MENU

Where the world comes to study the Bible

4. ยอห์นผู้ให้บัพติศมา และพระเยซู (มัทธิว 3:1-17)

Related Media

คำนำ1

หลายปีมาแล้วผมและภรรยานั่งดูรายการโทรทัศน์ถ่ายทอดสดงานประกาศของบิลลี่ เกรแฮมในดัลลัส เท็กซัส มีเพลงร้องนำเพราะๆจากไมเคิล ดับเบิ้ลยู สมิท และวงดนตรีไกเธอร์ โวคัล แบนด์ พอถึงเวลาบิลลี่ เกรแฮมต้องขึ้นพูด ผู้ที่ขึ้นไปกล่าวแนะนำคืออดีตประธานาธิบดีจอร์จ บุช (คนพ่อ) บุชพูดถึงบิลลี่ได้อย่างน่าฟัง พูดถึงความสัตย์ซื่อของท่านในการประกาศข่าวประเสริฐ รวมถึงคำเทศนาที่ท่านเคยเทศน์ให้อดีตประธานาธิบดีคนก่อนๆและครอบครัวฟังมา หลายปี

ถ้าพระเยซูจะไปเทศนาที่สนามฟุตบอลในดัลลัส เท็กซัส คุณว่าใครควรเป็นคนขึ้นไปกล่าวแนะนำพระองค์? ผมแน่ใจว่าคนแรกคงไม่ใช่ยอห์นผู้ให้บัพติศมาแน่ ที่จริงผมว่าคงไม่มีการนำเสนอชื่อท่านด้วยซ้ำ แต่เราพูดได้ว่าภารกิจในชีวิตของยอห์นคือแนะนำพระเยซูคริสต์ว่าคือพระเม สซิยาห์ตามพระสัญญา ความหวังใจของคนทุกยุคสมัย แต่ใครจะไปคิดว่าพระเจ้าจะเลือกคนอย่างยอห์นผู้ให้บัพติศมาทำภารกิจนี้? ถ้าจะพูดว่ายอห์นนั้นมี “เอกลักษณ์” เฉพาะตัว ก็เป็นการประเมินที่ต่ำไป ท่านเป็นเหมือน “คนป่า” ในถิ่นทุรกันดาร เป็นชายที่ตั้งแต่เด็กไปใช้ชีวิตอยู่ “ในถิ่นทุรกันดาร จนถึงวันที่ท่านจะได้มาปรากฏแก่ชนชาติอิสราเอล” (ลูกา 1:80)2 สวมเสื่อผ้าที่ทำด้วยขนอูฐ อาหารคือจั๊กจั่นและน้ำผึ้งป่า (มัทธิว 3:4) คำพูดของท่านไม่ได้รับการขัดเกลา ทื่อและตรงเป้า แทนที่จะต้อนรับทุกคนที่มาหา ท่านกลับใช้ถ้อยคำโจมตีบางคนด้วยซ้ำ และนี่คือชายที่พระเจ้าเลือกสรรไว้ให้แนะนำพระบุตรของพระองค์ พระเมสซิยาห์

ไม่ว่าใครจะคิดอย่างไรเกี่ยวกับยอห์น ไม่มีใครกล้าปฏิเสธความสำเร็จของท่าน นอกจากความเป็นตัวตนของท่านแล้ว ยอห์นดึงดูดฝูงชนมากมาย สิ่งที่ท่านประกาศสร้างผลกระทบยิ่งใหญ่ให้กับผู้คนมากมาย เหมือนกับที่ทูตสวรรค์ได้บอกกับเศคาริยาห์บิดาของท่านทุกประการ:

แต่ทูตองค์นั้นกล่าวแก่ท่านว่า “เศคาริยาห์เอ๋ย อย่ากลัวเลย ด้วยได้ทรงฟังคำอธิษฐานของท่านแล้ว นางเอลีซาเบธ ภรรยาของท่านจะมีบุตรเป็นผู้ชาย และท่านจงตั้งชื่อบุตรนั้นว่ายอห์น ท่านจะมีความปรีดาและยินดี และคนเป็นอันมากจะเปรมปรีดิ์ที่บุตรนั้นบังเกิดมา เพราะว่าเขาจะเป็นใหญ่จำเพาะพระเจ้า เขาจะไม่กินน้ำองุ่นหมักและเหล้าเลย และจะประกอบไปด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ตั้งแต่ครรภ์มารดา เขาจะนำพงศ์พันธุ์อิสราเอล หลายคนให้หันกลับมาหาพระเจ้าของเขาทั้งหลาย เขาจะนำหน้าพระองค์โดยน้ำใจและ ฤทธิ์เดชของเอลียาห์ ให้พ่อกลับคืนดีกับลูก และคนดื้อด้านให้กลับได้ปัญญา ของคนชอบธรรม เพื่อจัดเตรียมชนชาติหนึ่งไว้ให้สมแก่พระเจ้า” (ลูกา 1:13-17)

ความยิ่งใหญ่ของยอห์นไม่อาจปฏิเสธได้ หนังสือพระกิตติคุณทั้งสี่เล่มต่างก็บันทึกเรื่องพันธกิจของพระเยซูคริสต์ โดยมีถ้อยคำของยอห์นนำร่อง พระเยซูคริสต์เองยังตรัสยกย่องท่าน:

“เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า ในบรรดาคนซึ่งเกิดจากผู้หญิงมานั้น ไม่มีผู้ใดใหญ่กว่ายอห์นผู้ให้รับบัพติศมา แต่ว่าผู้ที่ต่ำต้อยที่สุดในแผ่นดินสวรรค์ก็ยังใหญ่กว่ายอห์นเสียอีก“ (มัทธิว 11:11)

ผู้ชายทุกคนเหมือนกับเฮโรด ไม่ค่อยกล้ายุ่งกับยอห์น ในอีกแง่ เฮโรดอาจกลัวฝูงชน เพราะพวกเขานับถือท่าน (มัทธิว 14:5) แต่ในอีกแง่ เฮโรดเองก็ยำเกรงยอห์น (มาระโก 6:20) ภาพลักษณ์ของยอห์นอาจดูไม่โดดเด่น แถมยังเป็นนักพูดที่ไม่ได้โด่งดัง แต่ที่แน่ๆท่านดึงดูดฝูงชนจำนวนมาก หลายคนทำตามที่ท่านสอน แม้ไม่ได้เดินทางไปไหนไกล แต่เรารู้ว่ามีผู้มาติดตามท่านจากที่ไกลเช่นจากยูเดีย และเอเฟซัส:

มียิวคนหนึ่งชื่ออปอลโล เกิดในเมืองอเล็กซานเดรีย เป็นคนมีโวหารดี และชำนาญมากในทางพระคัมภีร์ ท่านมายังเมืองเอเฟซัส อปอลโลคนนี้ได้รับการอบรมในทางขององค์พระผู้เป็นเจ้า และมีใจร้อนรนกล่าวสั่งสอนอย่างถูกต้องถึงเรื่องพระเยซู ถึงแม้ท่านรู้แต่เพียงบัพติศมาของยอห์นเท่านั้น (ยอห์น 26) ท่านได้เข้าไปในธรรมศาลาสั่งสอนโดยใจกล้า แต่เมื่อปริสสิลลากับอาควิลลาได้ฟังท่านแล้ว เขาจึงรับท่านมาสั่งสอนให้รู้ทางของพระเจ้าให้ถูกต้องยิ่งขึ้น (กิจการ 18:24-26)

ขณะที่อปอลโลยังอยู่ในเมืองโครินธ์ เปาโลได้ไปตามที่ดอน แล้วมายังเมืองเอเฟซัส ท่านพบสาวกบางคนที่นั่น จึงถามเขาว่า “เมื่อท่านทั้งหลายเชื่อนั้น ท่านได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์หรือเปล่า” เขาตอบว่า “เปล่า เรื่องพระวิญญาณบริสุทธิ์นั้นเราก็ยังไม่เคยได้ยินเลย” เปาโลจึงถามเขาว่า “ถ้าอย่างนั้นท่านได้รับบัพติศมาอันใดเล่า” เขาตอบว่า “บัพติศมาของยอห์น” เปาโลจึงว่า “ยอห์นให้รับบัพติศมาสำแดงถึงการกลับใจใหม่ แล้วบอกคนทั้งปวงให้เชื่อในพระองค์ผู้จะเสด็จมาภายหลังคือพระเยซู” เมื่อเขาได้ยินอย่างนั้น เขาจึงรับบัพติศมาในพระนามของพระเยซูเจ้า เมื่อเปาโลได้วางมือบนเขาแล้ว พระวิญญาณบริสุทธิ์ก็เสด็จลงมาบนเขา เขาจึงพูดภาษาแปลกๆและได้ทำนายด้วย คนเหล่านั้นมีประมาณสิบสองคน (กิจการ 19:1-7)

ในฐานะผู้เผยพระวจนะ ยอห์นผู้ให้บัพติศมาเป็นสิ่งแปลกใหม่ในอิสราเอลยุคนั้น เพราะผ่านมาเกือบ 400 ปีที่พระเจ้าไม่ได้ตรัสผ่านผู้เผยพระวจนะ (ดูอิสยาห์ 29:10) แล้วจู่ๆจากถิ่นทุรกันดารในยูเดียก็มีเสียงป่าวร้องขึ้นมา “จงกลับใจเสียใหม่ เพราะว่าแผ่นดินสวรรค์มาใกล้แล้ว” (มัทธิว 3:2) ผู้คนต่างก็แห่ไปที่ถิ่นทุรกันดาร ไปดูและไปฟังท่าน บางคนไปเพราะอยากรู้อยากเห็น ขณะที่บางคนไปเพราะต้องการกลับใจ สารภาพบาป และรับบัพติศมา คนอื่นๆ (เช่นพวกสะดูสิ และฟาริสี มัทธิว 3:7) อาจไปเพราะไปหาแนวร่วมมาต่อต้าน

บทเรียนนี้จะมุ่งไปที่ยอห์นผู้ให้บัพติศมา พันธกิจของท่าน ข่าวที่ท่านประกาศและวิธีการ ในขณะที่ผู้เขียนพระกิตติคุณแต่ละเล่มเน้นความสำคัญและให้มุมมองที่ต่างกัน ผมตั้งใจให้บทเรียนบทนี้เกี่ยวข้องกับยอห์นผู้ให้บัพติศมาตามมุมองของมัทธิว

ข้อสังเกต

เราควรเริ่มจากตั้งข้อสังเกตในตัวของท่านยอห์นผู้ให้บัพติศมา

(1) ยอห์นผู้ให้บัพติศมาเป็นบุคคลที่มีเอกลักษณ์ ที่แน่ๆ เป็นคนที่โดดเด่นท่ามกลางฝูงชน เป็นพระประสงค์ของพระเจ้าที่ไม่ต้องการให้ท่านแปดเปื้อนจากวงการศาสนาที่ เสื่อม ลงในยุคนั้น ท่านเป็นชาวนาซาเร็ธโดยกำเนิด และประกอบด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ตั้งแต่ครรภ์มารดา (ลูกา 1:15) และตามที่กล่าวไปแล้วเสื้อผ้าและอาหารของท่าน “ตกขอบ” อีกต่างหาก ตั้งแต่เป็นเด็กท่านออกไปอยู่ในทะเลทราย ในถิ่นทุรกันดารของแคว้นยูเดีย แม้จะเกิดในครอบครัวปุโรหิต ท่านไม่ได้ใช้ชื่อตามหรือรับหน้าที่ต่อจากบิดา (ลูกา 1:59-63, 80) และแม้ยอห์นเป็นผู้เผยพระวจนะ ท่านก็ไม่ได้ทำการอัศจรรย์หรือหมายสำคัญใดๆ:

คนเป็นอันมากพากันมาหาพระองค์ กล่าวว่า “ยอห์นมิได้ทำหมายสำคัญใดๆเลย แต่ทุกสิ่งซึ่งยอห์นได้กล่าวถึงท่านผู้นี้เป็นความจริง” (ยอห์น 10:41)

มันยากที่ผมจะจินตนาการ แต่ยอห์นไม่ได้รู้จักพระเยซูว่าเป็นพระเมสซิยาห์ตามพระสัญญา จนกระทั่งได้ให้บัพติศมาพระองค์ :

วันรุ่งขึ้นยอห์นเห็นพระเยซูกำลังเสด็จมา ทางท่าน ท่านจึงกล่าวว่า “จงดูพระเมษโปดกของพระเจ้า ผู้ทรงรับความผิดบาปของโลกไปเสีย พระองค์นี้แหละที่ข้าพเจ้าได้กล่าวว่า ‘ภายหลังข้าพเจ้า จะมีผู้หนึ่งเสด็จมาเป็นใหญ่กว่าข้าพเจ้า เพราะว่าพระองค์ทรงดำรงอยู่ก่อนข้าพเจ้า’ ข้าพเจ้าเองก็ไม่ได้รู้จักพระองค์ แต่เพื่อให้พระองค์ทรงเป็นที่ประจักษ์แก่พวกอิสราเอล ข้าพเจ้าจึงได้มาให้บัพติศมาด้วยน้ำ” และยอห์นกล่าวเป็นพยานว่า “ข้าพเจ้าเห็นพระวิญญาณเหมือนดังนกพิราบ เสด็จลงมาจากสวรรค์และทรงสถิตบนพระองค์ ข้าพเจ้าเองไม่รู้จักพระองค์ แต่พระองค์ทรงใช้ให้ข้าพเจ้าให้บัพติศมาด้วยน้ำ ได้ตรัสกับข้าพเจ้าว่า ‘เมื่อเจ้าเห็นพระวิญญาณเสด็จลงมาสถิตอยู่บนผู้ใด ผู้นั้นแหละเป็นผู้ให้บัพติศมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์’ และข้าพเจ้าก็ได้เห็นแล้วและได้เป็นพยานว่า พระองค์นี้แหละเป็นพระบุตรของพระเจ้า” (ยอห์น 1:29-34)3

(2) มัทธิว (และผู้เขียนพระกิตติคุณเล่มอื่นๆ) ระมัดระวังในการเชื่อมโยงยอห์นเข้ากับพระคัมภีร์เดิม ในพระกิตติคุณสี่เล่ม แต่ละเล่มยอห์นคือผู้ที่เป็น “เสียงหนึ่งร้องว่า” (อิสยาห์ 40):
เสียงหนึ่งร้องว่า
“จงเตรียมมรรคาแห่งพระเจ้าในถิ่นทุรกันดาร”
“จงทำทางหลวงสำหรับพระเจ้าของเรา” (อิสยาห์ 40:3) ที่นำมาใช้ในมัทธิว 3:3 ดูมาระโก 1:3 ด้วย
ลูกา 3:4-6; ยอห์น 1:23

เจาะลงไป เราจะเห็นมัทธิวโยงยอห์นเข้ากับเอลียาห์4 โดยเฉพาะลักษณะของท่าน ใน 2พงศ์กษัตริย์ 1 อาหัสยาห์โอรสอาหับ ตกลงมาจากช่องพระแกลตาข่ายและบาดเจ็บ อยากรู้ว่าตัวเองจะหายมั้ย จึงส่งผู้สื่อสารไปสอบถามบาอัลเซบุบ เอลียาห์เข้ามาขวางผู้สื่อสารนี้ ส่งพวกเขากลับไปหาอาหัสยาห์พร้อมคำตำหนิ ลองดูท่าทีตอบสนองของอาหัสยาห์เมื่อผู้สื่อสารกลับมา:

ผู้สื่อสารนั้นก็กลับมาเฝ้าพระราชา พระองค์ตรัสถามเขาทั้งหลายว่า “ทำไมพวกเจ้าจึงพากันกลับมา” และเขาทั้งหลายทูลพระองค์ว่า “มีชายคนหนึ่งมาพบกับพวกข้าพระบาท และพูดกับพวกข้าพระบาทว่า ‘จงกลับไปหาพระราชาผู้ใช้ท่านมา และทูลพระองค์ว่า พระเจ้าตรัสดังนี้ว่า เพราะไม่มีพระเจ้าในอิสราเอลแล้วหรือ เจ้าจึงใช้คนไปถามพระบาอัลเซบูบพระเจ้าแห่งเอโครน เพราะฉะนั้นเจ้าจะไม่ได้ลงมาจากที่นอนซึ่งเจ้าได้ขึ้นไปนั้น แต่เจ้าจะต้องตายแน่’” พระองค์ตรัสถามเขาทั้งหลายว่า “คนที่ได้มาพบเจ้าและบอกสิ่ง เหล่านี้แก่เจ้านั้นเป็นคนในลักษณะใด” เขาทั้งหลายทูลตอบพระองค์ว่า “ท่านสวมเสื้อขนและมีหนังคาดเอวของท่านไว้” และพระองค์ตรัสว่า “เป็นเอลียาห์ชาวทิชบี”(2พงศ์กษัตริย์ 1:5-8)

ทำไมถึงเอลียาห์? คำตอบแรก และตรงที่สุดคือสิ่งที่มาลาคีพยากรณ์ไว้ (3:1; 4:5) เอลียาห์ เช่นเดียวกับยอห์น เหมือนคนป่าในถิ่นทุรกันดาร อยู่ไม่เป็นที่ อาศัยห่างไกลจากสังคม แต่เอลียาห์เป็นผู้เผยพระวจนะในอาณาจักรเหนือ ไม่ใช่ในยูดาห์ ซึ่งตามข้อเท็จจริงผมเชื่อว่าสิ่งนี้มีความหมาย เอลียาห์ทำพันธกิจในยุคที่ “พวกเสเแสร้ง” อย่างกษัตริย์อาหับครองบัลลังก์ ผู้ที่ไม่สมควรนั่งบนบัลลังก์ของดาวิด พอยุคของยอห์น “พวกเสแสร้ง” คือเฮโรด เป็นลูกครึ่ง (เทียบกับเฉลยธรรมบัญญัติ 17:15) เมื่อภรรยาที่ชั่วร้ายของอาหับ เยเซเบล (ธิดาของกษัตริย์ไซดอนผู้ไหว้รูปเคารพ) หาทางฆ่าเอลียาห์ เฮโรเดียส ภรรยาที่ชั่วร้ายและใจคดของเฮโรดก็เช่นกัน หาทางฆ่ายอห์นด้วย (มัทธิว 14:1-2) อาธาลิยาห์ ธิดาของอาหับกับเยเซเบล เป็นหญิงที่ชั่วร้ายแต่งงานกับเยโฮรัมกษัตริย์แห่งยูดาห์ (2พงศ์กษัตริย์ 8:16-19, 26) ยิ่งทำให้เสื่อมลงไปใหญ่ ลูกสาวของเฮโรเดียสก็ไม่ต่างกัน มีส่วนทำให้เฮโรดตกต่ำและสังหารชีวิตของยอห์นผู้ให้บัพติศมา (มัทธิว 14:1-12) เมื่อเอลียาห์มาต่อต้านกษัตริย์และราชินีแห่งอิสราเอล ยอห์นผู้ให้บัพติศมาก็ไปเผชิญหน้ากับกษัตริย์เฮโรดและภรรยานางเฮโรเดียส

เอลียาห์เรียกร้องให้อาณาจักรเหนือกลับใจและหันเสียจากบาปล่วงประเวณีที่ หันไปนมัสการพระของคนต่างชาติ ยอห์นผู้ให้บัพติศมาเรียกร้องให้ชาวยิวในยูดาห์สำนึกบาปและกลับใจ เพราะทำให้ศาสนาเที่ยงแท้เสื่อมตามไปด้วย ตามที่เอเสเคียล 16 กล่าวไว้ เยรูซาเล็มและยูดาห์ทำบาปที่ร้ายแรงกว่าที่อิสราเอลละทิ้งศาสนา ยูดาห์แพศยากว่าอิสราเอลถึงสองเท่า จึงต้องรับพระอาชญาที่หนักกว่า

ขณะที่เอลียาห์เข้าใจว่าตนเองทำพันธกิจไม่สำเร็จ (1พงศ์กษัตริย์ 19) ยอห์นผู้ให้บัพติศมาก็ด้วย ท่านถามเพราะสงสัยว่าพระเยซูคือพระเมสซิยาห์หรือเปล่า (มัทธิว 11:2) ในกรณีของเอลียาห์ พันธกิจของท่านสำเร็จลงเมื่อไปเจิมตั้งฮาซาเอลเป็นกษัตริย์เหนือซีเรีย และเยฮูเป็นกษัตริย์เหนืออิสราเอล (1พงศ์กษัตริย์ 19:15-16) นอกจากนั้น เอลียาห์เลือกเอลีชามารับหน้าที่ต่อจากท่าน (1พงศ์กษัตริย์ 19:16) เอลีชาสำหรับเอลียาห์เหมือนกับพระเยซูสำหรับยอห์นผู้ให้บัพติศมา จึงไม่น่าประหลาดขณะที่พระเจ้าเรียกยอห์นให้มาประกาศถึงการเสด็จมาของ กษัตริย์เที่ยงแท้แห่งอิสราเอล ท่านก็จะมาประณามกษัตริย์จอมปลอม (เฮโรด) ที่กำลังนั่งครองบัลลังก์

(3) พันธกิจของยอห์นตามที่มัทธิวบันทึก บรรยายถึงความพิเศษและเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของท่าน และอย่างที่คาด พระกิตติคุณทุกเล่มพูดถึงพันธกิจของยอห์นผู้ให้บัพติศมาในแง่มุมที่คล้ายกัน แต่เน้นบางมุมที่แตกต่าง มาระโกไม่มีแง่ลบสำหรับคนที่เข้ามาขอรับบัพติศมา ส่วนลูกา ยอห์นเจาะไปที่ฝูงชนที่เข้ามาหา เตือนคนที่คิดว่าตัวเองเป็นลูกหลานอับราฮัม และพูดถึงตัวอย่าง “ผลของการกลับใจ” คนที่มีเสื้อหรือมีอาหารพอให้แบ่งปันให้คนที่ไม่มี (ลูกา 3:11)5 คนเก็บภาษีก็ไม่ควรเก็บเกินพิกัด (3:12-13) ฝ่ายทหารอย่ากรรโชก อย่าใส่ความเพื่อเอาเงิน ควรพอใจในค่าจ้างของตน (3:14)
พระกิตติคุณมัทธิวเน้นในแง่มุมที่ต่างไปเมื่อพูดถึงฝูงชนที่เข้ามาหายอห์น :

ครั้นยอห์นเห็นพวกฟาริสี และพวกสะดูสีพากันมาเป็นอันมาก เพื่อจะรับบัพติศมา ท่านจึงกล่าวแก่เขาว่า “เจ้าชาติงูร้าย ใครได้เตือนเจ้าให้หนีจากพระอาชญาซึ่งจะมาถึงนั้น เหตุฉะนั้นจงพิสูจน์การกลับใจของเจ้าด้วยผลที่เกิดขึ้น อย่านึกเหมาเอาในใจว่าตัวมีอับราฮัมเป็นบิดา เพราะเราบอกเจ้าทั้งหลายว่า พระเจ้าทรงฤทธิ์อาจจะให้บุตรเกิดขึ้นแก่อับราฮัมจากก้อนหินเหล่านี้ได้ บัดนี้ขวานวางไว้ที่โคนต้นไม้แล้ว และทุกต้นที่ไม่เกิดผลดีจะต้องตัดแล้วโยนทิ้งในกองไฟ เราให้เจ้าทั้งหลายรับบัพติศมาด้วยน้ำ แสดงว่ากลับใจใหม่ก็จริง แต่พระองค์ผู้จะมาภายหลังเรา ทรงมีอิทธิฤทธิ์ยิ่งกว่าเราอีก ซึ่งเราไม่คู่ควรแม้จะถอดฉลองพระบาทของพระองค์ พระองค์จะทรงให้เจ้าทั้งหลาย รับบัพติศมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์และด้วยไฟ พระหัตถ์ของพระองค์ถือพลั่วพร้อมแล้ว และจะทรงชำระลานข้าวของพระองค์ให้ทั่ว พระองค์จะทรงเก็บข้าวของพระองค์ไว้ในยุ้งฉาง แต่พระองค์จะทรงเผาแกลบด้วยไฟที่ไม่รู้ดับ” (มัทธิว 3:7-12)

พระกิตติคุณมัทธิวเน้นไปที่บุคคลกลุ่มหนึ่งที่มาตามเฝ้าดูยอห์น ท่านเอ่ยชื่อให้ผู้อ่านรู้ด้วย “พวกฟาริสี และพวกสะดูสี” ซึ่งไม่ได้มารับบัพติศมา แต่มาเรื่องที่ยอห์นให้บัพติศมา บางฉบับเลือกที่จะแปลทำนองว่าผู้นำศาสนาเหล่านี้มาเพื่อขอรับบัพติศมา แต่ในลูกาเขียนไว้ชัดเจนว่าพวกสะดูสีและพวกฟาริสีเหล่านี้กลับไปโดยไม่ได้ รับบัพติศมา :

เมื่อผู้สื่อข่าวทั้งสองของยอห์นไปแล้ว พระองค์จึงตรัสกับประชาชนถึงยอห์นว่า “ท่านทั้งหลายได้ออกไปในถิ่นทุรกันดารเพื่อดูอะไร มิใช่ดูต้นอ้อไหวโดยถูกลมพัดนะ ถ้าอย่างนั้นท่านทั้งหลายได้ไปดูอะไร ดูคนนุ่งห่มผ้าเนื้ออ่อนนิ่มหรือ ดูเถิด คนนุ่งห่มผ้างดงามและอยู่อย่างฟุ่มเฟือยย่อมอยู่ในราชสำนัก แต่ท่านทั้งหลายออกไปดูอะไร ดูผู้เผยพระวจนะหรือ แน่ทีเดียว และเราบอกท่านว่า ท่านนั้นเป็นผู้ประเสริฐยิ่งกว่าผู้เผยพระวจนะเสียอีก คือยอห์นนี้แหละที่พระคัมภีร์กล่าวถึงว่า เราใช้ทูตของเราไปข้างหน้าท่าน ผู้นั้นจะเตรียมมรรคาของท่านไว้ข้างหน้าท่าน เราบอกท่านทั้งหลายว่า ในบรรดาคนที่บังเกิดจากผู้หญิงมานั้น ไม่มีผู้ใดใหญ่กว่ายอห์น แต่ว่าผู้ที่ต่ำต้อยที่สุดในแผ่นดินของพระเจ้าก็ใหญ่กว่ายอห์นเสียอีก” (ฝ่ายคนทั้งปวงเมื่อได้ยินรวมทั้งพวกเก็บภาษีด้วยก็ได้รับว่าพระเจ้า ยุติธรรม โดยที่เขาได้รับบัพติศมาของยอห์นแล้ว แต่พวกฟาริสีและพวกบาเรียนไม่ยอมรับพระประสงค์ของพระเจ้าสำหรับเขา โดยที่มิได้รับบัพติศมาจากยอห์น) (ลูกา 7:24-30)

มัทธิวเป็นคนยิวและเขียนหนังสือเล่มนี้ให้ผู้อ่านชาวยิว ท่านชี้ให้เห็นความจริงว่าผู้นำชาวยิวถูกยอห์นผู้ให้บัพติศมากล่าวตำหนิ อย่างรุนแรง ยอห์นไม่ยอมรับว่าคนพวกนี้กลับใจจริง เป็นพวกหน้าซื่อใจคด เราเห็นว่าพวกผู้นำศาสนาในเยรูซาเล็มไม่ได้ใส่ใจถึงการมาบังเกิดของพระเม สซิยาห์ในเบธเลเฮม (มัทธิว 2:1-6) เราทราบว่ายอห์นผู้ให้บัพติศมาตำหนิผู้นำศาสนาชาวยิวที่มาเพราะสงสัยหรือ อยากรู้อยากเห็น มัทธิวจึงเหมือนปูทางให้เราสำหรับถ้อยคำตักเตือนจากพระเยซูคริสต์ :

“เพราะเราบอกท่านทั้งหลายว่า ถ้าความชอบธรรมของท่าน ไม่ยิ่งกว่าความชอบธรรมของพวกธรรมาจารย์ และพวกฟาริสี ท่านจะไม่มีวันได้เข้าสู่แผ่นดินสวรรค์” (มัทธิว 5:20)

เราเหมือนถูกเตรียมเอาไว้รับมือกับการต่อต้านที่รุนแรงของผู้นำชาวยิวที่ จะมีต่อพระเยซูคริสต์ พวกเขาถือว่าพระองค์เป็นศัตรูต่อ “อาณาจักร” ของพวกเขา
(4) ถ้อยคำของยอห์น : “จงกลับใจเสียใหม่ เพราะว่าแผ่นดินสวรรค์มาใกล้แล้ว” (มัทธิว 3:2) เป็นการประกาศว่าแผ่นดินสวรรค์อยู่ใกล้แค่เอื้อม แปลว่ากษัตริย์ใกล้จะมาปรากฏพระองค์ ยอห์นรอบคอบในสิ่งที่ท่านทำเมื่อนำไปเทียบกับพระราชกิจของพระเมสซิยาห์ ท่านเป็นเพียงเสียงที่ร้องอยู่ในถิ่นทุรกันดาร แต่พระเมสซิยาห์นั้นยิ่งใหญ่กว่า ท่านคิดว่าตนเองไม่คู่ควรแม้จะไปถอดฉลองพระบาท (3:11) ยอห์นให้บัพติศมาด้วยน้ำ แต่พระเมสซิยาห์จะให้บัพติศมาในสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่า

การประกาศถึงการเสด็จมาของพระเมสซิยาห์เป็นเหมือนคำเตือน ในพระกิตติคุณมัทธิว การป่าวร้องของยอห์นเหมือนคำเตือนไปถึงผู้นำชาวยิว รวมถึงพวกฟาริสี และบรรดาผู้นำที่เรียกว่าเคร่งศาสนา6 สิ่งที่ยอห์นประกาศเป็นคำเตือนถึงการพิพากษาที่กำลังจะมาถึง:

ครั้นยอห์นเห็นพวกฟาริสี และพวกสะดูสีพากันมาเป็นอันมาก เพื่อจะรับบัพติศมา ท่านจึงกล่าวแก่เขาว่า “เจ้าชาติงูร้าย ใครได้เตือนเจ้าให้หนีจากพระอาชญาซึ่งจะมาถึงนั้น เหตุฉะนั้นจงพิสูจน์การกลับใจของเจ้าด้วยผลที่เกิดขึ้น อย่านึกเหมาเอาในใจว่าตัวมีอับราฮัมเป็นบิดา เพราะเราบอกเจ้าทั้งหลายว่า พระเจ้าทรงฤทธิ์อาจจะให้บุตรเกิดขึ้นแก่อับราฮัมจากก้อนหินเหล่านี้ได้ บัดนี้ขวานวางไว้ที่โคนต้นไม้แล้ว และทุกต้นที่ไม่เกิดผลดีจะต้องตัดแล้วโยนทิ้งในกองไฟ (มัทธิว 3:7-10)

พระเมสซิยาห์เสด็จมาเพื่อ “ช่วยชนชาติของพระองค์ให้รอดจากความผิดบาป” (มัทธิว 1:21) จึงจำเป็นที่ชนชาติของพระองค์ต้องเห็นถึงความบาปของตัวเองก่อน ถ้ามนุษย์ยังอยากดื้อดึงในความบาปของตน การเสด็จมาของพระเมสซิยาห์จึงมาเพื่อพิพากษา ไม่ใช่มาเพื่อช่วยให้รอด

ในความคิดของผม ยอห์นผู้ให้บัพติศมาเช่นเดียวกับผู้เผยพระวจนะส่วนใหญ่ ไม่ได้แยกแยะชัดเจนระหว่างการเสด็จมาของพระเมสซิยาห์ครั้งแรกและครั้งที่สอง เหมือนพวกเขาไม่เข้าใจว่าพระองค์จะเสด็จมาสองครั้ง ครั้งแรกมาตายเพื่อเป็นเครื่องบูชาสมบูรณ์แบบแทนคนบาปทั้งหลาย และครั้งที่สองเพื่อมีชัยเหนือศัตรู และตั้งอาณาจักรของพระองค์ ความจริงสิ่งที่ยอห์นประกาศเน้นไปที่การเสด็จมาครั้งที่สองมากกว่า ซึ่งไม่น่าประหลาดใจสำหรับพวกเรา แต่เป็นความลำบากใจของพวกผู้เผยพระวจนะในพระคัมภีร์เดิม:

บรรดาผู้เผยพระวจนะผู้ได้พยากรณ์ถึงพระ คุณซึ่งจะบังเกิดแก่ท่านทั้งหลาย ก็ได้สืบค้นและสอบถามเกี่ยวกับเรื่องความรอดนี้ เขาได้สืบค้นหาบุคคลและเวลา ซึ่งพระวิญญาณของพระคริสต์ผู้ทรงสถิตอยู่ในตัวเขาได้ทรงบ่งไว้ เมื่อเขาได้ทำนายถึงความทุกข์ทรมานของพระคริสต์ และถึงพระสิริที่จะมาภายหลัง ก็ทรงโปรดเผยให้ผู้เผยพระวจนะเหล่านั้นทราบว่า ที่เขาเหล่านั้นได้ปรนนิบัติในเหตุการณ์ทั้งปวงนั้น ไม่ใช่สำหรับเขาเองแต่สำหรับท่านทั้งหลาย บัดนี้คนเหล่านั้นที่ประกาศข่าวประเสริฐแก่ท่านทั้งหลาย ก็ได้กล่าวสิ่งเหล่านั้นแก่ท่านแล้ว โดยพระวิญญาณบริสุทธิ์ที่ทรงโปรดประทานจากสวรรค์ เป็นสิ่งซึ่งพวกทูตสวรรค์ปรารถนาจะได้ดู (1เปโตร 1:10-12)

ผมเห็นว่าการเสด็จมาของพระเมสซิยาห์ครั้งแรกและครั้งที่สองที่ดูคลุม เครือนี้อธิบายถึงสิ่งที่ยอห์นสงสัย ซึ่งเราจะเรียนกันต่อไปในมัทธิวบทที่ 11:

ฝ่ายยอห์นเมื่อติดอยู่ในเรือนจำ ได้ยินถึงกิจการแห่งพระคริสต์ก็ได้ใช้ศิษย์ไป ทูลถามพระองค์ว่า “ท่านเป็นผู้ที่จะมานั้นหรือ หรือจะต้องคอยผู้อื่น” (มัทธิว 11:2-3)

พระเยซูทรงทำการอัศจรรย์รักษาโรคหลายครั้ง คนตาบอดมองเห็น คนง่อยเดินได้ บางคนได้รับการชุบให้เป็นขึ้นมาจากความตาย (มัทธิว 11:5) ปัญหาคือการรักษาโรคอย่างอัศจรรย์นี้ไม่ใช่มาเพื่อพิพากษา แต่กลับเป็นการมาช่วยให้รอด ยอห์นเน้นไปที่การพิพากษาของพระเจ้า พระเยซูให้คนกลับไปบอกยอห์นว่าให้ดูการอัศจรรย์ที่พระองค์ทำ และนำไปเปรียบเทียบกับสิ่งที่บรรดาผู้เผยพระวจนะพยากรณ์ว่าพระเมสซิยาห์จะทำ เมื่อเสด็จมา หนึ่งในนั้นอยู่ในลูกาบทที่ 4:

แล้วพระองค์เสด็จมาถึงเมืองนาซาเร็ธ เป็นที่ซึ่งพระองค์ทรงเจริญวัยขึ้น พระองค์เสด็จเข้าไปในธรรมศาลาในวันสะบาโตตามเคย และทรงยืนขึ้นเพื่อจะอ่านพระธรรม เขาจึงส่งพระคัมภีร์อิสยาห์ผู้เผยพระวจนะให้แก่พระองค์ เมื่อพระองค์ทรงคลี่หนังสือนั้นออก ก็ค้นพบข้อที่เขียนไว้ว่า พระวิญญาณแห่งพระเป็นเจ้าทรงอยู่เหนือข้าพเจ้า เพราะว่าพระองค์ได้ทรงเจิมตั้งข้าพเจ้าไว้ เพื่อนำข่าวดีมายังคนยากจน พระองค์ได้ทรงใช้ข้าพเจ้าให้ร้องประกาศอิสรภาพแก่บรรดาเชลย ให้ประกาศแก่คนตาบอดว่าจะได้เห็นอีก ให้ปล่อยผู้ถูกบีบบังคับเป็นอิสระ และให้ประกาศปีแห่งความโปรดปรานของพระเป็นเจ้า (ลูกา 4:16-19)
สิ่งที่ยอห์นประกาศเป็นคนละเรื่องกับพระเยซูหรือ? ไม่ครับ เมื่อพระเยซูเริ่มต้นเทศนา พระองค์ตรัสย้ำสิ่งที่ยอห์นประกาศไว้ :
ตั้งแต่นั้นมา พระเยซูได้ทรงตั้งต้นประกาศว่า “จงกลับใจเสียใหม่ เพราะว่าแผ่นดินสวรรค์มาใกล้แล้ว” (มัทธิว 4:17)

ถ้ามนุษย์จะได้รับความรอด ต้องมีบางสิ่งที่มาช่วยพวกเขาเพื่อให้รอดจากพระอาชญาของพระเจ้าซึ่งจะเทลงมาเหนือคนบาป
เพราะว่าพระเจ้าทรงรักโลก จนได้ทรงประทานพระบุตรองค์เดียวของพระองค์ เพื่อทุกคนที่วางใจในพระบุตรนั้นจะไม่พินาศ แต่มีชีวิตนิรันดร์ เพราะว่าพระเจ้าทรงให้พระบุตรเข้ามาในโลก มิใช่เพื่อพิพากษาลงโทษโลก แต่เพื่อช่วยกู้โลกให้รอดโดยพระบุตรนั้น ผู้ที่วางใจในพระบุตรก็ไม่ต้องถูกพิพากษาลงโทษ ส่วนผู้ที่มิได้วางใจก็ต้องถูกพิพากษาลงโทษอยู่แล้ว เพราะเขามิได้วางใจในพระนามพระบุตรองค์เดียวของพระเจ้า (ยอห์น 3:16-18)

เพราะเหตุนั้นเมื่อเราเป็นคนชอบธรรมแล้วโดยพระโลหิตของพระองค์ ยิ่งกว่านั้นเราจะพ้นจากพระอาชญาของพระเจ้าโดยพระองค์ (โรม 5:9)

สิ่งที่ยอห์นประกาศไม่เพียงแต่เตือนถึงพระอาชญาที่กำลังจะมาถึง แต่เป็นการเรียกให้ลงมือปฏิบัติ ยอห์นเรียกร้องให้มนุษย์กลับใจจากบาปและรับบัพติศมา คำว่า “กลับใจ”ยอห์ นหมายถึงอะไร? หมายถึงการเปลี่ยนแปลงความคิด และหันหลังกลับ การกลับใจของยอห์นมีความหมายมากกว่าแค่เปลี่ยนความคิด แต่ยังรวมถึงอื่นๆ ผมเชื่อว่าต้องมีความสำนึกผิดและเสียใจ การกลับใจยังหมายถึงเปลี่ยนความคิดและจิตใจ ซึ่งจะส่งผลไปถึงการเปลี่ยนแปลงอื่นๆ เช่นเปลี่ยนวิถีชีวิต มัทธิวไม่ได้ลงรายละเอียดว่าชีวิตควรเปลี่ยนไปอย่างไรเมื่อกลับใจ พระเยซูทรงวางแนวทางชีวิตไว้ให้ การพิสูจน์การกลับใจของเจ้าด้วยผลที่เกิดขึ้น (3:8) ซึ่งลูกาให้ตัวอย่างไว้หลายแบบ รวมไปถึงคนเก็บภาษี และทหารด้วย (ลูกา 3:11-14)

เมื่ออ่านพระวจนะตอนต่างๆที่พูดถึงสิ่งที่ยอห์นผู้ให้บัพติศมาประกาศ ผมรู้สึกว่ายอห์นไม่ได้แค่ต้องการให้คนกลับใจจากบาปของตน คิดว่าท่านกำลังเรียกร้องให้กลับใจโดยเลิกและละทิ้งระบอบความเชื่อเดิมที่ ต่างจากความเชื่อในพระเยซูคริสต์ในเรื่องการอภัยบาปและรับของขวัญแห่งความ รอดนิรันดร์ พันธกิจของยอห์นในพระกิตติคุณมัทธิวเน้นไปที่ระบอบศาสนาจอมปลอมที่ผู้นำยิว บัญญัติขึ้นมา (เริ่มมาจากฟาริสี)

“เหตุฉะนั้นจงพิสูจน์การกลับใจของเจ้า ด้วยผลที่เกิดขึ้น อย่านึกเหมาเอาในใจว่าตัวมีอับราฮัมเป็นบิดา เพราะเราบอกเจ้าทั้งหลายว่า พระเจ้าทรงฤทธิ์อาจจะให้บุตรเกิดขึ้นแก่อับราฮัมจากก้อนหินเหล่านี้ได้ บัดนี้ขวานวางไว้ที่โคนต้นไม้แล้ว และทุกต้นที่ไม่เกิดผลดีจะต้องตัดแล้วโยนทิ้งในกองไฟ” (มัทธิว 3:8-10)

ยิวไว้ใจในระบอบศาสนาเดิมของบรรพบุรุษในเรื่องความรอด พวกเขาคิดว่าเป็นลูกหลานของอับราฮัมแล้ว มั่นใจได้ว่ามีตั๋วพิเศษแถวหน้าเข้าแผ่นดินสวรรค์ อ.เปาโลอธิบายไว้อย่างเข้มข้นในโรม 9 ว่าการเป็นคริสเตียนเป็นคนละเรื่องกับการเป็นลูกหลานอับราฮัม ยอห์นผู้ให้บัพติศมาปฏิเสธเรื่องความรอดโดยทางบรรพบุรุษอย่างหนักแน่น พระเจ้าทรงฤทธิ์อาจจะให้บุตรเกิดขึ้นแก่อับราฮัมจากก้อนหินเหล่านี้ได้ (3:9) พวกต่างชาติต่างก็มีวิถีปฏิบัติในแบบของตน และพระกิตติคุณลูกาเองก็พูดเรื่องนี้ การกลับใจจึงไม่ใช่แค่ละทิ้งบาปบางอย่าง แต่เป็นการละทิ้งระบอบหรือวิถีที่วางใจในกำลังและการกระทำของมนุษย์แทนที่จะ มีความเชื่อในการหลั่งพระโลหิตของพระเยซูคริสต์เพื่อชดใช้แทนบาปของมนุษย์

เราต้องเข้าใจให้ชัดเจนว่ายอห์นไม่ได้บอกว่าแผ่นดินสวรรค์ที่กำลังมานั้น ต้องพึ่งพาการกระทำของมนุษย์ ไม่ใช่ให้มนุษย์กลับใจเพื่อให้แผ่นดินสวรรค์มา แต่มนุษย์ควรกลับใจ“เพราะ” แผ่นดินสวรรค์มาใกล้แล้ว :

“เรื่องสำคัญที่น่ายินดีคือส่วนที่มนุษย์รับผิดชอบ – กลับใจ หันกลับ เปลี่ยนแปลง – ไม่ใช่ทำเพื่อผลักดันให้การปกครองของพระเจ้าเข้ามา ที่แน่ใจได้คือ “เพราะ” การปกครองของพระเจ้ากำลังใกล้เข้ามาไม่ว่าเราจะเปลี่ยนหรือไม่ก็ตาม แปลว่าแผ่นดินสวรรค์ไม่ได้มาเพราะเราเปลี่ยนแปลง เราจะ “รับโทษ” เพราะแผ่นดินสวรรค์ใกล้เข้ามา หรือจะ “รับพระพร” โดยคุกเข่าลงสำนึกผิดและหันกลับ “แผ่นดินพระเจ้ากำลังมาถึง อย่ารอช้า จงรีบกลับใจ” ข่าวเรื่องการมาถึงของแผ่นดินพระเจ้า “ทำให้” มนุษย์สามารถทำในส่วนของตนได้คือ สำนึกผิด กลับใจ และเปลี่ยนแปลง”7

สัญลักษณ์ภายนอกของการกลับใจคือรับบัพติศมา บัพติศมาอย่างเดียวที่คนยิวสมัยนั้นรู้จักคือบัพติศมาเข้าลัทธิยูดาย บัพติศมาแบบนั้นผู้เชื่อต้องทำพิธีชำระตัวเองและ (ถ้าเป็นผู้ชาย) ต้องเข้าสุหนัต พิธีชำระตัวเองและเข้าสุหนัตที่คนต่างชาติต้องทำถึงจะเข้าลัทธิยูดายได้และ อยู่ภายใต้ธรรมบัญญัติในพระคัมภีร์เดิม ทำให้รู้ว่าคนยิวต้องถ่อมใจลงมาแค่ไหนเพื่อจะรับบัพติศมา ข้อสรุปจึงชัดเจน : ถ้าคนยิวต้องการกลับใจก่อนพระเมสซิยาห์เสด็จมา เขาจำต้องยอมรับว่าลัทธิยูดายไม่อาจช่วยให้รอดพ้นจากบาปได้ และการยอมเข้าบัพติศมาก็เท่ากับลดตัวเองลงมาอยู่ระดับ (ต่ำลง) เดียวกับคนต่างชาติ ทั้งคนยิวและคนต่างชาติต่างเหมือนกันคือต้องเตรียมตัวพร้อมรับการเสด็จมาของ พระเมสซิยาห์โดย: (1) กลับใจจากระบอบศาสนาจอมปลอมที่เคยวางใจ (2) สารภาพบาป และ (3) รับบัพติศมา เช่นเดียวกับที่คนต่างชาติเปลี่ยนไปนับถือศาสนายูดาย จึงไม่น่าประหลาดใจที่ทำไมพวกฟาริสีถึงไม่ต้องการเข้าพิธีบัพติศมา !
คำสอนของพระเยซูต่างจากที่ยอห์นประกาศเล็กน้อย เพราะพระเยซูประกาศว่า ลัทธิยูดาย ก็ยังไม่พอช่วยใครให้รอดจากบาป และเข้าแผ่นดินสวรรค์ได้ :

“อย่าคิดว่าเรามาเลิกล้างธรรมบัญญัติและ คำของผู้เผยพระวจนะ เรามิได้มาเลิกล้าง แต่มาทำให้สมบูรณ์ทุกประการ เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า ตราบใดที่ฟ้าและดินดำรงอยู่ แม้อักษรหนึ่งหรือขีดๆหนึ่งก็จะไม่สูญไปจากธรรมบัญญัติ จนกว่าสิ่งที่จะต้องเกิด ได้เกิดขึ้นแล้ว เหตุฉะนั้น ผู้ใดได้ทำให้ข้อเล็กน้อยสักข้อหนึ่งในธรรมบัญญัตินี้เบาขึ้น ทั้งสอนคนอื่นให้ทำอย่างนั้นด้วย ผู้นั้นจะได้ชื่อว่าเป็นผู้น้อยที่สุดในแผ่นดินสวรรค์ แต่ผู้ใดที่ประพฤติและสอนตามธรรมบัญญัติ ผู้นั้นจะได้ชื่อว่าเป็นใหญ่ในแผ่นดินสวรรค์ เพราะเราบอกท่านทั้งหลายว่า ถ้าความชอบธรรมของท่าน ไม่ยิ่งกว่าความชอบธรรมของพวกธรรมาจารย์ และพวกฟาริสี ท่านจะไม่มีวันได้เข้าสู่แผ่นดินสวรรค์” (มัทธิว 5:17-20)

คำสอนของยอห์นจึงเกิดปัญหาขึ้นในใจผม “ทำไมคำสอนของท่านถึงเป็นเชิงลบ?” เมื่อลองคิดดู ผมขอตอบแบบนี้ครับ

ประการแรก อย่าลืมว่ายอห์นผู้ให้บัพติศมาคือใคร คือผู้เผยพระวจนะ ที่จริงเป็นผู้เผยพระวจนะคนสุดท้ายจากพระคัมภีร์เดิม ภารกิจของท่านในฐานะผู้เผยพระวจนะคือเรียกร้องให้มนุษย์มองเห็นสภาพตนเองที่ ตกไปจากพระบัญญัติของพระเจ้าและประกาศว่าพวกเขาต้องถูกลงพระอาชญา พระบัญญัติทำอะไรอีกนอกจากคำแช่งสาป – ชี้ให้เห็นหนทางความรอดที่แท้จริงโดยทางความเชื่อไม่ใช่ทำตามบทบัญญัติ

ประการที่สอง ยอห์นกำลังพูดกับใคร ท่านกำลังพูดกับคนบาป – คนบาปชาวยิวที่ไว้ใจว่าตนเองสืบเชื้อสายมาจากอับราฮัม และพูดกับคนบาปต่างชาติ เช่นคนเก็บภาษีที่เก็บเกินพิกัด กับทหารที่ใช้อำนาจข่มขู่เงินจากคนไม่มีทางสู้ ถ้าคนบาปจะรอดได้ พวกเขาต้องตระหนักว่าเป็นคนบาป สมควรแก่การพิพากษาถึงชีวิต

ประการที่สาม คำเทศนาของยอห์นพูดถึงการพิพากษาที่จะมาถึง ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับพระเยซูคริสต์ หลายคนที่ได้ยินถ้อยคำของยอห์นและปฏิเสธว่าพระเยซูคือพระเมสซิยาห์ตามพระ สัญญา จะตกอยู่ในข่ายถูกพิพากษา คำเทศนาเชิงลบของยอห์น ทำให้ผมนึกถึงคำเตือนของโมเสสในเฉลยธรรมบัญญัติ 28 โมเสสนำพันธสัญญาเดิมที่พระเจ้าทำไว้กับอิสราเอลมากล้าวซ้ำ ท่านพูดถึงพระพรสำหรับคนที่รักษาพระบัญญัติ และพระอาชญาสำหรับคนที่ไม่เชื่อฟัง ในบทที่ 28 ตอนที่ท่านพูดถึงพระพรมีความยาว 15 ข้อ และที่เหลือของบทอีก 54 ข้อพูดถึงพระอาชญา โมเสสโดยการดลใจของพระเจ้าเน้นเรื่องการพิพากษา เพราะท่านรู้ดีว่าจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากที่ท่านตาย:

และพระเจ้าตรัสกับโมเสสว่า “ดูเถิด วันซึ่งเจ้าต้องตายก็ใกล้เข้ามาแล้ว จงเรียกโยชูวามา และเจ้าทั้งสองจงมาเฝ้าเราในเต็นท์นัดพบ เพื่อเราจะได้กำชับเขา” โมเสสและโยชูวาก็เข้าไปในเต็นท์นัดพบ และพระเยโฮวาห์ทรงปรากฏในเสาเมฆที่ในเต็นท์นัดพบ และเสาเมฆนั้นอยู่ที่ประตูเต็นท์นัดพบ และพระเจ้าตรัสกับโมเสสว่า “ดูเถิด ตัวเจ้าจวนจะต้องหลับอยู่กับบรรพบุรุษของเจ้าแล้ว และชนชาตินี้จะลุกขึ้นและเล่นชู้กับพระแปลกๆของแผ่นดินนี้ ในที่ที่เขาไปอยู่ท่ามกลางนั้น เขาทั้งหลายจะทอดทิ้งเราเสียและหักพันธสัญญาซึ่งเราได้ กระทำไว้กับเขา แล้วในวันนั้นเราจะกริ้วต่อเขา และเราจะทอดทิ้งเขาเสียและซ่อนหน้าของเราเสียจากเขา เขาทั้งหลายจะถูกกลืน และสิ่งร้ายกับความลำบากเป็นอันมากจะมาถึงเขา ในวันนั้นเขาจึงจะกล่าวว่า ‘สิ่งร้ายเหล่านี้ตกแก่เรา เพราะพระเจ้าไม่ทรงสถิตท่ามกลางเราไม่ใช่หรือ’ ในวันนั้นเราจะซ่อนหน้าของเราเสียจากเขาเป็นแน่ ด้วยเหตุความชั่วซึ่งเขาได้กระทำเพราะเขาได้หัน ไปหาพระอื่น เหตุฉะนี้เจ้าทั้งสองจงเขียนบทเพลงนี้ และสอนคนอิสราเอลให้ร้องจนติดปาก เพื่อบทเพลงนี้จะเป็นพยานของเราปรักปรำคนอิสราเอล เพราะว่าเมื่อเราจะได้นำเขาเข้ามาในแผ่นดิน ซึ่งมีน้ำนมและน้ำผึ้งไหลบริบูรณ์ ซึ่งเราได้ปฏิญาณจะประทานแก่บรรพบุรุษของเขา และเขาได้รับประทานอิ่มหนำและอ้วนพี เขาจะหันไปปรนนิบัติพระอื่น และหมิ่นประมาท เราและผิดพันธสัญญาของเรา และเมื่อสิ่งร้ายและความลำบากหลายอย่างมาถึงเขาแล้ว เพลงบทนี้จะเผชิญหน้าเป็นพยาน (เพราะว่าเพลงนี้จะอยู่ที่ปากลูกหลานของเขาไม่มีวันลืม) เพราะเรารู้ถึงความมุ่งหมายที่เขากำลังจะก่อขึ้นมาแล้ว ก่อนที่เราจะนำเขาเข้าไปในแผ่นดินซึ่งเราปฏิญาณไว้นั้น” โมเสสจึงได้เขียนบทเพลงนี้ในวันเดียวกันนั้นและสอนให้ แก่ประชาชนอิสราเอล (เฉลยธรรมบัญญัติ 31:14-22)

ประการที่สี่ คำเทศนาของยอห์นและการตอบสนองของผู้คน เล็งถึงคำเทศนาในอนาคตของพระเยซูคริสต์และการตอบสนองของผู้คน มัทธิวเลือกเน้นไปที่การตอบสนองของยอห์นที่มีต่อผู้นำศาสนาชาวยิวที่แค่อยาก มาฟัง (หรือมาตรวจสอบ) ยอห์นใช้ถ้อยคำรุนแรงตำหนิ และต่อว่าผู้นำทางศาสนาที่ไม่ได้มาเพื่อกลับใจ แต่มาต่อต้านและยังปฏิเสธไม่ฟังท่านด้วย พระเยซูเองใช้ถ้อยคำตำหนิรุนแรงต่อพวกที่มาต่อต้านพระองค์ – กลุ่มผู้นำศาสนาพวกเดิม พวกนี้เป็นผู้นำที่เชื่อว่าตนเองชอบธรรมดีแล้ว และต่อต้านทุกคนที่เหมือนจะคุกคาม “อาณาจักร” พวกเขา คนพวกนี้เชื่อมั่นว่าตัวเองมีตั๋วห้าสิบหลาเข้าสู่แผ่นดินสวรรค์ของพระเจ้า แบบเดียวกับที่ยอห์นตำหนิผู้นำศาสนาหัวสูงพวกนี้ด้วยถ้อยคำรุนแรง พระเยซูก็ทรงทำเช่นกัน

(5) ถ้อยคำของยอห์นเป็นการถ่ายทอดและส่งต่อและเพื่อให้เตรียมพร้อม ถ้าจะเข้าใจคำเทศนาของยอห์น ก่อนอื่นเราต้องตระหนักถึงช่วงเวลาเจาะจงในชีวิตของท่านและบทบาทเฉพาะที่ ท่านเล่น ซึ่งเท่ากับเป็นการเชื่อมช่องว่างระหว่างพันธสัญญาเดิมและพันธสัญญาใหม่

ในอีกมุม คำเทศนาของยอห์นเป็นเหมือน”จุดเริ่มต้นของพระกิตติคุณ” เมื่อพวกสาวกตัดสินใจหาคนมาทำหน้าที่แทนยูดาส พวกเขาคุยกันถึงคุณสมบัติของผู้ที่จะมาทำหน้าที่แทน :

เหตุฉะนั้น ในบรรดาคนที่เป็นพวกเดียวกับเราเสมอตลอดเวลาที่พระเยซูเจ้าได้เสด็จเข้าออก กับเรา คือตั้งแต่บัพติศมาของยอห์น จนถึงวันที่พระเจ้าทรงรับพระองค์ขึ้นไปจากเรา คนหนึ่งในพวกนี้จะต้องเป็นพยานกับเรา ว่าพระองค์ได้ทรงคืนพระชนม์แล้ว” (กิจการ 1:21-22 ดู 10:37; 13:23-25 ด้วย)

หนังสือพระกิตติคุณ และการประกาศข่าวประเสริฐเริ่มต้นจากคำเทศนาของยอห์นผู้ให้บัพติศมาพูดถึง เรื่องนี้ เราต้องเข้าใจความจริงว่าคำพูดที่ยอห์นผู้ให้บัพติศมาประกาศไป ยังไม่ได้เป็นข่าวประเสริฐที่ครบถ้วน เพราะยอห์นยังเป็นส่วนหนึ่งของระบอบเก่า :

เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า ในบรรดาคนซึ่งเกิดจากผู้หญิงมานั้น ไม่มีผู้ใดใหญ่กว่ายอห์นผู้ให้รับบัพติศมา แต่ว่าผู้ที่ต่ำต้อยที่สุดในแผ่นดินสวรรค์ก็ยังใหญ่กว่ายอห์นเสียอีก และ ตั้งแต่สมัยยอห์นผู้ให้รับบัพติศมาถึงทุกวันนี้ แผ่นดินสวรรค์ก็เป็นสิ่งที่คนได้แสวงหาด้วยใจร้อนรน และผู้ที่ใจร้อนรนก็เป็นผู้ที่ชิงเอาได้ เพราะว่าคำของผู้เผยพระวจนะทั้งหลาย และธรรมบัญญัติได้พยากรณ์มาจนถึงยอห์นนี้ ถ้าท่านทั้งหลายจะยอมรับให้เป็น ก็ยอห์นนี่แหละ เป็นเอลียาห์ซึ่งจะมานั้น (มัทธิว 11:11-14 และที่ผมเน้น)

ยอห์นเป็นผู้เผยพระวจนะคนสุดท้ายของยุคพระคัมภีร์เดิม คำของท่านมีเพื่อเตรียมมนุษย์สำหรับการเสด็จมาของพระเมสซิยาห์ และข่าวประเสริฐแห่งความรอดที่จะประกาศออกไปหลังจากพระองค์สิ้นพระชนม์ ถูกฝัง คืนพระชนม์ และเสด็จสู่สวรรค์ พระเยซูและอัครสาวกชี้ชัดเจนว่าข่าวประเสริฐยังมีมากกว่าที่ยอห์นประกาศ และดียิ่งกว่า:

เพราะว่ายอห์นให้รับบัพติศมาด้วยน้ำ แต่ไม่ช้าไม่นานท่านจะรับบัพติศมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ (กิจการ 1:5)

มียิวคนหนึ่งชื่ออปอลโล เกิดในเมืองอเล็กซานเดรีย เป็นคนมีโวหารดี และชำนาญมากในทางพระคัมภีร์ ท่านมายังเมืองเอเฟซัส อปอลโลคนนี้ได้รับการอบรมในทางขององค์พระผู้เป็นเจ้า และมีใจร้อนรนกล่าวสั่งสอนอย่างถูกต้องถึงเรื่องพระเยซู ถึงแม้ท่านรู้แต่เพียงบัพติศมาของยอห์นเท่านั้น ท่านได้เข้าไปในธรรมศาลาสั่งสอนโดยใจกล้า แต่เมื่อปริสสิลลากับอาควิลลาได้ฟังท่านแล้ว เขาจึงรับท่านมาสั่งสอนให้รู้ทางของพระเจ้าให้ถูกต้องยิ่งขึ้น (กิจการ 18:24-26)

ขณะที่อปอลโลยังอยู่ในเมืองโครินธ์ เปาโลได้ไปตามที่ดอน แล้วมายังเมืองเอเฟซัส ท่านพบสาวกบางคนที่นั่น จึงถามเขาว่า “เมื่อท่านทั้งหลายเชื่อนั้น ท่านได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์หรือเปล่า” เขาตอบว่า “เปล่า เรื่องพระวิญญาณบริสุทธิ์นั้นเราก็ยังไม่เคยได้ยินเลย” เปาโลจึงถามเขาว่า “ถ้าอย่างนั้นท่านได้รับบัพติศมาอันใดเล่า” เขาตอบว่า “บัพติศมาของยอห์น” เปาโลจึงว่า “ยอห์นให้รับบัพติศมาสำแดงถึงการกลับใจใหม่ แล้วบอกคนทั้งปวงให้เชื่อในพระองค์ผู้จะเสด็จมาภายหลังคือพระเยซู” เมื่อเขาได้ยินอย่างนั้น เขาจึงรับบัพติศมาในพระนามของพระเยซูเจ้า เมื่อเปาโลได้วางมือบนเขาแล้ว พระวิญญาณบริสุทธิ์ก็เสด็จลงมาบนเขา เขาจึงพูดภาษาแปลกๆและได้ทำนายด้วย คนเหล่านั้นมีประมาณสิบสองคน (กิจการ 19:1-7)

โดยทางพันธกิจของยอห์น พระเจ้าทรงแนะนำพระเยซูให้รู้จักในฐานะพระเมสซิยาตามพระสัญญาที่รอคอยมานาน เช่นเดียวกับที่พระองค์ใช้ซามูเอลให้ไปเจิมตั้งซาอูล (1ซามูเอล 10) และต่อมาเจิมตั้งดาวิด (1ซามูเอล 16) ขึ้นเป็นกษัตริย์อิสราเอล อย่างที่ท่านอัครสาวกยอห์นพูด หน้าที่ของท่านคือเป็น “สหายของเจ้าบ่าว” ซึ่งมีสิทธิพิเศษได้ยินเสียงของเจ้าบ่าว และชื่นชมยินดี (ยอห์น 3:29)

บทสรุป

ยอห์นมีบทบาทสำคัญต่อการเริ่มพระราชกิจของพระเยซูคริสต์ ท่านเรียกร้องให้ผู้คนเตรียมพร้อมรับการเสด็จมาของพระเมสซิยาห์ สิ่งที่ท่านประกาศห่างไกลจากคำว่าล้าสมัย พระเยซูคริสต์จะเสด็จกลับมาเป็นครั้งที่สอง และครั้งนี้จะมาเพื่อพิพากษามนุษย์
พระองค์ทรงสั่งให้เราทั้งหลายประกาศแก่คน ทั้งปวง และเป็นพยานว่า พระเจ้าได้ทรงตั้งพระองค์ไว้เป็นผู้พิพากษาทั้งคนเป็นและคนตาย (กิจการ 10:42)

เพราะพระองค์ได้ทรงกำหนดวันหนึ่งไว้ ในวันนั้นพระองค์จะทรงพิพากษาโลกตามความชอบธรรม โดยมนุษย์ผู้นั้นซึ่งพระองค์ได้ทรงเลือกไว้ และพระเจ้าได้ทรงโปรดให้คนทั้งปวงมีความแน่ใจในเรื่องนี้ โดยทรงให้มนุษย์ผู้นั้นคืนชีวิต” (กิจการ 17:31 และ 2ทิโมธี 4:1)

การเสด็จมาครั้งแรก พระเยซูทรงแบกรับความบาปของเราไว้ที่พระองค์ และรับโทษจากผลของบาปนั้น เมื่อเสด็จกลับมาอีกครั้ง พระองค์จะพิพากษาคนบาป และปลดโลกนี้ให้เป็นไทจากบาป ภารกิจของเราในฐานะคริสเตียน คือประกาศข่าวดีที่พระเยซูมาช่วยคนบาปนี้ และเตือนผู้คนว่าวันแห่งการพิพากษาใกล้เข้ามาแล้วสำหรับคนที่ปฏิเสธไม่รับ พระองค์ การกลับใจเช่นเดียวกับความเชื่อ ไม่ใช่สิ่งที่เราทำสำเร็จเอง แต่เป็นของประทานจากพระเจ้า การกลับใจคือบางสิ่งที่พระเจ้าใส่เข้ามาในเรา ไม่ว่าจะอย่างไร เราถูกเรียกให้กลับใจมาเชื่อในพระองค์

ครั้นยอห์นถูกอายัดแล้ว พระเยซูได้เสด็จมายังแคว้นกาลิลี ทรงเทศนาประกาศข่าวประเสริฐของพระเจ้า และตรัสว่า “เวลากำหนดมาถึงแล้ว และแผ่นดินของพระเจ้าก็มาใกล้แล้ว จงกลับใจเสียใหม่ และเชื่อข่าวประเสริฐเถิด” (มาระโก 1:14-15)
ครั้นมาแล้วเปาโลจึงกล่าวว่า “ท่านทั้งหลายย่อมทราบอยู่เองว่า ข้าพเจ้าได้ประพฤติต่อท่านอย่างไรทุกเวลา ตั้งแต่วันแรกเข้ามาในแคว้นเอเชีย ข้าพเจ้าได้ปรนนิบัติพระเจ้าด้วยความถ่อมใจ ด้วยน้ำตาไหล และด้วยถูกการทดลอง ซึ่งมาถึงข้าพเจ้าเพราะพวกยิวคิดร้ายต่อข้าพเจ้า และสิ่งหนึ่งสิ่งใดซึ่งเป็นคุณประโยชน์แก่ท่านทั้งหลาย ข้าพเจ้ามิได้ปิดซ่อนไว้ แต่ได้ชี้แจงให้ท่านเห็น กับได้สั่งสอนท่านในที่ประชุม และตามบ้านเรือน ทั้งเป็นพยานแก่พวกยิวและพวกกรีก ถึงเรื่องการกลับใจใหม่เฉพาะพระเจ้า และความเชื่อในพระเยซูคริสตเจ้าของเรา (กิจการ 20:18-21)

พวกเรา เช่นเดียวกับยอห์นผู้ให้บัพติศมา ควรยื่นมือไปช่วยผู้คนให้กลับใจจากบาปและมามีความเชื่อในพระเยซูคริสต์ สิ่งนี้คือการเตรียมมนุษย์ให้พร้อมสำหรับการเสด็จกลับมาของพระเยซู กลับมาเพื่อพิพากษาตามที่ยอห์นสัญญาไว้ว่าจะเกิดขึ้น:

บัดนี้ขวานวางไว้ที่โคนต้นไม้แล้ว และทุกต้นที่ไม่เกิดผลดีจะต้องตัดแล้วโยนทิ้งในกองไฟ เราให้เจ้าทั้งหลายรับบัพติศมาด้วยน้ำ แสดงว่ากลับใจใหม่ก็จริง แต่พระองค์ผู้จะมาภายหลังเรา ทรงมีอิทธิฤทธิ์ยิ่งกว่าเราอีก ซึ่งเราไม่คู่ควรแม้จะถอดฉลองพระบาทของพระองค์ พระองค์จะทรงให้เจ้าทั้งหลาย รับบัพติศมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์และด้วยไฟ พระหัตถ์ของพระองค์ถือพลั่วพร้อมแล้ว และจะทรงชำระลานข้าวของพระองค์ให้ทั่ว พระองค์จะทรงเก็บข้าวของพระองค์ไว้ในยุ้งฉาง แต่พระองค์จะทรงเผาแกลบด้วยไฟที่ไม่รู้ดับ” (มัทธิว 3:10-12)

ในเวลาเมื่อมนุษย์ยังไร้เดียงสา พระเจ้ามิได้ทรงถือโทษ แต่เดี๋ยวนี้ พระเจ้าได้ตรัสสั่งแก่มนุษย์ทั้งปวงทั่วทุกแห่งให้กลับใจใหม่ เพราะพระองค์ได้ทรงกำหนดวันหนึ่งไว้ ในวันนั้นพระองค์จะทรงพิพากษาโลกตามความชอบธรรม โดยมนุษย์ผู้นั้นซึ่งพระองค์ได้ทรงเลือกไว้ และพระเจ้าได้ทรงโปรดให้คนทั้งปวงมีความแน่ใจในเรื่องนี้ โดยทรงให้มนุษย์ผู้นั้นคืนชีวิต” (กิจการ 17:30-31)

“ข้าแต่กษัตริย์อากริปปา เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว ข้าพระบาทจึงเชื่อฟังนิมิต ซึ่งมาจากสวรรค์นั้น และมิได้ขัดขืน แต่ข้าพระบาทได้กล่าวสั่งสอนเขา ตั้งต้นที่เมืองดามัสกัส และในกรุงเยรูซาเล็ม ทั่วแว่นแคว้นยูเดียและแก่ชาวต่างประเทศ ให้เขากลับใจใหม่ ให้หันมาหาพระเจ้า และกระทำการซึ่งสมกับที่กลับใจใหม่แล้ว” (กิจการ 26:1-20)

เดี๋ยวนี้คำว่าสำนึกผิดกลับใจไม่ค่อยมีใครนำมาเทศนา ไม่นานมานี้ผมดีใจมากที่ได้ยินบิลลี่ เกรแฮม เรียกร้องให้หญิงและชายสำนึกผิดกลับใจ มาเชื่อในพระเยซูในงานประกาศที่ดัลลัส เท็กซัส หันกลับมาหาพระเยซูเพื่อรับความรอดคือต้องหันเสียจากบาปที่เคยทำ บ่อยครั้งการพยายามทำให้ข่าวประเสริฐน่าลิ้มลอง การกลับใจจึงถูกข้ามไป ลดความสำคัญลง หรือถึงขั้นตัดทิ้ง บางครั้งการนำเสนอข่าวประเสริฐเหมือนกับนำพระราชกิจของพระเยซูใส่เพิ่มเข้า ไปกับแฟ้มส่วนตัวของคุณ เหมือนกับลงทุนเพิ่มอีกตัว ไม่มีการตัดอะไรทิ้ง ความจริงคือคุณต้องเปิดแฟ้มเอาของเก่าทิ้งไป (ไว้ใจในสิ่งอื่นที่ไม่ใช่พระเยซูคริสต์) แล้วให้พระคริสต์เข้ามาเติมเต็ม เศรษฐีหนุ่มไม่มีตัวเลือกให้เก็บความมั่งคั่งไว้ (ซึ่งคือพระของเขา) ดูมัทธิว 6:19-34; 19:16-22 เขาต้องสละทุกสิ่งเพื่อติดตามพระเยซู ถ้าเราจะประกาศข่าวประเสริฐ เราต้องไม่ลืมเรื่องการกลับใจ และความเชื่อด้วย สององค์ประกอบนี้ไม่ได้ค้านกัน แต่เป็นสองด้านของเหรียญเดียวกัน

คำประกาศของยอห์นเตือนเราถึงบทบาทสำคัญของธรรมบัญญัติ เหมือนนำร่องสู่พระกิตติคุณ ขณะที่พระคุณอยู่ตรงข้ามกับธรรมบัญญัติ (ดูโรม 4:16; 6:14; 7:6; กาลาเทีย 2:22; 5:1-4) แต่ธรรมบัญญัตินั้นชี้ไปที่พระคุณ:

ก่อนที่ความเชื่อมานั้น เราถูกธรรมบัญญัติกักตัวไว้ ถูกกั้นเขตไว้จนความเชื่อจะปรากฏ เพราะฉะนั้นธรรมบัญญัติจึงควบคุมเราไว้จนพระคริสต์เสด็จมา เพื่อเราจะได้เป็นคนชอบธรรมโดยความเชื่อ แต่บัดนี้ความเชื่อนั้นได้มาแล้ว เราจึงมิได้อยู่ใต้บังคับของผู้ควบคุมอีกต่อไปแล้ว (กาลาเทีย 3:23-25)

ธรรมบัญญัติเตรียมเราไว้สำหรับพระคุณ โดยเปิดเผยให้เห็นความบาปของเราเอง และไม่สามารถที่จะเอาใจพระเจ้าโดยการกระทำดี ดังนั้นธรรมบัญญัติจึงเป็นสิ่งที่ทำให้เรามองไปที่พระเจ้าเพื่อความรอดโดย พระคุณ ไม่ใช่ด้วยตัวเราเอง:

เรารู้แล้วว่า ธรรมบัญญัติทุกข้อที่ได้กล่าวนั้น ก็ได้กล่าวแก่คนเหล่านั้นที่อยู่ใต้ธรรมบัญญัติ เพื่อปิดปากทุกคน และเพื่อให้มนุษย์ทุกคนในโลกอยู่ใต้การพิพากษาของพระเจ้า เพราะว่าในสายพระเนตรของพระเจ้าไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดเป็นคนชอบธรรม โดยการประพฤติตามธรรมบัญญัติได้ เพราะว่าธรรมบัญญัตินั้นทำให้เรารู้จักบาปได้ แต่บัดนี้ได้ปรากฏแล้วว่า ความชอบธรรมซึ่งมาจากพระเจ้านั้นปรากฏนอกเหนือกฎบัญญัติ ธรรมบัญญัติกับพวกผู้เผยพระวจนะเป็นพยานอยู่ คือความชอบธรรมของพระเจ้า ซึ่งทรงประทานโดยความเชื่อในพระเยซูคริสต์ แก่ทุกคนที่เชื่อ เพราะว่าคนทั้งหลายไม่ต่างกัน เพราะว่าทุกคนทำบาป และเสื่อมจากพระสิริของพระเจ้า แต่พระเจ้าทรงพระกรุณาให้เขาเป็นผู้ชอบธรรม โดยไม่คิดมูลค่า โดยที่พระเยซูคริสต์ทรงไถ่เขาให้พ้นบาปแล้ว (โรม 3:19-24)

เฟรเดอริค บรูเนอร์พูดไว้ในทำนองนี้ :
“ไม่มีพระบัญญัติ ก็ไม่มีพระกิตติคุณ (ไม่มีพระคัมภีร์เดิม ก็ไม่มีพระคัมภีร์ใหม่) และไม่มียอห์นผู้ให้บัพติศมา เรื่องการเสด็จมาของพระเมสซิยาห์ก็อาจประกาศไปไม่ถูกต้อง ดังนั้นไม่มีเรื่องบังเอิญ พระกิตติคุณทั้งสี่เล่มบันทึกงานของยอห์นผู้ให้บัพติศมาว่าเป็นผู้มาเตรียม ทางให้พระคริสต์ ยอห์นเป็นสาระสำคัญในเรื่องราวของพระเยซู ไม่ใช่แค่คนที่มาก่อน ที่จริงพระกิตติคุณยอห์น “ย้อนประวัติศาสตร์แห่งความบริสุทธิ์กลับมาอีกครั้ง” (Bonn., 31) หลังจากความเงียบที่ยาวนาน ยอห์นปรากฎมาเหมือนมหาปุโรหิตผู้ยิ่งใหญ่คนสุดท้ายของหนังสือฮีบรู และเหมือนพระบัญญัติของพระเจ้าที่มีชีวิตและเคลื่อนไหว เต็มด้วยหายนะและความบริสุทธิ์ และที่สุดของทุกสิ่ง ยอห์นผู้ให้บัพติศมาเป็นผู้นำหน้าพระคัมภีร์ใหม่สี่ครั้ง (จากพระกิตติคุณสี่เล่ม) เมื่อนำพระบัญญัติของพระเจ้ามาอยู่ข้างหน้าเราถึงสี่ครั้ง เรื่องการเสด็จมาของพระเยซูพร้อมกับข่าวประเสริฐก็สี่ครั้งเหมือนกัน ยอห์นคือพระบัญญัติของพระเจ้าในภาพบุคคล พระเยซูก็คือพระกิตติคุณของพระเจ้าในพระบุคคลเช่นกัน”8

ยอห์นผู้ให้บัพติศมาเป็นผู้เผยพระวจนะคนสุดท้ายของพระคัมภีร์เดิม ท่านไม่ได้ชักชวนมนุษย์ให้ “พยายามทำให้มากขึ้น” เพื่อเอาใจพระเจ้า แต่ให้สารภาพบาปของตน และเข้ามาวางใจในพระเมสซิยาห์ที่กำลังเสด็จมาช่วยให้รอด ถ้ามนุษย์จะได้รับความรอด พวกเขาต้องมองตัวเองให้เห็นว่าเป็นคนบาป ตกอยู่ภายใต้คำแช่งสาปของพระบัญญัติ หน้าที่ของพระบัญญัติคือประณามเราที่เป็นคนบาป และจำเป็นต้องได้รับพระคุณที่สุด ขอให้เราระวังที่จะไม่เหวี่ยงพระบัญญัติทิ้งไปราวกับหมดความหมาย ยังมีบทบาทที่เราต้องทำตาม9 หนึ่งในนั้นคือมองไปที่มาตรฐานความ ชอบธรรมของพระเจ้า มาตรฐานที่มนุษย์ไม่มีวันทำได้ ให้เราใช้พระบัญญัตินี้เพื่อเปิดเผยให้เห็นความบาปของเราเอง แน่นอนพระบัญญัติสิบประการกล่าวประณามและตัดสินพวกเราทุกคน ยอห์นพูดจากพระบัญญัติเพื่อเปิดเผยให้เห็นความบาปของมนุษย์ และแสดงให้เห็นว่าพระเยซูคือพระเมสซิยาห์ตามที่พระบัญญัติสัญญาไว้ว่าจะ เสด็จมา

ผมขอเจาะจงว่าผู้เป็นพ่อแม่สามารถนำพระบัญญัตินี้มาใช้สอนลูกๆได้ พวกเขาสามารถใช้พระบัญญัติเพื่อให้ลูกๆเห็นว่าเด็กๆเองก็เป็นคนบาปจำเป็น ต้องได้รับความรอดในพระเยซูคริสต์และสิ่งที่พระองค์ทำบนไม้กางเขนที่เนินหัว กระโหลก บ่อยครั้งเรานำเรื่องตื่นเต้นจากพระคัมภีร์เดิมมาเล่าให้เด็กๆฟัง เช่น “โยนาห์กับปลามหึมา” หรือ “ดาเนียลในถ้ำสิงห์” ซึ่งไม่ใช่เป็นเรื่องเลวร้าย แต่บ่อยครั้งการนำมาใช้ไม่ได้ชี้ให้เด็กๆเห็นถึงความบาปของตนเอง และความบริสุทธิ์ของพระเจ้า ที่จริงบางคนเห็นว่าการนำพระวจนะมาใช้เป็นการเสริมสร้าง “คุณค่าในตัวเอง” ให้เด็กๆด้วยซ้ำ เด็กๆไม่จำเป็นต้องรู้สึกว่าตนเองดีพอ พวกเขาจำเป็นต้องตระหนักว่าเป็นคนบาป ไม่อาจยืนจำเพาะพระพักตร์ของพระเจ้าผู้บริสุทธิ์ได้ พวกเขาจำเป็นต้องมองเห็นบาปของตัวเอง และรู้ว่าตนเองต้องได้รับความรอด สิ่งที่ยอห์นประกาศออกไป (ยังไม่รวมถึงสิ่งที่พระเยซูและพวกสาวกประกาศ) คือสิ่งที่เด็กๆจำเป็นต้องได้ยินด้วยครับ
พ่อแม่ที่ไม่สอนวินัยให้ลูกก็กำลังทำร้ายลูกตัวเองอย่างรุนแรง เราต้องแก้ไขประพฤติกรรมและความคิดของเด็กๆ ไม่ใช่ทำเป็นมองไม่เห็นหรือหาข้อแก้ตัวแทน เด็กๆจะต้องเรียนรู้จาก “ประสบการณ์” ว่าความบาปมีผลที่ต้องรับโทษ พวกเขาต้องเห็นว่าตัวเองก็ทำบาป และเมื่อมองเห็นบาปของตัวเอง สิ่งที่ยอห์นประกาศจะเป็นถ้อยคำหวานหูสำหรับพวกเขา เมื่อพระเจ้านำให้พวกเขาสำนึกผิดและกลับใจ การที่ไม่สามารถ (หรือปฏิเสธ) ลงวินัยเด็กๆก็เท่ากับเป็นการปฏิเสธพระกิตติคุณที่กล่าวว่ามนุษย์ทุกคนเป็น คนบาป ต้องได้รับความรอดจากพระเจ้าโดยทางพระเยซูคริสต์

ทั้งคำพูดและการกระทำของยอห์นเน้นไปที่ความสำคัญของพิธีบัพติศมาของ คริสเตียน ผมเรียนรู้ว่าบัพติศมาของยอห์นเป็นการเตรียมความพร้อม และเมื่อผู้ติดตามยอห์นกลับใจมาเป็นคริสเตียน พวกเขาต้องรับบัพติศมาอีกครั้ง แต่บัพติศมาเป็นส่วนสำคัญในคำพูดและการกระทำของยอห์น คนที่กลับใจจริงจะรับบัพติศมา (มัทธิว 3:11; มาระโก 1:5) คนไม่สำนึกก็ไม่กลับใจ (ลูกา 7:30) คนที่ติดตามพระเยซูคริสต์ก็จะรับบัพติศมา (มัทธิว 28:19; ยอห์น 3:22, 26; 4:1; กิจการ 2:38, 41; 8:12, 38; 10:47; 19:35) บัพติศมาจึงเป็นสัญลักษณ์ของการกลับใจและความเชื่อ ปัจจุบันคนที่ยังไม่รับบัพติศมาควรถามตัวเองว่า “ทำไม” ถึงไม่รับ?

คำเทศนาของยอห์นที่จริงแล้วเป็น “เทศนาพยากรณ์” ผมอยากบอกว่าแม้คำเทศนาพยากรณ์ของยอห์นนั้นจะโดดเด่น แต่มีบางสิ่งที่สอนเราเรื่องคำเทศนา สิ่งที่ยอห์นประกาศมาจากพระวจนะโดยตรง สิ่งแรกที่ท่านชี้ให้เห็นคือความบาปของมนุษย์ และชี้ไปที่ความรอดของพระเจ้าในองค์พระเยซูคริสต์ ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นถ้อยคำที่เป็นมิตรนัก เป้าหมายไม่ใช่สร้างความเพลิดเพลินเพื่อให้มนุษย์ยอมรับ แต่เป็นเป้าหมายที่ตีแผ่ความบาปของมนุษย์ และความจำเป็นที่ต้องมีพระเจ้า ถ้าถามให้ท่านเจาะจงลงไป ท่านยกตัวอย่างให้เห็นได้ (เช่นจากในลูกา) ในพระกิตติคุณมัทธิว ยอห์นผู้ให้บัพติศมามุ่งเน้นไปที่ความบาปและความชอบธรรมตามที่ผู้นำศาสนาคิด ขณะที่พระเยซูคริสต์นุ่มนวลกว่าเมื่อเทียบกับถ้อยคำที่ยอห์นใช้ แต่พระองค์ก็ไม่อ้อมค้อมเรื่องความบาป ความชอบธรรม และการพิพากษา (ยอห์ น 6:8-11) ยังจำเป็นที่ต้องสำนึกผิดกลับใจ ขณะยอห์นเป็นบุคคลที่มีเอกลักษณ์ และมีบทบาทที่โดดเด่นในสมัยของท่าน ท่านยังเป็นบุคคลที่สอนเรามากมายถึงการประกาศความจริง

เวลาอ่านเรื่องของยอห์นผมแน่ใจว่าพวกเราส่วนใหญ่คิดว่าท่านออกจะประหลาด แน่นอนท่านมีเอกลักษณ์ และนี่อาจเป็นสิ่งที่ดึงดูดให้ผู้คนสนใจ แม้ท่านจะไม่ได้ทำอัศจรรย์ใดๆ (ยอห์น 10:41) ที่แน่ๆท่านเป็นแบบอย่างของคนที่ “ปลีกตัว” ออกมาในแบบที่ดึงดูดความสนใจ สำหรับเราไม่จำเป็นต้องไปใส่เสื้อขนสัตว์ หรือไปอาศัยในถิ่นทุรกันดาร หรือกินตั๊กแตนน้ำผึ้งป่า แต่เราถูกเรียกให้มาเป็นคนที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น แตกต่างจากโลกนี้ ยอห์นเป็นบุคคลที่รู้ว่าจะยืนหยัดลำพังได้อย่างไร เป็นสิ่งที่พวกเราส่วนใหญ่รู้น้อยมาก
ขอให้เราเรียนรู้ที่จะอยู่ในโลกนี้ แต่ไม่เอนไปตามวิถีของโลก ให้เราแสวงหาการเตรียมชายและหญิงให้พร้อมรับการเสด็จกลับมาครั้งที่สองของ พระเยซู โดยสอนเรื่องความบาป เรียกร้องให้มีการสำนึกผิดกลับใจ หันกลับมาหาพระเยซูเพื่อรับความรอด ขอให้เราเป็นเหมือนท่านยอห์น คือชื่นชมยินดีเมื่อได้ชี้ทางให้ผู้คนไปหาพระคริสต์ แทนที่จะเรียกร้องความสนใจให้มาอยู่แต่ที่ตัวเอง

โดย : Robert L (Bob) Deffinbaugh

ได้รับอนุญาตและเป็นลิขสิทธิของ https://bible.org/

แปล : อรอวล ระงับภัย (Church of Joy)


1 บทเรียนต่อเนื่องบทนี้ปรับจากต้นฉบับเดิมของพระกิตติคุณมัทธิวบทเรียนที่ 4 จัดทำโดย อ. Robert L. Deffinbaugh วันที่ 9 มีนาคม 2003.

2 นอกจากที่กล่าวไปแล้ว พระวจนะที่นำมาอ้างอิงทั้งหมดมาจาก NET Bible (The NEW ENGLISH TRANSLATION) เป็น ฉบับแปลใหม่ทั้งหมด ไม่ใช่นำฉบับเก่าในภาษาอังกฤษมาเรียบเรียงใหม่ ใช้ผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการพระคัมภีร์มากกว่า ยี่สิบคน รวบรวมข้อมูล ทั้งจากภาษาฮีบรูโดยตรง ภาษาอาราเมข และภาษากรีก โครงการแปลนี้เริ่มมาจากที่เราต้องการนำ พระคัมภีร์ เผยแพร่ผ่านสื่ออีเลคโทรนิค เพื่อรองรับการใช้งานทางอินเตอร์เน็ท และซีดี (compact disk) ที่ใดก็ตามในโลก ที่ต่อเข้าอินเตอร์เน็ทได้ ก็สามารถเรียกดู และพริ้นทข้อมูลไว้เพื่อใช้ศึกษาเป็นการส่วนตัวได้โดยไม่คิดมูลค่า นอกจากนี้ ผู้ใดก็ตาม ที่ต้องการนำข้อมูลเกี่ยวกับพระคัมภีร์ไปเผยแพร่ต่อโดยไม่คิดเงิน สามารถทำได้จากเว็บไซด์ : www.netbible.org

3 ผมตระหนักว่าเพราะพระเยซูและยอห์นเป็นญาติกัน (ลูกา 1:36) หลายคนเลยคิดว่ายอห์นรู้ว่าพระเยซูเป็นพระเมสซิยาห์ตั้งแต่เด็ก แต่คำพูดของยอห์นผู้ให้บัพติศมาเองทำให้หมดข้อสงสัย เราจึงเชื่อตามที่ยอห์นพูด

4 ในมัทธิว 11:9-14 จะเห็นว่าพระเยซูโยงงานของยอห์นผู้ให้บัพติศมาเข้ากับพันธกิจของเอลียาห์ อย่างชัดเจนโดยอ้างจากมาลาคี 3:1 (ดูมาลาคี 4:5 ด้วย) ทูตของพระเจ้าบอกเศคาริยาห์ว่าลูกที่จะเกิดจากท่านและนางเอลีซาเบธ เขาจะนำหน้าพระองค์โดยน้ำใจและ ฤทธิ์เดชของเอลียาห์ ให้พ่อกลับคืนดีกับลูก และคนดื้อด้านให้กลับได้ปัญญา ของคนชอบธรรม เพื่อจัดเตรียมชนชาติหนึ่งไว้ให้สมแก่พระเจ้า (ลูกา 1:17)

5 นี่หมายถึงอาหารด้วยเหมือนกัน คนที่มีอาหารควรแบ่งปันคนที่ขาดแคลน (ลูกา 3:11)

6 เปรียบเทียบกับ ฟีลิปปี 3:5

7 Fredrick Dale Bruner, The Christbook: A Historical/Theological Commentary (Waco, Texas: Word Books, 1987), vol. 1, p. 71.

8 Fredrick Dale Bruner, The Christbook: A Historical/Theological Commentary (Waco, Texas: Word Books, 1987), vol. 1, p. 70.

9 ดูตัวอย่างเช่น โรม 15:4; 1โครินธ์ 9:9; 10:1-13; 2 ทิโมธี 3:16-17

Related Topics: Law

Report Inappropriate Ad