัลลังก์ของดาวิด พระองค์ต้องคืนพระชนม์ขึ้นมาจากความตายก่อน

9 82 ตัวอย่างเช่นจาก มัทธิว 1:1, 20, 9:29; 12:23, 15;22, 20:30-31 ฯลฯ

10 83 จากหนังสือของ James Montgomery Boice, The Gospel of Matthew (Grand Rapids, Michigan: Baker Books, 2001), vol. 1, p. 51.

11 84 เมื่อซามูเอลเจิมตั้งซาอูลเป็นกษัตริย์องค์แรกของอิสราเอล พระวิญญาณของพระเจ้าลงมาสถิตย์เหนือท่าน (1ซามูเอล 10:1-13 ดู 11:6 ด้วย) ใน 1ซามูเอล 16:13 สิ่งเดียวกันนี้เกิดกับดาวิดเมือซามูเอลเจิมท่านให้เป็นกษัตริย์ของอิสราเอล

12 85 เพื่อนของผม โทนี่ เอ็มเก แนะนำว่านกพิราบยังเป็นสัญลักษณ์ที่โยงไปถึงโนอาห์และน้ำท่วมโลก การที่นกพิราบบินกลับมา (ครั้งที่สอง) คาบใบมะกอกสดมาด้วย เป็นสัญลักษณ์บ่งถึงชีวิตเกิดใหม่ที่โผล่ขึ้นมาจากการถูกทำลายของน้ำ มีนกพิราบอยู่เหนือพระเยซูหลังจากพระองค์รับบัพติศมาแล้ว เป็นหมายสำคัญว่าจากน้ำที่ไหลมาจากการพิพากษาของพระเจ้าที่มีต่อพระเยซูคริสต์ (ที่เป็นสัญลักษณ์ในพิธีบัพติศมา) ชีวิตใหม่กำลังโผล่พ้นขึ้นมา

13 86 การทำงานร่วมกันนี้จึงอธิบายถึงคำว่า “เรา” ได้ (ในมัทธิว 3:15)

14 87 ทุกฉบับแปล The NASB, KJV, NKJV, and NIV ต่างใช้คำว่า “นำ”

15 88 กวางอาจเป็นไปได้ หมีและเสือปลาอาจไกลออกไปหน่อย ทำให้ผมรู้สึกโล่งใจหน่อยเมื่อเดินผิวปากผ่านป่ายามค่ำคืน

16 89 น่าสนใจที่มาระโกไม่ได้มุ่งไปที่ความจริงว่าพระเยซูทรงอดอาหารทั้ง 40 วันนั้น

17 90 จากหนังสือของเฟรเดอริค บรูเนอร์ The Christbook: A Historical/Theological Commentary (Waco, Texas: Word Books, 1987), vol. 1, หน้า 103.

18 91 n http://www.desiringgod.org/cgi-bin/print.cgi?http://www.desiringgod.org/library/sermons/95/011595.html

19 92ลูเธอร์ ยังไม่เคยเห็นการอดอาหารที่ถูกต้อง หรือการอดอาหารที่ไม่ช่วยให้วางใจในการดีได้ การอดอาหารที่ถูกต้องคือยอมรับความลำบากที่พระเจ้าส่งลงมาให้ ... ส่วน คาลวิน 1:124-135 ชี้ให้เห็นว่าไม่ว่าพระเยซูหรือโมเสสอดอาหารทุกปี แต่ครั้งหนึ่งในชีวิตที่มีการบันทึกไว้ในพระคัมภีร์ (จากบรูเนอร์ หน้า 104)

ที่จริงผมคิดว่าคาลวินไม่ถูกนักตรงนี้ พระเยซูทรง “อดพระกายาหาร” ในหลายๆโอกาส (ดูมาระโก 3:20-21, ยอห์น 4:31-34) โมเสสเองก็อดอาหารมากกว่าหนึ่งครั้ง – มีการเอ่ยถึงสามครั้งในเฉลยธรรมบัญญัติ และพูดถึงในสองสถานการณ์ที่ต่างกัน : การเริ่มต้นประทานพระบัญญัติ และเมื่อโมเสสเข้าไปจัดการกับความบาปของอิสราเอลที่กราบไหว้รูปวัวทองคำ (ดูเฉลยธรรมบัญญัติ 9:9, 11, 18, 25; 10:10)

20 93 เช่นเดียวกับที่พระเยซูไม่ทำตามพระทัยตนเองที่ฝ่าฝืนพระเจ้า ไปเสกก้อนหินเป็นอาหาร ผมสงสัยว่าพระองค์คงตั้งพระทัยตั้งแต่แรกแล้วว่าจะพึ่งพิงพระเจ้า และจะไม่รับประทานสิ่งใด

21 94 ผมไม่อาจมองข้ามความจริงว่าพระเยซูทรงเป็น “พระศิลาที่ติดตามอิสราเอล” อย่างที่ อ.เปาโลพูดไว้ใน 1โครินธ์ 10:4 พระเยซูไม่เพียงแต่ตระหนักว่ามีสิ่งใดเกิดขึ้นในถิ่นทุรกันดารในช่วง 40 วันนั้นเพราะได้อ่านจากพระวจนะ แต่พระองค์ทรงอยู่ที่นั่นด้วย พระองค์ทรงเป็นพระศิลาที่ประทานน้ำ เรื่องเสกหินให้เป็นอาหารคงไม่ใช่เป็นเรื่องยากสำหรับพระองค์

22 95 ยิ่งคิดถึงเรื่องนี้ ยิ่งทำให้เห็นความสำคัญในเบื้องหลังคำพยากรณ์ ผู้เผยพระวจนะ โดยเฉพาะอิสยาห์ ใช้สัญลักษณ์และถ้อยคำจากหนังสืออพยพ (การช่วยกู้ครั้งแรกที่ยิ่งใหญ่จากพระเจ้า) เพื่ออธิบายถึงการช่วยกู้ที่พระองค์เตรียมไว้ในอนาคต (จากชาวบาบิโลน และที่สุดแล้วช่วยกู้ออกจากความบาปโดยทางพระเยซูคริสต์) ถ้าอ่านเนื้อหาในอิสยาห์ 35:6-7, 44:3-4 ผมเห็นถ้อยคำที่มาจากหนังสืออพยพ การช่วยกู้ครั้งสุดท้ายยิ่งใหญ่มากมายกว่าครั้งแรก เมื่ออิสราเอลอยู่ในถิ่นทุรกันดาร พระเจ้าทรงให้มีน้ำไหลออกมาจากหิน แต่ในการช่วยกู้ครั้งยิ่งใหญ่ พระเจ้าจะให้มีแม่น้ำใหญ่ที่ในถิ่นทุรกันดาร นั่นคือพระองค์จะทรงเปลี่ยนถิ่นทุรกันดารให้เป็นสวนที่มีแหล่งน้ำสวยงาม

23 96 หนังสือวิวรณ์อ้างจากอิสยาห์ 49:10 ความรอดที่พระเยซูทรงทำสำเร็จเป็นการทำให้คำพยากรณ์จากอิสยาห์ 49:10 และของเดิมจากอพยพเป็นจริง ผมอยากคิดว่าการอ้างถึงดวงอาทิตย์จะไม่ทำลายประชากรด้วยความร้อนที่แผดเผา เป็นตัวบ่งว่าการช่วยกู้ครั้งหลังนี้ดีกว่าการช่วยกู้ออกมาจากอียิปต์มากมาย เพราะตอนนั้นคนอิสราเอลยังต้องทนกับความร้อนของถิ่นทุรกันดาร

24 97 ดูสุภาษิต 22:13; 26:13 “ราชสีห์บนถนน” เป็นข้ออ้างของพวกขี้เกียจไม่อยากออกไปทำอะไร ใครกันบ้างล่ะอยากออกจากบ้านที่ปลอดภัยไปทำงานในท้องทุ่งถ้ามันมีราชสีห์อยู่ที่ถนน? เราต่างก็หาข้ออ้างที่ฟังขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงสิ่งที่เราไม่ชอบ หรือไม่ราบรื่น ผมและเพื่อนบ้านเคยไปวิ่งที่สนามกีฬาของโรงเรียนข้างบ้าน พอมีฝนลงมาเบาๆ เขา (บางทีก็ผม) จะโผล่หัวออกไปที่ประตูบ้านตะโกนบอกว่า “พายุขนาดนี้วิ่งไม่ได้หรอก”

25 98 เชื่อเถอะครับ ผมรู้เรื่องมูลลิแกนดี เพราะเล่นกอล์ฟบ้าง ใช้เป็นข้ออ้างที่จะเตะลูกออกจากที่ขรุขระไปบนสนาม หรือได้ตีอีกครั้งถ้าลูกแรกมันไม่เอาไหน

26 99 ถึงแม้จะล้มเหลวในการทดสอบอื่นๆ

Related Topics: Christology, Temptation

Report Inappropriate Ad