MENU

Where the world comes to study the Bible

1. ต้นกำเนิดพระเยซูคริสต์ (มัทธิว 1:1-25)

Related Media

คำนำ1

เราทุกคนคุ้นเคยกับถ้อยคำที่แตะต้องใจจากปลายปากกาของ อ.เปาโลเป็นอย่างดี :

พระคัมภีร์ (ทุกตอนได้รับการดลใจจากพระเจ้า และ) เป็นประโยชน์ในการสอน การตักเตือนว่ากล่าว การปรับปรุงแก้ใข คนให้ดี และการอบรมในทางธรรม เพื่อคนของพระเจ้า จะพรักพร้อมที่จะกระทำการดีทุกอย่าง (2 ทิโมธี 3:16-17)2

แต่พอมาถึงพระกิตติคุณมัทธิว 1:1-17 เราเหมือนถูกทดสอบต่อคำพูดของ อ.เปาโลในทันที พวกเรากี่คนกันที่เห็นว่า ลำดับพงศ์พันธ์ ตามที่บันทึกในพระคัมภีร์ “มีประโยชน์” หรือ “มีสาระสำคัญ” สำหรับเรา? พูดตามตรงนะครับ พออ่านมาถึงเรื่องลำดับพงศ์พันธ์ มีความรู้สึกอยากข้ามไปทุกที แต่เมื่ออดทนอ่าน (เวลาอ่านทั้งเล่ม) ผมมักสงสัยว่าผมได้อะไรจากเรื่องลำดับพงศ์พันธ์นี้

ผมชอบเข้าข้างตัวเอง คิดเอาว่าเรื่องลำดับพงศ์พันธ์นั้น “น่าเบื่อ” และ “ไม่เกิดประโยชน์” สู้พระวจนะตอนอื่นๆไม่ได้ แต่พออ่านบทแรกของมัทธิว รู้สึกทึ่งครับ ลองคิดดู : พระกิตติคุณมัทธิวเป็นหนังสือเล่มแรกของพระคัมภีร์ใหม่ แต่เริ่มต้นด้วยลำดับพงศ์พันธ์ของพระเยซูคริสต์ แปลว่าหนังสือเล่มนี้มีบทนำ เริ่มด้วยการพูดถึงลำดับวงศ์ตระกูล แถมยังเป็นบทนำของหนังสือเล่มแรกของพระคัมภีร์ใหม่ทั้งหมดด้วย

ตามปกติ เวลาเทศนาผมมักมีปัญหาทุกครั้ง เพราะต้องหาเรื่องเล่า เพื่อนำร่องเข้าสู่คำเทศนา ผมพยายามหาเรื่องที่ดึงความสนใจผู้ฟัง เพื่อโยงเข้าสู่พระวจนะตอนที่จะใช้เทศนาให้ลื่นไหลไปอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เป็น นักเทศน์มา ไม่เคยเลยสักครั้ง ที่จะเกริ่นนำการเทศนา ด้วยเรื่องลำดับพงศ์พันธ์

เนื่องจากผมและมัทธิว มีแนวคิดที่แตกต่างกัน จึงขอบอกว่าผมเองเป็นฝ่ายพลาด ไม่ใช่ผู้ที่ได้รับการดลใจจากพระเจ้าอย่างท่านมัทธิว ผู้เขียนหนังสือมหัศจรรย์เล่มนี้ ทำให้ต้องกลับมาทบทวนใหม่ ว่าทำไมมัทธิวถึงเห็นว่า การนำเรื่องลำดับพงศ์พันธ์ขึ้นมาเกริ่นนั้นน่าสนใจ ในขณะที่ผมกลับเห็นเป็นตรงข้าม บทเรียนตอนนี้ ผมจะพยายามหาข้อมูลมาสนับสนุนเรื่องบทนำของมัทธิว เราผู้เชื่อทั้งใหม่และเก่าจะได้รับ “ประโยชน์” ใด จากลำดับพงศ์พันธ์นี้

เวลาอ่าน “คำเทศนาบนภูเขา” หรือคำอุปมาเรื่องใดเรื่องหนึ่งในพระกิตติคุณมัทธิว แน่นอน เรารู้สึกว่าน่าสนใจกว่าเรื่องลำดับพงศ์พันธ์ในมัทธิว 1:1-17 แต่บางครั้งเรื่องที่เราว่าไม่น่าสนใจนี้ กลับกลายเป็นเรื่องที่มีประโยชน์มหาศาลในชีวิตจริง เรารู้อยู่ว่าเรื่องวงศ์ตระกูลเป็นเรื่องสำคัญ สมมุติว่าผมอยากหาซื้อหมาดีๆสักตัว เรื่องแรกที่ต้องคิด คือสายพันธ์ของมัน (เพ็ดดิกรี) ผมต้องอยากรู้ว่าในสายพันธ์ของมัน มีใครเป็นแชมเปี้ยนบ้าง หรือสมมุติว่าผมอ่านเจอในหนังสือพิมพ์ ว่ามีเศรษฐีชื่อนายเดฟฟินบาวว์ (ผู้เขียน) ตายโดยไม่มีทายาทรับมรดก แน่นอน ผมต้องอยากรู้ที่มาที่ไปของนายคนนี้ มีลูกหลานหลายคน ใช้เวลาทุ่มเทสืบเสาะ ค้นหาต้นตระกูลของตน มีเหตุผลหลายประการ ที่ทำไมคนเราถึงอยากรู้รากเหง้าของต้นตระกูลตัวเอง

เรื่องลำดับพงศ์พันธ์เป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับคนยิว กษัตริย์อิสราเอลต้องเป็นยิว ไม่ใช่คนต่างชาติจากที่ไหนก็ได้ (ฉธบ. 17:15) ต่อมามีการเปิดเผยว่า ต้องเป็นยิวที่สืบเชื้อสายมาทางดาวิดเท่านั้น (2 ซามูเอล 7:14) เมื่อชาวยิว อพยพกลับจากการเป็นเชลยที่บาบิโลน เรื่องสำคัญที่ต้องรีบทำคือ แสดงตนว่าเป็นชาวยิวแท้ สามารถสืบประวัติย้อนกลับไปต้นตระกูลได้ คนจะรับตำแหน่งปุโรหิตได้ ต้องมีชื่อบันทึกอยู่ในลำดับพงศ์พันธ์ (เอสรา 2:62) นักเขียน ชื่อบรูเนอร์ เล่าให้ฟังว่า รับไบฮีเลล (Rabbi Hillel) มีความภูมิใจมากที่สามารถสืบเสาะ ย้อนกลับไปไกลถึงต้น ตระกูลของท่าน – กษัตริย์ดาวิด – บรูเนอร์ยังเล่าอีกว่าโจเซฟัส เริ่มเขียนชีวประวัติของตนเองด้วยเรื่องวงศ์ตระกูล ต่อมากษัตริย์เฮโรดผู้ยิ่งใหญ่ เป็นลูกครึ่งยิว-เอโดม แน่นอนชื่อและลำดับพงศ์พันธ์ของท่านคงไม่มีการบันทึกไว้เป็นทางการ แต่ก็ยังมีคำสั่งให้ทำลายบันทึกนั้น เพราะถ้าไม่มีชื่อของท่านปรากฏอยู่ ท่านคงรู้สึกเสียหน้า ไม่อยากให้ใครมารู้ปูมหลังได้ 3

ข้อแตกต่างในการบันทึกลำดับพงศ์พันธ์ของพระเยซู

เรารู้ว่าในหนังสือพระกิตติคุณ ลำดับพงศ์พันธ์ของพระเยซูคริสต์มีบันทึกไว้สองแบบ แบบแรกพบได้ใน มัทธิวบทที่ 1 แบบที่สองอยู่ในพระกิตติคุณลูกา 3:23-38 มัทธิวแบ่งเรื่องลำดับพงศ์พันธ์ออกเป็นสามช่วง เริ่มจากอับราฮัมก่อน แล้วต่อลงมาเรื่อยๆ จนจบลงที่องค์พระเยซูคริสต์ ส่วนลูกาเริ่มที่องค์พระเยซูคริสต์ก่อน แล้วย้อน กลับขึ้นไปจนถึงอาดัม ผู้เป็น “บุตรพระเจ้า”

ข้อแตกต่างโดยรวมอยู่ที่ตรงรูปแบบ แต่มีบางชื่อในลำดับพงศ์พันธ์ของทั้งสองแตกต่างกัน :

ความยากอยู่ที่ตอนแรกของลูกา ซึ่งใช้ชื่อต่างกับของมัทธิว คงไม่เป็นปัญหา ถ้าเรากำลัง ศึกษาเรื่องราวของบุคคลสองคน แต่ว่าลำดับพงศ์พันธ์ทั้งสองเป็นเรื่องของพระเยซูคริสต์ นอกจากนั้น ทั้งสองเล่มใช้ทางสายของโยเซฟ สามีนางมารีย์ ผู้ทำหน้าที่เป็นบิดา-มารดาของพระองค์ที่บนโลก มัทธิวกล่าวว่าโยเซฟเป็นบุตรของยาโคบ ที่สืบเชื้อสายมาจากดาวิด โดยทางบุตรของดาวิด ที่สืบต่อๆมาทางสายของซาโลมอน (มัทธิว 1:16) และลูกากล่าวว่า โยเซฟเป็นบุตรของเฮลี ที่สืบเชื้อสายมาจากดาวิด โดยทางนาธัน ผู้เป็นบุตรของดาวิดเหมือนกัน เป็นพี่น้องกับซาโลมอน (ลูกา 3:23)4

ขณะที่หลายคนสรุปว่าปัญหานี้ยังหาทางออกไม่ได้ อีกหลายต่อหลายคนคิดอีกแบบ เจมส์ มอนท์โกเมอรี่ บอยส์ เขียนถึงความเป็นไปได้ออกมาเป็นโครงร่างที่น่าสนใจ เจย์ เกรเชม มาเคน นำมาถ่ายทอดให้ฟังเมื่อหลายปีที่แล้ว :

มีหลายวิธีที่น่าจะนำมาใช้ประนีประนอมกันขณะที่ยังหาทางออกไม่ได้ แต่ทั้งหมดแล้ว เรามักคิดกันว่า กุญแจไขปัญหาที่แท้จริงของกรณีนี้ … น่าจะอยู่ตรงข้อเท็จจริงที่ว่า มัทธิว มีความตั้งใจดี แต่นำเสนอรายชื่อคนที่สืบทอดตำแหน่งแต่เพียงบางส่วนเท่านั้น (เป็นได้ หรือมีแนวโน้มว่าเป็นไปได้) จากสายราชบัลลังก์ของดาวิด ในขณะที่ลูกาใช้วิธีย้อนถอยกลับไปทางโยเซฟ ไปทางนาธัน และดาวิด ดังนั้นจึงไม่เหมาะที่จะนำข้อขัดแย้งระหว่างพระกิตติคุณทั้งสองเล่มมาใช้ เปรียบเทียบกันเมื่อพูดถึงต้นกำเนิดของพระเยซูคริสต์ พระเป็นเจ้าของเรา 5

ผมค่อนข้างเอนเอียงไปทางบอยส์ ที่เสนอทางออกแบบที่สอง – ลำดับพงศ์พันธ์ตามของมัทธิว มาทางสายครอบครัวของ โยเซฟ ขณะที่ลำดับพงศ์ตามแบบลูกา ออกไปทางบรรพบุรุษทางสายของนางมารีย์

ตามความเห็นของผม มีทางออกที่ดีกว่าถ้ามองในมุมมองของสองสาย คือสายของโยเซฟ และสายของนางมารีย์ ทั้งคู่มีบรรพบุรุษคนเดียวกัน คือกษัตริย์ดาวิด … . จากมุมมองนี้ ความต่างระหว่างทั้งสองสาย ไม่ใช่เป็นเรื่องทายาทตาม “กฎหมาย” หรือตามความสัมพันธ์ “บิดา-บุตร” เช่นที่มาเคนเสนอ แต่ตามการสืบทอดราชบัลลังก์ ของผู้ที่นั่งบนบัลลังก์จริงๆ หรือสืบทอดจากบิดาสู่บุตรหัวปี ถึงแม้บุตรนั้นจะไม่ได้ขึ้น ครองบัลลังก์ก็ตาม6

ผมไม่ได้พยายามเสนอทางออกแบบกำปั้นทุบดิน แต่อยากชี้ให้เห็นว่ายังมีข้อขัดแย้งในลำดับพงศ์ของทั้งคู่ ฟังดูคล้ายกับที่พวกนักวิชาการชอบเสนอทางออกแบบมีเหตุมีผล จุดประสงค์ของผมคือ ต้องการแสดงให้เห็นว่าการลำดับพงศ์ของมัทธิว กระทำอย่างรอบคอบ เพื่อสอนเราถึงความจริงสำคัญบางประการ ความจริงพื้นฐานของข่าวประเสริฐในพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ และสำหรับชีวิตของเรา

บทเรียนจากการลำดับพงศ์ของพระกิตติคุณมัทธิว
มัทธิว 1:1-17

รูปแบบการสอนตอนนี้ขอเป็นแบบตั้งข้อสังเกตและเสนอข้อสรุป ผมขอเริ่มด้วยข้อสังเกตจากลำดับพงศ์ ตามที่บันทึก อยู่ในข้อ 1-17 ก่อน และพยายามหาข้อสรุปจากการตั้งข้อสังเกตนี้

ข้อสังเกตประการแรก : มัทธิวเริ่มด้วย หนังสือลำดับพงศ์ของพระเยซูคริสต์ ผู้เป็นเชื้อสายของดาวิด ผู้สืบตระกูลเนื่องมาจากอับราฮัม (มัทธิว 1:1) คำที่ว่า “หนังสือลำดับพงศ์” ในภาษากรีก แปลตรงตัวว่า “หนังสือต้นกำเนิดของพระเยซูคริสต์” ซึ่งเกือบเหมือนคำแปลภาษากรีกของปฐมกาล 2:4 และ 5:1:7

เรื่องฟ้าสวรรค์และแผ่นดินที่พระเจ้าทรงสร้างมีดังนี้ — ในวันที่พระเจ้าทรงสร้างแผ่นดินและฟ้าสวรรค์ (ปฐมกาล 2:4)
(คำแปลในภาษากรีก: “เรื่องปฐมกาลของฟ้าสวรรค์และแผ่นดิน ….”)

ต่อไปนี้เป็นหนังสือลำดับพงศ์พันธ์ของอาดัม เมื่อพระเจ้าทรงสร้างมนุษย์นั้น พระองค์ทรงสร้างตามพระฉายาของพระเจ้า (ปฐมกาล 5:1).
(คำแปลภาษากรีก: “เรื่องปฐมกาล/เผ่าพันธ์ของมนุษย์/อาดัม … .”)

ข้อสรุป: ผมว่าความคล้ายคลึงกันนี้ “บังเอิญ” เอามาก ซึ่งคล้ายกับคำนำของพระกิตติคุณยอห์นข้อแรก บทที่ 1: “ในปฐมกาล พระวาทะดำรงอยู่… .” แน่นอน ยอห์นโยงตอนต้นหนังสือของเขา (และที่สำคัญที่สุดองค์พระ ผู้เป็นเจ้า )เข้ากับปฐมกาลบทที่ 1 และการทรงสร้าง ในมัทธิวที่เรากำลังศึกษาอยู่ เหมือนจะชี้เราให้ย้อนกลับไปดูต้นกำเนิดพงศ์พันธ์แรกในพระคัมภีร์ อยู่ในปฐมกาลบทที่ 5 ในปฐมกาลบทที่ 5 หลังจากที่อาดัมล้มลงในความบาป พระเจ้าเคยเตือนอาดัมว่า ถ้าวันใดเขา (พวกเขา) กินจากต้นไม้แห่งความสำนึกในความดีและความชั่ว เขา(พวกเขา) จะต้องตาย (ปฐมกาล 2:17) จุดประสงค์หนึ่งในต้นกำเนิดพงศ์พันธ์ คือย้ำหนักแน่น ถึงความจริงของพระวจนะ ทุกคนที่สืบทอดพงศ์พันธ์ของอาดัมตายลงตามที่พระเจ้าตรัสไว้ทุกประการ ทำนองเดียวกับพระ กิตติคุณมัทธิว พระคัมภีร์ใหม่ เริ่มต้นด้วยลำดับพงศ์พันธ์ สิ่งนี้นอกจะย้ำเตือนเราว่า บรรดาชื่อในลำดับพงศ์พันธ์ที่เกริ่นนำนั้น ตายไปหมดแล้ว ; คำพูดของมัทธิวแฝงเป็นนัยให้รู้ว่า พระเยซูคริสต์ทรงเป็นจุดเริ่มของเผ่าพันธ์ใหม่ ที่จะไม่มีวันตาย โดยทั่วไปลำดับพงศ์พันธ์เป็นการบันทึกรายชื่อของคนที่สิ้นชีวิตไปแล้ว พงศ์พันธ์ของพระเยซูคือจุดเริ่มต้นของเชื้อสายใหม่ เป็นเชื้อสายของผู้ที่อยู่ ในพระคริสต์ โดยทางความเชื่อ และได้รับชีวิตนิรันดร์ นับเป็นพงศ์พันธ์ที่น่าตื่นเต้นมหัศจรรย์ ! ใครบ้างเล่า จะไม่อยากมีชื่ออยู่ในผู้สืบเชื้อสายพงศ์พันธ์ของพระเยซูคริสต์ ?

ข้อสังเกตุประการที่สอง: หลายชื่อในลำดับพงศ์นี้เป็นชื่อที่เราคุ้นเคยกันดี เป็นชื่อของมนุษย์ที่มีตัวตนจริงๆ เคยมีชีวิต อยู่บนโลกนี้ แต่ก็เป็นเพียงมนุษย์

ข้อสรุป: พระเยซูทรงเป็นมนุษย์ (และเป็นพระเจ้าด้วย) มนุษย์จริงๆทีมีต้นตอ มีวงศ์ตระกูล ข้อเท็จจริงที่ว่าพระเยซูเป็นมนุษย์นั้นสำคัญยิ่ง เพราะสามารถแยกผู้ที่ยึดเอาความจริงออกจากพวกเทียมเท็จได้ :

ท่านที่รักทั้งหลาย อย่าเชื่อวิญญาณเสียทุกๆวิญญาณ แต่จงพิสูจน์วิญญาณนั้นๆ ว่ามาจากพระเจ้า หรือไม่ เพราะว่ามีผู้พยากรณ์เท็จเป็นอันมากจาริกไปในโลก โดยข้อนี้ท่านทั้งหลายก็จะรู้จัก พระวิญญาณของพระเจ้า : คือวิญญาณทั้งปวงที่ยอมรับว่าพระเยซูคริสต์ได้เสด็จมาเป็นมนุษย์ วิญญาณนั้นก็มาจากพระเจ้า (1 ยอห์น 4:1-2 ผมขอย้ำความจริงนี้ด้วย)

ข้อสังเกตูประการที่สาม: ทุกคนที่อยู่ในรายชื่อพระกิตติคุณของมัทธิวล้วนแล้วแต่เป็นคนบาป บางคนก็บาปแบบไม่ธรรมดา! นี่ เป็นปัญหาหนึ่งของลำดับวงศ์ตระกูล – เพราะบรรพบุรุษของเราบางคนก็แย่เอามากๆ เราๆท่านๆคงมีโครงกระดูกบรรพบุรุษซ่อนอยู่ในตู้เสื้อผ้าบ้างไม่มากก็น้อย ถึงแม้คนดีที่สุดของตระกูล ก็ยังเรียกไม่ได้ว่าสมบูรณ์แบบ เราคงต้องให้เรื่องราวของพวกเขาเป็นบทเรียนสอนใจ ดาวิดและซาโลมอนเป็นมหาบุรุษ แต่ก็เคยทำผิดร้ายแรง ไม่ว่าจงใจหรือไม่ก็ตาม แถมบางคนยังเป็นตัวการขัดขวางแผนการและพระสัญญาของพระเจ้าด้วยซ้ำ อับราฮัมแรกๆก็พยายามชักจูงพระเจ้าให้สนับสนุนบุตรชายคนโต ที่เกิดจากหญิงรับใช้มาเป็นทายาท (ปฐก. 15:1-3) ท่านและนางซาราห์พยายามผลิตทายาทสืบสกุลผ่านทางนางฮาการ์ ทาสสาวชาวอียิปต์ (ปฐก. 16) แม้พระเจ้าจะบอกแล้วก็ตาม (ในตอนนั้น) ว่าทายาทที่พระองค์สัญญาไว้ จะเกิดจากตัวท่านเองและนางซาราห์/ซาราย (ปฐก. 17:19) อับราฮัมยังปกปิดเรื่องภรรยา เที่ยวบอกใครต่อใครว่าเป็นน้องสาว ทำให้เธอเป็นที่หมายปองของชายอื่น ท่านไม่เพียงหลอกฟาโรห์เท่านั้น (ปฐก. 12:10-20) แต่หลอกอาบีเมเลคด้วย (ปฐก. 20) และเมื่อถูกอาบีเมเลคตำหนิ ท่านกลับบอกอาบีเมเลคว่าท่านและซาราห์ทำอย่างนี้ตลอด ไม่ว่าไปที่ไหน (ปฐก. 20:13) อิสอัคบุตรของอับราฮัม ทำอย่างเดียวกับภรรยา นางรีเบคคา (ปฐก. 26:7) ตระกูลนี้มีโครงกระดูกแอบซ่อน ไว้ในตู้ มากมาย!

ข้อสรุป: พระพรที่พระเจ้าประทานให้ประชากรของพระองค์ ไม่เกี่ยวข้องกับการทำความดี มีเพียงคำอธิบายเดียวว่ามาจาก พระเมตตาและพระคุณเท่านั้น พระ พรของพระเจ้าเทลงให้คนบาปทุกคน ไม่ว่าเขาจะทำดีแค่ไหน ขึ้นอยู่กับพระคุณที่ผ่าน มาทางพระเยซูคริสต์เท่านั้น ลำดับพงศ์ขององค์พระเยซูคริสต์ เน้นให้เห็นชัดเจนเรื่องความบาปของมนุษย์ ผมชอบในสิ่งที่ เฟรเดอริค บรูเนอร์สรุปเอาไว้ :

“เราจะเห็นว่ามัทธิวเจาะเรื่องลำดับพงศ์ของพระเยซูในพระคัมภีร์เดิม และนำมาเรียงให้เห็นชัดอย่างต่อเนื่อง จนสามารถเข้าใจได้ แถมยังเป็นการประกาศข่าวประเสริฐในอีกรูปแบบ – คือรูปแบบที่ว่า พระเจ้าทรงเอาชนะและให้อภัยบาปผิดได้ สามารถนำคนบาปที่กลับใจมาทำให้แผนการ และพระประสงค์ อันยิ่งใหญ่ของพระองคในประวัติศาสตร์สำเร็จลง (สำหรับการกลับใจของยูดาห์ ปฐก. 38:26; สำหรับ ดาวิด 2 ซมอ. 12:13)8

ข้อสังเกตุประการที่สี่ : มัทธิวใส่ชื่อสตรีถึงสี่ท่านลงในลำดับพงศ์ของท่าน นับ ว่าเป็นเรื่องพิเศษ โดยเฉพาะสำหรับประเพณียิว เรานึกว่าลูกาน่าจะเป็นคนที่ใส่ชื่อสตรีลงในลำดับพงศ์ เพราะท่านมักให้ความสำคัญกับสตรี แต่กลับกลายเป็นมัทธิวที่ออกจะยิวแท้ ใส่ชื่อสตรีทั้งสี่ท่านนี้ลงไป สตรีทั้งสี่ท่านนี้ไม่ใช่คนสำคัญยิ่งใหญ่ใดในพระคัมภีร์เดิม แถมสามท่านยังเป็นต่างชาติโดยกำเนิด ส่วนอีกคน – นางบัทเชบา เป็นต่างชาติโดยการแต่งงานกับอุรียาห์ ชาวฮิทไทต์ (มัทธิว 1:6; 2 ซมอ. 11:3) สตรีเหล่านี้ไม่ได้ใสบริสุทธิ์เหมือน “หิมะหน้าหนาว” อย่างพวกยิวจ๋าชอบกล่าวหา 9

ข้อสรุป: พระสัญญาเรื่องความรอดของพระเจ้าที่ผ่านทางพระเมสซิยาห์ มีสำหรับคนบาปที่ไม่สมควรได้รับ รวมทั้งคนต่าง ชาติด้วย .

สตรีสี่คนที่โดดเด่นที่สุดในประวัติ ศาสตร์ของยิวคือ – ซาราห์ เรเบคคา ราเชล และเลอาห์ คนแรกเป็น ภรรยาของอับราฮัม ต่อมาอิสอัค และยาโคบตามลำดับ ถึงไม่มีชื่อปรากฎอยู่ แต่ชื่อสามีของสตรีเหล่านี้มีบันทึกอยู่ในลำดับพงศ์ ซึ่งมัทธิวมีโอกาสที่จะเอ่ยชื่อสตรีเหล่านี้ขึ้นมา แต่มัทธิวกลับใส่ชื่อสตรีที่น่าสนใจอีกสี่ท่านแทน และเรื่องราวของสตรีทั้งสี่ก็ประกาศถึงพระคุณ ละพระเมตตาอันหาที่สุดมิได้ขององค์พระผู้เป็นเจ้า

เรื่องอื้อฉาวของสตรีทั้งสี่ประกาศ ถึงพระเมตตาคุณของพระเจ้า ซึ่งเป็นหัวใจของพระกิตติคุณมัทธิว มัทธิวจะค่อยๆสอนเราว่า พระเยซูไม่ได้เสด็จมาในโลกนี้เพื่อคนชอบธรรม แต่เพื่อคนบาป (มัทธิว 9:13); ในลำดับพงศ์ของมัทธิว ท่านสอนว่าพระเยซูไม่ได้มาเพื่อ แต่มาโดยทางคน บาป พระเจ้าไม่ได้เสด็จมาอย่างถ่อมพระองค์ในสภาพยากจนเฉพาะวันคริสต์มาสเท่านั้น ; แต่พระองค์ทรงทำสิ่งเหล่านี้ตั้งแต่ในสมัยพระคัมภีร์เดิม พระเมตตาคุณของพระเจ้า เป็นความจริงลึกซึ้งที่สุดที่มัทธิวค้นพบ ทั้งจากในฉบับพระคัมภีร์ฮีบรูดั้งเดิม และในองค์พระเยซูคริสต์ (9:13; 12:7) และผ่านทางสตรีทั้งสี่ท่านนี้ี่ ท่านทำให้ความจริงเรื่องพระเมตตาคุณเด่นชัดขึ้น ด้วยลำดับพงศ์ของพระเยซูตั้งแต่เริ่มแรกทีเดียว

เรื่องลำดับพงศ์แรกของพระคัมภีร์ใหม่ มีเรื่องสอนใจเราอย่างน่ามหัศจรรย์ เชื้อสายตั้งแต่อับราฮัมจนถึงพระเยซูคริสต์ ผู้สืบเชื้อสายมาทางดาวิด ถูกเลือดต่างชาติปะปนอยู่นับครั้งไม่ถ้วน ตัวกษัตริย์ดาวิดเอง มีย่าทวดของย่าทวดเป็นชาวคานาอัน มีแม่ของย่าทวดเป็นคนเยริโค มีทวดเป็นชาวโมอับ และมีภรรยาเป็นคนฮิทไทต์ มัทธิวต้องการให้คริสตจักรตระหนักตั้งแต่แรกว่า ไม่ใช่แค่คณะที่ปกครองในกรุงเยรูซาเล็ม (กิจการ 15) แต่พระราชกิจของพระเจ้าเป็นสากลโลก พระองค์ไม่ได้ทรงมีความคิดแคบๆ เหมือนพวกหัวรุนแรง หรือพวกชาตินิยมนะครับ10

ข้อสังเกตุประการที่ห้า : มัทธิวมีความรอบคอบในการแสดงให้เห็นว่า เชื้อสายของพระเจ้าเป็นเชื้อสายที่ทำให้พระองค์เป็นทั้ง “บุตรดาวิด” และ “บุตรของอับราฮัม”:

“หนังสือลำดับพงศ์ของพระเยซูคริสต์ ผู้เป็นเชื้อสายของดาวิด ผู้สืบตระกูลเนื่องมาจาก อับราฮัม” (มัทธิว 1:1)

อับราฮัมและดาวิดเป็นสองบุคคลใน พระคัมภีร์เดิมที่พระเจ้าทรงทำพระสัญญานิรันดร์และสำคัญมากด้วย ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเสด็จมาของพระเมสซิยาห์

พระเจ้าตรัสแก่อับรามว่า “เจ้าจงออกจาก เมือง จากญาติพี่น้อง จากบ้านบิดาของเจ้า ไปยังดินแดน ที่เราจะบอกให้เจ้ารู้ เราจะให้เจ้าเป็นชนชาติใหญ่ เราจะอวยพรแก่เจ้า จะให้เจ้ามีชื่อเสียงใหญ่โต เลื่องลือไป แล้วเจ้าจะช่วยให้ผู้อื่นได้รับพร เราจะอำนวยพร แก่คนที่อวยพรเจ้า เราจะสาปคนที่แช่งเจ้า บรรดาเผ่าพันธุ์ทั่วโลกจะได้พรเพราะเจ้า” (ปฐมกาล 12:1-3)

พระเจ้าตรัสแก่เจ้าว่า พระเจ้าจะทรงให้เจ้ามีราชวงศ์ เมื่อวันของเจ้าครบแล้ว และเจ้านอนพักอยู่กับ บรรพบุรุษของเจ้า เราจะให้บุตรชายคนหนึ่งของเจ้าเกิด ขึ้นสืบต่อจากเจ้าผู้ซึ่งเกิดมาจากตัวเจ้าเองและ เราจะสถาปนาอาณาจักรของเขา เขาจะเป็นผู้สร้างนิเวศเพื่อ นามของเราและเราจะสถาปนาบัลลังก์ แห่งราชอาณาจักรของเขาให้อยู่เป็นนิตย์ เราจะเป็นบิดาของเขา และเขาจะเป็นบุตรของเรา ถ้าเขากระทำผิดเราจะตีสอนเขาด้วยไม้เรียวของมนุษย์ ด้วยการเฆี่ยนแห่งบุตรมนุษย์ทั้งหลาย แต่ความรัก มั่นคงของเราจะไม่พรากไปจากเขาเสีย ดังที่เราพรากไปจากซาอูล ซึ่งเราได้ถอดเสียให้พ้นหน้าเจ้า (2ซามูเอล 7:11ข-15)

พระสัญญาแรก พระสัญญาของอับราฮัม พระเจ้าสัญญาว่าอับราฮัมจะมีบุตรชาย และโดยทางเชื้อสายของอับราฮัม พระ เจ้าสัญญาว่าจะทรงทำให้เป็นชนชาติยิ่งใหญ่ และทาง “เชื้อสาย” นี้เอง พระองค์ไม่เพียงแต่อำนวยพระพรให้อับราฮัม เท่านั้น แต่ให้ทั้งมวลมนุษยชาติ “เชื้อสาย” ที่ทรงสัญญานี้ จะเป็นแหล่งแห่งพระพร ที่มีอยู่เต็มเปี่ยมในองค์พระเยซูคริสต์:

ดูก่อนพี่น้องทั้งหลาย ข้าพเจ้าขอยกตัวอย่างสักเรื่องหนึ่ง ถึงแม้เป็นคำสัญญาของมนุษย์ เมื่อได้ รับรองกันแล้ว ไม่มีผู้ใดจะล้มเลิกหรือเพิ่มเติมขึ้นอีกได้ บรรดาพระสัญญา ที่ได้ประทานไว้แก่อับราฮัม และพงศ์พันธุ์ของท่านนั้น มิได้ตรัสว่า และแก่พงศ์พันธุ์ทั้งหลาย เหมือนอย่างกับว่าแก่คนมากคน แต่ เหมือนกับว่าแก่คนผู้เดียวคือ แก่พงศ์พันธุ์ของท่าน ซึ่งเป็นพระคริสต์ (กาลาเทีย 3:15-16)

ในพระสัญญาที่สอง พระสัญญาของดาวิด พระเจ้าสัญญากับดาวิดว่าราชวงศ์ของท่าน จะยั่งยืนเป็นนิตย์ โดยทาง “เชื้อสาย” ของดาวิด การปกครองของพระเมสซิยาห์จะเป็นไปชั่วกาลปวสาน ดังนั้นพระเยซูจึงทรงถูกเรียกว่าเป็น “บุตรดาวิด” (มัทธิว 9:27; 12:23; 15:22; 20:30, 31; 21:9, 15;ดู 22:42-46 ด้วย)

ข้อสรุป: (1) พระเยซูทรงเป็นทั้ง บุตรของอับราฮัม และบุตรดาวิด ทรงเป็นผู้กระทำให้ทั้งพระสัญญาอับราฮัม (ดูกาลาเทีย 3:15-16) และพระสัญญาดาวิด (ดูมัทธิว 22:42-46) สำเร็จเป็นจริง ทรงเป็นทายาทอันชอบธรรมของราชบัลลังก์ ดาวิด ; เป็นกษัตริย์ของอิสราเอล11 (2) เมื่อเราเห็นว่าพระสัญญาอับราฮัม และพระสัญญาดาวิดสำเร็จเป็นจริงในองค์พระเยซูคริสต์ ทำให้เรามั่นใจอีกครั้ง ว่าพระเจ้าทรงสัตย์ซื่อ และรักษาพระสัญญาของพระองค์เสมอ ไม่ว่าพระองค์ตรัสอย่างไร พระองค์จะทำ ที่กางเขนบนเนินหัวกระโหลก พระเจ้าของเราร้องว่า “สำเร็จแล้ว” (ยอห์น 19:30) พระเจ้าทรงทำสิ่งที่ พระองค์เริ่มต้น ให้สำเร็จลงทุกประการ (ฟีลิปปี 1:6)

ข้อสังเกตุประการที่หก:12

1. พระธรรมมาลาคี หนังสือเล่มสุดท้ายของพระคัมภีร์เดิม จบลงด้วยคำพยากรณ์ที่เล็งถึงการเสด็จมาของพระเยซูคริสต์ และยอห์นผู้ให้บัพติสมา ผู้มาเตรียมมรรคาของพระองค์ :

“ดูเถิด เราจะส่งเอลียาห์ผู้เผยพระวจนะ มายังเจ้าก่อนวันแห่งพระเจ้า คือวันที่ใหญ่ยิ่ง และน่าสะพรึงกลัวมาถึง และท่านผู้นั้นจะกระทำให้จิตใจของพ่อหันไปหาลูก และจิตใจของลูกหันไปหาพ่อ หาไม่เราจะมาโจมตีแผ่นดินนั้นด้วยคำสาปแช่ง” (มาลาคี 4:5-6)

2. มัทธิวหนังสือเล่มแรกของพระคัมภีร์ใหม่ เริ่มด้วยการย้อนประวัติศาสตร์กลับไปยังพระคัมภีร์เดิม โดยใช้เรื่องลำดับพงศ์พันธ์

3. ลำดับพงศ์ของหนังสือมัทธิวเริ่มที่อับราฮัม และจบลงที่พระเยซูคริสต์

4. ลำดับพงศ์ของหนังสือมัทธิวครอบคลุมประวัติศาสตร์อิสราเอลทั้งหมด จากอับราฮัมถึงพระเยซูคริสต์

5. หนังสือมัทธิว มากกว่าเล่มอื่นใด ย้ำเรื่องคำพยากรณ์ในพระคัมภีร์เดิมว่าสำเร็จเป็นจริง :

มัทธิวนำพระวจนะจากพระคัมภีร์เดิมมาใช้อ้างอิงไม่ต่ำกว่าสี่สิบครั้ง และใช้คำนำที่เกือบเหมือนสูตรตายตัวว่า ‘ทั้งนี้เกิดขึ้นเพื่อจะให้สำเร็จตามพระวจนะของพระเป็นเจ้า ซึ่งตรัสไว้โดยผู้เผยพระวจนะ…’ มีไม่ต่ำกว่าสิบหกครั้ง 13

ข้อสรุป : ลำดับพงศ์ของมัทธิว กล่าวชัดกว่าสิ่งที่ผู้เขียนพยายามนำเสนอในพระกิตติคุณทั้งเล่ม การมาบังเกิดของพระเยซูคริสต์ พระราชกิจที่ทรงกระทำสำเร็จตามคำพยากรณ์ในพระคัมภีร์เดิมทุกข้อ แม้กระทั่งพระสัญญาของอับราฮัม และพระสัญญาของดาวิด ลำดับพงศ์นี้บอกเราว่าพระเยซูทรงเป็นผู้กระทำให้พระคัมภีร์เดิมทั้งหมด สำเร็จลงอย่างครบถ้วน ไม่ว่าเล่มใดในพระคัมภีร์เดิมที่เราเปิดดู จะพบพระคริสต์อยู่ที่นั่น

ดูก่อนพี่น้องทั้งหลาย ข้าพเจ้าอยากให้ท่านทั้งหลายเข้าใจว่า บรรพบุรุษของเราทั้งสิ้นได้อยู่ใต้เมฆ และได้ผ่านทะเลไปทุกคน ได้รับบัพติศมาในเมฆและในทะเลเข้าสนิทกับโมเสสทุกคน และได้รับประทานอาหารทิพย์ทุกคน และได้ดื่มน้ำทิพย์ทุกคน เพราะว่าเขาได้ดื่มน้ำซึ่งไหลออกมาจากพระศิลา ที่ติดตามเขามา พระศิลานั้นคือพระคริสต์ (1 โครินธ์ 10:1-4 ผมขอย้ำด้วย)

เหตุฉะนั้นอย่าให้ผู้ใดพิพากษาปรักปรำ ท่านในเรื่องการกิน การดื่ม ในเรื่องเทศกาล วันต้นเดือน หรือวันสะบาโต สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงเงาของเหตุการณ์ที่จะมีมาในภายหลัง แต่กายนั้นเป็นของพระคริสต์ (โคโลสี 2:16-17)

นับเป็นการเริ่มต้นพระกิตติคุณที่ น่าทึ่งมาก – ด้วยการนำรายชื่อยาวเหยียดมาเสนอ! แต่สำหรับชาวยิวแล้ว เรื่องนี้ เป็นเรื่องแสนธรรมดา ซึ่งเราจะได้เห็นต่อๆไป การนำพระเยซูชาวนาซาเร็ธมาเป็นท้องเรื่องของทุกสิ่งที่พระเจ้ากระทำให้กับ ประชากรของพระองค์ ตั้งแต่แรกเริ่มโบราณกาล จนกระทั่งพระสัญญาทั้งสิ้นสำเร็จลงในหนังสือพระกิตติคุณ เป็นพระราชกิจสูงสุดของพระเจ้าที่มีต่อมวลมนุษย์มานานหลาย ร้อยปี – ในองค์พระเยซูคริสต์ 14

… ถ้ามองข้ามคำวิจารณ์ต่างๆไป มันแจ่มแจ้งเหมือนเที่ยงวันหรือไม่ว่ามัทธิวเป็นผู้เริ่มต้นของหนังสือพระ กิตติคุณทั้งสี่เล่ม? ท่านเป็นผู้เดียวที่เชื่อมโยงพระคัมภีร์ใหม่เข้ากับพระคัมภีร์เดิม เพื่อแสดงให้เห็นพระราชกิจที่สำเร็จลงอย่างสมบูรณ์ตามที่กล่าวไว้ในพระ คัมภีร์ฮีบรูฉบับเดิมทุกประการ ท่านนำถ้อยคำในพระคัมภีร์เดิมมาใช้อ้างอิงมากกว่าพระกิตติคุณมาระโกและลูกา รวมกัน นอกจากนี้ มัทธิว (เพียงผู้เดียว) เขียนพระกิตติคุณเล่มนี้เพื่อชาวยิว เรียกว่าท่านน่าจะเป็นผู้เริ่มต้น หรือผู้นำของพระกิตติคุณทั้งสี่อย่างแท้จริง รวมทั้งเป็นผู้เชื่อมโยงสิ่งใหม่ให้เข้ากับสิ่งเก่าด้วย – แม้สิ่งใหม่จะเป็นการยกให้ ยิวมาก่อน เราควรว่าตามท่านดีกว่า ถึงจะดูล้าสมัยไปสักนิดก็ตาม!15

เป็นที่รู้กันดีว่า มัทธิวรักที่จะเล่าสิ่งที่พระเยซูทำสำเร็จตามคำพยากรณ์ในพระคัมภีร์เดิมตลอด เวลา ท่านจึงชอบเขียนว่า : “ทั้งนี้เกิดขึ้นเพื่อจะให้สำเร็จตามพระวจนะของพระเป็นเจ้า ซึ่งตรัสไว้โดยผู้ เผยพระวจนะ…” (โดยเฉพาะ ในบทที่ 1 และ 2) ในลำดับพงศ์ของมัทธิว ท่านไม่เพียงแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จตอนหนึ่งตอนใดในพระคัมภีร์เดิม แต่เป็นพระคัมภีร์เดิมในภาพรวมทั้งหมด พระเยซูเป็นผู้ทำให้คำพยากรณ์ และเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นในพระคัมภีร์เดิมสำเร็จครบถ้วนทุกประการ16

ข้อสังเกตุประการที่เจ็ด: ลำดับพงศ์ของมัทธิวมีการจัดเตรียมเป็นอย่างดี เป็นหมวดหมู่และเรียงตามลำดับ :

ดังนั้นตั้งแต่อับราฮัมลงมาจนถึงดาวิดจึง เป็นสิบสี่ชั่วคน และนับตั้งแต่ดาวิดลงมา จนถึงต้องถูกกวาดไปเป็นเชลยที่กรุงบาบิโลน เป็นเวลาสิบสี่ชั่วคน และนับตั้งแต่ถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลยที่กรุงบาบิโลน จนถึงพระคริสต์เป็นสิบสี่ชั่วคน (มัทธิว 1:17)

ลำดับพงศ์ของมัทธิวแบ่งออกเป็นสามช่วง แต่ละช่วงมีสิบสี่ชื่อ17 การจะทำเช่นนี้ได้ ท่านต้องละบางชื่อไป แต่ไม่เป็นปัญหา เพราะในภาษากรีก (คำว่า “เป็นบุตรของ”) หมายถึงเป็นลูกหลานของบรรพบุรุษ ซึ่งอาจเป็นลูก เป็นหลาน เป็นเหลนก็ได้ ที่ผมพยายามชี้ให้เห็นคือ มัทธิวต้องการให้เราเห็นลำดับพงศ์ที่ท่านจัดเรียงไว้เป็นลำดับ

ผมพบว่า ข้อสังเกตของบรูเนอร์ ในเรื่องโครงสร้างลำดับพงศ์นี้น่าสนใจทีเดียว :

“ถ้าจะให้เข้าใจเรื่องสิบสี่ชื่อ – สามช่วงนี้ให้ง่ายที่สุด เราต้องลองเรียงตัวอักษรของแต่ละช่วงใหม่ เช่นสิบสี่ชื่อ แรกจากอับราฮัมจนถึงดาวิดเป็นตัวเอนขวา (/) สิบสี่ชื่อของช่วงที่สอง จากกษัตริย์ซาโลมอนไปจนถูกต้อนไปเป็นเชลยที่บาบิโลน เอนซ้าย (\) และสิบสี่ชื่อสุดท้าย จากเป็นเชลยในบาบิโลนจนถึงพระเยซูคริสต์ เอนขวาใหม่” (/)18

บรูเนอร์แนะว่า ช่วงแรกจากอับราฮัมถึงดาวิด ทุกอย่างดูจะเป็นขาขึ้น คือดีขึ้นและดีขึ้นตามลำดับ ต่อมาบุตรของดาวิด กษัตริย์ซาโลมอน ดูจะพุ่งขึ้นสู่จุดสูงสุด ในหนังสือของบรูเนอร์ (หน้า 5) เชื่อว่าเป็นช่วงที่สำแดงเด่นถึงพระเมตตาคุณของพระเจ้า ที่เห็นเช่นนี้ได้ เพราะมีการนำชื่อสตรีต่างชาติเข้ามาบันทึกอยู่ในลำดับพงศ์

ช่วงที่สอง อาณาจักรที่เคยรุ่งเรืองสุดเริ่มดิ่งลง (หลังจากดาวิดและซาโลมอน) ลงไปจนถึงจุดตกต่ำที่สุด – เมื่ออิสราเอลตกไปเป็นเชลยของบาบิโลน หลังจากซาโลมอนสิ้นชีวิต อาณาจักรแตกออกเป็นสอง บรรดากษัตริย์ที่ปกครองฝ่ายเหนือมีแต่ดำเนินอยู่ในความชั่วและชั่ว ส่วนกษัตริย์ของฝ่ายยูดาห์มีทั้งดีและชั่วผสมกันไป การที่ต้องตกไปเป็นเชลยเป็นเพราะความดื้อดึง และกบฏไม่รู้จักจบสิ้นของยูดาห์ ถ้ามองด้วยสายตามนุษย์ ความหวังของอิสราเอลที่พระเจ้าจะทำตามพระสัญญาที่ให้ไว้ในพระคัมภีร์เดิมดู จะหดลงเหลือแค่หนวดแมว

ช่วงที่สาม เริ่มจะดีขึ้นอีกครั้ง พระเจ้าทรงช่วยกู้ประชากรของพระองค์ออกจากบาบิโลน และนำพวกที่เหลือกลับสู่มาตุภูมิ มีทั้งภัยอันตรายและความผิดหวัง แต่อิสราเอลเริ่มมีความหวัง

ข้อสรุป : พระเจ้าผู้ครอบครอง ทรงควบคุมอยู่เหนือประวัติศาสตร์อิสราเอล เพื่อพระประสงค์และพระสัญญาของพระองค์จะสำเร็จลงอย่างครบถ้วน เมื่อ ผม อ่านพระคัมภีร์เดิม ผมทึ่งเป็นที่สุดที่เห็นมนุษย์ก่อแต่เรื่องไม่รู้จบ ในขณะที่พระสัญญาของ พระเจ้ายังคงดำเนินต่อไป ดีที่สุดของมนุษย์ก็ยังเป็นคนบาป ต่ำกว่ามาตรฐานพระเจ้าชนิดสุดกู่ ดาวิดและซาโลมอน กษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ ชีวิตมีแต่เรื่องวุ่นวาย บาปของทั้งสองสร้างผลกระทบใหญ่หลวงให้กับอิสราเอล ถ้าพระสัญญาของพระเจ้าจะ สำเร็จลงโดยต้องพึ่งคนพวกนี้ เราทั้งหลายคงจะน่าสมเพชเป็นที่สุด

เมื่อผมอ่านพระคัมภีร์ทั้งเล่ม ผมมักนึกถึงพระคำตอนที่ว่า ทูตสวรรค์กำลังเฝ้าดูเหตุการณ์ต่างๆ (1 โครินธ์ 11:10; เอเฟซัส 3:10; 1 เปโตร 1:10-12) พวกทูตสวรรค์คงหายใจไม่ทั่วท้อง เมื่อเห็นอับราฮัมเที่ยวบอกใครๆว่าภรรยาเป็นน้องสาว และส่งนางไปให้ฟาโรห์ (ปฐก. 12:10-20) แล้วไปทำเช่นเดิมอีกกับอาบีเมเลค ทั้งๆที่พระเจ้าสัญญาจะประทานบุตรชายให้โดยนางซาราห์ (ปฐก. 17:15-21; 20:1-18) ยูดาห์เป็นต้นสายของวงศ์วานที่พระเมสซิยาห์จะมาบังเกิด (ปฐก. 49:8-12) แต่ยูดาห์เกือบจะอดมีบุตรเพราะความบาปของท่าน (ปฐก. 38) ครั้งแล้วครั้งเล่าที่พวกทูตสวรรค์ต้องกลั้นหายใจ กลัวว่าพระสัญญาจะไม่มีทางเกิดขึ้นเป็นจริง ถ้ามองด้วยสายตามนุษย์ วุ่นวายสิ้นดี

วิธีการที่มัทธิวเรียบเรียงลำดับพงศ์พันธ์เป็นระเบียบเรียบร้อย เป็นขั้นเป็นตอน และแบ่งเป็นสามช่วง แต่ละช่วงมีสิบสี่ชื่อ สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงการทำงานที่ละเอียดและเป็นระเบียบของท่าน ใช่หรือไม่? ถ้ามองตามมุมมองของมนุษย์ ดูจะมีแต่เรื่องสับสนวุ่นวาย แต่ผลลัพธ์กลับชัดเจนและเป็นเรื่องเดียว นั่นคือพระเจ้าทรงควบคุมอยู่ พระประสงค์และพระสัญญาจะเกิดขึ้นเป็นจริงเสมอ

สำหรับมัทธิว สามช่วงสิบสี่ชื่อนี้ เป็นการจัดเรียงอย่างมีระเบียบ สอดคล้องกันและมีความหมาย เมื่อมัทธิวมองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ ไปที่ประชากรของพระเจ้า ท่านเห็นการสืบทอดต่อมาของสิบสี่ชั่วคน คั่นด้วยแต่ละยุคของประวัติศาสตร์ – ระหว่างอับราฮัม ดาวิด การเป็นเชลย และพระคริสต์ – ท่าน เกิดความประทับใจ ในการครอบครองอยู่ของพระ เจ้า ไม่ว่าจะเบื้องหลัง อยู่ภายใต้ อยู่เหนือ และตลอดความสับสนอลหม่าน ความบาป การกบฏดื้อดึง ตลอดประวัติศาสตร์ที่ขึ้นๆลงๆของอิสราเอล พระเจ้าค่อยๆทำ พระประสงค์ของพระองค์ให้สำเร็จลงแต่ละปีๆ บรรดาผู้คนที่โลดแล่นอยู่ในประวัติศาสตร์ยุคโน้น คงคิดว่าวุ่นวายจริงหนอ แต่เมื่อมองย้อนกลับไปที่พระคัมภีร์เดิม ผ่านมุมมองประวัติศาสตร์ที่พระเยซูคริสต์นำเสนอ เราเห็นพระหัตถ์อันมั่นคงและแน่นอนของพระเจ้า … สามช่วงสิบสี่ชื่อ หมายถึงการครอบครองอยู่โดยพระเจ้าของเรา 19

ข้อสังเกตุประการที่แปด : ลำดับพงศ์ของมัทธิวไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐาน ตามรูปแบบที่เราคิด เช่น เรียงลำดับจากอิสอัคไปยาโคบ และต่อไปที่ยูดาห์ (มัทธิว 1:2) โดยทั่วๆไป การสืบทอดวงศ์ตระกูลมักจะผ่านทางบุตรหัวปี เรารู้ว่าเอซาวเป็นบุตรคนโตของ อิสอัค ไม่ใช่ยาโคบ แต่การลำดับพงศ์กลับผ่านไปทางยาโคบ สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องเล่าธรรมดาๆ แต่เป็นแผนการของพระเจ้าที่สำเร็จลง :

อิสอัคอธิษฐานต่อพระเจ้าเพื่อภรรยาของ ท่าน เพราะนางเป็นหมัน พระเจ้าประทานตามคำอธิษฐานของท่าน เรเบคาห์ภรรยาของท่านก็ตั้งครรภ์ เด็กก็เบียดเสียดกันอยู่ในครรภ์ของนาง นางจึงพูดว่า “ถ้าเป็นเช่นนี้ ฉันจะมีชีวิตอยู่ทำไม” นางจึงไปทูลถามพระเจ้า พระเจ้าตรัสกับนางว่า “ชนสองชาติ อยู่ในครรภ์ของเจ้า และประชาชนสองพวกเกิดจากเจ้าจะต้องแยกกัน พวกหนึ่งจะแข็งแรงกว่าอีกพวกหนึ่ง พี่จะรับใช้น้อง” (ปฐมกาล 25:21-23)

ข้อสรุป : ลำดับพงศ์ของมัทธิวเป็นข้อพิสูจน์ถึงการทรงเลือกของพระเจ้า แม้ว่าโยเซฟเป็นลูกคนโปรดของยาโคบ (และท่านแบ่งส่วนมรดกบุตรหัวปีให้หลานถึงสองเท่าโดยรับเป็นบุตรของตนเอง – ปฐมกาล 48) แต่กลับเป็นทางสายของยูดาห์ ที่พระเมสซิยาห์ทรงมาบังเกิด ยูดาห์ไม่ได้เป็นบุตรหัวปี ; รูเบนเป็น ตามด้วยสิเมโอน รูเบนเสียตำแหน่งเพราะล่วงเกิน เอาภรรยาของบิดามาเป็นของตน (ปฐมกาล 49:3-4) สิเมโอนและเลวี สังหารชาวเมืองเชเคมอย่างโหดเหี้ยม (ปฐมกาล 34) ดังนั้นการสืบทอดพงศ์พันธ์จึงไม่สามารถทำได้โดยทางสิเมโอน (ปฐมกาล 49:5-7) ตามที่ อ.เปาโลชี้ให้เห็นในหนังสือโรมบทที่ 9 ลำดับพงศ์ตามพระสัญญานั้นเป็นการทรงเลือกที่ชัดเจนยิ่งนัก :

แต่มิใช่ว่าพระวจนะของพระเจ้าได้ล้มเหลวไป เพราะว่าเขาทั้งหลายที่เกิดมาจากอิสราเอลนั้น หาได้เป็น คนอิสราเอลแท้ทุกคนไม่ และมิใช่ว่าทุกคนที่เป็นเชื้อสายของอับราฮัมเป็นบุตรแท้ของท่าน แต่ว่า เขา จะ “เรียกเชื้อสายของท่านทางอิสอัค” หมายความว่าคนที่เป็นบุตรของพระเจ้านั้น มิใช่บุตรทางเนื้อ หนัง แต่บุตรตามพระสัญญา จึงจะถือว่าเป็นผู้สืบเชื้อสายได้ เพราะพระสัญญามีว่าดังนี้ :

เราจะมา ตามฤดูกาล และนางซาราห์จะมีบุตรชาย” และมิใช่เท่านั้น แต่ว่า นางเรเบคคาก็ได้มีครรภ์กับชายคนหนึ่งด้วย คืออิสอัคบรรพบุรุษของเรา— แม้ก่อนบุตรนั้นบังเกิดมา และยังไม่ได้กระทำดีหรือชั่ว เพื่อพระดำริของพระเจ้าในการทรงเลือกนั้น จะตั้งมั่นคงอยู่ ไม่ใช่ตามการประพฤติ แต่ตามซึ่งพระองค์ทรง เลือก — พระองค์จึงตรัสแก่นางนั้นว่า “พี่จะปรนนิบัติน้อง” ตามที่มีคำเขียนไว้ในพระคัมภีร์ว่า “ยาโคบนั้นเรารัก แต่เอซาวเราได้ชัง” (โรม 9:6-13)

แม้ยาโคบจะต่อสู้ทั้งกับพระ เจ้าและมนุษย์ (ดูปฐมกาล 32:28) ในที่สุดท่านก็พบว่า พระเจ้าเองเป็นผู้ยกมนุษย์ขึ้นให้เหนือกว่ามนุษย์ผู้อื่น ท่านกล่าวทิ้งท้ายไว้ก่อนตายว่า :

โยเซฟเอาบุตรลงจากเข่าของท่าน แล้วกราบลงถึงดิน โยเซฟจูงบุตรทั้งสองเข้าไปใกล้บิดา มือขวาจับ เอฟราอิมให้อยู่ข้างซ้ายอิสราเอล และมือซ้ายจับมนัสเสห์ให้อยู่ข้างขวาอิสราเอล ฝ่ายอิสราเอลก็เหยียด มือขวาออกวางบนศีรษะเอฟราอิมผู้เป็นน้อง และมือซ้ายวางไว้บนศีรษะมนัสเสห์ เหยียดมือออกไขว้กันเช่นนั้น เพราะมนัสเสห์เป็นบุตรหัวปี แล้วอิสราเอลกล่าวคำอวยพรแก่โยเซฟว่า “ขอพระเจ้าที่อับราฮัมและอิสอัค บิดาข้าพเจ้า ดำเนินอยู่เฉพาะพระพักตร์นั้น ขอพระเจ้าผู้ทรงบำรุงเลี้ยงชีวิตข้าพเจ้า ตั้งแต่เกิดมาจนวันนี้ ขอทูตสวรรค์ที่ได้ช่วยข้าพเจ้าให้พ้นจากความชั่วร้ายทั้งสิ้น โปรดอวยพรแก่เด็กทั้งสองนี้ ให้เขาสืบชื่อ ของข้าพเจ้าและชื่อของอับราฮัม และชื่อของอิสอัคบิดาของข้าพเจ้าไว้ และขอให้เขาเจริญขึ้นเป็นมวลชน บนแผ่นดินเถิด” ฝ่ายโยเซฟเมื่อเห็นบิดาวางมือข้างขวาบนศีรษะของ เอฟราอิมก็ไม่พอใจ จึงจับมือบิดา จะยกจากศีรษะเอฟราอิมวางบนศีรษะมนัสเสห์ โยเซฟเตือนบิดาว่า “ไม่ถูก คุณพ่อ เพราะคนนี้เป็นหัวปี ขอพ่อวางมือขวาบนศีรษะคนนี้เถิด” บิดาก็ไม่ยอม ตอบว่า “พ่อรู้แล้ว ลูกเอ๋ย พ่อรู้แล้ว เขาจะเป็นคนเผ่าหนึ่งด้วย และเขาจะใหญ่โตด้วย อย่างไรก็ดีน้องชายจะใหญ่โตกว่าพี่ และพงศ์พันธุ์ของน้องนั้น จะเป็นคนหลายประชาชาติด้วยกัน” วันนั้นอิสราเอลก็ให้พรแก่ทั้งสองคนว่า “พวกอิสราเอลจะใช้ชื่อเจ้าให้พรว่า ‘ขอพระเจ้าทรงโปรดให้ท่านเป็นเหมือนเอฟราอิม และเหมือนมนัสเสห์ เถิด’” อิสราเอลจึงให้เอฟราอิมเป็นใหญ่กว่ามนัสเสห์ (ปฐมกาล 48:12-20)

โยเซฟรู้สึกหนักใจที่บิดาสับสน ไม่รู้ว่าหลานคนใดคือบุตรหัวปี สมควรได้รับมรดกตามสิทธิ ท่านพยายามนำมือบิดาไปวางไว้ที่บุตรหัวปี เพื่อจะได้รับพร แต่ยาโคบไม่สนใจทำตาม ท่านรู้ดีว่ากำลังทำสิ่งใด และในขณะที่ท่านสลับมือกลับ ผมเชื่อว่าการกระทำเช่นนี้เป็นพยานอย่างดีถึงการทรงเลือกของพระเจ้าผู้ควบ คุม ทุกสิ่งล้วนแล้วมาจากพระองค์ เพราะพระองค์เป็นผู้ครอบครอง ลำดับพงศ์ของมัทธิวจึงเป็นพยานถึงการทรงเลือกของพระเจ้า

ต้นกำเนิดของพระเมสซิยาห์
มัทธิว 1:18-25

ลำดับพงศ์ตามข้อ 1-17 แสดงให้เห็นถึงความเป็นมนุษย์ของพระเยซูคริสต์ มัทธิวแสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงเป็นลูกหลานของอับราฮัมและดาวิด และเป็นไปตามพระสัญญาที่ทรงกระทำไว้กับทั้งสอง เมื่อได้พิสูจน์ถึงความเป็นมนุษย์ของพระเยซูแล้ว (เป็นมนุษย์เที่ยงแท้แน่นอน) ท่านต้องเปิดเผยให้รู้ถึงต้นกำเนิดแท้จริงของพระเมสซิยาห์ พระเมสซิยาห์ไม่ได้เป็นเพียงมนุษย์เท่านั้น ; พระองค์ทรงเป็นพระเจ้าด้วย – พระเจ้า ผู้สถิตกับเรา ข้อ 18-25 พูดถึงขั้นตอนที่นางมารีย์ตั้งครรภ์ มิใช่โดยโยเซฟ แต่โดยเดชพระวิญญาณบริสุทธิ์ :

เรื่องพระกำเนิดของพระเยซูคริสต์เป็นดัง นี้ คือมารีย์ผู้เป็นมารดาของพระเยซูนั้น เดิมโยเซฟ ได้สู่ขอหมั้นกันไว้แล้ว ก่อนที่จะได้อยู่กินด้วยกันก็ปรากฏว่า มารีย์มีครรภ์แล้วด้วยเดชพระวิญญาณบริสุทธิ์ แต่โยเซฟคู่หมั้นของเขาเป็นคนมีธัมมะ ไม่พอใจที่จะแพร่งพรายความเป็นไปของเธอ หมายจะถอนหมั้นเสียลับๆ แต่เมื่อโยเซฟยังคิดในเรื่องนี้อยู่ ก็มีทูตองค์หนึ่งของพระเป็นเจ้า มาปรากฏแก่โยเซฟในความฝันว่า “โยเซฟบุตรดาวิด อย่ากลัวที่จะรับมารีย์มาเป็นภรรยาของเจ้าเลย เพราะว่าผู้ซึ่งปฏิสนธิในครรภ์ของเธอเป็นโดยเดชพระวิญญาณบริสุทธิ์ เธอจะประสูติบุตรชาย แล้วเจ้าจงเรียกนามท่านว่า เยซู เพราะว่าท่านเป็นผู้ที่จะโปรดช่วยชนชาติของท่านให้รอดจากความผิดบาปของเขา” ทั้งนี้เกิดขึ้นเพื่อจะให้สำเร็จตามพระวจนะของพระเป็นเจ้า ซึ่งตรัสไว้โดยผู้เผยพระวจนะว่า ดูเถิด หญิงพรหมจารีคนหนึ่งจะตั้งครรภ์และคลอดบุตรชายคนหนึ่ง และเขาจะเรียกนามของท่านว่าอิมมานูเอล (แปล ว่าพระเจ้าทรงอยู่กับเรา) ครั้นโยเซฟตื่นขึ้นก็กระทำตามคำซึ่งทูตของพระเจ้าสั่งนั้น คือได้รับมารีย์มาเป็นภรรยา แต่มิได้สมสู่กับเธอจนประสูติบุตรชายแล้ว และโยเซฟเรียกนามของบุตรนั้นว่าเยซู

เราไม่มีเวลาพอจะอรรถาธิบายพระคำสุดแสนมหัศจรรย์ตอนนี้ แต่ผมขอให้ข้อสังเกตบางประการ

ข้อแรก มัทธิวมุ่งความสนใจของผู้อ่านไปที่โยเซฟ ขณะที่ลูกาให้ความสำคัญที่นางมารีย์ แต่ ที่สุดแล้วน้ำหนักไปลงที่การถือกำเนิดขององค์พระเยซูคริสต์เท่าเทียมกัน แต่ทำไมมัทธิวถึงให้เราเห็นว่าเรื่องของโยเซฟนั้นสำคัญ? เหตุผลหนึ่งคือ โดยทางโยเซฟนี้เอง ที่เป็นผู้ต่อลำดับพงศ์จากดาวิดมายังพระเยซู โยเซฟไม่ได้เป็นบิดาทางกายของพระเยซู เป็นเพียงบิดาทางกฎหมายเท่านั้น ดังนั้นพระเยซูจึงได้เป็น “บุตรดาวิด” โดยทางท่าน

มัทธิวเพียงต้องการให้เราเห็นข้อเท็จจริงว่าโยเซฟนั้นเป็นผู้ “มีธัมมะ” (1:19) แน่นอนท่านเป็นเช่นนั้น ผมกลัวว่าพวกเราจะมองไม่เห็นถึงบทบาทสำคัญที่โยเซฟมีต่อพระเยซูในวัยเยาว์ เราไม่ควรมองข้ามเรื่องนี้ ดูเหมือนเป็นที่เข้าใจว่านางมารีย์อายุยังน้อยเมื่อมีพระเยซู – อาจในวัยรุ่น และโยเซฟนั้นอายุมากกว่า (เข้าใจกันว่าท่านเสียชีวิตก่อนพระเยซูเสด็จออกทำพันธกิจ) ผมเชื่อว่าโยเซฟมีธัมมะในใจพอ ท่านเสนอขอถอนหมั้นนางมารีย์อย่างลับๆ แทนที่จะเอาเรื่องเอาราวกับเธอทางข้อกฎหมาย เมื่อเดือนที่แล้วท่านนายกเทศมนตรีอิลลินอยส์ จอร์จ ไรอัน ยกโทษให้นักโทษประหารถึงสี่คน และบางคนลดโทษให้เหลือแค่จำคุกตลอดชีวิต ที่ทำเช่นนั้นเพราะเมื่อมีการสอบสวนกันอย่างรอบคอบ พบว่านักโทษบางคนบริสุทธิ์ และคนที่ทำผิดจริงถูกนำตัวมาลงโทษ ไรอันกล่าวเมื่อถูกวิจารณ์ว่า “ท่านทำในสิ่งที่กล้าหาญมาก” แต่ท่านกลับพูดว่ามันเป็นเพียง “ทำในสิ่งที่ถูกต้อง”

โยเซฟคงรู้จักนางมารีย์เป็นอย่าง ดี ; รู้พื้นเพว่าเธอเป็นคนอย่างไร ดำเนินชีวิตอย่างบริสุทธิ์และซื่อตรง เธอคงบอกโยเซฟว่า เธอไม่เคยมีสัมพันธ์กับชายใด และแน่ๆเล่าเรื่องทูตสวรรค์ที่มาพบและการตอบสนองของเอลีซาเบธ เรื่องที่มารีย์เล่าฟังดูเหลือเชื่อ จนทำให้โยเซฟคิดสงสัย …….ในความมีธัมมะของท่าน ท่านไม่ยอมให้เรื่องนี้รู้ถึงมือกฎหมาย เพราะเป็น เรื่องคอขาดบาดตาย ท่านยอมให้นางมารีย์ดำเนินชีวิตต่อไปอย่างเงียบๆ คอยเวลาที่ความจริงเปิดเผย เพื่อยืนยันตามคำบอกเล่าของนาง ผมคาดเดาไปเองหรือเปล่า? น่าจะใช่ แต่อยากจะบอกว่า มัทธิวบอกเราตั้งแต่ต้นว่าโยเซฟเป็นคนมีธัมมะ เพราะเหตุนี้ผมจึงคิดว่าสิ่งที่โยเซฟทำเพื่อนางมารีย์นั้น เป็นเพราะความมีธัมมะของท่าน

ต้องเป็นคนมีธัมมะในใจ และมีความเชื่อมากพอ จึงจะเชื่อคำพูดของทูตสวรรค์ในความฝันได้ว่านางมารีย์ตั้งครรภ์โดยเดชของ พระวิญญาณบริสุทธิ์ ต้องเป็นคนมีธัมมะพอที่จะรับหญิงตั้งครรภ์นี้มาเป็นภรรยา โดยที่ทุกคนคิดว่าท่านเป็นบิดาของเด็ก แลดูเหมือนทั้งคู่ทำบาปก่อนแต่งงาน ต้องเป็นคนที่สงบและมีความมั่นคงในจิตใจ พอที่จะจัดการกับสถานการณ์อันเจ็บปวดนี้ ได้ และพร้อมรับเรื่องอื่นๆที่จะตามมา เมื่อพระเยซูถือกำเนิด (ไม่ว่าการเดินทางไปเบธเลเฮม ไม่มีที่พักอาศัย) โยเซฟยอม เสี่ยงภัย ทิ้งประเทศอิสราเอล นำครอบครัวไปหลบภัยในประเทศอียิปต์ ท่านใช้สติปัญญา และเชื่อฟังการทรงนำของพระเจ้า ผ่านทางนิมิตที่มีมาหลายครั้ง พระเจ้าทรงมีพระคุณอย่างเหลือล้นที่จัดเตรียมคนเช่นนี้ให้กับนางมารีย์ เพื่อให้นางมั่นใจและสบายใจ เพื่อให้นางมีที่ปรึกษา มีผู้คอยคุ้มครองดูแลนางและบุตรที่กำลังเกิดมา!

ประการที่สอง มัทธิวมีความรอบคอบเป็นอย่างยิ่ง ที่ประกาศถึงการกำเนิดอันบริสุทธิ์ของพระเยซู ใน ข้อ 1-17 มัทธิวแสดง ให้เห็นต้นกำเนิดเชื้อสายของพระเยซู ซึ่งผ่านมาทางอับราฮัมและดาวิด ตอนนี้มัทธิวกำลังแสดงให้เห็นชัดว่าพระเยซูไม่ได้เป็น เพียงมนุษย์ธรรมดาเท่านั้น พระองค์ทรงเป็นพระเจ้าด้วย ความเป็นพระเจ้าของพระองค์ทำให้คำพยากรณ์ของอิสยาห์เกิดขึ้น เป็นจริง (อิสยาห์ 7:14, นำมาอ้างในมัทธิว 1:23) ทูตสวรรค์เองก็ประกาศถึงความเป็นพระเจ้าของพระองค์ ที่นางมารีย์ตั้งครรภ์ ทูตสวรรค์ประกาศว่าไม่ใช่เป็นเพราะมนุษย์คนใด แต่เป็นโดยพระวิญญาณบริสุทธิ์ (ข้อ 20-21) การประกาศว่าโยเซฟ มิใช่เป็นบิดาที่แท้จริงของพระเยซูนั้น กระทำด้วยความนุ่มนวลแต่ชัดเจน

ประการที่สาม ในพระคำตอนนี้ มัทธิวอธิบายถึงพระลักษณะและพระราชกิจขององค์พระผู้เป็นเจ้าด้วยชื่อสองชื่อ ในลำดับ พงศ์ข้อ 1-17 มัทธิวโยงพระเยซูเข้ากับบุคคลสำคัญสองท่านในพระคัมภีร์เดิม : อับราฮัมและดาวิด พระเยซูทรงเป็น “บุตร ดาวิด” และทรงเป็น “บุตรของอับราฮัม” ด้วย ดังนั้นพันธสัญญาของทั้งอับราฮัมและของดาวิด จึงสำเร็จลงอย่างสมบูรณ์ ต่อมาในข้อ 18-25 มัทธิวอธิบายถึงพระบุคคลของพระเยซูคริสต์และพระราชกิจของพระองค์ โดยชื่อสองชื่อของพระองค์ : (1) เยซู (โยชูวา = ยาเวห์ทรงกู้); และ (2) อิมมานูเอล (“พระเจ้าอยู่ด้วยกับเรา“)

ชื่อนี้มีความหมายมากเพียงใด? มากครับ! สำหรับชาวยิวแล้วชื่อแต่ละชื่อมีความหมายและสำคัญจนเรานึกไม่ถึง “อับราม” แปลว่า “บิดาผู้สูงส่ง” ส่วน “อับราฮัม” แปลว่า “บิดาของผู้คนมากมาย” พระเยซูทรงตั้งชื่อซีโมนว่า “เปโตร” หรือ “เปตรอส” แปลว่าศิลา ชื่อของพระเยซูบ่งถึงพระลักษณะและพระราชกิจของพระองค์ คำว่าเยซูมาจากภาษาฮีบรู โยชูวา แปลว่า “พระเยโฮวาห์เป็นความรอด” ตามที่ทูตสวรรค์แจ้งแก่โยเซฟ ว่าเด็กที่จะเกิดแก่นางมารีย์นั้น จะมีนามว่า “เยซู” “เพราะว่าท่านเป็นผู้ที่จะโปรดช่วยชนชาติของท่านให้รอดจากความผิดบาปของเขา” (มัทธิว 1:21) พระเยซูทรงเป็นหนทาง ความรอดของพระเจ้า เป็นผู้ที่พระเจ้าจะทำให้แผนการความรอดเพื่อคนบาปทั้งหลายสำเร็จลง พระองค์ทรงเป็นผู้เดียว ที่มีคุณสมบัติพอสำหรับพระราชกิจนี้ เพราะพระองค์ทรงเป็นทั้งพระเจ้าและมนุษย์ ทรงปราศจากบาป จึงทรงเป็น “ลูกแกะ ของพระเจ้า” ที่สมบูรณ์ ไร้ตำหนิ การสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน ไม่ใช่เป็นเพราะบาปของพระองค์ แต่เป็นบาปของเรา ทุกครั้งที่เราฉลองพิธีมหาสนิท เรากำลังนมัสการพระเยซูผู้เป็นพระผู้ช่วยให้รอด เป็นผู้ช่วยกอบกู้เราให้พ้นจากโทษความผิดบาป

พระเยซูทรงถูกเรียกอีกด้วยว่าเป็น องค์ “อิมมานูเอล” ตามคำพยากรณ์ของอิสยาห์ 7:14 เราไม่มีเวลาพอที่จะเจาะเรื่องนี้ เป็นไปได้ว่าอิสยาห์เองยังไม่เข้าใจในสิ่งที่ท่านพยากรณ์ ว่าหมายถึงพระเมสซิยาห์ที่จะเสด็จมาในอนาคต (ดู 1เปโตร 1:10-12) ตามข้อพระคำในพระคัมภีร์เดิมที่มัทธิวยกมา ยังเห็นไม่ชัดเจน เหมือนยังมีม่านบัง ถึงพระราชกิจของพระเมสซิยาห์ ซึ่งกินความหมายลึกซึ้งกว้างไกลกว่าจะบรรยายเป็นคำพูดได้ ส่วนมากสิ่งที่เป็นเหมือนม่านบัง จะไม่มีใครมองทะลุได้หมด จนพระราชกิจของพระคริสต์สำเร็จลง โดยเดชพระวิญญาณบริสุทธิ์ “อิมมานูเอล” แปลว่า “พระเจ้าอยู่ด้วยกับเรา” ในการลง มาบังเกิด พระเจ้าเสด็จเข้ามาในโลกนี้ มารับสภาพเนื้อหนัง อยู่ท่ามกลางมนุษย์ ท่านยอห์นพูดถึงเรื่องนี้ไว้อย่างสวยงามว่า :

พระวาทะได้ทรงบังเกิดเป็นมนุษย์และทรง อยู่ท่ามกลางเรา บริบูรณ์ด้วยพระคุณและความจริง เราทั้งหลายได้เห็นพระสิริของพระองค์ คือพระสิริอันสมกับพระบุตรองค์เดียวของพระบิดา ยอห์น ได้เป็นพยานให้แก่พระองค์ และร้องประกาศว่า “นี่แหละคือพระองค์ผู้ที่ข้าพเจ้าได้กล่าวถึงว่าพระองค์ผู้ เสด็จมาภายหลังข้าพเจ้าทรงเป็นใหญ่กว่าข้าพเจ้า เพราะว่าพระองค์ทรงดำรงอยู่ก่อนข้าพเจ้า” และ เราทั้งหลายได้รับจากความบริบูรณ์ของพระองค์ เป็นพระคุณซ้อนพระคุณ เพราะว่าพระเจ้าได้ทรง ประทานธรรมบัญญัตินั้นทางโมเสส ส่วนพระคุณและความจริงมาทางพระเยซูคริสต์ ไม่มีใครเคยเห็น พระเจ้าเลย พระบุตรองค์เดียวผู้ทรงสถิตอยู่ในพระทรวงของพระบิดา พระองค์ได้ทรงสำแดงพระเจ้าแล้ว (ยอห์น 1:14-18)

การสถิตอยู่ของพระเจ้าท่ามกลางเรา ไม่ใช่แป็นเวลาแค่สามสี่ปีที่พระเยซูทำพันธกิจบนที่โลก ถ้อยคำสุดท้ายของพระกิตติคุณ มัทธิว ทำให้ผู้อ่านมั่นใจว่าพระองค์จะสถิตกับเรา จนถึงสิ้นยุค :

พระเยซูจึงเสด็จเข้ามาใกล้แล้วตรัสกับเขา ว่า “ฤทธานุภาพทั้งสิ้นในสวรรค์ก็ดี ในแผ่นดินโลกก็ดี ทรงมอบไว้แก่เราแล้ว เหตุฉะนั้นเจ้าทั้งหลายจงออกไปสั่งสอนชนทุกชาติ ให้เป็นสาวกของเรา ให้รับบัพติศมาในพระนามแห่งพระบิดา พระบุตรและพระวิญญาณบริสุทธิ์ สอนเขาให้ถือรักษาสิ่งสารพัดซึ่งเราได้สั่งพวกเจ้าไว้ นี่แหละเราจะอยู่กับเจ้าทั้งหลายเสมอไป จนกว่าจะสิ้นยุค” (มัทธิว 28:18-20)

ด้วยเหตุที่พระองค์ทรงยัง “อยู่กับเรา” พระองค์ทรงส่งพระวิญญาณของพระองค์ มาอยู่ท่ามกลางเรา และภายในเรา :

เราจะทูลขอพระบิดา และพระองค์จะประทานผู้ช่วยอีกผู้หนึ่งให้แก่ท่าน เพื่อจะได้อยู่กับท่านตลอดไป คือพระวิญญาณแห่งความจริง ซึ่งโลกรับไว้ไม่ได้ เพราะแลไม่เห็นและไม่รู้จักพระองค์ ท่านทั้งหลาย รู้จักพระองค์ เพราะพระองค์ทรงสถิตอยู่กับท่าน และจะประทับอยู่ในท่าน (ยอห์น 14:16-17)

สำหรับพวกเรา บ่อยครั้งหลงลืมความสำคัญของ “อิมมานูเอล” ไป เมื่อไม่นานมานี้ผมกลับไปอ่านพระคัมภีร์เดิมห้าเล่มแรกอีกครั้ง ทึ่งครับ กับสิ่งที่ธรรมิกชนในยุคพระคัมภีร์ใหม่ได้รับ การมีประสบการณ์ความชื่นชมยินดี ความรู้สึกปลอดภัย ใน “การสถิตอยู่กับเรา” ของ พระองค์ ชนิดที่ธรรมิกชนในพระคัมภีร์เดิมไม่มีโอกาสได้รับ ลองคิดถึงความต่างของธรรมิกชนใน ยุคพระคัมภีร์เดิม เช่นเรื่อง “ระยะทาง” และความเป็นอยู่ของคนในยุคนั้น:

พระเจ้าเสด็จลงมาบนยอดภูเขาซีนาย พระเจ้าทรงเรียกโมเสสให้ขึ้นไปบนยอดเขา โมเสสก็ขึ้นไป พระเจ้าตรัสสั่งโมเสสว่า “เจ้าจงลงไปกำชับประชาชน เกรงว่าเขาจะล่วงล้ำเข้ามาถึงพระเจ้า เพราะอยาก เห็น แล้วเขาจะพินาศเสียเป็นจำนวนมาก อีกประการหนึ่ง พวกปุโรหิต ที่เข้ามาเฝ้าพระเจ้า นั้นให้เขาชำระตัวให้บริสุทธิ์ ด้วยเกรงว่าพระเจ้าจะทรงพระพิโรธลงโทษเขา” ฝ่ายโมเสสกราบทูล พระเจ้าว่า”ประชาชนขึ้นมาบนภูเขาซีนายไม่ได้ เพราะพระองค์ทรงสั่งข้าพระองค์ทั้งหลายว่า ‘จงกั้น เขตรอบภูเขานั้น ชำระให้เป็นที่บริสุทธิ์’” พระเจ้าจึงตรัสกับโมเสสว่า “ลงไปเถิด แล้วกลับขึ้นมาอีก พาอาโรนขึ้นมาด้วย แต่อย่าให้พวกปุโรหิตและประชาชนล่วงล้ำขึ้นมาถึงพระเจ้า เกรงว่าพระองค์จะลงโทษเขา” โมเสสก็ลงไปบอกประชาชนตามนั้น (อพยพ 19:20-25)

ในอพยพ 32 ชาวอิสราเอลทำบาปใหญ่หลวงเมื่อโมเสสไม่อยู่ พวกเขายุให้อาโรนทำวัวทองคำ และเริ่มนมัสการมัน พระเจ้า ประสงค์จะกำจัดคนอิสราเอลให้หมดสิ้น และสร้างพงศ์พันธ์ขึ้นมาใหม่โดยทางโมเสส เมื่อโมเสสเข้ามาช่วยกู้สถานการณ์ พระเจ้าทรงยอมให้ โดยส่งทูตสวรรค์มานำคนอิสราเอลไปยังดินแดนพันธสัญญา แต่พระองค์ตรัสว่าจะไม่ไปด้วยเพราะ เหตุว่า:

เราจะใช้ทูตผู้หนึ่งนำหน้าเจ้าไปและจะไล่ คนคานาอัน คนอาโมไรต์ คนฮิตไทต์ คนเปริสซี คนฮีไวต์ คนเยบุส ออกเสียจากที่นั่น จงนำไปถึงแผ่นดินซึ่งมีน้ำนมและน้ำผึ้งไหลบริบูรณ์ แต่เราจะไม่ขึ้นไปกับพวกเจ้า เกรงว่าเราจะทำลายล้างพวกเจ้าเสียกลางทาง เพราะว่าเจ้าเป็นชนชาติที่หัวแข็ง” (อพยพ 33:2-3)

แต่แล้วพระเจ้าก็ยอมไปด้วย พระองค์ทรงสถิตอยู่ท่ามกลางประชากรของพระองค์ ในอภิสุทธิสถานในพลับพลา ถึงกระนั้น ก็ยังมีสิ่งที่ขวางกั้นระหว่างมนุษย์และพระเจ้า ม่านในพลับพลา ที่ปุโรหิตใช้กั้น แยกประชากรอิสราเอล ออกจากพระเจ้า :

ให้คนอิสราเอลตั้งเต็นท์ตามที่ของตนแต่ละ พวก และแต่ละคนตามค่ายของตน และแต่ละคนตามธงเผ่าของตน แต่ให้คนเลวีตั้งเต็นท์รอบพลับพลาพระโอวาท เพื่อมิให้พระพิโรธเกิดเหนือชุมนุมชนอิสราเอล ให้เผ่าเลวีปฏิบัติ งานพลับพลาพระโอวาท” (กันดารวิถี 1:52-53)

มนุษย์ไม่อาจเข้าเฝ้าพระเจ้าได้ โดยไม่มีเครื่องถวายบูชา ถึงกระนั้นก็ยังมีขอบเขตในการเข้าเฝ้า ช่างแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับเมื่อพระเยซูถือกำเนิดขึ้นมาในโลกนี้ :

ซึ่งมีตั้งแต่ปฐมกาล ซึ่งเราได้ยิน ซึ่งเราได้เห็นกับตา ซึ่งเราได้พินิจดู และจับต้องด้วยมือของเรานั้น เกี่ยวกับพระวาทะแห่งชีวิต (และชีวิตนั้นได้ปรากฏ และเราได้เห็น และเป็นพยาน และประกาศชีวิต นิรันดร์นั้นแก่ท่านทั้งหลาย ชีวิตนั้นได้ดำรงอยู่กับพระบิดาและได้ปรากฏแก่เราทั้งหลาย) (1ยอห์น 1:1-2)

เรามาโบสถ์ด้วยความแน่ใจว่าพระเจ้าสถิตอยู่ เราไม่ต้องนำเครื่องเผาบูชามาถวาย เราไม่ถูกกำจัดขอบเขตการเข้าเฝ้า และขณะที่พระเจ้าอยู่กับเราในโบสถ์ พระองค์สถิตอยู่ในเราเสมอโดยพระวิญญาณบริสุทธิ์ และจะอยู่ต่อไปจนสิ้นยุค ผู้ที่ช่วยกู้เรา คือผู้ที่อยู่ติดสนิทกับเรา และพระองค์สัญญาว่าจะไม่ทอดทิ้งเราเลย :

ท่านจงอย่าเป็นคนเห็นแก่เงิน จงพอใจในสิ่งที่ท่านมีอยู่ เพราะว่าพระองค์ได้ตรัสว่า เราจะไม่ละท่าน หรือทอดทิ้งท่านเลย เหตุฉะนั้นเราทั้งหลายอาจกล่าวด้วยใจเชื่อมั่นว่า องค์พระผู้เป็นเจ้า ทรงเป็นพระ ผู้ช่วยของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะไม่กลัว มนุษย์จะทำอะไรแก่ข้าพเจ้าได้เล่า? (ฮีบรู 13:5-6)

เราไม่เห็นจะต้องกลัวเมื่ออยู่ ใกล้องค์พระผู้เป็นเจ้าของเราอย่างที่ธรรมิกชนในพระคัมภีร์เดิมเคยเป็น ในพระคริสต์เรามีหน ทางเข้าเฝ้าพระเจ้า และเราสามารถเข้าไปด้วยใจกล้าหาญ :

เหตุฉะนั้นพี่น้องทั้งหลาย เมื่อเรามีใจกล้าที่จะเข้าไปสู่สถานศักดิ์สิทธิ์โดยพระโลหิตของพระเยซู ตามทางใหม่และเป็นทางที่มีชีวิต ซึ่งพระองค์ได้ทรงเปิดออกให้เราผ่านเข้าไปทางม่านนั้น คือทาง พระกายของพระองค์ และเมื่อเรามีปุโรหิตใหญ่เหนือหมู่คนของพระเจ้าแล้ว ก็ให้เราเข้าไปใกล้ ด้วยความบริสุทธิ์ใจ ด้วยไว้ใจเต็มที่ มีใจที่ได้รับการทรงชำระให้สะอาดแล้ว และมีกายที่ล้างชำระด้วยน้ำ บริสุทธิ์ ขอให้เรายึดมั่นในความหวังที่เราทั้งหลายเชื่อและรับไว้นั้น โดยไม่หวั่นไหว เพราะว่าพระองค์ผู้ทรงประทานพระสัญญานั้นทรงสัตย์ซื่อ และขอให้เราพิจารณาดูว่า จะทำอย่างไร จึงจะ ปลุกใจซึ่งกันและกันให้มีความรักและทำความดี อย่าขาดการประชุมเหมือนอย่างบางคนที่ขาดอยู่นั้น แต่จงพูดหนุนใจกันให้มากยิ่งขึ้น เพราะท่านทั้งหลายก็รู้อยู่ว่าวันนั้นใกล้เข้ามาแล้ว (ฮีบรู 10:19-25)

คิดดูดีๆ ผู้ที่ช่วยมนุษย์ให้พ้นจากความผิดบาป สัญญาว่าจะอยู่ท่ามกลางเรา และอยู่กับเรา เป็นได้อย่างไรกัน? เราจะสัมผัสถึงการช่วยกู้ และการทรงอยู่กับเราได้อย่างไร? โดยทางพระเยซูคริสต์เท่านั้น เราต้องสารภาพบาปผิดของเรา และวางใจในองค์พระเยซู ว่าพระองค์ทรงโปรดยกโทษให้ เราต้องรับพระองค์เป็นพระผู้ช่วยให้รอด และเมื่อนั้นพระองค์จะทรงช่วยเรา และสถิตอยู่กับเรา คุณรับพระองค์เป็นพระผู้ช่วยแล้วหรือยัง? พระองค์สถิตอยู่กับคุณและภายในคุณหรือยัง? นี่เป็นพระ ราชกิจที่พระองค์เสด็จมากระทำบนโลกนี้ ผมภาวนาขอให้คุณมีโอกาสรู้จักพระองค์ ได้ต้อนรับพระองค์เป็นพระผู้ช่วยให้รอด และเป็นผู้อยู่เคียงข้างคุณตลอดไป

โดย : Robert L (Bob) Deffinbaugh

ได้รับอนุญาตและเป็นลิขสิทธิของ https://bible.org/

แปล : อรอวล ระงับภัย (Church of Joy)


1 เป็นลิขสิทธิ์ของ (Copyright © 2003) Community Bible Chapel, 418 E. Main Street, Richardson, TX 75081. บทเรียนพระธรรมมัทธิวบทนี้ (Studies in the Gospel of Matthew ) จัด เตรียมโดย Robert L. Deffinbaugh เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2003 สามารถนำไปใช้เพื่อการศึกษาเท่านั้น ทางคริสตจักรของเราเชื่อว่าบทเรียนเหล่านี้ ถูกต้องตรงตามพระ วจนะคำทุกประการ เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการศึกษาเพิ่มเติม ไม่มีการหวงห้ามถ้าต้องการใช้สำหรับการเรียนการสอนพระวจนะ เป็นงานของ Community Bible Chapel.

2 นอกจากที่กล่าวไปแล้ว พระวจนะที่นำมาอ้างอิงทั้งหมดมาจาก NET Bible (The NEW ENGLISH TRANSLATION) เป็นฉบับแปลใหม่ทั้งหมด ไม่ใช่นำฉบับเก่าในภาษาอังกฤษมาเรียบเรียงใหม่ ใช้ผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการพระคัมภีร์มากกว่า ยี่สิบคน รวบรวมข้อมูล ทั้งจากภาษาฮีบรูโดยตรง ภาษาอาราเมข และภาษากรีก โครงการแปลนี้เริ่มมาจากที่เราต้องการนำพระคัมภีร์ เผยแพร่ผ่านสื่ออีเลคโทรนิค เพื่อรองรับการใช้งานทางอินเตอร์เน็ท และซีดี (compact disk) ที่ใดก็ตามในโลก ที่ต่อเข้าอินเตอร์เน็ทได้ ก็สามารถเรียกดู และพริ้นทข้อมูลไว้เพื่อใช้ศึกษาเป็นการส่วนตัวได้โดยไม่คิดมูลค่า นอกจากนี้ ผู้ใดก็ตาม ที่ต้องการนำข้อมูลเกี่ยวกับพระคัมภีร์ไปเผยแพร่ต่อโดยไม่คิดเงิน สามารถทำได้จากเว็บไซด์ : www.netbible.org.

3 อ้างจากข้อเขียนของ Michael Green, Matthew For Today: Expository Study of Matthew (Dallas, Texas: Word Publishing, 1989), p. 37.

4 อ้างจากข้อเขียนของ James Montgomery Boice, The Gospel of Matthew (Grand Rapids, Michigan: Baker Books, 2001), vol. 1, p. 16.

5 จาก Boice, p. 16, citing J. Gresham Machen, The Virgin Birth of Christ (1930; reprint, London: James Clarke, 1958), p. 209.

6 จาก Boice, p. 17.

7 ทอม ไรท์ เพื่อนของผมชี้ข้อสังเกตุนี้ให้เห็น หลังจากที่ผมได้เทศนาพระธรรมตอนนี้ไปแล้ว

8 จาก Fredrick Dale Bruner, The Christbook: A Historical/Theological Commentary (Waco, Texas: Word Books, 1987), vol. 1, p. 6.

9 อย่าลืมว่ายูดาห์เองยังสารภาพว่าทามาร์นั้น “ชอบธรรมยิ่งกว่าเรา” (ปฐก. 38:26) บัทเชบาตกเป็นเหยื่อ มากกว่า จะเป็นผู้ล่อลวง (2 ซมอ. 12:1-4) และราหับมีชื่ออยู่ใน “ทำเนียบผู้เชื่อ” (ฮีบรู 11:31).

10 จาก Bruner, p. 6.

11 อย่างที่นาธานาเอลกล่าวไว้ (และต่อมามัทธิวก็แสดงให้เราเห็น) ว่าพระเยซูทรงเป็น “บุตรพระเจ้า” ดังนั้นพระองค์จึงเป็น “กษัตริย์ของอิสราเอล” (ยอห์น 1:49).

12 ผู้อ่านคงพอรู้สึกว่าผม “ยึดติด” กับข้อสังเกตูของนักวิชาการหลายต่อหลายคน จนทำให้เกิดเป็นข้อสรุปข้อที่หก

13 จาก James Montgomery Boice, vol. 1, p. 15.

14 จาก M ichael Green, p. 37.

15 J. จากผู้เขียนชื่อ Sidlow Baxter, Explore the Book (Grand Rapids, Michigan: Zondervan Publishing House, 1960), Six volumes in one, vol. 5, p. 148.

16 จาก Bruner p. 13.

17 ผมรู้สึกดีใจที่บรูเนอร์ตั้งข้อสังเกตุนี้ ท่านยังชี้ให้เป็นอีกว่ารายชื่อตอนที่สามนี้มีแค่ 13 ชื่อ ไม่ใช่ 14 ผมคงต้องขอคิดแตก ต่างจากบรูเนอร์ในเรื่องนี้ เพราะมัทธิวเองเป็นปุถุชน อาจมีข้อบกพร่องบ้างเช่นเดียวกับเราทั้งหลาย ตามมุมมองของผม เราไม่ควรด่วนสรุปเอาเองเรื่องการดลใจและข้อผิดพลาด ยอห์น มอร์เรอ เพื่อนสนิทของผมเคยกล่าวไว้ว่า : “มัทธิวนั้นเป็นคนเก็บภาษี เขาต้องนับเลขเป็น” ผมคิดว่ามีคำตอบสำหรับเรื่องนี้ ซึ่งไม่ใช่ข้อผิดพลาดของมัทธิว

18 จาก Bruner, p. 4.

19 จาก Bruner, p. 13.

Related Topics: Incarnation

Report Inappropriate Ad