MENU

Where the world comes to study the Bible

9. “บุคคลผู้ใดรู้สึกบกพร่องฝ่ายวิญญาณ ผู้นั้นเป็นสุข” (มัทธิว 5:1-13)

Related Media

1คำนำ2

เรากำลังเริ่มต้นคำเทศนาบนภูเขา เป็นพระวจนะที่โด่งดังที่สุดในพระคัมภีร์ใหม่ ความสำคัญนั้นยังน้อยกว่าความเป็นจริง ถ้าคุณไปที่ห้องสมุด แล้วผมไม่ได้ถามถึงหนังสือเรื่องคำเทศนาบนภูเขา คุณก็จะเห็นว่านักศึกษาพระคัมภีร์ที่เชี่ยวชาญแทบทุกคนจะแนะนำหนังสือประกอบ คำอธิบายคำเทศนาบนภูเขาอยู่ดี แม้หลายคนที่เขียนคำหนังสืออธิบายพระกิตติคุณมัทธิวยังแยกเฉพาะคำเทศนาบน ภูเขาออกมา

มีผู้กล่าวว่าออกัสตินพูดถึงคำเทศนาบนภูเขาว่าเป็นมาตรฐานที่สมบูรณ์แบบ สำหรับชีวิตคริสเตียน ดีทริช บอนฮอฟเฟอร์ เขียนหนังสือคลาสสิค “ราคาการเป็นสาวก” โดยยึดจากหนังสืออรรถาธิบายคำเทศนาบนภูเขา แม้ผู้ไม่เชื่ออย่างคานธียังประทับใจและได้รับอิทธิพลจากคำสอนในคำเทศนาบน ภูเขา ผู้ไม่เชื่ออีกหลายคนได้รับอิทธิพลนี้เช่นกัน ผมกำลังนึกถึงคำพูดของนิคิตา ครุชเชฟ พูดไว้หลายปีมาแล้วในสหรัฐอเมริกา ท่านพูดว่า “ผมจะบอกคุณถึงข้อแตกต่างระหว่างคริสเตียนกับตัวผม คือถ้าคุณตบหน้าผม ผมก็จะซัดกลับจนหัวคุณหลุดจากบ่าแน่” แต่ท่านก็ยังได้รับอิทธิพลจากคำเทศนานี้ เข้าใจดีว่าหมายถึงอะไร แต่ไม่ชอบใจ ความจริงคือคนธรรมดาทั่วไปจะไม่ชอบคำสอนนี้ ไม่ใช่คำสอนที่จะนำไปเขียนเป็นหนังสือขายดีแน่ – แม้เป็นหนังสือของคริสเตียนก็ตาม คำสอนจากคำเทศนาบนภูเขาไม่ใช่สิ่งที่ขายได้ ลองไปดูตามหิ้งร้านหนังสือนะครับ

อาร์ เคนท์ ฮิวจ์ ในหนังสือประกอบคำอธิบายคำเทศนาบนภูเขากล่าวว่านี่เป็นคำเทศนาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่เคยมี:

คำเทศนาบนภูเขานั้นสั้นกระชับได้ใจความ เป็นหลักศาสนศาสตร์ของพระเยซูคริสต์ที่เนื้อหาอัดแน่นและเข้มข้น และน่าจะเป็นพระคำที่กินใจที่สุดในพระคัมภีร์ใหม่ และในพระคัมภีร์ทั้งเล่ม ทุกถ้อยคำอธิบายแจ่มแจ้งชัดเจน แต่ไม่อาจเข้าใจให้ลึกซึ้งได้ที่สุด … เป็นถ้อยคำที่แสดงให้เห็นว่าเรายืนอยู่จุดไหนในความสัมพันธ์ระหว่างราช อาณาจักรและชีวิตนิรันดร์ ขณะที่เรานำตัวเองผ่านเครื่องเอ็กซเรย์ในคำสอนของพระเยซูคริสต์ จะแสดงให้เห็นว่าเราเป็นผู้เชื่อแท้หรือไม่ ถ้าเป็น ระดับความเป็นผู้เชื่อแท้ในชีวิตของเราอยู่ตรงไหน ไม่มีตอนอื่นใดในพระคัมภีร์ที่ทำให้เราต้องเผชิญหน้ากับตัวเองได้เท่ากับคำ เทศนาบนภูเขา 3

ให้เราเข้าสู่คำนำของคำเทศนาบนภูเขาในภาพรวมทั้งหมดก่อน แล้วค่อยๆไปทีละประเด็น คงจำกันได้ คำเทศนาบนภูเขาอยู่ต่อจากการเริ่มพระราชกิจของพระเยซูที่กาลิลี พระองค์เสด็จออกจากยูเดียเมื่อทราบข่าวว่ายอห์นถูกจับ ขณะอยู่ในกาลิลี พระองค์ทรงรักษาผู้ป่วยทุกโรค และมีฝูงชนจำนวนมากติดตามพระองค์ไป — ไม่เพียงแต่ในกาลิลีเท่านั้น แต่มาจากข้างนอกด้วย — จากเดคาโพลิส รอบนอกยูเดีย เยรูซาเล็ม และจากซีเรีย ฝูงชนที่ติดตามจึงมีจำนวนมาก และในตอนท้ายของมัทธิว 4 บันทึกว่า ในช่วงเวลานั้นพระเยซูทรงเทศนาสั่งสอนอยู่ในธรรมศาลา

แน่นอนคนเหล่านี้ต้องได้ยินเรื่องราวของพระเยซูมาบ้าง และได้ยินบางสิ่งที่พระองค์สั่งสอน แต่สำหรับผมเมื่อเข้าสู่คำเทศนาบนภูเขา คุณเหมือนได้รับบทสรุปชั้นเลิศที่รวมทุกสิ่งไว้ที่ “พระองค์ตรัสสอน” มัทธิวจึงบันทึกคำเทศนานี้ไว้ และในลูกา 6 ก็บันทึกคล้ายคลึงกัน เป็นเหมือนบทสรุปคำสอนทั้งหมดของพระเยซูคริสต์ที่หลากหลายมาก ผมคิดว่านี่คือสิ่งที่เป็นพื้นฐานคำสอนของพระองค์ในอนาคต และในพระราชกิจที่จะทรงทำต่อไป คนที่นั่งฟังอยู่คือพวกสาวก รวมถึงฝูงชนจำนวนมากที่ตามมาก็ได้ยินด้วย สำหรับผมคิดว่าพระองค์ตรัสให้คนทั้งสองพวกนี้ฟัง เมื่อพระองค์ตรัสว่า “ใครมีหู จงฟังเถิด” – (ฟังในสิ่งที่เราพูด) บางคนในท่ามกลางฝูงชนที่มาฟัง มีหูแต่ไม่รับฟัง แต่พระองค์กำลังตรัสกับพวกสาวก และกับผู้คนที่นั่งฟังอยู่ด้วย

ในพระกิตติคุณมัทธิวพระเยซูตรัสถึงแผ่นดินสวรรค์ และในพระกิตติคุณเล่มอื่นๆ มีคำว่าแผ่นดินของพระเจ้า บางคนคิดว่าสองคำนี้แตกต่างกัน บางคนบอกว่าเพราะคำสอนของพระเยซูที่เกี่ยวข้องกับแผ่นดินของพระเจ้าเป็นการ สอนเกี่ยวกับแผ่นดินของพระเจ้าที่ยังมาไม่ถึง สำหรับกลุ่มที่เป็นพวกแบ่งสรรบอกว่าคำนี้อาจกลายมาจากคำดั้งเดิม (นำไปประยุกต์ใช้รองลงมา) ที่ใช้มาตั้งแต่แรกคือวันแห่งแผ่นดินของพระเจ้า

ผมยังจำได้ในโรงเรียนพระคริสตธรรม ผมได้ยิน ดร.ชาลส์ ไรรี่ย์ พูดว่า “ถ้านักธุรกิจทุกวันนี้ทำตามคำเทศนาบนภูเขา คงจะเจ๊งไปตามๆกัน” ผมก็คิดว่า “ถ้าจะจริง” และถ้าคริสตจักรทุกวันนี้ทำตามหลักการของพระคัมภีร์ใหม่ หลายคนคงพูดว่าไม่น่าจะไปรอด – ไปไม่รอดถ้าทำตามสิ่งที่พระคัมภีร์ใหม่บอกว่าคริสตจักรต้องทำหรือ? – แต่ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของคริสเตียนโดยตรง เรื่องของพระเจ้าผู้ทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้สำหรับคนที่เชื่อฟัง และโดยทางพระวิญญาณของพระองค์และพระคุณที่ทำงานอยู่ภายในเรา ผมไม่คิดจะละส่วนย่อยของคำเทศนานี้แล้วอ้างว่า “มันเป็นเรื่องของอนาคต” ที่จริงคุณจะสังเกตุเห็นว่าเมื่อพระเยซูตรัสถึงแผ่นดินสวรรค์ พระองค์กำลังตรัสถึงทั้งในอนาคตและปัจจุบัน พระเยซูกำลังตรัสถึงลักษณะของผู้ที่อยู่ในแผ่นดินของพระเจ้า และตรัสถึงลักษณะของผู้เชื่อแท้ในองค์พระเยซูคริสต์

มีรูปแบบเฉพาะอยู่ในคำเทศนาบนภูเขา ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณดูข้อ 3 ของบทที่ 5 พระเยซูตรัสว่า ““บุคคลผู้ใด รู้สึกบกพร่องฝ่ายวิญญาณ ผู้นั้นเป็นสุข เพราะแผ่นดินสวรรค์เป็นของเขา” — เป็นประโยคปัจจุบันกาล พอมาถึงข้อ 10 “บุคคลผู้ใดต้องถูกข่มเหงเพราะเหตุความชอบธรรม ผู้นั้นเป็นสุข เพราะว่าแผ่นดินสวรรค์เป็นของเขา” ก็เป็นประโยคปัจจุบันกาล —แผ่นดินเป็นของพวกเขา—และระหว่างนั้น จากข้อ 4 ถึงข้อ 9 เป็นประโยคอนาคตกาล:

5:4 “บุคคลผู้ใดโศกเศร้า ผู้นั้นเป็นสุข เพราะว่าเขาจะได้รับการทรงปลอบประโลม”

5:5 “บุคคลผู้ใดมีใจอ่อนโยน ผู้นั้นเป็นสุข เพราะว่าเขาจะได้รับแผ่นดินโลกเป็นมรดก”

5:6 “บุคคลผู้ใดหิวกระหาย ความชอบธรรม ผู้นั้นเป็นสุข เพราะว่าพระเจ้าจะทรงให้อิ่มบริบูรณ์”

5:7 “บุคคลผู้ใดมีใจกรุณา ผู้นั้นเป็นสุข เพราะว่าเขาจะได้รับพระกรุณาตอบ”

5:8 “บุคคลผู้ใดมีใจบริสุทธิ์ ผู้นั้นเป็นสุข เพราะว่าเขาจะได้เห็นพระเจ้า”

5:9 “บุคคลผู้ใดสร้างสันติ ผู้นั้นเป็นสุข เพราะว่าพระเจ้าจะทรงเรียกเขาว่าเป็นบุตร”

ผมคิด เหมือนอย่างนักวิชาการทั้งหลาย เราต้องสรุปว่ามีมิติของปัจจุบันและอนาคตในคำสอนของพระเยซูในคำเทศนาบนภูเขา มีสิ่งที่จะเกิดขึ้น และมีการลิ้มรสล่วงหน้า (ผลแรก) ของสิ่งที่เรามีอยู่ในปัจจุบัน และรวมถึงฝูงชนที่รับฟังคำเทศนาในตอนนั้นด้วย

คำสำคัญอีกคำที่เราต้องนำมาพิจารณาคือคำว่า “ผู้นั้นเป็นสุข” เพราะนำมาใช้ครั้งแล้วครั้งเล่า คุณจะพบในฉบับแปลหลายฉบับใช้คำว่า “เป็นสุข” ซึ่งก็เป็นความจริง แต่ผมคิดว่าที่เราต้องพูดคำว่า “เป็นสุข” เพราะไปตามความหมายที่เรากำลังดู ซึ่งอาจไม่ใช่คำที่ดีที่สุด ที่จริง คุณอาจพูดว่าคนที่โศกเศร้าคงไม่น่าใช่คนที่เป็นสุข มันไม่ง่ายที่จะเป็นทั้งสองอย่าง ผมจึงขอเลือกที่จะไม่เน้นคำว่า “เป็นสุข” แม้แน่นอนจะเป็นเช่นนั้น ถ้าอยากเอนไปทาง “ไพเพอร์”4 คุณอาจพูดในมุมที่ว่ายังมีความชื่นชมและปิติยินดีเสมอ – อยู่ด้วยเสมอ และผมต้องการให้เนื้อหาในตอนนี้เป็นเช่นนั้น ผมชอบที่ฮิวจ์อธิบายไว้ในหนังสือของเขา ความหมายเบื้องต้นของคำว่า “เป็นสุข” ในตอนนี้คือได้รับการยอมรับ พระเจ้าทรงแสดงให้เห็นว่าพระองค์ยอมรับคนเหล่านี้ ผู้เป็นสุขคือผู้ที่พระเจ้าทรงยอมรับ และนี่เป็นมุมมองเดียวกับผม

ต่อไปมาดูคำว่า “บกพร่องฝ่ายวิญญาณ”““บุคคลผู้ใด รู้สึกบกพร่องฝ่ายวิญญาณ ผู้นั้นเป็นสุข เพราะแผ่นดินสวรรค์เป็นของเขา” (ข้อ 3) ผมคิดว่าคำ “บกพร่อง” ตรงนี้คือคำที่พูดถึงความขาดแคลน ความขัดสนที่ต่ำต้อยที่สุด อย่างที่นักวิชาการหลายคนบอก เป็นท่าทีของการก้มลงหรือโค้งต่ำลงด้วยความสำนึก เหมือนความจนแบบเดียวกับขอทาน ครับมีคนมากมายในโลกนี้ที่คิดว่าตัวเองยากจนแต่ไม่อาจเทียบได้กับความจนที่ เราพูดถึง มีคนบางประเภทตามมาตรฐานของรัฐบาล มีรายได้น้อยกว่าจำนวนที่ทางการกำหนด แต่ผมคิดว่ามีเปอร์เซ็นต์สูงมากที่คนจนในระดับที่พูดถึงนี้มีทีวี และมีเครื่องอำนวยความสะดวกอื่นๆ สำหรับผมแล้วน่าจะยากจนคนละแบบ

ผมยังจำเรื่องที่เจ้าหน้าที่ๆโรงเรียนพระคริสตธรรมเล่าให้ฟังได้ เป็นเรื่องเล่าขำๆของสมัยโน้น สมัยที่นักเรียนบางคนมีรถพ่วงและมีข้าวของหลายอย่างที่เป็นของตัวเอง นักเรียนคนหนึ่งพูดกับเพื่อนๆว่า “พวกเรา มันจบละ เราหมดตัว จนแล้ว ยังไม่รู้ว่าจะทำยังไงต่อไป” เพื่อนคนหนึ่งก็เริ่มคิดหาทาง ซึ่งมีน้อยนิดมาก เพื่อนคนอื่นๆคิดไม่ออก พวกเขาจึงคิดกันว่าน่าจะนำอาหารกระป๋องของแต่ละคนที่ตุนไว้มารวมกัน ยังไม่ทันได้พูดออกไป คนหนึ่งก็พูดขึ้นมาว่า “เฮ้พวก ถ้ามันลำบากนัก ผมเอาเครื่องเล่นซีดีไปขายก็ได้” ครับ พวกเราคงคิดกันว่า นี่ไม่น่าใช่ความหมายของคำว่าขัดสนหรือยากจนแน่

ความบกพร่อง (ขัดสน) ที่มัทธิวพูดถึงเป็นความขัดสนระดับต่ำที่สุด และเป็นความขัดสนฝ่ายวิญญาณ ตอนนี้ผมเข้าใจคำว่า “อดอยาก” ที่ลูกาพูดถึงในพระกิตติคุณของท่าน แต่ตอนนี้ให้เรากลับมาดูคำที่มัทธิวใช้ “บุคคลผู้ใด รู้สึกบกพร่องฝ่ายวิญญาณ ผู้นั้นเป็นสุข

ขอพูดถึงเรื่องความขัดสนทางวัตถุและสิ่งที่เกี่ยวข้อง เราต้องระวังที่จะไม่นำความยากจนมาใช้เทียบกับความเชื่อศรัทธา มีผู้ชอบธรรมที่ขัดสนในพระคัมภีร์เดิม แต่ผมกำลังนึกถึงความยากจนที่เกิดขึ้นเพราะสงครามในตะวันออกกลาง มีคนยากจนและคนที่ถูกกดขี่ข่มเหง คุณแค่เปิดฝากระป๋อง จะถูกคนยากจนกระชากไปในทันที และขโมยทุกสิ่งไปจากคุณ – มือถือ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์สื่อสารต่างๆ อะไรก็ตามที่พวกเขาฉกฉวยได้ เอาไปก็ใช้ไม่เป็น เราจึงต้องระวังอย่ามองความยากจนกับความชอบธรรมตามจำนวนเงินติดลบในบัญชี หนังสือสุภาษิตพูดเรื่องความยากจนและความมั่งมีไว้ค่อนข้างมาก และบ่อยครั้งพูดถึงคนยากจนว่าเป็นคนเกียจคร้านหรือโง่เขลา ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับฝ่ายวิญญาณ ที่จริงในหนังสือสุภาษิต บรรดาคนที่มั่งมีมักเป็นคนที่ทำงานหนักและมีปัญญา สุภาษิต 30:8-9 กล่าวว่า:

8 ขอให้ความมุสาและความเท็จไกลจากข้าพระองค์ ขออย่าประทานความยากจนหรือความมั่งคั่งแก่ข้าพระองค์ ขอเลี้ยงข้าพระองค์ด้วยอาหารที่พอดีแก่ข้าพระองค์ 9 เกรงว่าข้าพระองค์จะอิ่ม และปฏิเสธพระองค์ แล้วพูดว่า “พระเจ้าเป็นผู้ใดเล่า” หรือเกรงว่าข้าพระองค์จะยากจนและขโมย และกระทำให้พระนามพระเจ้าของข้าพระองค์เป็นมลทิน

พระวจนะตอนนี้บอกเราว่าทั้งความยากจนและความมั่งมีต่างก็มีจุดอ่อนในตัว เอง มีข้อบกพร่อง มีสิ่งเย้ายวน และมีปัญหาในตัวเอง ดังนั้นคนมั่งมีตามที่ อ.เปาโลเตือนใน 1ทิโมธี 6 ว่าอย่าวางใจในความไม่แน่นอนของความมั่งมี แต่คนยากจนควรต้องระมัดระวังที่จะไม่อ้างความยากจนและละเลยมาตรฐานความชอบ ธรรมและความยุติธรรมของพระเจ้า แก้ปัญหาความยากจนในแบบที่ผิด คุณไม่อาจอ้างว่าเป็นเพราะความมั่งมี หรือเพราะความยากจน ผมชอบที่แม็กซ์ ลูคาโดเขียนไว้ในหนังสือประกอบคำอธิบายคำเทศนาบนภูเขา ที่พูดว่ามันไม่ใช่เพราะความใหญ่ของเงินที่คนรวยมีที่สร้างปัญหาให้พวกเขา แต่เพราะหัวที่ใหญ่เกินตัวของพวกเขาต่างหาก5ผมว่านี่แหละประเด็น ไม่ใช่เรื่องเงิน แต่เป็นความรู้สึกมั่นคงและมั่นใจที่มาพร้อมกับความมั่งมีที่ทำให้พวกเขามีปัญหา

พระเยซูตรัสถึงความยากจน (บกพร่อง) ฝ่ายวิญญาณ พระองค์กำลังตรัสถึง “จิตวิญญาณที่ล้มละลาย” ปัญหาของคำว่า “ล้มละลาย” และแนวคิดเรื่องนี้คือคุณไม่ได้หมดตัว ในปัจจุบัน หลายสายการบินในอเมริกากำลังสูญเสียรายได้ แต่ที่พวกเขาพูดทำนองว่าจะฟ้องขอล้มละลาย ก็เพื่อปกป้องทรัพย์สินของบริษัท นี่เป็นคนละเรื่องกับล้มละลายฝ่ายวิญญาณ เมื่อเราประกาศว่าเป็นผู้ล้มละลายฝ่ายวิญญาณ ไม่มีอะไรเหลือเลยในธนาคาร ไม่มีเครื่องบินจอดอยู่ ไม่มีนักบิน ไม่มีเงินชดเชยหลังเกษียน ไม่มีเหลือสักอย่างครับ เมื่อเราตระหนักว่าเราขัดสนในวิญญาณ ไม่มีอะไรเหลือเพื่อป้องกันหรือสำรองเอาไว้ มันหมดสิ้น ที่จริงยังมีหนี้ที่ต้องชดใช้อีกกองใหญ่ มีหนี้มหาศาลแต่ไม่รู้จะเอาที่ไหนมาชดใช้ นี่คือความยากจนอย่างที่เรามี ตามหลักศาสนศาสตร์ เรากำลังพูดถึงคำสอนเรื่องความเสื่อมทรามของมนุษย์ มนุษย์ไม่มีสิ่งใดที่จะมอบให้พระเจ้าได้ ไม่มีทางเท่าเทียม ไม่ว่าการปฏิบัติ การทำดีเพื่อให้สมกับความชอบธรรมของพระเจ้า เราอ่านในโรม 3:9

3:9 ถ้าเช่นนั้นจะเป็นอย่างไร พวกยิวเรา จะได้เปรียบกว่าหรือ เปล่าเลยเพราะเราได้ชี้แจงให้เห็นแล้วว่า มนุษย์ทุกคนทั้งพวกยิวและพวกต่างชาติต่างก็อยู่ใต้อำนาจของบาป

3:10 ตามที่พระคัมภีร์มีเขียนไว้ว่า

ไม่มีผู้ใดเป็นคนชอบธรรมสักคนเดียว ไม่มีเลย

11 ไม่มีคนที่เข้าใจ

ไม่มีคนที่แสวงหาพระเจ้า

12 เขาทุกคนหลงผิดไปหมด

เขาทั้งปวงเลวทรามเหมือนกันสิ้น

ไม่มีสักคนเดียวที่กระทำดี ไม่มีเลย

13 ลำคอของเขาคือหลุมฝังศพที่เปิดอยู่

เขาใช้ลิ้นของเขาในการล่อลวง

พิษงูร้ายอยู่ใต้ริมฝีปากของเขา

14 ปากของเขาเต็มไปด้วยคำแช่งด่าและคำเผ็ดร้อน

15 เท้าของเขาว่องไวในการทำให้นองเลือด

16 ในทางเดินของเขามีความพินาศและความทุกข์

17 และเขาไม่รู้จักทางแห่งสันติสุข

18 เขาไม่เคยคิดที่จะยำเกรงพระเจ้าเลย

19 เรารู้แล้วว่า ธรรมบัญญัติทุกข้อที่ได้กล่าวนั้น ก็ได้กล่าวแก่คนเหล่านั้นที่อยู่ใต้ธรรมบัญญัติ เพื่อปิดปากทุกคน และเพื่อให้มนุษย์ทุกคนในโลกอยู่ใต้การพิพากษาของพระเจ้า 20 เพราะว่าในสายพระเนตรของพระเจ้าไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดเป็นคนชอบธรรม โดยการประพฤติตามธรรมบัญญัติได้ เพราะว่าธรรมบัญญัตินั้นทำให้เรารู้จักบาปได้

นี่คือคนที่ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวยิว) ที่ดำเนินอยู่ภายใต้ธรรมบัญญัติของยิว คำสอนของยิว และทุกสิ่งมีแต่เลวร้ายลงไปกว่าที่ควรเป็น จำในมัทธิว 23 ได้หรือไม่ พระเยซูตรัสถึงพวกฟาริสีและความหน้าซื่อใจคดของพวกเขา พระองค์ตรัสว่าพวกเขาเอาห่อของหนักวางบนบ่ามนุษย์ ส่วนเขาเองแม้แต่นิ้วเดียวก็ไม่จับต้องเลย ดังนั้นภาระหนักที่บทบัญญัติวางบนบ่าของมนุษย์ ซึ่งหนักอึ้ง พวกฟาริสียังเพิ่มเข้าไปอีก เพิ่มข้อควรปฏิบัติเข้าไปอีก ผู้คนจึงอยู่ภายใต้แอกภาระหนักเหล่านี้ที่พวกเขาไม่มีทางทำได้เลย พวกเขาจึงสิ้นเนื้อประดาตัว เมื่อพระเยซูเสด็จมาตรัสว่า “มีข่าวดีสำหรับพวกท่าน ธรรมบัญญัติได้ทำหน้าที่ของมันแล้ว ทำให้เห็นว่าพวกคุณสิ้นเนื้อประดาตัว ตอนนี้คุณอยู่ในจุดที่พระพรของพระเจ้าประทานลงมาให้คุณ” คำสอนเรื่องความเสื่อมทรามของมนุษย์กล่าวว่า “ทุกคนสิ้นเนื้อประดาตัวแล้ว ไม่มีสักคนที่ชอบธรรม ไม่มีเลย ไม่มีสักคนที่แสวงหาพระเจ้า ไม่มีเลย ทุกคนล้มละลายฝ่ายวิญญาณ – สิ้นเนื้อประดาตัวฝ่ายวิญญาณ”

เมื่อพระเยซูตรัสถึงผู้ที่บกพร่อง (ขัดสน) ฝ่ายวิญญาณ พระองค์กำลังตรัสถึงกลุ่มคนเจาะจง กลุ่มย่อยของคนที่เสื่อมทรามลง และกลุ่มย่อยนี้เป็นกลุ่มที่รู้ตัวดี สิ้นเนื้อประดาตัวเป็นเรื่องหนึ่ง เสื่อมทรามลงเป็นอีกเรื่องครับ มีภาระบาปหนักอึ้งรอคอยพระอาชญาเป็นเรื่องหนึ่ง แต่เป็นอีกเรื่องเมื่อตระหนักว่า นอกจากพระคุณและพระเมตตาของพระเจ้าแล้ว เราต่างก็สิ้นหวังจมปลักอยู่ในบาปและเป็นหนี้ท่วมหัวฝ่ายวิญญาณ นี่คือคนที่ไม่เพียงแต่ล้มละลายฝ่ายวิญญาณ แต่พวกเขารู้ตัวดี

ขอยกตัวอย่างจากพระคัมภีร์ให้ดู เรื่องแรกจากหนังสือ 2พงศ์กษัตริย์ 5 เรื่องรักษาโรคของนาอามานชาวซีเรีย พระเยซูทรงอ้างถึงในพระกิตติคุณลูกา ในบทที่ 4 พูดถึงชาวต่างชาติที่เข้ามาในแผ่นดินของพระเจ้า ผมอยากให้คุณสังเกตุขั้นตอนที่พระเจ้ารับชายคนนี้เข้ามา หยิ่งยโสและต่อต้านพระองค์ ทรงทำให้เขาหันกลับ นำไปจนถึงจุดที่ท้อแท้สิ้นหวัง ไม่เหลือสิ่งใดให้หวังอีกเว้นแต่พระคุณของพระเจ้า

ลองคิดดู ชายคนนี้เป็นชาวซีเรีย ไม่ใช่คนอิสราเอล เป็นคนนอก นอกพระสัญญาของพระเจ้า และแน่นอนไม่รู้จักพระองค์ เขานมัสการพระอื่น นมัสการด้วยกันกับผู้เป็นเจ้านาย และเป็นศัตรูของอิสราเอล ไม่เพียงแต่ไม่เกี่ยวข้อง แต่ยังต่อต้านอิสราเอลด้วย ที่จริงเขาเป็นผู้บัญชาการกองทัพซีเรีย หมายความว่านอกจากอยู่ฝ่ายตรงข้ามแล้ว ยังแสวงหาชีวิตชาวอิสราเอลด้วย จึงเป็นเหมือนคนที่ไม่มีความหวังใดๆเหลือ สังเกตุดู เขาได้รับคำแนะนำให้ไปรับความช่วยเหลือในอิสราเอลโดยเด็กผู้หญิงชาวอิสราเอล – เด็กผู้หญิงตัวเล็กๆที่เป็นทาส – และพระเจ้าประทานพระคุณให้ชายคนนี้เป็นโรคเรื้อน คนที่อยู่ในตำแหน่งสูงสุดในสายงานของเขา – เป็นมือขวาของกษัตริย์ – แต่กลับเป็นโรคเรื้อน ไม่มีอะไรเลวร้ายไปกว่านี้ คงสิ้นหวัง แต่พระเจ้าบอกกับเขาผ่านเด็กหญิงที่เป็นทาสว่ามีผู้เผยพระวจนะในอิสราเอล ช่วยได้ ทำให้เขาหายจากโรค

ถ้าตามขั้นตอนปกติ เขาจะไปรับความช่วยเหลือนี้ได้อย่างไร? ผ่านทางการเมือง อำนาจ และอิทธิพล – ทุกสิ่งเหล่านี้เมื่อเราจำเป็นต้องบอกว่าเราสิ้นท่า – เป็นช่องทางที่คิดว่าต้องนำมาใช้ นาอามานจึงไปเฝ้ากษัตริย์แห่งซีเรีย ให้เขียนจดหมายเพื่อไปขอความช่วยเหลือในอิสราเอล เมื่อมาถึงสะมาเรียพร้อมด้วยจดหมายแนะนำตัวเพื่อไปเข้าเฝ้ากษัตริย์อิสราเอล ในจดหมายบ่งว่า “ชายคนนี้เป็นมือขวาของเรา จะเป็นการดีกว่าถ้าท่านช่วยเหลือเขา” กษัตริย์อิสราเอลคิดว่าปัญหามาเคาะประตูวังแล้ว “จะให้เราทำอย่างไรกัน?” ความจริงคือทำอะไรไม่ได้ จนเรื่องไปถึงหูเอลีชา เอลีชาจึงส่งข่าวมา “ไปบอกเขาว่ามีพระเจ้าในอิสราเอล และพระเจ้าองค์นี้ช่วยรักษาให้ได้”

เขาจึงมาอิสราเอลมาขอความช่วยเหลือ แต่ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากกษัตริย์ แล้วตอนนี้อยู่ที่หน้าประตูบ้านของเอลีชา เราคงนึกภาพคณะผู้ติดตามกลุ่มใหญ่มายืนรอหน้าประตูบ้านของผู้เผยพระวจนะออก อย่าลืมว่าไม่ได้มาตัวเปล่า มาพร้อมกับของสมนาคุณมากมาย แทนที่จะมีพรมแดงรอรับที่ประตูทางเข้า และเอลีชาออกมาต้อนรับคณะบุคคลสำคัญด้วยตนเอง ท่านกลับส่งคนใช้ออกมาบอกว่า “ให้ไปจุ่มตัวที่แม่น้ำจอร์แดนเจ็ดหน”

คนที่อยู่ทางใต้อาจไม่เคยเห็นแม่น้ำทางตะวันตกเฉียงเหนือ แม่น้ำที่นั่นใสแจ๋ว จำเรื่องหัวขวานตกลงไปในแม่น้ำจอร์แดนได้มั้ยครับ? ถ้าเป็นในตะวันตกเฉียงเหนือคงงมได้ง่าย เพราะมองลงไปเห็น แต่นี่เป็นแม่น้ำขุ่นคลั่กของจอร์แดน แล้วหมอนี่มาบอก “ให้ไปจุ่มตัวลงในแม่น้ำขุ่นคลั่นด้วยโคลนนี่หรือ?” ไม่มีทาง มันไม่สะอาด มีแต่จะทำให้สกปรกยิ่งขึ้น นาอามานโกรธเพราะเขาพูดว่า “ถ้าจะลงไปจุ่มตัวในน้ำ มีแม่น้ำอื่นๆที่ดีกว่านี้ตั้งเยอะ ที่นี่ไม่สะอาด ไม่น่ารักษาโรคได้” แต่คนในพวกบ่าวมาบอกว่า “ท่านทราบมั้ยครับ ถ้าท่านถูกขอให้ทำเรื่องยิ่งใหญ่ ท่านคงจะทำ นี่เขาไม่ได้ขอให้ท่านทำเรื่องยิ่งใหญ่อะไร นอกจากให้ลงไปจุ่มตัวในแม่น้ำ ไม่เห็นมีอะไรต้องเสียเลย” นาอามานจึงลงไปจุ่มตัวในแม่น้ำจอร์แดน ผมคิดว่า นอกจากเสื้อผ้าแล้ว คงต้องยอมถอดศักดิ์ศรีด้วย ผิวของท่าน เมื่อได้รับการรักษา กลับกลายเป็นเหมือนผิวเด็กทารกเมื่อขึ้นมาจากน้ำ

นาอามานกำลังมุ่งหน้าไป แต่ยังไม่ถึงปลายทาง ยังไม่เข้าใจว่าพระคุณคืออะไร เขากลับไปที่บ้านของเอลีชา สังเกตุดูตอนนี้เอลีชาออกมาต้อนรับ เขาบอกเอลีชาว่า “ผมเป็นหนี้บุญคุณท่านนะครับ ขอจ่ายให้ท่านด้วยของสมนาคุณที่ช่วยรักษาผมให้หาย” นาอามานคิดจะมอบของสมนาคุณทุกอย่างที่นำมา แต่เอลีชากลับบอกว่า “ไม่รับ” เพราะท่านไม่ได้ทำสิ่งใดในการงานของพระเจ้า หรือพระคุณของพระองค์ทั้งก่อนหน้าหรือหลังจากนั้น ท่านไม่ต้องการให้นาอามานกลับไปโดยคิดว่าเขามีส่วนในการนี้ด้วย นาอามานจำเป็นต้องเห็นวิญญาณของตนเองที่ล้มละลาย เขาจึงบอกเอลีชาว่า “ถ้าท่านไม่รับของที่ผมนำมา ผมขอนำบางสิ่งจากที่นี่กลับไป” ฟังนะครับ – เขาขอดินจากอิสราเอลกลับไป ทำไมครับ? เขาขอดินกลับไปมากพอที่ลาสองตัวจะบันทุกได้ เพราะเขาเริ่มเข้าใจแล้ว พระเจ้ามีพระประสงค์ให้เขาเป็นหนึ่งเดียวกับผืนแผ่นดินนี้ อย่างที่เราพูดกันว่าพระเจ้าทรงเป็นหนึ่งเดียวกับพระเยซูคริสต์ นาอามานเป็นหนึ่งเดียวกับผืนแผ่นดินนี้ และต่อไปเมื่อจะนมัสการ นาอามานจะนมัสการบนผืนดินอิสราเอล ในที่สุดนาอามานก็มาถึงจุดที่ตระหนักได้ว่าตนเองไม่มีอะไรจะทดแทนให้พระเจ้า ได้ เป็นฝ่ายที่รับเท่านั้น นี่คือความขัดสนฝ่ายวิญญาณ และพระเจ้าทรงมีพระคุณที่นำเขามาจนถึงแผ่นดินนี้

ลูกา 18 เป็นเรื่องคลาสสิคในพระคัมภีร์ใหม่ที่แสดงให้เห็นความขัดสนฝ่ายวิญญาณ เป็นเรื่องของฟาริสีและคนเก็บภาษี เริ่มจากข้อ 9:

9 สำหรับบางคนที่ไว้ใจในตัวเองว่าเป็นคนชอบธรรม และได้ดูหมิ่นคนอื่นนั้น พระองค์ตรัสคำอุปมานี้ว่า 10 “มีสองคนขึ้นไปอธิษฐานในบริเวณพระวิหาร คนหนึ่งเป็นพวกฟาริสีและคนหนึ่งเป็นพวกเก็บภาษี 11 คนฟาริสีนั้นยืนนึกในใจของตน อธิษฐานว่า ‘ข้าแต่พระเจ้า ข้าพระองค์โมทนาขอบพระคุณของพระองค์ ที่ข้าพระองค์ไม่เหมือนคนอื่น ซึ่งเป็นคนโลภ คนอธรรม และคนล่วงประเวณี และไม่เหมือนคนเก็บภาษีคนนี้ 12 ในสัปดาห์หนึ่งข้าพระองค์ถืออดอาหารสองหน และของสารพัดซึ่งข้าพระองค์หาได้ข้าพระองค์ได้เอาสิบชักหนึ่งมาถวาย’ 13 ฝ่ายคนเก็บภาษีนั้นยืนอยู่แต่ไกล ไม่แหงนดูฟ้า แต่ตีอกของตนว่า ‘ข้าแต่พระเจ้า ขอทรงโปรดพระเมตตาแก่ข้าพระองค์ผู้เป็นคนบาปเถิด’ 14 เราบอกท่านทั้งหลายว่า คนนี้แหละเมื่อกลับลงไปยังบ้านของตนก็นับว่าชอบธรรม มิใช่อีกคนหนึ่งนั้น เพราะว่าทุกคนที่ยกตัวขึ้นจะต้องถูกเหยียดลง แต่ทุกคนที่ได้ถ่อมตัวลงจะต้องถูกยกขึ้น” (ลูกา 18:9-14)

ผมจะบอกว่าคนเก็บภาษีขัดสนฝ่ายวิญญาณ และได้รับพระพรกลับไปเป็นผู้ชอบธรรม

เนื้อหาในมัทธิว 11 เกี่ยวข้องกับสิ่งที่พระเยซูตรัสในมัทธิว 5:3 “บุคคลผู้ใดรู้สึกบกพร่องฝ่ายวิญญาณ ผู้นั้นเป็นสุข” ในตอนต้นของมัทธิว 11 เกี่ยวข้องกับยอห์นผู้ให้บัพติศมา สาวกบางคนของท่านมาหาพระเยซูถามพระองค์ว่า “ท่านเป็นผู้ที่จะมานั้นหรือ หรือจะต้องคอยผู้อื่น” พระองค์ทรงตอบในข้อ 11 และ 12:

11 เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า ในบรรดาคนซึ่งเกิดจากผู้หญิงมานั้น ไม่มีผู้ใดใหญ่กว่ายอห์นผู้ให้รับบัพติศมา แต่ว่าผู้ที่ต่ำต้อยที่สุดในแผ่นดินสวรรค์ก็ยังใหญ่กว่ายอห์นเสียอีก 12 และตั้งแต่สมัยยอห์นผู้ให้รับบัพติศมาถึงทุกวันนี้ แผ่นดินสวรรค์ก็เป็นสิ่งที่คนได้แสวงหาด้วยใจร้อนรน และผู้ที่ใจร้อนรนก็เป็นผู้ที่ชิงเอาได้ (มัทธิว 11:11-12)

ต้องขอยอมรับว่าอาจเข้าไม่ถึงความหมายได้ทั้งหมด แต่นี่คือคนที่คิดว่าตนเองมั่งมีฝ่ายวิญญาณ มีสิทธิตามชาติกำเนิดที่จะครอบครองแผ่นดินของพระเจ้า สัมผัสได้ไหมครับว่าคนพวกนี้พยายามใช้การบีบบังคับ? นึกถึงคนเก็บภาษีที่ตระหนักว่าตนเองไม่มีสิทธิไปอ้างสิ่งใดกับพระเจ้า เป็นคนบาปอยู่ภายใต้พระอาชญาของพระองค์ สิ่งเดียวที่พอทำได้คือร้องขอความเมตตา เขาไม่ได้บุกไปที่ประตูสวรรค์พยายามดันตัวเองเข้าไป มีคนไปที่ประตูสวรรค์พยายามบุกเข้าไปด้วยความคิดว่า “ฉันมีสิทธิ ฉันสมควรได้ นี่เป็นที่ของฉัน แค่ยื่นมือออกไปรับก็เท่านั้น” นี่ตรงกันข้ามกับที่พระเยซูตรัส นี่ไม่ใช่ความมั่งมีฝ่ายวิญญาณ แต่เป็นเรื่องของวิญญาณ วิญญาณที่ถ่อมลงและเข้าไปยึดพระเจ้าไว้มั่น พึ่งพิงพระคุณ พระเมตตา และความรอดจากพระองค์ ในมัทธิว 11 พระเยซูเปรียบคนพวกนี้เหมือนเด็กเล็กๆ

16 “เราจะเปรียบคนยุคนี้เหมือนกับอะไรดี เปรียบเหมือนเด็กนั่งที่กลางตลาด ร้องแก่เพื่อนว่า 17 ‘พวกฉันได้เป่าปี่ให้พวกเธอ และเธอมิได้เต้นรำ พวกฉันได้พิลาปร่ำไห้ และพวกเธอมิได้ตีอกชกหัว’ (มัทธิว 11:16-17)

นี่เป็นภาพของลัทธิยูดายที่ตอบสนองต่อพระเยซูหรือไม่? ภาพของคนมั่งมีผ่ายวิญญาณที่พูดราวกับว่า “ท่านมาอ้างว่าตนเองเป็นพระเมสซิยาห์ ถ้าท่านเป็นพระเมสซิยาห์จริง ท่านก็ต้องเต้นตามจังหวะของเรา ท่านต้องพูดในสิ่งที่เราต้องการให้คนฟังได้ยิน” พระเยซูตรัสว่าไม่ใช่แน่นอน พระองค์เสด็จมา ไม่ได้ไปตามที่พวกเขาต้องการ ยอห์นผู้ให้บัพติศมาก็เช่นกัน

ท้ายสุดจากข้อ 25-27 :

25 ขณะนั้นพระเยซูทูลว่า “ข้าแต่พระบิดา ผู้เป็นเจ้าแห่งฟ้าสวรรค์และโลก ข้าพระองค์สรรเสริญพระองค์ ที่พระองค์ได้ทรงปิดบังสิ่งเหล่านี้ ไว้จากผู้มีปัญญาและผู้ฉลาด แต่ได้สำแดงให้ผู้น้อยรู้ 26 ข้าแต่พระบิดา พระองค์ทรงเห็นชอบดังนั้น 27 “พระบิดาของเรา ได้ทรงมอบสิ่งสารพัดให้แก่เรา และไม่มีใครรู้จักพระบุตร นอกจากพระบิดาและไม่มีใครรู้จักพระบิดานอกจากพระบุตร และผู้ที่พระบุตรประสงค์จะสำแดงให้รู้ (มัทธิว 11:25-27)

นี่เป็นภาพความคล้ายคลึงของความขัดสนฝ่ายวิญญาณ สิ่งที่คุณเห็นคือเด็กไม่มีอำนาจ ไม่มีแรง ไม่มีกำลัง สั่งให้ใครทำอะไรไม่ได้ และพระเยซูตรัสว่า “พระองค์ได้สำแดงให้รู้” ว่าพวกเขาขัดสนฝ่ายวิญญาณอย่างชัดเจนในตอนท้ายของข้อ 27 สำหรับ “ผู้ที่พระบุตรประสงค์จะสำแดงให้รู้”

ต่อไปก็ถึงพระวจนะข้อที่ผมโปรดมาก แต่อาจยังเข้าไม่ถึงได้ทั้งหมด:

“28 บรรดาผู้ทำงานเหน็ดเหนื่อยและแบกภาระหนัก จงมาหาเรา และเราจะให้ท่านทั้งหลาย หายเหนื่อยเป็นสุข 29 จงเอาแอกของเราแบกไว้ แล้วเรียนจากเรา เพราะว่าเราสุภาพและใจอ่อนน้อม และจิตใจท่านทั้งหลายจะได้พัก 30 ด้วยว่าแอกของเราก็พอเหมาะ และภาระของเราก็เบา” (มัทธิว 11:28-30)

นี่ใช่แนวคิดเดียวกับคำเทศนาบนภูเขาหรือไม่? ใช่คนที่สิ้นเนื้อประดาตัวฝ่ายวิญญาณภายใต้ภาระหนักของบทบัญญัติยูดาย ถูกกฎเกณฑ์ข้อบังคับต่างๆบดขยี้หรือไม่? พระเยซูตรัสว่า “จงมาหาเรา จงมาหาเรา” ผมคิดว่าพระองค์กำลังตรัสกับคนกลุ่มเดียวกัน ไม่ใช่กลุ่มคนที่มีชีวิตลำบาก แต่พระองค์กำลังตรัสกับคนที่ขัดสนฝ่ายวิญญาณ โดยใช้ภาพอธิบายในเรื่องเดียวกัน

มาดูสิ่งที่สามารถนำไปใช้กับข่าวประเสริฐ นักวิชาการหลายคนตั้งข้อสังเกตุว่ามัทธิว 5:3 “บุคคลผู้ใดรู้สึกบกพร่องฝ่ายวิญญาณ ผู้นั้นเป็นสุข” คือพื้นฐานของคำสอนทั้งหมดในคำเทศนาบนภูเขา เป็นพื้นฐานเพราะความบกพร่อง (ขัดสน) ฝ่ายวิญญาณที่จำเป็นสำหรับชีวิตนิรันดร์ ไม่มีใครเข้าสวรรค์ได้เพราะคิดว่าตนเองมีสิทธิ นอกจากพระเยซูคริสต์ มือของคุณต้องว่างเปล่าก่อนจะได้รับการเติมเต็มจากพระองค์ ในมือต้องไม่มีสิ่งใด เพราะนี่ไม่ใช่สิ่งที่เราทำได้ด้วยตนเอง ถ้าไม่ให้ตัวเราว่างเปล่า ถ้าไม่ให้ตัวเราขัดสนถึงที่สุด เราจะไม่ตระหนักถึงความสิ้นเนื้อประดาตัวของเราเอง นี่คือการงานแห่งพระคุณของพระเจ้า เป็นข้อพิสูจน์งานของพระองค์ในตัวเรา เราเห็นตนเองอย่างที่เราเป็น จึงพร้อมหันกลับมาหาพระองค์ ทรงเปลี่ยนจิตใจเราให้หาพระองค์ เราไม่มีสิ่งใดไปมอบให้พระองค์ได้ ไม่มีสิทธิใดไปอ้าง ไม่มีสิ่งใดที่จะทำให้พระเจ้าทำด้วยพระคุณให้เรา ทั้งหมดเป็นพระเมตตา ทั้งหมดเป็นพระคุณ

พระเจ้าทำให้สิ่งเหล่านี้เป็นไปได้อย่างไร? เกิดขึ้นได้อย่างไร? เราพูดถึงนาอามานใน 2พงศ์กษัตริย์ 5 พระเจ้าทรงใช้หลากหลายวิธี ถ้าเรามีเวลา เราคงจะได้คุยกันถึงตอนที่พระเจ้ากระชากพรมออกจากใต้คุณ และในทันทีคุณตระหนักได้ว่าคุณไม่มีสิ่งใดเหลือมอบให้พระองค์ได้ แต่พระเจ้าทรงทำสิ่งนั้นในชีวิตคุณ โดยผ่านพระวจนะและพระวิญญาณ บางครั้งพระองค์ทรงทำผ่านความบาปในชีวิตคุณ ด้วยสาเหตุบางอย่างมันก็แจ่มแจ้งแดงขึ้นมา ผ่านโศกนาฏกรรมในชีวิต ผ่านวิกฤติในครอบครัวหรือที่อื่นๆ ผ่านความเจ็บป่วย ปัญหาการเงิน ไม่ว่าจะแบบไหน พระเจ้าทรงใช้เหตุการณ์เหล่านั้นเพื่อนำคุณมาถึงพระองค์

นึกถึงความโศกเศร้า ผมสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นถ้าในนาทีที่เกิดอาการโศกเศร้า เวลาที่ตระหนักว่ามันว่างเปล่าเหลือแต่เพียงพระเจ้า? ทำให้นึกถึงถ้อยคำของดาวิด “จิตวิญญาณของข้าพเจ้าเอ๋ย ไฉนเจ้าจึงฝ่ออยู่”6 เราพูดกับตัวเอง “ทำไมเราถึงเศร้าโศกอย่างนี้? มองไปที่พระเจ้า มองไปที่พระเจ้าสิ” หนึ่งในอันตรายคือเราต้องไปจนถึงจุดที่ไม่เหลืออะไรเลย เหลือแต่ความว่างเปล่า ก่อนจะยอมหันกลับมาหาพระเยซู สำหรับพวกเราที่เป็นพ่อแม่ เป็นเพื่อน หรือเพื่อนบ้าน จุดอันตรายคือบางครั้งเราทำหลายสิ่งมากเพื่อช่วยบางคนไม่ให้ตกต่ำลงจนถึงก้น บึ้ง แต่ในความเป็นจริงแล้ว บางทีอาจเป็นงานแห่งพระคุณของพระเจ้าสำหรับพวกเขา เราต้องแยกแยะให้ดี เพราะบางทีเราอาจใช้เป็นข้ออ้างง่ายๆที่จะไม่ไปช่วยคนที่ลำบาก เพราะกลัวว่าจะไปแทรกแซงการงานของพระเจ้า เราต้องระวังและมองให้ออกว่าพระเจ้ากำลังนำใครบางคนไปถึงจุดที่สิ้นเนื้อ ประดาตัว หรือพระองค์อาจดึงบางคนเข้าให้ใกล้พระองค์ เราต้องรอบคอบต่อการตอบสนองสิ่งที่พระเจ้ากำลังทำในชีวิตผู้อื่น

จะนำไปใช้ในการประกาศอย่างไร? ผมคิดว่าเราต้องมองข่าวประเสริฐที่เรานำไปใช้ให้รอบคอบ หลายปีมาแล้วผมทำให้บางคนไม่พอใจ เป็นพี่น้องคริสเตียนที่ผมนับถือ เขาพูดว่า “ถ้าคุณกำลังจะนำใครบางคนมาถึงพระคริสต์ (คนที่ยโสมาก) คุณต้องดึงดูดคนๆนั้นด้วยความภาคภูมิใจของเขา” ผมไม่คิดอย่างนั้น เราต้องระมัดระวังในการนำเสนอพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ เราต้องไม่ดึงดูดพวกเขาด้วยสิ่งที่พระเจ้าบอกให้เขาละทิ้ง อย่าดึงดูดคนด้วยความโลภ อย่าบอกพวกเขาว่าถ้ามาเชื่อในพระเยซูแล้วชีวิตจะมีแต่ความร่ำรวย และทุกอย่างมีแต่จะดีขึ้น มันอาจไม่เป็นอย่างนั้น พระเจ้าหยิบยื่นการอภัยบาป และมอบของขวัญแห่งชีวิตนิรันดร์ให้ เราจึงต้องระวังต่อข่าวประเสริฐที่นำไปประกาศ

อย่างที่พูดไปแล้ว การยอมรับว่าตนเองล้มละลายฝ่ายวิญญาณเป็นสิ่งจำเป็นก่อนจะได้รับความรอด แต่ต้องบอกด้วยว่าจำเป็นสำหรับชีวิตคริสเตียน เราต้องระวังที่จะไม่พูดกับตัวเองว่า “โอเค ฉันได้รับความรอดแล้ว รู้แล้วว่าตัวเองเคยล้มละลายฝ่ายวิญญาณ เคยติดลบ แต่ในที่สุดก็ได้เคลียร์หนี้แล้ว” ไม่ใช่นะครับ ในหนังสือเฉลยธรรมบัญญัติ พระเจ้าตรัสกับชาวอิสราเอลว่าเมื่อพวกเขาไปถึงแผ่นดิน (หลังพ้นจากการเป็นทาส) แล้วจู่ๆจากที่ไม่เคยมีที่เป็นของตนเอง ตอนนี้ได้มีเรือกสวนไร่นา ถ้าเป็นเรา ก็คงร้องว่า “โว้ว สุดยอดเลย” ปัญหาคือพระเจ้าบอกว่า หลังจากนั้นสักพัก เมื่อพวกเขาได้กินพืชผลจากสวนที่ไม่ได้ปลูก เก็บเกี่ยวจากไร่นาที่ไม่ได้ลงแรง — สิ่งเหล่านี้พระองค์มอบให้พวกเขาโดยพระคุณ — แต่จะมาถึงวันหนึ่งที่พวกเขาบอกกับตัวเอง “ดูสิ เพราะเราเป็นคนชอบธรรมพระเจ้าถึงประทานสิ่งเหล่านี้ให้ เป็นเพราะเราจริงๆนะ” – แล้วคุณก็เริ่มมองสิ่งต่างๆเปลี่ยนไป

เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นกับคริสเตียนได้ คนที่เริ่มพูดว่า “นี่เป็นเพราะเราเป็นคนชอบธรรม” แต่พระเจ้าตรัสว่า “ไม่ใช่เลย แต่เป็นเพราะความบาปของเจ้า เจ้าชั่วร้ายยิ่งกว่า และเราได้เหวี่ยงเจ้าออกไป” มีทางเป็นไปได้เมื่อเรารับของขวัญที่พระเจ้าประทานให้ แต่แล้วกลับไปอ้างเอาความดีความชอบเข้าตัวเอง และสิ่งนี้เองที่ทำให้การนมัสการเป็นเรื่องสำคัญมากๆ การนมัสการจะนำเราย้อนกลับไป บอกว่าพระพรที่เรามีอยู่ พระเจ้าให้มาอย่างไร

เป็นสิ่งเดียวกับของประทานฝ่ายวิญญาณ เป็นเรื่องที่ผมเองต้องต่อสู้หน่อย คือสู้กับความขัดแย้งระหว่างความจริงว่าของประทานฝ่ายวิญญาณเป็นกำลังที่พระ เจ้ามอบให้ และความจริงที่ อ.เปาโลกล่าวว่าเมื่อเราอ่อนกำลังเราจะเข้มแข็ง แล้วจะทำให้กลมเกลียวไปด้วยกันอย่างไร? ผมคิดว่าเราต้องพูดว่าเรารับรู้ถึงการล้มละลายฝ่ายวิญญาณในฐานะคริสเตียน – การดำเนินชีวิตคริสเตียน การนำคนมาถึงความรอด และมีชีวิตแห่งชัยชนะ – เราเองไม่สมควรได้ ต้องเข้ามาวางใจในพระองค์และการจัดเตรียมที่ประทานให้ เมื่อไรที่เรารู้สึกว่าเราไม่ขัดสน เริ่มรู้สึกมั่งมี และรู้สึกว่าการเข้าเฝ้าพระเจ้าคือ “ไม่ต้องโทรมานะ แล้วจะโทรไปหา” ครับผมคิดว่าเมื่อพระเจ้าตรัสกับคนอิสราเอล พระองค์ตรัสกับเรา บอกกับอิสราเอลว่า “ขอเตือนเจ้าสักเรื่อง (ซึ่งบันทึกไว้ชัดเจนในเลวีนิติ) แผ่นดินนี้ไม่ใช่ของเจ้า” เมื่อชาวอิสราเอลเข้าสู่แผ่นดินคานาอัน พระเจ้าไม่ได้บอกว่า “โอเค มันเป็นของเจ้าแล้ว” แต่พระองค์บอกว่า “นี่เป็นแผ่นดินของเรา เจ้าจะได้อยู่ในแผ่นดินนี้ตราบที่เจ้าทำตามกฎเกณฑ์ของเรา และเมื่อไรที่เจ้าหยุด เจ้าก็ต้องออกไปเสีย เพราะที่นี่คือแผ่นดินของเรา”

เมื่อพูดถึงของประทานฝ่ายวิญญาณในพระคัมภีร์ใหม่ อ.เปาโลกล่าวไว้ใน 1โครินธ์ 4:7 “ท่านมีอะไรที่ท่านมิได้รับมา?” ทุก สิ่งที่คุณมี ที่คุณกำลังอวดอ้าง (อย่างที่ชาวโครินธ์ทำ) เป็นของประทานโดยพระคุณ ศัพท์สำคัญตรงนี้คือ “ผู้อารักขา” ผู้อารักขาจะตระหนักว่าสิ่งที่ได้รับมอบมา คือสิ่งที่ให้เขามีหน้าที่ดูแล แต่ไม่ใช่เจ้าของ ของประทานของเรา มรดกฝ่ายวิญญาณของเรา พระพรทุกอย่างที่พระเจ้าประทานให้ พระองค์มอบไว้ในมือเราเพื่อให้ทำหน้าที่อารักขา แต่ยังเป็นของๆพระเจ้า ไม่ใช่ของเรา ดังนั้นเราอวดอ้างไม่ได้เลย ถ้าจะอวด เราต้องอวดพระเจ้าเท่านั้น

แล้วเรื่องเห็นคุณค่าในตนเองล่ะ? ผมเคยได้ยินคริสเตียนพูดว่า “ปัญหาในคุกของเราคือ การไม่เห็นคุณค่าในตนเอง” ผมขอบอกนะครับ เราต้องประเมินความคิดนี้ให้ดีๆจากพระวจนะของพระเจ้า พระวจนะไม่ได้บอกว่า “บุคคลผู้ใด มองเห็นคุณค่าในตนเอง ผู้นั้นเป็นสุข” ผมจำไม่ได้ว่าจอห์น ไพเพอร์เขียนไว้ตรงไหน ตอนที่ปาฐกถาให้ที่ประชุมครูรวีฟัง เขาบอกว่าถ้าเอาประโยคนี้มาเรียบเรียงใหม่ “เราไม่จำเป็นต้องสร้างคุณค่าให้ตนเอง เด็กๆของเรามีอยู่แล้วเต็มไปหมด ที่เราเรียกกันว่า “อัตตา” – ความมุ่งมั่นเชื่อมั่นในตนเอง – มีมากด้วย พวกเขาเกิดมาพร้อมกับสิ่งนี้” “แต่” ไพเพอร์กล่าวว่า “เมื่ออบรมเด็กของเรา เราจำเป็นต้องสอนเรื่องพระเจ้าให้เขาฟัง จำเป็นต้องพูดกับเขาถึงความบริสุทธิ์ของพระเจ้า พวกเขาต้องเข้าใจให้ได้ว่าตนเองเป็นใครในความสัมพันธ์กับพระเจ้า” ครับ อาจมีหลายสิ่งที่เราไว้ใจ – บุคลิกของเรา ความสำเร็จของเรา สังคมและคนที่เราเกี่ยวข้องด้วย – ความเป็นจริงคือเรามักจะพบคุณค่าของเราในสิ่งเหล่านี้ เคยคิดหรือไม่ว่าทำไม อ.เปาโลต้องบอกให้เราไปสร้างความสัมพันธ์กับผู้ที่ต่ำต้อยกว่า? เพราะพวกเขาไม่มีสถานะใดๆ แต่กลับเป็นพวกที่พระเยซูออกไปตามหา ถ้าคนที่ขัดสนฝ่ายวิญญาณคือคนที่ได้รับพระพร คนเหล่านั้นก็คือคนที่ออกไปพร้อมกับข่าวประเสริฐแห่งพระกิตติคุณ

สิ่งต่างๆนี้ที่เราเอาตัว เอาหัวใจไปมอบไว้ – นักกีฬาที่เก่งๆ ดารา นักร้องและเซเลบที่ดังๆ คนที่มีอำนาจบารมี ทุกสิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เราต้องละออกมา แล้วยังสิ่งที่ดูเหมือนไปได้สวยในชีวิตเรา เช่น เวลาที่คุณมองไปที่สถิติของผู้บริหารในบริษัทหรือองค์กรต่างๆ บ่อยครั้งพวกเขาจะดูดี สวยงาม มีสง่า ทำไมครับ? เพราะคนเหล่านั้นต้องปรุงแต่ภาพลักษณ์ให้เป็นที่นิยม เราจึงต้องระวังไม่ทำหรือดำเนินชีวิตในแบบเดียวกันต่อเบื้องพระพักตร์พระ เจ้าในหลักการเดียวกับที่เราสร้างเพื่อให้มนุษย์ชื่นชม เราต้องนำทุกสิ่งมาประเมินใหม่ในความสว่างที่พระเจ้าตรัสไว้ในพระวจนะของ พระองค์

เราต้องเข้ามาสู่เวลาแห่งการนมัสการ เวลาที่เราจำได้ว่าเรามาจากไหน พระเจ้าคือผู้ใด และเราเป็นใคร และก็ไม่แปลกที่เราจะทำสิ่งนี้ทุกอาทิตย์ด้วยกันในพระกาย เราจำเป็นต้องทำเช่นนี้ในฐานะคริสเตียน “บุคคลผู้ใด รู้สึกบกพร่องฝ่ายวิญญาณ ผู้นั้นเป็นสุข” ผมต้องขอพูดเรื่องสุดท้ายอีกเรื่อง อาจมีบางคนกำลังดิ่งลงสู่ก้นบึ้งของชีวิต แล้วเขาสงสัยว่ามันคุ้มที่จะไปต่อหรือไม่ ข่าวดีคือ “บุคคลผู้ใด รู้สึกบกพร่องฝ่ายวิญญาณ ผู้นั้นเป็นสุข” ถ้า พระเจ้านำคุณไปจนถึงจุดที่เห็นว่าในตนเองไม่มีอะไรดีเลยที่สามารถให้พระเจ้า ได้ คุณก็กำลังอยู่ในที่ๆดีที่สุดที่คุณเคยไป และผมขอให้คุณเข้ามาวางใจในพระเยซู ในพระองค์เท่านั้น เพื่อจะรับเอาความรอด


1 153 นอกจากที่กล่าวไปแล้ว พระวจนะที่นำมาอ้างอิงทั้งหมดมาจาก NET Bible (The NEW ENGLISH TRANSLATION) เป็น ฉบับแปลใหม่ทั้งหมด ไม่ใช่นำฉบับเก่าในภาษาอังกฤษมาเรียบเรียงใหม่ ใช้ผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการพระคัมภีร์มากกว่า ยี่สิบคน รวบรวมข้อมูล ทั้งจากภาษาฮีบรูโดยตรง ภาษาอาราเมข และภาษากรีก โครงการแปลนี้เริ่มมาจากที่เราต้องการนำ พระคัมภีร์ เผยแพร่ผ่านสื่ออีเลคโทรนิค เพื่อรองรับการใช้งานทางอินเตอร์เน็ท และซีดี (compact disk) ที่ใดก็ตามในโลก ที่ต่อเข้าอินเตอร์เน็ทได้ ก็สามารถเรียกดู และพริ้นทข้อมูลไว้เพื่อใช้ศึกษาเป็นการส่วนตัวได้โดยไม่คิดมูลค่า นอกจากนี้ ผู้ใดก็ตาม ที่ต้องการนำข้อมูลเกี่ยวกับพระคัมภีร์ไปเผยแพร่ต่อโดยไม่คิดเงิน สามารถทำได้จากเว็บไซด์ : www.netbible.org.

2 154 เป็นต้นฉบับของบทเรียนที่สิบในบทเรียนต่อเนื่องของพระกิตติคุณมัทธิว จัดทำโดย Robert L. Deffinbaugh 27 เมษายน 2003

3 155 R. Kent Hughes, The Sermon on the Mount: The Message of the Kingdom (Wheaton, Illinois, Crossway Books, 2001), p. 16.

4 156 จากข้อเขียนอันโด่งดังของจอห์น ไพเพอร์ (see Desiring God Ministries http://www.desiringgod.org) http://desiringgod.org/library/sermons/86/021686.html

5 157 Max Lucado, The Applause of Heaven, (Dallas, Texas, Word Publishing, 1990) p. 31.

6 158 สดุดี 42:11 สดุดี 43:5 The Holy Bible, New International Version (Colorado Springs, Colorado, International Bible Scociety, 1984)

Related Topics: Spiritual Life

11. “บุคคลผู้ใดหิวกระหาย ความชอบธรรม” (มัทธิว 5:6)

Related Media

1คำนำ

“บุคคลผู้ใดหิวกระหายความชอบธรรม ผู้นั้นเป็นสุข เพราะว่าพระเจ้าจะทรงให้อิ่มบริบูรณ์” (มัทธิว 5:6)2

อีกครั้งที่ บทเรียนคำเทศนาบนภูเขาตอนนี้ด้วยข้อเขียนของ มาร์ทิน ลอยด์-โจนส์:

ขอเริ่มคำเทศนาบนภูเขาเป็นไปตามหลักการที่สมเหตุสมผล และสอดคล้องจากที่มีนำร่องมาก่อน เป็นบทสรุปตามตรรกะที่ดำเนินตามกันมา และเป็นบางสิ่งที่เราควรต้องขอบคุณอย่างซาบซึ้งต่อพระคุณของพระเจ้า ผมไม่รู้จักบททดสอบไหนที่ดีกว่า ที่ใครก็ตามสามารถนำมาใช้กับตนเองในความเป็นคริสเตียนเท่ากับพระวจนะข้อนี้ ถ้าพระวจนะข้อนี้เป็นหนึ่งในข้อที่คุณได้รับพระพรมากจากพระคัมภีร์ แน่ใจได้ว่าคุณเป็นคริสเตียนแท้ ถ้าไม่ คุณควรกลับไปสำรวจรากฐานชีวิตคริสเตียนของคุณอีกครั้ง3

พระวจนะสั้นๆตอนนี้นำข่าวแห่งความหวังใจมาให้เราอย่างเหลือเชื่อ เป็นข่าวที่ควรจุดประกายแห่งความปิติล้ำลึกในเราผู้เชื่อทุกคน เป็นความหวังแก่คนที่แสวงหาพระเยซูที่จะได้รับความอิ่มใจเต็มเปี่ยมที่มีแต่ ในองค์พระเยซูคริสต์เท่านั้น

ในแง่มุมหนึ่ง เราต่างก็มีส่วนสัมผัสกับพระวจนะตอนนี้ – เราหิวกระหาย เราไม่อาจสัมผัสได้ถึงความหิวกระหายลึกล้ำของคนในยุคนั้น ในสิ่งที่พวกเขากำลังเผชิญ แต่เราต่างมีประสบการณ์ความหิวกระหายที่ต้องการการเติมเต็ม แล้วก็กลับมาหิวใหม่ กลับมาใหม่ทุกๆวัน ผมจำได้ตอนที่อยากกินอาหารบางอย่าง ทั้งหิวและกระหายบอกไม่ถูก นึกถึงเวลาไปประเทศที่ไม่คุ้นเคย เช่นตอนไปเดินป่าหกวันในเขตอิเรียนชวาในอินโดนีเซีย เรามีแค่หมี่อินโดกิน เป็นหมี่กึ่งสำเร็จรูปเหมือนราเม็ง หลังจากหกวัน ผมมีภาพแฮมเบอร์เกอร์ สเต็ก และอาหารอื่นๆลอยไปมาในหัว ผมหิวและอยากกินอาหารแบบนี้จริงๆ ครั้งหนึ่งตอนกลับจากรัสเซีย ทีมพันธกิจของเราต้องพักค้างคืนที่กรุงโซล ประเทศเกาหลี เราถามนักเรียนที่ไปด้วยว่าอยากกินอะไรเป็นอาหารเที่ยง คิดว่าพวกเขาอาจอยากลองอาหารชั้นเลิศของเกาหลี แต่พวกเขากลับยืนยันจะกินแมคโดนัลด์และไอศครีมบาสกินรอบบินส์เท่านั้น เพราะไม่ได้กินอาหารอเมริกันมาหกสัปดาห์เต็ม พวกเขาเบื่ออาหารที่ไม่คุ้นลิ้น และกระหายหาอาหารที่ไม่ได้กินมาพักใหญ่ เราต่างก็คุ้นเคยกับเรื่องหิวกระหายดี และนี่คือสิ่งที่พระเยซูนำมาใช้อธิบายในคำเทศนาบนภูเขาตอนนี้

ให้เราอ่านบริบทจาก มัทธิว 5:1-12

ครั้นทอดพระเนตรเห็นคนมากดังนั้น พระองค์ก็เสด็จขึ้นไปบนภูเขาและเมื่อประทับแล้ว เหล่าสาวกของพระองค์มาเฝ้าพระองค์ แล้วพระองค์จึงตรัสสอนเขาว่า:

3 “บุคคลผู้ใด รู้สึกบกพร่องฝ่ายวิญญาณ ผู้นั้นเป็นสุข
เพราะแผ่นดินสวรรค์เป็นของเขา
4 “บุคคลผู้ใดโศกเศร้า ผู้นั้นเป็นสุข
เพราะว่าเขาจะได้รับการทรงปลอบประโลม
5 “บุคคลผู้ใดมีใจอ่อนโยน ผู้นั้นเป็นสุข
เพราะว่าเขาจะได้รับแผ่นดินโลกเป็นมรดก
6 “บุคคลผู้ใดหิวกระหาย ความชอบธรรม ผู้นั้นเป็นสุข
เพราะว่าพระเจ้าจะทรงให้อิ่มบริบูรณ์
7 “บุคคลผู้ใดมีใจกรุณา ผู้นั้นเป็นสุข
เพราะว่าเขาจะได้รับพระกรุณาตอบ
8 “บุคคลผู้ใดมีใจบริสุทธิ์ ผู้นั้นเป็นสุข
เพราะว่าเขาจะได้เห็นพระเจ้า
9 “บุคคลผู้ใดสร้างสันติ ผู้นั้นเป็นสุข
เพราะว่าพระเจ้าจะทรงเรียกเขาว่าเป็นบุตร
10 “บุคคลผู้ใดต้องถูกข่มเหงเพราะเหตุความชอบธรรม ผู้นั้นเป็นสุข
เพราะว่าแผ่นดินสวรรค์เป็นของเขา

“เมื่อเขาจะติเตียนข่มเหง และนินทาว่าร้ายท่านทั้งหลายเป็นความเท็จเพราะเรา ท่านก็เป็นสุข จงชื่นชมยินดี เพราะว่าบำเหน็จของท่านมีบริบูรณ์ในสวรรค์ เพราะเขาได้ข่มเหงผู้เผยพระวจนะทั้งหลาย ที่อยู่ก่อนท่านเหมือนกัน (มัทธิว 5:1-12)

ข่าวประเสริฐแห่งความหวังใจ!

ทำไมความหิวและกระหายจึงเป็นภาพสาธิตได้อย่างดี? เพราะน้ำและอาหารสำคัญต่อร่างกายอย่างไร ความชอบธรรมก็สำคัญต่อชีวิตฝ่ายวิญญาณเท่านั้น เราที่เป็นมนุษย์มีความหิวและกระหายไม่เพียงแต่อาหาร แต่ยังหิวกระหายความพอใจในชีวิตด้วย เราค้นหาส่วนต่างๆเพื่อจะได้รับการเติมเต็ม ได้รับความอิ่มใจ แต่กลับจบลงด้วยความผิดหวัง ไม่เคยพอใจ

11 พระองค์ทรงกระทำให้สรรพสิ่งงดงามตามฤดูกาลของมัน พระองค์ทรงบรรจุนิรันดร์กาลไว้ในจิตใจของมนุษย์ แต่มนุษย์ยังมองไม่เห็นว่า พระเจ้าทรงกระทำอะไรไว้ตั้งแต่ปฐมกาลจนกาลสุดปลาย (ปัญญาจารย์ 3:11)

จอห์น ไพเพอร์ กล่าวว่า: “พระเจ้าทรงใส่นิรันดร์กาลไว้ในหัวใจของเรา และเรามีความโหยหาที่ไม่อาจเติมเต็มได้”4 เบลส พาสคาล กล่าวว่าเราต่างก็มี ช่องว่างของพระเจ้า” อยู่ในชีวิต มนุษย์ทุกคนหิวและกระหาย แต่ปัญหาคือเราพยายามเติมช่องว่างที่กระหายนั้นด้วยสิ่งอื่นๆที่ไม่ใช่ความ ชอบธรรมของพระเจ้า คุณบางคนที่กำลังอ่านพระวจนะตอนนี้ อาจมีความว่างเปล่าและไม่เคยมีความพอใจเลย คุณพยายามเติม “ช่องว่างของพระเจ้า” ในชีวิตด้วยสิ่งสารพัด แต่ก็ยังว่างเปล่า ไม่เคยอิ่มใจ มีข่าวล้ำเลิศแห่งความหวังใจให้คุณ ถ้าคุณกำลังแสวงหาคำตอบ

1 “เชิญทุกคนที่กระหาย จงมาถึงน้ำ และผู้ที่ไม่มีเงิน มาซื้อกินเถิด มาซื้อเหล้าองุ่นและน้ำนมเถิด โดยไม่ต้องเสียเงินเสียค่า 2 ทำไมเจ้าจึงใช้เงินของเจ้าเพื่อของซึ่งไม่ใช่อาหาร และใช้ทรัพยากรซื้อสิ่งซึ่งมิให้อิ่มใจ จงเอาใจใส่ฟังเรา และรับประทานของดี และให้ตัวปีติยินดีในไขมัน (อิสยาห์ 55:1-2)

11 มีประชาชาติใดเคยได้เปลี่ยนพระของตน ถึงแม้ว่าพระเหล่านั้นไม่เป็นพระ แต่ประชากรของเราได้เอาศักดิ์ศรีของเขา แลกกับสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์อย่างใด” 12 พระเจ้าตรัสว่า “สวรรค์ทั้งหลายเอ๋ย จงตกตะลึงด้วยสิ่งเหล่านี้ จงสยดสยองและจงเริศร้างเสียเลย 13 เพราะว่าประชากรของเราได้กระทำ ความชั่วถึงสองประการ เขาได้ทอดทิ้งเราเสีย ซึ่งเป็นแหล่งน้ำเป็น แล้วสกัดหินขังน้ำไว้สำหรับตนเอง เป็นแอ่งแตกที่ขังน้ำตาย ซึ่งขังน้ำไม่ได้ (เยเรมีย์ 2:11-13)

พระวจนะสองตอนด้านบนมีพลังมาก เรากำลังจ่ายเงินของเราไปในสิ่งที่ไม่อาจทำให้อิ่มใจ เรากำลังดื่มจากบ่อที่ขังน้ำไว้ไม่ได้ ความอิ่มใจของเราไม่อาจเติมได้ด้วยสิ่งของๆโลกนี้ เราพยายามเติมความพอใจด้วยเงินทอง อำนาจ การศึกษา เรื่องเพศ ภาพโป๊ คนรักทั้งชายและหญิง ของเล่นแบบผู้ใหญ่ ได้ครอบครองทรัพย์สินของโลกที่อาจทำให้เรามีความสุขเพลิดเพลินได้เพียงชั่ว คราว แต่ทุกสิ่งเหล่านี้นำไปสู่ความกระหายที่ลึกลงไปอีก โหยหาความอิ่มใจ เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่อาจดับความกระหายเราได้ ซี เอส ลูวิส กล่าวว่า:

เราเป็นสิ่งทรงสร้างที่มีหัวใจครึ่งเดียว วิ่งวนไปมา มึนเมาด้วยเหล้า เรื่องเพศ และความทะเยอทะยาน ทั้งๆที่มีผู้หยิบยื่นความอิ่มเอิบใจไม่รู้จบให้ เหมือนเด็กไม่ประสาที่อยากเล่นดินโคลนอยู่ในสลัม เพราะนึกไม่ออกว่าการได้ไปเที่ยวพักร้อนที่ชายทะเลเป็นอย่างไร เราเป็นพวกที่หลงไหลอะไรๆได้ง่ายดาย157

เป็นถ้อยคำจาก ซีเอส ลูวิสที่มีพลังมาก เราที่เป็นมนุษย์ เป็นพวกที่หลงไหลอะไรๆได้ง่ายดาย เราวิ่งวุ่นไปมาด้วยหลายสิ่งที่ไม่เคยให้ความพอใจ สิ่งที่ไม่สามารถและไม่อาจเติมช่องว่างและความว่างเปล่าในชีวิตได้ ทั้งหมดเป็นเพราะเราหลงไหลอะไรๆได้ง่ายดาย เราคิดว่าสิ่งของๆโลกจะทำให้เราอิ่มใจ แต่กลับจบลงที่ไม่เคยได้ตามใจปรารถนา และส่วนใหญ่เป็นเพราะเราแสวงหาสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ความชื่นชมยินดีที่เสนอให้เรา สันติสุขที่มอบให้เรา ความอิ่มเอิบใจที่มีให้เรา เป็นสิ่งเหลือเชื่อถ้าเพียงแต่เรายึดเอาองค์พระเยซูคริสต์และข้อเสนอของ พระองค์เท่านั้น

อีกตัวอย่างที่ยิ่งใหญ่สำหรับเรื่องนี้คือบุตรน้อยหลงหายในลูกา 15:11-32 บุตรคนเล็กเอามรดกที่พ่อแบ่งให้ ออกจากบ้านไปอยู่เมืองไกล ล้างผลาญมรดกที่พ่อให้ อยู่อย่างหรูหราฟุ่มเฟือย ไม่เคยพอใจ จนเงินทองหมดสิ้น เขาเป็นพวกหลงไหลอะไรๆได้ง่ายดาย โง่พอที่จะคิดว่าชีวิตคือสิ่งเหล่านี้ แต่ไม่เป็นอย่างนั้น ตอนที่มีเงินเยอะ เพื่อนก็เยอะและมีปาร์ตี้เยอะ แต่เมื่อเงินหมด เพื่อนก็หมด ถึงจุดนี้ เขาเริ่ม “ดิ่งลง” อย่างแรง ต้องไปอาศัยเลี้ยงหมูและกินอาหารหมู มาร์ทีน ลอยด์-โจนส์ นำคำของ เจ เอ็น ดาร์บี้มาพูดถึง:

แค่หิวกระหายยังไม่พอ คงต้องอดอยากจนใกล้ตายถึงจะรู้ว่าหัวใจเขาเป็นอย่างไร เมื่อบุตรน้อยหิวโหย ต้องไปกินแกลบ แต่เมื่อหิวจัดจนใกล้ตาย ต้องกลับไปหาบิดาของตน158

ในมัทธิว 5:6 พระเยซูไม่ได้ตรัสถึงความหิวกระหายตามปกติ แต่ตรัสถึงความหิวในความชอบธรรมจนแทบจะใกล้ตาย

นึกภาพผู้ฟังที่นั่งฟังพระเยซูอยู่ที่นั่น เป็นชาวกาลิลี ซึ่งไม่เป็นที่ชอบใจของชาวยิวกลุ่มอื่นๆ เป็นพลเมืองชั้นต่ำ ถูกมองเหมือนกับที่ชาวยิวมองชาวสะมาเรีย คุณอาจจำสิ่งที่ผมพูดไว้ในบทเรียนก่อนหน้าที่เรียกว่า “ทฤษฎีผกผัน”159 ได้ อยากให้คุณกลับไปดูสิ่งที่ผมอธิบายถึงชาวกาลิลี

มองไปที่ฝูงชนที่ห้อมล้อมพระเยซู คุณคิดว่าพวกเขามองเรื่องความชอบธรรมเป็นอย่างไร? ผมรับรองว่ามุมมองเรื่องความชอบธรรมของพวกเขาน่าจะแฉลบออกไปจนถึงขั้นผิด พลาด เพราะฝีมือของพวกผู้นำศาสนาที่นำเสนอจนผิดเพี้ยน เมื่อได้อ่านและศึกษามัทธิว 5:6 คุณต้องมองข้ามไปที่มัทธิว 5:20 เพื่อจะเห็นการเชื่อมโยงของพระเยซู มุมมองในเรื่องความชอบธรรมของคนเหล่านี้เป็นมุมมองที่ผิด พระเยซูกำลังแก้ไขมุมมองพวกเขาใหม่ แสดงให้พวกเขาเห็นว่าเป็นเรื่องของจิตใจ

เพราะเราบอกท่านทั้งหลายว่า ถ้าความชอบธรรมของท่าน ไม่ยิ่งกว่าความชอบธรรมของพวกธรรมาจารย์ และพวกฟาริสี ท่านจะไม่มีวันได้เข้าสู่แผ่นดินสวรรค์ (มัทธิว 5:20)

ผมมองเห็นว่านี่เป็นภาพความชอบธรรมของผู้ที่ฟังอยู่ ภาพผู้นำศาสนาที่ภายนอกดูว่าชอบธรรมและเคร่งครัดศรัทธา แต่ภายในเต็มด้วยความบาป ทุจริตและฉ้อฉล พวกเขามองเห็นทัศนคติที่ชอบตัดสินของพวกฟาริสี ความหน้าซื่อใจคดของคนพวกนี้ซึ่งอาจจะดูดีจากภายนอก แต่ภายในพวกเขาผิดพลาดทำในสิ่งที่กำลังทำอยู่ พวกฟาริสีทำราวกับว่าการกระทำของพวกเขาทำให้เกิดความชอบธรรมและถูกต้องในสาย พระเนตรพระเจ้า พระวจนะตรงนี้ พระเยซูทรงแสดงให้เห็นถึงระยะห่างระหว่างพระเจ้าและมนุษย์ และตรัสถึงความชอบธรรมของตนเองของพวกฟาริสี รวมถึงเรื่องที่อยู่ภายในใจของฝูงชนที่นั่งฟังอยู่ด้วย ตรงนี้ที่พระเยซูทรงยกระดับขึ้น และพูดถึงเรื่องของจิตใจ พระองค์บอกกับฝูงชนว่าพระองค์คือความชอบธรรมเที่ยงแท้นั้น เป็นผู้ที่คนต่างก็กระหายหา และเป็นผู้เดียวที่สามารถเติมเต็มความว่างเปล่าภายในพวกเขาได้ พระองค์กำลังบอกว่าพระองค์เองคือข่าวประเสริฐแห่งพระกิตติคุณ พระกิตติคุณมาถึงแล้ว และอยู่ในพระองค์ พระเยซูตรัสกับพวกเขาว่าพระองค์คือเหตุและหนทางแห่งความอิมใจที่สมบูรณ์

ถ้ามองไปที่พระวจนะตอนอื่นๆ เราจะเห็นพระองค์พูดในเรื่องเดียวกัน พระเยซูทรงเป็นทางเดียวไปสู่ความชอบธรรม และความชอบธรรมของพระองค์มอบความอิ่มเอิบพึงพอใจได้

หญิงที่บ่อน้ำ – พระเยซูทรงตอบและบอกกับเธอว่า “ทุก คนที่ดื่มน้ำนี้จะกระหายอีก แต่ผู้ที่ดื่มน้ำซึ่งเราจะให้แก่เขานั้น จะไม่กระหายอีกเลย น้ำซึ่งเราจะให้เขานั้น จะบังเกิดเป็นบ่อน้ำพุในตัวเขาพลุ่งขึ้นถึงชีวิตนิรันดร์” (ยอห์น 4:13-14)

เลี้ยงคน 5000 – พระเยซูตรัสกับเขาว่า “เรา บอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า ท่านทั้งหลายตามหาเรามิใช่เพราะได้เห็นหมายสำคัญ แต่เพราะได้กินขนมปังอิ่ม อย่าขวนขวายหาอาหารที่เสื่อมสิ้นไป แต่จงหาอาหารที่ดำรงอยู่คืออาหารแห่งชีวิตนิรันดร์ ซึ่งบุตรมนุษย์จะให้แก่ท่าน เพราะพระเจ้าคือพระบิดาได้ทรงประทับตรามอบอำนาจแก่พระบุตรแล้ว” (ยอห์น 6:26-27)

พระเยซูคริสต์ทรงเป็นผู้เดียวที่เติมเต็มความพึงพอใจได้ และพระวจนะข้อนี้ในมัทธิว พระองค์เสนอประเด็นนี้ให้กับผู้ที่กำลังนั่งฟัง สำหรับบางคน คำสอนนี้นำความสดชื่นใจมาให้ เพราะพวกเขาเห็นฟาริสีและความชอบธรรมของคนเหล่านี้ที่ทำให้ “หมดศรัทธา” เดี๋ยวนี้พวกเขามีมุมมองใหม่ในพระคริสต์ ได้รับความพึงพอใจผ่านทางพระองค์ เป็นความชอบธรรมเที่ยงแท้ แต่คนอื่นๆในกลุ่มผู้ฟังก็ยัง “หมดศรัทธา” ผมเชื่อว่ามีพวกผู้นำศาสนาฟังอยู่ด้วย และรู้สึกโกรธแค้นไม่พอใจ เพราะพระเยซูตรัสว่าพวกเขาไม่อาจทำให้พระเจ้าพอพระทัยได้ด้วยบทบัญญัติและ ความชอบธรรมของตนเอง ความพอพระทัยของพระเจ้ามีในความชอบธรรมของพระเยซูคริสต์เท่านั้น

นี่เป็นข่าวแห่งความหวังใจเที่ยงแท้สำหรับผู้หลงหายและกำลังจะพินาศ สำหรับคนในสมัยของพระเยซูและในสมัยของเรา ความว่างเปล่าที่มีในชีวิตพวกเขาและพวกเรา จะเติมเต็มได้ในองค์พระคริสต์เท่านั้น เป็นความชอบธรรมเที่ยงแท้ มีได้ด้วยความหิวกระหายในสิ่งที่พระเยซูเติมเต็มช่องว่างในใจให้ได้ สิ่งต่างๆในโลกไม่อาจทำได้ มีแต่ในพระเยซูเท่านั้น นี่เป็นคำสอนทั้งในสมัยนั้นและในสมัยนี้ สำหรับคนที่ยังไม่รู้จักกับพระเยซูคริสต์ นี่คือข่าวแห่งกำลังใจ แล้วทำไมเราถึงยังวิ่งวนไปมา หลงไหลในสิ่งที่มีแต่จะสร้างความเจ็บปวดและความว่างเปล่ามากขึ้น? ข้อเสนอที่ให้ความชื่นชมยินดี สันติสุข และความพึงพอใจในท่ามกลางสิ่งอื่นๆมีในองค์พระเยซูคริสต์ – และในพระองค์เพียงผู้เดียว

สำหรับผู้เชื่อ

นี่เป็นข่าวแห่งความหวังใจสำหรับผู้ไม่เชื่อ แต่สิ่งนี้กำลังบอกอะไรแก่ผู้เชื่อ? ผมเชื่อแน่ว่าเป็นข่าวที่ยิ่งใหญ่ และสำคัญสำหรับพวกเราผู้เชื่อ คำถามแรกนั้นง่ายมาก –ชีวิตคุณในปัจจุบัน คุณหิวกระหายหรือกำลังติดตามสิ่งใด? ใจคุณอยู่ที่ไหน? ในแง่มุมหนึ่ง มันง่ายสำหรับเราผู้เชื่อที่เห็นว่าเราได้รับการเติมเต็มด้วยความอิ่มใจ เมื่อรับของขวัญแห่งความรอดที่ประทานให้ แต่บ่อยครั้งนี่กลับเป็นสิ่งที่ทำให้ความหิวกระหายของเราหยุดลง ผู้เชื่อหลายคนกำลังต่อสู้กับความบาป และพยายามเติมช่องโหว่ด้วยสิ่งอื่นที่ไม่ใช่พระเยซูคริสต์ ศิษยาภิบาลหลายคนตกลงไปในหล่มโศกนาฎกรรมเรื่องบาปทางเพศ หลายครอบครัวถูกทำลายเพราะไม่ได้หิวกระหายความชอบธรรมอีกต่อไป และจบลงที่การหย่าร้าง บางคนนั่งอยู่ในโบสถ์อาทิตย์แล้วอาทิตย์เล่าเฝ้ามองหาความพึงพอใจมาเติมให้ เต็ม เราในฐานะผู้เชื่อยังหิวกระหายความชอบธรรมอยู่หรือเปล่าครับ?

ความหิวและกระหายเป็นสิ่งที่มีและดำเนินไปต่ออย่างเนื่อง ทุกวันผมยังหิว พอใกล้ 11 โมง หรือบางวันก็ก่อนนั้น ท้องผมเริ่มร้อง คิดว่าถ้าไม่มีอะไรตกถึงท้องกะเพาะคงต้องพัง นี่เป็นชีวิตประจำวันที่เราแต่ละคนต้องเผชิญ เพราะร่างกายเราต้องการอาหาร เป็นเรื่องเดียวกับความกระหายและเป็นเรื่องเดียวในมิติชีวิตฝ่ายวิญญาณด้วย เราต้องหิวและกระหาย จนแทบจะตายเพื่อได้ความชอบธรรมในชีวิต เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นและต่อเนื่องไปแต่ละวัน เหมือนไปกินสเต็กที่ภัตตาคาร เนื้อหนานุ่มชิ้นใหญ่ มันฝรั่งอบ เฟรนช์ฟรายด์ เสิร์ฟพร้อมสลัด คุณทานจนอิ่ม แต่พอเช้าวันรุ่งขึ้น ก็อยากจะกินอีก รวมถึงวันต่อไปและต่อๆไปด้วย ความชอบธรรมก็เช่นกัน เมื่อได้ลิ้มรสและหิวกระหายความชอบธรรม เราควรหมั่นเติมความปรารถนาเพื่อให้ชีวิตเราเต็มอิ่มด้วยความชอบธรรม เราถูกเรียกให้ดำเนินชีวิตที่บริสุทธิ์ในฐานะผู้เชื่อ เราถูกเรียกให้มาดำเนินชีวิตในฐานะผู้บริสุทธิ์ของพระเจ้า เป็นดังกลิ่นหอมถวายแด่พระองค์

มาดูตัวอย่างจากพระวจนะในพระคัมภีร์เดิมสำหรับผู้ที่หิวกระหายความชอบธรรม

สดุดี 63:1-11

1 ข้าแต่พระเจ้า พระองค์ทรงเป็นพระเจ้าของข้าพระองค์
ข้าพระองค์แสวงพระองค์ จิตวิญญาณของข้าพระองค์กระหายหาพระองค์
เนื้อหนังของข้าพระองค์กระเสือกกระสนหาพระองค์ ในดินแดนที่แห้งและอ่อนโหย ที่ที่ไม่มีน้ำ
2 เช่นนั้นแหละ ข้าพระองค์จึงเคยเห็น พระองค์ในสถานนมัสการ
เห็นฤทธานุภาพและพระสิริของพระองค์
3 เพราะว่าความรักมั่นคงของพระองค์ดีกว่าชีวิต
ริมฝีปากของข้าพระองค์จะสรรเสริญพระองค์
4 เช่นนั้นแหละข้าพระองค์จะสรรเสริญพระองค์ ตราบเท่าชีวิตของข้าพระองค์
ข้าพระองค์ชูมือต่อพระนามของพระองค์
5 จิตใจของข้าพระองค์จะอิ่มหนำดังกินเนื้ออย่างดี และไขมัน
และปากของข้าพระองค์จะสรรเสริญพระองค์ด้วย ริมฝีปากที่ชื่นบาน
6 เมื่อข้าพระองค์คิดถึงพระองค์ ขณะอยู่บนที่นอน
และภาวนาถึงพระองค์ทุกๆยาม
7 เพราะพระองค์ทรงเป็นความอุปถัมภ์ของข้าพระองค์
ข้าพระองค์เปรมปรีดิ์อยู่ในร่มปีกของพระองค์
8 จิตวิญญาณของข้าพระองค์เกาะติดอยู่ที่พระองค์
พระหัตถ์ขวาของพระองค์ ชูข้าพระองค์ไว้
9 แต่บรรดาผู้แสวงชีวิตของข้าพระองค์เพื่อทำลาย
จะลงไปในที่ลึกแห่งแผ่นดินโลก
10 เขาจะถูกมอบไว้กับฤทธิ์ของดาบ
เขาจะเป็นเหยื่อของสุนัขจิ้งจอก
11 แต่พระราชาจะทรงเปรมปรีดิ์ในพระเจ้า
ทุกคนที่สาบานในพระนามของพระองค์จะ อวดอ้างพระนามนั้น
เพราะปากของคนมุสาจะถูกปิด

สดุดี 42:1-11

1 กวางกระเสือกกระสนหาลำธาร ที่มีน้ำไหลฉันใด
ข้าแต่พระเจ้า จิตวิญญาณของข้าพระองค์ ก็กระเสือกกระสนหาพระองค์ฉันนั้น
2 จิตวิญญาณของข้าพระองค์กระหายหาพระเจ้า หาพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์
เมื่อไรข้าพระองค์จะได้มาเห็นพระพักตร์พระเจ้า
3 ข้าพระองค์กินน้ำตาต่างอาหารทั้งวันคืน
ขณะที่คนพูดกับข้าพระองค์ วันแล้ววันเล่าว่า “พระเจ้าของเจ้าอยู่ที่ไหน”
4 เมื่อข้าพระองค์ระบายความในใจออกมา ข้าพระองค์ระลึกถึงสิ่งเหล่านี้ได้
คือข้าพระองค์ไปกับประชาชน และนำเขาไปเป็นกระบวนแห่ถึงพระนิเวศของพระเจ้า
ด้วยเสียงโห่ร้องยินดีและเสียงเพลงโมทนา คือมวลชนกำลังมีเทศกาลฉลอง
5 จิตใจของข้าพเจ้าเอ๋ย ไฉนเจ้าจึงฝ่ออยู่ ไฉนเจ้าจึงกระสับกระส่ายภายในข้าพเจ้า
จงหวังใจในพระเจ้า เพราะข้าพเจ้าจะถวายสดุดีแด่พระองค์อีก
ผู้ทรงเป็นความอุปถัมภ์ และพระเจ้าของข้าพเจ้า
6 จิตใจของข้าพระองค์ฝ่ออยู่ภายในข้าพระองค์
เพราะฉะนั้นข้าพระองค์จึงระลึกถึงพระองค์
ตั้งแต่แผ่นดินแห้งแม่น้ำจอร์แดนและแห่งภูเขาเฮอร์โมน ตั้งแต่เนินมิซาร์
7 เมื่อเสียงน้ำแก่งตก ที่ลึกก็กู่เรียกที่ลึก
บรรดาคลื่นและระลอกของพระองค์ ท่วมข้าพระองค์แล้ว
8 กลางวันพระเจ้าทรงบัญชาความรักมั่นคงของพระองค์
และกลางคืนเพลงของพระองค์อยู่กับข้าพเจ้า
เป็นคำอธิษฐานต่อพระเจ้าแห่งชีวิตของข้าพเจ้า
9 ข้าพเจ้าทูลพระเจ้าพระศิลาของข้าพเจ้าว่า
“ไฉนพระองค์ทรงลืมข้าพระองค์เสีย
ไฉนข้าพระองค์จึงต้องไปอย่างเป็นทุกข์ เพราะการบีบบังคับของศัตรู”
10 ปรปักษ์ของข้าพระองค์เยาะเย้ยข้าพระองค์ ประดุจแผลร้ายภายในร่างของข้าพระองค์
ในเมื่อเขากล่าวแก่ข้าพระองค์เสมอๆ อยู่ว่า “พระเจ้าของเจ้าอยู่ที่ไหน”
11 จิตวิญญาณของข้าพเจ้าเอ๋ย ไฉนเจ้าจึงฝ่ออยู่
ไฉนเจ้าจึงกระสับกระส่ายภายในข้าพเจ้า
จงหวังใจในพระเจ้า เพราะข้าพเจ้าจะถวายสดุดีแด่พระองค์อีก
ผู้ทรงเป็นความอุปถัมภ์ และพระเจ้าของข้าพเจ้า

พระวจนะด้านบน ผู้เขียนสดุดีขยายความถึงความโหยหา ความหิวกระหายในความชอบธรรม กวางกระเสือกกระสนหาลำธาร ที่มีน้ำไหลฉันใด ข้าแต่พระเจ้า จิตวิญญาณของข้าพระองค์ ก็กระเสือกกระสนหาพระองค์ฉันนั้น” คุณ มีความโหยหาและหิวกระหายความชอบธรรมเช่นนี้หรือไม่? เป็นสิ่งที่คุณขาดจากชีวิตไม่ได้หรือเปล่า? ขอบอกว่านี่คือสิ่งที่ผู้เชื่อทุกคนควรจะหิวกระหาย เราต้องกระหายหาพระเจ้าในแต่ละวัน ทุกเวลานาทีในชีวิต หิวและกระหายควรเป็นส่วนสำคัญที่สุดของชีวิตเรา ในแบบที่เราไม่อาจดำเนินต่อไปได้ถ้าขาดความอิ่มใจแบบนี้ หลายสิ่งที่เราทำ เราคิดว่าจะไม่ส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างเรากับพระเยซู แต่ที่จริงแล้วใช่ ทำไมเราที่เป็นผู้เชื่อถึงสนุกสนานกับการไปดูหนังที่มีเต่เรื่องผิดทางเพศ การหย่าร้าง ความรุนแรง อุทานพระนามและล้อเลียนพระเจ้าอย่างไม่สมควร ที่เป็นการลดตัวลงต่ำของมนุษยชาติ? ทำไมเราใส่ไว้ในสมอง ภาพและเนื้อเพลงที่เต็มไปด้วยเรื่องเพ้อฝันโกหกพกลม? สิ่งเหล่านี้ขัดขวางการดำเนินชีวิตระหว่างเรากับพระเจ้า มันดึงเราออกนอกทางแห่งความชอบธรรม หิวกระหายหาความชอบธรรมเป็นสิ่งที่ไม่ง่าย ที่จริงเป็นสิ่งที่ยากมาก เพราะเราต้องหักห้ามใจ ต้องตัดสินใจอย่างลำบาก ตัดสินใจที่จะแตกต่าง ไม่ทำในสิ่งที่ใครๆเขาก็ทำกัน ตั้งใจเหมือนที่ดาเนียลยืนหยัดตามลำพังท่ามกลางผู้คนรอบข้างในทุกแบบและทุก วัย ไม่ต้องสงสัยเลยในช่วงชีวิตเรา มีสงครามต่อสู้กับเนื้อหนังและความบาปเกิดขึ้นตลอดเวลา อย่างที่ผู้เขียนหนังสือฮีบรูกล่าวใน 12:3-4:

3 ท่านทั้งหลายจงคิดถึงพระองค์ผู้ได้ทรงยอมทนต่อคำคัดค้านของคนบาป เพื่อว่าท่านทั้งหลายจะได้ไม่รู้สึกท้อถอย 4 ในการต่อสู้กับบาปนั้น ท่านทั้งหลายยังไม่ได้สู้จนถึงกับต้องเสียโลหิตเลย

ไม่ได้หมายความว่าเราต้องเอาตัวออกไปจากโลกนี้ – แต่หมายถึงเราที่อาศัยอยู่ในโลก และดำเนินชีวิตในความชอบธรรมในท่ามกลางเพื่อนร่วมงาน เพื่อนฝูง และศัตรู ที่ชีวิตอยู่ห่างไกลจากความชอบธรรม หมายถึงเราที่ต้องเป็นเกลือและแสงสว่างที่สำแดงความรักของพระคริสต์ทั้งใน การกระทำและในคำพูด นี่เป็นความหิวกระหายในชีวิตของคุณหรือเปล่า? คนที่เขียนบทสดุดีมีความหิวกระหายในพระคริสต์เช่นนั้น และสิ่งนี้ครอบคลุมอยู่ในชีวิตพวกเขา เป็นสิ่งที่พวกเขาโหยหา ผู้เดียวที่จะมาเติมเต็มความพึงพอใจได้

ในพระคัมภีร์ใหม่ อ.เปาโลขยายความไว้ในหนังสือฟีลิปปี 3:1-21 ที่เราจะเห็นจากข้อ 8-12 ของพระวจนะตอนนี้:

8 ที่จริงข้าพเจ้าถือว่าสิ่งสารพัดไร้ประโยชน์ เพราะเห็นแก่ความประเสริฐแห่งความรู้ถึงพระเยซูคริสต์ องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้า เพราะเหตุพระองค์ ข้าพเจ้าจึงได้ยอมสละสิ่งสารพัด และถือว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นเหมือนหยากเยื่อเพื่อข้าพเจ้าจะได้พระคริสต์ 9 และจะได้ปรากฏอยู่ในพระองค์ ไม่มีความชอบธรรมของข้าพเจ้าเอง ซึ่งได้มาโดยธรรมบัญญัติ แต่มีมาโดยความเชื่อในพระคริสต์ เป็นความชอบธรรมซึ่งมาจากพระเจ้าซึ่งขึ้นอยู่กับความเชื่อ 10 ข้าพเจ้าต้องการจะรู้จักพระองค์ และได้รับประสบการณ์ในฤทธิ์เดช เนื่องในการที่พระองค์ทรงคืนพระชนม์นั้น และร่วมทุกข์กับพระองค์ คือยอมตั้งอารมณ์ตายเหมือนพระองค์ 11 ถ้าเป็นไปได้ข้าพเจ้าก็จะได้เป็นขึ้นมาจากความตายด้วย 12 มิใช่ว่าข้าพเจ้าได้แล้ว หรือสำเร็จแล้ว แต่ข้าพเจ้ากำลังบากบั่นมุ่งไป เพื่อข้าพเจ้าจะได้ฉวยเอาไว้เป็นของตน อย่างที่พระเยซูคริสต์ได้ทรงฉวยข้าพเจ้าไว้เป็นของพระองค์แล้ว

อ.เปาโลกำลังบอกว่า : (a) ไม่ใช่เป็นความชอบธรรมของท่านเอง แต่เป็นความเชื่อในองค์พระเยซูคริสต์ และ (b) ท่านกำลังบากบั่นมุ่งไปเพื่อคว้าพระคริสต์ไว้เหมือนที่พระองค์ได้คว้าท่าน ไว้แล้ว ท่านละทุกสิ่งที่เป็นของโลก และต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งความชอบธรรมในการดำเนินไปกับพระเยซู สิ่งที่ท่านปรารถนาเหนือสิ่งอื่นใดคือได้รู้จักพระคริสต์และฤทธิอำนาจในการ คืนพระชนม์ของพระองค์ เรามองสิ่งของๆโลกนี้ว่าเป็นหยากเยื่อเพื่อจะได้มาซึ่งองค์พระคริสต์หรือ ไม่? เราดิ้นรนเพื่อมีชีวิตที่ดำเนินในพระเจ้าและความชอบธรรมของพระองค์หรือ? เราไม่ได้พูดถึงภาพลักษณ์ภายนอกที่แสดงออกถึงความชอบธรรม แต่พูดถึงจิตใจภายใน สิ่งใดที่ใจคุณโหยหา? ใจคุณหิวกระหายในเรื่องใด? อย่างที่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเป็น และอย่างที่ อ.เปาโลกล่าวไว้ ข้าพเจ้าต้องการจะรู้จักพระองค์ และได้รับประสบการณ์ในฤทธิ์เดช เนื่องในการที่พระองค์ทรงคืนพระชนม์นั้น และร่วมทุกข์กับพระองค์” (ฟีลิปปี 3:10)

บทสรุป

มัทธิว 5:6 เป็นพระวจนะตอนที่มีพลังมาก เป็นตอนที่ค่อยๆเปิดเผยและส่งผ่านความหวังมาถึงเรา บุคคลผู้ใดหิวกระหายความชอบธรรม ผู้นั้นเป็นสุข เพราะว่าพระเจ้าจะทรงให้อิ่มบริบูรณ์” เราจะได้รับพระพรอย่างล้นเหลือเมื่อเราหิวกระหายความชอบธรรม เป็นไปได้อย่างไร? เพราะเมื่อเราอิ่มบริบูรณ์ เราก็จะไม่หิวเหมือนอย่างที่โลกนี้หิวกระหายอีกต่อไป เพราะเราได้รับความอิ่มใจแล้วในองค์พระเยซูคริสต์ หิวกระหายความชอบธรรมเป็นทั้งข่าวประเสริฐที่ต้องประกาศออกไปสำหรับผู้ที่ ยังไม่รู้จักกับพระเยซู และเป็นข่าวที่มาถึงผู้เชื่อในพระองค์แล้ว ผมขอสรุปด้วยคำถามธรรมดาๆ “คุณกำลังหิวกระหายในเรื่องใดในชีวิต?” ขอภาวนาให้คำตอบของเราคือ “ความชอบธรรม” ครับ


1 153 เป็นต้นบับบจากบทเรียนที่ 13 ในบทเรียนต่อเนื่องของพระกิตติคุณมัทธิว จัดเตรียมโดย เลนนี่ คอร์เรล 18 พฤษภาคม 2003

2 154 นอกจากที่แจ้งไปในบทเรียนอื่นๆก่อนหน้า พระวจนะ (ภาษาอังกฤษ) นำมาจากหลากหลายฉบับแปล

3 155 Martyn Lloyd-Jones, Studies in the Sermon on the Mount (Grand Rapid, Michigan: Eerdmans Publishers, 1971), Vol. 1, pp. 73-74.

4 156 John Piper, “Blessed Are Those Who Hunger and Thirst for Righteousness,” (Desiring God Ministries, 1986),

Related Topics: Basics for Christians, Sanctification

10. "บุคคลผู้ใดโศกเศร้า ผู้นั้นเป็นสุข” (มัทธิว 5:4)

Related Media

1คำนำ

ต้อง ขอสารภาพว่าผมมีความกลัวแบบเด็กๆในเรื่องความตายตอนยังไม่เชื่อพระเจ้า ตายายของผมมีบ้านอยู่ตรงข้ามสุสานใหญ่ของเมือง เวลาไปเยี่ยมพวกท่านผมไม่กล้ามองไปที่สุสาน แอบสงสัยว่าที่ฝั่งตรงข้ามมันเป็นอย่างไร แต่ความเป็นจริง ผมก็เหมือนคนส่วนใหญ่ ไม่ชอบความโศกเศร้า ตอนอยู่ชั้นมัธยม ครูที่เป็นคริสเตียนตายลงกระทันหัน ผมถูกเลือกให้เป็นตัวแทนของห้องไปงานศพ ผมทำตัวไม่ถูก ยังทำท่าคึกคะนอง เพราะไม่รู้วิธีรับมือกับความโศกเศร้า นี่เป็นหนึ่งในวิธีหลีกเลี่ยงบางสิ่งที่พระคัมภีร์บอกเราต้องหัดรับมือและ ต้องฝึกฝน

บทเรียนตอนนี้เป็นคำเทศนาบนภูเขาของมัทธิว 4:5 "บุคคลผู้ใดโศกเศร้า ผู้นั้นเป็นสุข เพราะว่าเขาจะได้รับการทรงปลอบประโลม”2 จะเป็นไปได้อย่างไรที่ผู้โศกเศร้าจะเป็นสุข และจะได้รับการปลอบประโลม? นี่เป็นข่าวดีที่พระกิตติคุณมอบให้ นี่เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำไมหลายปีมานี้ผมพูดซ้ำๆว่าอยากประกอบพิธีไว้อาลัย มากกว่าพิธีแต่งงาน เพราะความเป็นจริง นอกจากข่าวประเสริฐแห่งพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์แล้ว การปลอบประโลมที่แท้จริงไม่เคยมี เราจึงเข้าสู่บทเรียนนี้ด้วยความมั่นใจว่ามีการปลอบประโลมรอเราแน่นอน และการปลอบประโลมนี้เกี่ยวข้องกับพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ จะเป็นการดีที่เราเริ่มต้นด้วยคำถาม “คำว่าโศกเศร้าในพระคัมภีร์หมายถึงอะไร?” ลองมาดูตัวอย่างความโศกเศร้าที่มีอยู่ในพระคัมภีร์

ในหนังสือปฐมกาล เราพบเรื่องความโศกเศร้าเพราะความตายค่อนข้างมาก และไม่ใช่เรื่องน่าประหลาด เพราะเมื่อพระเจ้าห้ามอาดัมและเอวากินผลจากต้นไม้ต้องห้าม (เอวาก่อนแล้วส่งต่อให้อาดัม) พระองค์ตรัสว่าวันใดก็ตามที่เจ้ากิน เจ้าต้องตายแน่ หนังสือปฐมกาลจึงมีแต่เรื่องของความตาย และแน่นอนความโศกเศร้าที่เกิดเพราะความตาย ในปฐมกาล 23 อับราฮัมโศกเศร้าต่อการจากไปของซาราห์ ยาโคบเองก็โศกเศร้าเพราะคิดว่าโยเซฟลูกชายตายไปแล้ว – ถึงโยเซฟยังไม่ตาย แต่ยาโคบก็โศกเศร้าเพราะการสูญเสีย ชาวอียิปต์โศกเศร้าเมื่อยาโคบตายลง และดาวิดใน 2ซามูเอล1 คร่ำครวญเพราะการจากไปของซาอูลและเพื่อนรักของท่านโยนาธาน เราพบความโศกเศร้าเพราะความตายอยู่ในพระคัมภีร์ตลอดทั้งเล่ม แต่ไม่ใช่ความตายเรื่องเดียว ตัวอย่างเช่น เมื่ออับซาโลมฆ่าคนแล้วหนีจากอิสราเอลไปเพราะกลัวความผิด ดาวิดก็เศร้าเสียใจต่อการจากไปของลูก

ในกันดารวิถี 14:39 เมื่อชาวอิสราเอลไปถึงคาเดชบาร์เนีย และไม่ยอมเข้าไปยึดครองดินแดนนั้น พระเจ้าจึงให้พวกเขาแก่ตายก่อนได้เข้าสู่แผ่นดินพันธสัญญา ประชาชนก็โศกเศร้านัก คร่ำครวญเพราะสูญเสียพระพรที่กำลังจะตกอยู่ในมือไปต่อหน้าต่อตา พวกเขาโศกเศร้าและคร่ำครวญ จำได้หรือไม่การคร่ำครวญแบบนี้ไม่ได้ส่งผลดีอะไร เพราะพวกเขาพยายามเข้าไปกันเองและในที่สุดก็พ่ายแพ้

ในสดุดี 119:136 ผู้เขียนสดุดีคร่ำครวญเพราะความบาปของประชากรของพระเจ้า กล่าวว่า ข้าพระองค์น้ำตาไหลพรั่งพรู เพราะคนไม่ปฏิบัติตามพระธรรมของพระองค์” ในหนังสือโฮเชยา 4:3 บอกเราว่าแผ่นดินเป็นทุกข์เพราะความบาปของอิสราเอล และผลของบาปนั้นก็ตกแก่แผ่นดินพวกเขาเอง มีตัวอย่างอีกนับไม่ถ้วน และในพระวจนะที่ต่อๆมาจากปฐมกาล ความโศกเศร้ามุ่งไปที่การสูญเสียผู้เป็นที่รัก (เพราะความตาย) จนถึงโศกเศร้าที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับความบาปและผลที่ตามมา ให้เราพยายามหาความหมายโดยมองไปที่องค์ประกอบที่ก่อให้เกิดความโศกเศร้า

1) ความโศกเศร้าเป็นการตอบสนองทางอารมณ์ ที่ต้องทำคือเข้าไปอ่านพระวจนะ สำหรับพวกเราในสังคมและวัฒนธรรมที่ไม่แสดงออกมาก เห็นได้ไม่ชัดเท่ากับวัฒนธรรมอื่นๆ วัฒนธรรมทางตะวันออกในยุคพระคัมภีร์ การคร่ำครวญบางทีดูเกินจริง ดูมากเกินถึงขนาดจ้างนางร่ำไห้มาร้องคร่ำครวญ ยังมีที่อื่นๆในโลกที่ยังทำแบบนี้อยู่ และถ้าดูภาพข่าวเหตุการณ์ในตะวันออกกลาง เราเห็นคนร่ำไห้เพราะสูญเสียคนในครอบครัว โดนระเบิดหรือโศกนาฏกรรมอื่นๆ เราเห็นแต่อาการภายนอกที่พวกเขาแสดงออกถึงความเสียใจอย่างที่สุด ที่พูดขึ้นมาเพราะพวกเราบางคนอาจไม่คิดเยอะ แต่ผมอยากจะบอกว่าสำหรับครอบครัวของผม ไม่มีใครพูดได้ว่า “ผู้ชายไม่ควรร้องไห้”

จำได้ตอนที่ลูกชายของเราตาย พ่อของผมออกไปที่สนามแล้วเอาแต่เข็นรถตัดหญ้าไปมา ท่านเข็นไปจนทั่วสนามหลังบ้านเพราะต้องการปลดปล่อยความเศร้าโศก แต่นี่ไม่ใช่อารมณ์เศร้าโศกในแบบเดียวกับที่เรามักพบในพระคัมภีร์ นี่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ของเรา ไม่ใช่สติปัญญา แต่เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับอารมณ์ที่อ่อนไหวที่สุด ไม่ใช่ความพยายามที่จะผ่านไปให้ได้ ไม่ใช่สิ่งที่เราหาทางชดเชย ความโศกเศร้าในความเป็นจริง คือความเสียใจที่ลึกที่สุด เราจะสัมผัสได้เมื่อไปถึงจุดนั้น เป็นการตอบสนองทางอารมณ์ต่อการสูญเสีย บางคนอาจบอกว่าไม่ใช่ แต่ตามที่เข้าใจ ทุกครั้งที่เห็นความโศกเศร้าในพระคัมภีร์ ผมสัมผัสได้ถึงการสูญเสียบางสิ่ง อาจไม่ใช่สูญเสียชีวิตหรือความสัมพันธ์ ที่อาจเป็นความโศกเศร้าที่สุดก็เป็นได้ อาจเป็นการสูญเสียสิทธิประโยชน์ เช่นชาวอิสราเอลคร่ำครวญที่คาเดชบาร์เนีย เพราะรู้ว่าไม่มีโอกาสเข้าแผ่นดินพันธสัญญาแล้ว เป็นความสูญเสียที่เจ็บปวดอย่างล้ำลึก ดาวิดสูญเสียอับซาโลมไปเมื่อเขาหนีออกจากบ้านไปอาศัยอยู่กับญาติ ท่านรู้สึกเศร้าเสียใจกับการสูญเสียครั้งนั้น

2) เราอาจพูดได้ว่าท่าทีความโศกเศร้าบางทีไม่เหมาะสมเสมอไป ทุกท่าทีที่แสดงออกถึงความโศกเศร้าอาจไม่เหมาะสม เช่นดาวิดคร่ำครวญถึงการตายของอับซาโลม เป็นสิ่งที่ไม่สมควร จำได้หรือไม่ว่าโยอาบทำอย่างไร ถ้าทำได้เขาคงอยากเขย่าตัวท่านให้ได้สติคืนมา แต่ไม่อาจทำได้ จึงพูดกับดาวิดด้วยความนุ่มนวล โยอาบพูดทำนองว่า “ดาวิด ตั้งสติหน่อย ที่ทำอยู่นี่ไม่ถูกต้อง ประชาชนสัมผัสได้ว่าท่านโศกเศร้ามากเกินไป ทำให้พวกเขารู้สึกว่าพวกเขาน่าจะตายเพื่อให้อับซาโลมได้อยู่ ความโศกเศร้าของท่านไม่ถูกต้อง การตายของอับซาโลมทำให้กอบกู้ราชอาณาจักรกลับคืนมาได้ ตั้งสติให้ดีดาวิด ความโทมนัสของท่านนั้นไม่สมควรอย่างยิ่ง”

ส่วนอัมโนนที่แสดงท่าที เสียใจก็ไม่ถูกต้อง เพราะไม่ได้ครอบครองทามาร์น้องสาวต่างมารดา อาหับเสียใจเพราะไม่ได้ครอบครองสวนองุ่นของนาโบท ซามูเอลเสียใจที่ซาอูลต้องเสียอาณาจักรไป การแสดงออกถึงความเสียใจเช่นนี้ไม่สมควร และความเสียใจไม่ใช่ว่าจะดีเสมอไป เราจึงพูดได้ว่า “ไม่ใช่ทุกคนที่โศกเศร้า จะได้รับการปลอบประโลม” ใช่หรือไม่? เมื่อพระเยซูตรัสว่า "บุคคลผู้ใดโศกเศร้า ผู้นั้นเป็นสุข เพราะว่าเขาจะได้รับการทรงปลอบประโลม” (มัทธิว 5:4) พระองค์กำลังตรัสถึงคนพวกหนึ่ง และความโศกเศร้าในอีกแบบหนึ่ง

3) ไม่มีการปลอบประโลมใดในโลกนี้ที่ให้ได้กับผู้ที่โศกเศร้าทุกคน ผมเคยไปงานศพหลายครั้ง เหมือนกับที่พวกคุณเคย มีผู้ไม่เชื่อนับไม่ถ้วนมาร่วมงาน พวกเขาโศกเศร้า แต่ไม่มีการปลอบประโลมใดที่ช่วยได้นอกจากในองค์พระเยซูคริสต์ และข่าวประเสริฐแห่งพระกิตติคุณ เมื่อเราอ่านพระวจนะในคำเทศนาบนภูเขา เรากำลังพูดถึงคนที่โศกเศร้า พูดถึงคนที่ขัดสนฝ่ายวิญญาณ คนที่ใจอ่อนโยน คนที่หิวกระหายความชอบธรรม ผมไม่คิดว่าคุณจะดึงแค่บางตอนออกมาจากคำเทศนาบนภูเขา และกล่าวว่าทุกคนที่โศกเศร้าจะได้รับการปลอบประโลม แต่คุณต้องพูดว่า “ผู้โศกเศร้าทุกคนที่ขัดสนฝ่ายวิญญาณและหิวกระหายความชอบธรรม จะได้รับการทรงปลอบประโลม” ครับ มีการปลอบประโลม แต่ไม่ใช่สำหรับทุกคน

4) เราต้องเข้าใจถึงท่าทีของความโศกเศร้าที่เหมาะสม นี่คือหัวใจสำคัญของบทเรียนนี้ และผมออกจะกังวล (ต้องขอสารภาพว่าเป็นกังวลมาก) ยิ่งเมื่อได้อ่านพระคำที่ตรัสว่า “"บุคคลผู้ใดมีใจอ่อนโยน ผู้นั้นเป็นสุข” ไม่ใช่เพราะมีความชอบใจเป็นพิเศษในพระวจนะข้อนี้ แต่รู้สึกสบายใจมากกว่าความโศกเศร้า ผมออกจะกังวลมากในเรื่องความโศกเศร้า จะทำให้เข้าใจได้อย่างไร เข้าใจและสามารถนำไปใช้ให้ถูกต้อง เราต้องเข้าใจว่าอะไรคือท่าทีของความโศกเศร้าที่เหมาะสม ผมพยายามแยกแยะองค์ประกอบของความโศกเศร้าตามพระคัมภีร์ – ความโศกเศร้าในแบบที่ได้รับการทรงปลอบประโลม

ขอถามสักสองสามข้อเพื่อทดสอบเรื่องความโศกเศร้าของผู้มีความเชื่อ

A)นี่เป็นบางสิ่งที่ผู้ชอบธรรมโศกเศร้าหรือไม่? ความ โศกเศร้าของเราชอบธรรมในแบบของพระคัมภีร์หรือไม่? แน่นอนเราต้องเริ่มต้นที่พระเยซูคริสต์ ตามที่ผมเข้าใจในคำเทศนาบนภูเขา สิ่งที่พระเจ้าตรัสว่า “ผู้เป็นสุข” เป็นคุณลักษณะของพระเจ้าที่ต้องสำแดงชัดเจนในชีวิตของธรรมิกชนของพระองค์ คุ้นกับตัวย่อ WWJD3 มั้ยครับ? (What would Jesus do? – พระเยซูจะทรงทำอย่างไร) ในเรื่องความโศกเศร้า พระเยซูจะโศกเศร้าในเรื่องนี้หรือไม่? มีความโศกเศร้ามากมายในปัจจุบันที่พระเยซูคงไม่เห็นชอบด้วย แต่มีสองกรณีหลักอยู่ในความโศกเศร้าของพระองค์ – อันแรกอยู่ในยอห์น 11:35-36 ที่อุโมงค์ฝังศพของลาซารัส และข้อพระคำที่โด่งดังไปทั่วโลกในข้อ 35 “พระเยซูทรงพระกันแสง” ผู้คนได้เห็นและกล่าวว่า “ดูซิพระองค์ทรงรักเขาเพียงไร”

ผม ไม่แน่ใจว่าจะมีคำตอบต่อคำถามนี้หรือไม่ แต่จะขอถามอยู่ดี พวกเขาพูดถูกหรือไม่? ไม่ใช่ในแง่ที่พระเยซูทรงรักลาซารัส – แน่นอนพระองค์ทรงรักเขา พวกเขาถูกต้องหรือไม่ที่สรุปว่าความโศกเศร้าของพระเยซูนั้นเชื่อมโยงและเป็น ผลโดยตรงจากความรักที่พระองค์มีต่อลาซารัส? มันยากที่เราจะรู้เรื่องทั้งหมดภายในไม่กี่วินาที ลาซารัสกำลังจะออกมาจากอุโมงค์ฝังศพในสภาพกายที่ถูกพันไว้ มันยากที่จะเห็นพระเยซูเต็มไปด้วยความโศกเศร้า อาจจะดีกว่าที่พูดว่า “ดูสิ พระเยซูทรงรักมารีและมาร์ธาเพียงไร” ทั้งคู่เป็นพี่สาวของลาซารัส อย่างน้อยเรามีข้อพระคำ จงร้องไห้กับผู้ที่ร้องไห้ และจงชื่นชมยินดีกับผู้ที่ชื่นชมยินดี” พระเยซูทรงอยู่กับผู้ที่โศกเศร้าเพราะการจากไปของลาซารัส ผมรู้สึกว่าน่าจะมีเรื่องของความบาปและผลของมันด้วย เมื่อมองไปที่ใบหน้าของความตาย เราควรเห็นการเชื่อมโยงระหว่างความตายและความบาปที่ส่งผลให้เกิดขึ้นหรือ ไม่?

ผมเคยคุยกับบางคนเรื่องการเผาศพว่าถูกต้องหรือไม่ที่จัดการกับ ร่างผู้ตายแบบนั้น มีความเห็นหลากหลาย ขอบอกว่าผมมีส่วนเกี่ยวข้องกับงานศพและพิธีไว้อาลัยมากมาย เคยไปงานศพที่มีการเผาร่างผู้เสียชีวิต แต่ไม่ได้รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องเจ็บปวดจนรับไม่ได้ แต่อยากบอกว่า สิ่งหนึ่งที่สำคัญในพิธีไว้อาลัยคือร่างผู้เสียชีวิตที่นอนอยู่ที่นั่น — เมื่อมีโลงศพตั้งอยู่ มีญาติพี่น้องมาร่วมงาน ผู้ใหญ่อาจอุ้มเด็กๆให้ดูใบหน้าของผู้ตายเป็นครั้งสุดท้าย — มีบางสิ่งที่มองด้วยตาเห็นว่าเชื่อมโยงกับความตาย ถ้าไม่มีร่างผู้ตาย ความหมายชัดเจนของความตายจะไม่มีวันสื่อออกไปแตะใจใครได้

ผมคิดเอน เอียงไปว่าที่พระเยซูทรงพระกันแสง อย่างน้อยมีบางส่วนที่เกิดเพราะความบาปและหายนะที่เป็นผลของบาป ในลูกา 19:41-44 พระเยซูเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็ม และทรงพระกันแสงเพราะเมืองนั้น ทรงพระกันแสงเพราะเมื่อพระองค์เสด็จมาสำแดงแก่อิสราเอลว่าทรงเป็นพระเมสซิยา ห์ และพวกเขาปฏิเสธพระองค์ เมืองนั้นและประชากรจะถูกทำลายจนพินาศ อีกครั้งที่ความโศกเศร้าของพระเยซูเกิดขึ้นเพราะผลของความบาป แต่จะพูดให้ถูก ความโศกเศร้าของพระองค์ต่อความบาปและต่อชีวิตของผู้คนนั้นเชื่อมโยงถึง พระองค์

พระวจนะสองตอนที่จำเป็นอย่างยิ่งเพื่อให้เข้าใจมัทธิว 5:4 ผมพยายามมองภาพกว้างเมื่อพูดว่า “คนชอบธรรมจะโศกเศร้าในเรื่องนี้หรือไม่? และ “ผู้เผยพระวจนะจะโศกเศร้าในเรื่องที่เรากำลังโศกเศร้าหรือไม่?” มีหลายกรณีสำหรับเรื่องนี้ พระวจนะที่เป็นกุญแจในเรื่องนี้คืออิสยาห์ 61 และอิสยาห์ 40 ผมไม่อาจอ่านมัทธิว 5:4 โดยไม่บอกกับตัวเองว่า “ท่านกำลังชี้ไปที่อิสยาห์ 61” ไม่อาจหลุดจากความคิดนี้ได้ ถ้าคิดว่าผมค้นมากไป ลองกลับไปดูพระกิตติคุณลูกาตอนที่พระเยซูเสด็จไปที่นาซาเร็ธ ไปที่ธรรมศาลา รับหนังสือม้วนมาและอ่านข้อพระคำตอนนี้ (ลูกา 4:18-19) ผมคิดว่าพระองค์อ่านแล้วหยุดเพราะพระวจนะเอ่ยถึง “วันแห่งการพิพากษา” พระองค์ไม่ได้อ่านยาวลงไปถึงตอนที่พูดถึงความทุกข์โศกเศร้า แต่ในความเป็นจริง พระวจนะตอนนี้ที่พระเยซูทรงเลือกชี้ไปที่พระองค์เอง แน่นอน เมื่อพระเยซูตรัสถึงตรงนี้ เราคงพูดได้เต็มปากว่านี่เป็นตอนหนึ่งที่บ่งว่าพระองค์คือใคร และตรัสเรื่องอะไร ลองมาดูกัน:

1 พระวิญญาณแห่งพระเจ้าทรงอยู่เหนือข้าพเจ้า
เพราะว่าพระเจ้าได้ทรงเจิมข้าพเจ้าไว้
เพื่อนำข่าวดีมายังผู้ที่ทุกข์ใจ
พระองค์ทรงใช้ข้าพเจ้ามาให้เล้าโลมคนที่ชอกช้ำระกำใจ
และร้องประกาศอิสรภาพแก่บรรดาเชลย
และบอกการเปิดเรือนจำออกให้แก่ผู้ที่ถูกจำจอง
2 เพื่อประกาศปีแห่งความโปรดปรานของพระเจ้า (อิสยาห์ 61:1-2ก)

มีประโยคที่ซ้อนกัน เพราะในลูกา 4:19 พระเยซูทรงหยุด แต่ให้เรามาอ่านต่อ

และวันแห่งการแก้แค้นของพระเจ้าของเรา
เพื่อเล้าโลมบรรดาผู้ที่ไว้ทุกข์
3 เพื่อจัดให้บรรดาผู้ที่ไว้ทุกข์ในศิโยน
เพื่อประทานมาลัยแทนขี้เถ้าให้เขา
น้ำมันแห่งความยินดีแทนการไว้ทุกข์
ผ้าห่มแห่งการสรรเสริญแทนจิตใจที่ท้อถอย
เพื่อคนจะเรียกเขาว่าต้นก่อหลวงแห่งความชอบธรรม
ที่ซึ่งพระเจ้าทรงปลูกไว้เพื่อพระองค์จะทรงสำแดงพระสิริของพระองค์ (อิสยาห์ 2ข-3)

เมื่อ อ่านมัทธิว 5:4 ผมพูดกับตัวเองว่า “คนที่โศกเศร้าคร่ำครวญ แน่นอนต้องมาจากเนื้อหาของพระวจนะตอนนี้” จำบริบทในอิสยาห์ 61 ได้หรือไม่ เรารับรู้เรื่องความบาปของอิสราเอล รับรู้เรื่องการพิพากษาที่จะตกลงมาเหนือชนชาตินี้ และตอนนี้เรากำลังจะได้รู้เกี่ยวกับการช่วยกู้ที่จะมาถึง การปลอบประโลมที่พบคือการปลอบประโลมมาถึงบรรดาคนที่ยอมรับในความบาปของตน ยอมรับการพิพากษาของพระเจ้า เราพูดได้เต็มที่ในแง่นี้ ขณะอิสยาห์มองไปที่ความบาปของอิสราเอลที่ส่งผลในทันที การถูกจับไปเป็นเชลย และการคืนสู่สภาพดี ที่สุดแล้วท่านกำลังมองไปที่ความบาปของมนุษย์ การแบกรับพระอาชญาของพระคริสต์ที่บนกางเขน และการไถ่ที่กำลังมาถึงเราทุกคน นั่นคือคำเทศนาในตัวของมันเอง ต่อไปให้เรามาดูอิสยาห์ 40:1

1 พระเจ้าของเจ้าตรัสว่า จงเล้าโลม จงเล้าโลมชนชาติของเรา
2 จงพูดกับเยรูซาเล็มอย่างเห็นใจ
และจงบอกเมืองนั้นว่า การสงครามของเธอสิ้นสุดลงแล้ว และความบาปผิดของเธอก็อภัยเสียแล้ว
และได้รับโทษจากพระหัตถ์ของพระเจ้าแล้ว เป็นสองเท่าของความบาปผิดของเธอ (อิสยาห์ 40:1-2)

บริบท ตอนนี้คือการลงโทษต่อบาปของอิสราเอลเมื่อตกไปเป็นเชลย แต่ถ้ามองเลยออกไปอีก คือการลงโทษที่ตกลงบนพระเยซูคริสต์ที่บนกางเขน (อิสยาห์ 53) เพื่อให้เกิดการอภัย เพื่อนำสู่การฟื้นฟูคืนมาสู่เรา และประทานพระพรให้แก่เรา กลับไปที่อิสยาห์ 40:3 อีกครั้ง (เป็นถ้อยคำที่ผู้อ่านมัทธิวคุ้นหูกันดี) "จงเตรียมมรรคาแห่งพระเจ้าในถิ่นทุรกันดาร จงทำทางหลวงสำหรับพระเจ้าของเราให้ตรงไปในทะเลทราย..” หมายถึงอะไร? หมายถึงยอห์นผู้ใหบัพติศมา ผู้ไปป่าวร้องถึงการเสด็จมาของพระเมสซิยาห์ ดังนั้นศูนย์กลางของความโศกเศร้าเกี่ยวข้องกับความบาป เกี่ยวข้องกับการพิพากษาของพระเจ้า การปลอบประโลมต้องเป็นการปลอบประโลมที่มาในพระเมสซิยาห์ พระองค์ผู้ทรงแบกรับการลงโทษ และทรงเตรียมการช่วยกู้ และความช่วยเหลือ เพื่อที่สุดแล้วเราจะได้รับการปลอบประโลมในองค์พระเยซู และสิ่งที่พระองค์ทรงเสียสละเพื่อเรา ข้อพิสูจน์แรกถึงความโศกเศร้าในแบบของพระเจ้า แล้ว “พวกผู้เผยพระวจนะ และที่สำคัญกว่านั้นพระเยซูคริสต์ พวกเขาโศกเศร้าในเรื่องอะไร?” พวกเขาคร่ำครวญเพราะความบาป และการปลอบประโลมที่พระกิตติคุณและความรอดจะนำมาให้

B)ความเกี่ยวข้องกันระหว่างความโศกเศร้าและเสียงหัวเราะ อะไรคือสิ่งที่ตรงข้ามกับความโศกเศร้า? สิ่งที่ตรงข้ามกับความโศกเศร้าคือความชื่นชมยินดี ใช่หรือไม่? แต่พระเยซูไม่ได้ตรัสว่า “บุคคลผู้ใดโศกเศร้า ผู้นั้นจะชื่นชมยินดี” มัทธิวไม่ได้บันทึกแบบนั้น พระเยซูตรัสว่าพวกเขาจะได้รับการทรงปลอบประโลม แปลว่าพระองค์ไม่ได้สัญญาว่าความเจ็บปวดจะหายไป พระองค์กำลังบอกว่าในสถานการณ์ที่โศกเศร้านั้น เราจะได้รับการปลอบประโลมเพื่อให้ผ่านไปได้ – เพราะไม่จำเป็นที่เราจะต้องหนีไปจากสาเหตุที่ทำให้โศกเศร้า แต่ให้เราได้พบการปลอบประโลมในองค์พระผู้เป็นเจ้า

อาจมีบางคนพูดว่า “แล้วลูกาล่ะ?” ครับ ผมจึงต้องพูดถึง “เสียงหัวเราะ”

"ท่านทั้งหลายที่อดอยากเวลานี้ก็เป็นสุข เพราะว่าท่านจะได้อิ่มหนำ”
"ท่านทั้งหลายที่ร้องไห้เวลานี้ก็เป็นสุข เพราะว่าท่านจะได้หัวเราะ” (ลูกา 6:21)

ทีนี้มาดูข้อ 25 ในลูกา 6:

"วิบัติแก่เจ้าทั้งหลายที่อิ่มหนำเวลานี้ เพราะว่าเจ้าจะอดอยาก”
"วิบัติแก่เจ้าทั้งหลายที่หัวเราะเวลานี้ เพราะว่าเจ้าจะเป็นทุกข์และร้องไห้” (ลูกา 6:25)

ผม จำได้ว่ามาร์ทิน ลอยด์-โจนส์ พูดถึงประเด็นนี้ไว้ค่อนข้างหนักแน่น (และนับไม่ถ้วนที่ผมได้ยินคนพูดกัน) “พระเยซูนี่มีอารมณ์ขัน” คิดว่าผมเคยพูดไปแล้ว และมันอาจเป็นความจริง แต่มาร์ทิน ลอยด์-โจนส์ กล่าวว่ามีอยู่หลายกรณีที่พระเยซูทรงพระกันแสง แต่เราไม่เห็นมีการบันทึกว่าพระองค์ทรงพระสรวล อย่างน้อยเราควรต้องจำไว้ และระวังให้ดีว่าไม่ควรไปลดคุณลักษณะของความอ่อนโยนและถ่อมสุภาพในชีวิตของ พระองค์ลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพระองค์ทรงตอบสนองต่อความบาป แต่ผมจะเตือนว่าซาตานมีอารมณ์ขันเหลือเฟือ ผมเองก็ชอบเรื่องขำขัน แต่จะบอกว่าซาตานชอบพลิกความจริงกลับด้าน มันต้องการให้เราหัวเราะทั้งๆที่เราควรโศกเศร้า

ผมจะเล่าเรื่องท่าที ของผมตอนไปงานไว้อาลัยของคุณครูเดวิดสันให้ฟัง ผมพยายามหัวเราะเพราะไม่อยากจะโศกเศร้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อนๆอยู่กันที่นั่น ผมจะดูเป็นอย่างไรถ้าต้องเช็ดน้ำตา ต้องแสดงความโศกเศร้าแก่คุณครูที่จากไป? ผมพบการปลอบใจในอารมณ์ขัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง แต่ซาตานอยากให้เราเป็นแบบนั้น ในหนังสือสุภาษิตกล่าวว่า “คนโง่เยาะเย้ยความบาป” แต่การเยาะเย้ยมีมากกว่านั้น ทำให้ผมคิดถึงฮามในปฐมกาลบทที่ 9 มันยากที่จะเจาะในรายละเอียดของเหตุการณ์นั้น แต่ภาพรวมคือโนอาห์ทำไร่และทำสวนองุ่น และเมื่อทำเหล้าองุ่นท่านก็ดื่มจนเมามาย นอนเปลือยกายไม่รู้ตัวอยู่ในเต็นท์ เผอิญฮามโผล่เข้าไปเห็น (คานาอันน่าจะมีส่วนในเรื่องนี้ เพราะคำสาปแช่งตกที่เขา) สิ่งหนึ่งที่เราเห็นได้ชัดเจนคือฮามไม่ได้มีท่าทีที่สุภาพและให้เกียรติบิดา อย่างสมควร และน่าจะไม่สบายใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผมคิดว่าเขาอาจจะยืนมองแล้วเรียกพี่น้องมา “มา มาดูสิ” แต่พี่และน้องกลับเดินถอยหลังเข้าไป เอาผ้าไปคลุมร่างที่เปลือยอยู่ของบิดา โดยไม่คิดแม้แต่จะมองดู

ผมอยากบอกว่าในทุกวันนี้มีการหัวเราะมากมาย ต่อความบาป และซาตานชอบใจ เราควรต้องโศกเศร้าต่อบาปและผลที่จะเกิดตามมา แต่เรากลับหัวเราะขำกัน ขอยกตัวอย่างให้ฟัง ผมไม่ค่อยดูรายการทอล์คโชว์ตอนดึกมากนัก แต่บอกได้ว่าเท่าที่ดูผ่านๆ มีการหัวเราะสนุกสนานต่อสิ่งที่ไม่สมควรนำมาหัวเราะ บางทีภาพยนตร์ หรือละครโทรทัศน์ ถ้าเราเป็นพ่อแม่ เราอาจตกใจพูดว่า “ตายแล้ว ดาราคนนี้เล่นเป็นผู้หญิง ที่จริงก็ตลกดี แต่ไม่ควรเป็นรายการที่อนุญาตให้เด็กดู” แต่ทราบหรือไม่ ผู้กำกับเก่งมากที่สร้างเรื่องราวและสีสันจนทำให้คนขำได้ทั้งๆที่มันไม่ถูก ต้อง?” ไม่ว่าจะเป็นชายแต่งหญิง หรือหญิงปลอมเป็นชาย มันเป็นการบิดเบือนหรือไม่ครับ? ทุกคนดูแล้วสนุกสนานเพราะพวกเขาไม่เห็นว่ามันผิดที่ตรงไหน

ความเป็น จริงคือซาตานมีชัยชนะเพราะเราหัวเราะต่อความบาปได้ ทั้งๆที่เราควรโศกเศร้า สิ่งนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่ว่าจะเป็นตลกลามกทั้งภาพหรือเรื่องเล่า ถ้าซาตานมันทำให้เราหัวเราะต่อบาปได้แต่แรก เราก็กำลังก้าวลงไปตามเส้นทางนั้น – ก้าวยาวๆลงไปตามหนทางที่ยอมรับในความบาป ผมจึงอยากย้ำกับพวกคุณ เราต้องระมัดระวังมากๆ ที่ผมพูดเรื่องนี้ขึ้นมาเพราะลูกาเปิดประตูไว้ เตือนเราให้ระวังเรื่องความคึกคะนองที่เกี่ยวกับความโศกเศร้า บางทีการหัวเราะอาจปลดปล่อยสิ่งที่เราไม่ควรรู้สึกดีเกี่ยวกับมัน แต่เป็นสิ่งที่เราควรรู้สึกเศร้าใจ

C)เป็นความรู้สึกสูญเสีย หรือได้มา? ผมได้อธิบายเรื่องความโศกเศร้าว่าเป็นการสูญเสียที่จมลึก มีพระวจนะหลายตอนที่ชี้ไปในทิศทางนั้น ตัวอย่างเช่น ดาวิดโศกเศร้าถึงลูกชาย อับซาโลมที่ตายจากไป โยอาบพยายามบอกกับท่านว่า “ดาวิด ท่านกำลังเสียจุดยืน วันนี้ไม่ใช่เป็นวันแห่งความโศกเศร้า แต่เป็นวันที่ต้องเฉลิมฉลอง ท่านเกือบจะสูญเสียอาณาจักรและราชบัลลังก์ไปแล้ว และถ้าไม่ตั้งสติให้ดี อาจต้องเสียไปจริงๆ ตอนนี้เมื่อท่านได้อาณาจักรกลับคืนมา แม้มีการสูญเสียบ้าง จงเปลี่ยนมุมมองใหม่ จริงๆแล้วนี่คือการสูญเสียหรือได้มา?” ซามูเอลโศกเศร้าเพราะสูญเสียซาอูลใน 1ซามูเอล 15:35: แต่ซามูเอลได้โศกเศร้าเพราะซาอูล” พระ เจ้าเหมือนกำลังบอกซาอูลว่า “เจ้าต้องพิจารณาให้ดีๆ” เป็นการสูญเสียของอิสราเอลหรือที่ขาดซาอูลไปแล้วได้ดาวิดมา? เป็นการสูญเสียจริงหรือ? ซามูเอลเป็นผู้เผยพระวจนะที่เจิมตั้งดาวิด นี่เป็นการสูญเสียหรือได้มาครับ?

ความโศกเศร้าที่เหมาะสมคือรู้สึกสูญ เสียแทนที่จะรู้สึกว่าได้รับมา สิ่งที่น่าสนใจใน 1ซามูเอล 16 คือเมื่อพระเจ้าสั่งให้ซามูเอลไปเจิมตั้งดาวิด สิ่งแรกที่ซามูเอลตอบคือ "ข้าพระองค์จะไปอย่างไรได้ ถ้าซาอูลได้ยิน เขาคงฆ่าข้าพระองค์เสีย" คือถ้าซาอูลรู้เข้า จะมาฆ่าท่านแน่ คุณคงอยากพูดว่า "แล้วยังไงล่ะซามูเอล รู้สึกว่าสูญเสียมากหรือ? ในเมื่อคนที่ท่านกำลังโศกเศร้าถึงคือคนที่จะมาฆ่าท่านถ้าท่านไปเจิมตั้ง กษัตริย์องค์ใหม่?” ผมว่าท่านคงกำลังเสียศูนย์

คิดถึงฟีลิปปี 3 ที่ อ.เปาโลกล่าว แต่ว่าสิ่งใดที่เคยเป็นคุณประโยชน์แก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าถือว่าสิ่งนั้นไร้ประโยชน์แล้ว” สิ่ง ที่ครั้งหนึ่งท่านเคยมอง – ระบอบฟาริสี ตำแหน่งที่เคยครอง สิทธิและอำนาจที่เคยมี – เดี๋ยวนี้ท่านเข้าใจแล้ว มันเป็นแค่ข้อด้อยของท่าน เป็นสิ่งที่ท่านต้องละทิ้ง ซาตานมีวิธีพลิกแพลงสิ่งต่างๆ ดูเรื่องการล่อลวง เมื่อซาตานล่อลวง มันจะบอกคุณว่าคุณมีแต่ได้ คุณจะเป็นเหมือนพระเจ้า รู้ผิดชอบชั่วดี จะช่วยรักษาชีวิตตัวเองไว้ คุณจะได้ทำงานเพื่อพระเจ้า ซาตานจะนำเสนอสิ่งที่คุณกำลังจะสูญเสียว่าเป็นสิ่งที่คุณกำลังจะได้มา และความเป็นจริงคือทุกครั้งที่มนุษย์พ่ายแพ้ต่อการล่อลวงของมาร พวกเขามีแต่สูญเสียครับ

อีกเรื่องที่ต้องสังเกตุให้ดีคือจุดพลิกผัน ของการสูญเสียและการได้มา วัยรุ่นสมัยนี้รู้สึกว่าพรหมจารีเป็นเรื่องน่าอาย เป็นเรื่องที่ต้องจัดการ ไม่ใช่สิ่งสวยงาม หรือสิ่งยอดเยี่ยมที่พวกเขาจะได้ถวายเกียรติพระเจ้าและมอบให้คู่สมรสในวัน แต่งงาน กลับมองว่าเป็นเรื่องน่าอายที่ต้องรีบจัดการในทันที ซาตานพลิกข้างจากสูญเสียให้เป็นได้มา — ความอ่อนน้อม มีเอกลักษณ์เฉพาะ และอื่นๆอีกหลายอย่าง เราพบอะไรในวัฒนธรรมของวัยรุ่น? กระแสที่ใครๆเขาก็ทำกัน เราสลัดความเป็นเอกลักษณ์ทิ้งไปราวกับเป็นเชื้อโรคร้าย เมื่อพระเจ้าเรียกเราให้มามีเอกลักษณ์ มีความต่าง เป็นเกลือและเป็นความสว่างในฐานะผู้เชื่อ เรากลับสลัดทิ้งไปเพราะเราต้องการเข้าได้กับวัฒนธรรมที่กำลังเป็นอยู่

D)ความอ่อนน้อม หรือความอัปยศ vs. ความเย่อหยิ่ง และความภูมิใจ ใน 1โครินธ์ 5:1-2 อ.เปาโลกล่าวว่า:

1 มีข่าวเล่าลือว่า ในพวกท่านมีการผิดประเวณี และการผิดนั้นถึงแม้ในพวกต่างชาติก็ไม่มีเลย คือเรื่องมีว่า คนหนึ่งได้เอาภรรยาของบิดามาเป็นเมียของตน 2 และพวกท่านยังผยองแทนที่จะเป็นทุกข์เป็นร้อน (1โครินธ์ 5:1-2ก)

“คุณ ควรรู้สึกเศร้าใจหรือไม่?” และคริสตจักรที่นั่นกลับนั่งนิ่งหยิ่งผยอง ความโศกเศร้าของเราเป็นความสำนึกหรือความอัปยศ? พูดถึงความอัปยศ คนโศกเศร้าควรดูเป็นอย่างไร? ย่ำแย่ดูไม่ได้ ฉีกเสื้อผ้า เอาขี้เถ้าโรยหัว ไม่น่าดูเลย คุณคงไม่ได้ขึ้นหน้าแฟชั่นเมื่อคุณกำลังโศกเศร้า เพราะเมื่อคุณโศกเศร้า คุณดูไม่ดีเลย คุณไม่พยายามทำให้ดูดีด้วย คุณกลับถ่อมลง และสำนึกด้วยความโศกเศร้า แต่ซาตานอยากให้เราทำตรงข้าม เมื่อคุณมองไปที่ความโศกเศร้าในคำเทศนาบนภูเขา พวกธรรมาจารย์และพวกฟาริสีทำอย่างไรเมื่อโศกเศร้า? พวกเขาจะเดินไปมานุ่งห่มผ้าขี้ริ้ว มีฝุ่นเลอะทั้งตัว อาจมีฝุ่นบ้าง แต่นั่นเป็นสัญลักษณ์ที่พวกเขาภูมิใจสวมใส่ราวกับเป็นเหรียญแห่งเกียรติยศ ดังนั้นในความโศกเศร้า เราควรต้องแสดงความถ่อม สำนึกผิดและรู้สึกอับอายเพราะความบาปหรือไม่?

ในโรม 1:32 จะพูดว่ายังไง มันน่าขันเมื่อคุณไต่บันไดลงไปถึงขั้นสุดท้าย อ.เปาโลกล่าวว่า เขาก็ไม่เพียงประพฤติเท่านั้น แต่ยังเห็นดีกับคนอื่นที่ประพฤติเช่นนั้นด้วย” มอง ไปที่ฮอลลีวู้ดครับ - ไม่ใช่แค่ฮอลลีวู้ดเท่านั้น - พวกเขาสวมใส่ความบาปอย่างภาคภูมิใจ พวกเขาไม่เพียงแต่ทำบาปในห้องมืดลับตาคน แต่กลับทำในที่สาธารณะ และภาคภูมิใจด้วย บางครั้งกลับเป็นงานที่ขายได้ มีคนสนใจ

E)สุดท้าย ความโศกเศร้าก่อให้เกิดการกลับใจหรือไม่? ถ้า เป็นความโศกเศร้าแท้จริง ตามการประเมินของผม เป็นสิ่งที่นำไปถึงและเป็นแรงจูงใจที่ทำให้เกิดการกลับใจ เป็นเงื่อนไขสู่การกลับใจ ถ้ากลับใจหมายถึงหยุดและหมุนตัวกลับ สำหรับผมหมายถึงเราต้องยอมรับว่าสิ่งแรกที่มองเห็น ไม่ใช่แค่ทางที่กำลังมุ่งไปนั้นผิด แต่มันน่าเกลียดน่ากลัว และเป็นบางสิ่งที่เราต้องเกลียดชัง เหมือนเราอยู่บนถนนมุ่งหน้าไปที่ชายหาด พอเข้าไปใกล้ๆถึงเห็นว่าเป็นทางไปโรงงานกำจัดขยะ แล้วคุณบอกกับตัวเอง “อี๊ย ไม่ได้อยากไปที่นั่น ต้องหันหลังกลับ” แต่ถ้าคุณชอบสิ่งที่เห็นตรงปลายถนน คุณก็จะไปต่อเรื่อยๆ ความโศกเศร้าจึงเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นที่คุณตระหนักได้ ไม่ใช่แค่ปัญญา เป็นกระบวนการความคิดที่บอกว่า “พระเจ้าเรียกว่าบาป” ตัวคุณและอารมณ์ของคุณเกลียดชังจนต้องหันกลับ ไม่ไปต่อ ใน 2โครินธ์ 7:5-10 กล่าวว่า:

5 เพราะแม้ว่าเมื่อเรามาถึงแคว้นมาซิโดเนียแล้ว ร่างกายของเราไม่ได้พักผ่อนเลย เรามีความลำบากอยู่รอบข้าง ภายนอกมีการต่อสู้ ภายในมีความกลัว 6 แต่ถึงกระนั้นก็ดี พระเจ้าผู้ทรงหนุนน้ำใจคนที่ท้อใจ ได้ทรงหนุนน้ำใจของเรา โดยทรงให้ทิตัสมาหาเรา 7 และมิใช่เพียงการมาของทิตัสเท่านั้น แต่โดยการที่ท่านได้หนุนน้ำใจทิตัสด้วย ตามที่ทิตัสได้มาบอกข้าพเจ้าถึงความอาลัยและความโศกเศร้าของท่าน และใจจดจ่อของท่านที่มีต่อข้าพเจ้า ทำให้ข้าพเจ้ามีความชื่นชมยินดีมากยิ่งขึ้น 8 เพราะถึงแม้ว่าข้าพเจ้าจะได้ทำให้ท่านเสียใจเพราะจดหมายฉบับนั้น ข้าพเจ้าก็ไม่เสียใจ ถึงแม้ว่าเมื่อก่อนนี้ ข้าพเจ้าจะเสียใจบ้างเพราะข้าพเจ้าเห็นว่า จดหมายฉบับนั้นทำให้ท่านมีความเสียใจเพียงชั่วขณะเท่านั้น 9 แต่บัดนี้ข้าพเจ้ามีความชื่นชมยินดี มิใช่เพราะท่านเสียใจ แต่เพราะความเสียใจนั้นทำให้ท่านกลับใจใหม่ เพราะว่าท่านได้รับความเสียใจอย่างที่ชอบพระทัยพระเจ้า ท่านจึงไม่ได้ผลร้ายจากเราเลย 10 เพราะว่าความเสียใจอย่างที่ชอบพระทัยพระเจ้า ย่อมกระทำให้กลับใจใหม่ ซึ่งนำไปถึงความรอดและไม่เป็นที่น่าเสียใจ แต่ความเสียใจอย่างโลกนั้นย่อมนำไปถึงความตาย (2โครินธ์ 7:5-10)

มี ความโศกเศร้าในแบบโลกที่ไม่ได้ก่อให้เกิดความชอบธรรม ผมไม่ได้หมายถึงความโศกเศร้าของเรา เป็นความโศกเศร้าคนละแบบกับของพระเจ้า นั่นคือความเห็นแก่ตัว คุณจะพบว่าบางคนโศกเศร้าจนกลายเป็นคนที่คิดแต่เรื่องของตัวเอง พวกเขาคิดถึงแต่ตัวเองเมื่อมองเข้าไปภายในตัวเองในสิ่งที่สูญเสียไป ยิ่งโศกเศร้าเท่าไร ยิ่งคิดถึงแต่ตัวเองเท่านั้น ความโศกเศร้าที่เรากำลังพูดถึงคือเมื่อคุณตระหนักได้ในอารมณ์ และในสติปัญญาถึงความน่าเกลียด และความสกปรกของบาป คุณจะหันหลังกลับ หันกลับมาหาพระคริสต์ เพื่อรับการปลอบประโลมที่พระองค์ผู้เดียวเท่านั้นให้ได้

บทสรุป

ความโศกเศร้าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต สังเกตุดู "บุคคลผู้ใดโศกเศร้า ผู้นั้นเป็นสุข” เป็นประโยคปัจจุบันกาล และดำเนินต่อ ไม่ได้เจาะจงเฉพาะบางคน หรือบางช่วงเวลาที่เผชิญกับความโศกเศร้า แต่เป็นสิ่งที่ดำเนินไป ซึ่งสอดคล้องกับโรม 8:18 เมื่อ อ.เปาโลพูดถึงการคร่ำครวญและเผชิญความทุกข์ยากของชีวิต ที่เป็นอยู่เพราะเราเป็นส่วนหนึ่งในโลกที่ล่มสลาย พี่น้องครับ เราต้องไม่ลืมคำเตือนสอน ผมกลัวแทนคนอื่นๆและกลัวว่าตัวเองจะคุ้นชินกับบาป กลายเป็นเรื่องคุ้นเคย เช่นการทำแท้ง หรือสงครามในที่ต่างๆ จำนวนคน ... ที่ถูกฆ่าตาย และยังดำเนินต่อไป ทำให้เราเริ่มคุ้นเคย เลิกโศกเศร้าอย่างแรกๆที่เกิดขึ้น บางสิ่งผิดปกติแล้วครับ ความโศกเศร้าควรเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่ดำเนินไป อย่างที่ อ.เปาโลพูดไว้ในโรมบทที่ 8

มาพิจารณาเรื่องสุดท้ายกัน ความโศกเศร้าเป็นการตอบสนองที่เหมาะสมต่อความบาป และการสำแดงความโศกเศร้าที่สมควรคือการสำนึกผิด แต่เหรียญยังมีอีกด้าน ขณะที่ความโศกเศร้าเป็นสิ่งสมควรต่อความบาป การนมัสการเป็นสิ่งที่สมควรต่อพระเจ้าผู้ทรงสมบูรณ์ครบถ้วน เป็นเรื่องผิดที่มีประสบการณ์เผชิญหน้ากับความบาปและไม่รู้สึกโศกเศร้า แต่ก็เป็นเรื่องผิดด้วยเมื่อเข้าเฝ้าจำเพาะพระพักตร์ของพระเจ้าผู้ทรงสม บูณณ์พร้อมแล้วไม่นมัสการพระองค์ แต่ที่น่าสนใจ เพราะเมื่อเรากำลังพูดถึงความโศกเศร้า แต่มาพร้อมกับเรื่องความปิติและความชื่นชมยินดี แล้วคุณพูดว่า “เป็นโรคจิตหรือเปล่า?” คุณรู้คำตอบหรือไม่? อาจใช่ อย่าลืมว่า “จงร้องไห้กับผู้ที่ร้องไห้ และจงชื่นชมยินดีกับผู้ที่ชื่นชมยินดี” ทั้งสองสิ่งนี้ไปด้วยกัน และที่เป็นความเป็นจริงคือ ที่ผมเข้าใจ เราคงไม่ชื่นชมยินดีและสรรเสริญพระเจ้าอย่างที่ควรเป็น เว้นเสียแต่ความโศกเศร้าที่ตอบสนองต่อความบาป ความโศกเศร้าของเราเพราะความบาป คือสิ่งที่ทำให้เราชื่นชมยินดีได้ยิ่งกว่า เพราะการช่วยกู้นำเราพ้นจากผลโทษของความบาป และเมื่อถึงเวลาที่เราเข้าเฝ้านมัสการพระเจ้า ผมอยากบอกคุณว่า “อย่าสูญเสียมิติของความโศกเศร้าไป แต่เมื่อเราคิดถึงพระเจ้า เป็นการสมควรยิ่งที่เราจะสรรเสริญและชื่นชมยินดีในพระองค์”


1 159 เป็นต้นฉบับของบทเรียนต่อเนื่องของ “พระกิตติคุณมัทธิว” จัดทำโดย Robert L. Deffinbaugh 4 พฤษภาคม 2003

2 160 นอกจากที่กล่าวไปแล้ว พระวจนะที่นำมาอ้างอิงทั้งหมดมาจาก NET Bible (The NEW ENGLISH TRANSLATION) เป็น ฉบับแปลใหม่ทั้งหมด ไม่ใช่นำฉบับเก่าในภาษาอังกฤษมาเรียบเรียงใหม่ ใช้ผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการพระคัมภีร์มากกว่า ยี่สิบคน รวบรวมข้อมูล ทั้งจากภาษาฮีบรูโดยตรง ภาษาอาราเมข และภาษากรีก โครงการแปลนี้เริ่มมาจากที่เราต้องการนำ พระคัมภีร์ เผยแพร่ผ่านสื่ออีเลคโทรนิค เพื่อรองรับการใช้งานทางอินเตอร์เน็ท และซีดี (compact disk) ที่ใดก็ตามในโลก ที่ต่อเข้าอินเตอร์เน็ทได้ ก็สามารถเรียกดู และพริ้นทข้อมูลไว้เพื่อใช้ศึกษาเป็นการส่วนตัวได้โดยไม่คิดมูลค่า นอกจากนี้ ผู้ใดก็ตาม ที่ต้องการนำข้อมูลเกี่ยวกับพระคัมภีร์ไปเผยแพร่ต่อโดยไม่คิดเงิน สามารถทำได้จากเว็บไซด์ : www.netbible.org.

3 161 WWJD เป็นอักษรย่อของ “What Would Jesus Do?” พระเยซูจะทำอย่างไร? วัยรุ่นหลายคนนำอักษรย่อนี้ไปทำสร้อยคอใส่กัน

Related Topics: Suffering, Trials, Persecution

Mental Health and the Church

Editor's Note: All human brokenness is the result of sin infecting the human condition at the Fall. Some mental disease is caused by spiritual issues such as unrepentant sin or demonic oppression, where some is due to chemical imbalance or brain disease, just like other organ diseases such as heart or liver problems.

The subject of mental illness is complex, but the purpose of this article is to address ways in which the church can compassionately support those dealing with it.

The Right Questions

The air was full of compassion that afternoon as the visitor unfolded her story to the women's small group Bible study. Her daughter had been recently hospitalized, again, for a chronic illness so debilitating she is often unable to get out of bed. She is in so much pain that she can not care for her small children, cook meals for her family or participate in any events. As tears escaped down her cheeks the visitor explained how this trip to ER was the third one in four years.

Each woman leaned in, listening with deep care. A few nearby patted the lady on the shoulder. Someone suggested they should pray, and so they did, with generous faith. Then someone asked the visitor where the daughter had been admitted. "Highlands Psychiatric Hospital," the visitor whispered. Within moments the compassion in the air shifted, replaced with a sense of stigma and confusion.

Rejection of those with certain kinds of illnesses is an old blight, and at the time of Christ there was plenty of it blowing around. Lepers, barren women, the poor, were all victims, as were the deaf and the blind.

In the ninth chapter of John’s Gospel we see Jesus confront, head-on, a community’s attitude toward its outcasts, while at the same time doing what He does best: healing. He heals blindness—two kinds of blindness. First and obvious, he gives sight to a blind man. But another and important miracle happens as he exposes and begins to heal the blinding darkness of stigma borne by the man’s family and neighbors.

In Jesus’ day, illnesses were often attributed to sin. So the disciples’ question was not, “How did this happen?” because they thought they had already figured that out. They were sure the cause was sin. They just wanted Jesus to help them ascribe blame to the right party.  Their question was, “Who sinned, this man or his parents?”

Jesus would have none of it. “You are asking the wrong question,” he responded. He knew the question arose from wrong assumptions—presumptions based on ignorance and stigma.

A similar area of blindness in our Christian community is how we view those dealing with mental illnesses. Like the disciples, our assumptions are often based on ignorance and stigma, and our wrong questions reveal that. What are some right questions, productive questions, that would help us clarify the confusion still exisiting around the issue of “mental illness?” Let’s consider the following:

What are mental illnesses?

Mental illnesses are medical conditions. They are disorders of the brain. Like the diabetic who has a malfunctioning pancreas or the person whose autoimmune system has failed, those with mental illnesses have a part of their physical bodies that isn’t working as it should.

Think of all the functions our brains perform! When some parts of the brain aren’t able to do some of those things, then the ways we think, how we feel and express emotions, and even our ability to relate to others and perform daily functions can be severely disrupted. Like other parts of our bodies, the brain is “fearfully and wonderfully made”—incredibly complex. Depending on which section is malfunctioning and what kind of brain chemicals are behaving badly, mental illnesses manifest in different ways. So, there are lots of different diagnoses and labels used to describe various mental illnesses, including: depression, schizophrenia, bipolar, obsessive–compulsive disorder (OCD), post-traumatic stress disorder (PTSD) and others.

Like other sicknesses, such as diabetes, there is no cure for many kinds of mental illnesses. They are chronic and debilitating. However, like other medical conditions, with the right medical treatments and support from loved ones and the community, mental illnesses can be managed and individuals can live meaningful lives.

Who does mental illness impact?

These illnesses impact the young and old, poor and affluent, less educated and highly educated, men and women—touching lives in all nations, races, and religions. Mental illness is also widespread throughout society. In fact, in the United States, it is estimated that 60 million Americans (1 in 17) are living with a mental illness, which is more than twice the number who live with diabetes (25.8 million); nearly 5x the number dealing with cancer (13 million); and about 60x those diagnosed with HIV/Aids (1.1 million). About every 15 minutes, someone with severe depression takes his or her own life. With those kinds of numbers, it is likely that 1 in 4 adults will experience a mental health disorder in a given year.

Mental illnesses not only impact lots of people from all aspects of life, the way these disorders disrupt lives is also profound. Often people with mental illnesses turn to drugs and alcohol to try to address their mental anguish. Many cannot hold steady employment and thus those with mental illnesses make up over 25% of the homeless population in the U.S.  It is also estimated that about 20-25% of jail and prison inmates, as well as youth involved with juvenile justice, live with a mental illness.

In addition to all these different groups of people who are impacted by mental illnesses, there is yet another segment of society we need to know about. This group can be as much as 20 times larger than the population suffering with mental illness. It is a quiet and invisible group, and it’s members are weary and courageous. These are the families—spouses, parents, children, siblings—who care for loved ones.

How should the Church respond?

We have seen that the community surrounding the man with illness in his eyes responded to his needs with ignorance and stigma. Jesus responded differently. How should we respond to people with illnesses in their brains?

The blind’s man family was treated with suspicion and blame. But Jesus took another approach. How will we support families who support their loved ones?

As with all Kingdom love, we respond first out of the right heart, then with the right ideas, and finally with the right actions.  As Matthew Henry, an early 18th century British minister and Bible commentator noted:

“Let us learn how to value our own reason, and to pity the case of those that are under the prevailing power of melancholy or distraction, or are delirious, and to be very tender in our censures of them and conduct towards them, for it is a trial common to men, and a case which, some time or other, may be our own.”

With even greater simplicity, Jesus reminds us that we should care for those society has given up on, such as the naked, the hungry, and the imprisoned, as though we are caring for him. Mother Teresa showed us how to love this way through her life and in her prayers:

“Dearest Lord, may I see you today and everyday in the person of your sick, and while nursing them, minister to you. Though you hide yourself behind the unattractive disguise of the irritable, the exacting, the unreasonable, may I still recognize you and say, 'Jesus, my patient, how sweet it is to serve you.’”

Once our ignorance is addressed and our compassion is ignited, there are some practical ways a church can help overcome stigma and reach out to the mentally ill and their families. Here are some ideas:

1. Make your church a safe place for those who suffer. To do that, a church body needs to be transparent about brokenness and acknowledge that all of us struggle with weak areas in our lives.

2. Equip your church with the tools it needs to serve those with mental illnesses and their families. Develop or identify your congregation’s theology of suffering. Train clergy and staff.  Offer support groups. Create alliances with local mental health professionals.

3. Treat hurting people like people. Be a friend. Include them in gatherings. Invite them when groups are going to lunch. As needed, refer them on to professional help, but don't pass them on. At the same time, set healthy boundaries in your relationships. Don’t expect them to be able to do that.

4. Address the stigma of mental illness by talking about it openly. Include general prayers for the mentally ill in congregational praying. Highlight and financially support local ministries who serve the homeless, the incarcerated and indigent mentally ill populations.

5. Treat those with mental illnesses and their families as you would any who have chronic pain in their lives or are lifelong caregivers. Pray for and with them. Give them space to talk about what is going on in their lives. Attend to practical needs such as transportation to medical appointments, assist, when appropriate, with extraordinary expenses.

In the story of the blind man, what if the community had not been so concerned with assigning blame but instead had been consumed in administering love?  What if their question, instead of, “Who sinned?” was, “How can we help?”  Perhaps instead of investigating the healing, they would have been participating in it.

Which question is yours?

Resources for those with mental illnesses and their families:

National Alliance on Mental Illness (NAMI) http://www.nami.org

Mental Health Grace Alliance http://mentalhealthgracealliance.org/

Video and Audio Sessions on “Mental Health and the Church” Sponsored by Saddleback Church (Rick Warren)

http://www.youtube.com/watch?v=2K5-5DV1sv4

Books

Grace for the Afflicted: A Clinical and Biblical Perspective on Mental Illness, Matthew S. Stanford, IVP Books

Troubled Minds: Mental Illness and the Church’s Mission, Amy Simpson, IVP Books

Related Topics: Ecclesiology (The Church), Suffering, Trials, Persecution, Women's Articles

New Skit Guys NET Bible Video

The Skit Guys, Tommy and Eddie explain what they found on the Internet. Tommy and Eddie discuss the wonderful features found within the NET Bible Study Environment. More videos from the Skit Guys can be found at http://skitguys.com

M1 - Thumbprint

M1 Application

M1 F I R S T
F Fellowship Faith Intimacy Reverence Strength Trust
I Integrity Follow Instruction Read Sound/Solid Tenacity
R Relationships Family Interpersonal Resemblance Similarity Tender
S Sharing Friends Illuminate Relate Social Testimony

T

Thumbprint

Freedom

Inheritance

Results

Substance

Tradition

 You can use these to help you dig deeper into your Thumbprint

Freedom - "So if the Son sets you free, you will really be free" John 8:36 Look at the freedom you have experienced from having a relationship with Jesus

Inheritance - God has set an inheritance for you. You are part of His family. "That is, into an inheritance imperishable, undefiled and unfading. It is reserved in heaven for you" 1 Peter 1:4

Results - Look back at your life and at your results. Maybe you fought an addiction; maybe you were able to stand strong during a rough time in your life. Following God's plan for you does indeed provide results.

Substance - You are now building something in your life that is worth doing. Something that gives meaning to your life.

Tradition - You now have in place something that can be passed down to your children, your family and your friends. You can not only encouage others to follow M1 you can now lead them through it.

 

M1 Pages

M1  - Overview
M1 - Applications
M1 - Fellowship
M1 - Integrity
M1 - Relationships
M1 - Sharing
M1 - Thumbprint

 

M1 - Sharing

M1 Applications

M1 F I R S T
F Fellowship Faith Intimacy Reverence Strength Trust
I Integrity Follow Instruction Read Sound/Solid Tenacity
R Relationships Family Interpersonal Resemblance Similarity Tender

S

Sharing

Friends

Illuminate

Relate

Social

Testimony

T Thumbprint Freedom Inheritance Results Substance Tradition

You can use these to help you dig deeper into your Sharing

Friends - Your friends are most likely to be the next set of people who see the changes in your life. Use this change as the stepping stone to talk about your relationship with Jesus.

Illuminate - People love a good thing. They will even flock to it if they think it is something they really want. Glow, let your light shine for Jesus.

Relate - Don't be a hypocrite, relate to where people are. If your speaking with someone who is struggling with something that you have already been through, then politely share with them how you were once there too. DON'T just bash them about their lifestyle, help them, share you own struggle. Let them see your victory and help them want that in their life too.

Social - Use your social skills to meet new people. Step out of your comfort zone. Don't be afraid to to use your social network to tell others about Jesus. This includes your Facebook and Twitter accounts.

Testimony - God made us all unique. Use your own story to tell others about your relationship with Jesus and how you got there. Most of all be real. People will know.

 

M1 Pages

M1  - Overview
M1 - Applications
M1 - Fellowship
M1 - Integrity
M1 - Relationships
M1 - Sharing
M1 - Thumbprint

 

M1 - Relationships

M1 Applications

M1 F I R S T
F Fellowship Faith Intimacy Reverence Strength Trust
I Integrity Follow Instruction Read Sound/Solid Tenacity

R

Relationships

Family

Interpersonal

Resemblance

Similarity

Tender

S Sharing Friends Illuminate Relate Social Testimony
T Thumbprint Freedom Inheritance Results Substance Tradition

 

 You can use these to help you dig deeper into your Relationships

Family - "No prophet is acceptable in his hometown" Luke 4:24 The hardest people you will have to witness to will be your family. They know you very well, but at the same time you know them just as well too.

Interpersonal - You need to have good people skills if you wish to build relationships.Fire and Brimstone does not build trust and love, but compassion and forgiveness will take you a very long way.

Resemblance - People will follow you if you are consistent with who you are. Mimic Jesus and let others follow you. Parents, remember your children see a whole lot more than you think. Not only do they hear what you say they also watch how you react to everything.

Similarity - Paul said Be all things to all people. Find out what they like and share it with them. Use it as the basis in which you build your relationship.

Tender - As with building any relationship you must be tender and understanding of where a person is coming from and their struggles to get to when you are leading them.

 

M1 Pages

M1  - Overview
M1 - Applications
M1 - Fellowship
M1 - Integrity
M1 - Relationships
M1 - Sharing
M1 - Thumbprint

 

M1 - Integrity

M1 Applications 

M1 F I R S T
F Fellowship Faith Intimacy Reverence Strength Trust

I

Integrity

Follow

Instruction

Read

Sound/Solid

Tenacity

R Relationships Family Interpersonal Resemblance Similarity Tender
S Sharing Friends Illuminate Relate Social Testimony
T Thumbprint Freedom Inheritance Results Substance Tradition

 

The items below can help you dig deeper into your Integrity

Follow - Everybody in life follows someone.  Who are you basing your life on? You can also get help by being part of a church, a small group and/or an accountability partner.

Instructions - God laid out his instructions for your life within the Bible. He also put people in your life to help you.

Read - In order to know what God has planned for your life you need to read His Word. Reading on a regular basis will build the core of your foundation.

Soild/Sound - When building your foundation you need to make sure it is rock solid and sound.

Tenacity - With anything in life that you want to have stick, you have to be firm and true to make sure you allow the time you need to build your character.

 

 

M1 Pages

M1  - Overview
M1 - Applications
M1 - Fellowship
M1 - Integrity
M1 - Relationships
M1 - Sharing
M1 - Thumbprint

 

M1 - Fellowship

M1 Applications

M1 F I R S T

F

Fellowship

Faith

Intimacy

Reverence

Strength

Trust

I Integrity Follow Instruction Read Sound/Solid Tenacity
R Relationships Family Interpersonal Resemblance Similarity Tender
S Sharing Friends Illuminate Relate Social Testimony
T Thumbprint Freedom Inheritance Results Substance Tradition
 

 

You can use these to help you dig deeper into your Fellowship with God

Faith - In order to have a relationship with God you need to believe in Him. You need to have Faith

Intimacy - Like any good relationship it will not grow unless you are open enough to the point of intimacy. Only then will your relationship grow. You need to know God like you know no other.

Reverence - If you hold this relationship in complete reverence then nothing will stop you from communication with Him, which can be done through prayer and the daily reading of your Bible.

Strength - Along the way you need to understand what it means to lean on His strength. The sooner you learn this the easier it will be for the rest of your Christian walk. As times get hard, your strength will wear out, but His will not. Sometimes you just dont have what it takes to get through the day. But he does.

Trust - Trusting God is one of the hardest things. Even when things seem so wrong, God has a plan for you. If you trust Him to follow it you will be rewarded in such a way that your relationship with Him will increase greatly.

 

M1 Pages

M1  - Overview
M1 - Applications
M1 - Fellowship
M1 - Integrity
M1 - Relationships
M1 - Sharing
M1 - Thumbprint

 

Pages