MENU

Where the world comes to study the Bible

บทที่ 4: มีที่ของตนเอง (2 ซามูเอล 5:1-25)

คำนำ

เมื่อหลายปีมาแล้ว ผมเคยอ่านหนังสือดีมากเล่มหนึ่งเขียนโดยแลงก์ดอน กิลคีย์ ชื่อเรื่อง ค่ายกักกันชานตุง มีตอนหนึ่งชื่อตอนว่า "มีที่อยู่เป็นของตนเอง" ตอนนั้นกิลคีย์เป็นคนฝึกงานอยู่ในค่ายกักกันของญี่ปุ่น ด้วยกัน กับผู้คนจากที่หลากหลาย ทุกคนมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน — เป็นคนตะวันตก (เป็นฝรั่ง) พวกญี่ปุ่นไม่รู้จะทำยังไง กับฝรั่งพวกนี้ ที่ตกค้างอยู่ในจีนระหว่างที่ญี่ปุ่นเข้าไปยึดครองประเทศจีนในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองดี จึงจับ ไปควบคุมไว้ตามที่ต่างๆ ค่ายกักกันชานตุงเคยเป็นค่ายของคณะเพรสไบแทเรี่ยนมาก่อน ตอนนี้ถูกเปลี่ยนให้ เป็นสถานที่ไว้กักกันฝรั่งชั่วคราว กิลคีย์มีหน้าที่จัดเตรียมห้องให้กับคนที่ผลัดเปลี่ยนมาฝึกงานในค่าย เขาจึง ต้องเจอกับเรื่องประหลาดมากมาย จนทำให้เขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา

ในตอนที่ชื่อว่า "มีที่เป็นของตนเอง" กิลคีย์เล่าว่าทุกคนมีความรู้สึกค่อนข้างรุนแรงกับบริเวณส่วนตัวของตน มีอยู่ครั้งหนึ่ง ผู้หญิงที่ดูสุภาพอ่อนโยนที่สุด กลับแสดงอาการหวงแหนและอยากมีทีเป็น "ของตนเอง" มากขึ้น เธอนอนเตียงใกล้กับผู้หญิงอีกคนหนึ่งที่รู้สึกว่ามีบางอย่างผิดปกติกับเตียงของตัวเองตลอดเวลา ทุกวัน พอมองออกไปที่หน้าต่าง วิวที่เห็นเริ่มเปลี่ยนไปวันละนิดๆ กว่าจะรู้ตัว เตียงของเธอถูกขยับให้เลื่อนออกไป เรื่อยๆ โดยฝีมือของสุภาพสตรี ที่อยู่เตียงข้างๆนั่นเอง ผู้หญิงที่ดูสุภาพคนนี้กำลังขโมยเนื้อที่ เพื่อเพิ่มบริเวณ ของตนเองให้มากขึ้นวันละนิ้วสองนิ้ว เราทุกคนต่างก็อยาก "มีที่เป็นของตนเอง" ทั้งนั้น ใช่ไหมครับ?

เราเข้ามาถึง 2 ซามูเอลบทที่ 5 ถึงตอนที่ดาวิดได้ขึ้นเป็นกษัตริย์ปกครองอิสราเอล และในที่สุดท่านก็มีที่ทาง เป็นของตนเอง ในสมัยนั้นทุกคนเรียกชื่อสถานที่นี้ว่าเยบุส และคนที่อาศัยอยู่ที่นั่นถูกเรียกว่าเป็นคนเยบุส แต่ จากพระธรรมบทนี้เป็นต้นไป ชื่อนี้กลายเป็นกรุงเยรูซาเล็มแทน เป็นเมืองศิโยน "เมืองของดาวิด" ในบทหน้า เยรูซาเล็ม จะเป็นสถานที่สถิตอยู่ขององค์พระผู้เป็นเจ้า มีการนำหีบแห่งพันธสัญญามาเก็บไว้ที่นี่ ซึ่งต่อมา ซาโลมอนจะเป็นผู้สร้างพระวิหารให้เป็นที่ประดิษฐานของหีบแห่งพันธสัญญานี้ พระธรรมตอนนี้เป็นตอนที่ สูงสุดในชีิวิตของดาวิด และเป็นตอนที่มีเรื่องสำคัญสำหรับสอนเรา ให้เรามุ่งอยู่ที่พระวิญญาณ เพื่อจะเรียนรู้ว่า พระองค์มีพระประสงค์จะสอนสิ่งใดให้กับเราเมื่อดาวิดได้มี "ที่เป็นของตนเอง"

โครงร่างของพระธรรมตอนนี้

จากที่ผมได้ศึกษาพระธรรม 2 ซามูเอลบทที่ 5 ผมเข้าใจได้ว่ามีอยู่สี่ตอนที่สำคัญๆ ผมจะแยกแยะให้ดูตาม หัวข้อดังต่อไปนี้ :

  • 5:1-5 — อิสราเอลยอมรับว่าดาวิดเป็น "กษัตริย์ของพระเจ้า"
  • 5:6-10 — ดาวิดตั้งเมืองเยบุสให้เป็นกรุงเยรูซาเล็ม เป็น "เมืองดาวิด"
  • 5:11-16 — การสร้างบ้านของดาวิด (สร้างบ้านที่อยู่อาศัยและสร้างครอบครัว)
  • 5:17-25 — ดาวิดมีชัยเหนือฟิลิสเตีย

อิสราเอลยอมรับดาวิดว่าเป็นกษัตริย์ของพระเจ้า
(5:1-5)

1 และบรรดาเผ่าคนอิสราเอลก็มาหาดาวิดที่ เมืองเฮโบรนทูลว่า "ดูเถิด ข้าพระบาททั้งหลายเป็นกระดูกและเนื้อของฝ่าพระบาท 2 ในอดีตเมื่อ ซาอูลเป็นพระราชาปกครองเหนือเหล่าข้าพระบาท ฝ่าพระบาททรงเป็น ผู้นำอิสราเอลออกไปและเข้ามา และพระเจ้าตรัสแก่ฝ่าพระบาทว่า 'เจ้า
จะเป็นผู้ปกครองอิสราเอล ประชากรของเราอย่างผู้เลี้ยงแกะ และเจ้าจะ
เป็นเจ้าเหนือคนอิสราเอล'" 3 ดังนั้นพวกผู้ใหญ่ของคนอิสราเอลก็มาเฝ้า
พระราชาที่เมืองเฮโบรน และพระราชาดาวิดทรงกระทำพันธสัญญากับเขา ทั้งหลายที่เมืองเฮโบรนต่อพระพักตร์พระเจ้า และเขาทั้งหลายก็เจิมตั้ง
ดาวิดให้เป็นพระราชาเหนืออิสราเอล 4 ดาวิดมีพระชนมายุสามสิบพรรษา
เมื่อเริ่มการปกครองและ พระองค์ทรงปกครองอยู่ยี่สิบปี 5 ทรงปกครอง เหนือยูดาห์ที่เฮโบรนเจ็ดปีหกเดือน และที่กรุงเยรูซาเล็มทรงปกครอง
เหนืออิสราเอล และยูดาห์อีกสามสิบสามปี
(2 ซามูเอล 5:1-5)

จากข้อ 1-3 อิสราเอลกำลังเป็นที่น่าจับตามอง พวกเขาเป็นฝ่ายมาหาดาวิดที่เฮโบรน เพื่อเจิมตั้งท่านขึ้นเป็น กษัตริย์ การนี้เราเห็นว่าประชาชนเป็นผู้ริเริ่มอีกครั้ง อย่าลืมว่าการที่ซาอูลเป็นกษัตริย์ก็เริ่มมาจากประชาชน เราไม่ค่อยเข้าใจนักว่าทำไมดยู่ดีๆคนอิสราเอลจึงยอมรับดาวิดว่าเป็นกษัตริย์ของพระเจ้า เราจึงต้องย้อนกลับ ไปดูเหตุการณ์เปรียบเทียบจากใน 1 พกษ. 8-12 ซึ่งประชาชนเรียกร้องอยากมีกษัตริย์ และพระเจ้าประทาน ซาอูลให้เป็นกษัตริย์คนแรก

เราคงจำกันได้ว่าใน 1 ซามูเอล 8 ซามูเอลเริ่มแก่ลง และบุตรของท่านก็ทำตัวไม่เหมาะสมพอที่จะขึ้นมาดำรง ตำแหน่งแทนได้ (8:1-3) พวกเขาไม่สัตย์ซื่อ ใช้อำนาจของผู้วินิจฉัยอย่างไม่ถูกต้องที่เบเออร์เชบา ฯลฯ ใน บทที่ 8 ข้อ 4 พวกผู้ใหญ่ของอิสราเอลมาหาซามูเอล เรียกร้องให้มีกษัตริย์ "เพื่อวินิจฉัยพวกเขา เหมือน ประเทศอื่นๆ" (8:5) ซามูเอลถูกกดดันมากในเรื่องนี้ พระเจ้าเองก็ไม่ทรงพอพระทัย พวกเขาไม่เพียงแต่ ปฏิเสธการวินิจฉัยของซามูเอลเท่านั้น ยังปฏิเสธไม่ยอมให้พระเจ้าเป็นกษัตริย์ด้วย (8:7-8) อย่างไรก็ดี พระเจ้าใช้ซามูเอลมาเตือนถึงราคาสูงที่ต้องจ่ายในการมีกษัตริย์ และบอกว่าพวกเขาจะได้กษัตริย์ตามที่ร้องขอ ในบทที่ 9 และ 10 มีการเจิมตั้งซาอูลให้ขึ้นเป็นกษัตริย์คนแรกของอิสราเอล ในบทที่ 11 ซาอูลนำอิสราเอล เข้าต่อสู้กับนาหาชและคนอัมโมนที่ยกมาล้อมยาเบชกิเลอาด ขู่จะทำให้ชาวเมืองอับอายด้วยการควักลูกตา ขวาของทุกคนทิ้ง (11:1-2) พระเจ้าทรงประทานชัยชนะอย่างยิ่งใหญ่ให้กับอิสราเอล ประชาชนชื่นชมยินดี เป็นอันมาก พวกเขาออกมาปกป้องและพร้อมจะฆ่าใครก็ตามที่บังอาจดูหมิ่นซาอูล (11:12-13).

ซามูเอลนำให้เราเห็นบางมุมมองของเรื่องนี้ในบทที่ 12 การที่อิสราเอลเรียกร้องขอมีกษัตริย์นั้น เป็นบาปผิด ต่อพระเจ้า จึงถูกลงโทษด้วยการเกิดฝนฟ้าร้องมาทำลายไร่นาหมดสิ้น (12:12-18) อันที่จริง ชาวอิสราเอล รุ่นนี้ ก็ไม่ต่างไปจากบรรพบุรุษของพวกเขา พระเจ้าทรงชำระบาปของการไม่ใส่ใจทำตามพระบัญญัติด้วยฝีมือ ของศัตรูรอบด้าน แต่ความบาปในการเรียกร้องขอกษัตริย์นั้นใหญ่หลวงกว่าของบรรพบุรุษ ในอดีต พระเจ้าส่ง ผู้วินิจฉัยมาช่วยกู้อิสราเอลจากบรรดาศัตรูเมื่อพวกเขากลับใจและร้องขอความช่วยเหลือ แต่ในกรณีนี้ ไม่มีการ กลับใจใดๆทั้งสิ้น พวกเขาไม่ได้ร้องขอความช่วยเหลือ แต่ร้องสั่งให้มีกษัตริย์ ผมเชื่อว่าคนอิสราเอล ต้อง การความช่วยเหลือแต่ไม่ต้องการกลับใจ ต้องการมีกษัตริย์เพื่อให้แน่ใจว่าในอนาคต จะมีคนคอยให้ความ ช่วยเหลือ พวกเขาต้องการกษัตริย์เพื่อจะได้ไม่ต้องคอยพึ่งพิงหรือเชื่อฟังพระเจ้า เมื่อซามูเอลชี้ความบาป นี้ให้เห็น และย้ำด้วยฝนฟ้าร้อง ประชาชนจึงยอมกลับใจ ซามูเอลจึงสัญญากับประชาชนว่า:

13 บัดนี้ จงดูพระราชาที่ท่านทั้งหลายได้เลือก ผู้ซึ่งท่านทั้งหลายได้ร้องขอ
ดูเถิด พระเจ้าทรงตั้งพระราชาไว้เหนือท่านแล้ว 14 ถ้าท่านทั้งหลายจะยำเกรง พระเจ้าและปรนนิบัติพระองค์ และฟังพระสุรเสียงของพระองค์ และไม่กบฏต่อ
พระบัญชาของพระเจ้า และถ้าท่านทั้งหลายและพระราชาผู้ปกครองเหนือท่าน จะเป็นผู้ติดตามพระเยโฮวาห์พระเจ้าของท่าน ทั้งหลายก็ดีแล้ว 15 แต่ถ้าท่าน ทั้งหลายไม่ฟังพระสุรเสียงของพระเจ้า แต่กบฏต่อพระบัญชาของพระเจ้าแล้ว พระหัตถ์ของพระเจ้าจะต่อสู้ท่านทั้งหลาย
(1 ซามุเอล 12:13-15)

24 จงยำเกรงพระเจ้าเท่านั้น ปรนนิบัติพระองค์ด้วยใจซื่อสัตย์สุจริต และด้วยสิ้น
สุดใจของท่าน จงพิเคราะห์ถึงมหกิจซึ่งพระองค์ได้ทรงกระทำแก่ท่านแล้วนั้น 25 แต่ถ้าท่านทั้งหลายขืนกระทำความชั่วอยู่ ท่านจะต้องพินาศทั้งตัวท่านทั้งหลาย
เองและ พระราชาของท่านด้วย"
(1 ซามูเอล 12:24-25).

ผมขอตั้งข้อสังเกตุว่า สิ่งที่ซามูเอลให้ประชาชนและกษัตริย์ทำนั้นเกี่ยวข้องกัน คือทั้งประชาชนและกษัตริย์ ต้องเชื่อฟังและวางใจในพระเจ้า ถ้าไม่ จะถูกลงโทษ แต่ถ้าทำ พระเจ้าจะอำนวยพระพร ผมเชื่อว่่าซามูเอล ต้องการชี้ให้เราเห็นว่า อิสราเอลจะได้กษัตริย์อย่างที่อยากได้ อย่างที่พวกเขาสมควรจะได้ กษัตริย์องค์แรก ที่พระเจ้าประทานให้คือซาอูล ซึ่งเป็นแบบเดียวกันกับพวกเขา คือชอบขัดคำสั่งพระเจ้า เช่นเดียวกับประชาชน ซาอูลสอบตกระดับมาตรฐานของการเชื่อฟังพอๆกับประชาชน ในกรณีของ 1 ซามูเอล 8-12 ประชาชนเรียก ร้องอยากมีกษัตริย์ด้วยเหตุผลที่ไม่เข้าท่า ผมเชื่อแล้วว่าความบาปของบุตรซามูเอลนั้น เป็นเพียงตัวนำร่อง สาเหตุที่แท้จริงของการเรียกร้องอยากมีกษัตริย์นั้น คงไม่ใช่เรื่อง "ความยุติธรรม" แน่นอน ใน 1 ซามูเอล 12:12 ซามูเอลบอกกับประชาชนว่า เหตุผลที่แท้จริงในการอยากมีกษัตริย์นั้นเป็นเพราะความกลัวนาหาช ที่กำลังรุกคืบอิสราเอล พวกเขาต้องการให้กษัตริย์เป็นผู้นำในสงคราม และมีชัยเหนือฝ่ายศัตรู พวกเขาต้อง การผู้ช่วยกู้แบบเดียวกับแซมสัน ไม่ใช่แบบซามูเอล คือแบบที่คอยแต่จะเปิดโปงให้เห็นถึงความบาปแห่ง การหน้าไว้หลังหลอกของอิสราเอล พวกเขาจึงสมควรแล้วที่จะได้กษัตริย์อย่างซาอูล

แต่เมื่อมาถึง 2 ซามูเอล 5 เราเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน ไม่ใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงจากกษัตริย์ที่น่า สมเพชอย่างซาอูลมาเป็นนักรบและผู้นำที่กล้าหาญอย่างดาวิดเท่านั้น ; แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัด ในประชาชน มาถึงตรงนี้ผมต้องขอสารภาพบางอย่าง ตั้งแต่ต้นมา ผมรู้สึกไม่ค่อยดีนักกับคนอิสราเอล ผมยืน ท้าวสะเอวดูเรื่องนี้อยู่ที่วงนอก ขยับไปมาอย่างอดทน พออ่านมาถึงข้อ 1-5 ของบทที่ 5 ผมกลับคิดว่า "เอา หละ น่าจะถึงแวลาแล้ว!" ความคิดผมกำลังเปลี่ยนไป ผมมองเห็นความล่าช้าในตัวคนอิสราเอล ต้องขอ อธิบายเหตุผลประกอบสักหน่อย

เราคงสังเกตุเห็นว่า ไม่ได้มีเหตุการณ์วิกฤติอะไร ไม่มีการจู่โจมจากประเทศเพื่อนบ้าน ที่กระตุ้นพวกผู้ใหญ่ ของอิสราเอลให้ลุกขึ้นมาทำการ ซาอูลมรณกรรมไปแล้ว รวมทั้งพวกบุตรและอิชโบเชทด้วย ฟิลิสเตียไม่ได้ เข้ามาโจมตี คนอัมโมนไม่ได้มาข่มขู่ ฟิลิสเตียเข้ามาโจมตีหลังจากที่ได้ยินว่าดาวิดได้รับการแต่งตังให้ขึ้น เป็นกษัตริย์เหนืออิสราเอลแล้ว (2 ซามูเอล 5:17) พวกผู้ใหญ่ของอิสราเอลมาหาดาวิดที่เฮโบรน ยอมรับท่าน ว่าเป็นกษัตริย์ของพระเจ้า ใน 1 ซามูเอลบทที่ 8 พวกเขาต่อต้านไม่อยากมีพระเจ้าเป็นกษัตริย์ แต่ตอนนี้กลับ ไม่ใช่ ตอนนี้พวกผู้ใหญ่ของอิสราเอลกลับทำการด้วยความเชื่อฟังพระเจ้า ไม่ได้ต่อต้านพระองค์ กษัตริย์ ในแบบของดาวิดนั้น จึงเป็นกษัตริย์ในแบบที่พวกเขาสมควรจะได้รับ เมื่อมาพบดาวิด พวกเขายอมรับในข้อ ความจริงที่สำคัญๆ หลายข้อ ซึ่งเป็นพื้นฐานในการเป็นกษัตริย์ของดาวิด และในการยอมรับท่านให้เป็นกษัตริย์ ของพวกเขา

(1) พวกผู้ใหญ่ของอิสราเอลยอมรับว่าพวกเขามีความผูกพันธ์ในสายเลือดกับดาวิด : "เราเป็น กระดูกและเนื้อ … ." เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ใหญ่ของอิสราเอลออกมายอมรับ พวกเขายอมรับในการ เป็นสายเลือดเดียวกัน สืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษคนเดียวกัน คือยาโคบ (ที่พระเจ้าเปลี่ยนชื่อใหม่ให้เป็น อิสราเอล). พวกเขาไม่ได้พูดกับดาวิดว่า "คุณเป็นหนึ่งในพวกเรา" แต่พูดว่า "เราเป็นหนึ่งเดียวกับคุณ" ตั้ง แต่สมัยก่อน พวกลูกๆของยาโคบมีปัญหาแตกคอกัน เห็นได้จากความเกลียดชังที่พี่ๆมีต่อโยเซฟ ซาอูลเป็น คนในเผ่าเบนยามิน ส่วนดาวิดเป็นคนเผ่ายูดาห์ อับเนอร์เป็นตัวการสร้างความแตกแยกให้เกิดขึ้นระหว่างเผ่า ทั้งสอง ทำให้เผ่าที่เหลือพูดไม่ออก บัดนี้ อิสราเอลทั้งหมดต้องการเห็นประเทศเป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่ใช่แบ่ง แยกเป็นสอง นี่คือกุญแจสำคัญในการขึ้นเป็นผู้นำของดาวิดเหนือทั้งประเทศ เราคงต้องหยิบยกสิ่งที่คนอิสรา เอลเคยพูดไว้หลังการแตกแยก ถึงความสำคัญของการเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน :

16 และเมื่อิสราเอลทั้งปวงเห็นว่า พระราชามิได้ทรงฟังเขาทั้งหลาย ประชาชนก็ ทูลตอบว่า "ข้าพระบาททั้งหลายมีส่วนอะไรในดาวิด?
ข้าพระบาททั้งหลาย
ไม่มีส่วนมรดกในบุตรชายของเจสซี ; โอ อิสราเอลเอ๋ย กลับ ไปเต็นท์ของตนเถิด! ข้าแต่ดาวิด จงดูแลราชวงศ์ของพระองค์เองเถิด!" อิสราเอล จึงจากไปยังบ้านเรือนของเขาทั้งหลาย
(1 พกษ. 12:16)

(2) ในอดีต คนอิสราเอลตระหนักดีถึงความสามารถในการเป็นผู้นำของดาวิิด แม้ในสมัยที่ซาอูลยัง ปกครองอยู่ เมื่อประชาชนเรียกร้องขอกษัตริย์ พวกเขาต้องการกษัตริย์ในแบบที่ "นำหน้าออกสู่สนามรบ" (ดู 1 ซามูเอล 8:19-20) แท้จริงแล้ว ซาอูลละเลยหน้าที่รับผิดชอบในการเป็นผู้นำอิสราเอล ในสงครามดาวิด ต่างหากที่ทำหน้าที่รบแบบกษัตริย์แทน ซาอูลไม่ได้ออกไปสู้กับโกลิอัท แต่กลับเป็นดาวิด (ผู้ไม่มีตำแหน่ง ใดเลยในกองทัพ) คนอิสราเอลมองเห็นความเป็นผู้นำในตัวดาวิดอย่างที่กษัตริย์ควรเป็น คนอิสราเอลตระหนัก ดีในเรื่องนี้ตั้งแต่สมัยที่ซาอูลยังปกครองอยู่ ดาวิดทำการเหมือนกษัตริย์มากกว่ากษัตริย์ตัวจริง พวกเขาเลือก ที่จะไม่ใช้ของด้อยคุณภาพอีกต่อไป (เหมือนซาอูล) แต่ต้องการเลือกคนที่ได้พิสูจน์ตนเองแล้ว ว่าเป็น "คน กล้าหาญ เป็นนักรบ" (ดู 1 ซามูเอล 16:18)

(3) พวกผู้ใหญ่ของอิสราเอลยอมรับในพระคำของพระเจ้า เมื่อตระหนักแล้วว่าดาวิดเป็นผู้ที่พระเจ้า เลือกให้ขึ้นมาเป็นกษัตริย์องค์ต่อไปของอิสราเอล ดาวิดได้รับการเจิมตั้งอย่างเป็นทางการให้เป็นกษัตริย์ องค์ต่อไปของอิสราเอล (1 ซามูเอล 16:1-13) ซาอูลรู้ดีว่าดาวิดจะขึ้นเป็นกษัตริย์องค์ต่อไป (1 ซามูเอล 24:20) เช่นเดียวกับนางอาบิกายิล (1 ซามูเอล 25:30) เช่นเดียวกับพวกฟิลิสเตีย (1 ซามูเอล 21:11) คน อิสราเอลต้องรู้ดีว่า ดาวิดคือผู้ที่พระเจ้าเลือกไว้ให้ขึ้นมาแทนที่ซาอูล (2 ซามูเอล 3:9-10, 18) สำหรับพวก เขาจึงไม่ใช่เรื่องประหลาดใจ ; ถึงแม้พวกเขาจะทำการนี้ช้าไปสักหน่อย การที่พวกผู้ใหญ่มาหาดาวิด จึงเป็น การแสดงถึงความเชื่อฟังต่อน้ำพระทัยของพระเจ้า การกระทำนี้จึงดีกว่าการต่อต้านพระเจ้าในครั้งที่เรียกร้อง ขอกษัตริย์ ใน 1 ซามูเอล 8 มาก

ดังนั้นการที่พวกผู้ใหญ่มาทำการเจิมตั้งดาวิด (เป็นครั้งที่สาม) ให้ขึ้นเป็นกษัตริย์ของอิสราเอล จึงเป็นการทำ ตามพันธสัญญาที่กระทำกับดาวิดต่อพระพักตร์พระเจ้า (2 ซามูเอล 5:3) นี่เป็นการแสดงความเชื่อ และการ เชื่อฟัง นับเป็นคนละเรื่องกับเหตุการณ์ที่ซามูเอลเผชิญกับพวกผู้ใหญ่ของอิสราเอลใน 1 ซามูเอลบทที่ 8 การขึ้นครองของดาวิดจึงเป็นการขึ้นครองที่ชอบธรรม มีการการกลับใจ ประชาชนอิสราเอลและพวกผู้นำ พร้อมใจกันยอมรับและเชื่อฟัง

ดาวิดยึดครองเมืองเยบุส
ซึ่งกลายเป็นกรุงเยรูซาเล็ม "เมืองของดาวิด"
(5:6-10)

ผมและภรรยามีเพื่อน "วัยเยาว์" อยู่บ้างที่ชอบแวะมาหา หรือที่เราชอบไปเยี่ยมเยียน มีอยู่คืนหนึ่ง ผมและ เจนเน็ตต์ กำลังอ่านนิทานก่อนนอนให้เพื่อนวัยเยาว์สองคนฟัง เป็นหนังสือทีเขียนโดยนักศาสนศาสตร์ที่มีชื่อ ขณะที่อ่าน (และเวลาก็ผ่าน) ไป เด็กคนเล็กเริ่มเบื่อ เริ่มซน วิ่งเข้าวิ่งออกจากเตียงหลายหน ผมไม่โทษเธอ หรอกครับ คนที่โตกว่าอยู่ทนฟังจนจบ พออ่านจบ แคธี่พูดว่า "เรื่องนี้ยาวจัง" ก็มันยาวจริงๆนี่ครับ

มีเรื่องยาวอยู่มากมายหลายเรื่อง เวลาผมถามใครๆว่ามาเป็นคริสเตียนได้อย่างไร พวกเขามักจะยิ้มแล้วตอบว่า "เรื่องมันยาวครับ" เรื่องราวของกรุงเยรูซาเล็มเป็นเรื่องยาวเหมือนกัน เยรูซาเล็มก่อนถูกดาวิดยึดครอง มีชื่อว่า เยบุส คนที่อาศํยอยู่ในเมืองนี้ถูกเรียกว่าเป็นคนเยบุส มีการเรียกชื่อคนเยบุสครั้งแรกในปฐมกาล 10;15-16 ซึ่งที่จริงก็คือคนคานาอัน ลูกหลานของคานาอัน บุตรคนที่สามของฮาม (ปฐก. 10:6) ฮามคนนี้แหละ ที่เห็น โนอาห์บิดาของตนนอนเปลือยกายอยู่ (ปฐก. 9:22) เป็นเหตุให้ตนเองและลูกหลานถูกสาปแช่ง (ปฐก. 9:25) ภูเขาโมรียาห์เป็นที่ๆอับราฮัมนำบุตรของตน อิสอัค ไปทำการถวายบูชา (ปฐก.) บนภูเขาโมรียาห์นี้เอง เป็น ภูเขาเดียวกับที่ซาโลมอนสร้างพระวิหาร (2 พงศาวดาร 3:1)

ครั้งแล้วครั้งเล่า พระเจ้าสัญญาจะนำคนอิสราเอลไปสู่ดินแดนแห่งพันธสัญญา ดินแดนที่พวกคานาอันครอบ ครองอยู่ (รวมทั้งคนเยบุสด้วย) พระเจ้าสัญญาจะขับไล่พวกเขาไป (ปฐก.15:18-21; อพยพ 3:8, 17; 13:5; 23:23; 33:2; 34:11) เมื่อมีการส่งผู้สอดแนมไปที่ดินแดนพันธสัญญา เพื่อไปสืบดู รายงานของผู้สอดแนมมี ชาวเยบุสอาศัยอยู่ที่นั่นด้วย (กันดารวิถี 13:29) พระเจ้าไม่เพียงแต่สัญญาจะขับไล่ชาวคานาอันออกไป (โยชู วา 3:10) พระองค์สั่งให้คนอิสราเอลทำด้วย (เฉลยธรรมบัญญัติ 7:1; 20:17) เมื่อชาวอิสราเอลข้ามแม่น้ำ จอร์แดนไป ชาวเยบุสก็เป็นหนึ่งในบรรดาคนคานาอันที่ร่วมต่อต้านไม่ต้องการให้คนอิสราเอลเข้ามาในดินแดน ด้วย (โยชูวา 9 & 11; 24:11)

ในพระธรรมโยชูวา มีการพูดถึงเมืองเยบุสครั้งแรกว่าเป็นเมืองในครอบครองของประชาชนยูดาห์ ที่คนยูดาห์ ไม่ได้ขับไล่ออกไป (โยชูวา 15:63) ในโยชูวา 18:28 พูดว่าเมืองเยบุสเป็นมรดกของเผ่าเบนยามิน และคน เบนยามินก็ไม่ได้ขับไล่คนเยบุสออกไปด้วย (ผู้วินิจฉัย 1:21) ดูเหมือนว่าอาศัยอยู่ร่วมกัน ซึ่งเป็นผลทำให้ คนอิสราเอลทำบาปแบบเดียวกับชาวเยบุส (ผู้วินิจฉัย 3:1-7) และพระเจ้าทรงลงโทษด้วยการให้ถูกกดดัน จากศัตรูรอบด้าน (3:8) ในผู้วินิจฉัย 19:10-12 มีการพูดถึงเมืองเยบุสว่าเป็นเมืองต่างด้าว หาใช่ของอิสราเอล อาจเป็นได้ว่าอิสราเอลเคยครอบครองเยบุสบ้างเป็นครั้งครา (ดู 1 ซามูเอล 17:54) แต่ไม่เคยเอาชนะได้อย่าง เด็ดขาด จนกระทั่งสมัยของดาวิดที่เรากำลังเรียนอยู่นี้ (นอกจากบทเรียนแล้วให้ดู 1 พงศาวดาร 21:15 ด้วย) ว่าในที่สุดเยบุสก็ตกเป็นของอิสราเอลอีกครั้งและตลอดไป มีเรื่องราวเกี่ยวกับเมืองเยบุสที่เดี๋ยวนี้เป็นเมือง เยรูซาเล็มอีกมากมาย แต่เราจะกลับมาพูดถึงเรื่องนี้อีกในบทเรียนบทที่ 6

ผมเชื่อว่าการเข้ายึดเมืองเยบุสในข้อ 6-10 กว่าเราจะเข้าใจได้ ต้องไปเปรียบเทียบกับข้อ 17-25 เมื่อดาวิดรบ ชนะพวกฟิลิสเตียได้ถึงสองครั้ง เป็นเรื่องเข้าใจได้ไม่ยากว่าทำไมถึงมีการต่อสู้กับฟิลิสเตียในบทนี้ เป็นเรื่อง ของการป้องกันตัว พวกฟิลิสเตียมาโจมตีอิสราเอล มุ่งเฉพาะที่ดาวิด ผมเดาได้ว่าพวกนี้รู้สึกยังไง พวกเขารู้ดี (อย่างน้อยอาคีชกษัตริย์เมืองกัทต้องรู้ดี) ว่าเคยให้ที่ลี้ภัยกับดาวิด เคยถึงกับให้เข้าร่วมในกองทัพ แทบไม่มี อะไรที่ดาวิดไม่รู้ ไม่ว่าจะเป็นยุทธวิธีการรบ เส้นทางลำเลียง แหล่งที่ซ่อนและขุมกำลัง ดาวิดเป็นศัตรูที่น่า สะพรึงกลัวที่สุด สมควรต้องกำจัดโดยเร็วก่อนที่จะทันตั้งตัว เมื่อพวกฟิลิสเตียมาโจมตี ดาวิดไม่มีทางเลือก มากนัก นอกจากต้องสู้ ชาวเยบุสไม่ได้คิดต่อสู้กับอิสราเอล พวกเขาเพียงแต่อาศัยอยู่เฉยๆ เพราะไม่เห็น ความ "จำเป็น" ใดๆที่ต้องไปสู้รบ แล้วเหตุใด ดาวิดจึงนำอิสราเอลมาต่อสู้กับเมืองนี้ เมืองที่อิสราเอลไม่เคย เอาชนะได้อย่างเด็ดขาดเสียที?

ผมเชื่อว่ามีเหตุผลหลายประการ ประการแรกที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นเมืองที่พระเจ้าสัญญาจะมอบให้กับ อิสราเอล เป็นเมืองที่พระองค์สั่งให้ทำลายพลเมืองเสีย การที่มีพวกนี้อยู่ท่ามกลางคนอิสราเอล มีแต่จะทำให้ ประชากรของพระเจ้าเสียผู้เสียคน (ผู้วินิจฉัย 3:5-6) ซาอูลรีรอ ไม่ยอมตัดสินใจจัดการกับศัตรูภายนอกให้จบ สิ้น แถมยินดีที่จะให้คนอิสราเอลอาศัยอยู่กับพวกศัตรูเสียอีก เท่าที่เรารู้ชาวเยบุสอยู่เฉยๆ ไม่ได้ต่อต้านอะไร กับกองกำลังฟิลิสเตีย ทำให้โยนาธานทนต่อไปไม่ไหว ลุกขึ้นมาบังคับให้ทั้งบิดาและพวกฟิลิสเตียทำการบาง อย่าง (1 ซามูเอล 13:3) ดาวิดตระหนักดีว่าประเทศใดก็ตาม ถ้าไม่สามารถกำจัดศัตรูออกไปจากแผ่นดินได้ จะเป็นประเทศที่ถูกดูหมิ่นดูแคลน (หรือไม่ได้รับความเคารพ) จำต้องมีการจัดการกับชาวเยบุส ดาวิดรู้ดี ถึง เวลาแล้ว ที่ศัตรูของพระเจ้าพวกนี้ต้องถูกกำจัดให้หมดสิ้นไป การกำจัดคนเยบุสและเข้าไปยึดเมืองไว้จึงเป็น ก้าวแรกที่อิสราเอลมีชัยเหนือศัตรู เป็นการมีชัยเหมือนในสมัยโยชูวาและผู้วินิจฉัย เป็นภาพเดียวกับเมื่อครั้งที่ ซาอูลนำอิสราเอลต่อสู้กับคนอัมโมน (1 ซามูเอล 11) เป็นดังวิถีการขึ้นครองของกษัตริย์ !

ประการที่สอง ดาวิดต้องการสร้างเมืองหลวงใหม่ เมื่อดาวิดขึ้นครองเหนือเผ่ายูดาห์ ตอนนั้นเฮโบรนเหมาะที่ จะเป็นเมืองหลวง แต่เมื่อท่านขึ้นเป็นกษัตริย์เหนืออิสราเอล ท่านต้องการเมืองหลวงที่อยู่เหนือขึ้นไป เพื่อจะ ได้อยู่ตรงกลางประเทศ เป็นศูนย์รวมของประเทศ เยบุสเหมาะที่สุด การที่อิสราเอลมีชัยเหนือชาวเยบุส จะทำให้ทั้งประเทศเป็นหนึ่งเดียวกัน การที่ดาวิดครอบครองและตั้งเยบุสให้เป็นเมืองหลวงจะเป็นเช่นเดียว กันด้วย เมืองนี้ตั้งอยู่ระหว่างเขตแดนของยูดาห์และเบนยามิน เป็นเมืองที่ทั้งลูกหลานของยูดาห์หรือเบนยา มินไม่เคยครอบครองสำเร็จ ดังนั้นการตั้งเมืองนี้ขึ้นเป็นเมืองหลวง จึงไม่เป็นการลำเอียงเข้าข้างฝ่ายใดฝ่าย หนึ่ง นอกจากนี้ สถานที่ตั้งตามธรรมชาติของเมืองนี้ยากต่อการถูกโจมตี (เป็นเหตุผลที่ทำให้อิสราเอลเอา ชนะขาดไม่ได้เสียที) เป็นเมืองภูเขา และมียอดเขามากกว่าหนึ่งแห่ง มีหุบเขาล้อมรอบ ต่อเติมเสียหน่อย ก็จะกลายเป็นป้อมปราการที่เข้มแข็งทีเดียว (5:9)

แทบทุกคนลงความเห็นว่ามีความหมายสำคัญบางประการซ่อนอยู่ในคำว่า "คนตาบอดและคนง่อย" ในข้อ 6-10 แต่ไม่มีใครบอกได้ว่าสำคัญอย่างไร สำหรับผม ผมคิดว่าความหมายน่าจะแปลตรงๆไปตามเนื้อหาในพระคัมภีร์ ผมไม่คิดว่าคนเยบุสหมายถึงใครเป็นพิเศษ เมื่อพวกเขากล่าวว่า "แกยกเข้ามาที่นี่ไม่ได้ดอก คนตาบอด และ คนง่อยก็จะป้องกันไว้ได้" (ข้อ 6) เรารู้ดีว่าที่พวกเขาพูดเช่นนี้เพราะเชื่อว่าดาวิดคงไม่มีทางบุกเข้ามาในเมือง และยึดครองได้

คุณเคยถูกหมาดุกระโจนใส่ไหม? แล้วมารู้ทีหลังว่ามันถูกล่ามโซ่ไว้ เขี้ยวของมันอยู่ห่างคุณแค่คืบเดียวเอง ถ้าเกิดมันหลุดจากโซ่ออกมาล่ะ คุณกะจะวิ่ง หรือกะจะพูดดีๆให้มันเปลี่ยนใจไม่ขย้ำคุณ คุณคงไม่คิดจะยั่ว หรือหยอกมันเล่นแน่ถ้ารู้ว่ามันไม่ได้ถูกล่าม แต่ถ้าเกิดเห็นว่ามันถูกโซ่ใหญ่ล่ามอยู่ คุณคงกล้าตะโกนใส่หน้า มัน หรือล้อมันเล่น เวลาที่เรารู้สึกปลอดภัย เรามักจะพูดจาอวดเก่ง

เมื่อคนเยบุสเห็นดาวิดและคนอิสราเอลยกมาโจมตี สำหรับพวกเขาเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่หรือน่ากลัว ใน อดีตมีการมาโจมตีออกบ่อยครั้ง แต่ไม่สำเร็จสักครั้ง ดังนั้นเมื่ออยู่หลังกำแพงป้อมแข็งแรง คนเยบุสจึงกล้าพูด ล้อเลียนดาวิดและพวกทหาร ด้วยคำพูดเยาะเย้ยถากถาง "ผมสามารถซัดคุณได้ ถึงแม้มืออีกข้างถูกผูกอยู่" กองทัพดาวิดเกรงกลัวหรือไม่? ไม่! แน่นอน! พวกเขาพูดล้อเลียนทำนองว่าสามารถป้องกันเมืองไว้ได้โดยใช้ ผีมือของคนตาบอดและคนง่อยเท่านั้น

ความโกรธดาวิดพลุ่งขึ้น คงพอๆกับตอนที่ถูกโกลิอัทพูดจาสามหาวใส่ ท่านนำคำพูดนี้ใส่ไปในคำสั่งให้ทหาร "ผู้ใดจะโจมตีคนเยบุส ก็ให้ผู้นั้นขึ้นไปตามทางน้ำไหล ไปสู้คนง่อย และคนตาบอดผู้ซึ่งจิตใจของดาวิด เกลียดชัง" พวกเขาทำตามนั้น และเอาชนะชาวเยบุสได้ จากนั้นเป็นต้นมา มีคำกล่าวในท่ามกลางผู้ติดตาม ดาิวิดว่า 22 "อย่าให้คนตาบอดและคนง่อยเข้ามาในพระนิเวศ" ฟังดูเหมือนเป็นข้ออ้างที่พวกไม่ชอบหน้าคน พิการ หรือพวกไร้ความปราณี ถือโอกาสจากเหตุการณ์ครั้งนี้นำมาใช้ ผมเชื่อว่าคำพูดนี้ถูกบันทึกด้วยสาเหตุ อันเนื่องมาจาก 2 ซามูเอล 4:4 และ 9:1-13 คนของอิชโบเชทฆ่าเจ้านายของตนเองบนเตียงใช่มั้ย? คน อิสราเอลห้ามไม่ให้คนง่อยเข้ามาในบ้านตนเอง จริงหรือเปล่า? ดาวิดเองกลับเป็นผู้ไปตามหาเมฟีโบเชท เด็กพิการ เพื่อแสดงออกถึงความรักที่มีต่อโยนาธานด้วยการให้เข้าร่วมโต๊ะเสวยทุกวัน

คุณว่าทัศนคติและการกระทำในส่วนของดาวิดเป็นการเล็งถึงจอมกษัตริย์ของอิสราเอล เมื่อพระองค์เสด็จมา บนโลกนี้หรือไม่? บรรดาคนที่คิดว่าตนเองชอบธรรมหันหน้าหนี หรือเดินอ้อมไปทางอื่น เมื่อเห็นคนนอน บาดเจ็บอยู่บนถนนหรือเปล่า? (ดูลูกา 10:25-37) พวกเขาสงสัยว่าทำไมพระเยซูไปยุ่งเกี่ยวคนบาป หรือ ยอมให้คนมีมลทินมาสัมผัสตัว คนที่พวกเขารังเกียจเดียดฉันท์พระเยซูกลับไปเสาะหา ดาวิดคือภาพจำลอง ของพระองค์ผู้เสด็จมาในภายหลัง ผู้ที่เสาะแสวงหาคนอ่อนแอ และให้ความช่วยเหลือ (ดูลูกา 4:16-21; 5:29-32; 7:18-23) ดาวิดนั้นคือภาพจำลองของพระเมสซิยาห์ ชาวเยบุสที่พูดจาอวดดีดูถูกพระเยซู คือภาพจำลอง ของคนที่คิดว่าตนเองชอบธรรมดีแล้ว วันหนึ่งคนเหล่านี้จะพ่ายแพ้ต่อพระองค์ ศัตรูของดาวิดมีแต่พ่ายแพ้ แต่ ตัวท่านเองมีแต่เข้มแข็งยิ่งๆขึ้น ไม่มีผู้ใดยับยั้งท่านได้ เพราะพระเจ้าสถิตกับท่าน

ดาวิดสร้างบ้านในกรุงเยรูซาเล็ม
(5:11-16)

11 ฮีรามกษัตริย์เมืองไทระได้ส่งผู้สื่อสารมาหาดาวิดและ ได้ส่งไม้สนสีดาร์
พวกช่างไม้ และพวกช่างก่อมาสร้างพระราชวังของดาวิด 12 และดาวิดทรง
ทราบว่า พระเจ้าทรงสถาปนาพระองค์ให้เป็นพระราชาเหนืออิสราเอล และ พระองค์ได้ทรงยกย่องราชอาณาจักรของพระองค์ด้วยเห็นแก่อิสราเอลประชา
กรของพระองค์ 13 ภายหลังที่พระองค์เสด็จจากเฮโบรน ดาวิดทรงได้นาง สนมและมเหสีจากเยรูซาเล็มเพิ่มขึ้นอีก และบังเกิดราชโอรสและราชธิดาอีก
14 ต่อไปนี้เป็นชื่อของผู้ที่บังเกิด กับพระองค์ในเยรูซาเล็มคือ ชัมมุอา โชบับ
นาธัน ซาโลมอน 15 อิบฮาร์ เอลีชูอา เนเฟก ยาเฟีย 16 เอลีชามา เอลียาดา
และเอลีเฟเลท.

แน่นอน การตอบสนองในการขึ้นปกครองเป็นกษัตริย์เหนืออิสราเอลที่มีต่อดาวิดมีอยู่สองแบบ : (1) ยอมรับ ท่านในฐานะเพื่อนและพันธมิตร หรือ (2) ตั้งตัวเป็นศัตรูคอยต่อต้านและยกมาโจมตี ฮีราม กษัตริย์เมืองไทระ เลือกที่จะทำอย่างแรก ในขณะที่พวกฟิลิสเตียเลือกอย่างหลัง ถึงแม้นักแปลพระคัมภีร์ส่วนมากแนะว่าข้อ 11-16 นั้นน่าจะแบ่งเป็นสองตอน ผมเลือกที่จะมองว่าทั้งหมดนี้รวมเป็นหนึ่งความหมาย คือการสร้างบ้านของ ดาวิด ฮีรามช่วยดาวิดสร้างตัวบ้านที่ใช้พักอาศัย พระราชวังในเยรูซาเล็ม แต่ขณะที่อยู่ในเยรูซาเล็ม ดาวิด ยังคงสร้าง "บ้านเรือน" (หรือครอบครัว) ของท่านอย่างต่อเนื่อง ในการสร้าง "บ้าน" ทั้งสองแบบนี้ ทำให้ดาวิด ยิ่งมั่นคงขึ้น ในฐานะกษัตริย์ของอิสราเอล

ข้อ 11 & 12 ทำให้เรารู้จักฮีราม กษัตริย์ไทระ เป็นผู้ที่น่าจะมองดาวิดเป็นศัตรู แต่กลับเลือกที่จะเป็นพันธมิตร แทน เมื่อพระเจ้าทรงทำพันธสัญญากับอับราฮัม (ดูปฐมกาล 12:1-3) พระองค์สัญญาว่า ใครที่สาปแช่งท่าน พระองค์จะสาปแช่งผู้นั้น ใครที่อวยพรท่าน พระองค์จะอวยพรด้วย ทั้งชาวเยบุสและชาวฟิลิสเตียสาปแช่ง ดาวิด ; ฮีรามกลับอวยพรท่าน ช่วยท่านจัดเตรียมการสร้างพระราชวังในเมืองที่พึ่งยึดมาได้ และสร้างให้เป็น เมืองที่แข็งแกร่งในอนาคต ฮีรามช่วยจัดหาทั้งวัสดุอุปกรณ์และแรงงานในการสร้างพระราชวังหลังใหญ่นี้ ดาวิดรับด้วยความพอใจ ฮีรามเป็นมิตรกับดาวิด

ตามเนื้อหาในพระคัมภีร์ กว่าดาวิดจะรับรู้ถึงความเป็นกษัตริย์ของตนเองได้ ก็เมื่อการสร้างพระราชวังใกล้จะ เสร็จลง มันเหมือนความฝันอันแสนนานของท่าน แต่บัดนี้ท่านรู้แล้วว่าพระสัญญาของพระเจ้านั้นสำเร็จลง ตอนใดในระหว่างการสร้างพระราชวัง ทำให้ท่านตระหนักเรื่องนี้ขึ้นมา? ผมคิดว่าเหตุผลน่าจะเกี่ยวข้องกับ พระธรรมสุภาษิตข้อนี้ :

27 จงเตรียมงานของเจ้าที่ภายนอก ทำทุกอย่างของเจ้าให้พร้อมที่ในนา
และหลังจากนั้นก็จงสร้างเรือนของเจ้า
(สุภาษิต 24:27)

อิสราเอลเป็นเมืองเกษตรกรรม จึงไม่เป็นการฉลาดนักที่จะสร้างบ้านก่อนทำนา หลังจากปลูกข้าวแล้ว ชาว นาค่อยทุ่มเวลาในการสร้างบ้าน เพราะกว่าข้าวจะตกรวงต้องใช้เวลา นี่คือการเรียงลำดับความสำคัญอย่าง ถูกต้อง คงเหมือนกับคนที่ย้ายเข้ามาอยู่ในเมืองหลวง ซื้อหาคอนโดในเมืองและตบแต่งจนเรียบร้อย แต่ กลับพบว่างานที่เหมาะกับตนเองนั้นอยู่ในเขตปริมณฑล ที่จริงน่าจะหางานให้ได้เสียก่อน แล้วค่อยหาซื้อ บ้านในละแวกใกล้เคียง ตอนนี้ดาวิดมีบ้านเป็นของตนเองแล้ว ฃึ่งก็แปลว่า "งาน" ในฐานะกษัตริย์ของท่าน นั้นแน่นอนมั่นคง ในที่สุดพระสัญญาของพระเจ้าที่จะให้ท่านขึ้นครองเป็นกษัตริย์ของอิสราเอลเป็นจริงและ เสร็จสมบูรณ์ ดาวิดได้ครอบครองในสิ่งที่ท่านรอคอยมากว่า 20 ปี อาคารที่ปลูกสร้างถาวรในกรุงเยรูซาเล็ม เป็นสิ่งที่ย้ำว่าทุกอย่างเป็นความจริง

ยังมีส่วนที่สองในการสร้างบ้านเรือนและครอบครัวของดาวิด ดาวิดมีภรรยาและบุตรอยู่แล้วก่อนที่จะย้ายมา กรุงเยรูซาเล็ม (2 ซามูเอล 2:2; 3:2-5) ที่เยรูซาเล็มท่านมีภรรยาและบุตรเพิ่มขึ้นอีกหลายคน ตามค่านิยม ของคนตะวันออกสมัยโบราณ การมีภรรยาและบุตรหลายคนเป็นสิ่งแสดงถึงความมั่งคั่ง ด้วยมาตรฐานนี้ ดาวิด จึงนับเป็นผู้มั่งคั่งของเยรูซาเล็ม ! แต่ปัญหาคือเมื่อเพิ่มจำนวนภรรยาขึ้นมา ดาวิดกำลังอยู่ในอันตรายของการ เข้าข่ายมีภรรยามาก ท่านกำลังละเลยคำเตือนที่มีต่อกษัตริย์อิสราเอล :

"17 และอย่าให้ผู้นั้นมีภรรยามาก เกรงว่าจิตใจของเขาจะหันเหไปเสีย หรืออย่าให้มีเงินมีทองเป็นของตนอย่างมากมาย " (เฉลยธรรมบัญญัติ 17:17)

ดาวิดมีชัยเหนือฟิลิสเตีย
(5:17-25)

17 เมื่อคนฟีลิสเตียได้ยินข่าวว่าดาวิดได้รับการเจิมเป็น พระราชาเหนืออิสราเอล คนฟีลิสเตียทั้งปวงก็ขึ้นไปแสวงหาดาวิด แต่ดาวิดทรงทราบข่าวนั้น จึงลงไปยัง
ที่กำบังเข้มแข็ง 18 ฝ่ายคนฟีลิสเตียยกขึ้นมาและขยายแนวออกที่หุบเขาเรฟาอิม
19 และดาวิดทรงทูลถามพระเจ้าว่า "ควรที่ข้าพระองค์จะยกขึ้นไปสู้รบกับคนฟีลิส
เตียหรือ พระองค์จะทรงมอบเขาไว้ในมือข้าพระองค์หรือไม่" และพระเจ้าทรงตอบ
ดาวิดว่า "จงขึ้นไปเถิด เพราะเราจะมอบคนฟีลิสเตียไว้ในมือของเจ้าเป็นแน่" 20 ดาวิดเสด็จมายังบาอัลเปราซิม และดาวิดทรงชนะคนฟีลิสเตียที่นั่น พระองค์ตรัสว่า "พระเจ้าทรงทะลวงข้าศึกของข้าพเจ้าดังกระแสน้ำที่พุ่งใส่" เพราะฉะนั้นจึงเรียกชื่อ
ตำบลนั้นว่า บาอัลเปราซิม 21 และคนฟีลิสเตียได้ทิ้งรูปเคารพที่นั่น ดาวิดกับข้าราช
การของพระองค์ก็ขนเอาไปเสีย 22 คนฟีลิสเตียยกขึ้นมาอีกและขยาย แนวอยู่ในหุบ
เขาเรฟาอิม 23 และเมื่อดาวิดทูลถามพระเจ้าพระองค์ตรัสว่า "เจ้าอย่าขึ้น จงอ้อม ไปข้างหลังของเขา และโจมตีเขาตรงข้ามกับหมู่ต้นโพธิ์ 24 และเมื่อเจ้าได้ยินเสียง กระบวนทัพเดินอยู่ที่ยอดหมู่ต้นโพธิ์เจ้าจงรีบรุกไป เพราะพระเจ้าเสด็จไปข้างหน้า
เพื่อจะโจมตี กองทัพของคนฟีลิสเตีย" 25 และดาวิดทรงกระทำตามที่พระเจ้าทรง
บัญชาไว้ และได้โจมตีคนฟีลิสเตียจากเกบาถึงเกเซอร์

เราได้แต่ลองนึกภาพดูว่าผู้นำฟิลิสเตียทั้ง 5 จะพูดจากันอย่างไรเมื่อทราบว่าดาวิดได้ขึ้นเป็นกษัตริย์อิสราเอล อาคีชคงถูกโจมตีอย่างรุนแรงในฐานะเป็นผู้ให้ที่ลี้ภัยแก่ดาวิด (1 ซามูเอล 21:10-15; 27:1—28:2; 29:1-11) ที่จริงแล้วดาวิดมีโอกาสได้อยู่ในกองทัพฟิลิสเตีย ถึงแม้จะเป็นเวลาเพียงสั้นๆ แต่ก็นานพอที่จะรู้ว่าจะจัดการ กับฟิลิสเตียอย่างไร ฟิลิสเตียต้องรีบป้องกันตนเอง โดยต้องจัดการกับอิสราเอลให้ได้ ก่อนที่จะกลายเป็น ศัตรูที่น่าสะพรึงกลัวที่สุด

ตามมุมมองในยุทธวิธีการรบ นับว่าเป็นการตัดสินใจที่ดี เพราะขืนปล่อยทิ้งไว้ อาณาจักรของดาวิดจะเติบโต และเข้มแข็งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกองทัพ แต่ดาวิดเป็นกษัตริย์ของพระเจ้า ปกครองประชากรของพระเจ้า ท่านจะไม่พ่ายแพ้ เมื่อดาวิดรู้เรื่องฟิลิสเตียมาโจมตี ท่านลงไปยังที่กำบังเข้มแข็ง (ข้อ 17) ใน 1 พงศาวดาร 11:15 ดูเหมือนว่าดาวิดและคนของท่านไปที่ถ้ำอดุลลัม ที่ๆท่านและคนของท่านไปอาศัยอยู่เมื่อครั้งฟิลิสเตีย มายึดเบทเลเฮ็มและตั้งค่าย (1 พงศาวดาร 11:16) คนฟิลิสเตียคาดว่าจะพบดาวิดที่นั่นหรือ? ดาวิดเพียงแค่ ต้องการดื่มน้ำจากบ่อในเบทเลเฮ็ม ก็มีชายกล้าถึงสามคนแหกค่ายฟิลิสเตียเข้าไปตักน้ำมาให้ท่านดื่มได้ (1 พงศาวดาร 11:16-19)

ถ้าดาวิดอยู่ที่ถ้ำอดุลลัมจริงในตอนแรกที่รบกับพวกฟิลิสเตีย ผมคิดว่าเป็นเรื่องน่าสนใจดี เพราะพระเจ้าไม่ได้ ทำให้เป็นเรื่องสูญเปล่า ที่ถ้ำอดุลลัมนี้ ครอบครัวและผู้ติดตามหลายคนมาหาท่าน (ผมเริ่มเข้าใจแล้วว่าทำไม ครอบครัวท่านถึงไปที่นั่น มันคงอยู่ไกล้กับบ้านที่เบทเลเฮ็ม คนที่บ้านจึงหลบมาได้โดยไม่ถูกคนของซาอูลจับ ไปเสียก่อน) ในช่วงเวลาที่ดาวิดหลบหนีซาอูล ท่านคงพบ "ที่กำบัง" อีกหลายแห่งที่สามารถใช้เป็นที่หลบภัย ได้หลายปีหลังจากนั้น เมื่อท่านยังต้องต่อสู้กับพวกฟิลิสเตีย

เมื่อดาวิดเผชิญหน้ากับคนฟิลิสเตียครั้งแรก พวกเขาต้องการตัวท่าน ในฐานะกษัตริย์องค์ใหม่ ท่านหันไปพึ่ง พระเจ้าเพื่อขอคำแนะนำ ท่านทูลถามว่า สมควรไหมที่จะไปต่อสู้กับพวกฟิลิสเตีย พระเจ้าสั่งให้ท่านไป และให้ ความมั่นใจว่าจะมอบคนฟิลิสเตียไว้ในมือท่าน (ข้อ 19) ที่บาอัลเปราซิม ดาวิดเผชิญกับศัตรูและสามารถเอา ชนะได้ ท่านให้ชื่อตำบลนั้นว่าบาอัลเปราซิมเพื่อเตือนให้ระลึกว่า พระเจ้าทรง"ทะลวงข้าศึก" และมอบชัยชนะ เหนือศัตรูให้ มีการบันทึกไว้ด้วยว่าคนฟิลิสเตียได้ทิ้งรูปเคารพที่นั่น และคนของดาวิดมาขนไปเสีย (ข้อ 21) ใน 1 พงศาวดาร 14:12 บันทึกไว้ว่าขนเอาไปเผา

ผมอ่านในหนังสือพิมพ์ว่า ไมค์ ไทสัน เชื่อมั่นและกระหายจะเอาชัยชนะที่เสียไปเมื่อปีที่แล้วคืนให้ได้จาก อีวานเดอร์ โฮลี่ฟิลด์ เขาไม่ยอมเป็นผู้แพ้นานนัก เขาเชื่อว่าครั้งที่แล้วไม่ได้ชกจริงจังเท่าที่ควร พวกฟิลิส เตียคงคิดเหมือนกันเรื่องดาวิดและอิสราเอล พวกเขาไม่ยอมแพ้ง่ายๆหรอกครับ ; และไม่ยอมเป็นฝ่ายแพ้นาน ด้วย พวกเขาต้องการเอาคืน จึงยกมาโจมตีดาวิดอีกครั้ง กระจายกำลังอยู่ในแนวหุบเขาเรฟาอิม (เหมือนย้อน รอยการรบครั้งแรก?) ดาวิดคงคิดเหมือนกัน ท่านควรจะออกไปต่อสู้ เหมือนครั้งที่แล้ว ดีหรือไม่? คำตอบของ พระเจ้าคือ ท่านควรออกไปสู้กับฟิลิสเตีย แต่ด้วยวิธีการที่ต่างจากคราวที่แล้ว คราวนี้แทนที่จะปะทะกันซึ่งๆ หน้า ดาวิดถูกสั่งให้ไปล้อมทางด้านหลัง และไม่เข้าโจมตีจนกว่าจะได้ยิน "เสียงกองทัพเดินอยู่ ที่ยอดหมู่ ต้นโพธิ์" (ข้อ 24)

บางคนคิดว่าเป็นเสียงลมที่พัดอยู่บนยอดไม้ ที่กลบเสียงกองทัพของดาวิดที่กำลังจู่โจม ผมว่ามีมากกว่านั้น พระเจ้าทรงมีฤทธานุภาพไม่จำกัด พระองค์พอพระทัยที่จะนำชัยชนะมาสู่ประชากรของพระองค์ด้วยวิธีที่การ อันมากมายไม่มีสิ้นสุด พระองค์ทรงใช้พายุ มีทั้งฝนฟ้าคะนอง ซึ่งเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งกับอาวุธที่ทำด้วยเหล็ก และโคลนที่เกิดขึ้นเพราะฝน ทำให้รถรบแทบไม่สามารถใช้การได้ (ดู 1 ซามูเอล 7:10) ต่อมาพระองค์ทรงใช้ แผ่นดินไหวเขย่าพวกศัตรู (1 ซามูเอล 14:15) ก่อนหน้านี้ พระเจ้าประทานชัยชนะเหนือคนอัมโมนให้แก่ อิสราเอล ด้วยการให้มีลูกเห็บใหญ่ๆตกมาจากฟ้า (โยชูวา 10:11) ใน 2 พกษ. บทที่ 7 พระเจ้าทำให้กองทัพ ซีเรียตกใจแทบสิ้นสติ ด้วยการได้ยินเสียงกองทัพใหญ่ยกมา ทั้งๆที่ไม่มีอะไรเลย (ข้อ 6-7) ผมจึงขอเชื่อตาม คำในพระคัมภีร์ (2 ซามูเอล 5:24) ว่าเป็นการ "ทำอัศจรรย์ที่ยิ่งใหญ่" อีกครั้งของพระเจ้า ที่ทำให้ศัตรูเสียสติ และเปิดทางให้ดาวิดเข้าโจมตีและมีชัยได้อย่างง่ายดาย ชัยชนะครั้งนี้ ดาวิดสามารถขับไล่ฟิลิสเตียให้กลับคืน เข้าประเทศไปได้ (เกเซอร์เป็นเมืองชายแดนของฟิลิสเตีย) ชัยชนะเหนือฟิลิสเตียเป็นการกระทำที่ตัดสินใจ อย่างเด็ดขาด ถึงแม้เป็นหน้าที่ของซาอูลที่ต้องกู้อิสราเอลให้พ้นจากเงื้อมมือของฟิลิสเตีย (1 ซามูเอล 9: 16) ท่านกลับถูกฆ่า และอิสราเอลต้องพ่ายแพ้ต่อฟิลิสเตีย (1 ซามูเอล 31) กษัตริย์ดาวิดต่างหากที่เป็นผู้ช่วยปลด ปล่อยอิสราเอลให้พ้นจากฟิลิสเตียได้ (2 ซามูเอล 19:9)

บทสรุป

เมื่อมาถึงตอนนี้ เรารู้สึกได้ถึงความปลอดโปร่งโล่งใจและชื่นชมยินดีในชีวิตของดาวิด มันนานหลายปีมาแล้ว ที่ซามูเอลเจิมตั้งดาวิดขึ้นเป็นกษัตริย์อิสราเอล กว่าจะถึงจุดนี้ได้ ดาวิดต้องผ่านประสพการณ์ที่เจ็บปวดมา มากมาย มีเรื่องดีๆอยู่บ้าง เช่นเมื่อได้เล่นดนตรีถวายซาอูล ได้เป็นเพื่อนสนิทกับโยนาธานบุตรชาย เมื่อมีชัย เหนือโกลิอัท และได้เลื่อนขั้นในกองทัพของซาอูล ชื่นชมยินดีเมื่อได้แต่งงานกับบุตรสาวของซาอูล ทำให้ ดาวิดกลายเป็นทองแผ่นเดียวกับราชวงศ์ แต่ก็มีเวลาที่เลวร้ายมากมายเช่นกัน มีการรอคอยที่ยาวนานหลายปี อยู่อย่างหลบๆซ่อนๆด้วยความกลัวตาย ถึงกับต้องไปพึ่งพิงขอลี้ภัยในท่ามกลางเหล่าศัตรู สิ่งเหล่านั้นจบสิ้น ไปแล้วเมื่อท่านได้ขึ้นครองเหนืออิสราเอล บัดนี้เป็นเวลาแห่งความชื่นชมยินดี เป็นเวลาแห่งการเฉลิมฉลอง

ผมประทับใจในตัวดาวิด โดยเฉพาะอย่ายิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับซาอูล ที่ต่างจากซาอูล ดาวิดแสวงหาน้ำพระ ทัยพระเจ้าตลอดเวลา ท่านเชื่อฟังและพยายามทำตามอย่างสุดความสามารถ เมื่อท่านทำผิด ท่านกลับใจและ แก้ใขให้ถูกต้อง ซาอูลไม่ได้ทำให้อิสราเอลมีชัยเหนือฟิลิสเตีย แต่ดาวิดทำได้ ซาอูลไม่ได้เป็นผู้นำที่เป็น แบบอย่างที่ดีให้กับประเทศ ดาวิดกลับเป็น ครั้งแล้วครั้งเล่า ดาวิดวางมาตรฐานและแบบอย่างที่ดีด้านจิต วิญญานให้กับยูดาห์และชนเผ่าอื่นๆของอิสราเอล ท่านตอบสนองอย่างถูกต้องต่อมรณกรรมของซาอูล และ อย่างรุนแรงกับบรรดาผู้ที่เหยียดมือออกทำร้ายผู้ที่พระเจ้าเจิมไว้

ต่างจากซาอูล ดาวิดไม่ได้เป็นกษัตริย์ที่รู้แต่เรื่องการเผชิญวิกฤตเฉพาะหน้า และ "ดับไฟ" ที่เกิดขึ้นให้จบๆ ไปเท่านั้น ซาอูลแก้เฉพาะปัญหาที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ดาวิดจัดการกับปัญหาที่คนก่อนหน้าท่านหลีกเลี่ยง และ ทิ้งเอาไว้ ท่านทำให้สำเร็จลง การยึดเมืองเยบุสเป็นแบบอย่างในการเป็นผู้ริเริ่มและเป็นผู้นำของดาวิด ผมเชื่อ ว่าดาวิดเข้าใจในพระสัญญาของพระเจ้า ว่าพระองค์จะมอบคนเยบุสและแผ่นดินนี้ให้ ผมยังเชื่ออีกด้วยว่า ดาวิด แสวงหาที่จะทำตามคำสั่งของพระเจ้า ถึงแม้จะสั่งไว้กับอิสราเอลตั้งแต่ในอดีต ว่าให้ไปต่อสู้กับคนเยบุส และ ขับไล่ให้พ้นไปเสียจากแผ่นดิน ผมเชื่อว่าดาวิดมองเมืองเยบุสว่าเป็นเมืองหลวงในอุดมคติ และเหมาะที่จะเป็น สถานที่รวมใจทุกเผ่าของอิสราเอลให้เป็นหนึ่งเดียว ภายใต้การปกครองของท่าน ท่านอาจจะเลือก "ที่จะอาศัย อย่างสงบสุข" ร่วมกับชาวเยบุส อย่างที่บรรพบุรุษเคยทำมา แต่ท่านกลับเลือกทำในสิ่งที่ยากกว่า และเอาชนะ ได้ และชัยชนะแบบนี้เอง ที่ทำให้ประเทศอิสราเอล (และกษัตริย์) ได้รับความเคารพ (คร้ามเกรง) ในท่าม กลางประชาชาติ

ถ้าผมจะสรุปเนื้อหาทั้งหมดในบทที่ 5 ของ 2 ซามูเอล จุดรวมสำคัญทั้งหมดของตอนนี้คือ: เมื่อมนุษย์ตอบรับ กษัตริย์ของพระเจ้า ขณะที่ซาอูล อับเนอร์และคนอื่นๆต่อต้านการขึ้นครองบัลลังก์ของดาวิด แต่เมื่อเป็นพระ ประสงค์ของพระเจ้า หลังจากอับเนอร์ตายลง คนอิสราเอลเริ่มเห็นแล้วว่าดาวิดสมควรจะเป็นกษัตริย์ของพวก เขา ผู้นำของพวกเขาจึงไปพบดาวิด แจ้งความจำนงว่าต้องการให้ท่านเป็นกษัตริย์ พูดง่ายๆก็คือ ทุกเผ่าของ อิสราเอลยอมรับว่า ดาวิดเป็นกษัตริย์ของพระเจ้า (5:1-5) คนเยบุสต่อต้านกษัตริย์ของพระเจ้า พระเจ้าจึงให้ ดาวิด — กษัตริย์ของพระองค์ — มีชัยเหนือคนเยบุส (5:6-10) พวกเขาถูกกษัตริย์ของพระเจ้าโค่นลง เพราะ พวกเขาต่อต้าน ฮีรามกษัตริย์เมืองไทระ ดูจะเข้าใจได้พอประมาณว่าดาวิดเป็นกษัตริย์ของพระเจ้า โดยการ เสนอช่วยดาวิดสร้างพระราชวัง เท่ากับแสดงการยอมรับในความเป็นกษัตริย์ของพระเจ้า (5:11-12) การมี ภรรยาเพิ่มขึ้น มีบุตรเพิ่มขึ้น ดาวิดกำลังรุ่งเรืองขึ้นในฐานะกษัตริย์ของพระเจ้า (5:13-16) พวกฟิลิสเตียไม่ ยอมรับว่าดาวิดเป็นกษัตริย์ของพระเจ้า ยกมาโจมตี หวังจะฆ่าท่าน เพื่อกำจัดสถานะไม่ให้อิสราเอลแกร่งขึ้น เมื่อรวมตัวกันสำเร็จ (5:17-25) ไม่ใช่แค่ครั้งเดียว แต่สองครั้งที่ฟิลิสเตียมาโจมตีดาวิดและกองทัพอิสราเอล และทั้งสองครั้งพระเจ้าประทานชัยชนะเหนือศัตรูให้ ใครที่ยอมรับว่าดาวิดเป็นกษัตริย์ของพระเจ้าจะได้รับพระ พร ; ใครที่ปฏิเสธไม่ยอมรับจะถูกบดขยี้

ดาวิดเป็นภาพพจน์ของ "บุตรดาวิด" ที่จะมาในภายหลัง จอมกษัตริย์ของพระเจ้า ผู้จะเสด็จลงมาบนโลกนี้ เพื่อปราบศัตรูของพระองค์ลง และเพื่อปกครองเหนืออาณาจักรของพระเจ้า

1 เหตุใดบรรดาประชาชาติจึงคิดกบฏ ทำไมชนชาติทั้งหลายปองร้ายกันเปล่าๆ
2 บรรดากษัตริย์แห่งแผ่นดินโลกตั้งตนเองขึ้น และนักปกครองปรึกษากัน ต่อสู้ พระเจ้าและผู้รับการเจิมของพระองค์ กล่าวว่า 3 "ให้เราระเบิดสายแอกให้ขาด
สะบั้น และขจัดบังเหียนของเขาให้พ้นจากเรา" 4 พระองค์ผู้ประทับในสวรรค์
ทรงพระสรวล พระเจ้าทรงเย้ยหยันเขาเหล่านั้น 5 แล้วพระองค์ตรัสกับเขาทั้ง
หลายด้วยพระพิโรธ และกระทำให้เขาสยดสยองด้วยความกริ้วของพระองค์ ตรัส
ว่า 6 "เราได้ตั้งกษัตริย์ของเราไว้แล้วบนศิโยน ภูเขาศักดิ์สิทธิ์ของเรา" 7 ข้าพเจ้า จะบอกถึงพระดำรัสของพระเจ้า พระองค์รับสั่งกับข้าพเจ้าว่า "เจ้าเป็นบุตรของเรา วันนี้เราได้ให้กำเนิดแก่เจ้าแล้ว 8 จงขอจากเราเถิด และเราจะมอบบรรดาประชา ชาติให้เป็นมรดกของเจ้า ตลอดทั้งแผ่นดินโลกให้เป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้า 9 เจ้าจะ ตีเขาให้แตกด้วยกระบองเหล็ก และฟาดให้แหลกเป็นชิ้นๆ ดุจภาชนะของช่างปั้น
หม้อ" 10 เพราะฉะนั้น ข้าแต่กษัตริย์ทั้งหลาย จงฉลาดเถิด ข้าแต่นักปกครองแห่ง
แผ่นดินโลก จงรับคำเตือนเถิด 11 จงปรนนิบัติพระเจ้าด้วยความยำเกรง และจง เกษมเปรมปรีดิ์จนเนื้อเต้น 12 จงนมัสการพระองค์ด้วยใจจริง เกลือกว่าพระองค์จะ
ทรงพระพิโรธ และเจ้าต้องพินาศจากทางนั้น เพราะพระพิโรธของพระองค์นั้นจุดให้
ลุกได้รวดเร็ว ความสุขเป็นของคนทั้งหลายผู้เข้ามาลี้ภัยในพระองค์
(สดุดี 2:1-12)

พระธรรมสดุดีตอนนี้เป็นคำพยากรณ์ถึงวันที่พระเจ้าจะจัดตั้งกษัตริย์ของพระองค์ คือพระเยซูคริสต์ เหนือ บัลลังก์ของพระองค์ บรรดาศัตรูของพระเจ้าจะรวมตัวกันเพื่อต่อต้านและโค่นล้มการปกครองของพระคริสต์ใน ฐานะกษัตริย์ เห็นได้ชัดว่าการต่อต้านเช่นนี้เป็นความโง่เขลาและเป็นอันตราย เมื่อพระเจ้าแต่งตั้งกษัตริย์ของ พระองค์เหนือราชบัลลังก์ จะไม่มีผู้ใดสามารถต่อต้านหรือโค่นลงได้ ใครก็ตามที่ทำเช่นนั้นจะถูกขยี้ มีหนทาง ที่ถูกอยู่ทางเดียวในการเสด็จมาของกษัตริย์ของพระเจ้า นั่นคือถ่อมใจลงน้อมรับพระองค์ เพราะนี่เป็นพระพร อันยิ่งใหญ่ (ข้อ 10-12).

ดาวิดเป็นภาพพจน์ขององค์พระเยซูคริสต์ในฐานะกษัตริย์ของพระเจ้า กษัตริย์ที่ในสดุดี 2 กล่าวถึง คนที่ต่อ ต้านดาวิดในที่สุดถูกบดขยี้ ใครที่ยอมรับ ก็ได้รับพระพร เมื่อองค์พระผู้เป็นเจ้าเสด็จลงมาบนโลกเมื่อ 2,000 ปี ที่แล้ว พระเจ้าสำแดงให้เห็นชัดเจนว่าพระองค์เป็นบุตรของพระเจ้า เป็นจอมกษัตริย์ของพระองค์:

1 ครั้นล่วงไปได้หกวันแล้ว พระเยซูทรงพาเปโตร ยากอบ และยอห์น น้องของยากอบขึ้นภูเขาสูงแต่ลำพัง 2 แล้วพระกายของพระองค์ก็เปลี่ยน
ไปต่อหน้าเขา พระพักตร์ของพระองค์ก็ทอแสงเหมือนแสงอาทิตย์ ฉลอง พระองค์ก็ขาวผ่องดุจแสงสว่าง 3 โมเสสและเอลียาห์ก็มาปรากฏแก่พวก
สาวกเหล่านั้น กำลังเฝ้าสนทนากับพระองค์ 4 ฝ่ายเปโตรทูลพระเยซูว่า
"พระองค์เจ้าข้า ซึ่งเราอยู่ที่นี่ก็ดี ถ้าพระองค์ต้องพระประสงค์ ข้าพระองค์
จะทำเพิงสามหลังที่นี่ สำหรับพระองค์หลังหนึ่ง สำหรับโมเสสหลังหนึ่ง
สำหรับเอลียาห์หลังหนึ่ง" 5 เปโตรทูลยังไม่ทันขาดคำ ก็บังเกิดมีเมฆสุก
ใสมาปกคลุมเขาไว้ แล้วมีพระสุรเสียงออกมาจากเมฆนั้นว่า "ท่านผู้นี้เป็น
บุตรที่รักของเรา เราชอบใจท่านผู้นี้มาก จงเชื่อฟังท่านเถิด" 6 ฝ่ายพวก สาวกเมื่อได้ยินก็ซบหน้ากราบลงกลัวยิ่งนัก
(มัทธิว 17:1-6)

9 ต่อมาพระเยซูเสด็จมาจากเมืองนาซาเร็ธแคว้นกาลิลี และได้ทรงรับ บัพติศมาจากยอห์นในแม่น้ำจอร์แดน 10 พอพระองค์เสด็จขึ้นมาจากน้ำ ในทันใดนั้นก็ทรงเห็นท้องฟ้าแหวกออก และพระวิญญาณดุจนกพิราบ
ลงมาสู่พระองค์ 11 แล้วมีพระสุรเสียงมาจากฟ้าสวรรค์ว่า "ท่านเป็นบุตร
ที่รักของเรา เราชอบใจท่านมาก"
(มาระโก 1:9-11)

30 แล้วทูตสวรรค์จึงกล่าวแก่เธอว่า "มารีย์เอ๋ย อย่ากลัวเลย เพราะ เธอเป็นที่พระเจ้าทรงโปรดปรานแล้ว 31 ดูเถิด เธอจะตั้งครรภ์และ
คลอดบุตรชาย จงตั้งชื่อบุตรนั้นว่าเยซู 32 "บุตรนั้นจะเป็นใหญ่ และ จะทรงเรียกว่าเป็นบุตรของพระเจ้าสูงสุด พระเจ้าจะทรงประทานพระ ที่นั่งของดาวิดบรรพบุรุษของท่านให้แก่ท่าน"
(ลูกา 1:30-33)

47 พระเยซูทรงเห็นนาธานาเอลมาหา พระองค์จึงตรัสถึงเรื่องของตัว
เขาว่า "ดูเถิด ชนอิสราเอลแท้ ในตัวเขาไม่มีอุบาย" 48 นาธานาเอล
ทูลถามพระองค์ว่า "พระองค์ทรงรู้จักข้าพระองค์ได้อย่างไร" พระเยซู
ตรัสตอบเขาว่า "ก่อนที่ฟีลิปจะเรียกท่าน เมื่อท่านอยู่ที่ใต้ต้นมะเดื่อนั้น
เราเห็นท่าน" 49 นาธานาเอลทูลตอบพระองค์ว่า "รับบี พระองค์ทรง
เป็นพระบุตรของพระเจ้า พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ของชนชาติอิสราเอล"
(ยอห์น 1:47-49; ดูมัทธิว 2:1-6ด้วย)

ถึงแม้จะมีหลักฐานชัดเจนทุกอย่าง พวกผู้นำศาสนาในสมัยนั้นเลือกที่จะปฏิเสธว่าพระเยซูคือพระเมสซิยาห์ พวกเขาหาหลักฐานที่ไม่มีสาระ มาพิสูจน์ว่าพระองค์ไม่มีทางเป็นกษัตริย์ของพระเจ้า แต่ทุกอย่างที่พวกเขา ทำกลับล้มเหลว พวกเขาคิดว่าพวกเขามีชัยเหนือพระองค์ เมื่อพวกเขานำพระองค์ไปตรึงกางเขน แต่เมื่อ พระเจ้าทำให้พระองค์ฟื้นคืนพระชนม์จากความตาย จึงเป็นเรื่องชัดเจนว่าพระองค์เป็นฝ่ายมีชัย

พระเยซูคริสต์เป็นจอมกษัตริย์ของพระเจ้า ครั้งแรกเมื่อพระองค์เสด็จลงมาบนโลกนี้ พระองค์ทรงเป็นพระเจ้า ในสภาพมนุษย์ที่ปราศจากตำหนิ เมื่อมีการประกาศว่าพระองค์เป็นจอมกษัตริย์ของพระเจ้า พระองค์ถูกปฏิเสธ และถูกบรรดาคนบาปนำไปตรึงกางเขน พระประสงค์ในการเสด็จมาครั้งแรกไม่ใช่เพื่อตั้งอาณาจักรใหม่โดย โค่นอาณาจักรโรมันลง แต่มาเพื่อตายไถ่บาปมนุษย์ เพื่อเปิดหนทางให้สามารถเข้าสู่อาณาจักรของพระเจ้าได้ โดยการมาวางใจในพระองค์ รับการอภัยบาป และรับของประทานแห่งชีวิตนิรันดร์ที่คอยอยู่เมื่อพระองค์เสด็จ กลับมาในครั้งที่สอง ในอนาคตครั้งนี้ พระองค์จะมีชัยเหนือศัตรู และจะจัดตั้งราชบัลลังก์ของพระองค์บนโลกนี้ ผู้ใด ที่ปฏิเสธว่าพระองค์เป็นจอมกษัตริย์ของพระเจ้า จะถูกกำจัดออกไป เช่นเดียวกับบรรดาศัตรูของดาวิด ไม่มีเรื่องใดสำคัญไปกว่าการเข้ามามีส่วนในสัมพันธภาพกับองค์พระเยซูคริสต์ จอมกษัตริย์ของพระเจ้าอีกแล้ว คนที่เป็นมิตรกับพระองค์จะได้ครองร่วมกับพระองค์ คนที่เป็นศัตรูจะถูกทำลาย หวังว่าคุณทุกคนจะเป็นเหมือน กษัตริย์ฮีรามแห่งเมืองไทระ ไม่ใช่เป็นเหมือนพวกฟิลิสเตียที่ตั้งตนเป็นศัตรูกับดาวิดและศัตรูกับพระเจ้า

5 ท่านจงมีน้ำใจต่อกันเหมือนอย่างที่มีในพระเยซูคริสต์ 6 ผู้ทรงสภาพของพระเจ้า แต่มิได้ทรงถือว่าการเท่าเทียมกับพระเจ้านั้นเป็นสิ่งที่จะต้องยึดถือ 7 แต่ได้กลับทรง
สละ และทรงรับสภาพทาส ทรงถือกำเนิดเป็นมนุษย์ 8 และเมื่อทรงปรากฏพระองค์ ในสภาพมนุษย์แล้ว พระองค์ก็ทรงถ่อมพระองค์ลงยอมเชื่อฟังจนถึงความมรณา กระทั่งความมรณาที่กางเขน 9 เหตุฉะนั้นพระเจ้าจึงได้ทรงยกพระองค์ขึ้นอย่างสูง และได้ประทานพระนามเหนือนามทั้งปวงให้แก่พระองค์ 10 เพื่อเพราะพระนามนั้น
ทุกเข่า ในสวรรค์ ที่แผ่นดินโลก ใต้พื้นแผ่นดินโลก จะคุกลงกราบพระเยซู 11
และเพื่อ ทุกลิ้นจะยอมรับว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้า อันเป็นการ
(ฟีลิปปี 2:5-11)


22 ที่จริงในพระคัมภีร์พูดแต่เพียงว่า "พราะฉะนั้นเขาจึงว่ากันว่า ‘อย่าให้คนตาบอดและคนง่อยเข้ามาใน พระนิเวศ’" คำที่พวกเขากล่าวดูจะต่างกับที่ดาวิดกล่าว ในข้อ 8 ผมสงสัยจริงๆว่าคำว่า พวกเขา อาจหมาย ถึงคนเยบุสก็ได้ ซึ่งก็หมายความว่าพูดถึงคนอิสราเอล ถ้าจะคิดจากประสพการณ์ บวกกับคำตอบของดาวิด ประชาชนคงคิดเอาว่า ‘คนตาบอดและคนง่อย’ จะไม่ได้รับอณุญาติให้เข้าไปในเมืองนี้ และแน่นอนเข้าไปใน พระราชวัง

Related Topics: Bibliology (The Written Word)

Report Inappropriate Ad