MENU

Where the world comes to study the Bible

บทที่ 18: ผู้รักษา และผู้ไม่รักษาสัญญา (2 ซามูเอล 21)

คำนำ

ไม่นานมานี้ ผมและภรรยาได้เดินทางไปพักผ่อน เราใช้เวลาหนึ่งอาทิตย์ ท่องเที่ยวอยู่ทางเหนือของชาย ฝั่งตะวันออก เราขับรถผ่านไปทางแมสซาชูเสส รัฐเมน โนวา-สโกเทีย เกาะพรินส์เอดเวิร์ด นิวบรันสวิก เวอร์มอนท์ นิวแฮมเชอร์ และโรดส์ไอส์แลนด์ เราทั้งคู่รักชายฝั่งทะเล ที่มีทั้งอ่าว ท่าเรือและชายหาด ใบไม้ เปลี่ยนสีของฤดูใบไม้ร่วงทำให้เราถึงกับตะลึง ไม่ว่าจะเป็นสีทอง สีเหลือง สีแสด หรือแม้กระทั่งสีแดงเพลิง ตลอดชีวิต เราอาศัยอยู่แต่แถบตะวันตกเฉียงเหนือ และแถวเท็กซัส เมื่อได้มาสัมผัสบรรยากาศเก่าๆแถว ชายฝั่งด้านตะวันออก เราได้แต่นิ่งงัน เห็นโบสถ์ที่สร้างก่อนการประกาศเอกราช สุสานของคนที่ตายไปแล้ว นับศตวรรษ

คำว่า "เก่า" สร้างความหมายใหม่ให้กับเรา ; "เก่า" นี้น่าจะ "เก่ากว่า" ที่เราเคยคิดเอาไว้ แต่ว่าในอเมริกา คำว่า "เก่า" ยังไม่ค่อย "เก่า" เท่าไหร่ คุณคิดว่าตึกอายุ 200 ปี หรือสุสานเก่าๆนี้ "เก่า" จริงหรือ? ลองเทียบ กับ "ความเก่า" ที่บรรดาธรรมิกชนในพระคัมภีร์เดิมนึกถึง เช่น ชาวอิสราเอลที่ทำพันธสัญญากับชาวกิเบโอน สี่ร้อยปีก่อนสมัยของดาวิด เราคงสงสัยกันว่ากษัตริย์ซาอูลลืมเรื่องพันธสัญญานี้หรือเปล่า หรืออาจเป็นได้ว่า เพราะมัน "เก่า" เกินกว่าจะไปยึดถือเป็นจริงเป็นจัง ท่านคิดผิดมากครับ! การกระทำของท่าน ชาวกิเบโอน ถือว่าเป็นการทำให้แผ่นดินอิสราเอลมัวหมอง เกิดกันดารอาหารหลังจากที่ท่านตาย จึงตกอยู่ที่ดาวิด ผู้จะต้อง เข้ามาแก้ใข ทำในสิ่งที่ซาอูลละเมิดให้ถูกต้อง

เรื่องเช่นนี้ฟังดูไม่คุ้นหูพวกเราทั้งหลาย เราสงสัย ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงต้องฆ่าคนในราชวงศ์ของซาอูลถึงเจ็ด คน เพื่อชดใช้การกระทำของท่าน ที่ทำไว้หลายปีมาแล้ว เพียงเพื่อรักษาสัญญาที่ทำไว้เมื่อ 400 ปีก่อนหน้า เรางุนงงที่เห็นมารดาของบุตรที่ถูกสังหารทั้งสอง พยายามปกป้องศพของบุตรชาย และการที่ ดาวิดนำกระดูก ของพวกเขามาทำพิธีฝังให้อย่างถูกต้อง รวมกับกระดูกของซาอูลและบรรดาบุตรของท่าน ที่แปลกคือ เราพบ ว่าโกลิอัท ทหารยักษ์ที่ดาวิดฆ่าเมื่อเริ่มเข้าสู่วงการ มีบุตรหลานอยู่มากมาย ล้วนแล้วแต่ มีร่างกายใหญ่โต เป็นยักษ์ทั้งสิ้น

เรื่องแปลกๆเช่นนี้ ถูกรวบรวมเอาไว้ในบทที่ 21 ของพระธรรม 2 ซามูเอล ด้วยการดลใจและควบคุมขององค์ พระผู้เป็นเจ้า ขอให้เราตระหนักว่า เรื่องราวเหล่านี้ เป็นจุดสูงสุด ที่สรุปรวมความของพระธรรม 1 และ 2 ซามูเอลไว้ด้วยกัน ผู้เขียนค่อยๆนำเราเข้าสู่จุดนี้ในพระคัมภีร์ ดังนั้นเนื้อหาที่มีอยู่ จึงสำคัญยิ่งสำหรับพวกเรา ของให้เราตั้งใจฟังให้ดี และเรียนในสิ่งที่พระเจ้ามีพระประสงค์ให้เราเรียนรู้

ทำในสิ่งที่ถูกต้องให้กับชาวกิเบโอน
(21:1-9)

1 ในสมัยของดาวิดมีการกันดารอาหารอยู่สามปี ปีแล้วปีเล่า และดาวิดก็เข้าเฝ้าต่อ
พระพักตร์พระเจ้า พระเจ้าตรัสว่า "เพราะเขาฆ่าคนกิเบโอน ความผิดที่เขาทั้งหลาย
ต้องตายจึง ตกอยู่กับซาอูลและพงศ์พันธุ์ของเขา" 2 พระราชาจึงทรงเรียกคนกิเบ
โอนมาตรัสแก่เขา (ฝ่ายคนกิเบโอนนั้นไม่ใช่ประชาชนอิสราเอล แต่เป็นคนอาโมไรต์
ที่ยังเหลืออยู่ ถึงแม้ว่าประชาชนอิสราเอลจะ ได้ปฏิญาณไว้ว่าจะไว้ชีวิตเขาทั้งหลาย แต่ซาอูลก็ทรงหาช่องที่จะสังหารเขาทั้งหลายเสีย เพราะความร้อนใจที่เห็นแก่คน อิสราเอลและคนยูดาห์) 3 ดาวิดตรัสถามคนกิเบโอนว่า "เราจะกระทำอะไรให้แก่พวก
ท่านได้ เราจะทำอย่างไรจึงจะลบมลทินบาปเสียได้ เพื่อพวกท่านจะได้อวยพรแก่ มรดกของพระเจ้าได้" 4 คนกิเบโอนทูลตอบพระองค์ว่า "ระหว่างพวกข้าพระบาท กับ ซาอูลและพงศ์พันธุ์ของท่าน นั้นไม่ใช่เรื่องเงินหรือทอง ทั้งไม่ใช่เรื่องของพวกข้าพระ บาทที่จะประหารชีวิต อิสราเอลคนหนึ่งคนใด" พระองค์จึงตรัสว่า "แล้วพวกท่านจะ ให้เรากระทำอะไรแก่ท่านเล่า" 5 เขากราบทูลพระราชาว่า "ชายผู้ที่เผาผลาญพวกข้า
พระบาท และวางแผนการทำลายพวกข้าพระบาท เพื่อมิให้พวกข้าพระบาทมีที่อยู่ใน เขตแดนอิสราเอล 6 ขอทรงมอบบุตรเจ็ดคนของเขาให้แก่พวกข้าพระบาท เพื่อพวกข้า พระบาทจะได้แขวนเขาเสียต่อ พระพักตร์พระเจ้าที่กิเบอาห์แห่งซาอูลผู้เลือกสรรของ
พระเจ้า" และพระราชาตรัสว่า "เราจะจัดเขามาให้" 7 แต่พระราชาทรงไว้ชีวิตเมฟีโบเชท บุตรของโยนาธานราชโอรสของซาอูล ด้วยเหตุคำปฏิญาณระหว่างทั้งสองที่กระทำใน พระนามพระเจ้า คือระหว่างดาวิดกับโยนาธานราชโอรสของซาอูล 8 แต่พระราชานำ เอาบุตรสองคนของนาง ริสปาห์บุตรีของอัยยาห์ ซึ่งบังเกิดกับซาอูล ชื่ออารโมนีกับ
เมฟีโบเชท กับบุตรห้าคนของเมราบ ราชธิดาของซาอูล ซึ่งพระนางมีกับอาดรีเอล บุตรบารซิลลัยชาวเมโหลาห์ 9 พระองค์ทรงมอบคนเหล่านี้ไว้ในมือของคนกิเบโอน เขาทั้งหลายจึงแขวนคนทั้งเจ็ดไว้บนภูเขาต่อพระพักตร์พระเจ้า และทั้งเจ็ดคนก็พินาศ
ไปด้วยกัน เขาถูกฆ่าตายในวันแรกของฤดู เกี่ยวข้าวในวันต้นการเกี่ยวข้าวบารลี

ชาวกิเบโอนเป็นชนเผ่าที่น่าสนใจ ผู้เขียนเรียกคนพวกนี้ว่าเป็นชาวอาโมไรต์ (21:2) แต่โดยทั่วไปแล้ว เป็นที่ รู้จักกันว่าเป็นคนฮีไวต์ (โยชูวา 9:1, 7; 11:19)93 คนกิเบโอนเหล่านี้อาศัยอยู่ในคานาอัน เป็นคนที่พระเจ้า สั่งให้คนอิสราเอลทำลายให้หมดสิ้น (อพยพ 33:2; 34:11; เฉลยธรรมบัญญัติ 7:1-2) ซึ่งน่าจะเป็นไปตามนั้น เสียแต่เพียงว่ามีกรณีพิเศษ ทำให้ต้องหักเหไป ตามที่บันทึกอยู่ในพระธรรมโยชูวาบทที่ 9 ภายใต้การนำของ โยชูวา ชาวอิสราเอลได้ข้ามแม่น้ำจอร์แดน (โยชูวา 3) และเข้ายึดเมืองเยริโค(บทที่ 6) และต่อมายึดเมืองอัย (บทที่ 7 และ 8) เมืองที่อิสราเอลต้องเข้ายึดครองเมืองต่อไปคือกิเบโอน และชาวกิเบโอนก็รู้ตัวดี

กิเบโอนเป็นเมืองใหญ่ มีนักรบที่มีฝีมืออยู่เป็นจำนวนมาก (10:2) เราคิดว่าพวกเขาน่าจะลุกขึ้นต่อสู้ แต่ชาว เมืองนี้กลับเลือกใช้วิธีอื่น เช่นเดียวกับนางราหับที่เมืองเยริโค ชาวกิเบโอนเชื่อว่าพระเจ้าประทานแผ่นดิน คานาอันให้กับชาวอิสราเอล พวกเขารู้ดีว่าไม่มีทางชนะถ้าขืนคิดสู้ จึงตัดสินใจส่งคณะผู้แทนไปเจรจา ทำที ว่ามาจากที่ไกล เพื่อจะมาให้ถึงที่ๆอิสราเอลตั้งค่ายอยู่ คณะผู้แทนนี้บันทุกกะสอบเก่า และถุงหนังเหล้าองุ่นไว้ บนหลังลา สวมใส่เสื้อผ้าเก่าขาด นำแป้งขนมปังและเสบียงมาด้วย ภาพทุกอย่างทำให้เห็นเหมือนกับว่ามา จากที่ไกล คนอิสราเอลตกลงทำสัญญาสันติภาพกับกลุ่มคนที่ "มาจากที่ไกล" คณะนี้ เมื่อคนอิสราเอลรู้ว่า ถูกหลอก พวกเขาต้องการฆ่าคนกิเบโอน แต่พันธสัญญาที่พึ่งได้ตกลงกันไป ทำให้พวกเขาไม่สามารถทำได้ คนอิสราเอลจึงนำคนกิเบโอนมาใช้เป็นทาส ให้ตัดฟืน และตักน้ำ โดยเฉพาะสำหรับใช้ที่ในพลับพลา (โยชูวา 9:16-17)

พันธสัญญาที่ชาวกิเบโอนทำไว้กับชาวอิสราเอล ทำให้พวกเขาอยู่รอดปลอดภัย แต่ก็เสี่ยงกับความไม่พอใจ ของเพื่อนร่วมชาติชาวอาโมไรต์เมืองอื่นๆ เมื่อกษัตริย์ทั้งห้าของอาโมไรต์ รู้เรื่องสัญญาเป็นพันธมิตรที่ชาว กิเบโอนทำกับอิสราเอล พวกเขาจึงมองชาวกิเบโอนเป็นศัตรู กษัตริย์ทั้งห้าตัดขาดกับกิเบโอน และยกทัพ หมายจะมาโจมตีและทำลายเมืองนี้เสีย (10:1-5) เมื่อคนกิเบโอนรู้ว่าจะถูกโจมตี พวกเขาส่งสารไปหาโยชูวา ที่กิลกาล ขอความช่วยเหลือ และก็ได้ตามนั้น (สัญญาที่กิเบโอนทำไว้กับอิสราเอล ครอบคลุมไปถึงการช่วย คุ้มครองด้วย) พระเจ้าทรงประทานความมั่นใจให้แก่โยชูวาว่าท่านจะชนะ : "จะไม่มีผู้ใดในพวกเขา สักคน เดียวที่จะยืนหยัด ต่อสู้เจ้าได้" (10:8) เดินทางทั้งคืนมาจากกิลกาล โยชูวาจัดการกับกษัตริย์อาโมไรต์ทั้ง ห้าจนไม่เหลือเลยที่กิเบโอน ทั้งที่ต่างพยายามหลบหนี พระเจ้าทรงโยนลูกเห็บใหญ่ลงมาจากฟ้า ฆ่าพวกเขา ตายไปเสียมากกว่าคมดาบ (10:11) ถึงกระนั้นก็ยังไม่ชนะเด็ดขาด โยชูวาจึงอธิษฐานขอให้พระเจ้า ทำให้ดวง อาทิตย์หยุดอยู่กับที่ เพื่ออิสราเอลจะมีเวลาและแสงเพียงพอ ที่จะทำลายคนอาโมไรต์ให้หมดสิ้น ดวงอาทิตย์ หยุดนิ่งอยู่เหนือกิเบโอน ไม่มีวันใดอีกแล้ว ที่เป็นวันแห่งสงครามอันยาวนานเท่าวันนั้น เราคงสงสัย ว่าทำไม คนอาโมไรต์เหล่านี้ คิดว่าจะยับยั้งพระหัตถ์พระเจ้าได้ ในเมื่อพวกเขากำลังทำลายประชากรอิสราเอล พล เมืองของพระองค์ ประชากรที่พระองค์ประทานพระพรให้

เมื่ออิสราเอลเข้าครอบครองคานาอัน เมืองกิเบโอนถูกแบ่งให้เป็นส่วนของเผ่าเบนยามิน และเป็นเมืองที่เก็บ ไว้้สำหรับพวกเลวี (โยชูวา 21:17) เป็นเมืองที่ "สงวนไว้" สำหรับจัดตั้งพลับพลา และประดิษฐานอยู่ที่นั่น จนกระทั่งพระวิหารที่ซาโลมอนสร้างเสร็จลง (ดาวิดนำหีบแห่งพระเจ้ามาไว้ที่เยรูซาเล็ม แต่พลับพลาและ แท่นเผาบูชา ยังอยู่ทีกิเบโอน (ดู 2 ซามูเอล 6; 1 พศด. 16:39-40; 21:29) ในช่วงเริ่มต้นการปกครองของ ซาโลมอน ท่านไปที่กิเบโอน เพื่อไปนมัสการพระเจ้าและถวายเครื่องบูชา และที่นี่เองเป็นสถานที่ ที่พระเจ้า เสนอจะมอบสิ่งที่ซาโลมอนทูลขอ (1 พศด. 16:39; 21:29; 2 พศด. 1:1-13; 1 พกษ. 3:4-5)

กิเบโอนเป็นเมืองบรรพบุรุษของซาอูล (1 พศด. 8:29-30; 9:35-39) เป็นเมืองที่คน 12 คนของอิชโบเชท (บุตรของซาอูล) มาท้าทายกับ 12 คนของดาวิด ทะเลาะเป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โตจนเกิดการสู้รบ ถึงขั้นนอง เลือด (2 ซามูเอล 2:12-17) เป็นเมืองที่มี "ศิลาใหญ่" ตั้งอยู่ เป็นที่เดียวกับที่โยอาบออกมาพบอามาสา และฆ่าเสีย (2 ซามูเอล 20:8) ต่อมาเมื่อดาวิดชราภาพ และโยอาบทำสิ่งที่โง่เขลา ด้วยการไปสนับสนุน อาโดนียาห์ (ต่อต้านซาโลมอน) ให้เป็นผู้สืบทอดราชบัลลังก์ต่อจากดาวิด โยอาบหนีไปที่กิเบโอน ไปจับ เชิงงอนที่แท่นบูชาไว้ แต่ก็ไม่เป็นผล (1 พกษ. 2:28-34).

เวลาผ่านไปถึง 400 ปีแล้ว กว่าจะมาถึงพระธรรมตอนนี้ ที่พวกผู้นำอิสราเอลเคยพลาดท่า ไปทำพันธสัญญา กับชาวกิเบโอน เราคิดว่าพันธสัญญานี้น่าจะล้มเลิกไปได้แล้ว เพราะเป็นเรื่องเก่าเก็บในประวัติศาสตร์ แต่ อยู่ดีๆ ก็มีพวกกิเบโอนโผล่ขึ้นมาในพระธรรม 2 ซามูเอลตอนนี้ เกิดการกันดารอาหารขึ้นในอิสราเอลเป็นเวลา ถึงสามปี ดาวิดจึงทูลถามพระเจ้า ว่าเหตุใดพระองค์จึงให้เกิดการกันดารอาหารขึ้น พระเจ้าตอบว่าเป็นเพราะ บาปของซาอูลและราชวงศ์ของท่าน บาปที่ทำไว้กับชาวกิเบโอน เป็นเพราะต้องการรักษาประโยชน์ให้กับ ประเทศ ให้กับลูกหลานอิสราเอลและยูดาห์ ซาอูลและราชวงศ์ของท่าน จึงคิดแผนการทำลายล้างเผ่าพันธ์ กิเบโอนให้หมดสิ้น ท่านค่อยๆกำจัดพวกนี้ออกไปทีละนิดๆ ซึ่งแทบไม่มีผู้ใดรู้ (รวมทั้งคนในราชวงศ์ด้วย) ที่จริง ถ้าซาอูลคิดจะกำจัดพวกกิเบโอน ท่านน่าจะทำได้ง่ายกว่า จากเมืองบ้านเกิดของท่านเองที่กิเบอา เรา ไม่รู้ว่าซาอูลดำเนินแผนการชั่วร้ายนี้ไปได้มากน้อยแค่ไหน และเพราะหตุใดจึงทำไม่สำเร็จ

การกระทำของซาอูลเป็นการละเมิดต่อพันธสัญญาที่อิสราเอลทำไว้กับชาวกิเบโอน เมื่อกว่า 400 ปีมาแล้ว 94 เป็นพันธสัญญาที่ผู้ใหญ่อิสราเอลในสมัยนั้นพลาดท่าเสียทีทำไป คนอิสราเอลไม่น่าหลวมตัวไปในเรื่องนี้ แต่ เมื่อทำไปแล้ว คนอิสราเอลจำต้องรักษาพันธสัญญาไว้ โยชูวาถึงได้ไปช่วยชาวกิเบโอนสู้รบ หลังจากที่ทำ พันธสัญญานี้ได้ไม่กี่วัน และบัดนี้ เวลาผ่านไปแล้วหลายร้อยปี ซาอูลกลับไปลงมือทำในสิ่งที่ขัดกับข้อผูกมัด ในอดีต ท่านเริ่มปฏิบัติการล้างเผ่าพันธ์กิเบโอน ซึ่งต่างกับที่ฮามานเคยคิดจะทำลายล้างชาวยิว (ดูพระธรรม เอสเธอร์) อย่างไรก็ตาม พระเจ้าทรงยับยั้งไม่ให้แผนการชั่วร้ายนี้สำเร็จ เราไม่รู้เรื่องราวของแผนการนี้เลย จนกระทั่งหลายปีผ่านไป พระเจ้าให้เกิดการกันดารอาหารขึ้นในอิสราเอล ทำให้ดาวิดต้องทูลถามพระเจ้า ถึงปัญหา และพยายามแก้ใขให้ถูกต้อง

ผู้เขียนไม่ได้พูดชัดเจนเรื่องเวลาที่เหตุการณ์นี้เกิดขึ้น เราไม่รู้ว่าการกันดารอาหารนี้อยู่ในช่วงใหนของชีวิต ดาวิด เรารู้แต่เพียงว่าเกิดขึ้นหลังจากที่ซาอูลและบุตรสิ้นชีพไปแล้ว เมื่อเกิดการกันดารอาหาร ก็เกิดต่อเนื่อง กันไปถึงสามปี นี่ไม่ใช่เป็นการกันดารอาหารแบบธรรมดา แต่เป็นเหตุการณ์ที่ดาวิดรู้สึกได้ว่าต้องเป็นมาจาก พระเจ้า ในพันธสัญญาโมเสส มีบ่งไว้ว่า การกันดารอาหารมาจากพระหัตถ์พระเจ้า เพื่อเป็นการลงโทษสำหรับ ความบาป (ดูเฉลยธรรมบัญญัติ 28:23-24; 2 พศด. 6:26-31) ดาวิดจึงทูลถามพระเจ้า ถึงสาเหตุของการ กันดารอาหาร คำตอบของพระเจ้านั้นชัดเจนยิ่งนัก :

"เพราะเขาฆ่าคนกิเบโอน ความผิดที่เขาทั้งหลายต้องตายจึง ตกอยู่กับซาอูล และพงศ์พันธุ์ของเขา" (2 ซามูเอล 21:1ข KJV)

ผมเลือกที่จะนำคำตอบของพระเจ้ามาจากฉบับบแปลของ KJV เพราะคิดว่าใกล้เคียงกับภาษาฮีบรูมากที่สุด "สำหรับซาอูล และสำหรับราชวงศ์กระหายเลือด (ของเขา)" คำพูดนี้น่าจะช่วยให้การแปลในฉบับอื่นๆเห็น ภาพชัด เหตุใดดาวิดจึงส่งบุตรหลานของซาอูลให้ไปตาย ทั้งๆที่บาปนั้นซาอูลเป็นผู้กระทำ? บัญญัติของ โมเสสสั่งห้ามอิสราเอลไม่ให้ลงโทษบุตรในบาปของบิดา:

16 "อย่าให้บิดาต้องรับโทษถึงตายแทนบุตรของตน หรือให้บุตรต้องรับโทษถึง ตายแทนบิดาของตน ให้ทุกคนรับโทษถึงตายด้วยโทษของคนนั้นเอง" (เฉลยธรรมบัญญัติ 24:16, NASV)

คำตอบของพระเจ้าที่มีต่อดาวิด ย้ำข้อเท็จจริงว่าซาอูลไม่ได้ลงมือทำการฆ่าล้างเผ่าพันธ์กิเบโอนเพียง คนเดียว ท่านคงต้องมีคนช่วย และใครจะทำเช่นนี้ได้ นอกจากเป็นคนในครอบครัว ไม่ว่าพวกเขาเป็นผู้ลงมือ ทำโลหิตของชาวกิเบโอนตกเองหรือไม่ก็ตาม อย่างน้อยพวกเขาต้องรู้ จึงจัดว่าเป็นผู้สมรู้ร่วมคิด มีส่วนใน แผนการชั่วร้ายนี้ด้วย95

ผมคิดว่าแรงจูงใจที่ซาอูลลุกขึ้นมากำจัดชาวกิเบโอนนั้น น่าจะเป็นการสนองตัณหาตัวเองมากกว่า เพราะว่า ท่านอาศัยอยู่ในแผ่นดินส่วนของเผ่าเบนยามิน และเมืองกิเบอาบ้านเกิดก็ไม่ไกลไปจากเมืองกิเบโอน อาจ เป็นได้ว่าครอบครัวของท่าน น่าจะเป็นผู้ได้ครอบครองดินแดนส่วนนี้ แต่ในพระคัมภีร์พูดว่า ซาอูลทำการ ครั้งนี้ก็ด้วยแรงจูงใจที่รักชาติอย่างผิดๆ "แต่ซาอูลก็ทรงหาช่องที่จะสังหารเขาทั้งหลายเสีย เพราะ ความร้อนใจที่เห็นแก่คน อิสราเอลและคนยูดาห์" (ข้อ 2) เพื่อนผมคนหนึ่งเคยพูดถึงประโยคนี้ว่า "ซาอูล ไม่เคยทำอะไรถูกสักที" ท่านไม่ยอมฆ่าคนอามาเลขให้หมด ทั้งๆที่พระเจ้าสั่ง (1 ซามูเอล 15) ท่านพยายาม ทำลายล้างเผ่าพันธ์กิเบโอน ด้วยความคิดว่าทำประโยชน์ให้กับอิสราเอลและยูดาห์ แต่ทำไม่สำเร็จ ดังนั้น ท่านจึงเป็นตัวต้นเหตุที่ทำให้แผ่นดินอิสราเอลเกิดการกันดารอาหาร

ดาวิดรู้ดีว่าท่านต้องทำบางสิ่ง เพื่อลบล้างบาปของซาอูล และเพื่อให้ได้มาซึ่งพรจากชาวกิเบโอน เพื่อว่า การกันดารอาหารจะได้จบสิ้นลง แต่สำหรับเราแล้ว เรารู้สึกว่าเป็นเรื่องแปลกประหลาดเหลือเชื่อ ที่ชาว กิเบโอนจะเป็นผู้ "อวยพร" คนอิสราเอล ประชากรของพระเจ้า เพื่อว่าพระเจ้าจะอำนวยพระพรให้กับคน อิสราเอลอีกครั้ง ดูจะเป็นเรื่องกลับกัน กับที่ีบัญญัติไว้ในพันธสัญญาโมเสส :

"เราจะอำนวยพรแก่คนที่อวยพรเจ้า เราจะสาปคนที่แช่งเจ้า บรรดาเผ่าพันธุ์ทั่ว โลก จะได้พรเพราะเจ้า" (ปฐมกาล 12:3)

เป็นเพราะบาปของซาอูลและราชวงศ์กระหายเลือดของท่าน ทำให้ดูว่าคนกิเบโอนเป็นฝ่ายผิด ดูเหมือนพวก เขาร้องขอความเป็นธรรมจากพระเจ้า และสาปแช่ง (กันดารอาหาร) ให้ตกอยู่กับแผ่นดิน มันไม่ได้เกิดขึ้นใน สมัยของซาอูล แต่เกิดทีหลัง (อาจเป็นได้ว่าซาอูลไม่เคยคิดจะหาสาเหตุ ว่าทำไมแผ่นดินจึงกันดารอาหาร ไม่ใส่ใจที่จะแก้ใขสถานการณ์) บัดนี้เพื่อให้เรื่องนี้ยุติลง ต้องมีการชดใช้บาป (ด้วยการฆ่าผู้สืบทอดวงศ์วาน ของซาอูลเจ็ดคน) เพื่อชาวกิเบโอนจะได้อวยพรชาวอิสราเอล และพระเจ้าจะได้อำนวยพระพรแก่อิสราเอล ประชากรของพระองค์อีกครั้ง

ดาวิดเรียกชาวกิเบโอนมาพบ เพื่อสอบถามว่าท่านต้องทำสิ่งใด เพื่อจะแก้ใขเรื่องนี้ให้ถูกต้อง พวกเขาตอบ ท่านต่างจากที่ใจเราคิด อาจเป็นเพราะในสมัยนั้นยังไม่มีทนายความหัวเห็ด (โทษทีครับ) ที่คอยคิดสาระตะว่า จะได้เงินจากงานนี้เท่าไร แต่ชาวกิเบโอนแสดงชัดเจนว่ามันไม่ใช่เรื่องเงินที่เขาอยากได้ เพราะมันไม่มีทาง "สม" กับโลหิตที่ซาอูลทำให้ตกบนแผ่นดิน สิ่งที่พวกเขาพูดต่อมา คือสิ่งที่พวกเขาคิดว่าสาสมกับความ ยุติธรรม : "ทั้งไม่ใช่เรื่องของพวกข้าพระ บาทที่จะประหารชีวิต อิสราเอลคนหนึ่งคนใด" (ข้อ 4) พวก เขาไม่มีอำนาจใดในฐานะเมืองขึ้น ที่จะสั่งประหารคนยิว ดาวิดคงพอเข้าใจในสิ่งที่พวกเขากำลังขอ ท่านจึง ถามเขาไปตรงๆว่า พวกเขาต้องการให้ท่านทำสิ่งใด ท่านจะทำให้

ชาวกิเบโอนตอบดาวิดว่า เนื่องจากซาอูลได้สังหารพวกเขาไปมากมาย และยังมีความตั้งใจจะทำลายล้างเผ่า พันธ์ของพวกเขาให้หมดสิ้น พวกเขาคิดว่าชีวิต "ลูกหลาน"96 ของคนในราชวงศ์ซาอูลเจ็ดคน น่าจะสมกับ ความยุติธรรมที่ควรได้ พวกเขาจะแขวนคอลูกหลานทั้งเจ็ดคนนี้ "เพื่อพวกข้าพระบาทจะได้แขวนเขาเสีย ต่อ พระพักตร์พระเจ้า ที่กิเบอาห์แห่งซาอูลผู้เลือกสรรของพระเจ้า" (ข้อ 6) การแขวนคอ เป็นการลง โทษสำหรับความผิดสถานหนัก (ดูปฐมกาล 40:19; เฉลยธรรมบัญญัติ 21:22-23; โยชูวา 8:29; 10:26) ชาว กิเบโอนสัญญาว่าจะแขวนคอลูกหลานของซาอูล "ต่อเบื้องพระพักตร์พระเจ้า" ผมคิดว่าพวกเขามองเรื่องนี้ อย่างที่ควรเป็น คือทำตามพระประสงค์ของพระเจ้า ในแบบที่พระองค์พอพระทัย และแบบที่พวกเขาเองก็พอใจ พวกเขาจะทำการประหารนี้ที่บ้านเกิดของซาอูล ต่อหน้าพระพักตร์พระเจ้าที่กิเบอา เมืองของซาอูล

ผมพบว่าน่าสนใจ ที่ชาวกิเบโอนพูดถึงซาอูลว่าเป็น "ผู้เลือกสรรของพระเจ้า" แน่นอน นี่คงเป็นชื่อที่ใช้เรียก ซาอูลโดยทั่วไป ที่ชาวกิเบโอนคุ้นเคยดี แต่ผมคิดว่าที่เรียกเช่นนี้ในตอนนั้น คงต้องมีจุดประสงค์บางอย่าง หรือ ว่าซาอูลถือเอาว่าตนเองนั้นเป็น "ผู้เลือกสรรของพระเจ้า" จึงทำอะไรก็ได้ตามต้องการ? คุณว่าสิ่งนี้เป็นสิทธิ พิเศษเฉพาะตัว ที่ทำให้พระเจ้ามองข้ามความบาปของเขาไปหรือ?! ลูกหลานของ "ผู้เลือกสรรของพระเจ้า" กำลังจะถูกประหารที่บ้านเกิดของตนเอง พระเจ้าไม่เคยมองข้าม หรือยกเว้นความบาปของคนที่พระองค์เลือก ไว้ พระองค์คงไม่ได้ลงโทษชาวคานาอันในความบาปของพวกเขา แล้วทำเป็นมองไม่เห็นบาปเดียวกันใน ประชากรอิสราเอล ที่พระองค์เลือกไว้ พระเจ้าไม่ได้ละเว้นบาปของดาวิด หรือบาปของซาอูล คนที่พระองค์ได้ "เลือกสรร" ไว้

มีหลายครั้งที่คริสเตียนรู้สึกหงุดหงิดในเรื่องนี้ เมื่อพวกอาหรับไปทิ้งระเบิด หรือทำลายตึกรามบ้านช่อง ทำให้ คนบริสุทธิ์พลอยรับเคราะห์ เรารีบประณามการกระทำนี้ว่าเป็นการกระทำของ "ผู้ก่อการร้าย" และเรียกร้องหา ความยุติธรรม แต่เมื่อคนอิสราเอลทำในแบบเดียวกัน เรากลับมองว่าเป็นการ "ป้องกันตัว" และถือว่าเป็นการเอา คืนที่ยุติธรรม การเป็นพลเมืองที่พระเจ้าเลือกสรร ไม่ใช่เป็นใบเบิกทางให้เราทำบาป พระเจ้าทรงได้ยินเสียงร้อง ทูลของผู้ที่ถูกข่มเหง และพระองค์จะพิพากษาอย่างยุติธรรม ถึงแม้บาปนั้น พลเมืองของพระองค์เป็นผู้กระทำก็ ตาม

26 ถ้าเจ้าได้รับเสื้อคลุมของเพื่อนบ้านไว้เป็นของประกัน จงคืนของนั้นให้เขา
ก่อนตะวันตกดิน 27 เพราะเขาอาจมีเสื้อคลุมตัวนั้นตัวเดียว เป็นเครื่องปกคลุม
ร่างกาย มิฉะนั้นเวลานอนเขาจะเอาอะไรห่มเล่า เมื่อเขาทูลร้องทุกข์ต่อเรา เราจะสดับฟังเพราะเราเป็นผู้มีเมตตากรุณา (อพยพ 22:26-27)

12 เพราะท่านช่วยกู้คนขัดสนเมื่อเราร้องทูล คนยากจน และคนที่ไร้ผู้อุปถัมภ์ (สดุดี 72:12).

4 นี่แน่ะ ค่าจ้างของคนที่ได้เกี่ยวข้าวในนาของท่านซึ่งท่านได้ฉ้อโกงไว้นั้น ก็ร้อง ฟ้องขึ้น และเสียงร้องทุกข์ของคนที่เกี่ยวข้าวนั้น ได้ทรงทราบถึงพระกรรณ ของ องค์พระผู้เป็นเจ้าจอมโยธาแล้ว (ยากอบ 5:4)

การพิพากษาของพระองค์อาจไม่มาในทันที แต่จะมาแน่

ดังนั้นจึงมีการเลือก "ลูกหลาน" ของซาอูลเจ็ดคนขึ้นมา เมฟีโบเชท บุตรของโยนาธาน ไ้ด้รับการยกเว้น เพราะพันธสัญญาที่ดาวิดได้ทำไว้กับโยนาธาน บุตรทั้งสองของนางริสปาห์ 97 สนมของซาอูล ถูกประหาร รวมไปถึงบุตรห้าคนของธิดาซาอูล เมราบ98 ชาวกิเบโอนนำชายทั้งเจ็ดนี้ไป และ "...แขวนคนทั้งเจ็ด ไว้บนภูเขาต่อพระพักตร์พระเจ้า" (ข้อ 9) การประหารนี้เกิดในเริ่มต้นฤดูเกี่ยวข้าวบารลี

ก่อนที่เราจะเข้าสู่บทสรุปของเหตุการณ์ระหว่างอิสราเอล และชาวกิเบโอน ตามที่บันทึกอยู่ในข้อ 10-14 ผม ขอหยุดไว้สักนิด เพื่อจะมาตั้งข้อสังเกตุบางประการของเหตุการณ์ในครั้งนี้ และจะนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ได้อย่างไร

พระธรรมตอนนี้เตือนเราให้เห็นถึงความสำคัญของพันธสัญญา ตลอดทั้งสมัยพระคัมภีร์เก่าและใหม่ พระเจ้า ทรงปฏิบัติต่อมนุษย์ผ่านทางพันธสัญญา เมื่อพระเจ้าไว้ชีวิตโนอาห์และครอบครัว พระองค์ทรงทำพันธสัญญา กับพวกเขาด้วยรุ้งกินน้ำ เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งพันธสัญญา (ปฐก. 9:1-17) ต่อมาพระเจ้าทรงทำพันธสัญญา กับอับราฮัม ด้วยสัญลักษณ์ที่ติดตัว การเข้าสุหนัต (ปฐก. 12:1-3; 17:1-22) แล้วทรงทำพันธสัญญา กับชาว อิสราเอล ผ่านทางโมเสส ด้วยสัญลักษณ์ของวันสะบาโต (อพยพ 19-20; 31:12-17; เฉลยธรรมบัญญัติ 5) พระเจ้าทรงทำพันธสัญญากับดาวิด ว่าจะทำให้ราชวงศ์ของท่านเป็นราชวงศ์นิรันดร์ (2 ซามูเอล 7:12-17) และแน่นอน องค์พระเยซูคริสต์เป็นผู้กระทำพันธสัญญาใหม่ โดยการหลั่งพระโลหิตของพระองค์ (เยเรมีย์ 31:31-34; ลูกา 22:20; 1 โครินธ์ 11:25; 2 โครินธ์ 3:6; ฮีบรู 9:11-22) พระเจ้าทรงปฏิบัติต่อมนุษย์อย่าง มั่นคง และไม่เปลี่ยนแปลง ; พระองค์ปฏิบัติต่อเราตามพันธสัญญาที่ทรงให้ไว้

ดาวิดจัดการกับชาวกิเบโอนที่ปมของปัญหา มันเป็นเรื่องของการรักษาพันธสัญญา คนอิสราเอลเคยทำสัญญา ไว้กับคนกิเบโอนนาน 400 ปีมาแล้ว แต่เป็นพันธสัญญาที่ยังคงต้องยึดถือ ซาอูลละเมิดพันธสัญญานี้ เพราะ อยากได้แผ่นดินของพวกเขามาเป็นกรรมสิทธิ์ ไม่ว่าท่านจะมีจุดประสงค์ดีอันใด แต่สัญญาก็ต้องเป็นสัญญา การละเมิดสัญญาจะนำมาซึ่งผลอันร้ายแรง ทำให้ซาอูลและลูกหลานของท่านต้องเสียชีวิต ทำให้มีการกันดาร อาหารเกิดขึ้นในแผ่นดินอิสราเอล ยังมีพันธสัญญาอื่นๆในทำนองเดียวกันนี้อีก ส่วนมากบันทึกอยู่ในพระคัมภีร์ มีคำเตือนของพระเจ้าสำหรับบรรดาผู้ที่ละเมิดพันธสัญญาโมเสสอยู่ในเฉลยธรรมบัญญัติ 28-30 นอกจากนี้ พันธสัญญาของดาวิดที่มีต่อโยนาธาน คงต้องรักษาไว้ เมฟีโบเชทจึงรอดพ้น ไม่ถูกส่งให้ชาวกิเบโอนไป

พระเจ้าปฏิบัติต่อมนุษย์ด้วยพันธสัญญา เวลาไม่ได้ทำให้พันธสัญญาหมดความหมาย สัญญาเป็นสิ่งที่ต้อง รักษา ถึงแม้มนุษย์จะไม่ยึดถือเป็นจริงเป็นจัง แต่พระเจ้าทรง พระองค์มีพระประสงค์ให้เรารักษาสัญญา :

4 ในสายตาของเขา คนถ่อยเป็นคนที่ถูกดูหมิ่นเหยียดหยาม เขาให้เกียรติ
แก่ผู้ที่ยำเกรงพระเจ้า ถึงสาบานแล้ว และต้องเสียประโยชน์เขาก็ไม่กลับคำ
(สดุุดี 15:4)

ถึงแม้พันธสัญญานั้นทำไปเพราะความเขลา เช่นที่ชาวอิสราเอลถูกชาวกิเบโอนหลอก พระเจ้าทรงปรารถนา ให้เรารักษาสัญญา มีกี่ครั้งกัน ที่เราไปเป็นพยานให้กับคู่สมรส ที่หญิงชายเข้าสู่พันธสัญญาแห่งการแต่งงาน ไม่นานหลังจากนั้น ผ่ายใดผ่ายหนึ่ง (หรือทั้งสองฝ่าย) ตัดสินใจว่าการแต่งงานไม่ได้เป็นไปตามที่ฝันไว้ เพราะต่างคนต่างคาดหวังซึ่งกันและกัน พวกเขาจึงรู้สึกว่าน่าจะแยกจากกัน ไปตามทางของตนเองดีกว่า ถ้า พระเจ้าปรารถนาให้คนอิสราเอลรักษาสัญญาที่มีต่อคนกิเบโอน ถึงแม้จะถูกหลอกก็ตาม และเวลาผ่านไปแล้ว นานถึง 400 ปีมา คุณว่าพระเจ้าจะรู้สึกอย่างไร ที่พันธสัญญาแห่งการแต่งงานถูกละเมิด? เราคงไม่มีข้อ สงสัย:

13 และเจ้าได้กระทำอย่างนี้อีกด้วย คือเจ้าเอาน้ำตารดทั่วแท่นบูชาของพระเจ้า ด้วยเหตุเจ้าได้ร้องไห้คร่ำครวญเพราะพระเจ้าไม่สนพระทัยหรือรับเครื่องบูชาด้วย ชอบพระทัยจากมือของเจ้าอีกแล้ว 14 เจ้าถามว่า "เหตุใดพระองค์จึงไม่รับ" เพราะ ว่าพระเจ้าทรงเป็นพยานระหว่างเจ้ากับภรรยา คนที่เจ้าได้เมื่อหนุ่มนั้น แม้ว่านาง เป็นคู่เคียงของเจ้าและเป็นภรรยาของเจ้าตามพันธสัญญา เจ้าก็ทรยศต่อนาง
15 แต่ไม่มีสักคนหนึ่งที่มีสติจะกระทำอย่างนี้ ผู้มีสตินั้นย่อมประสงค์สิ่งใด ย่อม ประสงค์ลูกหลานที่เชื่อฟังพระเจ้า ดังนั้นจงระวังตัวให้ดี อย่าให้ผู้ใดทรยศต่อ ภรรยาคนที่ได้เมื่อหนุ่มนั้น 16 พระเยโฮวาห์พระเจ้าของอิสราเอลตรัสว่า "เพราะ ว่าเราเกลียดชังการหย่าร้าง และการที่ใครกระทำทารุณต่อภรรยาของตน" พระเจ้า จอมโยธาตรัสดังนี้แหละ เพราะฉะนั้น จงระวังตัวให้ดี อย่าเป็นคนทรยศ" "
(มาลาคี 2:13-16)

ขอบคุณพระเจ้า ที่พระองค์เป็นผู้ที่รักษาสัญญา ตลอดประวัติศาสตร์ของอิสราเอล ประชากรที่พระเจ้าเลือกไว้ คอแข็ง จิตใจกระด้างไม่ยอมเชื่อฟังพระเจ้า พระผู้ทรงช่วยให้เขาพ้นจากการเป็นทาสในประเทศอียิปต์ เป็น การง่ายเพียงใด ที่พระองค์จะล้างมือ ไม่ขอมีส่วนเกี่ยวข้องกับชนชาติจอมกบฎเช่นนี้อีก แต่พระเจ้าทรงรักษา สัญญา ด้วยการให้เผชิญความทุกข์ เมื่อพวกเขาทำบาป (เช่นการกันดารอาหารในอิสราเอลในสมัยของดาวิด) แต่พระองค์ทรงประทานผู้ช่วยให้ เป็นผู้ที่รักษาบัญญัติของโมเสสอย่างครบถ้วน เป็นผู้ถือรักษาพันธสัญญา อับราฮัม และพันธสัญญาของดาวิด พระองค์ทรงตั้งพันธสัญญาใหม่ ที่ช่วยให้คนบาปทุกคน มีสิทธิได้รับ ความรอดโดยความเชื่อในองค์พระเยซูคริสต์ และพระโลหิตของพระองค์ ที่ต้องหลั่งออกเพื่อลบบาปของ มนุษย์ทั้งหลาย

ผมประทับใจ ที่พระธรรมตอนนี้เล็งไปถึงพระกิตติคุณในหลายๆทาง ไม่เพียงแต่เตือนให้เราจำว่า พระเจ้าทรง มีสัมพันธภาพกับมนุษย์ผ่านทางพันธสัญญาเท่านั้น แต่ตรัสกับเราโดยเฉพาะเจาะจงในพันธสัญญาใหม่ด้วย บาปของซาอูลต้องถูกลบล้าง เพื่อจะได้มาซึ่งพระพร บาปของซาอูลทำให้เกิดภัยพิบัติในรูปของการกันดาร อาหารในแผ่นดิน เงินทองใช้ลบความบาปไม่ได้ นอกจากต้องมีโลหิตตก และการที่โลหิตตกนี้เอง จะเป็นการ ชดใช้ที่ทั้งพระเจ้าและชาวกิเบโอนพอใจ

มีบางคนคิดว่าพระกิตติคุณในพันธสัญญาใหม่นั้นกระหายเลือดเกินไป (จำได้หรือไม่ว่า "พระสัญญา" ของ พระเจ้าเป็นคำเดียวกับคำว่าพันธสัญญา) มีสิ่งอื่นใดอีกหรือที่จะลบล้างความผิดบาปได้? การพยายามทำดี ช่วยได้หรือ? ทรัพย์สมบัติที่เรามีอยู่ช่วยได้หรือ? มีเพียงการหลั่งโลหิตเท่านั้น ที่ลบล้างความผิดบาปได้ :

22 ความจริงนั้นตามพระบัญญัติถือว่า เกือบทุกสิ่งจะบริสุทธิ์เพราะโลหิต และถ้า ไม่มีโลหิตไหลออกแล้ว ก็จะไม่มีการอภัยบาปเลย (ฮีบรู 9:22).

มีโลหิตของเพียงผู้เดียวเท่านั้น ที่ต้องหลั่งออกเพื่อช่วยเราให้รอดจากความบาป -- โลหิตขององค์พระ เยซูคริสต์ ที่บนไม้กางเขนบนเนินหัวกระโหลก:

7 ในพระเยซูนั้น เราได้รับการไถ่บาปโดยพระโลหิตของพระองค์ คือได้รับการ อภัยโทษบาปของเราโดยพระกรุณาอันอุดมของพระองค์ (เอเฟซัส 1:7).

13 แต่บัดนี้ในพระเยซูคริสต์ ท่านทั้งหลายซึ่งเมื่อก่อนอยู่ไกล ได้เข้ามาใกล้ โดยพระโลหิตของพระคริสต์ (เอเฟซัส 2:13)

19 เพราะว่าพระเจ้าทรงพอพระทัย ที่จะให้ความบริบูรณ์ทั้งสิ้นธำรงในพระองค์
20 และโดยพระองค์ ให้สิ่งสารพัดกลับคืนดีกับพระเจ้า ไม่ว่าสิ่งนั้นจะอยู่ในแผ่น ดินโลกหรือในสวรรค์ พระองค์ทรงทำให้มีสันติภาพด้วยพระโลหิตแห่งกางเขน
ของพระองค์ (โคโลสี 1:19-20)

11 แต่เมื่อพระคริสต์ได้เสด็จมาเป็นมหาปุโรหิตแห่งสิ่งประเสริฐ ซึ่งมาถึงแล้ว พระองค์ก็ได้เสด็จเข้าไปสู่เต็นท์อันใหญ่ยิ่งกว่าแต่ก่อน (ที่ไม่ได้สร้างขึ้นด้วยมือ คือไม่ใช่เต็นท์แห่งโลกนี้) 12 พระองค์เสด็จเข้าไปในวิสุทธิสถานเพียงครั้งเดียว
เท่านั้น และพระองค์ไม่ได้ทรงนำเลือดแพะและเลือดลูกวัวเข้าไป แต่ทรงนำพระ โลหิตของพระองค์เองเข้าไป และทรงสำเร็จการไถ่บาปชั่วนิรันดร์ 13 เพราะว่าถ้า เลือดแพะและเลือดวัวตัวผู้ และเถ้าของลูกโคตัวเมีย ที่ประพรมลงบนคนบาป สามารถชำระมนุษย์ให้บริสุทธิ์ได้ 14 พระโลหิตของพระเยซูคริสต์ ผู้ได้ทรงถวาย พระองค์เองแด่พระเจ้าโดยพระวิญญาณนิรันดร์ ให้เป็นเครื่องบูชาอันปราศจาก
ตำหนิ ก็จะทรงชำระได้มากยิ่งกว่านั้นสักเพียงใด เพื่อให้จิตใจของคนที่หมกมุ่น ในการประพฤติที่นำไปสู่ความตาย หันไปรับใช้พระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่ (ฮีบรู 9:11-14)

17 และถ้าท่านอธิษฐานขอต่อพระองค์ เรียกพระองค์ว่า พระบิดาผู้ทรงพิพากษา ทุกคนตามการกระทำของเขา โดยไม่มีอคติ จงประพฤติตนด้วยความยำเกรง ตลอดเวลาที่ท่านอยู่ในโลกนี้ 18 ท่านรู้ว่าพระองค์ได้ทรงไถ่ท่านทั้งหลายออกจาก การประพฤติอันหาสาระมิได้ ซึ่งท่านได้รับต่อจากบรรพบุรุษของท่าน มิใช่ไถ่ไว้ด้วย สิ่งที่เสื่อมสลายได้ เช่นเงินและทอง 19 แต่ทรงไถ่ด้วยพระโลหิตประเสริฐของพระ
คริสต์ ดังเลือดลูกแกะที่ปราศจากตำหนิหรือจุดด่าง (1 เปโตร 1:17-18)

มีพระคำข้อหนึ่งในหนังสือวิวรณ์ ทีทำให้ผมรู้สึกทึ่งตลอดเวลา :

20 บ่อย่ำองุ่นถูกย่ำ ภายนอกเมือง และโลหิตไหลออกจากบ่อย่ำองุ่นนั้น สูงถึงบังเหียนม้าไหลนองไปประมาณ สามร้อยกิโลเมตร (วิวรณ์ 14:20)

พระคำข้อนี้อธิบายถึงภาพการไหลของพระอาชญาของพระเจ้า ที่มีต่อบรรดาผู้ที่ปฏิเสธองค์พระเยซูคริสต์ ต่อต้านพระองค์ เหตุใดจึงพูดถึงพระอาชญาของพระเจ้าด้วยคำพูดที่ฟังดูออกจะนองเลือด? โลหิตที่ไหล ออกมา สูงถึงบังเหียนม้า -- และยาวไปไกลถึง 300 กิโลเมตร ฟังดูเหลือเชื่อ! พูดเกินจริงไปหรือเปล่า? หรือเป็นเพียงการเปรียบเทียบให้เห็นภาพ? ผมเองก็ไม่แน่ใจ แต่อย่างน้อยก็ทำให้เรารู้ว่า คนบาปนั้น อยู่ใน สภาพน่าเวทนาเพียงใด และผลของความบาปนั้นรุนแรงขนาดไหน ต้องหลั่งโลหิตไปจำนวนมากแค่ไหนกัน ถึงจะเพียงพอกับความบาปของโลกนี้? มีไม่พอครับ การหลั่งโลหิตขององค์พระเยซูคริสต์ โลหิตที่หาค่ามิได้ นั้นเพียงพอ ท่านมีส่วนได้รับการหลั่งพระโลหิตนี้ เพื่อจะได้รับการอภัยแล้วหรือยัง?

เรื่องราวของซาอูล ดาวิด และชาวกิเบโอนสอนเรามากมาย ไม่เพียงแต่เตือนให้เรารู้ว่า ความบาปต้องได้รับ การชดใช้ด้วยการหลั่งโลหิต และวันที่ต้องชดใช้ความบาป จะมาถึงวันหนึ่งข้างหน้า ผมไม่แน่ใจว่าทำไมพระ เจ้าจึงให้เกิดการกันดารอาหารหลังจากที่ซาอูลและบุตรชายสิ้นชีวิตไปแล้ว แต่ผมประทับใจที่ความบาปนี้ ไม่ได้ถูกมองข้าม ในเวลาอันควรของพระเจ้า พระองค์จะจัดการกับความบาป เหมือนกับที่พระองค์ทรงทำ ต่อบาปทุกบาป บางคนคิดว่า ถ้าพระเจ้าไม่ได้ลงมือในทันที พระองค์จะไม่ทำ แต่พวกเขาลืมไปว่า การที่ พระเจ้าเลื่อนเวลาออกไปนั้น เป็นการสำแดงพระคุณของพระองค์ แต่ไม่ใช่เป็นการทำให้มนุษย์หลงผิด คิด ทำบาปอย่างไม่เกรงกลัวพระอาชญา (ดู 2เปโตร 3:1-13)

ชาวกิเบโอนเป็นเหมือนภาพเงาของพระคุณแห่งการช่วยกู้ ที่มีไปถึงคนต่างชาติ เป็นส่วนหนึ่งของแผนการ ความรอดนิรันดร์ของพระเจ้า ชาวกิเบโอนเป็นคนบาป สมควรแก่พระอาชญา แต่เป็นเพราะความเขลาของ อิสราเอล (ถ้าไม่ใช่บาป) ทำให้เกิดพันธสัญญาขึ้นกับชาวกิเบโอน คนบาปกิเบโอนเหล่านี้ ได้รับการช่วยกู้ เพราะความเขลาของอิสราเอล และอย่างน่ามหัศจรรย์ โดยทางคนต่างชาติอย่างกิเบโอน ที่อิสราเอลจะได้ กลับคืนสู่พระพรของพระเจ้าอีกครั้ง นี่เป็นภาพเล็งถึงการที่พระเจ้านำความรอดไปสู่คนต่างชาติ ใช่หรือไม่? และโดยคนต่างชาติเหล่านี้ จะเป็นผู้นำพระพรกลับคืนสู่ชาวยิว? ผมอยากให้คุณอ่านพระธรรมโรม 9-11 เพื่อจะดูว่า อ.เปาโลพูดถึงเรื่องนี้ไว้อย่างไร

เมื่อคนอิสราเอลรู้ตัวว่าถูกคนกิเบโอนหลอก พวกเขาโกรธมาก พวกเขาไม่สามารถฆ่าชาวกิเบโอนได้ เพราะ พันธสัญญาที่พึ่งทำไปเป็นตัวต้นเหตุ แต่อิสราเอลสามารถ "สาปแช่ง" พวกกิเบโอนได้ โดยการให้ไปเป็นทาส ให้คอยตัดไม้ หาฟืน และหาบน้ำ "คำสาป" นี้เป็นคำสาปจริงหรือ? ไม่เชิงครับ ที่จริงเป็นพระพรมหาศาล คน กิเบโอนมีสิทธิพิเศษ เพราะมีส่วนรับใช้ในการนมัสการร่วมกับประชากรของพระเจ้า ด้วยการตัดฟืนสำหรับใช้ที่ แท่นเผาบูชา และหาบน้ำสำหรับใช้ที่ในพลับพลา ไม่เป็นที่น่าสงสัยเลยครับ ว่าชาวกิเบโอนเหล่านี้ เมื่อ 400 ปีผ่านไป จะมีจิตสำนึกถึงพระประสงค์ของพระเจ้า ถึงเรื่องผิดถูก และแก้ใขให้ถูกต้องยุติธรรม ทำให้ผมนึกถึง พระธรรมสดุดีข้อที่กล่าวว่า

10 เพราะวันเดียวในบริเวณพระนิเวศของพระองค์ ดีกว่าพันวันในที่อื่น ข้าพเจ้าจะเป็น คนเฝ้าประตูพระนิเวศ ของพระเจ้าของข้าพเจ้า ดีกว่าอยู่ในเต็นท์ของความอธรรม
(สดุดี 84:10)

พระเจ้าทรงสำแดงพระคุณมากมายให้กับชาวต่างชาติเหล่านี้ และโดยทางชาวต่างชาตินี้เอง ที่เป็นผู้นำ พระพรคืนสู่ชาวอิสราเอล

นางริสปาห์ -- ดาวิดทำสิ่งที่ถูกต้องให้กับนาง
(21:10-14)

10 แล้วนางริสปาห์บุตรีของอัยยาห์ก็เอาผ้ากระสอบ ปูไว้บนก้อนหินสำหรับตนเอง ตั้งแต่ต้นฤดูเกี่ยวจนฝนจากท้องฟ้าตกบนเขาทั้งหลาย กลางวันนางก็ไม่ยอมให้นก มาเกาะหรือกลางคืนก็ ไม่ให้สัตว์ป่าทุ่งมา 11 เมื่อเขากราบทูลดาวิดว่านางริสปาห์
บุตรีของอัยยาห์ นางสนมของซาอูลกระทำอย่างไร 12 ดาวิดก็เสด็จไปนำอัฐิของซาอูล
และของ โยนาธานราชโอรสมาจากเมืองยาเบชกิเลอาด จากผู้ที่ลักลอบเอาไปจากลาน เมืองเบธชาน ที่คนฟีลิสเตียได้แขวนพระองค์ทั้งสองไว้ ในวันที่คนฟีลิสเตียประหารซาอูล บนเขากิลโบอา 13 พระองค์ทรงนำอัฐิของซาอูลและของโยนาธาน ราชโอรสขึ้นมาจาก
ที่นั่น และรวบรวมกระดูกของผู้ที่ถูกแขวนไว้ให้ตายนั้น 14 และเขาก็ฝังอัฐิของซาอูลและ ของโยนาธานราชโอรส ไว้ในแผ่นดินของเบนยามินในเมืองเศลาในอุโมงค์ของ คีชบิดา
ของพระองค์ เขาทั้งหลายก็กระทำตามทุกอย่างที่พระราชาทรงสั่งไว้ ครั้นต่อมาพระเจ้า ก็ทรงสดับฟังคำอธิษฐานเพื่อแผ่นดินนั้น อาบีชัยช่วยดาวิดให้พ้นจากคนยักษ์

คุณกับผมคงเห็นพ้องต้องกันว่า นี่เป็นเรื่องแปลกอีกเรื่องหนึ่ง แปลกกว่าเรื่องการแขวนคอบรรดา "ลูกหลาน" ของซาอูลเสียอีก เหตุใดผู้เขียนพระธรรมซามูเอลจึงบันทึกเรื่องราวนี้ไว้? มีจุดประสงค์ใด? ลองสังเกตุตามผม นะครับ ประการแรกเลย เรื่องนี้ต่อเนื่องและจบลงนับจากข้อ 1-9 เป็นเรื่องการประหารบุตรหลานของซาอูล ซึ่ง เป็นเหตุที่ทำให้นางริสปาห์เป็นเช่นนี้ และต่อมาดาวิดได้ลงมือทำบางอย่าง และจนกระทั่งการฝังอัฐิของซาอูล และบุตรของท่านสิ้นสุดลง การกันดารอาหารจึงจบสิ้น (ข้อ 14) เราต้องพยายามเข้าใจเรื่องนี้จากบริบทที่เรา ได้อ่านมา และจากเนื่อหาของพระธรรมบทนี้ทั้งบท

ริสปาห์ เป็นนางสนมของซาอูล ที่ต้องสูญเสียบุตรชายสองคนไปให้ชาวกิเบโอนแขวนคอ ศพของบุตรชายทั้ง สองไม่ได้ถูกเคลื่อนย้ายไปไหน อย่างที่ต้องทำ (ดูเฉลยธรรมบัญญัติ 21:22-23) ขณะที่ผมอ่านพระคัมภีร์เดิม ผมพบข้อความที่น่าสนใจนี้เข้า :

"ซากศพของท่านทั้งหลายจะเป็นอาหาร ของนกในอากาศ และสำหรับสัตว์ป่า ในโลก และไม่มีผู้ใดขับไล่ฝูงสัตว์เหล่านั้นไป (เฉลยธรรมบัญญัติ 28:26)

พระธรรมตอนนี้บอกเราว่า สิ่งที่นางริสปาห์ทำไม่ใช่เรื่องประหลาดแต่อย่างใด แม่คนใดเล่าอยากให้นกมาจิกกิน ซากศพของลูก? ในเมื่อไม่มีการนำศพลูกหลานของซาอูลไปฝัง แม่คนนี้จึงตั้งใจจะคอยเฝ้าระวัง นางนั่งอยู่ไม่ ไกล เพื่อจะคอยไล่นกและฝูงสัตว์ที่จะมากินซากศพ เมื่อดาวิดได้ยินเรื่องนี้ เรื่องการกระทำของนางริสปาห์ ท่าน จึงตัดสินใจทำบางอย่าง ทั้งเจ็ดศพนี้เป็นลูกหลานของซาอูล ที่ยังไม่ได้ถูกนำไปฝังอย่างถูกต้อง ดาวิดจำ ได้อีกว่า ซาอูลเองและบุตรชายทั้งสาม99 ก็ยังไม่ได้ถูกนำไปฝังอย่างถูกต้องด้วย

เราคงจำกันได้ว่า ดาวิดไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการฝังศพอย่างรีบเร่งของซาอูลและบุตรก่อนหน้านี้ ตามที่บันทึก อยู่ใน 1 ซามูเอล 31 เพราะดาวิดอยู่ที่ศิกลากเมื่อตอนซาอูลตาย ชาวฟิลิสเตียนำศพของท่านและบุตรชาย ไปแขวนไว้ที่กำแพงเมืองเบธชาน ชายกล้าจากยาเบช-กิเลอาด เดินทางทั้งคืน เพื่อไปนำร่างของท่านมาเผา และนำอัฐิไปฝังไว้ที่ใต้ต้นสนหมอกในยาเบช (31:11-13) ชายกล้าชาวยาเบชเป็นผู้กระทำการนี้ทั้งหมด เพราะ ดาวิดไม่ได้อยู่ที่นั่น ดังนั้นอัฐิของซาอูลและบุตรของท่านยังไม่ได้ถูกฝังตามประเพณี ถึงแม้จะมีคนนำศพมาให้ พ้นจากความอุจาดที่พวกฟิลิสเตียทำไว้ก็ตาม

ดาวิดมีเหตุผลพอที่จะทำเรื่องนี้ให้่ถูกต้อง ไม่มีการนำศพหรืออัฐิของลูกหลานทั้งเจ็ดของดาวิดไปฝังให้ถูก ต้องตามประเพณี นางริสปาห์จึงทำสิ่งที่เธอกระทำอยู่ เรื่องนี้คง "ไม่ยุิติลงง่ายๆ" จนกว่าบุตรชายทั้งเจ็ดนี้ จะถูกฝังให้ถูกต้อง เมื่อคิดถึงเรื่องนี้ ดาวิดจึงมีเหตุผลเพียงพอ ที่จะทำการฝังอัฐิของซาอูลและบุตรชายไป พร้อมๆกัน เพื่อจะให้เรื่องนี้ "ยุิติลง" ดาวิดจัดการให้ใมีการนำอัฐิของซาอูลและบุตรชายทั้งสาม รวมทั้งลูก หลานทั้งเจ็ดคน ไปยังที่ฝังศพของบิดาของซาอูล และฝังไว้ด้วยกัน เมื่อฝังเรียบร้อยแล้ว เรื่องนี้จะได้จบลง

ผมคิดว่ายังมีเหตุผลอื่นอีกสำหรับเรื่องนี้ เราเห็นชัดถึงความเกี่ยวข้องกัน ระหว่างเรื่องชาวกิเบโอนประหารลูก หลานทั้งเจ็ดของซาอูล การกระทำของนางริสปาห์ และการกระทำของดาวิด ผมคิดว่ามันไม่ใช่แค่เกี่ยวข้อง กันธรรมดาๆ ที่มีการนำอัฐิของซาอูลและบุตรทั้งหลาย มาฝังให้ถูกต้องตามประเพณี ลูกหลานทั้งเจ็ดนี้ มีส่วน คล้ายกับบุตรทั้งสามของซาอูลอย่างไร? - ทั้งหมดเป็นผู้สืบสายโลหิตของซาอูล และทั้งหมดถูก "แขวนคอ" เหมือนกัน ทำให้้ผมคิดว่า เป็นเพราะเหตุนี้ ดาวิดจึงมองเห็นความเกี่ยวข้องกัน ระหว่างซาอูลกับบุตรทั้งสาม และลูกหลานทั้งเจ็ดของท่าน บัดนี้เมื่อคนทั้งเจ็ดถูกฆ่าแขวนคอประจาน โทษฐานทำลายล้างเผ่าพันธ์กิเบโอน การตายก่อนหน้านี้ และการตายครั้งนี้ จึงเป็นการชดใช้บาปในแบบเดียวกัน ใช่หรือไม่? เมื่อดาวิดนำอัฐิและศพ ของคนทั้งหมดมาผังไว้ที่ฝังศพของบิดาซาอูล ท่านไม่เพียงแต่ทำให้ถูกต้องตามธรรมเนียมเท่านั้น แต่ท่านรวม เป็นบาปเดียวกัน และเป็นการพิพากษาเดียวกัน นี่คือเหตุผลที่ผู้เขียนให้ความสำคัญกับการกระทำของนาง ริสปาห์ และการกระทำของดาวิด อย่างน้อยก็ทำให้เห็นว่าเรื่องนี้จบสิ้นเสียที ไม่มีค้างคา

มีความจริงอีกข้อที่เราควรสังเกตุ ประโยคสุดท้ายของข้อ 14 ที่ค่อนข้างสำคัญ : "ครั้นต่อมาพระเจ้าก็ทรง สดับฟังคำอธิษฐานเพื่อแผ่นดินนั้น" เราคงคาดกันว่าคำพูดควรจะเป็น: "และพระเจ้าทรงนำการกันดาร อาหารที่เกิดขึ้นมาเป็นเวลาสามปีนั้น ออกไปเสียจากแผ่นดิน" แต่เรากลับเห็นว่า พระเจ้าทรงทราบแล้วว่ามีการ ชดใช้บาป และอีกครั้งพระองค์ทรงฟังคำอธิษฐานของประชากร ที่ร้องขอให้พระองค์เลิกลงโทษแผ่นดินนี้เสียที ความหมายคือ ประชาชนคงทูลวิงวอนขอ ให้พระเจ้ายุติการกันดารอาหารที่เกิดมาสามปีแล้วเสีย แต่ที่พระเจ้าไม่ ทำ เป็นเพราะความบาปของซาอูลและราชวงศ์นองเลือดของท่าน และบัดนี้เมื่อมีการชดใช้บาปแล้ว พระเจ้าจะ ทรงสดับคำอธิษฐานจากประชากรของพระองค์อีกครั้ง พระเจ้าทรงครอบครอง แต่บ่อยครั้งพระองค์ทรงกระทำ การด้วยวิธีที่พระองค์กำหนดเอาไว้ และวิธีสำหรับเรื่องนี้คือคำอธิษฐานจากประชากรของพระองค์ ให้มาดูว่า หลายปีหลังจากนั้น กษัตริย์ซาโลมอนกล่าวว่าอย่างไร :

26 "เมื่อฟ้าสวรรค์ปิดอยู่ และไม่มีฝน เพราะเขาทั้งหลายได้กระทำบาปต่อพระองค์ ถ้าเขาทั้งหลายได้อธิษฐานต่อสถานที่นี้ และยอมรับพระนามของพระองค์ และหันกลับ เสียจากบาปของเขาทั้งหลาย เมื่อพระองค์ทรงให้ใจเขาทั้งหลายรับความทุกข์ใจ
27 ก็ขอพระองค์ทรงสดับในฟ้าสวรรค์ และขอประทานอภัยแก่บาปของผู้รับใช้ของ
พระองค์ และของอิสราเอลประชากรของพระองค์ เมื่อพระองค์ทรงสอนทางดีแก่เขา ซึ่งเขาควรจะดำเนิน และขอทรงประทานฝนบนแผ่นดินของพระองค์ ซึ่งพระองค์พระ ราชทานแก่ประชากรของพระองค์เป็นมรดกนั้น 28 "ถ้ามีการกันดารอาหารในแผ่นดิน
ถ้ามีโรคระบาด ข้าวม้าน รากินข้าว หรือตั๊กแตนวัยบิน หรือตั๊กแตนวัยคลาน หรือ ศัตรูของเขาทั้งหลายล้อมเมืองของเขาไว้รอบด้าน จะเป็นภัยพิบัติอย่างใด หรือความ เจ็บอย่างใดมีขึ้นก็ดี 29 ไม่ว่าคำอธิษฐานอย่างใด หรือคำวิงวอนประการใด ซึ่งประ
ชาชนคนใด หรืออิสราเอลประชากรของพระองค์ทั้งสิ้นทูล ต่างก็ประจักษ์ในภัยพิบัติ และความทุกข์ใจของเขา และได้กางมือของเขาสู่พระนิเวศนี้ 30 ขอพระองค์ทรงสดับ ในฟ้าสวรรค์อันเป็นที่ประทับของพระองค์ และพระราชทานอภัย และทรงประทานแก่
ทุกคน ซึ่งพระองค์ทรงทราบจิตใจตามการประพฤติทั้งสิ้นของเขา (เพราะพระองค์ คือ พระองค์เท่านั้นที่ทรงทราบจิตใจ ของมนุษยชาติทั้งสิ้น) 31 เพื่อว่าเขาทั้งหลายจะได้
ยำเกรง พระองค์ และดำเนินในมรรคาของพระองค์ตลอดวันเวลา ที่เขามีชีวิตอาศัยใน
แผ่นดิน ซึ่งพระองค์พระราชทานแก่บรรพบุรุษของข้าพระองค์ทั้งหลาย"
(2 พงศาวดาร 6:26-31)

พระเจ้าทรงตอบคำอธิษฐาน ในกรณีนี้ ผู้เขียนพระธรรม 2 ซามูเอล ต้องการเน้นให้เห็นความจริงที่ว่า พระเจ้า ทรงยุติการกันดารอาหาร เพราะพระองค์ทรงสดับฟังคำอธิษฐานของประชากร เพราะความบาปที่กั้นขวางอยู่ ได้ถูกกำจัดไปแล้ว อย่าให้เราหลงประเด็นที่ผู้เขียนพยายามย้ำให้เห็นความสำคัญ : ความบาปเ็ป็นตัวการ ขวางกั้นคำอธิษฐาน แต่เมื่อความบาปได้รับการแก้ใข พระเจ้าจะทรงสดับคำอธิษฐานของเรา ขออย่าให้เรา มองข้ามความสำคัญ ของการอธิษฐาน

สงครามกับฟิลิสเตียอีก และมีโกลิอัทอีก (แล้ว)
(21:15-22)

15 คนฟีลิสเตียได้ทำสงครามกับคนอิสราเอลอีก ดาวิดก็ลงไปพร้อมกับบรรดา ข้าราชการของพระองค์ และได้สู้รบกับคนฟีลิสเตีย และดาวิดก็ทรงอ่อนเพลีย
16 อิชบีเบโนบคนหนึ่งในพงศ์พันธุ์ของคนยักษ์ ถือหอกทองสัมฤทธิ์หนักสาม
ร้อยเชเขล มีดาบใหม่คาดเอว คิดจะสังหารดาวิดเสีย 17 แต่อาบีชัยบุตร นาง เศรุยาห์เข้ามาช่วยพระองค์ไว้ และสู้รบกับคนฟีลิสเตียคนนั้นฆ่าเขาเสีย แล้ว บรรดาประชาชนของดาวิดก็ทูลวิงวอน พระองค์ด้วยการสาบานว่า "ขอฝ่าพระ บาทอย่าเสด็จไปทำศึกพร้อมกับพวก ข้าพระบาททั้งหลายอีกต่อไปเลย เกรง ว่าฝ่าพระบาทจะดับประทีปของอิสราเอลเสีย" 18 อยู่มาภายหลังนี้ มีการรบกับ คนฟีลิสเตียที่เมืองโกบ คราวนั้นสิบเบคัยตระกูลหุชาห์ได้ฆ่าสัฟคนหนึ่งในพงศ์
พันธุ์ของคนยักษ์ 19 และมีการรบกับคนฟีลิสเตียที่เมืองโกบอีก เอลฮานันบุตร
ยาอาเรโอเรกิม ชาวเบธเลเฮมได้ฆ่าโกลิอัท ชาวกัทผู้มีหอกที่มีด้ามโตเท่าไม้
กระพั่นทอผ้า 20 มีการรบกันอีกที่เมืองกัท อันเป็นเมืองที่มีชายคนหนึ่งรูปร่าง
ใหญ่โต มีนิ้วมือข้างละหกนิ้ว และนิ้วเท้าข้างละหกนิ้ว รวมกันยี่สิบสี่นิ้ว เขา ก็สืบเนื่องมาจากพวกคนยักษ์ด้วย 21 เมื่อเขาท้าทายอิสราเอล โยนาธานบุตร ของชิเมอีเชษฐาของดาวิดก็ สังหารเขาเสีย 22 คนทั้งสี่นี้สืบเนื่องมาจากคนยักษ์
ในเมืองกัท เขาทั้งหลายล้มตายด้วยพระหัตถ์ของดาวิด และด้วยมือของข้าราช
การของพระองค ์100

เรื่องเริ่มแปลกประหลาดขึ้นเรื่อยๆเมื่อบทที่ 21 ใกล้จะจบลง ประการแรก บาปของคนที่ตายไปแล้ว และวงศ์ วานของเขา มีผลทำให้ลูกหลานต้องตายเพิ่มไปอีกเจ็ดคน เมื่อคนทั้งเจ็ดนี้ถูกประหาร ร่างของพวกเขาถูกทิ้ง ไว้ประจาน ทำให้ผู้เป็นมารดาต้องมานั่งเฝ้าศพ เพื่อกันไม่ให้นกหรือสัตว์มากัดกิน ดาวิดจึงไปขุดเอาอัฐิของ ซาอูลและบุตรมา นำมาฝังรวมไว้กับศพทั้งเจ็ดนี้ ที่ในอุโมงค์ฝังศพของบิดาซาอูล และที่ทำให้วุ่นไปอีก คือเกิดสงครามขึ้นกับชาวฟิลิสเตีย สงครามครั้งนี้ลูกหลานยักษ์ของโกลิอัทออกมารบเต็มไปหมด ซึ่งเป็น เหตุการณ์ที่ทั้งน่าหวาดหวั่นและน่าสะพรึงกลัว

อีกครั้ง ที่เราไม่รู้ว่าสงครามครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาใด เรารู้แต่เพียงว่าพวกฟิลิสเตียยกทัพมาโจมตีอิสราเอล และดาวิดนำกองทัพออกไปต่อสู้ ในระหว่างการสู้รบ ดาวิดอ่อนกำลังลง อิชบีเบโนบ ทหารคนหนึ่งของฟิลิส เตีย เห็นว่าดาวิดกำลังจะเพลี่ยงพล้ำ จึงถือโอกาสเข้ามาหมายจะสังหาร ทหารคนนี้เป็นหนึ่งในลูกหลานของ ยักษ์โกลิอัท ใช้อาวุธแบบเดียวกัน นอกจากหอกแล้ว ยังมีดาบใหม่คาดเอว ซึ่งเขาหมายจะประเดิมดาบใหม่นี้ ดื่มเลือดกษัตริย์อิสราเอลเป็นคนแรก

คนที่เข้ามาช่วยเหลือดาวิดไม่ใช่ใครอื่น อาบีชัยพี่ชายคนโตของโยอาบและของอาสาเฮลที่สิ้นชีพไปแล้วนั่น เอง ทั้งสามเป็นบุตรของนางเศรุยาห์ พี่สาวของดาวิด (2 ซามูเอล 2:18) คนนี้เป็นคนเดียวกับที่เคยติดตาม ดาวิดไปที่ค่ายของซาอูล และต้องการจะปลิดชีพซาอูล (1 ซามูเอล 26:6-8) เขามีส่วนในการช่วยโยอาบ สังหารอับเนอร์ (2 ซามูเอล 3:30) อาบีชัย บางครั้งจะได้รับแต่งตั้งให้คุมกองกำลังของดาวิด (2 ซามูเอล 10:10; 18:2) เขาเป็นคนที่อยากฆ่าชิเมอีถึงสองครั้ง ที่บังอาจพูดจาลบหลู่ดาวิด ขณะที่อพยพหนีอับซาโลม ออกมาจากเยรูซาเล็ม (2 ซามูเอล 16:9-12; 19:21-22) เขาเป็นผู้นำนักรบกล้าสามสิบคน ออกต่อสู้กับศัตรู สามร้อยคนในสงคราม และสามารถฆ่าศัตรูทั้งหมดตายสิ้นด้วยคมดาบ ได้รับการยกย่องให้เป็นวีรบุรุษของ อิสราเอล (2 ซามูเอล 23:18) ถึงแม้ดาวิดจำต้องอดทนกับอาบีชัย -- ไม่พอใจการกระทำบางอย่าง -- แต่ ท่านก็เป็นหนี้ชีวิตอาบีชัย

เหตุการณ์ครั้งนี้นำมาซึ่งความยุ่งยากลำบากใจ ทั้งกับคนในกองทัพและกับดาวิดเอง พวกเขาเกือบจะสูญเสีย กษัตริย์ไปในสงคราม ทุกครั้งที่ดาวิดออกไปรบ ท่านจะเป็นผู้นำกองทัพเอง ท่านจึงเป็นเป้าหมายแลขหนึ่ง ของพวกศัตรู โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากทหารกล้าของฝ่ายตรงข้าม (ดู 1 พกษ. 22:29-33) การสูญเสียชีวิต ทหารไปในสงครามเป็นเรื่องหนึ่ง แต่การสูญเสียกษัตริย์ไปในสงครามเป็นคนละเรื่องจริงๆ อาบีชัยช่วยชีวิต ดาวิดไว้ได้ในครั้งนี้ แล้วครั้งต่อๆไปเล่า? ดาวิดเลยจุดสูงสุดของหน้าที่นี้ไปแล้ว ; ท่านไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป คนของท่านไม่อยากสูญเสียกษัตริย์อย่างท่านไป พวกเขาจึงขอร้องไม่ให้ท่านออกไปทำสงครามอีก

ย่อหน้าต่อไป ข้อ 18-22 ต่อเนื่องกันไปกับข้อ 15-17 สงครามกับพวกฟิลิสเตียครั้งก่อน ดาวิดถูกลูกหลาน ของโกลิอัทเล่นงาน และเกือบถูกฆ่าตาย จึงมีการตัดสินใจกันว่า ดาวิดไม่ต้องออกไปสู้ศึกอีกต่อไป แต่ว่า พวกเขาจะชนะหรือ ถ้าไม่มีดาวิดผู้ฆ่ายักษ์ไปด้วย? ดาวิดนั้นมีความสำคัญ ต่อชัยชนะเหนือฟิลิสเตียหรือ? เรามีคำตอบอยู่ในข้อ 18-22 ในสงครามครั้งต่อๆมา101 ลูกหลานของโกลิอัทมาปรากฎตัวขึ้น และก็ถูกฆ่า มีสัฟที่ถูกสิบเบคัยตระกูลหุชัยฆ่าตาย (ข้อ 18) และก็มีสงครามที่เมืองโกบ เอลฮานันบุตรของยาอาเรโอเรกิม ชาวเบทเลเฮม ฆ่าโกลิอัทชาวกัทตาย102 (ข้อ 19)

ลูกหลานยุคสุดท้ายของ "โกลิอัท" ที่ยังมีชีวิตอยู่ แน่นอนต้องขย่มขวัญคู่ต่อสู้พอสมควร ด้วยขนาดและพละ กำลัง ลองนึกถึงภาพที่คุณต้องเตะลูกโทษหน้าประตูผ่านแถวคนยืนป้องกัน คุณกำลังตั้งสมาธิ รวบรวมสติ พร้อมที่จะเตะลูกออกไป คุณมองไปที่คู่ต่อสู้ เห็นมือ เห็นนิ้วที่สะดุดตา คุณพยายามนับ หนึ่ง....สอง.... สาม....สี่.....ห้า...........หก หกจริงๆหรือ? เพื่อให้แน่ใจคุณมองไปที่มืออีกข้าง แล้วเลยไปที่เท้า มันไม่ได้ แค่ใหญ่ผิดมนุษย์มนา แต่มันมีมากกว่า! จะอย่างไรก็ตาม โยนาธานบุตรชิเมอี พี่ชายของดาวิดได้สังหารยักษ์ พวกนี้ พร้อมกับทหารคนอื่นๆในกองทัพ ยักษ์พวกนี้ล้มตายลงสิ้น ไม่ว่าจะด้วยฝีมือของดาวิด หรือทหารใน กองทัพก็ตาม ทั้งหมดก็พ่ายแพ้ต่อกองทัพของอิสราเอล

บทสรุป

เหตุใดจึงมีการบันทึกเรื่องราวเหล่านี้ไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่มีการบอกเล่าถึงลำดับเวลา และในตอนใกล้ จบของพระธรรม 2 ซามูเอล ?103 ผมขอตั้งข้อสังเกตุสักสองสามประการ และดูว่าควรจะนำมาใช้ให้เกิด ประโยชน์ได้อย่างไร

แรก พระธรรมตอนนี้เตือนให้เรานึกถึงพระวจนะที่บันทึกอยู่ในพระธรรมมัทธิว :

21 "ท่านทั้งหลายได้ยินคำซึ่งกล่าวไว้แก่คนโบราณว่า อย่าฆ่าคน ถ้าผู้ใดฆ่าคน ผู้นั้นจะต้องถูกพิพากษาลงโทษ 22 เราบอกท่านทั้งหลายว่า ผู้ใดโกรธพี่น้องของตน ผู้นั้นจะต้องถูกพิพากษาลงโทษ ถ้าผู้ใดจะพูดกับพี่น้อง 'อ้ายโง่' ผู้นั้นต้องถูกนำไป ที่ศาลสูงให้พิพากษาลงโทษและผู้ใดจะว่า 'อ้ายบ้า' ผู้นั้นจะมีโทษถึงไฟนรก 23
เหตุฉะนั้นถ้าท่านนำเครื่องบูชามาถึงแท่นบูชาแล้ว และระลึกขึ้นได้ว่า พี่น้องมีเหตุ ขัดเคืองข้อหนึ่งข้อใดกับท่าน 24 จงวางเครื่องบูชาไว้ที่หน้าแท่นบูชา กลับไปคืนดี กับพี่น้องผู้นั้นเสียก่อน แล้วจึงค่อยมาถวายเครื่องบูชาของท่าน 25 จงปรองดองกับ คู่ความโดยเร็วในขณะที่พากันไปศาล เกลือกว่าคู่ความนั้นจะอายัดท่านไว้กับผู้พิพาก
ษา แล้วผู้พิพากษาจะมอบท่านไว้กับผู้คุม และท่านจะต้องถูกขังไว้ในเรือนจำ 26 เราบอกความจริงแก่ท่านว่า ท่านจะออกจากที่นั่นไม่ได้จนกว่าจะได้ใช้หนี้จนครบ
(มัทธิว 5:21-26)

ผมต้องขอสารภาพว่าไม่ได้ให้ความสนใจกับพระธรรมตอนนี้ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับตอนที่เรากำลังศึกษาอยู่ จนกระทั่งพี่น้องคนหนึ่งแสดงความคิดเห็น ผมจึงนึกขึ้นได้ แน่นอนการรักษาพระบัญญัติของพระเจ้า โดย เฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องความชังและการฆ่าคน เป็นสิ่งที่ดีเลิศ แต่ขอข้ามเรื่องนี้ไปก่อน ประเด็นที่ผมจะพูดนี้ เกี่ยวกับเรื่องความเกลียดชัง และการนมัสการของเรา องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงสอนเรา ให้คืนดีกับคนอื่นก่อน แล้วจึงค่อยไปนมัสการพระองค์ พระธรรม 2 ซามูเอลที่เราเรียนอยู่ พูดในสิ่งเดียวกันด้วย จนกว่าความผิด ที่ซาอูลและวงศ์วานของเขา ที่ทำต่อชาวกิเบโอนได้รับการชดใช้ พระเจ้าจะไม่ทรงอำนวยพระพรให้กับ แผ่นดิน (จึงเกิดการกันดารอาหารขึ้น) แต่เมื่อมีการแก้ใข พระพรของพระเจ้าจึงกลับคืนมาอีกครั้ง พระเจ้า ทรงรับฟังคำอธิษฐานของประชากรของพระองค์ และทรงยุติการกันดารอาหาร

ประการที่สอง ผมต้องจำให้ได้ว่าผู้เขียนพระธรรมเล่มนี้ มีความเชี่ยวชาญมาก เป็นผู้มีความสามารถ พิเศษในงานที่เขาได้รับมอบหมายให้ทำ ถ้าผมงงในสิ่งที่ผมอ่าน ไม่ใช่เป็นเพราะผู้เขียนผิดพลาด แต่ เป็นเพราะผมขาดความเข้าใจในสิ่งที่ผู้เขียนต้องการถ่ายทอด -- และเป็นการถ่ายทอดที่ยอดเยี่ยมด้วย ผู้เขียนไม่ได้จัดเรียงเรื่องลำดับเวลาสำหรับพระธรรมตอนนี้ แต่ค่อยๆนำเข้าสู่เนื้อหาที่ต้องการถ่ายทอด ดังนั้น ผมต้องตั้งใจศึกษาพระธรรมตอนนี้ให้ดี เพื่อจะเข้าใจว่าผู้เขียนต้องการถ่ายทอดสิ่งใด

ประการที่สาม ผมเห็นเรื่องการเน้นความสำคัญของผู้คนในรุ่นต่อมา ซาอูลจบตอนไปแล้ว รวมทั้งบรรดา ลูกหลานของท่านด้วย ลูกหลานเหล่านี้เป็นอันตรายต่อบัลลังก์ของซาโลมอนบุตรของดาวิด แต่พระเจ้าทรง เตรียมการ กำจัดคนพวกนี้ออกไปเสีย ส่วนดาวิดเริ่มเกษียณตนเองออกจากหน้าที่ทางทหารแล้ว และอีกไม่นาน จากหน้าที่กษัตริย์ของอิสราเอล เพื่อเปิดทางให้ซาโลมอนผู้เป็นบุตร นางริสปาห์ ทำหน้าที่อย่างดี ในการดูแล ศพของบุตรชาย ปกป้องร่างของพวกเขา จากนกและฝูงสัตว์ที่จะมากัดกิน และโกลิอัท ถึงแม้จะตายไปตั้งนาน แล้ว ก็ยังมีผู้สืบเชื้อสาย ที่ดำเนินรอยตามอีกหลายคน ดูเหมือนเรากำลังเดินหน้า ออกจากยุคหนึ่ง ไปยังอีก ยุคหนึ่ง

ประการที่สี่ เรารู้สึกได้ว่าเรื่องราวกำลังจะจบลงในบทนี้ ถ้าคิดดูดีๆ บทนี้เป็นบทส่งท้ายอาชีพทางทหาร ของดาวิด แต่ยังไม่ใช่บทส่งท้ายในฐานะกษัตริย์อิสราเอล ชีวิตราชการทหารของท่านจบลงแล้ว ดาวิดจะไม่ ออกไปร่วมรบกับกองทัพอีก (ข้อ 17) ดาวิดเริ่มต้นอาชีพทหารของท่าน ถ้าเรายังจำได้ เมื่อตอนออกไปสู้กับ โกลิอัท และนำชัยชนะเหนือฟิลิสเตียมาสู่อิสราเอล (1 ซามูเอล 17) จุดเริ่มต้นอาชีพของท่าน คือเมื่อท่าน สามารถเอาชนะโกลิอัทและกองทัพฟิลิสเตียได้ จุดสุดท้ายในอาชีพทหารของท่าน จบลงที่การสู้รบ และมีชัย ต่อบรรดาลูกหลาน (ยักษ์) ของโกลิอัท และกองทัพฟิลิสเตีย

คุณเคยได้ยินได้ฟัง เวลาที่นักกีฬาชื่อดังประกาศ "อำลาวงการ" หรือไม่? สิ่งหนึ่งที่พวกเขาไม่อยากให้เกิด ขึ้น คืออำลาวงการเมื่อความตกต่ำมาเยือน พวกเขาต้องการอำลาเมื่อยังรุ่งโรจน์อยู่ ผมเข้าใจได้ว่า จากไป เมื่อคนกำลังคิดถึง ดีกว่าจากไปเพราะคนเบื่อขี้หน้าเต็มทน ผมว่าเราคงเห็นพ้องต้องกันว่า ดาวิดอำลาวงการ ได้อย่างสวยงาม ถึงแม้ท่านต้องมีคนมาช่วย เพื่อกำจัดอิชบีเบโนบ แต่ในที่สุดยักษ์ตนนี้ก็ถูกฆ่าตาย และ ฟิลิสเตียก็พ่ายแพ้ต่ออิสราเอล

ผมกำลังคิดถึงความสำเร็จนี้ในมุมมองที่กว้างกว่านี้ เมื่อตอนที่อิสราเอลเรียกร้องขอกษัตริย์ เพื่อที่ว่าพวกเขา จะมีผู้นำ นำออกสู่สงครามได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสงครามกับชาวฟิลิสเตีย (1 ซามูเอล 8:19-20; 9:16) แต่ บัดนี้พวกเขาจะทำอย่างไร? เมื่อดาวิดไม่สามารถออกไปร่วมรบได้อีกต่อไปแล้ว

คำตอบนั้นสวยงามมาก แต่ผมขอนำพวกคุณย้อนเวลากลับไปสักหน่อย เมื่อบรรพบุรุษยุคแรกของอิสราเอล มีโอกาสได้ครอบครองแผ่นดินคานาอัน พวกเขากลับไม่กล้า เพราะกลัวข่าวลือที่ได้ยินมา ว่าเป็นดินแดนที่มี คนยักษ์ครอบครองอยู่ (ดูกันดารวิถี 13:25-33) เมื่ออิสราเอลถูกพวกฟิลิสเตียเขย่าขวัญ โกลิอัทเป็นนักรบ คนเก่งของฟิลิสเตีย ที่ทำให้อิสราเอลยิ่งขยาด ดาวิดเดินหน้าออกไปสังหารโกลิอัท ทำให้กองทัพฟิลิสเตีย พ่ายแพ้ แต่บัดนี้ ดาวิดไม่สามารถต่อกรกับ "โกลิอัท" ทั้งหลายที่ฟิลิสเตียส่งมาได้ สิ่งนี้ทำให้อิสราเอลตกเป็น รองหรือไม่? ไม่เลยครับ! เมื่ออยู่ภายใต้ "การนำ" ของซาอูล ท่านไม่สามารถส่งใครไปเป็นตัวแทน สู้กับ โกลิอัทได้ รวมทั้งตัวท่านเองด้วย แต่ภายใต้การนำของดาวิด มีนักรบฝีมือฉกาจเกิดขึ้นมากมาย ดาวิดหมด กำลังแล้วหรือ? ไม่มีปัญหา! มีคนรอจ่อคิวฆ่าพวกยักษ์ฟิลิสเตียนี้อีกหลายคน พวกเขากำจัดลูกหลานโกลิอัท ไปได้หมด ทำให้ฟิลิสเตียต้องพ่ายแพ้ นับเป็นการอำลาวงการทหารที่สวยงามมากของดาวิด ประชาชน ไม่จำเป็นต้องรอให้กษัตริย์ออกมารบแทนแล้ว ; พวกเขาสามารถจัดการเองได้ ไม่ว่าจะอีกกี่ลูกหลานของ โกลิอัทก็ตาม ผมขอเรียกว่า นี่เป็นการอำลาวงการที่สวยงามมาก

ดูเหมือนเรื่องราวต่างๆที่ค้างคาอยู่ได้รับการแก้ใขให้จบลง ไม่ว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในสมัยของซาอูลก็ตาม ดาวิดลงมือแก้ใขให้ถูกต้อง บาปของซาอูลและวงศ์วานของท่านที่ทำต่อชาวกิเบโอน ได้รับการชดใช้ และ บัดนี้แผ่นดินก็ได้รับพระพรกลับคืนมาอีกครั้ง ไม่เพียงแต่ "บุตรหลาน" ที่เสียชีวิตทั้งเจ็ดของซาอูลได้ถูกนำ ไปฝังอย่างถูกต้องตามประเพณีแล้ว อัฐิของซาอูลเองและบุตรของท่าน ที่ถูกฝังไว้อย่างเร่งรีบที่ ยาเบช กิเลอาดด้วย และเมื่อกองทัพอิสราเอลมาถึงจุดที่ดาวิดไม่จำเป็นต้องนำทัพไปสู้รบแล้ว พวกเขาจัดการ กันเองได้ เพราะมีทหารที่มีฝีมือเก่งกล้าอยู่มากมาย ที่สามารถรบแทนท่านได้

สำหรับผมมีบทเรียนเรื่องผู้นำที่สำคัญมากในตอนนี้ บ่อยครั้ง ผู้คนมักต้องการผู้นำที่สามารถทำการแทนพวก เขาได้ ความยิ่งใหญ่และเสียสละของผู้นำที่ดีนั้น วัดได้จากช่องโหว่ที่เกิดขึ้นเมื่อผู้นำคนนั้นจากไป ในทาง พระคัมภีร์ นับว่ายังเป็นผู้รับใช้ที่ใช้การไม่ได้เท่าที่ควร ภาระของผู้นำคือไม่ใช่ทำทุกสิ่ง แต่มอบหมายจัดสรร ผู้อื่นให้ลงตัว การฝึกฝนคน จัดเตรียมให้พร้อม ให้กำลังใจและให้โอกาสผู้อื่นขึ้นมาทำแทน ซึ่งอาจทำได้ดี กว่าด้วยซ้ำไป ถ้านี่คือการเป็นผู้นำที่ดีของคริสเตียน ดาวิดก็นับได้ว่าเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ ภายใต้การนำของ ซาอูล ไม่มีสักคนที่กล้ายืนหยัดสู้กับโกลิอัท ภายใต้การนำของดาวิด มีคนกล้าหลายคนที่พร้อมจะลงมือ ดาวิด จึงมีอิสระพอที่จะหลบทางให้ (จากตำแหน่งแม่ทัพก่อน และต่อมาจากตำแหน่งกษัตริย์) เพราะท่านทำหน้าที่ ของท่านได้อย่างยอดเยี่ยม -- ท่านได้สร้างผู้นำชั้นรองๆขึ้นมารองรับ และสวมแทน พวกผู้นำจอมเผด็จการ ทั้งหลาย กลัวที่จะต้องเผชิญเรื่องเช่นนี้ กลับเลือกที่จะกำจัดคนเหล่านั้นแทน เพราะกลัวจะเข้ามาแย่งที่ แต่ไม่ใช่สำหรับดาวิด และควรไม่ใช่สำหรับเราทั้งหลายด้วย


93 คำว่า "คนคานาอัน" ถูกใช้ทั้งในกรณีเฉพาะเจาะจง หรือเป็นภาพรวมของผู้ที่อาศัยอยู่ในดินแดนคานาอัน เช่นเดียวกับคำว่า "คนอาโมไรต์" ที่ถูกนำมาใช้ในตอนนี้ ผู้เขียนพระธรรมซามูเอล ดูเหมือนจะใช้คำว่า "คน อาโมไรต์" ในแง่ที่พูดถึงโดยทั่วไปในพระธรรมตอนนี้

94 ใน 1 ซามูเอล 15:7 ซาอูลจำได้ว่าคนเคไนต์เคยให้ความช่วยเหลือคนอิสราเอลในระหว่างการอพยพ ท่าน จึงไว้ชีวิตพวกเขา ในขณะเข้าโจมตีพวกอามาเลข แล้วซาอูลลืมพันธสัญญาที่อิสราเอลเคยทำไว้กับชาว กิเบโอนได้อย่างไร? มันยากที่จะเชื่อว่าท่านลืม

95 และแน่นอน มีคำถามที่น่าเจ็บปวดตามมา โยนาธานมีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้หรือไม่? ดูเหมือนเขาไม่น่า จะเป็นคนที่ชอบทำบาปเช่นนี้ หรือรู้แล้ว แต่เก็บความลับนี้เงียบไว้ เราไม่อาจทราบได้

96 คำว่า "ลูกหลาน" ที่ใช้ในตอนนี้เป็นภาพรวมกว้างๆ โดยทั่วไป ซึ่งรวมไปถึงบุตรชายทั้งห้าของเมราบ ที่เป็น หลานตาของซาอูลด้วย

97 ริสปาห์เป็นนางสนมที่อับเนอร์ไปหลับนอนด้วย หลังจากที่ซาอูลตายไปแล้ว เมื่ออิชโบเชทแสดงความ ไม่พอใจ อับเนอร์จึงแปรพักตร์ไปเข้าข้างดาวิดในทันที (ดู 2 ซามูเอล 3:7)

98 เรื่องนี้ออกจะแปลกๆ เมราบเป็นธิดาคนโตของซาอูล มีคาลเป็นน้องสาว (1 ซามูเอล 14:49) ซาอูลเสนอ เมราบให้ดาวิดก่อน แล้วก็เปลี่ยนใจ (1 ซามูเอล 18:17-19) ต่อมามีคาลถูกเสนอให้เป็นภรรยาของดาวิด (1 ซามูเอล 18:27) แล้วก็ถูกนำตัวกลับมา ไปมอบให้เป็นภรรยาคนอื่นแทน (1 ซามูเอล 25:44) ต่อมาดาวิดนำ เธอกลับมา (2 ซามูเอล 3:13-16) แต่เธอไม่เคยมีบุตรกับดาวิด (2 ซามูเอล 6:23) มีคาลจึงไม่มีส่วนในความ ทุกข์ที่ต้องสูญเสียบุตรไปก่อนวัยอันควร

99 ผู้เขียนเอ่ยชื่อแค่ซาอูลและโยนาธาน แต่ใน 1 ซามูเอล 31 พูดว่ามีบุตรทั้งสาม ผมเข้าใจว่า ไม่ใช่เพียง ซาอูลและโยนาธานเท่านั้นที่อัฐิถูกนำไปฝังอย่างถูกต้อง น่าจะรวมถึงอัฐิของบุตรชายทั้งสามด้วย

100 ให้ดูข้อพระคำในตอนเดียวกันนี้ใน 1 พงศาวดาร 20:4-8 ด้วย

101 ให้สังเกตุดูคำว่า "อยู่มาภายหลังนี้" ในข้อ 18

102 เรื่องชื่อ "โกลิอัท" นี้ คงไม่สร้างปัญหายุ่งยากใจให้แก่เรา เพราะในตอนต้นๆ เราเห็นชื่อเมฟีโบเชทซ้ำกัน สองคน (ดูข้อ 7-8) โกลิอัทคนนี้คงตั้งชื่อตามบรรพบุรุษ แต่ในพระธรรมตอนเดียวกันใน 1 พศด 20:5 เรียกชื่อ คนๆเดียวกันนี้ว่า "ลามี น้องชายของโกลิอัท"

103 "พระธรรมตอนนี้" ผมหมายถึงฉบับดั้งเดิมของพระธรรมซามูเอลที่มีเพียงเล่มเดียว ไม่ได้แบ่งเป็นสองเล่ม เหมือนที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน

Related Topics: Bibliology (The Written Word)

Report Inappropriate Ad